“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก” คือประโยคท้ายๆ ในชีวิตของ ม.ร.ว. กีรติ ซึ่งหากวิญญาณของเธอยังคงวนเวียนจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2017 นี้ หญิงผู้สูงศักดิ์คงจะล่องลอยไปที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY เพื่อพบว่านพพร—เด็กหนุ่มผู้ทำให้เธออิ่มใจ มีความทรงจำเกี่ยวกับเธอมากมายเหลือเกิน
ความทรงจำของนพพร ภายใต้การตีความของ เข้—จุฬญาณนนท์ ศิริผล ก่อเกิดเป็น MUSEUM OF KIRATI ที่ถ่ายทอดมิติต่างๆ ของหม่อมราชวงค์หญิงผู้ล่วงลับจากนวนิยาย ‘ข้างหลังภาพ’ ออกมาเป็นภาพวาดสีน้ำ ภาพถ่าย วิดิโออาร์ต จนถึงรูปปั้นบรอนซ์ โดยมีจุฬญาณนนท์เองรับบทเป็นทั้งนพพรและกีรติในคราวเดียวกัน กลายเป็นนิทรรศการในคราบพิพิธภัณฑ์ ที่หลอมรวมเรื่องจริงและเรื่องแต่งเอาไว้หลากหลายแง่ภายในพื้นที่เดียวซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
จุฬญาณนนท์คือคนทำหนังและวิดิโออาร์ตที่น่าจับตามอง ก่อนหน้านี้เขามีทั้งผลงานหนังสั้น วิดิโออาร์ต และสารคดีที่ได้กวาดรางวัลมาแล้วจากหลายเวที หลายงานของเขาเองได้เข้าฉายและจัดแสดง ณ เทศกาลภาพยนตร์รวมถึงงานแสดงผลงานศิลปะหลายแห่งทั้งในเอเชียและยุโรป
ย้อนไปเมื่อปี 2544 จุฬญาณนนท์รับรู้เรื่องราวของนพพรและหม่อมราชวงค์กีรติเป็นครั้งแรกผ่านภาพยนตร์ ‘ข้างหลังภาพ’ โดย เชิด ทรงศรี ที่ทำให้เขาประทับใจในความรักที่ไม่สมหวัง จนไปหาฉบับนวนิยายมาอ่าน ตามด้วยบทวิเคราะห์ ที่ทำให้พบว่าความรักต่างวัย ต่างศักดิ์ ที่เริ่มต้นในต่างแดนนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องรักหวานขม แต่ยังมีบริบทอื่นๆ ที่บอกเล่าเรื่องชนชั้นในสังคมไทยได้ตราตรึงทีเดียว
จึงหยิบเอามาทำฉบับรีเมคมันเสียเลย
Life MATTERs : ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นก่อน คุณสนใจการทำหนังได้อย่างไร
จุฬญาณนนท์ : ส่วนตัวเราสนใจงานศิลปะและชอบดูหนังมาตลอดอยู่แล้ว ก็มีความฝันว่าอยากทำหนังเอง และในยุคที่อุปกรณ์สร้างภาพเคลื่อนไหวมันง่ายกว่าเดิม แล้วก็มีองค์กรที่สนับสนุนวัฒนธรรมทางเลือกมากขึ้น มีพื้นที่ของการประกวดหนังสั้นที่เราสามารถหาวิธีสร้างคอนเทนต์ในแบบของเราในวิธีที่ไม่ยากเกินไป ไม่ได้ใช้ต้นทุนเยอะ ก็เลยเริ่มต้นมาจากจุดนั้น
โอเค หนังสั้นมันก็จะมีเรื่อง มีตัวละคร มีโลเคชั่นแหละ แต่งานที่เราชอบไม่จำเป็นต้องใช้องค์ประกอบของโปรดักชั่นยิ่งใหญ่ขนาดนั้น บางครั้งเราสามารถใช้อะไรง่ายๆ ที่จะสื่อสารความคิดของเราออกมา ซึ่งมันจะวัฒนธรรมหนังใต้ดิน หนังทดลอง เราก็ไปจอยกับคนกลุ่มนั้น พอเราทำงาน เริ่มรู้จักคน ก็เริ่มมีพื้นที่ให้แสดงออกมากขึ้น
แล้วจากนั้นก็ค่อยขยับไปสู่งานศิลปะ ซึ่งในบ้านเราถึงจะมีคนทำศิลปะเยอะอยู่แล้วก็ตาม แต่ถ้ามองกลับกัน คนที่ใช้งานวิดิโอหรือภาพเคลื่อนไหวเป็นสื่อในการทำงานศิลปะยังมีค่อนข้างน้อย เราก็เลยเห็นว่ามันเป็นไปได้ ที่สิ่งที่เราชอบกับช่องว่างในตลาดวัฒนธรรม จะมีพื้นที่ให้เราเข้าไปเล่นอะไรได้
ใน MUSEUM OF KIRATI เองเราก็ทำทั้งสองอย่าง มีทั้งหนังสั้นที่มีตัวละคร โลเคชั่น พล็อตเรื่อง แต่ขณะเดียวกันเราก็ทำงานที่เป็นวิดิโออาร์ตที่มันเล่นเรื่องความคิด เรื่องวัสดุไปด้วย
