ไม่ใช่แค่ทำเพลงป๊อปที่เวียนวนในหัวคนรุ่นลูกหลานเบบี้บูมเมอร์มาหลายปีเท่านั้น แต่ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ต่อพงศ์ จันทบุปผา หรือ ‘บอล Scrubb’ ยังมีอีกบทบาทด้านล่างเวที นั่นคือการทำค่ายเพลงที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินรุ่นน้องมาแล้วหลายต่อหลายคน
เราเอง—เพิ่งรู้ว่าเขาเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานห้องเทสต์เสียงของ GMM Grammy ก่อนจับพลัดจับผลู (ตามคำของเขา) ไปช่วยดูแลจัดการศิลปินที่ค่าย Blacksheep แล้วค่อยย้ายไปทำ SpicyDisc ต่อด้วยค่ายเพลงทางเลือกของ RS และ Believe Records รวมกันเป็นสิบปี จนมาลงเอยที่การทำค่ายเพลงเล็กๆ กับ มอย—สามขวัญ ตันสมพงษ์ และ ออน—ชิชญาสุ์ กรรณสูต ในชื่อ What the Duck ซึ่งถึงตอนนี้ก็กำลังเข้าสู่ปีที่ 5 เป็นที่เรียบร้อย
อาจด้วยระบบอาวุโสหรือใดๆ ก็ตามแต่ ทำให้บ่อยครั้งเราเห็นบรรดาผู้เกิดก่อน ต่างเชื่อมั่นในประสบการณ์ของตัวเองแบบสุดๆ ตามมาด้วยการไม่ฟังใครทั้งสิ้น แต่บอลไม่ใช่หนึ่งในนั้น เพราะแม้ปีนี้ Scrubb กำลังจะก้าวสู่ขวบปีที่ 18 แล้ว แต่คนรุ่นใหม่กลับเป็นกลุ่มคนที่บอลบอกว่าทำให้เขาได้เรียนรู้มากที่สุด
คำว่าเรียนรู้ที่ว่ามาในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการเป็นแฟนคลับศิลปินหน้าใหม่อยู่หลายคน (แน่นอนว่ารวมถึงศิลปินทั้งหมดในค่ายของเขาเองด้วย) ยินดีต้อนรับเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานด้วยในทุกตำแหน่ง แถมยังชอบพูดคุยกับคนเจนวาย จนการแอดไปขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับคนเหล่านั้น กลายเป็นสิ่งที่เขาทำอยู่ประจำ—ลองนึกภาพตามว่าเด็กเจนวายสักคนที่เคยอินกับเพลงสครับบ์ในช่วงปั๊ปปี้เลิฟ วันหนึ่งพบว่า ‘เฮ้ย พี่บอลแอดมา’—น่าจะเป็นความรู้สึกที่ตื่นเต้นดีไม่น้อย
และในฐานะหนึ่งในคนเจนวายที่มีโอกาสได้พูดคุยกับเขา เราพบว่าสิ่งที่ได้ฟังนั้นน่าสนใจและจุดประกายอะไรบางอย่าง ไม่น่าจะแพ้สิ่งที่เขาได้รับไปจากคนรุ่นเราๆ แน่ๆ
Life MATTERs : รู้มาว่ามีวงใหม่ๆ ส่งเพลงไปให้คุณฟังเยอะเหมือนกัน ยุคนี้มันยังมีคนที่เดินเอาเพลงไปส่งที่ค่ายมั้ย
บอล : มีๆ มีขอเข้ามาเจอ เข้ามาคุย ซึ่งมันก็เป็นวิธีการพื้นฐานที่ดี แต่ว่าถ้าเทียบกับยุคสมัยนี้แล้ว เราว่าวงที่ค่ายอยากได้กลับเป็นวงที่ไม่ค่อยได้มาส่งงานให้ค่ายเท่าไหร่ แต่เป็นวงที่ค่ายออกไปเจอเองตามที่ต่างๆ เพราะว่าเราอยากเจอคนที่มีความรอบด้านนิดหนึ่ง เช่น เล่นเองได้ เปิดเพจเองได้ ทำเอ็มวี ไปหาที่เล่น ไปหาแฟนเพลงเองได้ ซึ่งพวกนี้เป็นปัจจัยสำคัญในยุคนี้
Life MATTERs : ทำไมค่ายคุณถึงสนใจวงที่แทบจะพร้อมทั้งหมดอยู่ก่อนแล้ว
บอล : คือเดี๋ยวนี้มันไม่ต้องรอค่ายมาทำให้แล้ว สิ่งที่ค่ายอยากรู้คือ คุณสามารถทำเอง ดูแลตัวเองได้ดีแค่ไหน ยิ่งคุณดูแลตัวเองได้ดีเท่าไหร่ ตอนมาอยู่กับเรา เราก็สามารถต่อยอดคุณได้เร็วขึ้น ถ้าเกิดไม่เคยทำงานมาเลย เพลงก็ต้องทำให้ อิมเมจก็ไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร โดยรวมก็ต้องแพลนให้ ไปเล่นก็ต้องคิดให้ อย่างนี้ แล้วตัวตนคุณคืออะไร
เราว่ายุคนี้เราก็ไม่ได้ชอบอะไรที่มาเป็นบล็อกๆ เป็นแพทเทิร์นที่มีคนจัดให้ เรารู้สึกชอบอะไรที่ใหม่ สด แล้วก็มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มันควรจะต้องเป็นอย่างนั้น มันก็เลยเป็นประเภทของวงดนตรีในยุคปัจจุบันที่ค่ายอยากได้มากกว่า
Life MATTERs : ถ้านักดนตรีมีสกิลรอบด้านขนาดนี้อยู่แล้ว ทำไมเขายังต้องพึ่งค่ายอยู่ล่ะ?
