Bill Viola ทำงานวิดีโอมาตั้งแต่อายุ 23 จนถึงวันนี้ที่เขาอายุ 66 ปี —เวลายาวนานเฉียดห้าสิบปี ไม่ได้ทำให้พลังงานและพลังสร้างสรรค์ของวิดีโออาร์ติสต์รุ่นเดอะเบอร์เก๋าคนนี้ลดลง หากแต่เพิ่มมากขึ้นและมากขึ้น ยืนยันได้จากผลงานใหม่ของเขาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ที่ยังคงสดใหม่เสมอสมฉายา ‘Rembrandt แห่งยุควิดิโอ’ ที่วงการศิลปะตั้งให้เขา
หลายคนน่าจะรู้จักบิล วิโอลา จากวิดีโอ three-channel ที่เขาทำให้วง Nine Inch Nails ซึ่งก่อนหน้านั้น เขาเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าซีเนไฟล์สายทดลองมาเป็นเวลานานแล้ว เล่าประวัติเขาโดยย่นย่อก็คือ วิโอลาเกิด เติบโต และเรียนที่นิวยอร์ก ก่อนจะไปต่อที่ Art/Tapes/22 สตูดิโอศิลปะแถวหน้า ณ ฟลอเรนซ์ เมืองหลวงศิลปะของประเทศอิตาลี ดินแดนที่เขามีความผูกพันทางสายเลือดอยู่อย่างจางๆ และเมื่อครั้งที่ไปบรรยายในออสเตรเลีย ก็ได้พบกับ Kira Perov ผู้กลายเป็นโปรดิวเซอร์และไลฟ์พาร์ตเนอร์ ที่ร่วมผลิตงานกับเขามานานกว่า 40 ปี ก่อนจะย้ายไปพำนักที่ลอสแองเจลิสด้วยกันจนถึงตอนนี้
ผลงานสเกลใหญ่หลายสิบชิ้นของวิโอลาทั้งเก่าและใหม่ได้หมุนเวียนไปตรึงสายตาและสะกดจิตผู้ชมทั่วโลกมาอย่างยาวนาน รวมทั้งในปีนี้ที่กระจายไปยึดครองพื้นที่ทางศิลปะและโบสถ์คริสต์หลายแห่ง ตั้งแต่นิวยอร์กถึงฟลอเรนซ์ มอนทรีออลถึงบิลเบา อุปซอลาถึงโดฮา และมิลานถึงกวางโจว
ถึงอย่างนั้น เรากลับไม่เห็นว่าความเจนวงการเป็นเพียงเหตุผลเดียวที่ทำให้ศิลปินอเมริกันรายนี้ควรถูกพูดถึง เพราะสิ่งที่ทำให้เราต้องสยบยอมคือ ความคอนทราสต์ระหว่าง ‘คอนเทนต์อันสุขุมดั่งน้ำ’ และ ‘ฟอร์มอันเลือดพล่านดั่งไฟ’ ของวิดีโอจำนวนมากที่เราได้ชมในนิทรรศการ Electronic Renaissance ที่รวมผลงานวิดีโอหลายสิบชิ้นตลอดชีวิตการทำงานของเขาเอาไว้ให้เราได้เข้าชมในรวดเดียวและจมดิ่งสู่ไฟและน้ำไปพร้อมๆ กัน
ตั้งแต่ Cycles (1973) วิดีโออาร์ตที่นำเอาพัดลมมาตั้งหน้าทีวีเพื่อเล่นกับแสงในเชิง visual และการส่งต่อข้อความจาก mass media สู่ spectators หรืองานชิ้น The Reflecting Pool (1977-1979) ที่ฉายภาพชายคนหนึ่งกระโดดบ่อน้ำกลางป่าซึ่งเป็นกระจกโปร่งแสง จนสร้าง visual phenomenon ที่เราเดาว่าคงน่าตื่นตาเหลือเกินในยุคสมัยนั้น จนถึง Inverted Birth (2014) งานชิ้นสูงเทียมเพดาน แสดงภาพเคลื่อนไหวของชายหนุ่มที่ยืนนิ่งอยู่กลางของเหลวสีแดง สีขาว และไร้สี ที่ซัดสาดจากพื้นขึ้นไปสู่เบื้องบนด้วยเทคนิคเล่นภาพจากหลังมาหน้า เพื่อสื่อถึงแต่ละขั้นตอนในการชำระล้างจิตวิญญาณของมนุษย์