ก็จะมีทั้งส่วนที่เป็นหนังความยาว 50 นาที ที่ทำออกมาตรงกันต้นฉบับในนิยาย อีกส่วนหนึ่งจะเป็น video installation ที่ไม่มีเนื้อเรื่อง เราเพอร์ฟอร์มเป็นกีรติที่อยู่ในภาพถ่าย แต่บันทึกมันออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นก็เลยต้องแสดงด้วยการนั่งอยู่นิ่งๆ ประมาณ 15 นาที แล้วงานก็จะเป็นวิดิโอที่โปรเจกต์ลงไปบนผนัง ให้ความรู้สึกเหมือนภาพถ่าย แต่เป็นภาพถ่ายที่มีชีวิต เป็น moving image
แล้วเราก็พยายามขยายลิมิตในการสร้างผลงาน มันก็จะมีงานเพนท์ติ้งสีน้ำ ทำงานปั้นจากบรอนซ์ แล้วก็เพอร์ฟอร์มด้วย เราไม่ได้อยากจำกัดตัวเองอยู่กับภาพเคลื่อนไหวอย่างเดียว อยากให้ความเป็นไปได้หลากหลายมากขึ้น
Life MATTERs : อะไรที่ทำให้คุณอินไปกับความรักของคนเมื่อหลายสิบปีก่อน
จุฬญาณนนท์ : เราประทับใจข้างหลังภาพจากที่ได้ดูหนังเวอร์ชั่นของ เชิด ทรงศรี เราชอบการแสดงที่ไม่ได้เล่นเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นความตั้งใจในการกำกับนักแสดงของเขา และด้วยวิธีกำกับรวมถึงการแสดงที่ออกมา ทำให้หนังมันย้อนยุคไปในช่วงเวลาที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง ก็คือช่วงปี 2470-2480 เราก็เก็บความประทับใจอันนั้นไว้ แต่ยังไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์อะไร
หลังจากนั้นเราก็ได้ไปอ่านบทความที่มีคนวิเคราะห์นิยายเรื่องข้างหลังภาพเอาไว้ว่า จริงๆ แล้วในฉากหน้าความรักของทั้งสองคนมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านั้น มันคือความรักที่ไม่สมหวังของคนชนชั้นแตกต่าง นพพรเหมือนเป็นชนชั้นกลางใหม่ ที่จะมาแทนที่ชนชั้นนำเดิม แล้วถ้ามันเกิดขึ้นในบริบทของยุคปัจจุบัน เราว่าความรักนั้นมันเป็นไปได้ที่จะสมหวัง เลยคิดว่าน่าสนใจที่จะหยิบเรื่องราวในอดีตมาพูดในปัจจุบัน
และในทางหนึ่งนี่คือการอุทิศให้กีรติที่ตายไปแล้ว การบอกเล่าผ่านภาพเคลื่อนไหว เหมือนเป็นการปลุกให้เธอกลับมามีชีวิตอีกครั้งในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
Life MATTERs : คุณเริ่มหยิบเอาเรื่องข้างหลังภาพมารีเมคใหม่ตั้งแต่ตอนไหน
จุฬญาณนนท์ : คือตัวนิยายจะแบ่งเป็น 2 พาร์ต พาร์ตแรกเกิดที่ญี่ปุ่น พาร์ตสองเกิดที่เมืองไทย ตอนที่เราไปเป็นศิลปินในพำนัก (artist-in-residence) ที่ญี่ปุ่น เลยทำหนังฉบับรีเมคที่นั่น เล่นเองเป็นทั้งสองตัวละคร พอกลับมาเมืองไทยเลยทำพาร์ตสอง แล้วมาแสดงเป็นนิทรรศการเดี่ยวที่ศิลปากรเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา (ชื่อนิทรรศการ Behind the Painting)
ส่วน MUSEUM OF KIRATI นี้เหมือนเป็นส่วนขยายจากนิยายต้นฉบับ เป็นบันทึกเรื่องราวของกีรติในแง่มุมต่างๆ ผ่านความทรงจำของนพพร ที่สร้างพิพิธภัณฑ์อุทิศให้กับกีรติ เป็นความทรงจำที่ถูกคัดเลือกมาแล้ว เหมือนเป็นอนุสรณ์ของความรักที่เขามีให้กับเธอ
Life MATTERs : ดูเหมือนจะมีความจริงและเรื่องแต่งปะปนกันอยู่ในนี้เต็มไปหมด
จุฬญาณนนท์ : ในแง่ของความเป็นพิพิธภัณฑ์เอง มันก็มีความเลือกที่จะจำบางอย่าง เลือกที่จะทิ้งบางอย่างไป เพื่อจะนำเสนอให้คนดูได้เข้าใจเนื้อหาบางส่วน เราเลยมองว่ามันเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ ระหว่างตัวนิยายกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม
เหมือนการแปลงแกลเลอรี่ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ตาม สองอย่างมันมีฐานะต่างกันอยู่ แกลเลอรี่จะเหมือนเป็นห้องแสดงผลงานที่ชั่วคราว แต่พิพิธภัณฑ์มันหมายความว่าต้องมีการเก็บสะสมและจัดแสดงถาวรในส่วนของ permanent collection
ที่ผ่านมาคนมาที่ซิตี้ซิตี้ก็เพราะอยากมาดูงานในแกลเลอรี แต่เราอยากออกแบบความรู้สึกใหม่ให้กับผู้ชม ให้เหมือนเขามาพิพิธภัณฑ์จริงๆ เราเลยต้องมีเอเลเมนต์บางอย่างของการออกแบบพื้นที่ ให้คนดูรู้สึกว่านี่มันคือพิพิธภัณฑ์จริงๆ นะ เวลาคนเข้ามาดูจะเหมือนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นฟิกชั่น แต่ในความเป็นจริงเขากำลังเดินในแกลเลอรีอยู่
Life MATTERs : ทำไมคุณถึงเลือกเล่นเองทั้งบทนพพรและกีรติ
จุฬญาณนนท์ : พอเราอ่านต้นฉบับรวมถึงบทวิเคราะห์ เรารู้สึกว่านิยายเรื่องนี้ยังร่วมสมัยอยู่ ถึงมันจะผ่านไปเจ็ดสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่เราก็พยายามตีความข้างหลังภาพใหม่ในบริบทปัจจุบัน โดยในเรื่องมันคือการครอสกันของสองตัวละคร คนหนึ่งเคยมีชีวิตที่รุ่งโรจน์และกำลังจะตายลง ส่วนอีกคนเป็นคลื่นลูกใหม่ที่กำลังจะขึ้นมา
แต่ในปัจจุบันทั้งชนชั้นกลางและชนชั้นนำมีการรวมตัวกัน เอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในจุดนั้นเราคิดว่าถ้าเราเล่นเป็นทั้ง 2 ตัวละครได้ มันจะนำเสนอไอเดียของการที่สองชนชั้นมามีส่วนแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน และความรักระหว่างสองชนชั้นก็เป็นไปได้
Life MATTERs : คิดว่าคนดูทุกคนจำเป็นต้องได้รับสารก้อนนี้ไปไหม—เหตุผลที่คุณต้องเล่นเป็นสองตัวละคร
จุฬญาณนนท์ : ในข้อความบนผนังที่เล่ารายละเอียดงานเราจะไม่มีบอกเรื่องนี้ ก็คงต้องใช้เวลากับงานพอสมควรแล้วถึงจะเข้าใจหรือตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเลือก เพราะคำอธิบายในงานจะบอกถึงแค่เรื่องของพิพิธภัณฑ์และกีรติเท่านั้น
Life MATTERs : เมื่อคุณเองต้องแต่งเป็นผู้หญิง ผลที่เกิดขึ้นในตัวงานคืออะไร
จุฬญาณนนท์ : เราว่ามันก็จะตลกแหละ แต่มันคงไม่ใช่อารมณ์ขันแบบตลกโปกฮา มันอาจจะตลกหน้าตายหรือเสียดสีมากกว่า เราว่าอารมณ์ขันมันเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้วโดยไม่ต้องตั้งใจให้มันตลก
แต่ก็จะมีคนตั้งคำถามว่าจริงๆ งานนี้เกี่ยวกับเพศที่สามหรือเปล่า มันเป็นเรื่องของเพศสภาพมั้ย ซึ่งเราไม่ได้มีความตั้งใจให้เป็นเรื่องเพศขนาดนั้น แต่มันก็ตีความอย่างนั้นก็ได้ ก็จะมีคนบอกว่า ในตัวต้นฉบับตัวละครหญิงชายไม่สามารถครองรักกันได้ แต่พอเวอร์ชั่นของเรา ให้ผู้ชายกับผู้ชายมาครองรักกัน มันเลยเป็นไปได้ว่าการที่ผู้ชายผู้ชายมารักกันมันกลายเป็นจุดจบของเผ่าพันธ์มนุษย์ ก็มีคนตีความไปแบบนั้น
หรือคนที่ตีความทางการเมืองก็จะมองว่า กีรติเป็นเหมือนผู้ที่หลุดรอด หลงเหลือมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองยุค 2475 ก็มีคนที่บอกว่างานของเรายั่วล้อกับประวัติศาสตร์การเมือง แล้วก็เอาชนชั้นนำมาทำให้ดูตลก ซึ่งจริงๆ มันยากที่จะระบุว่าอะไรเป็นอะไร มันอยู่ที่คนดูจะตีความกัน ไม่อยากตัดสินว่ามันต้องเป็นยังไง
Life MATTERs : นอกจาก MUSEUM OF KIRATI แล้ว ตอนนี้คุณเองทำหนังอยู่ด้วย?