บอล : มันเหมือนการเลื่อนชั้นนะ คือถ้าเกิดว่าทำเพื่อตอบโจทย์ความสุขในระยะสั้น ทำเป็นงานอดิเรก แบบนั้นทำกันเองก็ได้ ไม่ต้องมีค่าย แต่การที่วงวงหนึ่งเลือกจะมาอยู่ในค่าย นั่นหมายความว่า เขามีความจริงจังขึ้นอีกสเต็ปหนึ่ง อาจจะอยากให้มันเป็นงานอดิเรกที่มันจริงจังขึ้นอีกนิด หรืออยากให้มันเป็นอาชีพเสริมที่มีรายได้
บางคนอยากให้เป็นอาชีพไปเลย ตั้งเป้า มุ่งมั่นว่าจะพัฒนาให้ดีขึ้น ทำเพลงให้ดีขึ้น สร้างเพลงดีๆ สร้างฐานแฟนคลับดีๆ ไปเล่นในที่แปลกๆ ที่ไม่เคยเล่นมากขึ้น เนี่ยคุณต้องการทีมแล้วล่ะ ถ้าเราไม่พูดว่าเป็นค่าย มันก็คือทีม เพราะจุดแข็งของวงดนตรีคือคุณทำเพลงไปเล่น แต่เราเชื่อว่าไม่ใช่ทุกวงที่เก่งเรื่องโปรโมต พีอาร์ เก่งทำเอ็มวี ทำปก ดู stylist เก่งเรื่องการเงิน ติดต่อขายงาน ประสานงาน การเจรจาต่างๆ พวกนี้มันคือทีมทั้งหมดที่จะมาช่วยกัน
ซึ่งถ้าคุณเก่ง คุณมีทีมที่เป็นคนจัดการเรื่องนี้อยู่คุณอาจจะใช้ทีมเหล่านั้นก็ได้ แต่ในมุมของอุตสาหกรรมนี้ ค่ายเองก็ต้องทำให้ดีกว่าที่เขาทำเองได้ สมมติถ้าสเต็ปที่หนึ่งถึงสามเขาเคยทำเองได้ อยู่กับเราเขาต้องไปอยู่ที่สเต็ปหก แปด หรือสิบ โน่นเลย ไม่ใช่ว่ามีค่ายแล้วก็ยังอยู่ที่แค่เสต็ปที่สี่หรือห้า ซึ่งแบบนั้นสักปีสองปีเขาก็อาจจะทำได้เอง อย่างนี้ถือว่าไม่สมเหตุสมผล ก็ไม่ควรจะเอาเขามาอยู่
หรืออย่างบางวงที่เราชอบมากในแง่ส่วนตัว แต่ในแง่ธุรกิจเรามาประเมินแล้วว่า เขาน่าจะมีความสุขสบายดีในพื้นที่เดิม เขาก็ไม่ได้หวังว่าจะต้องเติบโตต่อไป การที่จะเอาเขามาต่อยอดแล้วไปได้แค่ประมาณหนึ่ง มันอาจจะไม่สมเหตุสมผลซึ่งกันและกัน
Life MATTERs : คนมักติดภาพว่าคุณเป็นนักดนตรี ตอนไหนที่คุณขยับมาทำค่ายเพลงด้วย
บอล : วัตถุประสงค์ของเราที่ทำค่ายแล้วก็ยังเล่นดนตรีอยู่ด้วย จริงๆ มันมาจากเรื่องส่วนตัวก่อน คือในวันที่เรามีโอกาสได้ทำวง เรารู้สึกว่าเราไม่ได้โตมาจากการที่เรามีทักษะของความเป็นนักดนตรีแท้ๆ เราเป็นนักเรียนนักศึกษาที่บังเอิญกิจกรรมหลักในมหาวิทยาลัยคือเล่นดนตรี แล้วบังเอิญสิ่งที่เราทำกันเล่นๆ มันดันมีคนชอบ
เรามองว่าด้วยทักษะ ด้วยความรู้ที่มี เรารู้ว่าเราไม่น่าจะรักษาอายุของการเล่นดนตรีให้ยืนยาวได้ เอาง่ายๆ เราไม่รู้ว่ามันจะมั่นคงพอที่จะดูแลเราได้มั้ย ดังนั้นเราก็เลยเลือกว่า ถ้ามันไม่เหนื่อยจนเกินไปนัก เราเลือกที่จะมีอาชีพหลักไว้ดีกว่า แล้วให้ Scrubb มันเป็นอาชีพเสริมแล้วกัน
คือเราแค่อยากหาอะไรที่มั่นคงที่ดูแลตัวเองได้ แล้วเราจะได้ไม่ต้องไปเครียดกับเพลงมากเกินไปด้วย ถ้าเราคิดว่า Scrubb ต้องเลี้ยงเราได้ เราอาจจะไม่ได้ทำเพลงในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่พอเรามีอาชีพรองรับกลายเป็นว่าข้อดีคือถ้าเพลงมันยังไม่ดีพอ เราก็กล้าขอเวลาทำงานกับเพลงให้มากที่สุดก่อน เราจึงเป็นวงที่บางทีก็ออกช้า เพราะเราอยากทำสิ่งที่มันมีความสุขจริงๆ