ในความหมายตรงตัว ‘เรเนซองส์’ คือธีมร่วมในงานหลายชิ้นของวิโอลาที่ถูกจัดเรียงไว้ใกล้กันในครึ่งแรกของนิทรรศการ โดยวิโอลาได้นำภาพวาดสีน้ำมันจากยุค Italian Renaissance มาวางเคียงกับวิดีโอของเขาที่ทำขึ้นเพื่อล้อกับฟอร์มของต้นฉบับ และเมื่อสองชิ้นถูกจัดวางให้พร้อมตอบโต้กันตลอดเวลา ความสนุกจึงตกอยู่กับผู้ชมอย่างเราๆ
ชิ้นที่เราประทับใจก็เช่น การหยิบเอางานเด่นของเขาที่เคยสร้างปรากฏการณ์ในงาน Venice Biennale ปี 1995 อย่าง The Greeting (1995) กลับมาแสดงอีกครั้ง โดยฟุตเทจวิดีโอความยาว 45 วินาที ว่าด้วยหญิงนิรนามสามคนเดินเจอกันที่หัวมุมถนน ถูกวิโอลายืดให้เป็นสโลวโมชั่นยาว 10 นาที เพื่อล้อกับ La Visitazione (1528-1529) ภาพวาดสีน้ำมันชิ้นคลาสสิกของ Pontormo Jacopo Carucci ที่เป็นภาพพระแม่มารีเดินเจอกับพระแม่เอลิซาเบ็ธ
ในงานชิ้นนี้ วิโอลาบอกเล่า ‘การเกิดใหม่’ ในหลายมิติ ทั้งการเกิดของทารกในท้องของสองพระแม่ นั่นคือพระเยซูในท้องมารี และ John the Baptist ในท้องเอลิซาเบ็ธ รวมถึงการเกิดของศิลปะแขนงใหม่ หรือการแปรร่างผลงานสีน้ำมันเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ใช้เทคนิกภาพยนตร์มาช่วยอย่างครบสมบูรณ์ จนถึงการเกิดของห้วงเวลาใหม่ในพื้นที่เดิม จากภาพวาดที่เวลาถูกหยุดนิ่งกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ประกอบขึ้นจากแสง ลม และหลายลมหายใจที่เชื่อมต่อกัน และนี่ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายสิบชิ้นเด่นๆ ของเขาที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความได้อย่างไม่จบสิ้น
งานของวิโอลาไม่ได้เพียงแต่พูดถึงเรเนซองส์ในฐานะยุคสมัยของประวัติศาสตร์ศิลปะที่เล่นกับฟอร์ม สี และอารมณ์ความรู้สึก แต่ยังพูดถึงจิตวิญญาณแห่งการ ‘ตื่นรู้’ แบบเรเนซองส์เองด้วย งานของวิโอลาเวียนวนอยู่กับการ ‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ และ ‘ดิน น้ำ ลม ไฟ’ ทั้งในเชิงภาพและเชิงสัญญะ