จุฬญาณนนท์ : ใช่ เป็นโปรเจกต์ชื่อ 10 Years Thailand เหมืองมองอนาคตประเทศไทยในอีก 10 ปีว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เป็นหนังสั้นที่รวบรวมคนทำหนัง 5 คน (เจ้ย—อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, จุ๊ก—อาทิตย์ อัสสรัตน์, มะเดี่ยว—ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง และจุฬญาณนนท์)
เราเองสนใจเรื่องการสื่อสาร เรามองว่าอีกสิบปีข้างหน้าเด็กประถมในตอนนี้จะโตไปเป็นเด็กมัธยม แล้วในอนาคตตอนนั้นมันจะมีความสร้างความเชื่ออะไรบางอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ พวกเขาเองก็พร้อมที่จะปฏิบัติการตามคำสั่ง มันเป็นหนังไซไฟที่จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาและดาราศาสตร์
Life MATTERs : ถ้าให้คุณเล่าเรื่องจากบริบท ณ ปัจจุบันนี้ล่ะ คุณอยากเล่าเรื่องแบบไหน
จุฬญาณนนท์ : เราสนใจสิ่งที่อยู่ระหว่างความงามกับความรุนแรง เราว่าสังคมมันมีคอนฟลิกต์บางอย่างอยู่ภายใต้ภาพที่มันดูสวยงาม สงบเรียบร้อย ซึ่งจริงๆ มันอาจจะรอเวลาที่ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น เราสนใจสภาวะที่ไม่มั่นคงตรงนี้ เหมือนภูเขาไฟที่ข้างใต้ยังมีลาวาปะทุ ก็อยากนำเสนอมันในน้ำเสียงที่เราชอบ คงจะตลกๆ ขำๆ หน่อย (หัวเราะ)
Life MATTERs : ช่วงเวลาที่ดูสงบเรียบร้อยแต่รอการปะทุแบบนี้ เป็นอย่างไรสำหรับคนทำงานศิลปะ
จุฬญาณนนท์ : มันก็มีงานหลายชิ้นในช่วงสองสามปีมานี้ ที่ถูกให้เอาออกหรือโดนแบนไป ซึ่งเราคิดว่ามันก็คือสงครามย่อมๆ ประมาณหนึ่ง ระหว่างคนทำงานวัฒนธรรมกับคนที่พยายามจะควบคุมมัน เราเองเราก็กลัวเหมือนกัน ว่าเราจะโดนมั้ย แต่เราก็พยายามหาทางออก ว่าจะทำยังไงให้พูดถึงปัญหาที่มันเกิดขึ้นได้ ด้วยวิธีการที่ปลอดภัย โดยไม่จำเป็นจะต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมา แต่ให้คนดูตั้งคำถามกับงานเราเอง
แต่ในสังคมที่มีคนที่จ้องจับผิด ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีเสรีภาพ ไม่ได้รู้สึกว่า เราพูดได้ทุกอย่างในสิ่งที่เราคิด ก็คงต้องมีการเซ็นเซอร์ตัวเองประมาณนึง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีชั้นเชิงในการนำเสนอด้วย งานเราเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากมีปัญหาอะไร เราก็อยากให้ทุกคนได้ดู
Life MATTERs : การเซ็นเซอร์ตัวเองนี่ยากไหม เกณฑ์ของมันคืออะไร
จุฬญาณนนท์ : คือมันไม่มีมาตรฐาน อย่างหนังบางเรื่องที่ผ่านเซ็นเซอร์มาแล้วแต่ถูกไม่ให้ฉายก็มี คำถามคือมาตรฐานมันอยู่ตรงไหน? มันก็พูดยากว่าทำยังไงถึงจะรอด เราก็เลยทำให้มันเซฟที่สุด ฉากหน้ามันอาจจะเป็นอย่างหนึ่ง แต่ข้างใน ถ้าไปศึกษาเพิ่มเติมหรือหามุมที่นำไปคิดต่อได้ ก็คงมีอะไรอยู่ในนั้น