จากการเป็น 1 ในผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill มาถึงตอนนี้เราจะได้รู้จัก เบสท์—วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ในอีกฐานะหนึ่ง นั่นคือผู้กำกับหนังสารคดีมือรางวัลจากผลงาน ‘นิรันดร์ราตรี’ หรือ Phantom of Illumination ที่ขณะนี้ กำลังไปฉายอยู่ที่เทศกาลหนังเมืองไทเป หลังจากที่เขาแอบซุ่มทำมันมาตลอด 4 ปี พร้อมๆ กับที่ทำโปรเจกต์เจ๋งๆ ของ Eyedropper Fill ให้เราเห็นตลอดมา
นิรันดร์ราตรีเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘ฤทธิ์’ คนฉายหนังฟิล์มคนสุดท้ายในโรงหนังสแตนด์อโลนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ การปิดตัวของโรงหนังทำให้อาชีพตลอด 25 ปีของเขากลายเป็นสิ่งไร้ค่า ชีวิตที่จนหนทางทำให้เขาตัดสินใจกลับไปหาลูกเมียเพื่อทำอาชีพกรีดยางที่อีสานบ้านเกิด ก่อนจะพบว่าไม่มีอาชีพใดที่สามารถเป็นความหวังในการดำรงชีวิตของเขาได้อีก
และไม่ใช่แค่หนังที่น่าสนใจ แนวคิดในการทำงานและทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตของเขาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีและเป็นโมเดลเจ๋งๆ ให้ใครหลายคนได้ลุกขึ้นมาทำงานหนักเพื่อเป็นตัวเองกันบ้าง!
Life MATTERs : ทั้งที่งานประจำก็หนักแล้ว อะไรที่ทำให้คุณอยากทำหนังสักเรื่องขึ้นมา
เบสท์ : จริงๆ แล้วเราชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็ก เพราะว่าพ่อเราชอบดูหนังมาก กิจกรรมบ้านเราคือการไปดูหนังในโรง บางวันดู 2 เรื่องเลย บางครั้งต้องรอรอบ เราก็ไปนอนขดบนเก้าอี้รอกับแม่ หนังมันเลยอยู่กับเรามาตลอด เราอยากทำหนังมาตั้งแต่เริ่มทำ Eyedroppper Fill ใหม่ๆ ด้วยซ้ำ แต่หนังที่เราอยากทำมันไม่ใช่หนังแนวที่คนส่วนมากจะนิยมกัน เราก็เลยเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นเรื่องส่วนตัว แล้วก็ใช้ Eyrdropper Fill หาเลี้ยงชีพไป ส่วนการทำหนังมันเหมือนเป็นเราในอีกร่างหนึ่ง มันเป็นธรรมชาติของคนทำสื่อมั้ง ที่มีเรื่องอะไรอยากเล่าแล้วมันก็ต้องเล่า
Life MATTERs : ใช้เวลาตอนไหนไปทำหนัง เพราะดูเหมือนแค่ทำ Eyedropper Fill ก็กินเวลาชีวิตไปเยอะแล้ว
เบสท์ : คือตั้งแต่เริ่มทำบริษัทเราก็จะขอเพื่อนออกไปถ่าย 1 วันต่ออาทิตย์ หรือถ้าตอนไหนมันจำเป็นจริงๆ ก็ขอลาเพื่อไปถ่าย พยายามจัดการเวลาให้ได้ว่านี่งาน Eyedropper Fill ก็ต้องจัดการให้เสร็จ หรืออย่างตอนนี้เราโปรโมตหนัง หรือในช่วงที่ต้องตัดต่อหนัง เราก็ทำงาน over time สมมติเพื่อนกลับบ้านกันหมดแล้ว เราก็ยังนั่งออฟฟิศเพื่อที่จะตัดต่อมัน บางทีก็นั่งถึงเช้า แต่สุดท้ายพอเราแฮปปี้กับการทำงาน เราก็เลยทำได้
เราพบว่าการ swing ไปมาระหว่างสองโลกนี้ มันทำให้เราเห็นโลกอีกฝั่งชัดขึ้น อย่างสมมติเราทำงานคอมเมอร์เชียลมากๆ แล้วเราไปทำงานส่วนตัว มันก็ทำให้เราเห็นแง่มุมบางอย่างขึ้นมา เออว่ะ เราสามารถเอางานนี้ไป develop ในงานคอมเมอร์เชียลได้
