จำภาพของ Uncle Sam ที่ผูกโบว์ไทสีแดงสด ใส่หมวกทรงสูงประดับรูปดาวแล้วชี้นิ้วมาทางเราได้ใช่ไหม แล้วภาพของประธานเหมา เจ๋อ ตุง ที่ยืนผึ่งผายกับธงคอมมิวนิสต์และมีรัศมีออกจากหัวล่ะ จำได้หรือเปล่า?
หากใครจะฟันธงว่า ‘ภาพ’ สื่อสารได้ทรงพลังกว่า ‘ตัวหนังสือ’ ก็น่าจะต้องถกกันเป็นเคสๆ ไป แต่สำหรับในยุคศึกสงคราม ดูเหมือนว่าภาพจะกลายเป็นสื่อที่มีพลังมหาศาล อย่างที่เรามักจะเห็นโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda poster) ที่มองแค่แวบเดียวก็รู้สึกถึงพลังฮึกเหิม ความรักชาติ และความหวังที่บรรจุเอาไว้ผ่านฝีแปรงแน่นๆ และถ้อยคำฉะฉานบนนั้น
และถ้าจะพูดถึงความทรงอิทธิพลของมัน ก็หลังจากที่โปสเตอร์ Uncle Sam Wants You ได้รับการตีพิมพ์ ชายชาวอเมริกันแห่สมัครเป็นทหารกันจำนวนมาก และบางคนถึงกับโกหกอายุเพื่อให้สมัครทหารได้ นั่นเพราะโปสเตอร์และแคมเปญของรัฐแทบจะเป็นสื่อเพียงสื่อเดียวที่แวดล้อมพวกเขาอยู่ พร้อมส่งต่ออุดมการณ์ชาตินิยม ให้คนพร้อมจะเสียสละชีวิตเพื่อชาติอย่างภาคภูมิ จนเกิดผลสำเร็จอย่างที่เห็น—ความยิ่งใหญ่ของสงครามโลกครั้งที่ 2
ก่อนจะถึงสงครามโลก โปสเตอร์ชวนเชื่อลักษณะนี้ เคยถูกใช้ในการเผยแพร่ศาสนาของคริสตจักรมาก่อน โดยอยู่ในกระบวนการ Sacra Congregatio de Propaganda Fide โดยองค์สันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 15 ที่ดำเนินการต่อๆ กันมายาวนาน ตั้งแต่ปี 1622-1922
แน่นอน เมื่อรัฐเห็นว่าวิธีการนี้ได้ผล โปสเตอร์ชวนเชื่อจึงถูกนำมาใช้เรียกศรัทธาจากผู้คนบ้าง ต่างฝ่ายต่างก็ทำโฆษณาชวนเชื่อออกมาสนับสนุนตนเอง ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา รัสเซีย เยอรมนี อังกฤษ แทบทุกรัฐที่นำโฆษณาชวนเชื่อมาใช้ ไม่เว้นแม้แต่พี่ไทยเราเอง ก็มีออกโปสเตอร์ “พี่น้องชาวไทยฯ” กับเขาด้วย และตั้งแต่นั้นมา propaganda ก็ถูกนำมาใช้ในเรื่องของการเมืองจนลืมไปเลยว่าเคยใช้เผยแพร่ศาสนามาก่อน
เราจะเห็นว่า การใช้ภาพวาดสวยๆ โลกสดใสไปหยิบยื่นความหวังให้ประชาชน ไม่ได้ถูกใช้ในการทำสงครามเท่านั้น โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือการปกครองของระบบคอมมิวนิสต์ ในทุกประเทศคอมมิวนิสต์ มีการใช้โปสเตอร์ในการกล่อม ชี้นำ หรืออธิบายอุดมการณ์ของรัฐแล้วบังคับกลายๆ ให้เชื่อว่า ระบอบนี้จะทำให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุข
โปสเตอร์คอมมิวนิสต์ถูกผลิตออกมาเรื่อยๆ และมีจำนวนมากจนสำนักพิมพ์ Reaktion Books ประเทศอังกฤษ ได้รวบรวมโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของฝั่งคอมมิวนิสต์มาไว้ในหนังสือที่มีชื่อว่า Communist Posters ให้คนรุ่นใหม่ได้เสพศิลปะพร้อมกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เผื่อจะได้ลองจินตนาการว่าถ้าตัวเองอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์แล้วเห็น propaganda สวยๆ พวกนี้จะรู้สึกอย่างไร
เราเองก็อยากหยิบยกโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของรัฐต่างๆ ที่คุณอาจไม่เคยเห็นมาให้ดูด้วยเหมือนกัน…
เกาหลีเหนือ 1980s
ภาพที่ดูมีความสุขนี้เป็นโลกยูโทเปียที่สร้างขึ้นโดยระบอบคอมมิวนิสต์ของตระกูล Kim ที่ปกครองประเทศเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ปี 1948 โดยภาพนี้เป็นรูปนายทหารที่ถือหนังสือชูไว้เหนือหัว บนปกหนังสือนั้นเขียนชื่อของ Kim Il Sung ผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกเอาไว้ พรั่งพร้อมด้วยประชาชนที่มองเห็นความสดใสได้ชัดเจน แถมแสดงให้เห็นภาพของหนุ่มสาวชาวเกาหลีเหนือในอุดมคติไว้ได้อย่างแนบเนียน เป็นการส่งต่อความคิดที่จะช่วยยึดเหนี่ยวความเชื่อแบบคอมมิวนิสต์ไว้ได้จนถึงทุกวันนี้
