หากพูดว่าสถาปัตยกรรมของ Tadao Ando กับธรรมชาติคือสิ่งเดียวกันก็คงไม่ผิดนัก เพราะงานออกแบบของสถาปนิกญี่ปุ่นวัย 76 ผู้นี้แฝงไว้ด้วยปรัชญาทางธรรมชาติ ตั้งแต่ในขั้นตอนที่ยังมีแค่แบบร่างไปจนถึงวันที่ตึกสร้างเสร็จให้คนได้ใช้งานและชื่นชม แม้เขาจะไม่เคยเข้าเรียนวิชาสถาปัตยกรรมที่ไหนเลย! แถมไม่แคร์ว่าใครในบ้านจะหนาวเหน็บแค่ไหนในฤดูหนาว อีกต่างหาก
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ไม่มีอะไรที่บอกได้เลยว่าเด็กชายทาดาโอะ อันโดะจะเติบโตขึ้นมาเป็นสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการวิ่งเล่นในทุ่งหญ้า หัดทำงานไม้จากเพื่อนบ้านในโอซาก้า และเป็นนักมวยอาชีพในช่วงวัยรุ่น
กระทั่งความสนใจตึกรามบ้านช่องเริ่มเติบโต เขาถึงเริ่มเรียนรู้เรื่องสถาปัตย์จากการลอกลายในหนังสือของสถาปนิกชื่อดัง Le Corbusier ไปจนถึงความบ้าพลังอ่านหนังสือเรื่องการออกแบบสำหรับเรียน 5 ปีให้จบภายในปีเดียว เดินทางไปศึกษาตึกระดับโลกทั้งในยุโรปและที่อื่นๆ ก่อนเริ่มต้นอาชีพสถาปนิกอย่างจริงจังและค่อยๆ ก่อสร้างลายเซ็นของตัวเองมาจนถึงวันนี้

อันโดะกับหมาของเขาชื่อ Le Cobusier via arch2o.com
เอาเข้าจริง แม้เราจะพูดว่าลายเซ็นของอันโดะคือความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติที่โอบรอบ แต่ใช่ว่างานของเขาจะมีหน้าตาเป็นบ้านดิน หลังคามุงจาก และซุกตัวอยู่ในป่าดงพงไพรห่างไกลแสงสี กลับกัน งานของอันโดะกลับโดดเด่นด้วยผนังคอนกรีตเจาะรู มีรูปทรงเรขาคณิต บานกระจกใหญ่ อีกทั้งงานหลายต่อหลายชิ้นก็ตั้งอยู่กลางเมืองใหญ่ของโลก ทั้งโตเกียว เกียวโต โอซาก้า ปารีส ชิคาโก้ เท็กซัส หรือแม้แต่นิวยอร์กก็ตาม
อย่างนี้ คำว่าธรรมชาติในงานของอันโดะหมายความถึงอะไร?
ถ้ามองจากแค่ภายนอก ธรรมชาติที่ว่ามักมาในรูปแบบของต้นไม้ใบหญ้าที่เป็นส่วนประกอบของตึกปูน เพดานเปิดโล่งให้เห็นท้องฟ้ารับทั้งความอบอุ่น เม็ดฝน และแสงแดดที่มักทำมุมตกกระทบบนพื้นบ้านอย่างจงใจ สายลมเอื่อยๆ ที่ไหลเวียน และบรรยากาศของความเงียบ สุขสงบแม้จะอยู่ในตัวเมืองก็ตาม
หรือหลายครั้ง ธรรมชาติก็มาในรูปแบบของการปรับสถาปัตยกรรมให้เข้ากับพื้นที่ เช่น โครงการ Rokko Housing I, II, III ที่อันโดะจัดแจงสร้างอพาร์ตเมนต์ขึ้นบนพื้นที่ที่ลดหลั่นกันไปเป็นขั้นบันได กลายเป็นหมู่อพาร์ทตเมนต์ที่สลับซับซ้อนอยู่บนไหล่เขา หรือการรีโนเวตภายในมิวเซียม Bourse de Commerce ในปารีสโดยยังรักษาโครงสร้างภายนอกเดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