อย่างเช่น The Crossing (1996) งาน two-channel ขนาดใหญ่เฉียดเพดาน ด้านหนึ่งเป็นชายวัยกลางคนถูกไฟลามจากเท้าขึ้นมาจนมิดตัว สลายกลายเป็นเถ้า และวนเป็นลูปอยู่อย่างนั้น อีกด้านเป็นชายที่เดินมาแต่ไกลก่อนจะหยุดนิ่งตรงหน้าผู้ชมและมีน้ำหยดลงมา หยดน้ำเหล่านั้นกลายเป็นห่าฝนที่บดบังตัวเขาจนมิด และเมื่อมันเบาลงจนกลายเป็นหยดอีกครั้ง ชายผู้นั้นก็หายไป ก่อนจะเดินกลับเข้ามาหาผู้ชมใหม่ตามลูปของวิดีโอ ตั้งแต่นั้น วิโอลาก็กลับมาเล่นกับน้ำและไฟด้วยโปรดักชั่นใหญ่โตมโหฬารอีกหลายครา แตะระดับที่สตูดิโอล้นไปด้วยทีมงาน 40 หน่วยและ extra อีก 200 หน่วยเลยทีเดียว
งานเด่นอีกชิ้นที่เป็นที่ชื่นชอบในวงกว้างคือ Man Searching for Immortality / Woman Searching for Eternity (2013) ภาพเคลื่อนไหว two-channel ของชายแก่และหญิงชราในร่างเปลือยในท่วงท่าที่ล้อกับภาพ Adam and Eve (1528) ของ Lucas Cranach ส่องไฟฉายเพ่งพินิจดูเรือนร่างอันบุบสลายของตน
ภาพสโลวโมชั่นของทั้งสองถูกฉายลงบนแผ่นแกรนิตสีดำล้วนขนาดเท่าคนจริง ก่อนจะเริ่มเปลี่ยนสีจากขาวดำเป็นทองอร่ามอย่างกับงานศิลปะสไตล์อีสเทิร์น ออร์โธด็อกซ์ และกลับมาเป็นสีขาวดำที่แตกออกเป็นพิกเซลแบบในจอทีวีสมัยก่อนและเลือนหายไป เป็นชิ้นที่เข้าใจง่ายแต่ก็ไม่ทิ้งลายเซ็นของตัวเอง นั่นคือการสะท้อนความหวังที่ผุดพรายขึ้นมาจากความทุกข์ระทม รวมทั้งการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของพื้นที่ เวลา พลังงาน และ จิตวิญญาณทั้งหลายบนโลกใบนี้
และหากใครเกิดข้อสงสัยว่าวิโอลาได้แรงบันดาลใจจากศาสนามากแค่ไหน ถึงพูดเรื่องโลก จักรวาล และจิตวิญญาณอยู่บ่อยครั้ง เราขอชวนให้ดูงานในธีมไบเบิลของเขาซึ่งน่าจะเป็นคำตอบได้ ตั้งแต่ Emergence (2002) และ The Deluge (2002) ที่นำตำนานของศาสนาคริสต์อย่างฉากพระแม่มารีอุ้มพระเยซู และฉากน้ำท่วมโลกมาทำเป็นภาพเคลื่อนไหวสโลวโมชั่นสุดแฟนซี อันประกอบด้วยพร็อพเลียนแบบ sculpture หินอ่อน, architecture สีขาวนวล และ gestures ประหลาดโลกของนักแสดง
อย่างไรก็ดี เขาเน้นย้ำในบทสัมภาษณ์หลายชิ้นเกี่ยวกับงานในธีมนี้ว่าในแง่หนึ่งนั้น ‘ศาสนา’ และ ‘จิตวิญญาณ’ เป็นเรื่องที่แยกขาดออกจากกัน เพราะความเป็น ‘สถาบัน’ นั้นมักจะถูกนำมาเชื่อมติดกับศาสนา ทำให้สารัตถะของจิตวิญญาณนั้นถูกกลบเกลื่อนเลือนหายไป
นอกจากงานชุดนี้จะดูเพลินและทำให้เราคิดตามจนสมองแล่นแล้ว เราก็ยังอดสนเท่ห์ไปกับความเล่นใหญ่ใจโตของเขาไม่ได้ เรียกได้ว่าหากดูชิ้นอื่นของเขาแล้วไม่เข้าทาง วิดีโอชุดนี้ก็อาจจะชวนให้คุณตะลึงงัน ปล่อยขำออกมา หรือไม่ก็รู้สึกอะไรสักอย่างขึ้นมาอยู่ดี และการที่เรารู้สึกอะไรสักอย่าง นั่นก็เป็นหนึ่งในเสน่ห์ของงานศิลปะไม่ใช่หรือ?
