ชาเย็นคือเครื่องดื่มสีส้มสดที่คนทั้งโลกหลงรัก ในฐานะ Thai Tea
ในต่างประเทศอย่างอเมริกาหรือออสเตรเลีย ชาเย็นกลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตจากการเผยแพร่ผ่านร้านอาหารไทยที่ผุดขึ้นมากมายในดินแดนนั้น นิยมในระดับที่เว็บไซต์ CNNgo จัดให้เป็น 1 ใน 50 เครื่องดื่มรสชาติเยี่ยมของโลกไปเมื่อหลายปีก่อน ไม่เท่านั้น ล่าสุดชาเย็นยังไปปรากฎตัวเรียกเสียงว้าวในเมนู ‘พิซซ่าหน้าไอศกรีมชาเย็น’ ของร้าน Little Baby’s Ice Cream ร้านไอศกรีมโฮมเมดเจ้าดังในรัฐฟิลาเดเฟีย ซึ่งก็คงพอยืนยันความป๊อปของมันได้โดยไม่ต้องสาธยายให้ยืดยาว
ย้อนกลับไปถึงตอนที่เราเอาน้ำแข็งหย่อนใส่ชาขายกันเป็นครั้งแรกนั่นแหละ น่าแปลกที่มันไม่ได้เริ่มโดยคนจีน อินเดีย หรืออังกฤษที่มีวัฒนธรรมชาเป็นของตัวเอง แต่เริ่มจากพ่อค้าชาชาวอเมริกัน Richard Blechynden ผู้นำสินค้ามาออกร้านในงานเวิลด์แฟร์ปี 2447 ซึ่งเป็นคราวที่อเมริการ้อนอบอ้าวเป็นพิเศษ ทำให้ชาร้อนของริชาร์ดขายไม่ออกอยู่นานหลายวัน เขาเลยตัดสินใจบ้าบิ่นด้วยการซื้อน้ำแข็งมาชงเป็นชาเย็นแล้วแจกจ่ายให้ผู้ร่วมงานได้ลองชิม
ถ้าโลกจะหลงรักชาเย็นกันขนาดนี้ แล้วเรารู้จักมันดีแค่ไหน?
ว่ากันเรื่องนี้ ก็คงต้องย้อนกลับไปถึงตอนที่เราเอาน้ำแข็งหย่อนใส่ชาขายกันเป็นครั้งแรกนั่นแหละ น่าแปลกที่มันไม่ได้เริ่มโดยคนจีน อินเดีย หรืออังกฤษที่มีวัฒนธรรมชาเป็นของตัวเอง แต่เริ่มจากพ่อค้าชาชาวอเมริกัน Richard Blechynden ผู้นำสินค้ามาออกร้านในงานเวิลด์แฟร์ปี 2447 ซึ่งเป็นคราวที่อเมริการ้อนอบอ้าวเป็นพิเศษ ทำให้ชาร้อนของริชาร์ดขายไม่ออกอยู่นานหลายวัน เขาเลยตัดสินใจบ้าบิ่นด้วยการซื้อน้ำแข็งมาชงเป็นชาเย็นแล้วแจกจ่ายให้ผู้ร่วมงานได้ลองชิมซะเลย ผลออกมาเกินคาด เพราะชาใส่น้ำแข็งได้รับความนิยมล้นหลามจนพ่อค้าชาอีกหลายเจ้ารับสูตรไปชงขายจนแพร่หลายทั่วทั้งอเมริกา ลุกลามไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในจีนหรือญี่ปุ่นที่วัฒนธรรมการดื่มชาร้อนแข็งแรงมาหลายพันปี แต่ชาใส่น้ำแข็งหรือชาแช่เย็นก็ยังขายดิบขายดีไม่เป็นรอง
การเปลี่ยนแปลงคราวนั้นคือจุดเปลี่ยนแรกที่ทำให้ชากับน้ำแข็งอยู่คู่กันได้โดยไม่รู้สึกผิดฝาผิดตัว