Life MATTERs : จากที่เป็นผู้บริหารค่ายเพลง พอจะเปิดค่ายเพลงเองได้คิดถึงความเสี่ยงทางธุรกิจบ้างมั้ย ยิ่งในยุคที่คุณเองก็บอกว่าใครๆ ก็ทำเพลงได้
บอล : พอบอกว่าจะทำค่าย แม่หรือน้องสาวที่ปกติไม่ค่อยเป็นคนห้ามหรือออกความเห็นอะไรในการใช้ชีวิตเรา เขาถึงกับต้องโทรมาคุย จริงๆ ก็เข้าใจเขา เพราะในมุมมองของคนนอก ก็จะรู้สึกว่าค่ายเพลงในทุกวันนี้ไม่เห็นน่าทำเลย คนก็ไม่ซื้อเพลง ไม่สนับสนุนศิลปินแล้ว ไปฟังฟรีในยูทูบ ฟังสตรีมมิ่งกันหมดแล้ว
บางคนก็เป็นห่วงที่ซีดีมันขายไม่ได้อีกต่อไป จะบอกว่าเราไม่ได้ขายซีดีมาหลายปีแล้ว ปีหนึ่งขายตามวาระ เทศกาลพิเศษครั้งเดียวด้วยซ้ำ ซึ่งรูปแบบของรายได้มันเปลี่ยนไปเยอะมาก ตั้งแต่ยูทูบกับสตรีมมิ่งเข้ามา รายได้จากดิจิทัลมันมาชดเชยในปริมาณที่โอเค
มันไม่เยอะ แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว คนฟังเพลงฟรีก็จริง แต่คนฟังยังต้องการเพลงใหม่ๆ ยังอยากให้มันเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทำออกไป คนฟังก็จะบอกกันต่อๆ ว่าเพลงไหนเป็นเพราะที่เขาจะชอบ แล้วอีกอย่างตอนนี้คนที่พร้อมจะจ่ายเงินให้เรา กลายเป็นออร์แกไนเซอร์ อีเวนท์ หรือเทศกาลต่างๆ นานา ที่มาจ้างศิลปินแทน คือรายได้มันยังอยู่แหละ เพียงแต่ผู้จ่ายมันเปลี่ยนมือไปเท่านั้นเอง
ดังนั้นคนฟังก็ยังซัพพอร์ตเราอยู่ โอเค เขาไม่ได้จ่ายตรงๆ เหมือนสมัยซีดีหรือเทปคาสเซ็ต แต่เขาช่วยบอกให้ว่า เขาชอบฟังเพลงอะไรอยู่ ลูกค้าก็คอยมอนิเตอร์อยู่ว่าเขาอยากจะทำการตลาดกับดนตรีแบบไหน ดังนั้นในฐานะคนในเรากลับรู้สึกว่า เฮ้ย มันยังโอเคอยู่นะ
มูลค่าของซีดีไม่ใช่รายได้ แต่ต้องมองว่าซีดีเป็นของที่ระลึกที่แฟนเพลงจะหยิบจับได้ ทุกวันนี้คนปล่อยซิงเกิ้ลเป็นเพลงกัน แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เพลงเหล่านั้นมันต้องถูกรวมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มันก็ไม่ได้เป็นกำไรหรอก แต่มันเป็นสื่อแทนใจอะ เหมือนคนเขียนหนังสือ สุดท้ายอาจจะเขียนบทความลงบล็อกตัวเองแต่สุดท้ายเขาก็อยากรวมออกมาเป็นเล่ม
Life MATTERs : ได้ยินคุณพูดถึงซีดี เรารู้มาว่าคุณก็ยังสนับสนุนให้น้องๆ ศิลปินได้ออกซีดีของตัวเองอยู่ ทำไมถึงยังเลือกที่จะทำ
บอล : ต้องมองอย่างนี้ก่อนว่า มูลค่าของซีดีไม่ใช่รายได้ แต่ต้องมองว่าซีดีเป็นของที่ระลึกที่แฟนเพลงจะหยิบจับได้ ทุกวันนี้คนปล่อยซิงเกิ้ลเป็นเพลงกัน แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เพลงเหล่านั้นมันต้องถูกรวมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มันก็ไม่ได้เป็นกำไรหรอก แต่มันเป็นสื่อแทนใจอะ เหมือนคนเขียนหนังสือ สุดท้ายอาจจะเขียนบทความลงบล็อกตัวเองแต่สุดท้ายเขาก็อยากรวมออกมาเป็นเล่ม
