ขึ้นชื่อว่าเบียร์คราฟต์ฝีมือคนไทยแล้ว นอกจากความประณีตทางรสชาติ พวกเขายังมีอุดมการณ์และความเชื่อที่จะทำในสิ่งที่รักให้ถึงที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้แสดงออกมาผ่านกิมมิกที่ใช้ และเมื่อดูกันแล้ว จะพบว่าความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยและวิธีสร้าง story ของพวกเขา ดีต่อใจไม่แพ้ชาติใดในโลกเลยจริงๆ
1. Gimmick : ป้อมปราการ
Eleventh Fort Brewing คือแบรนด์อันดับต้นๆ ที่คนในวงการยกนิ้วให้ในเรื่องของมาตรฐานอันดีงามและรสชาติโดดเด่น และเมื่อดูฉลากอย่างเผินๆ ก็แทบไม่รู้ว่าเป็นเบียร์คราฟต์ไทย เพราะเขาออกแบบไปในโทนคลาสสิกไม่หวือหวา แต่รู้เลยว่าคิดมาเยอะ
แบรนด์เบียร์จากสมุทรปราการนี้ มีความหมายคือ ‘ป้อมที่ 11’ เพื่อให้แบรนด์ของตัวเองเป็นตัวแทนของคนไทย ตั้งป้อมขึ้นมาป้องกันเบียร์นอกรุกรานประเทศของเรา นี่จึงเป็นการทำเบียร์ที่ผสมผสานเอาเรื่องวิทยาศาสตร์และศิลปะมาบอกเล่าตัวตน ถิ่นกำเนิด และวัฒนธรรมของไทยเราได้เป็นอย่างดี
ทางด้านงานคราฟต์ของเขาก็โดดเด่นที่ตัว IPA บาลานซ์ดีเยี่ยม มีการใช้ความหอมละมุนน้ำผึ้งของไทยเข้าไปด้วย ส่วนอีกตัวหนึ่งคือ JPA (Juniper Pale Ale) ใส่ผลจูนิเปอร์ ซึ่งเป็นเบอร์รี่ชนิดหนึ่งที่นิยมใส่ใน Gin ผสมเข้าไปในกระบวนการหมัก ทำให้มีลักษณะเฉพาะตัวคือมีทั้งความหอมและรสชาติของเครื่องเทศที่ไม่เหมือนใคร
2. Gimmick : เรื่องผีๆ
ความเก๋ของ Pheebok คือเบียร์ของเขาถูกเรียกว่า “น้ำมนต์” แทนคำว่า “เบียร์” และมักต้มเบียร์กันในวันพระให้เข้าคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ แต่นั่นเป็นเรื่องการตลาดที่น่าสนใจ แต่เอาเข้าจริงบริวเวอร์ต้องการใช้ผีเข้ามาเพื่อบอกเราว่า จริงๆ แล้ว ผีกับเบียร์ในสังคมไทย มันก็มีอะไรๆ คล้ายกัน เช่น ถูกตีความเป็นสิ่งร้าย ถูกสั่งให้หลบซ่อน และเบียร์ในครั้งหนึ่ง มันก็ถูกตีความเป็นความลึกลับ เป็นปริศนาจากธรรมชาติ ก่อนการค้นพบยีสต์เสียด้วยซ้ำ
ในขณะเดียวกัน เจ้านี้ก็พยายามทำเบียร์ให้ตรงตามสไตล์เบียร์แต่ละประเภทมากที่สุด และมีการบ่มเบียร์บางชนิดให้ยาวนานเป็นพิเศษ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจรสชาติของเบียร์แต่ละประเภท ที่นิยมได้แก่ Haunting Charming Pale Ale น้ำมนต์เพลหลอนเสน่ห์ แอลกอฮอล์ 4.8% เป็นน้ำมนต์แรกสุดที่พ่อหมอปรุงขึ้น เป็น American Pale Ale ที่เน้นความฟรุตตี้อวลด้วยกลิ่นดอกไม้หวานหอม
3. Gimmick : ความหมี