Life MATTERs : คุณคิดว่า ‘งานส่วนตัว’ สำคัญกับคนเราแค่ไหน
เบสท์ : เราว่าสำคัญมาก สำหรับเรามันไม่ได้สำคัญในเชิงเติมเต็มจิตวิญญาณอย่างเดียว แต่พอเราทำอะไรอย่างหนึ่งนานๆ แล้วเราต้องวิ่งไปทำในฝั่งตรงข้ามของมัน เราพบว่าการ swing ไปมาระหว่างสองโลกนี้ มันทำให้เราเห็นโลกอีกฝั่งชัดขึ้น อย่างสมมติเราทำงานคอมเมอร์เชียลมากๆ แล้วเราไปทำงานส่วนตัว มันก็ทำให้เราเห็นแง่มุมบางอย่างขึ้นมา เออว่ะ เราสามารถเอางานนี้ไป develop ในงานคอมเมอร์เชียลได้ แม้กระทั่งงานคอมเมอร์เชียล หรืองานขายลูกค้าก็ตามมันเองก็ทำให้เราเห็นประสิทธิภาพตัวเองด้วยว่าจริงๆ เราก็ทำสิ่งนี้ได้นี่หว่า แต่ว่าเราแทบไม่ได้จับต้องมันเลย การค่อยๆ คืบไปทำอะไรที่ตรงข้ามกัน มันทำให้เรามองอะไรกลมขึ้น และส่วนผสมต่างๆ พอมันรวมกันแล้ว ก็คงจะทำให้งานเราดูน่าสนใจในสายตาคนทั่วไป
Life MATTERs : ทำไมถึงอยากเล่าเรื่องของคนฉายหนัง
เบสท์ : นอกจากความประทับใจจากเรื่องของพ่อแม่แล้ว เมื่อก่อนออฟฟิศเก่าเราอยู่แถวสามย่าน มันจะมีโรงหนังเก่าที่สวยมากอยู่โรงหนึ่ง วันไหนที่รู้สึกไม่ดีเราจะชอบแอบเข้าไปเดินเล่น ไปถ่ายรูป แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่ง เราก็เห็นว่ามันโดนล้อมรั้วแล้วก็โดนทุบ วันนั้นเราร้องไห้เลย เราก็คิดว่า ไอเชี่ย ทำไมกูถึงน้ำตาไหล กูอะไรขนาดนี้เลยเหรอ
นี่ก็เลยเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่ทำให้เราอยากแคปเจอร์เรื่องนี้เอาไว้ เพราะเราคิดว่าคนที่เด็กกว่านี้เขาคงไม่มีโอกาสรู้แล้วว่าชีวิตคนที่ทำงานในโรงหนังเก่าเป็นยังไง บรรยากาศในที่นี้เป็นยังไง หรือว่าชะตากรรมเขาหลังจากที่โรงหนังปิดหรือโดนทุบเขาไปทำอะไรต่อ มันลับแลมาก ไม่มีใครรู้เลย
มันให้สิ่งที่กำลังจะหายไป อยู่ไปชั่วนิรันดร์เหมือนชื่อหนัง ซึ่งเรารู้สึกว่า ในเมื่อเราเก็บมันไว้ในลักษณะสถาปัตยกรรมไม่ได้ ก็ใช้กล้อง ใช้หนัง ในการดึงเอาช่วงเวลาห้วงนั้นมาเก็บไว้ก็แล้วกัน อีกสักยี่สิบปี เด็กที่มาเจอเขาอาจจะรู้สึกว่ามันมีเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ จริงๆ แล้วมันก็มีความ romanticize บางอย่างกับ space น่ะนะ
สิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันคือการพยายามยืนยันว่าเราเป็นแบบนั้นได้ คือเรา romanticize อะไรได้ แต่เราก็ต้องทำให้ก้อนความฝันมันเกิดขึ้นจริงด้วย ถึงเราจะเป็นเด็กเหม่อนอกหน้าต่าง แต่วันหนึ่งเราก็ต้องประสบความสำเร็จได้ ทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้
Life MATTERs : ทำไม คนเราเมื่อยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งปฏิเสธการ romanticize อะไรบางอย่าง
