“ถ้าร่างกายเราคือพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่ มันก็จะมีห้องอยู่ทั้งหมด 7 ห้อง ให้เราเข้าชม”—คือคำอธิบายสั้นๆ ของ Body Holes และห้องหับเหล่านั้นก็ได้แก่ ช่องปาก รูจมูก รูหู รูสะดือ รูฉี่ ช่องคลอด และรูทวารหนัก แค่เอ่ยชื่อรูหลายคนก็คงรู้สึกหวิวๆ หรือเผลอแขม่วท้องโดยไม่รู้ตัว เพราะเรารู้สึกอะไรบางอย่างกับบางรู ใช่หรือไม่?
What the holes: ทำไมถึงรู้สึกนัก กับรูบางรู
Body Holes เกิดมาเพื่อตั้งคำถามกับความรู้สึกแปลกปลอมที่คนเรามีต่อรูบนร่างกายเราเอง มันคือโปรเจกต์อาร์ตของกลุ่มทางศิลปะชื่อ New Scenario ของศิลปินเยอรมันอย่าง Paul Barsch และ Tilman Hornig ที่รวบรวมเอางานศิลปะ 40 ชิ้น จากศิลปินที่กำลังมาแรงเช่น Yves Scherer (ผู้ถ่ายทอดภาพของสตอล์กเกอร์ที่กำลังตาม Kristen Stewart—แบบไม่จริงนะ) และ Rachel De Joode (ผู้สร้างงานศิลป์ที่ดูมีมิติหลอกตาชวนงงงวย) รวมถึงศิลปินคนอื่นๆ ที่รันวงการศิลปะแถบยุโรปอยู่ในช่วงเวลานี้
งานแต่ละชิ้นล้วนเป็นงานขนาดเล็กจิ๋ว ที่สามารถฟิตอินเข้าไปในรูต่างๆ บนร่างมนุษย์ได้อย่างพอเหมาะ หรือกระทั่งทำงานร่วมกับรูนั้นๆ ให้เกิดเป็นงานศิลป์ที่ดูแปลกใหม่ และนี่คือโจทย์ง่ายๆ ที่ทาง New Scenario มอบให้ ส่วนที่เหลือ ศิลปินสามารถครีเอตได้ตามรูที่ได้รับมอบหมายและสไตล์ที่ชอบกันอย่างอิสระ
ผลงานที่ออกมาก็อย่างเช่นภาพวาดบุคคลไซส์มินิที่บรรจุในรูหู, รูปปั้นหัวคนขนาดเท่าฟันหนึ่งซี่วางบนลิ้น, แหวนจำลองในช่องคลอด รวมถึงรูปสลักเขากวางเสียบอยู่ในรูตรงปลายองคชาติ หรือบางอย่างที่เอ็กส์ตรีมได้กว่านั้นอีกจำนวนมาก ฯลฯ
โดยทาง New Scenario ตั้งข้อสังเกตว่า คนเรามักเชื่อมโยงรูบนรางกายตัวเองกับความรู้สึกทางเพศ ทฤษฎีทางจิตวิทยาของฟรอยด์หลายข้อ ก็เชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นกับรูปต่างๆ เข้ากับลักษณะพฤติกรรมทางเพศเมื่อเติบโตขึ้น ดังนั้นพวกเขาจึงลองให้ความใหม่กับมัน ในฐานะพื้นที่จัดวางหรือร่วมส่วนประกอบของงานศิลปะซึ่งไม่ได้มีความเป็นมนุษย์หรือชวนให้รู้สึกถึงเนื้อหนังมังสา เป็นการลดความคลั่งทางเพศ (de-fetished) เกี่ยวกับร่างกายคนเราให้เลือนลงบ้าง
(ยังไงก็ตาม ด้วยเรื่องของกรอบจารีตและความจั๊กจี้ส่วนบุคคล เราจึงไม่สามารถแพร่ภาพ Body Holes ทั้งหมดได้ แต่อยากชวนให้ทุกคนคลิกไปดูกันได้ที่ http://newscenario.net/bodyholes/ )
Anti-white cube: แล้วทำไมแกลเลอรี่ต้องจำกัดแค่ในกล่องสีขาว
แม้ Body Holes จะดูเป็นภาพแบบที่เรามักจะเห็นแปะอยู่บนผนังสีขาวของแกลเลอรี่สักแห่ง แต่งานเซ็ตนี้ไม่เคยถูกปรินต์ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน พื้นที่จัดแสดงของมันนอกจากในรูแล้ว ก็คือบนอินเตอร์เน็ตนี่เอง ซึ่งนี่ไม่ใช่การประหยัดประการใด เพราะทาง New Scenario คือกลุ่มศิลปะที่เชื่อมั่นในแนวคิดแบบ anti-white cube
นั่นคือมองว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องถูกจัดวางในห้องสี่เหลี่ยมสีขาวเสมอไป ถึงจะได้รับการยอมรับในคุณค่า แต่การเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตก็เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่จะส่งต่อศิลปะไปยังผู้เสพได้ดีเช่นกัน ซึ่งพวกเขาก็พิสูจน์ได้สำเร็จ เพราะงานนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Berlin Bienniale ในปีที่ผ่านมา พร้อมถูกจัดอยู่ในหมวด #FearOfContent ที่ให้คนเข้าไปคลิกชมผ่านเว็บไซต์ของโปรเจกต์ได้
แน่นอนว่าทั้งหมดที่เล่ามาคือสิ่งที่ New Scenario ต้องการสื่อสาร ส่วนคุณผู้อ่านเอง ในฐานะผู้รับสาร คุณเล่า รู้สึกกับมันอย่างไร?
อ้างอิง