หากมนุษย์มีเสรีภาพไม่จำกัดที่จะทำอะไรก็ได้กับร่างกายที่มีจิตสถิตอยู่ พื้นที่ที่ตนเหยียบยืน และเวลาที่ตนมี อะไรคือสิ่งที่ศิลปินคนหนึ่งจะเลือกทำได้บ้าง?
Marina Abramović อาจเลือกที่จะนั่งจ้องตากับคนแปลกหน้าในแกลเลอรีเป็นเวลาสามเดือนเต็ม และเดินสองพันกว่าก้าวเพื่อกล่าวคำลากับคนรักที่เดินมาในระยะทางเท่ากันจากอีกฝั่ง หรือ Mike Parr ศิลปินชาวออสซี่อาจจะเลือกหันหลังให้ผู้ชม ระหว่างที่ใบหน้าของเขาถูกกระทำให้เปลี่ยนรูปแปรร่างไป โดยถ่ายวีดีโอโคลสอัพเพื่อฉายให้ผู้ชมได้เห็น และนอนใต้ผ้าคลุมสีขาวเพื่อให้ผู้ช่วยถ่ายเลือดของเขาออกมาจากท้องแขนและสาดลงบนผ้าคลุมนั้นในสไตล์ของ Jackson Pollock
แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า Tehching Hsieh เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ทิสต์ชาวไต้หวันผู้ถูก art scene ในโลกตะวันตกมองข้ามมาตลอดหลายทศวรรษ ทำให้เราลืมมารินากับไมค์ไปชั่วขณะ หรืออาจนานกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ
หากจะเริ่มต้นอย่างรวบรัด Tehching Hsieh (1950–) เป็นศิลปินชาวไต้หวันที่มารินาเรียกขานว่า ‘The Master’ เขาเริ่มวาดภาพตั้งแต่อายุสิบขวบ และวาดภาพอย่างจริงจังในช่วงอายุ 18-23 ปี ก่อนจะพบว่าการวาดภาพนั้นเป็นการแสดงออกทางศิลปะที่จำกัด รู้สึกว่าผลงานของตนนั้นว่างเปล่า และคิดว่าไต้หวันนั้นอนุรักษ์นิยมเกินไป
เพื่อหาทางเข้าสู่หนึ่งในเมืองหลวงของศิลปะร่วมสมัย เขาจึงย้ายไปอยู่นิวยอร์กในปี 1974 อย่างผิดกฎหมาย และเริ่มทำ performance art ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยหลังจาก Thirteen Years Plan Piece งานชิ้นสุดท้ายของเขาได้จบลงในปี 1999 เขาก็ได้ประกาศอย่างกึ่งเป็นทางการว่าจะไม่ทำงานศิลปะอีกต่อไป
ถึงอย่างนั้นเขากลับเป็นที่พูดถึงในช่วงสิบปีมานี้ และโดยเฉพาะสามปีหลังที่ชิ้นส่วนหลักฐานและการบันทึก performance ของเขาถูกนำไปแสดงที่นิวยอร์กในปี 2009, กวางโจวและลิเวอร์พูลในปี 2010, ซิดนีย์ในปี 2014 และ Venice Biennale ในปีนี้—งานที่ Hsieh บอกว่าเปรียบเสมือนกีฬาโอลิมปิกของศิลปิน เพียงแต่เขาเป็นนักวิ่งมาราธอน
งานของ Hsieh คือส่วนผสมระหว่างศิลปะที่เล่นกับความอดทน (endurance art) และการแสดงที่เล่นกับระยะเวลา (durational performance) ที่เอาเข้าจริงก็เป็นศิลปะแขนงที่ซ้อนทับกันอยู่แล้ว ซึ่งเขาเองบอกชัดเจนว่าตนเองไม่ได้เป็นมาโซคิสม์
สูตรของ Hsieh นั้นประกอบขึ้นจากองค์ประกอบที่หลากหลายกว่านั้น ทั้งความมีวินัย ความหมกมุ่น ความย้ำคิดย้ำทำ ความดันทุรัง และความขบถ ทั้งในโลกศิลปะ โลกที่มีมนุษย์ผู้อื่นอาศัยอยู่ และโลกจริงที่มีกฎหมายตีกรอบไว้
ทุกงานของเขากินระยะเวลางานละหนึ่งปีเต็มแบบไร้การหยุดพัก วินัยที่หารูรั่วได้ยากของเขาเป็นดั่งกระดูกสันหลังของงาน และเราก็ชื่นชมที่เขาสามารถใช้ performance เหล่านั้นในการฉายภาพคอนเซ็ปต์ที่ลึกล้ำอย่างความเป็นมนุษย์และความเบื่อหน่ายในสายตาเขาออกมาได้อย่างทรงพลัง แม้นั่นอาจเป็นเพียงการตีความของเราเพียงฝ่ายเดียวก็ตาม