เบสท์ : เราว่าจริงๆ เราเป็นมนุษย์ romanticize มากๆ เลยนะ ไม่ว่าจะกับสิ่งของหรือคน มันเป็นเรื่องของความเป็นจริงกับเรื่องอุดมคติมั้ง คือเราเองเป็นคนเพ้อฝันกับอุดมคติประมาณหนึ่ง แล้วเราอาจจะโดนด่าจากคนรอบตัวบ่อยๆ ว่าอยู่กับความจริงบ้าง อย่างตอนทำ Eyedropper Fill ใหม่ๆ คนก็จะบอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอก มึงไม่มีทางทำโมเดลธุรกิจแบบนี้ได้ ไอ้งานทดลองน่ะ เพราะพอพูดว่าทดลองปุ๊บ ลูกค้าก็ไม่เอาแล้วไง
ซึ่งนี่ไม่ได้หมายถึงแค่การ romaticize แล้ว แต่มันหมายถึงความฝันอะไรบางอย่างของเราด้วย เราว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันคือการพยายามยืนยันว่าเราเป็นแบบนั้นได้ คือเรา romanticize อะไรได้ แต่เราก็ต้องทำให้ก้อนความฝันมันเกิดขึ้นจริงด้วย ถึงเราจะเป็นเด็กเหม่อนอกหน้าต่าง แต่วันหนึ่งเราก็ต้องประสบความสำเร็จได้ ทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้
คือตอนเรียนเราไม่ได้เป็นเด็กหลังห้องนะ แต่เป็นเด็กที่ชอบนั่งข้างหน้าต่าง ชอบนั่งเหม่อๆ ไม่ยอมเรียน แล้วตึกเรามันอยู่สูงด้วยไง ก็จะเหม่อมองไปเรื่อย เราเป็นเด็กแบบนั้นน่ะ แล้วพ่อก็จะชอบพูดว่า มึงเรียนสถาปัตย์ มึงเรียนศิลปะ มันจะไปอยู่รอดได้ยังไง มันดู dreamy ดูฟุ้งฝัน แต่เราก็มีความรู้สึกว่าทำไมเราจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ล่ะ
เราว่าทุกคนก็มีเรื่องแบบนี้อยู่กับตัวแหละ เราจะไม่สามารถมีเครื่องบินได้เลย ถ้าคนไม่คิดว่าตัวเองบินได้ เพราะอันนั้นมัน romanticize เผ่าพันธุ์ตัวเองสุดๆ มันฝันมากๆ ถ้าคนเราไม่มีอะไรแบบนี้ มันก็จะไม่มีวิวัฒนาการ แนวคิดนี้มันก็เลยจะอยู่ในงานเราตลอดเวลา
Life MATTERs : เรื่องพวกนี้มันไม่ใช่แค่คุณสมบัติของวัยเด็กใช่ไหม
เบสท์ : เราว่าผู้ใหญ่ยิ่งต้องมีนะ ไม่งั้นผู้ใหญ่ก็จะปิด แบบนั้นก็เป็นไปไม่ได้ แบบนี้ก็เป็นไปไม่ได้ เราว่าตอนนี้โลกมันหมุนเร็ว เราฟุ้งได้ แต่จะทำยังไงกับมันล่ะ เพราะเราก็รู้ว่าเราตอนเด็กๆ กับเราตอนสามสิบต้นๆ มันดีกรีความฟุ้งฝันมันไม่เหมือนเดิม ตอนนี้ก็ฟุ้งน้อยลงแต่เอาอันที่ฟุ้งเนี่ยมาทำให้มันเกิดขึ้นจริงด้วย
อย่างตอนที่ทำ Eyedropper Fill ส่วนหนึ่งเราพยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยแหละ เหมือนพยายามจะสร้างหลักฐานบางอย่าง เราอยากจะทำเพื่อให้มันเป็นโมเดลให้คนเห็นว่าเราเรียนจบอะไรมาก็ตาม เราทำได้ เพราะก่อนมาทำตรงนี้ เราก็เคยไปทำงานกองละคร เคยไปทำก่อนบ่ายคลายเครียด ทำ opening รายการเป็นงาน motion หรือไปทำวิดิโอผัดกับข้าว ไปทำวิดิโอเกี่ยวกับอาเซียน สัมภาษณ์ดารา คือไปทำมาเยอะมาก ทั้งที่เรามีสิ่งที่เราเองอยากทำอยู่ แต่ตอนนั้นยังไม่กล้าแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจตัวเอง
พอไม่เข้าใจตัวเองก็ชอบไปปรึกษาคนอื่น ปรึกษารุ่นพี่ เขาก็จะบอกว่าโมเดลที่เราอยากทำมันดูยาก มึงติสท์ไป มันหาเงินไม่ได้ แต่เราก็เถียงกับตัวเองว่า มันจริงเหรอวะ แล้วทำไมต่างประเทศมันทำได้ เราก็เลยลองทำดู มันก็จะมีบางงานที่เปลี่ยนหมุดหมาย เปลี่ยนความคิดของเราไปเลยว่าจริงๆ งานแบบนี้คนก็เสพนะ อาจจะไม่ได้วงกว้างมาก แต่ว่ามันก็มีคนที่รองานแบบนี้อยู่ เลยยิ่งเชื่อว่ามันต้องมีชอยส์
Life MATTERs : คิดว่าสังคมเราจำเป็นต้องมีคนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรที่ตัวเองเชื่อไหม
เบสท์ : เราไม่ได้คิดว่าจะต้องอาร์ตเท่านั้นหรืออะไร ใครจะทำอะไรก็ทำไปเหอะ แต่ว่าเราเชื่อว่าแต่ละคนต้องไม่เหมือนกัน คนต้องมี ตัวเลือกเยอะๆ ไม่งั้นมันก็กลายเป็นรวบยอด เหมือนกับประเทศเราที่ตอนนี้ก็รวบยอด คือทุกคนต้องเชื่อเหมือนกัน ใครที่ไม่เชื่อเหมือนกันก็ออกไปจากประเทศนี้ซะ หรืออะไรแบบนี้
เวลาเราไปบรรยาย เราก็อาจจะบอกว่าน้องๆ ว่า แต่ก่อนเราก็เป็นแบบนาย เราก็โดนผู้ใหญ่ปิดๆ มาเหมือนกัน หลายคนจะไปติดอยู่แค่ตรงนั้น แล้วสุดท้ายเราก็จะเป็นแบบที่เขาพูด แต่พอเราไม่เชื่อ เราทะลุมันมา มันก็เป็นไปได้นี่หว่า
ฉะนั้นเราเลยคิดว่าคุณสามารถเป็นตัวเองได้ อย่างเดี๋ยวนี้ก็จะมีแคมเปญที่วัยรุ่นชอบพูดกันว่า เป็นตัวเองสิวะ ต้องออกจากกรอบ ต้องเป็นแกะดำ แต่เราว่าเป็นตัวเองมันยากนะ เพราะมันต้องเวิร์กฮาร์ดมากๆ มันขึ้นอยู่กับว่าเราทำงานหนักพอหรือเปล่า คิดกับตัวเองพอหรือยัง ที่จะยืนยันในความเป็นตัวเอง ยอมรับกับความอ่อนแอของตัวเองได้มั้ย?
เพราะเอาเข้าจริง สังคมมันอำนวยให้เราเป็นตัวเองหรือเข้าใจประวัติศาสตร์ของตัวเองแค่ไหนกันเชียว สื่อการสอนยังบิดเบือนอดีตแย่ๆ บางเรื่องที่เกิดขึ้นเรายังถูกบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่เลย สิ่งเหล่านี้ทำให้คนสับสน หรือตอนเด็ก เราก็จะเจอคำถามว่าคุณเป็นเด็กแบบไหน เด็กเรียน เด็กสเก็ต เด็กติสต์ จนเรางง บางทีก็ไม่ต้องจำกัดความคำให้ย่นย่อเหลือแค่นี้ เราสามารถเป็นอะไรหลายๆ อย่างในคนๆ เดียวได้สิ คุณอาจเป็นคนเล่นสเก็ตที่ชอบเรื่องรัฐศาสตร์และทำอาหารเก่งก็ได้
หรือที่เราจะพิสูจน์อะไรบางอย่างที่มันอาจจะโง่เง่ามากๆ ก็ตาม เราว่านี่เป็นพลังของวัยรุ่นที่อยากให้ทุกคนมี ที่พูดเราเองก็ไม่ใช่ทำได้หมดเพอร์เฟกต์นะเรื่องห่วยแตกมีอีกมากแต่ก็พยายามอยู่
การเติบโตก็คือการต่อสู้กับตัวเอง ตอนนี้เราอาจจะแก้ปมอะไรบางอย่างได้แล้ว แต่เราก็อาจจะสร้างปมให้เราในอีกห้าปีข้างหน้าโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ มันคือการต่อสู้กับตัวเองในการได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมในระดับชั้นต่างๆ จากเพื่อน จากพ่อ-แม่ จากสังคมการเมือง ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเรามากๆ ในตอนนี้
Life MATTERs : นอกจากที่ต้องต่อสู้กับผู้ใหญ่แล้ว ต้องต่อสู้กับอะไรอีกบ้างในการอยู่ในโลกทุนนิยม?