เราอยากให้ของที่กระจัดกระจายอยู่ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งมารวมไว้เป็นไดอารี่ในช่วงเวลานั้นๆ คนที่สะสมก็รู้สึกว่าฉันมาเก็บความทรงจำ เก็บช่วงเวลาปีสองปีนี้ของคนๆ นี้ที่สร้างงานแบบนี้ไว้นะ เราว่าข้อดีคือเพลงมันมารวมอยู่ตรงนี้แล้ว แต่ถ้าคุณไปตามโหลดตามสตรีมมิ่งในคอมพ์ ลงไว้เครื่องไหนก็ไม่รู้มันตามเก็บยาก
ถ้าคนเป็นศิลปินหรือคนเคยมีผลงาน จะเข้าใจโมเมนต์ที่มีคนเดินมาแล้วก็บอกว่า “ซื้ออัลบั้มแผ่นหนึ่งค่ะ” พูดแบบไม่อายเลย มันเป็นพลังงานต่อลมหายใจของศิลปินเยอะมาก เราก็เริ่มต้นด้วยการขายซีดี ทุกครั้งที่มีคนหยิบไปแล้วจ่ายเงินมาเราแทบจะจำหน้าว่าเขาเป็นใครบ้าง มันมีความหมายต่อคนสร้างสรรค์งานมากๆ
เพราะฉะนั้นเราว่าซีดีเป็นตัวแทนที่ดีของการพบปะกันตามวาระสำคัญ ได้แสดงน้ำใจ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งในฐานะค่ายเพลงเราคิดว่าเราควรจะต้องรักษาบรรยากาศนี้ไว้บ้าง
Life MATTERs : การเป็นทั้งศิลปินและเป็นคนบริหารศิลปินมันส่งเสริมกันบ้างมั้ย
บอล : ข้อดีคือมันอยู่ในธุรกิจเดียวกัน ทำให้เราสนุกกับการทำหน้าที่ทั้งสองหมวด ถ้าเป็นฟุตบอลคงเหมือนกับทั้งเป็นทั้งผู้จัดการและผู้เล่น (หัวเราะ) มันทำให้เราเข้าใจทั้งสองฝั่ง เพราะว่าบางทีฝั่งสร้างสรรค์งาน คือนักดนตรี ศิลปิน กับฝั่งการตลาดมันมักจะมีเป้าที่ค่อนข้างอยู่ซ้ายสุดกับขวาสุด
การทำงาน artist management เป็นคนที่ต้องทำหน้าที่อยู่ทั้งสองฝั่งนี่ทำให้เรารู้ว่าช่วงไหน ควรให้ความสำคัญกับอะไรก่อน ช่วงนี้ศิลปินยังแต่งเพลงอยู่ เราก็พยายามสร้างพื้นที่ให้เขามีความสะดวกสบายในการทำงานโดยไม่เอาแผนการตลาดไปครอบเขา พอเสร็จแล้วเราก็บอกว่า การตลาด โปรโมชั่น หรือการพีอาร์อาจจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะว่าเราต้องการพาคุณไปถึงเป้าหมาย น้องๆ ก็อาจจะต้องเดินตามแพลน ที่เราเตรียมไว้ให้มากขึ้น
artist management ที่ดีคือการเป็นคนกลางและคอยทำให้ทั้งสองฝั่งทำงานไปด้วยกันได้ ต้องคอยบาลานซ์เรื่องความรู้สึกกับความจริง งานบริษัทคือความจริง งานสร้างสรรค์คือความรู้สึก ความฝันทั้งนั้น ก็เลยถือว่าเป็นโชคดีที่เลือกถือทั้งสองอย่างไว้ในวันนั้นและวันนี้
แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ด้วยกัน แลกเปลี่ยนด้วยกัน เราไม่ได้บอกทุกเรื่องจนกลายเป็นว่า โห ต้องเชื่อตามตำราที่ฉันโตมา เพราะว่าสิ่งที่คุณจะไปเจอในยุคนี้มันก็อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้
Life MATTERs : แล้วการที่คุณก็เป็นศิลปินเอง ทำให้คุยกับน้องๆ ศิลปินในค่ายง่ายขึ้นบ้างหรือเปล่า
บอล : (หัวเราะ) เวลาที่เป็นเรื่องงอแง เขาจะไม่ค่อยงอแงกับเรา เขาจะไปงอแงกับคนอื่นก่อน เพราะรู้ว่าเรื่องแบบนี้ถ้าไปทำกับพี่บอล พี่บอลต้องรู้แน่ๆ ว่านี่คือการงอแง เพราะพี่บอลก็ออกไปเล่นดนตรีเหมือนกัน ก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย สุดท้ายข้อดีมันคือคุณมีเจ้านาย มีพี่ที่ทำงานที่เป็นเหมือนคุณอยู่ ปัญหาบางเรื่องที่คุณคิดว่าหนัก คุณมาบอกเรา เราว่าเราพอช่วยคุณได้ ดีกว่าที่มีทีมงานที่นั่งโต๊ะอยู่ในออฟฟิศอย่างเดียว ไม่ได้ออกไปทำงานด้วยกัน