สำหรับเราแล้ว ชีวิตของวิโอลาคือการเสาะหา เก็บเกี่ยว และตีความ—เขาเสาะหาความหมายของจิตวิญญาณ วงจรชีวิต และ การมีตัวตนอยู่ของมนุษย์ เก็บเกี่ยวข้อมูลและประสบการณ์จากหลายที่มา (ซึ่งบางแหล่งที่มาก็คาบเกี่ยว แต่ไม่ใช่ในเซนส์ของศาสนาโดยตรง) และตีความมันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่คิดอะไรเป็นภาพ จดบันทึก และวาดมันเก็บไว้เสมอ
วิโอลาให้สัมภาษณ์กับ Elephant นิตยสารศิลปะฉบับล่าสุดนี่เองว่า บางทีเขาก็ได้แรงบันดาลใจจากบทสวดและกวีนิพนธ์ของลัทธิซูฟี บางทีก็จากคำสอนของพุทธนิกายเซน และบางทีก็จากวิดีโออาร์ติสต์ร่วมสมัยอย่าง Nam June Paik และ Peter Campus
เราขอเพิ่มเติมว่า การกระหายความแปลกใหม่แห่งเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดนิทรรศการที่ฟลอเรนซ์ของเขาจึงถูกตั้งชื่อเช่นนั้น วิโอลาพูดถึงเทคโนโลยีและความเป็นดิจิตอลอยู่บ่อยครั้ง ไม่ใช่เพราะเขาอยากใช้ประโยชน์จากมัน แต่เพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นดั่ง ‘ใจความ’ ของสังคมโลก ในมุมหนึ่งเขามองว่าเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ตและ social network เอื้อให้เราสามารถนำเสนอสิ่งที่เป็นนามธรรมและมองไม่เห็นด้วยตา อย่างเช่นความสัมพันธ์ของมนุษย์และเครือข่ายทางสังคม ไปจนถึงสัญญะของความรุนแรงที่ถูกถ่ายทอดผ่าน ‘image’ ของการก่อวินาศกรรม 9/11 (แต่ไม่ใช่การก่อวินาศกรรมในตัวมันเองนะ)
ในอีกมุมหนึ่ง เขาจำแนกแยกองค์ประกอบของความเป็นดิจิตอลออกมาให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้วเราทุกคนถูกกำหนดด้วย ‘รหัส’ (code) อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ เขาว่า “ดูอย่าง DNA นั่นปะไร นั่นแหละสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ แต่มีพลังรุนแรงเหลือเกิน”
ความกระหายที่ว่า ทำให้วิโอลากระโดดลงสู่แพลตฟอร์มในโลกเทคโนโลยีอย่างไม่ยั้งมือ อย่างเช่นในปี 2007 เขาก็ได้สร้างวิดิโอเกมชื่อ The Night Journey ที่ว่าด้วยการเดินทางสู่ความรู้แจ้งของมนุษย์ ซึ่งถูกตีความออกมาเป็นรูปธรรมผ่านประสบการณ์การเล่นเกมที่ผู้เล่นจะได้ครุ่นคิดและเสพงานอาร์ตไปพร้อมกัน และนี่ก็เป็น art game แนวทดลองชิ้นแรกๆ ที่ถูกสร้างขึ้นบนโลกใบนี้ด้วย
ด้วยพลังล้นเหลือและความสงสัยใคร่รู้ที่อัดแน่นอยู่ภายใน ดูเหมือนว่าวิโอลาจะไม่เคยอยู่เฉย และเราก็คิดว่าคงไม่มีศิลปินระดับโลกคนไหนทำเช่นนั้น เขาสะกิดเตือนเราว่า การเปิดใจรับข้อมูลอย่างกว้างขวาง การผลิตงานอย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้จากทั้งอดีตและปัจจุบัน และการไม่เกรงกลัวแต่ปรับตัวเข้าหาและใช้ประโยชน์จากอนาคต—ที่ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในรูปของศิลปินคลื่นลูกใหม่ หรือเทคโนโลยีที่ซับซ้อน—ต่างก็เป็นคุณสมบัติที่สำคัญเหลือเกินสำหรับคนทำงานครีเอทีฟทุกแขนง
อ้างอิง
Elephant magazine, Issue 32, Autumn 2017