YodBeer หรือเบียร์หมีจัดเป็นแบรนด์ที่น่ารัก น่าหยิก โดยหมีตัวใหญ่นี้ ได้คาแรคเตอร์มาจากเจ้าของแบรนด์เอง บ่งบอกถึงความเข้าถึงง่าย ความเป็นมิตร และหมีตัวนี้ก็เป็นหมีไทยที่ชื่นชอบความเป็นไทย ซึ่งเป็นบุคลิกของคนต้มเป๊ะๆ
ฉลากมีความเรียบง่าย วัตถุดิบที่ใช้ก็ล้วนเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งเม็ดผักชี กานพลู อบเชย โป๊ยกั๊ก เป็นต้น เบียร์ส่วนใหญ่ของแบรนด์นี้จึงได้รสชาติที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยผสมอยู่เสมอ
ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเบียร์กล้วยตากที่โด่งดังมาก่อนหน้า เป็นการนำเอากล้วยตากจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ใส่ลงไป ทำให้เกิดเอกลักษณ์ความหอม หวาน ชัดเจน และดื่มง่ายตามสไตล์เบียร์วีต
4. Gimmick : ผืนแผ่นดิน
ว่ากันถึง Taopiphop Ale Project มาจากหนุ่มนิติศาสตร์ที่หลงรักการทำเบียร์จนกลายเป็นข่าวฮือฮามาตั้งแต่ต้นปี คราวนี้กลับมาอีกครั้งอย่างถูกกฎหมาย พร้อมลวดลายที่เปลี่ยนจากเวอร์ชั่นเดิมมาเป็นเวอร์ชั่นใหม่ เพื่อให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น
เช่นเดียวกับที่มาดั้งเดิมซึ่งเป็นเบียร์สไตล์เบลเยี่ยมที่โดยประเพณีแล้วจะดื่มหลังการเก็บเกี่ยว รสชาติจึงออกไปทางสดชื่น มีทั้งยีสต์ชัด มีผลไม้เบาๆ
เจ้านี้จึงนับเป็นแบรนด์แรกๆ ที่กล้าทำเบียร์เซซองออกมาท่ามกลางหลายแบรนด์ที่นิยมทำเบียร์วีตหรือไอพีเอ เพราะค้นพบว่าเบียร์เซซองเหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทยมากที่สุด สามารถเก็บในอุณหภูมิสูงถึง 35 องศาและยังเป็นประเภทเบียร์ที่คนไทยไม่ค่อยทำกัน นับเป็นความกล้าหาญชาญชัยที่มาถูกเวลาเสียจริง
5. Gimmick : หมอลำซิ่ง
Lamzing ได้แรงบันดาลใจของความสนุกและสีสันอันสดใส แรงบันดาลใจของความสนุกและสีสันอันสดใส มาจากบอมบ์สติ๊กเกอร์หลังรถสิบล้อ การเลือกสีที่เน้นเอาตามแบบหมอลำซิ่ง คือสีสะท้อนแสงโดดเด่นกว่าชาวบ้าน คล้ายแนวดนตรีลำซิ่งที่ได้ยินที่ไหนก็มันได้เสมอๆ
อีกหนึ่งกิมมิกที่เน้นความบ้านๆ ก็คือ ‘เซาะกราว’ ที่ต้องการจะสื่อถึงการเป็นเบียร์ของคนนอก คนต่างถิ่น ที่อาจหาญไปต้มตามโรงเบียร์ต่างๆ เหมือนคนบ้านนอกในสายตาโรงต้มต่างชาติ ซึ่งตอนแรกยังไม่มีใครยอมต้มให้จนมาเจอโรงต้มที่เกาหลี ซึ่งให้ความสำคัญกับการต้มเบียร์ทุกและระบบ QC อย่างละเอียด และต่อมาก็ยังมีเบียร์ตัวอื่นๆ เพิ่มเติม อย่างเช่นการนำเอาคาแร็กเตอร์ของค็อกเทลมาทำเบียร์ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
