หากบ้านสักหลังจะลอยอยู่กลางอากาศ หรืออนุญาตให้คุณขึ้นไปปีนป่ายเล่นตามผนังตึกราวกับโลกนี้ไร้แรงโน้มถ่วง นั่นน่าจะเป็นเพราะ Leandro Erlich เลือกเล่นกับมิติลวงตาในความสามัญ—อ้อ เราจะไม่ลืมผลงานสระว่ายน้ำของเขาด้วยเด็ดขาด
ลองจินตนาการถึงสระว่ายน้ำแห่งหนึ่ง มันตั้งโดดๆ อยู่กลางลานโล่ง ภายในบรรจุมวลน้ำสีฟ้าสดใสที่ขยับตัวเป็นคลื่นอ่อนๆ ตามแรงลม ไม่ต่างจากสระว่ายน้ำทั่วไปที่คุณเห็นมาเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง เว้นแต่ลึกลงไปข้างใต้ ผู้คนหลากหลายกำลังเคลื่อนไหวในชุดไปรเวทโดยที่ตัวไม่เปียกเลยสักนิด ก่อนที่คุณจะพบว่าแท้จริง ลึกลงไปไม่กี่เซ็นติเมตรคือแผ่นอะคริลิคใสที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างส่วนของน้ำกับห้องสีฟ้าข้างใต้ที่ให้คนลงไปสำรวจได้นั่นแหละ
Erlich ถนัดนัก ในการเล่นกับสิ่งธรรมดาสามัญในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งหากมองเผินๆ เราอาจสงสัยว่าข้าวของอย่างประตูบ้าน บันได หรืออะไรเทือกนั้น สามารถจับจองพื้นที่ในแกลเลอรี่หรือนิทรรศการใหญ่ๆ ได้อย่างไร และภายใต้หน้าตาไม่หวือหวา ความพิเศษของมันกลับเป็นสิ่งที่สอดไส้อยู่ข้างในต่างหาก
ผลงานสระว่ายน้ำของเขามีชื่อว่า The Swimming Pool สร้างขึ้นเพื่อร่วมเทศกาลศิลปะ Venice Biennale ในปี 1999 นั่นเป็นจุดกำเนิดผลงานสร้างชื่อให้จนถึงทุกวันนี้ ในฐานะศิลปินที่ใช้สเปซหลอกลวงการรับรู้ของผู้ชม และตั้งคำถามต่อการทำความเข้าใจโลกรอบตัว ซึ่งแม้คอนเซ็ปต์จะฟังดูจับต้องยาก วิธีของ Erlich กลับเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน และเปิดพื้นที่ให้คนดูได้กระโจนลงไปสนุกกับงานมากกว่าจะมานั่งอธิบาย
Leandro Erlich เกิดเมื่อปี 1973 ที่เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า ในครอบครัวที่มีพ่อ ป้า และพี่ชายเป็นสถาปนิกกันทั้งหมด เพราะอย่างนี้ วัยเด็กของเขาจึงเป็นการติดสอยห้อยตามพ่อไปยังไซต์งาน และได้เห็นสเปซถูกบิด ดัด ตัดทอน ไปในแบบต่างๆ กระบวนการแบบนั้นติดตาตรึงใจ Erlich อย่างมากจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คอนเซปต์การทำงานทุกวันนี้ ซึ่งเขามักดัดแปลงสเปซให้ค้านการรับรู้พื้นฐานของคน
วันดีคืนดี เขาก็จับเอาลิฟต์มากลับในออกนอกเสียเลย
งานที่ว่าคือ Elevator (1995) อันเป็นงานชิ้นแรกที่ Erlich เล่นกับการออกแบบสถาปัตยกรรมและดัดแปลงความธรรมดาให้พิลึกพิลั่น เรื่องของเรื่องคือในตอนนั้น เขาต้องสร้างงานเพื่อส่งเข้าประกวดชิงรางวัลจากสถานทูตประเทศฝรั่งเศสในอาร์เจนติน่า โดยมีกฎว่าผลงานต้องมีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่า 80x80x180 เซนติเมตร ทั้งที่สถานที่จัดงานก็ออกจะโอ่โถงสุดๆ
นั่นทำให้เขาต้องไปถามทีมงานถึงเหตุผลการจำกัดขนาด และพบว่าต้นเหตุมาจากการที่ทีมงานต้องขนย้ายงานทุกชิ้นเข้าลิฟต์ ซึ่งก็มีขนาดเท่าที่กำหนดให้นั่นแหละ!