เบสท์ : เราว่ามันคงไม่ได้เป็นเรื่องของการต่อสู้กับทุนนิยมหรอก เราหนีมันไม่พ้น มันอยู่ในชีวิตกระจำวันเรา และไม่ใช่แค่อาชีพทางครีเอทีฟ ป้าขายกับข้าว หรือพนักบริษัท ทุกคนต้องทำงานหาเงินอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่ต่อสู้จนถึงตายคือการสู้กับตัวเอง เพราะมีหลายอย่างในตัวเองที่ไม่ชอบ ที่ไม่ได้เป็นจากเราอย่างเดียว แต่มันอาจมาจากเพื่อนมัธยมที่เราไม่ชอบ จากพ่อแม่ หรือวิธีใช้ชีวิตแบบไทย ซึ่งมาจากระบบที่คอยสะกดให้เราอยู่ในแบบที่เขาอยากให้เป็น หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในเลือด ในจิตสำนึก ในร่างกายเรา
ดังนั้นเราว่าการเติบโตก็คือการต่อสู้กับตัวเอง ตอนนี้เราอาจจะแก้ปมอะไรบางอย่างได้แล้ว แต่เราก็อาจจะสร้างปมให้เราในอีกห้าปีข้างหน้าโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ มันคือการต่อสู้กับตัวเองในการได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมในระดับชั้นต่างๆ จากเพื่อน จากพ่อ-แม่ จากสังคมการเมือง ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเรามากๆ ในตอนนี้
Life MATTERs : เมื่อเลี่ยงอิทธิพลจากสิ่งรอบตัวไม่ได้ สิ่งที่คุณพอจะทำได้คืออะไร
เบสท์ : ยิ่งโตขึ้น ก็ต้องยิ่งทำความเข้าใจกับเรื่องพวกนี้ ก็นั่งแก้มันไปเรื่อยๆ แล้วก็มาหาวิธีที่จะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ที่คอยกดดันเรา เรามองถึงในรุ่นต่อไป เรากำลังมองหาโมเดลใหม่ๆ ทำ อย่างตอนนี้เราสนใจเรื่องการศึกษา เราเลยอยากจะทำให้สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ มันมีผลต่อคนรุ่นอื่นๆ หลังจากนี้ด้วย
พูดอย่างนี้มันอาจจะดูยิ่งใหญ่ แต่ที่จริงมันเป็นเรื่องเล็กมากๆ เช่น เราทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา อย่างน้อยคนที่อยากจะทำแบบนี้ขึ้นมาแล้วเขาไม่กล้า มันก็จะมีเราคนหนึ่งที่เคยทำมาก่อน เราก็เชื่อว่ามันเป็นไปได้ อย่างเราตอนเด็กๆ ก็จะมีไอดอลที่เขาส่งผลมาถึงเราตอนนี้เหมือนกัน โดยที่เขาตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่อย่างน้อยพอคุณได้สร้างอะไรไว้ มันจะส่งผลต่อคนรุ่นหลัง เราว่าอันนี้มันเป็นแพสชั่นของเรา ในช่วงนี้ คือในเมื่อผู้ใหญ่มันเปลี่ยนไม่ได้ เลยมา educate เด็กให้มีพลังดีกว่า
Life MATTERs : ไอดอลคนนั้นของคุณคือใคร
เบสท์ : จริงๆ มีเยอะมาก เช่น พี่เจ้ย—อภิชาติพงศ์ พี่เต๋อ—นวพล อย่างหนังพี่คงเดช ‘เฉิ่ม’ นี่ชอบมาก ดูเป็นสิบรอบ หรือพี่เป็นเอก อันนี้สายหนังนะ ถ้าเป็นสายออกแบบก็อย่าง Duck Unit พวกนี้เขาทำให้เราเห็นเลยว่าเขาทำได้ และคงเป็นสิ่งที่ทำให้เราที่มัวขี้เกียจอยู่ต้องลุกขึ้นมา ซึ่งจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องสายออกแบบหรือสายศิลปะหรอกนะ บางทีได้คุยกับแท็กซี่แล้วก็รู้สึกว่าพี่เป็นคนสู้มากๆ หรือว่าคนที่ออกไปประท้วง เป็นนักศึกษาแล้วโดนจับ อะไรแบบนี้ เราไม่ได้เรียกเขาว่าไอดอลนะ แต่เราก็ละอายทุกทีเวลานึกว่าเขาออกไปทำอะไรแบบนั้น แล้วเราล่ะ ทำอะไรอยู่