ฮังการี 1950
ย้อนกลับไปตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮังการีเป็นหนึ่งในสมาชิกฝ่ายอักษะที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้หลังสงครามจบฮังการีก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของโซเวียตไปตามระเบียบ ซึ่งทีแรกนั้น ฮังการีปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและใช้ระบบการเมืองแบบจัดตั้งรัฐบาลร่วมจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งผลการเลือกตั้งในปี 1945 พรรคคอมมิวนิสต์ได้คะแนนไปเพียงแค่ 17 % จากคะแนนทั้งหมด
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา พรรคคอมมิวนิสต์ได้จัดแจงข่มขู่ สร้างข้อกล่าวหาเท็จ จำคุก และทรมานเพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หลังจากนั้นก็ไปร่วมกับพรรคสังคมนิยมทำให้ชนะการเลือกตั้งแบบล่มทลาย และนั้นคือจุดสิ้นสุดประชาธิปไตยของฮังการี โดยรัฐบาลได้สถาปนาประเทศให้เป็นสาธารณรัฐประชาชนฮังการี และได้เซ็นสัญญารับความช่วยเหลือจากโซเวียต โดยให้โซเวียตสามารถคงกองกำลังทหารไว้ในประเทศได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมทางการเมือง ดังนั้นโปสเตอร์ที่ออกมาในปี 1950 ก็เพื่อที่จะให้คนสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์นั่นเอง
รัสเซีย 1925
โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อชิ้นนี้ไม่ได้เป็นในเชิงคอมมิวนิสต์จ๋าซะทีเดียว แต่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการสูบบุหรี่ที่เปลี่ยนไป มีคนสูบมากขึ้น เพราะสงครามเริ่มนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการสูบบุหรี่ในยุโรป ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 บุหรี่เป็นที่แพร่หลายเป็นอย่างมาก การสูบไปป์เริ่มลดน้อยลง
โดยการสูบบุหรี่ในช่วงแรกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย แต่พอเกิดสงครามขึ้นก็ขาดแคลนแรงงาน ผู้หญิงจึงต้องเข้ามาทำงานในโรงงาน และด้วยเหตุนี้แหละที่การแบ่งแยกเพศได้หายไป ผู้หญิงยอมรับการสูบบุหรี่ได้มากขึ้น ฉันทำงาน เธอทำงาน ดังนั้น เธอสูบได้ ฉันก็สูบได้ ทำไมล่ะ—แต่ในขณะเดียวกัน การที่ผู้หญิงลุกขึ้นสูบบุหรี่ ก็แปลว่าพวกเธอต้องออกมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบอบคอมมิวนิสต์มากขึ้นเช่นกัน
คิวบา 1995
โปสเตอร์นี้ได้ออกมาประชาสัมพันธ์ก่อนในปี 1995 และตอนต้นปี 1996 ก็ได้ถือกำเนิดองค์กรที่ชื่อว่า Organización de Solidaridad con los Pueblos de Asia, África y América Latina ขึ้น
เป็นองค์กรเพื่อความเป็นปึกแผ่นของประชาชนในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา องค์กรจัดทำโปสเตอร์นี้ขึ้นเพื่อสะท้อนความเป็นปึกแผ่นทางการเมืองระหว่างประเทศต่างๆ มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศคิวบา เพื่อให้ประชาชนชาวประเทศโลกที่สาม ร่วมกันเผชิญหน้ากับเหล่าจักรวรรดินิยมอาณานิคมและประณามการเลือกปฏิบัติทางเศรษฐกิจและเชื้อชาติ
ภาพที่เห็นจึงเป็นภาพของชายชาวพื้นเมืองที่กำลังทำงาน และมีแสงอาทิตย์แรงกล้าอยู่ด้านหลัง ซึ่งอาจตีความได้ว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการปฏิเสธการทำงาน แต่ต้องการค่าตอบแทนและการให้เกียรติที่สมน้ำสมเนื้อต่างหาก
มาถึงยุคสมัยนี้ เราคงไม่ค่อยได้เห็นโปสเตอร์ทำนองนี้กันอีกแล้ว แต่อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เพราะโฆษณาชวนเชื่อไม่เคยหายไปจากเรา แค่อยู่ที่ว่า มันมาในฟอร์มไหน ก็เท่านั้นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก