ในยุคที่คำว่า ‘เฟมินิสต์’ และ ‘เพศหญิง’ กลายเป็นของแสลง ถึงขนาดหนังสือวิชาการเกี่ยวกับ gender ยังเลี่ยงที่จะตั้งชื่อหนังสือด้วยคำว่า gender อยู่บ่อยครั้ง กลับมีผู้หญิงหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งจากเกาะอังกฤษ ตัดสินใจออกนิตยสารผู้หญิงเลือดใหม่รายครึ่งปีที่มีกราฟิกและเลย์เอาต์สดใสเกินกว่าจะละสายตา แถมยังมีเนื้อหาที่ใครอ่านแล้วก็ต้องบอกว่า ‘เดือด’
Sister คือนิตยสารเล่มบางเบาพกง่ายรายหกเดือนของลอนดอน ว่าด้วยสิ่งที่ผู้หญิงในสังคมปัจจุบันพบเจอแต่ไม่กล้าพูด พร้อมนำเสนอความสามารถและพลังของผู้หญิงที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
Sister เปิดตัวในอังกฤษเมื่อปี 2012 ตีพิมพ์ออกมาแล้วทั้งหมด 7 ฉบับ (ไม่รวมฉบับพิเศษ) ติดอันดับ 1 ใน 11 ซีนที่ควรอ่านในปี 2015 ของ Dazed Digital และเพิ่งจัดงานเปิดตัวฉบับล่าสุดไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ Tate Modern
โดย เบคกี้ ฮิลล์ บรรณาธิการและหัวเรือใหญ่ที่นำโปรเจคต์จบมาพัฒนาต่อเป็นนิตยสารหัวนี้ให้สัมภาษณ์กับ Stack magazines ว่า “เรามีผู้หญิงมากมายที่กำลังสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ รวมทั้งต่อสู้และมอบพลังงานให้กับคนในสังคมอยู่เสมอ แต่อาจเป็นเพราะมันไม่มีที่ทางให้พวกเขาได้แสดงบทบาทสำคัญ ฉันอยากให้ Sister เป็นที่ทางนั้น—
ที่ที่ความคิดเห็นถูกเผยแพร่ได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล…” และเราคิดว่าประโยคสุดท้ายก็ได้สรุปธีมของนิตยสารหัวนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว
ส่วนฉบับที่เราจะเอามาเล่าให้ฟังกันคือ ‘The Strong Issue’ ที่อ่านแล้วพบว่ามันช่างเป็นฉบับที่มีน้ำเสียงสุดโต่งเหลือเกิน เพราะเปิดเล่มด้วยประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในการใช้ยาคุมกำเนิด ต่อด้วยอิสระของผู้หญิงที่จะเลือกเผยด้านเพศของตัวเองในอินสตาแกรม แทรกด้วยเซ็ตภาพถ่ายแฟชั่นที่มู้ดแอนด์โทนจัดจ้าน แถมนางแบบยังเป็นสาวหัวใหม่ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ต่อด้วยประสบการณ์ของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีชีวิตรอดจากโรคบูลิเมียและอาการซึมเศร้ามาได้ ปิดท้ายด้วยสามวัยรุ่นหญิงนักทำหนังอิสระที่มากระเทาะ rape culture และ consent ให้เราฟัง และต่อไปนี้คือ 3 ยาแรงที่เราค้นพบ
Friendships are a Feminist Act – Sophie Holmes
หลายบทความในเล่มนี้อาจเรียกได้ว่าเล่นใหญ่เกินตัว แต่นี่คือชิ้นที่น้อยแต่มาก เพราะน้ำเสียงไม่แข็งกร้าว แต่เมสเสจแข็งแกร่ง โซฟี โฮล์มส์ ที่ก็เคยทำซีนในธีมเฟมินิสต์เป็นของตัวเอง นำเราเข้าบทความด้วยการเกริ่นถึงธรรมชาติของผู้หญิงที่มีกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกันมากมายหลายกลุ่ม พวกเธอปรึกษาปัญหาชีวิต การงาน และความรักกันอย่างลงลึกมากกว่าผู้ชาย