Rokko Housing ที่เขาสร้างอพาร์ตเมนต์แต่ละห้องลดหลั่นไปตามแนวเขาvia architravel.com

Bourse de Commerce ที่อันโดะออกแบบการรีโนเวตภายใน via revuepinaultcollection.com
งานแบบนี้กลายเป็นสไตล์สถาปัตย์แบบที่เรียกว่า Critical Regionalism หรือภูมิทัศน์เชิงวิพากษ์ที่เน้นสร้างการรับรู้เรื่องพื้นที่ และใส่ความเฉพาะตัวของสถานที่ลงไปในสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ภูมิศาสตร์ หรือกลิ่นอายวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ยังร่วมสมัย ทันโลกปัจจุบัน
ลึกลงไป ลองจินตนาการว่าเราจับตึกของอันโดะแต่ละแห่งมาแยกออกเป็นส่วนๆ เราจะพบว่าสิ่งที่เขาหยิบมาใช้เป็นวัสดุแล้วแต่เป็นธาตุอย่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ และที่ว่าง อันเป็น 5 ธาตุที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง ของโลก และของจักรวาล จนไม่น่าแปลกใจที่งานของอันโดะจะเป็นสากลจนจับใจคนไปทั้งโลก และกวาดรางวัลมากเวที รวมถึงรางวัล Pritzker Prize รางวัลสูงสุดของวงการสถาปัตยกรรมด้วยธาตุอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้นั่นเอง

อันโดะในสตูดิโอที่โอซาก้า via wp.com
ดิน : คอนกรีต ต้นไม้ และฐานของสรรพสิ่งทั้งปวง
ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น ดินคือธาตุที่เป็นเหมือนพื้นโลกและเป็นพื้นที่สำหรับสิ่งอื่นที่จะเติบโต ไม่ต่างจากคอนกรีตซึ่ง Bono นักร้องนำวง U2 เคยยกย่องไว้ว่าอันโดะเป็น “แชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตแห่งคอนกรีต”
ผนังคอนกรีตที่เรียบเนียน เงางาม คือรากฐานงานของสถาปนิกผู้นี้ก็ว่าได้ เพราะแม้แต่งานช่วงแรกอย่างการสร้างบ้านให้ครอบครัวหนึ่งที่กลายมาเป็นออฟฟิศในทุกวันนี้ (เพราะครอบครัวเพิ่งรู้ว่าตัวเองท้องลูกแฝดและบ้านนี้คงเล็กไปสำหรับพวกเขา) หรือ Azuma House (อีกชื่อหนึ่งคือ Row House in Sumiyoshi) ที่สร้างชื่อให้อันโดะในปี 1976 ก็มีโครงสร้างหลักเป็นตึกเรขาคณิตสร้างจากคอนกรีตเปลือยทั้งหมด ทั้งผนังคอนกรีตเหล่านี้ยังเป็นส่วนที่กั้นตัวบ้านออกจากโลกภายนอก และสร้างจักรวาลขึ้นภายในนั้น
“ผมสร้างพื้นที่ปิดด้วยวัสดุอย่างคอนกรีต เหตุผลหลักๆ นั้นเป็นไปเพื่อสร้างสเปซสำหรับปัจเจก เป็นโซนสำหรับแยกตัวเองออกมาจากสังคม และเมื่อสภาพแวดล้อมของเมืองทำให้เราต้องก่อกำแพงทึบขึ้นมา สิ่งที่อยู่ข้างในจึงต้องสะดวกครบและน่าพึงพอใจ” อันโดะกล่าว