หลักการง่ายๆ คือเรื่องใจเขาใจเรามากกว่า เราเป็นพี่คนโตที่ดูแลบ้านนี้และออกไปทำงานเหมือนพวกคุณ เจออะไรคล้ายๆ คุณ เรื่องแบบนี้ ปัญหาแบบนี้ หรือถ้าจะต้องไปเล่นแบบนี้ จะต้องวางตัวยังไง เราก็สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้ แนะนำให้ได้ เพราะเราก็เจอเหมือนกัน
แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ด้วยกัน แลกเปลี่ยนด้วยกัน เราไม่ได้บอกทุกเรื่องจนกลายเป็นว่า โห ต้องเชื่อตามตำราที่ฉันโตมา เพราะว่าสิ่งที่คุณจะไปเจอในยุคนี้มันก็อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้
Life MATTERs : ทุกวันนี้หรือตลอดมา คุณไปเจอศิลปินดีๆ จากไหนบ้าง
บอล : อย่าเรียกว่าดีละกัน เรียกว่าชอบดีกว่า เราก็ทำตัวเป็นผู้ฟัง อย่าทำตัวเป็นค่าย เราจะทำตัวเป็นพนักงานต่อเมื่อเราอยู่ออฟฟิศอะ แต่ถ้าเราอยู่ข้างนอก เราจะคอยหูตาไว อาจจะเป็นข้ออ้างนะ แต่วิธีง่ายที่สุดทุกวันนี้คือเล่นเฟซบุ๊กบ่อยๆ (หัวเราะ)
เฟซบุ๊กเป็นหนึ่งในโซเชียลที่ทำให้พี่ได้ทำงานกับวงดนตรีหลายๆ วงทุกวันนี้เพราะว่าเขาอยู่ในนั้นไง การเป็นเพื่อนกับคนบางคนอาจจะนำมาซึ่งการแชร์เพลง แชร์อีเวนต์บางอย่างทำให้เราได้ไปดูงานนั้นๆ
หรือเริ่มต้นจากการเจอใครที่เรารู้สึกอยากฟังซ้ำ เริ่มอยากไปดูว่ะ แล้วอยู่ดีๆ ก็เป็นแฟนเพลงไปแล้ว พอเรารู้สึกแบบนั้นเราจะเริ่มปรับโหมดว่าเราจะเป็นค่ายเพลงแล้ว ว่าสำหรับค่ายเพลงเราอยากพาเขาไปไหนต่อ
เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เริ่มต้นด้วยการคุยว่า “สวัสดีครับ นี่พี่บอลจากค่าย What the Duck นะครับ เราเป็นค่ายคุณภาพและอยากได้วงอย่างคุณไป ในปีหน้าคุณจะต้องมีเงินสามล้านอยู่ในมือแน่ๆ” แต่เราเริ่มต้นด้วยอะไรอย่าง “เฮ้ย เราโคตรชอบเพลงคุณเลย เล่นสดอย่างเจ๋ง” เริ่มต้นจากการเป็นผู้ฟังธรรมดานี่แหละ ถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึกลุ่มหลง เป็นแฟนเพลง ความรู้สึกเรามันจะสวิตช์บอกไปเองว่าเราน่าจะทำอะไรซักอย่างให้เขาได้นะ
ดูสร้างภาพนะ แต่เรื่องจริงคือเราต้องเป็นมิตรกับเขาก่อน เรื่องธุรกิจเราต้องพูดกันอยู่แล้ว แต่เราว่าการเริ่มต้นความสัมพันธ์ก็คือความจริงใจให้กันต้องมาก่อน เราต้องชอบเขาเพราะเราชอบเขา ไม่ใช่ชอบเขาเพราะอยากได้เขามาอยู่ด้วย ไม่ใช่คิดว่ามันน่าจะดัง เราว่าไม่เกิดประโยชน์ ไม่งั้นคุณก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย คุณจะไม่เข้าใจเขา
ทุกวันนี้กล้าพูดว่าวงที่เราทำงานด้วยร้อยเปอร์เซ็นว่าเราเป็นแฟนเพลงเขาก่อน เราเชื่อมั่นและศรัทธาในวงดนตรีที่เราเลือกมาทำงานด้วย เขาก็เชื่อมั่นกับเราซึ่งกันและกัน