สารคดี คือการที่เราไปเจอกับอะไรที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ เราควบคุมอะไรไม่ได้เลย ตรงนั้นมันคือเสน่ห์
Life MATTERs : กลับมาพูดถึงหนังกันบ้าง สำหรับ ‘นิรันดร์ราตรี’ ทำไมถึงเลือก format เป็นสารคดี
เบสท์ : เราไม่ได้เรียนฟิล์มมาโดยตรง เราเรียนออกแบบมา เวลาเรียนออกแบบที่มหา’ลัยเขาจะเน้นรีเสิร์ช แล้วก็ทดลอง ซึ่งเราว่าสารคดีมันมีกระบวนการแบบนั้นอยู่คือการไปรีเสิร์ช ไปเก็บข้อมูล แล้วเอาข้อมูลที่ได้มาทดลองพอจะทำหนังเรื่องนี้ เราเลยคิดว่าสารคดีมันก็เหมาะกับธรรมชาติของกระบวนการที่เราทำงาน อันนี้คือเหตุผลแรก
เหตุผลที่สองคือเราชอบเสน่ห์ของมัน พอเราทำงานของบริษัทที่มันเป็นงาน commercial ทุกอย่างมันจะถูกควบคุมอีกชั้นหนึ่ง เราต้องทำงานให้ผลลัพธ์เป็นแบบที่บริษัทหรือลูกค้าต้องการ แต่สารคดี คือการที่เราไปเจอกับอะไรที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ เราควบคุมอะไรไม่ได้เลย ตรงนั้นมันคือเสน่ห์ ซึ่งเราชอบกระบวนการ improvise หน้างานมากๆ นี่น่าจะเป็นสองเหตุผลหลักมั้งที่เราเลือก format เป็นสารคดี
Life MATTERs : ในการทำหนังถึง 4 ปี ความคิดในตอนแรกจนถึงตอนนี้เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
เบสท์ : เปลี่ยนไปเยอะมาก เราเริ่มทำตั้งแต่อายุ 24 – 25 มั้ง ตอนแรกหนังเรื่องนี้ไม่ได้จะเป็นสารคดีด้วยซ้ำ จะทำเป็นแค่หนังทดลองสั้นๆ ที่เข้าไปตามถ่ายพื้นที่ในโรงหนังที่ตายไปแล้ว ตอนแรกเราจะทำเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อแม่ คือยุคนั้นมีแฟนก็ไปเดทกันที่โรงหนัง แต่ก็ยังไม่อยากปิดกั้นตัวเอง เลยเข้าไปรีเสิร์ชตามโรงหนังทั่วกรุงเทพ ไป scout ไปคุยกับคน
แล้วบังเอิญช่วงนั้นโรงหนังที่เราตามถ่ายคือธนบุรีรามาปิดพอดี ก็เลยไปเจอ subject คนนี้ เราก็ชิล ตามถ่ายเขาไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่ามันกลายเป็นหนังได้แฮะ จากที่เป็นแค่หนังทดลองเลยกลายเป็นสารคดี แล้วก็เปลี่ยนอีกหลายดราฟท์ ซึ่งมันก็เปลี่ยนไปตามตัวละครนั่นแหละ ชีวิตตัวละครเปลี่ยนเราก็ไหลตามเขาไปเรื่อยๆ
เราใช้เวลาถ่าย 3 ปี ตัดต่อ 1 ปี สลับคัท แบบตัดแล้วก็หยุดไป เดือนสองเดือน แล้วก็มาดูคัทใหม่ เปลี่ยนคนตัด คือทดลองเยอะมาก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเราทำหนังไม่เป็น เราไม่ได้เชี่ยวชาญในการทำหนัง หนังของเราก็เหมือนการผสมสารเคมี ทดลองนั่นทดลองนี่ไปเรื่อยๆ สุดท้าย มาถึงตอนนี้มันก็เลยเปลี่ยนไปแบบสุดขั้วเลย
Life MATTERs : ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พอใจไหม
เบสท์ : ก็พอใจนะ พอใจเท่าที่จะพอใจได้ จริงๆ อยากให้ไปไกลกว่านี้ แต่ว่ามันก็เป็นอย่างนี้แหละ
เขาทำให้เราได้เปิดมุมมองเพิ่ม เราจะไม่ได้รู้จักแค่คนในวงของเรา แต่เรารู้จักวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง รู้จักความเป็นอยู่อีกแบบหนึ่ง