โฮล์มส์มองว่านั่นไม่ใช่จุดด้อยหรือความอ่อนแอ แต่การพึ่งพาอาศัยกันแบบนี้นี่แหละ คือจุดเริ่มต้นของขบวนการเรียกร้องความเท่าเทียมของผู้หญิงอย่าง The Women’s March ที่ขยายวงไปทั่วโลกเมื่อต้นปีหลังชัยชนะของ misogynist หรือคนที่รังเกียจและกีดกันผู้หญิงออกจากสังคมอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์
เธอบอกว่าการสะสมพลังของเพศหญิงในรูปแบบนี้เอง ที่จะนำไปสู่การปรับวิธีคิดวิิธีมองโลกของคนในสังคม ทั้งผู้ชายที่เข้าใจว่าตัวเองอยู่เหนือผู้หญิง และผู้หญิงที่รู้สึกว่ากำลังสู้อยู่ตัวคนเดียวและไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลก การที่ผู้หญิงโอบรับวัฒนธรรมการมอบมิตรภาพให้กับผู้หญิงด้วยกันเอง ไม่อิจฉาด่าทอหรือบั่นทอนกำลังใจกันทั้งในระดับส่วนตัวและระดับสังคม จะทำให้เรื่องราวของผู้หญิงที่มักจะถูกนำเสนออย่างน้อยเกินไป (underrepresented) กลับมามีพื้นที่ในสังคมได้
Two Become One – Rosie Foster
นอกจากคนพิการที่มักจะถูกมองว่าไร้เพศ คนเป็นมะเร็งเองก็อาจจะไม่ได้อยู่ในสถานะที่ต่างกันนัก และความนู้ดกับความเซ็กซี่เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ใช่ในแง่ศิลปะแต่ในแง่การรับรู้ที่เรามีต่อร่างกายตัวเอง—สองใจความของบทความนี้เอง ทำให้เราหลงรักเรื่องราวของโรซี่และลอเรนแบบหยุดไม่อยู่
ภาพถ่ายที่ปรากฏในหนังสือคือภาพของลอเรน คุณหมออายุ 30 เป็นมะเร็งตั้งแต่อายุ 20 ปลายและยังไม่หายขาด เจ้าของบล็อกเพื่อสุขภาพ www.laurencara.com โดยช่างภาพคือโรซี่ แม่ลูกหนึ่งอายุ 27 ผู้เป็นมะเร็งตอนอายุ 13-18
การถ่ายภาพผู้หญิงคือสิ่งที่โรซี่หลงใหล เมื่อพบลอเรนครั้งแรกที่งานพบปะผู้ป่วยโรคมะเร็ง เธอประทับใจระคนแปลกใจว่าทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงดูสดใส ไม่มีภาพจำของคนเป็นมะเร็งที่ต้องโกนหัวและหน้าตาซีดเซียว (ที่เธอเองก็เป็นมาก่อน) และเมื่อลอเรนได้เห็นภาพถ่ายฝีมือโรซี่ เธอก็รู้ทันทีว่าเธอจะต้องขอให้โรซี่ถ่ายรูปให้เธอ
โรซี่ใช้กล้องฟิล์มถ่ายภาพลอเรนกึ่งนู้ด เผยให้เห็นก้อนเนื้อและรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดทั้งสามครั้ง ลอเรนบอกว่า โดยพื้นฐานเธอเป็นคนที่สบายใจกับการเปิดเผยเรือนร่างอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก แต่ในครั้งนี้มันต่างออกไปเพราะ หนึ่ง ร่างกายของเธอตอนนี้เต็มไปด้วยแผลเป็นและความไม่สมบูรณ์แบบ การเปิดเผยเรือนร่างนั้นในทางหนึ่งจึงเป็นการปฏิเสธการ body shame ตัวเอง