ส่วนในไทย บันทึกของลา ลูแบร์บอกกับเราว่าคนแถบนี้กินน้ำชามาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์แล้ว (เดากันว่าเพราะช่วงนั้นเราทำการค้ากับจีนกันคึกคัก) แต่วิธีดื่มชาก็ไม่เหมือนกับยุคนี้ซะทีเดียว เพราะคนสมัยนั้นจะอมน้ำตาลกรวดใส่ปากก่อน แล้วจิบน้ำชาร้อนๆ ตาม ระหว่างนั้นเจ้าบ้านก็จะรินน้ำชาใส่ถ้วยให้เรื่อยๆ ถ้าแขกดื่มพอแล้วก็ให้คว่ำถ้วยชาลงเป็นการส่งสัญญาณว่าน้ำตาลในปากละลายหมดเกลี้ยง แต่น้ำชาร้อนก็ไม่ได้เป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันทุกบ้านทุกครัวเรือน เพราะคนไทยชอบกินน้ำเย็นดับร้อนอย่างน้ำฝนมากกว่า น้ำชาร้อนจึงจัดเสิร์ฟเฉพาะในจวนข้าราชการหรือถวายพระเท่านั้น
เรื่องเล่าของลา ลูแบร์ เลยบอกกับเรากลายๆ ว่าเราหลงรักรสหวานและนิยมดื่มน้ำเย็นกันมานานแล้ว
แต่ชาเย็นอย่างไทยนั้นมีรายละเอียดยิบย่อยกว่าแค่ชาใส่น้ำแข็ง เพราะส่วนสำคัญขาดไม่ได้ของแก้วนี้คือ ‘นมข้นหวาน’ ที่ถึงใครจะเถียงว่าทำลายสุขภาพยังไง แต่รสชาติแท้ๆ ของชาเย็นก็ยังต้องหวานมันจากนมข้นแบบไม่สนแคลอรี และถ้าลองย้อนดูต้นกำเนิดนมข้นหวานในไทย เราก็นับได้ไกลสุดถึง ‘นมข้นหวานตราแหม่มทูนหัว’ กระป๋องสีขาวมีตัวอักษรสีแดงปะหน้าที่วางขายครั้งแรกเมื่อปี 2436 และหลังจากนั้นในปี 2446 โรงน้ำแข็งแห่งแรกก็กำเนิดขึ้นในสยามประเทศ (ช่วงเดียวกับที่ชาใส่น้ำแข็งกำลังได้รับความนิยมทั่วอเมริกา) ก่อนจะกระจายสู่หัวเมืองใหญ่ เกิดเมนูน้ำแข็งให้ชาวบัานรัานตลาดได้ลิ้มลองกันเป็นครั้งแรกๆ
โดยมีบันทึกสมัยปลายรัชกาลที่ 5 บรรยายบรรยากาศงานออกร้านภูเขาทองวัดสระเกศไว้ว่า “ฉันเดินผ่านหลีกทางมาข้างใต้ ที่ตั้งขายน้ำแข็งใส่น้ำหวาน” ยืนยันว่าน้ำแข็งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของคนสยามเรียบร้อยแล้ว
แต่ถ้าถามว่าชาเย็นสีส้มสดแบบที่เรากินกันทุกวันนี้เกิดขึ้นตอนไหน ก็คงหลังจากชาตรามือเริ่มได้รับความนิยมราวๆ ปี 2488 นั่นแหละ (ต้องยอมรับว่าชาตรามือคือแบรนด์ที่ทำให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มป๊อปๆ ที่หาดื่มกันได้ตามร้านกาแฟโบราณทั่วไป เพราะราคาถูก และรสไม่ขมจัด) ส่วนสีส้มก็ได้จากใบชาอัสสัมแห้ง ซึ่งให้น้ำชาสีเข้ม เมื่อถูกกับน้ำตาลและนมข้นหวานก็จะออกเป็นสีส้มนวลชวนกระหายแบบที่เราคุ้นตากัน