รู้อย่างนี้ Erlich จึงเปลี่ยนข้อจำกัดเป็นแรงบันดาลใจด้วยการสร้างลิฟต์ขึ้นมาตามขนาดที่กำหนดเป๊ะๆ แต่พลิกเอาการตกแต่งด้านในมาไว้ข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นปุ่มกดชั้น ราวจับ หรือป้ายที่ติดในลิฟต์ก็ตาม เล่นกับการรับรู้คำว่า ‘ลิฟต์’ ในแบบทั่วไปที่ใครๆ เข้าใจ กลายเป็นลิฟต์หน้าตาประหลาดที่เห็นแล้วชวนงงเป็นบ้า
นอกจากอิทธิพลจากครอบครัว Erlich ยังดูหนังและอ่านหนังสือเยอะอีกด้วย เป็นเหตุให้แรงบันดาลใจอีกก้อนใหญ่ๆ ของเขามาจาก Jorge Luis Borges นักเขียนนิยายแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ชาวอาร์เจนติน่า งานของ Borges นั้นมักมีธีมธรรมดาๆ อย่างกระจก เขาวงกต ห้องสมุด ความฝัน หรืออื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่จับมาบิดให้มีความลวงตา เล่นกับการรับรู้ที่ผิดแปลกออกไปจากโลกของความเป็นจริง
ส่วนอิทธิพลอีกก้อนที่เล็กลงมาหน่อยคือ Georges Perec นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้ชอบพลิกมุมมองต่อโลกรอบตัวซึ่งเป็นวิธีที่ Erlich เองก็ใช้ทำงานเหมือนกัน
“ผมรู้จัก Perec ในช่วงหลังๆ แล้ว (หลังจาก Borges) แต่ผมชื่นชมวิธีที่เขาใช้ตรรกะ เขาอธิบายจักรวาลในแบบเดียวกันกับที่ผมมอง งานของผมเองมีลักษณะของความขี้เล่นอยู่ ในแง่ที่ใช้ความธรรมดาในทุกๆ วันมาบิดให้ดู ‘ไม่จริง’ แต่ยังอยู่ในตรรกะที่เชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริงอยู่ สิ่งที่ทำให้ผมสนใจ Perec จึงเป็นวิธีที่เขามองโลกรอบตัวจากมุมมองที่แปลกใหม่ออกไป”
อาจพูดได้ว่าอิทธิพลของนักเขียนทั้งสองปะปน หลอมรวมลงไปในงานสนุกๆ ของ Erlich เสมอ เพราะงานอื่นๆ ของเขานอกจากเจ้าลิฟต์กลับในออกนอกนั่นก็มักใช้ทริกง่ายๆ มาบิดเบือนข้าวของหรือสเปซในชีวิตประจำวันเสมอ
อย่าง The Living Room (1998) ที่เขาสร้างห้องนั่งเล่นธรรมดาๆ ขึ้นมาให้คนเข้าไปเดินดู ภายในห้องเขาแขวนกระจกเงาเอาไว้ด้วย แต่มันกลับสร้างความตกใจให้ผู้ชมที่เดินผ่านเพราะแทนที่จะปรากฏเงาของพวกเขาในนั้น มันกลับมีแต่เงาสะท้อนของห้องนั่งเล่นที่พวกเขายืนอยู่เท่านั้น!