และสอง มันไม่ใช่การแสดงออกซึ่งพลังในการต่อสู้โรคร้ายหรือการบำบัดตัวเองจากความหดหู่ มันไม่ได้บอกว่าเธอจะต้องหาย แต่มันมอบช่วงเวลาแห่งความสุขที่เธอได้ทำโปรเจคต์ร่วมกับเพื่อน และมันยังบอกให้เธอรู้ว่า เธอรักชีวิตนี้มากมายเหลือเกิน
Sweetening the Pill – Beccy Hill interviews Holly Grigg-Spall
สำหรับหลายคนประเด็นนี้อาจจะไกลตัวสักนิด แต่กับอีกหลายคนอาจเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ค่อยกล้าพูดถึงกันนัก เบคกี้ ฮิลล์ สัมภาษณ์ ฮอลลี่ กริกก์-สแปลล์ เจ้าของบล็อก หนังสือ และหนังสารคดีในชื่อเดียวกันว่า Sweetening the Pill or How We Got Hooked on Hormonal Birth Control ที่เล่าเรื่องของคนที่ประสบผลข้างเคียงทั้งกายและใจจากการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลายาวนานตั้งแต่อายุ 16 ถึง 26
เธอประกาศเสมอว่าการที่คนในสังคมปิดปากเงียบและไม่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้หรือไม่ใช้ยาคุมไม่ได้มาจากแค่การต่อต้านของผู้นับถือคริสต์ที่คิดว่าการใช้ยาคุมจะทำให้ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น (ลองเปลี่ยนยาคุมเป็นถุงยางก็จะฟังดูคุ้นๆ นิดนึง) แต่ยังมาจากบริษัทยาที่ชอบมุมมิบเปิดดีลกับแพทย์และโรงพยาบาล เราจึงมองไม่เห็นการใช้อำนาจในรูปแบบนี้
และเมื่อเรามองไม่เห็นโครงสร้างของปัญหา เราจึงยังใช้ยา (หรือสิ่งคุมกำเนิดอื่นที่ไปจัดการกับฮอร์โมนของเรา) ต่อไปแบบไม่มีทางเลือก จนต้องแบกรับผลข้างเคียงอย่างอาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล อาการจับไข้ และอาการต่อมหมวกไตอ่อนล้า—หรือถึงจะมีทางเลือกอย่างถุงยางอนามัย ผู้ชายบางคนก็ยังปฏิเสธที่จะใช้มัน ทำให้ผู้หญิงที่มีคอนเซปต์เกี่ยวกับร่างกายตัวเองแบบหนึ่งถูกกดดันให้ต้องอยู่กับอำนาจเหล่านี้ให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ทุนนิยม วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ หรืออำนาจอื่นใดที่เรายังมองไม่เห็นก็ตาม
นอกจากนั้นฮอลลี่ยังแนะนำ Daysy Fertility Monitor ที่เอาไว้วัดอุณหภูมิใต้ลิ้นเพื่อบอกวันตกไข่ (วิธีใช้เหมือนปรอทวัดไข้แต่ต้องวัดทันทีที่ตื่นนอน ถ้ากำลังตกไข่จะส่องไฟสีแดง ถ้าเป็นช่วงที่มีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัยจะส่องไฟสีเขียว) รวมทั้งสนับสนุนการใช้ถุงยางอนามัยโดยบอกว่าคือวิธีการที่ทั้งสองเพศรับผิดชอบร่วมกัน
ในบทสัมภาษณ์นี้ เธอไม่ได้บอกเราว่าให้ใช้หรือไม่ใช้ยาคุมกำเนิด หรือยาคุมกำเนิดดีหรือไม่ดี เธอเพียงอยากให้เราลอง ‘ตั้งคำถาม’ กับตัวเองและ ‘ส่งเสียง’ กับสังคมบ้าง—ก็เท่านั้น
และแม้อ่านจบแล้วคุณยังพบว่า ‘เฟมินิสต์’ ไม่ใช่เรื่องถูกจริตอยู่ดี นั่นก็ไม่เป็นไรเลย เพราะอย่างน้อยคุณได้ลองอ่านถ้อยคำของพวกเธอแล้ว
อ้างอิง
Sister magazine, The Strong Issue, Spring/Summer 2017