6. Gimmick : เพลงลูกกรุง
ชื่อแบรนด์ของ Look-Krung Brew มาจากความชื่นชอบในการฟังเพลงของเจ้าของแบรนด์ ตัวฉลากจึงมีความย้อนยุค หวนนึกถึงวันเก่าก่อนที่เขาอยากทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นลงไป โดยเบียร์แต่ละตัวจะใช้ฉากหลังในกรุงเทพ ย่านเก่า เมืองเก่า พร้อมแอบซ่อนความเป็นเมืองใหม่แฝงไว้ในภาพ เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมร่วมสมัยได้อย่างลงตัว
ตัวที่ทำกันบ่อยๆ ก็จะเป็นพวกเบียร์สีน้ำตาลจำพวกแอมเบอร์ ที่น่าสนุกคือ White Stout หรือ คนสวยใจดำ อันโด่งดัง กับสีออกไปทางเหลืองน้ำตาล เข้มข้นแบบเบียร์สเตาวท์ แต่มีรสชาติที่หวานสดชื่นกว่า จัดว่าแปลกใหม่สำหรับเบียร์คราฟต์ไทยบ้านเรา นอกจากนี้ยังมักนำเอาวัตถุดิบของไทยมาเป็นส่วนประกอบเช่นผักแพ้ว หรือการอบควันเทียนที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนอีกด้วย
7. Gimmick : นางในวรรณคดี
ปิดท้ายที่ Busaba Ex-weisse โดย Fullmoon Brewwork นำเสนอเสน่ห์ที่ไม่จำเป็นต้องฉูดฉาดจัดจ้าน ทั้งฉลากด้านนอกหรือแม้แต่รสชาติของเบียร์ จนได้รับรางวัลมาแล้วในระดับนานาประเทศ
ใครๆ ก็คงรู้จักนางบุษบาในวรรณกรรมเรื่องอิเหนา ผู้หญิงที่ได้ชื่อว่ามีกลิ่นหอมที่สุดในวรรณคดีไทย ฉลากจึงเป็นภาพผู้หญิงสวยที่แสดงถึงนางบุษบาในแบบร่วมสมัย (Modern Interpretation) ซึ่งยังต้องให้ความรู้สึกถึงความแข็งแกร่งและลึกลับ
เช่นเดียวกับตัวเบียร์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเบียร์วินเทจตัวหนึ่งของโลกที่เรียกว่า เยอรมัน เฮฟเฟไวเซ่น (German Hefeweizen) ไวส์เบียร์แบบดั้งเดิม ที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการดื่มของโลกและได้รับความนิยมมานับร้อยปี
กิมมิกของเขาก็เหมือนเจอผู้หญิงสวยคนหนึ่งที่มีเสน่ห์ กลิ่นหอมฟุ้งกระจายตั้งแต่แรกเจอ เป็นกลิ่นฟลอรัลของดอกจิงเจอร์ฟลาวเวอร์ที่ลืมไม่ลง ในขณะที่ก็เรียบง่ายตามสไตล์เยอรมันเฮฟเฟไวเซ่นแท้ๆ และดั้งเดิม
Text by OrangeSky แห่ง www.orangesky.me และ facebook.com/Orangesky69
Illustration by Kodchakorn Thammachart
หมายเหตุ : นี่เป็น 7 แบรนด์เบียร์คราฟต์ไทยที่ผู้เขียนสนใจทั้งในแง่ของไอเดียความคิด การออกแบบฉลาก ที่น่าศึกษาในแง่การสร้างแบรนด์ด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทย ไม่มีเจตนาในการโฆษณาใดๆ ทั้งสิ้น