Life MATTERs : ในการตามถ่ายคนคนหนึ่งนานถึง 4 ปี นอกจากฟุตเทจแล้วคุณได้อะไรจากเขาอีกบ้าง
เบสท์ : ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยรู้จักคนประเภทนี้เลย คือ subject ที่เราตามถ่ายเขาเป็นลุงอายุ 51 ปี อยู่ในโรงหนังมา 20 กว่าปี จริงๆ เขาก็เป็นประเภทบุคคที่เราสามารถเจอได้ในชีวิตประจำวันนะ เราชอบตรงที่บางทีเราเดินตามถนนก็จะเจอคนที่ไม่แน่ใจว่าเขาเป็นโฮมเลสหรือเปล่า หรือแบบลุงคนนี้แต่งตัวประหลาดจังเลยอะไรแบบนี้
ในกรุงเทพฯ มีคนประเภทนี้เยอะมาก แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าตอนเด็กเขามาจากไหน เขามีเมีย มีลูกกี่คน มีพี่น้องอยู่จังหวัดอะไร ความสัมพันธ์ของเรากับเขาหลังจากที่ตามถ่ายเขามา 4 ปี เราสนิทกับเขามากเหมือนเป็นเพื่อนกันไปแล้ว เขาทำให้เราได้เปิดมุมมองเพิ่ม เราจะไม่ได้รู้จักแค่คนในวงของเรา แต่เรารู้จักวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง รู้จักความเป็นอยู่อีกแบบหนึ่ง เพราะว่าเราไม่ได้ถ่ายแค่เขาคนเดียว เราตามไปถ่ายลูกเมียเขาที่ต่างจังหวัดด้วย จนสุดท้ายเราก็สนิทกับครอบครัวเขามาก (เน้นเสียง) บางครั้งเราก็ได้ช่วยเหลือเขาด้วย
Life MATTERs : สนิทกับครอบครัวของเขาในระดับไหน
เราติดตามชีวิตเขาจนหนังจบแล้วก็ยังติดตามอยู่ อย่างล่าสุดคือเขาอยู่โรงหนังมายี่สิบกว่าปี โรงหนังปิดแล้วแต่เขาก็อยู่ต่อ เหมือนเขายังอยู่ในเซฟโซน เราก็ลุ้นให้เขาออกมา เราเรียกเขาว่าพี่ฤทธิ์ เราก็ถามเขาว่าพี่ฤทธิ์แก่แล้ว พี่ลองไปทำอาชีพอื่นไหม เขาก็บอกว่าเขาไม่รู้จะไปต่อยังไง หรือไปทำอาชีพอะไร
หรือเวลาเขากับครอบครัวมีปัญหากันเราก็เข้าไปช่วยคุยให้ เราดีใจมากที่วันหนึ่ง ก่อนพี่แกลาออกจากโรงหนัง เราบอกลากัน เมียแกบอกเราว่า ขอบใจมากน้องชาย ซึ่งคำว่าน้องชายสำหรับเรามันมีความหมายมากนะ สารคดีมันพาเราไปจนถึงจุดนี้ได้ ซึ่งเอาจริงคำนี้ทำให้เราภูมิใจมากในแง่เบื้องหลังที่ถึงเราจะเป็นคนทำหนังแต่เราไม่ทอดทิ้งกันกับครอบครัวของเขา
แต่ก็น่าเสียดาย หลังจากนั้นเขาก็อยู่บ้านเกิดได้แค่สัปดาห์เดียวแล้วก็อยู่ต่อไม่ได้ เหมือนคนทำงานโรงหนังมานานมันจะมีอาการติดสบาย เพราะโรงหนังสมัยก่อน พอเปิดฟิล์มรันปุ๊บ หนังมันก็รันไปเรื่อยๆ เขาก็แค่นั่งฟังว่าเครื่องมีปัญหาไหม แค่นั้นเอง ที่เหลือก็แทบไม่ทำอะไร ทีนี้ที่บ้านเขามีอาชีพกรีดยาง เมียเขากรีดยาง พอเขากลับไปอยู่ที่ต่างจังหวัด เขาไม่ยอมออกไป outdoor เลยกลายเป็นคนกินแต่เหล้า
สุดท้ายเขาก็ทนไม่ไหว เลยไปบวช ตอนนี้เลยกลายเป็นพระไปแล้ว คือชีวิตเขา shift มาก ความสัมพันธ์ของเรากับเขาก็ develop ไปตามชีวิตเขา ซึ่งเรารู้สึกว่าอันนี้มันก็เป็นสิ่งที่ได้มากกว่าฟุตเทจ
Life MATTERs : เหนื่อยไหม กับการอุ้มคนคนหนึ่งเข้ามาในชีวิต เพราะเหมือนคุณก็ต้องไปรับผิดชอบชีวิตเขาด้วย