Azuma House หรือ Row House in Sumiyoshi via architravel.com
ด้วยเหตุนี้เองทำให้เมื่อมองจากภายนอก ตึกของอันโดะมักก่อด้วยกำแพงคอนกรีตจนดูมินิมอลเหลือเกิน แต่เมื่อได้ก้าวเข้าไป เรากลับพบว่าคอนกรีตของเขาถูกจัดวางเป็นระบบอันซับซ้อนที่นำไปสู่การหลอมรวมธาตุอื่นๆ อย่างน้ำ ไฟ ลม และที่ว่างอย่างลงตัว
ดินในความหมายของอันโดะยังกินความหมายไปถึงการเป็นจุดกำเนิดของต้นไม้ ซึ่งเขาชอบหยิบมาใส่ในงานทั้งเพื่อให้คนได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจริงๆ อย่างบ้าน Koshino (Koshino House) บ้านของแฟชั่นดีไซเนอร์ที่เขาทำเป็นตึกสามตอนลดหลั่นกันลงไปล้อมรอบด้วยสนามหญ้าและต้นไม้ หรือ House in Utsubo Park ที่อันโดะใช้ต้นไม้มาทำเป็นผนังแยกส่วนบ้านกับสวนสาธารณะที่อยู่ติดกันอย่างลงตัวและกลมกลืน

Koshino House via pinimg.com
นอกจากในแง่ของความร่มรื่นและ ต้นไม้สำหรับอันโดะกลับมีปรัชญามากกว่านั้น อย่างที่เขาพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้กับงานสถาปัตย์ไว้ว่า “เราทำอะไรกับงานสถาปัตยกรรมได้บ้าง? อะไรคือรากฐานของงานสถาปัตยกรรม? ผมเชื่อว่าแก่นแท้ของสถาปัตยกรรมคือการก่อกำเนิดความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นกับธรรมชาติ มนุษย์กับสังคม ปัจจุบันกับอดีต และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับสังคมของเรา ในแง่นี้ การปลูกต้นไม้และเติมสีเขียวให้เมืองจึงเป็นงานสถาปัตยกรรมสำหรับผม”

ภายใน House in Utsubo Park ที่มองออกไปเห็นกำแพงที่เชื่อมต่อกับสวนสาธารณะ via ogawa-studio.com
น้ำ : บ่อน้ำ เม็ดฝน และความไม่สะดวกสบายอันน่าเพลิดเพลิน
ธาตุน้ำอาจไม่ได้เป็นฐานในงานสถาปัตยกรรมของอันโดะหลักเท่าคอนกรีต หรือต้นไม้ก็จริง แต่น้ำก็เป็นองค์ประกอบที่แทรกซึมอยู่ในหลายงานอย่างแยกไม่ออก และมีฟังก์ชั่นหลากหลาย ทั้งบรรดาบ้านริมทะเลที่มักมีกระจกบานใหญ่ มองเห็นวิวมหาสมุทร โบสถ์ Church on the Water ในฮอกไกโดที่มีบ่อน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านนอกเพื่อการภาวนาอย่างสงบ Water Temple บนเกาะ Awaji ที่ใช้บ่อน้ำเป็นหลังคา หรือบ่อน้ำใน Naoshima Contemporary Art Museum ในญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ใต้หลังคาเปิดโล่ง และสะท้อนเงาท้องฟ้ากับต้นซากุระที่อยู่ด้านบน

Water Temple via pinimg.com

Church on Water via pritzkerprize.com

Naoshima Contemporary Art Museum via dreamtheend.com
ในหลายที น้ำยังมาในรูปแบบของฝน เพราะอันโดะมักสร้างบ้านที่ตรงกลางเป็นคอร์ทเปิดโล่งรับแสงแดด ลม และหลายคราก็ต้องรับน้ำฝนด้วย อย่างบ้าน Azuma อันโด่งดังที่ประกอบด้วยห้องทั้งหมด 4 ห้องล้อมรอบพื้นที่ตรงกลาง เมื่อจะเดินจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องก็ต้องเดินตัดที่ว่างไป ไม่เว้นแม้แต่ตอนฝนตกด้วย
ใช่ว่าอันโดะจะไม่รับรู้ถึงความยุ่งยากนี้ แต่ปรัชญาในงานสถาปัตยกรรมของเขาไม่ได้เป็นไปเพื่อความง่ายดายสักเท่าไหร่ กลับกัน เขาอยากให้คนได้สัมผัสธรรมชาติให้ได้มากที่สุด แม้ว่าจะหมายถึงการต้องกางร่มเดินในบ้านตัวเองก็ตามที