Time Clock Piece
ภายในห้องปิด เขาในชุดยูนิฟอร์มตั้งนาฬิกาปลุกเสียงดังที่สุดเพื่อจะตอกบัตรนับเวลาในทุกชั่วโมง นั่นหมายความว่า เขาจะไม่มีโอกาสได้นอนหลับเกินหนึ่งชั่วโมงในแต่ละวันเป็นเวลานานหนึ่งปี นอกจากนั้นเขายังถ่ายรูปตัวเองหลังตอกบัตรไว้ทุกครั้งด้วยฟิล์ม 16 มม. และจะไม่ตัดผมจนกว่าจะจบโปรเจกต์เพื่อบันทึกความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของตน
โดยผลลัพธ์ที่จับต้องได้ของ Time Clock Piece (1980–1981) คือภาพถ่ายจำนวน 8,627 ภาพที่ถูกนำมาฉายต่อเนื่องกันจนกลายเป็นวีดีโอความยาว 6 นาที และยูนิฟอร์มที่เขาสวมใส่ตลอด 365 วัน โดย Hsieh บอกว่าวัตถุเหล่านี้ไม่ใช่ศิลปะ แต่เป็นเพียงร่องรอยและหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ซึ่งเชื่อมศิลปินเข้ากับผู้ชมผ่านจินตนาการของผู้ชมเอง
ทั้งนี้ ก็เพื่อวิพากษ์สังคมทุนนิยม และการรับรู้เรื่องเวลาตามระบบสายพานการผลิต ที่ต้องตอกบัตรเข้างานทุกเช้าค่ำ เขาเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาวะดังกล่าว แต่ผลักมันให้ขึ้นไปถึงขีดขั้นที่สูงยิ่งกว่า ก้าวข้ามการท้าทายตัวเอง ไปสู่การตั้งคำถามกับผู้ชมที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในสตูดิโอกับเขา
ประสบการณ์มือสองที่สุดโต่งเยี่ยงนี้ สะกิดให้เรา—ผู้ชมได้ลองคิดว่า หากเป็นตนจะรู้สึกอย่างไรที่ต้องรอให้เวลาผ่านพ้นไปทีละชั่วโมงๆ ยาวนานตลอดหนึ่งปี
น่าสนใจว่า หาก Hsieh ไม่ผลักมันให้สุดโต่งขนาดนี้ มันจะถูกตั้งคำถามถึงเพียงนี้หรือไม่ และการรับรู้เรื่องเวลาที่ผู้ชมเป็นอยู่ทุกวันนี้ นั้นต่างจากที่เขาจำลองแบบย่นย่อใน performance มากแค่ไหน หรือว่าไม่ต่างอะไรเลย
ถึงแม้ว่า Time Clock Piece อาจจะไม่ใช่งานที่สุดโต่งที่สุดของ Hsieh แต่มันก็เป็นงานที่ท้าทายขีดจำกัดของร่างกายและจิตใจอยู่ไม่น้อย ในแง่ร่างกายนั้นชัดเจน ส่วนในแง่จิตใจคือการแยกตัวจากสังคมภายนอกและถือสันโดษอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจไม่ต่างอะไรกับฤาษีหรือหรือพระที่เข้าไปธุดงค์ในป่า แต่ Hsieh ไม่ถือว่าตนเป็นบุคคลเหล่านั้น เขาเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาที่ยังอยากสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกัน เพียงแค่วิธีการของเขานั้นต่างไป
เห็นได้จากงานชิ้นอื่นของเขาอย่าง Rope Piece (1983–1984) ที่เขาใช้เชือก 8 ฟุตผูกเอวของตนและศิลปินหญิง Linda Montano เข้าไว้ด้วยกันเป็นเวลาหนึ่งปี โดยไม่ว่าใครจะทำอะไรไปที่ไหน อีกฝ่ายก็ต้องไปด้วย ภายใต้ข้อแม้ที่ว่าทั้งสองห้ามถูกเนื้อต้องตัวกัน