Life MATTERs : คุณเคยบอกว่าคุณได้เรียนรู้จากการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่เยอะมาก มันคือการเรียนรู้ในแง่ไหนบ้าง
บอล : ชัดที่สุดคงเป็นการเรียนรู้จากวงที่เจอ เพราะวงสร้างงานที่ชัดเจน เราจะเห็นวิธีเล่าเรื่องแบบในภาษาของเขา ในยุคของเขา จากเพลงของเขา ได้เห็นดนตรีที่เขาไม่ได้อัดแบบที่ยุคของเราชอบๆ กัน มันทำให้เราตั้งคำถาม เราก็ลองไปศึกษาว่าเขาคิดอะไร ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ วิธีเล่าเรื่อง วิธีพูด วิธีการแต่งตัว ทั้งหมดเลย
กับพนักงานก็ชัดเจน สมมติเรามีครีเอทีฟสักคนที่คิดงานเก่งๆ เราก็ชอบไปดูงานเขาในโลกออนไลน์ มันเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ไม่เหมือนในสมัยก่อน ที่ใช้หนังสือ ใช้สิ่งพิมพ์ ทีวีก็จบ เราต้องทำตัวเป็นน้ำ อะไรที่เป็นช่องที่ทำให้เราไหลไปได้หรือเป็นช่องทางใหม่ๆ เราก็ต้องลองดูตลอด
ซึ่งอะไรเหล่านี้ก็ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่มาช่วย เพราะสมัยรุ่นเราไม่มีอินเทอร์เน็ต เราก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้น อันนี้จะโพสต์ จะแชร์เวลาไหน คำแบบไหน รูปอะไรดี หรือคอนเทนต์บางทีต้องทำเผื่อไว้มั้ย ถ้ามีปัญหา เราจะแก้ปัญหายังไง เราเชื่อว่าเด็กรุ่นเราก็คงไม่ทัน
Life MATTERs : เห็นเอ็มวีใหม่ของ Scrubb ก็ได้ผู้กำกับที่เพิ่งจบมาไม่กี่ปีมากำกับด้วย อย่างคนที่อยู่นอกวงการเพลงแบบนี้คุณไปเจอได้ยังไง
บอล : เราก็จะตามถามๆ จากคนในแวดวงนี่แหละ เรามีเฟซบุ๊กหมด ไปขอแอดเขาน่ะ (หัวเราะ) เหมือนเราอยากไปอยู่ในสังคมของเขา เห็นเวลาเขาแชร์อะไร ไปดูว่าเขามีความคิด มีมุมมองยังไง ไม่งั้นเราก็จะไม่รู้จักคนเหล่านี้เลย ตอนนี้เราสี่สิบอัพ ถ้าไม่เสพหรือลงไปคลุกคลีกับคนเหล่านี้ เราจะไม่รู้เลยว่าปัจจุบันใครคืออินฟลูเอนเซอร์ ใครคือบุคลากร ใครคือคนที่มีผลต่อการขับเคลื่อนไลฟ์สไตล์และศิลปะ
พวกอินฟลูเอนเซอร์ของแต่ละเจนเนอเรชั่นนี่สำคัญมาก ถ้าเราเสพแต่อินฟลูเอนเซอร์จากยุคเรามันก็จะเป็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ธุรกิจของเรา core value มันอยู่ในเจเนอเรชั่นปัจจุบัน เพราะฉะนั้นวิธีการเราก็จะต้องกระโดดลงมาอยู่ในเจนเนอเรชั่นนี้แหละ ไม่ต้องไปตามทั้งหมดก็ได้ แต่อย่างน้อยให้รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน เขาทำอะไร พูดเรื่องอะไรกันบ้างก็โอเค
เราว่าคนเหล่านี้เป็นบุคลากรทางด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะ คนทำภาพก็เป็น stakeholder ช่างภาพก็ใช่ เราก็ควรจะรู้หรือเปล่าว่าช่างภาพคนไหนถ่ายรูปเก่ง ตากล้องคนไหนช่วงนี้ถ่ายวิดีโอโคตรสวยเลย ใครตัดต่อเก่ง เราต้องดูว่าในองค์กรของเรามันมีใครที่เป็นผู้เล่นบ้าง
กระทั่งบัญชีคนไหนเก่งก็อาจจะต้องรู้นะ ต้องรู้ว่าเขาคิดภาษีกันแบบนี้ วิธีหักเปอร์เซ็นต์กันแบบนี้ เวลามีรายได้จากดิจิตอลต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์กันแบบนี้ ถ้าเราไม่รู้เราก็จะคุยกับเด็กไม่ได้ ซึ่งเด็กมาอยู่กับค่ายเขาถามเราอยู่แล้วแหละ