ความลับของงานนี้คือการที่ Erlich ลงทุนสร้างห้องนั่งเล่นติดกันขึ้นมาอีกห้องที่มีรายละเอียดเหมือนกันเป๊ะ เพียงแต่ทุกอย่างกลับด้านเหมือนเงาสะท้อนในกระจกเงา ส่วนบริเวณที่คนเห็นว่าเป็นกระจกเงานั้นก็เป็นเพียงแค่ช่องในกำแพงที่เขาเอากรอบไปติดหลอกไว้เฉยๆ อย่างงั้นแหละ (โธ่)
ความบ้าพลังของ Erlich (และไม่ต้องจำกัดขนาดงานด้วยลิฟต์อีกแล้ว) ยังทำให้ขนาดชิ้นงานของเขามักจะใหญ่โตอยู่เสมอๆ อย่าง Bâtiment (2004) ภาพลวงตาชิ้นยักษ์ที่ Erlich สร้างฉากตึกสูงขึ้นมา วางมันนอนราบไปกับพื้น แล้วตั้งกระจกขนาดใหญ่มโหราฬทำมุมเฉียงเหนือผลงาน เป็นกลไกง่ายๆ ที่ทำให้เมื่อคนเข้าไปนอนทำการแสดงในฉากที่วางอยู่บนพื้น ภาพที่เราเห็นบนกระจกก็เหมือนคนกำลังหล่นลงมาจริงๆ
งานนี้ถูกเอาไปโชว์ครั้งแรกที่ปารีสเมื่อปี 2004 ความง่ายแบบที่เด็กก็เข้าใจกลไกได้ไม่ยาก แต่สนุกมาก และลวงตาได้จริงทำให้มันถูกเอาไปโชว์ในอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกอย่างซิดนีย์ ลอนดอน เบอร์ลิน เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง โตเกียว แถมในหลายเมือง Erlich ยังบ้าพลังทำฉากขึ้นมาใหม่ให้เข้ากับตึกของเมืองนั้นเสียด้วย
แต่งานที่แสบที่สุดของ Erlich ในความเห็นของเราต้องยกให้ The Democracy of the Symbol เมื่อปี 2015 นี่เอง ที่ Erlich ถึงขั้นเสกให้ยอดเสาโอเบลิสก์ ไอคอนของบัวโนสไอเรสหายไปท่ามกลางความตกใจของทุกคน!
อย่างที่รู้กันว่าทริกของเขานั้นมักจะง่ายแสนง่าย ผลงานครั้งนี้เองก็ไม่ต่างกัน เมื่อความจริงแล้วเขาแค่ทำกล่องที่สีเหมือนกับเสาโอเบลิสก์เป๊ะๆ ไปครอบไว้บนยอดเท่านั้น (โอ๊ย!) แถมยังทำยอดเสาจำลองไปวางไว้ที่ใจกลางเมืองเพื่อเปิดให้เข้าไปชมข้างในเสาโอเบลิสก์ (ที่เขาจินตนาการขึ้นเอง) กันได้ด้วย
“ที่นี่คือสัญลักษณ์ของท้องถิ่นที่มีความลึกลับในหลายๆ ด้าน คนอาร์เจนฯ เองก็ยังไม่รู้เลยว่าข้างในเป็นยังไงเพราะมันไม่เคยมีการเปิดให้เข้าชม ไม่เหมือนอนุสาวรีย์ในเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ให้เข้าไปดูได้” เขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น La Nación daily ถึงแรงบันดาลใจ
เพราะแทบทุกงานของเขา คนดูจะได้มีส่วนร่วมเสมอ การวางแผนแต่ละชิ้นงานจึงไม่ได้จบแค่การคิดว่าตัวงานจะออกมามีหน้าตาเป็นแบบไหน ใช้วัสดุอะไร แต่ยังต้องลงรายละเอียดไปถึงการออกแบบ ‘ประสบการณ์’ ของคนดูเพราะคนดูนั่นเองที่เป็นผู้ช่วยสร้างงานของเขาให้สมบูรณ์
“ผมคิดถึงเรื่องคนดูตั้งแต่จังหวะที่เริ่มจินตนาการถึงงานชิ้นใหม่เลย จากนั้นผมจึงคิดว่าบทบาทของคนดูจะเป็นอะไร เขาหรือเธอจะมองชิ้นงานแบบไหน ผมคิดถึงการแปลความหมายงานที่อาจเกิดขึ้นได้ และคนดูจะไปอยู่ตรงไหนของชิ้นงาน”
Elrich ให้สัมภาษณ์กับทีมงานของ 21st Century Museum of Contemporary Art, Kanazawa “ในช่วงที่สร้างงาน สิ่งที่ผมคิดคือ ‘นี่คือห้อง คนควรจะนั่งตรงนี้ ยืนตรงนี้ เห็นเงาสะท้อนตรงนี้’ ผมต้องคิดถึงขั้นตอนที่แน่นอนว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่าง The Swimming Pool คนจะต้องเห็นงานครั้งแรกจากด้านบนและเข้าใจเรื่องราวจากมุมมองตรงนั้นก่อน นั่นแหละคือขั้นตอนของประสบการณ์ จากนั้นคนถึงจะเจอทางลงไปยังห้องใต้น้ำ”