รวมถึง Cage Piece (1978–1979) และ Outdoor Piece (1981–1982) สองขั้วตรงข้ามที่ Hsieh ออกแบบมาเพื่อสำรวจการรับรู้เชิงพื้นที่ ท้าทายขีดจำกัดของความสัมพันธ์มนุษย์ ทดสอบความอดทนบนความหนืดของเวลา และอัดมุมมองที่ว่า “Life is passing time.” เข้าไปในช่วงเวลาตลอดหนึ่งปี
ใน Cage Piece เขาจำกัดตัวเองอยู่ในพื้นที่ปิดอย่างกรงขังเป็นเวลาหนึ่งปีโดยไม่สื่อสารกับใคร ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ฟังวิทยุ ไม่อ่านหนังสือ ไม่เขียนหนังสือ และผู้ชมที่เข้ามาเยี่ยมเยียนในสตูดิโอก็ไม่ได้รับอนุญาตให้สื่อสารกับเขา เขามีเพียงเตียงนอน ผ้าห่ม ซิงค์น้ำ และอาหารที่ผู้ช่วยเอาเข้ามาให้เท่านั้น
ส่วน Outdoor Piece ถูกทำขึ้นเพื่อสร้างบทสนทนากับชิ้นแรก เขาเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่เปิดอย่างท้องถนนในมหานครนิวยอร์ก ไม่ใช้ชีวิตอยู่ใต้หลังคา ไม่เข้าไปในอาคาร สถานีรถไฟ หรือรถไฟใต้ดิน ไม่อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วไป แต่การเปิดโอกาสนี้ก็ทำให้คนในสังคมรังเกียจเพราะความสกปรก และตำรวจก็จับเขา ด้วยข้อหาที่เป็นคนเร่ร่อน แต่ผู้พิพากษาปล่อยตัวเขาในทันทีเพราะเคยอ่านบทความเกี่ยวกับ performance ชิ้นนี้มาแล้ว
จึงน่าคิดว่า ในขณะที่อยู่ในพื้นที่ปิดอย่างกรงขัง เขากลับมีเสรีภาพในร่างกาย ในการคิด ในการกระทำ มากกว่าขณะอยู่ในพื้นที่เปิดอย่างท้องถนนที่ประกอบไปด้วยการตัดสินจากผู้พบเห็นและสภาพอากาศที่โหดร้ายทรมานของฤดูหนาวในปีที่หนาวที่สุดปีหนึ่งของนิวยอร์กด้วยซ้ำ
ถ้าให้เดา Hsieh อาจนับว่า การที่คนในสังคมตัดสินเขาและตัดสินกันและกัน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ขาดเสรีภาพ และนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุที่เขาเริ่มเอาตัวออกห่างจาก art scene ส่วนเหตุผลอื่นก็อย่างเช่นอายุที่มากขึ้นก็ทำให้เขาไม่สามารถใช้ร่างกายได้ตามใจอยาก การมองโลกและมองศิลปะก็เปลี่ยนไปด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น วิธีการปลีกตัวออกจาก art scene ของเขานั้นก็ยังนับเป็น performance อยู่ดี นำมาสู่ No Art Piece (1985–1986) ที่เขาจะหยุดทำงานและเสพศิลปะทุกชนิดเป็นเวลาหนึ่งปี และ Thirteen Years Plan Piece (1986–1999) ที่เขาออกแถลงการณ์ว่าจะทำงานศิลปะต่อไป แต่จะไม่เผยแพร่หรือแสดงผลงานเหล่านั้นออกมาเป็นเวลา 13 ปีเต็ม เพื่อท้าทายสมมติฐานของคนทั่วไปว่า ศิลปินอยู่โดยปราศจากศิลปะไม่ได้
และดังจะบอกเป็นนัยว่าในช่วงเวลานั้นเอง ศิลปินคนอื่นจะไม่ได้รับโอกาสในการตัดสินงานของเขาด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะประกาศในปี 2000 หลังจบจาก Thirteen Years Plan ว่าเขาจะเลิกทำงานศิลปะอย่างถาวร
เมื่อนั้นเองที่หลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับผลงาน performance แต่ละชิ้นของเขาได้ทยอยออกสู่สายตาผู้ชม ซึ่งโดยมากแล้วอาจไม่ค่อยได้มีโอกาสได้เรียนรู้และซาบซึ้งกับคอนเซ็ปต์ของเขาเสียเท่าไหร่ นักวิจารณ์ศิลปะบางคนกล่าวว่า อาจเป็นเพราะแนวคิดเรื่องการเหยียดเชื้อชาติที่ซ่อนเร้นอยู่ที่ทำให้ Hsieh ไม่ได้ ‘ถูกเลือก’ ให้เข้ามาอยู่ในสปอตไลท์อย่างเต็มที่และเต็มภาคภูมิ