แต่ก็ต้องดูความเหมาะสม เพราะ Scrubb มันก็มีคาแรคเตอร์ของมัน บางอย่างอาจจะยังใช้ไม่ได้เพราะว่ามันก็ไม่ใช่วงของเราคนเดียว มันคือเรากับเมื่อย แล้วเราก็ไม่ได้อยู่ค่ายตัวเอง เราอาจจะเสนอได้ว่าปัจจุบันมันเป็นแบบนี้ แต่จะชอบหรือจะใช้อะไรก็ต้องมาดูกันอีกที
Life MATTERs : คุณเอาสิ่งที่เรียนรู้จากวงใหม่ๆ ไปใช้กับ Scrubb บ้างมั้ย
บอล : มากเลย งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้มันทำให้เราได้เรียนรู้เองด้วย ว่าเวลาไปทำงานของตัวเอง อะไรคือเรื่องจริงในยุคสมัยนี้ อะไรคือสิ่งที่อย่าทำเลย มันไม่ได้ประโยชน์ในยุคนี้แล้ว แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่เราอยากทำก่อนนะ บางเรื่องมันอาจจะดีมากๆ กับลูกค้า หรือกับศิลปิน แต่มันอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน
ถามว่าเรามีความรู้ขึ้นมั้ย มันก็เป็นธรรมดา วันจันทร์ถึงศุกร์เราต้องคุยงานค่าย เดี๋ยวเมลล์แผนการประชาสัมพันธ์ก็มาละ เดี๋ยวเมลล์ presentation ขายงานก็มาละ เดี๋ยวแผนการปล่อยเพลงก็มาละ เราได้อ่านทุกวันมันก็จะมีคู่มือทำให้คล่องตัวไปเอง
แต่ก็ต้องดูความเหมาะสม เพราะ Scrubb มันก็มีคาแรคเตอร์ของมัน บางอย่างอาจจะยังใช้ไม่ได้เพราะว่ามันก็ไม่ใช่วงของเราคนเดียว มันคือเรากับเมื่อย แล้วเราก็ไม่ได้อยู่ค่ายตัวเอง เราอาจจะเสนอได้ว่าปัจจุบันมันเป็นแบบนี้ แต่จะชอบหรือจะใช้อะไรก็ต้องมาดูกันอีกที
ความยากของมันก็คือว่า สุดท้ายธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ยังไงมันก็ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว จะบอกว่าคุณทำแบบนี้ นับหนึ่งถึงสิบแล้วคุณจะได้เงิน มันไม่มีมีเกิดขึ้นจริงไม่งั้นทุกคนก็จะรวยหมด (หัวเราะ) เราไม่รู้ว่าอันไหนจะประสบความสำเร็จ จะได้รับความนิยม ไม่มีทางรู้เลย
Life MATTERs : คุณอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีมานานมาก วงการเพลงทุกวันนี้เทียบกับยุคที่ Scrubb เพิ่งเกิดเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
บอล : คนชอบบอกว่าวงการกำลังแย่ แต่ที่สวนทางกันคือวงมันเกิดใหม่ทุกวันนะ อีเวนต์ก็เยอะขึ้น คนก็ยังออกไปเสพงานผ่านประสบการณ์จริง ไปดูคอนเสิร์ต แล้วก็ยังเห็นคอนเสิร์ตไทย คอนเสิร์ตนอกหลายๆ งานที่ยัง sold out อยู่เลย จริงๆ งานใหญ่ๆ มันอาจจะน้อยลง แต่งานย่อยๆ ที่มีคนไม่มากมันเยอะขึ้น
ส่วนตัวเราว่ามันโอเคขึ้น เพียงแต่เราต้องคอยมอนิเตอร์มันอยู่ตลอด สมมติเดือนนี้ทำงานแล้วประสบความสำเร็จ มีวงหนึ่งปล่อยซิงเกิ้ลแล้วดัง งานเต็มไปหมด รายได้เข้ามาเต็มไปหมด ถ้าเป็นสมัยก่อนนี่ปีนี้สบายไปแล้ว แต่สำหรับยุคนี้ เดือนหน้าก็ต้องดูใหม่ละว่ายังโอเคอยู่หรือเปล่า