ข้างในบ้าน Azuma via en.wikiarquitectura.com
ที่จริง เรื่องความลำบากของการอาศัยในบ้านที่อันโดะออกแบบเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ อย่างบ้าน Koshino นั้น Hiroko Koshino แฟชั่นดีไซเนอร์เจ้าของบ้านถึงกับออกปากว่าเธอต้องใส่ชุดสำหรับเล่นสกีในช่วงหน้าหนาวเพราะบ้านมันหนาวมากทีเดียว (ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังอยู่มาได้ถึง 20 ปี) ส่วนอันโดะเองก็เคยพูดถึงบ้านที่เขาออกแบบไว้ว่า
“บ้านที่ผมออกแบบอาจยากสำหรับการอยู่อาศัยถ้าเทียบกับมาตรฐานทั่วๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น Row House in Sumiyoshi (อีกชื่อหนึ่งของบ้าน Azuma) ที่ผมออกแบบคอร์ทโล่งตรงกลางเพื่อที่ผู้อยู่อาศัยจะได้สัมผัสกับธรรมชาติแม้อยู่ในเมือง แม้จะอยู่ยาก แต่ลูกค้าของผมหลายคนยังอยู่ในบ้านที่ผมออกแบบและผมก็รู้สึกตื้นตันมากขึ้นในแต่ละปีที่ผ่านไป และผมเองก็ยังจะออกแบบบ้านแบบนี้ และเชื่อมั่นว่าผู้อยู่อาศัยจะต้องเพลิดเพลินกับการอยู่ร่วมกับความท้าทายและความไม่สะดวกสบายนี้”

Church of the Light สถาปัตยกรรมที่ประกอบด้วยรูปเรขาคณิตที่จัดวางมาอย่างดี via arch5541.files.wordpress.com
ลม : สายลมที่กำหนดได้ทั้งภายนอกและภายใน
ด้วยตึกที่มีรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ ประกอบเข้ากับผนังที่เป็นเส้นตรง หรือรูปทรงแอ็บแสตร็กอื่นๆ ไม่แปลกที่เมื่อมองครั้งแรก สถาปัตยกรรมของเขาอาจดูเหมือนทำตามอารมณ์ติสต์เฉยๆ แต่เมื่อเหยียบย่างเข้าไป ข้างในกลับถูกจัดวางองค์ประกอบมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการดึงดูดลมให้ไหลเวียนภายใน ทำให้รู้สึกได้ถึงธรรมชาติแม้อยู่ในอาคารก็ตาม
“ผมสร้างงานสถาปัตย์จากรูปทรงเบสิกอย่างสี่เหลี่ยมจัตุรัส วงกลม สามเหลี่ยม และสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผมพยายามจะใส่พลังงานลงไปในพื้นที่ที่ผมกำลังสร้างเพื่อคืนความเป็นหนึ่งเดียวให้บ้านและธรรมชาติ ที่ถูกทำลายในกระบวนการทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ทันสมัยอย่างเร่งรัดในยุค 50 และ 60” อันโดะว่าไว้อย่างนั้น