แต่แม้ Erlich จะวาดภาพและแพลนไว้หมดว่าลำดับขั้นการชมผลงานจะเป็นยังไง เขาก็ใจกว้างกับการตีความงานเสมอ ส่วนชิ้นงานเองก็มีความเป็นสากลมากระดับที่ไม่ต้องทำความเข้าใจบริบททางวัฒนธรรมใดใดก็เพลิดเพลินตามไปได้ไม่ยาก เพราะสิ่งที่เขาหยิบมาทำงานแต่ละอย่างก็เป็นของรอบตัวคนทุกชนชาติ อย่างสระว่ายน้ำ บ้าน ร้านตัดผม หรือห้องเรียนที่ไม่ว่าจะประเทศไหนก็ต้องมีเหมือนๆ กัน
Erlich ยังทำงานอีกหลายงานที่ไม่เพียงแต่เล่นกับการรับรู้ของคน แต่ยังวิพากษ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา อย่างงาน Maison Fond (2015) ซึ่ง Erlich ทำโมเดลบ้านขนาดใหญ่กำลังหลอมละลายและเอาไปตั้งไว้กลางกรุงปารีสเพื่อพูดถึงภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน
หรือจะเป็น Pulled by the Roots (2015) ที่เขาใช้เครนยกโมเดลบ้านให้ลอยเคว้งอยู่กลางอากาศ แค่นั้นยังประหลาดไม่พอ เขาจึงเติมรากไม้ชอนไชลงไปที่ใต้ตัวบ้าน โดยทั้งหมดนี้ Erlich ทำเพื่อสื่อถึงโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีทำให้คนออกห่างจากธรรมชาติไปทุกที แต่สุดท้ายแล้ว ใต้บ้านที่สร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เป็นรากไม้ เป็นธรรมชาติที่เราต้องพึ่งพิง ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอยู่ดี
และถึงงานส่วนใหญ่ของศิลปินผู้นี้จะเป็นทริกเข้าใจง่าย แต่เขาก็มักผลักเราออกจากการรับรู้ที่เราคุ้นชินเสมอ แถมหลายงานก็อธิบายออกมาเป็นคำพูดยากเสียด้วย อย่างงาน Staircase (2005) ที่เขาจับบันไดอาคารมาพลิกเป็นแนวนอน ทำทางเข้าออกจากสองฝั่ง และทำให้คนที่เดินเข้าไปในงานดูอยู่ในองศาที่แปลกประหลาด ไม่เหมือนภาพการเดินขึ้นลงบันไดในชีวิตประจำวัน
Erlich ตั้งคำถามกับสิ่งที่เรารับรู้และเข้าใจในทุกๆ วันว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นจริงนั้นจำเป็นต้องเป็นจริงเสมอไปหรือไม่ สระว่ายน้ำจำเป็นต้องลงไปแล้วทำให้เราเปียกมั้ย? กระจกคือสิ่งที่สะท้อนความจริงหรือไม่? บันไดจำเป็นต้องพาเราขึ้นไปยังที่สูงหรือลงต่ำหรือไม่? หรือหากบันไดไม่สามารถพาเราเดินทางในแนวดิ่งได้แล้ว มันจะยังถูกเรียกว่าบันไดอยู่หรือไม่?
แล้วถ้าเราจะต้องอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในงานของเขา เราจะอธิบายมันว่าอย่างไร ซึ่งสุดท้ายเราอาจพบว่างานที่ดูง่ายๆ ของเขากลับยากที่จะอธิบายให้ใครเข้าใจหากปราศจากภาพประกอบ เพราะเราๆ ล้วนแล้วแต่ติดอยู่ในกับดักของภาษาที่ยึดโยงเราให้ติดหนึบอยู่ในการรับรู้แบบเดิมๆ ที่ยากจะเปลี่ยนแปลง
และนั่นเอง เป็นส่วนที่เราชอบที่สุดในงานของ Erlich งานที่มีหน้าตาธรรมดาๆ เต็มไปด้วยกลไกง่ายดาย แต่ต้องอธิบายกันยาวเหยียดกว่าจะเข้าใจ และแม้งานของเขาจะหลอกลวงการรับรู้ของเราให้มึนงงแค่ไหน เราก็ยังเต็มใจที่จะเข้าไปให้เขาหลอกเสมอๆ เพราะสุดท้ายแล้วกับดักเหล่านี้ก็ช่างสนุกเหลือเกิน
อ้างอิง
หนังสือ Leandro Erlich- The Ordinary? โดย 21st Century Museum of Contemporary Art, Kanazawa
photo by arch2o.com mukayu.com pinimg.com