เราว่ายุคนี้มันเป็นยุคที่การที่คนทำงานเพลงเองมันก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้น ในชาร์ตของสตรีมมิ่งต่างๆ ก็จะมีชาร์ตอินดี้แยกเข้ามาต่างหาก เพลงจากชาร์ตอินดี้บางเพลงก็กระโดดเข้าไปอยู่ในชาร์ตรวม มันเปิดกว้างมากขึ้น
คนเข้าใจว่าเพลงอินดี้ไม่ต้องยาก เพลงอินดี้บางทีก็โคตรจะแมส โคตรจะป๊อป เมื่อมีคนที่ชอบเพลงเฉพาะแนวก็จะมีกลุ่ม มีอีเวนต์เฉพาะกลุ่มสารพัดที่แบบ เราว่าวงการเพลงทั้งผู้ผลิตและผู้ฟังมันผ่านการปฏิวัติ ผ่านการล้มหายตายจากมาเยอะ ยุคที่รุ่งสุดๆ ก็เยอะ ยุคที่ตายแบบไม่เหลือใครเลยก็มี แล้วก็กลับมาใหม่ แล้วก็มีล้มหายตายจากแล้วกลับมา ทุกครั้งมันมีคนที่รอดแล้วก็ได้เรียนรู้ ว่าจะต้องไปยังไงต่อ พี่ว่าส่วนตัวแล้วถือว่าจริงๆ แล้ววงการเพลงค่อนข้างแข็งแรงขึ้นเยอะในแง่ทั้งบุคลากรและคนฟังด้วย
Life MATTERs : สุดท้ายแล้ว ต่อจากนี้คุณยังจะสวมสองบทบาททั้งเป็นศิลปินและผู้บริหารไปเรื่อยๆ หรือเปล่า
บอล : ต้องนะ คือค่าย What the Duck มันเป็นของตัวเองอยู่แล้วยังไงก็ทิ้งไม่ได้ ส่วน Scrubb เราทำมาเข้าปีที่สิบแปดแล้ว เดี๋ยวก็จะมีอัลบั้มอีก มันก็มีความแปลกใหม่ทุกครั้งที่ทำงานแหละ แต่ Scrubb มันก็จะเป็น ตัวของมันประมาณหนึ่ง ชีวิตของเราที่เราไปเล่นดนตรีกับ Scrubb แล้วเราก็ทำงานประจำด้วย ก็เป็นสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้แล้วก็หวังว่าจะให้มันอยู่ด้วยกัน แล้วก็เอาประสบการณ์ของทั้งสองด้านมาใช้พัฒนาการทำงานของตัวเอง มาช่วยพัฒนาน้องๆ ที่ทำงานอยู่ ไม่ว่าจะทั้งของตัวเองและของคนอื่น
อีกส่วนหนึ่งเราก็เริ่มกลับไปสอนที่ที่เราจบมาคือศิลปากร สอนวิชา artist management เป็นอีกบทบาทหนึ่ง ที่เพิ่งเริ่ม ตอนนี้เป็นวัยที่พยายามจะเอาประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มามาถ่ายทอด
ค่ายเพลงนี่เข้าสู่ปีที่ห้าแล้ว เป้าหลักๆ ก็คงแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำตัวเราให้เป็นที่รู้จักผ่านศิลปิน เพลง รวมไปถึงการจัดการหรืองานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เราทำอีเวนต์ด้วย เราเป็นเอเจนซี่ เราเป็นมาร์เกตติ้ง เป็นครีเอทีฟแพลนเนอร์ให้โปรดักต์หรือพาร์ตเนอร์บางอย่าง คือเราทำทุกคอนเทนต์ที่ว่ากันด้วยเรื่องดนตรีโดยมีค่ายเพลงเป็นแก่นหลัก
เราก็หวังจะพัฒนาให้น้องๆ ในค่ายเขาเติบโตเป็นศิลปินที่เป็นที่รู้จัก แล้วก็ได้ทำงานในฐานะคนแถวหน้าของการเล่นดนตรี เราอาจจะไม่ได้ศิลปินต่อปีเยอะมาก แต่แต่ละคนที่รับเข้ามาก็จะมีพื้นที่ มีสนามเด็กเล่นให้เขาอยู่ ให้เขาได้แสดงผลงานในแบบของเขา
ยุคนี้เป็นยุคที่ดนตรีมันไร้พรมแดนแล้ว เราก็มีการโคกันกับที่อื่นๆ อาจจะได้เห็นศิลปินของค่ายเราได้ทำงานกับค่ายอื่นมากขึ้น มีอีเวนต์ร่วมกัน ก็น่าจะมีอะไรสนุกๆ ซึ่งสุดท้ายคนที่ได้ผลประโยชน์ที่สุดก็คือผู้ฟังนั่นแหละ
Photos by Adidet Chaiwattanakul