เบสท์ : เราว่ามันไม่เหนื่อยนะ พอเรารักอะ ไม่ว่าจะรักเขาหรือรักหนัง พอเรารักมันจะไม่เหนื่อย อย่างตอนเขามีปัญหา เราก็ไปเยี่ยมเขาเท่าที่จะเยี่ยมได้ เรารู้สึกว่าพอเจอกันทุกครั้งมันดี ไปนั่งคุยกัน กินเบียร์กัน ก็เป็นช่วงเวลาที่ดี เราว่าหนังเรื่องนี้มันสำเร็จตั้งแต่ตอนเราทำแล้วล่ะ เรารู้สึกว่าระหว่างที่เราทำหนังเรื่องนี้มันแฮปปี้มากๆ พอเราทำสารคดีแล้วเจออะไรแบบนี้มันทำให้เราอยากทำเรื่องต่อไป
Life MATTERs : ใน 4 ปีนี้ ที่ทำทั้งงานบริษัทและงานส่วนตัว มีช่วงเวลาที่เหนื่อยหรือท้อกับมันบ้างไหม
เบสท์ : มีบ่อยเหมือนกันนะ คือช่วงที่แฮปปี้ก็แฮปปี้ ที่เหนื่อยก็จะมาเป็นช่วงๆ เช่น สมมติเราขอทุน 10 ที่แล้วไม่ได้เลย มันก็จะแบบ เชี่ย เหนื่อยว่ะ แต่ก็ไม่เป็นไร หรือบางทีเวลาเพื่อนกลับบ้านกันหมดละ แต่เราต้องตัดต่ออยู่ออฟฟิศจนถึงเช้า มันจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า นี่กูทำไปทำไมวะ ทำแล้วได้อะไร แล้วตอนนั้นมันไม่มีคำตอบด้วยไง คือหนังมันยังไม่เสร็จ เราก็ไม่รู้ว่าหนังมันจะไปถึงไหน
แล้วเราออกเงินเองด้วย จำได้ มีอยู่วันหนึ่งลองมานั่งกดเครื่องคิดเลขดู เราหมดไปหลายแสนอะ วันนั้นเราจ๋อยไปเลย ไม่คุยกับใคร นั่งคิดแต่ว่าทำไปทำไมวะ แต่สุดท้ายก็มีความคิดว่า เออ สักครั้งเหอะ ในเมื่อตัดสินใจแล้วก็ต้องไปต่อให้สุด
จนถึงตอนที่เราเอาหนังไปประกวดเมื่อเดือนมีนาคม แล้วมันได้รางวัล นั่นแหละ ตอนแรกเราโคตรไม่นึกว่าหนังเรามันมี potential ขั้นนั้น มันเลยทำให้เราเห็นประสิทธิภาพตัวเองว่าเราก็ทำหนังได้นี่หว่า เราไม่ได้ห่วยขนาดนั้น
Life MATTERs : แล้วในช่วงของการฉายหนัง คาดหวังกับมันยังไงบ้าง
เบสท์ : อยากให้มันไปไกลกว่าโซนอินดี้ ทั้งที่รู้ว่าหนังเรามันเริ่มมาจากส่วนตัวมากก็เถอะ ก็พยายามจะใช้การโปรโมตในช่วงเดือนหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วมันจะไปถึงคนดูขนาดไหน เราก็ตอบไม่ได้ แต่มันก็ต้องลอง เป็นการลองที่เตรียมตัวฟอร์มทีมทำคอนเทนต์กันเป็นเดือนๆ อย่างน้อยก็อยากให้มันอยู่ในโรงสักเดือนหนึ่งนะ ที่ SF ไม่ก็ที่ House RCA และการโปรโมตของเราคือไม่ใช่แค่ให้คนมาดูหนังอย่างเดียว แต่เราก็อยากให้คอนเทนต์ที่มีความรู้ด้วย โอเค คนอาจจะไม่ได้มาดูหนัง แต่ว่าเขาได้ความรู้จากคอนเทนต์ที่เราทำบ้าง มันก็โอเค
Life MATTERs : สิ่งที่เราจะได้เห็นจากหนัง ไม่ใช่แค่ชีวิตของคนคนหนึ่งสินะ
เบสท์ : เราว่าหนังเรามันมองได้หลายมุมมากเลย เช่น มองจากมุมคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพก็ได้ หรือจะมองจากมุมของยุคหนึ่งที่มันเคยมีโรงหนังชั้นสอง แล้ววันหนึ่งก็ไม่มี หรือว่ามองในแง่ของ cinematic ก็ได้ มองในแง่ของวิธีการถ่ายทำ คนที่เรียนฟิล์มก็อาจจะได้ดูหนังสารคดีที่ไม่ได้เป็นสารคดีขนาดนั้น คนชอบบอกว่าหนังเราเหมือนมีการกำกับตัวละคร เหมือนเป็น fiction แต่จริงๆ มันไม่เลย คนที่ได้มาดูก็อาจจะได้เห็นรูปแบบของหนังแบบใหม่ๆ ด้วย
Photos by Adidet Chaiwattanakul
หมายเหตุ : ติดตามหนังได้ที่ niranratreemovie