ตึก Shanghai Poly Grand Theatre via tripadvisor.com
แม้ลมจะไม่ใช่สิ่งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาอย่างคอนกรีตหรือผืนน้ำ แต่เมื่อก้าวเข้าไปอยู่ในสเปซของอันโดะแล้ว ลมกลับกลายเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ไม่ยาก ทั้งจากเสียงใบไม้ที่กระทบกันยามเมื่อลมอ่อนๆ พัดโชย ลมที่พัดมาเหนือบ่อน้ำในสเปซของเขา หรือความเย็นสบายที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ
สำหรับเรา การอยู่ในพื้นที่ที่มีลมอ่อนๆ หมุนเวียนไม่ได้มีแง่งามแค่ความสบายตัว แต่คลับคล้ายจะช่วยพัดพาภายในร่างกาย ให้ความคิดและจินตนาการได้ให้ได้โลดแล่นจนเราแอบคิดไม่ได้ว่าอาจเป็นสายลมเมื่อยามอันโดะวิ่งเล่นในทุ่งหญ้าวัยเด็กที่ทำให้เขาความคิดและจิตวิญญาณของเขาโลดแล่น จนสามารถสร้างสเปซที่พัดพาความคิดเราได้ในทุกวันนี้
ไฟ : แสงแดดและเงาสลัว อีกชีวิตในอาคารของอันโดะ
อีกหนึ่งธาตุพื้นฐานที่ให้ชีวิตแก่สรรพสิ่งคือไฟ หรือแสงแดดและความอบอุ่นในธรรมชาติซึ่งอันโดะนำมาจัดวางในงานของเขาอย่างประณีตที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ที่เขามักจัดวางผนัง เพดาน และกันสาดให้แสงทำมุมตกกระทบลงบนพื้นหินหรือบ่อน้ำอย่างสวยงาม หรือในอาคารอื่น เช่น โบสถ์ Chuch of the Light งานชิ้นมาสเตอร์พีซอีกหนึ่งชิ้น ที่เขาทำลายล้างความเป็นโบสถ์แบบดั้งเดิม และสร้างห้องภาวนาที่ปลายห้องเจาะเป็นรูปแสงรูปไม้กางเขนขนาดใหญ่ขึ้นมาแทน เพื่อให้ผู้มาร่วมภาวนาได้ระลึกถึงพระเจ้า ซึ่งอยู่ในสรรพสิ่ง ทั้งในแสงที่ลอดผ่านช่อง ลมที่พัดพาเข้ามา และธรรมชาติด้านนอกนั่น

ภายใน Church of the Light via pinimg.com
หรือจะเป็น Meditation Space ตึกคอนกรีตทรงกระบอกสำหรับทำสมาธิที่สำนักงานใหญ่ของ UNESCO ในกรุงปารีส ที่นี่ อันโดะเจาะช่องรอบเพดานให้แสงเรื่อๆ ลอดเข้ามาเป็นวงกลม เหมาะกับการใช้เป็นพื้นที่ทำสมาธิและภาวนาเหลือเกิน
เมื่อพูดถึงแสง สถาปนิกวัย 76 ผู้นี้กล่าวเอาไว้อย่างลุ่มลึกว่า “เพื่อที่จะทำให้งานเป็นที่จดจำ ผมตั้งใจสร้างงานสถาปัตยกรรมให้เหมือนผืนผ้าใบเปล่า และใช้ส่วนประกอบของธรรมชาติอย่างลมและแสงแดดวาดลงไปบนสเปซ ย้อมพื้นที่ให้ชุ่มโชกไปด้วยบรรยากาศอันทรงพลังเพื่อสั่นสะเทือนจิตวิญญาณของคน”
แสงแดดและสายลมยังเป็นเหมือนความคิดอันแผ่วเบาของอันโดะที่ซุกซ่อนอยู่ในอาคาร เพราะเขาไม่เชื่อในการเล่าคอนเซ็ปต์นัก แต่อยากให้พื้นที่ได้พูดด้วยตัวของมันเองมากกว่า “ผมไม่เชื่อว่างานสถาปัตยกรรมควรจะพูดอะไรมากเกินไป มันควรอยู่เงียบๆ และให้ธรรมชาติอย่างแสงแดดและลมเป็นตัวพูดแทน”