Fall ของ Bas Jan Ader
เป็นโชคดีของเรา ที่ได้พบเขาผ่านหลักฐานของ one-year performance บางชิ้น และวีดีโอชิ้นรองๆ หลายชิ้นของเขา ใน Taiwanese Pavilion ในโลเคชั่นที่แทบจะเรียกได้ว่าดีที่สุดใน Venice Biennale 2017 ที่เพิ่งปิดฉากไปเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ว่าแล้วก็อดจะเล่าถึงงานอีกชิ้นไปไม่ได้ นั่นคือ Jump Piece (1973) งาน live action ชิ้นแรกที่เขาแสดงในไต้หวัน ด้วยการกระโดดลงมาจากตึกสองชั้นความสูง 15 ฟุต สู่พื้นคอนกรีตซึ่งทำให้ข้อเท้าของเขาหักทั้งสองข้าง และถ่ายวีดีโอการกระโดดไว้ด้วยกล้อง Super 8 ซึ่งเขายอมรับว่าคล้ายคลึงกับการแสดงชุด Fall (1970-1971) ของ Bas Jan Ader และ Leap into the Void (1960) งานคลาสสิกของ Yves Klein ที่นักเรียนศิลปะรู้จักกันดี เพียงแต่ตอนนั้นเขาเองยังไม่รู้จักสองงานนี้ก็เท่านั้น
เขาบอกว่าเขาเริ่มต้นกับ Jump Piece อย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เรียนรู้ว่าเขาควบคุมอะไรได้ รวมทั้งจะใช้แมททีเรียลอะไรและอุปกรณ์ชนิดไหนถึงจะประสบผล “เพื่อที่จะทำงานชิ้นนี้ มีสิ่งใหม่หลายสิ่งทีเดียวที่ผมต้องเรียนรู้” และหนึ่งในการเรียนรู้นั้นคือการเรียนรู้ที่จะเติบโตในฐานะศิลปินคนหนึ่งที่ก้าวข้ามศิลปะแบบที่คุ้นเคย และมนุษย์คนหนึ่งที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของพื้นที่ที่เคยอยู่
การกระโดดใน Jump Piece นี้จึงเป็นดั่งภาพพยากรณ์ถึงวันที่เขากระโดดลงเรือลำใหญ่ไปตามฝันที่นิวยอร์ค โดยไม่รู้มาก่อนว่าจะพบเจอความลำบากยากเข็ญในช่วงขวบปีแรก อย่างการใช้เวลาถึง 2 ปีในการกลับมายังย่านโซโหอีกครั้งหนึ่ง เพราะต้องหลบหลีกตำรวจที่อาจจะจับเขาจากสถานะผู้อพยพเมื่อไหร่ก็ได้
“เมื่อคุณยังเยาว์ คุณก็มักจะมีความกล้าบ้าระห่ำเทือกนั้นแหละ” เขากล่าวถึง Jump Piece และเรามั่นใจว่าเขาก็ใช้พลังแห่งความเยาว์นั้นในงานชิ้นอื่นที่เหลือด้วยเช่นกัน
“ชีวิตของผมไม่ได้ต่างจากศิลปะมากอยู่แล้ว นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมผมจึงเข้าไปอยู่ในสภาวะนั้นได้ มันปกติมาก ไม่ต่างอะไรกับการหายใจ มันเป็นสถานการณ์เฉพาะก็จริง แต่ถึงจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ ผมก็ยังสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เวลาทำงานเหล่านี้ ผมไม่กังวลอะไรเลย”
ในขณะที่ศิลปินจากโลกตะวันตกที่แทบจะเหมาพื้นที่ใน art scene ระดับโลกมาเป็นเวลานาน เราอาจนับชื่อได้น้อยเหลือเกิน ว่ามีศิลปินคนไหนในโลกตะวันออกที่ถูกพูดถึงได้มากเท่าศิลปินเหล่านั้น แต่หากถามว่าศิลปินคนไหนมีความสำคัญและสร้างงานที่สั่นสะเทือนการมีอยู่ในฐานะมนุษย์ได้มากในระดับเดียวกัน ศิลปินวัย 67 ปีผู้นี้ คือหนึ่งในคำตอบของเราแน่ๆ
อ้างอิง