นมข้นหวานพร้อม น้ำแข็งพร้อม ชาพร้อม ชาเย็นในเมืองหลวงจึงถือกำเนิดเกิดขึ้นราวนั้น คือช่วงต้นรัชกาลที่ 6 (ช่วงเดียวกันที่ร้านกาแฟโบราณเริ่มกระจายตัวในพระนครฯ) แต่ถ้าถามว่าชาเย็นสีส้มสดแบบที่เรากินกันทุกวันนี้เกิดขึ้นตอนไหน ก็คงหลังจากชาตรามือเริ่มได้รับความนิยมราวๆ ปี 2488 นั่นแหละ (ต้องยอมรับว่าชาตรามือคือแบรนด์ที่ทำให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มป๊อปๆ ที่หาดื่มกันได้ตามร้านกาแฟโบราณทั่วไป เพราะราคาถูก และรสไม่ขมจัด) ส่วนสีส้มก็ได้จากใบชาอัสสัมแห้ง ซึ่งให้น้ำชาสีเข้ม เมื่อถูกกับน้ำตาลและนมข้นหวานก็จะออกเป็นสีส้มนวลชวนกระหายแบบที่เราคุ้นตากัน แต่ในต่างประเทศบางครั้งนิยมใช้ ‘ดอกคำฝอย’ แต่งสีให้ส้มสดขึ้นไปอีก หรือร้ายกว่านั้นอาจหยอดสีผสมอาหารเพื่อความสดสะใจก็มีเหมือนกัน
ส่วนชาเย็นอีกสไตล์ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือ ‘ชาชัก’
ชาชักมีสีและกลิ่นไม่ต่างอะไรจากชาเย็น ยกเว้นมี ‘ฟองนม’ ที่เกิดจากการเทชาจากกระบอกหนึ่งสู่อีกกระบอก เร็วๆ แรงๆ จนน้ำชาสีส้มสดเกิดฟองและมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์จากการสัมผัสกับอากาศ เป็นตำรับชาเย็นแบบมลายูที่ได้รับความนิยมทั่วภาคใต้ ไล่เรื่อยถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย แถมชาชักแต่ละร้านยังใช้สัดส่วนของชาไม่เหมือนกัน เช่นบางร้านใช้ชาอินเดียรสแรงมากหน่อย แต่บางร้านอาจใช้ชาอัสสัมที่ปลูกในไทยซึ่งหอมอ่อนกว่าเป็นส่วนผสมหลัก
สิ่งน่าสนใจก็คือ ชาชักแบบเย็นนั้นอาจเกิดก่อนชาเย็นในพระนครฯ ด้วยซ้ำ เพราะ ‘น้ำแข็ง’ มีขายอย่างแพร่หลายในสิงคโปร์ก่อนหน้าไทยหลายปี ดีไม่ดีคนทางใต้อาจได้ดื่ม ‘ชาเย็น’ ก่อนชาวบางกอกก็เป็นไปได้
เรียกว่านอกจากดับกระหาย ช่วยให้เรายิ้มได้จากน้ำตาลมากมายที่ละลายอยู่ในนั้น แถมเป็นหน้าเป็นตาของอาหารไทยสมัยใหม่ไม่ต่างอะไรจากต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน หรือผัดไทย ชาเย็นยังทำให้เราเห็นภาพใหญ่ว่าอาหารไทยเกิดจากการปะติดปะต่อวัฒนธรรมนู้นผสมกับวัฒนธรรมนี้ ไปพร้อมกับการเติบโตของสังคม สุดท้ายจึงได้เมนูตอบสนองทั้งสภาพอากาศ สภาพสังคม และรสนิยมคนในประเทศ เหมือนชาเย็นที่เป็นเครื่องดื่มในใจใครต่อใครอย่างยากจะหาเมนูไหนมาแทนที่ : )
อ้างอิงข้อมูลจาก :
หนังสือ เรื่องข้างสำรับ, ส.พลายน้อย
Text by Mob Aroonwatree คนรักอาหารผู้เขียน The Dining Universe จักรวาลควันโขมง