Meditation Space ที่สำนักงานใหญ่ของ UNESCO ณ กรุงปารีส via bonjourparis.com

Meditation Space ที่สำนักงานใหญ่ของ UNESCO ณ กรุงปารีส via blogspot.com
ที่ว่าง : จากความว่างเปล่าสู่สิ่งสัมบูรณ์
ธาตุสุดท้ายใน 5 ธาตุคือความว่างเปล่า (void) ตามปรัชญาเรื่องธาตุและสรรพสิ่งของชาวญี่ปุ่น นอกจากที่ว่างจะเป็นพื้นที่ของความว่างเปล่าและไม่มี (nothingness) แล้ว ที่ว่างยังเป็นพื้นที่ของจิตวิญญาณ การรับรู้เหนือจิต และบ่อกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์บนโลกอีกด้วย
อันโดะเองก็พยายามสร้างพื้นที่โล่งแห่งความไม่มีนี้ให้เกิดขึ้น ทั้งจากลานโล่งกลางอาคารหลายแห่ง การเจาะเพดานให้เป็นรู พื้นที่ในอาคารที่มักเป็นสเปซกว้าง หรือพื้นที่ขนาดใหญ่บริเวณรอบตัวอาคารที่นอกจากต้นไม้หรือสนามหญ้าแล้ว อันโดะก็ไม่แต่งเติมสิ่งใดเข้าไปอีก
ความมินิมอลนั้นไม่ใช่ความขี้เกียจแต่อย่างใด แต่กลับเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้อาคารของอันโดะมีชีวิต เพราะการจัดวางที่ว่างของเขาเป็นไปเพื่อรอการเติมเต็มบางอย่าง ไม่ว่าจะเพื่อให้มนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยและเติมพื้นที่ด้วยวิถีชีวิตที่หมุนเวียนในนั้น พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อย่าง Church on the Water หรือ Church of the Light ที่ผู้คนช่วยกันเติมเต็มจิตวิญญาณ หรือพื้นที่มิวเซียมต่างๆ ที่อบอวลไปด้วยความสร้างสรรค์และจินตนาการที่ลอยฟุ้ง
แนวคิดที่โล่งนี้ยังมาจากความรู้สึกว่ายุคนี้ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยความเป็นเหตุเป็นผลและเทคโนโลยีมากเกินไป สถาปนิกผู้เกิดในศตวรรษก่อนจึงต้องการเก็บพื้นที่โล่งเอาไว้ เพราะอย่างนี้ อันโดะจึงมีผลงานที่สดุดีความว่างเปล่ากลางเมืองหลายแห่ง อย่าง ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ที่ Omotesando Hills ที่ตรงกลางเจาะเป็นช่องโล่งท่ามกลางความวุ่นวายและแออัดของโตเกียว

ภายในชอปปิ้งเซ็นเตอร์ที่ Omotesando Hills via whereintokyo.com

Church on the Water ในฤดูหนาว via pinimg.com
ตลอดเกือบ 50 ปีของการเป็นสถาปนิกของอันโดะ งานของเขาเติบโตไปมากมายเหลือเกิน จากการสร้างบ้านให้ครอบครัวเล็กๆ จนถึงวันที่ได้สร้างมิวเซียมที่ใหญ่โต ก่อสร้างพื้นที่ทางศาสนาแห่งศรัทธาของใครหลายคน ไปจนถึงการแก้ไขสถาปัตยกรรมเก่าแก่จากหลายร้อยปีก่อนที่หลายเมืองไว้ใจให้อยู่ในมือของเขา ถึงอย่างนั้น ความรู้สึกและจิตวิญญาณที่แข็งแกร่งพอๆ กับคอนกรีตของเขาก็ยังคงเดิม
“ผมอยากจะสร้างสถาปัตยกรรมที่แฝงไว้ด้วยความรู้สึก ผมอยากสร้างบางสิ่งบางอย่างที่มีแต่คนญี่ปุ่นที่จะทำได้ นั่นคือเรื่องความอ่อนไหวและไวต่อความรู้สึก เพื่อควบคุมให้น้ำเหมือนมีชีวิต ทำให้ลมเหมือนมีชีวิต และองค์ประกอบทั้งหมดนั่นคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีชีวิต” อันโดะว่า
“ก็เหมือนกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างอื่น สักวันหนึ่งอาคารก็ต้องผุพังและสลายไปตามกาลเวลา […] อย่างไรก็ตาม ผมหวังที่จะสร้างอาคารที่จะคงอยู่ไปตลอดกาล ไม่ใช่ในแง่ของการเป็นสสารหรือการคงรูปเอาไว้ แต่ในแง่การอยู่ในใจของผู้คนต่างหาก”
นั่นอาจเป็นความหวังของสถาปนิกวัย 76 แต่สำหรับเรา งานแล้วงานเล่าของอันโดะได้เข้ามาอยู่ในใจไปนานแล้ว และเราก็มั่นใจเหลือเกินว่ากาลเวลาก็ไม่อาจทำร้ายความรู้สึกที่เกิดจากงานของเขาได้แน่นอน
อ้างอิง
หนังสือ Tadao Ando : Endeavors โดย The National Art Center, Tokyo