ดูท่าปี 2018 จะเป็นปีของสีม่วงจริงๆ เพราะนอกจากเฉดสี 18-3838 Ultra Violet จะได้รับเลือกให้เป็น Pantone Color of the Year แล้ว แวดวงการออกแบบแขนงต่างๆ อย่างแฟชั่นดีไซน์ กราฟิกดีไซน์ หรืออินทีเรียร์ดีไซน์ ยังยกให้สีม่วงลาเวนเดอร์เป็นสีมาแรงที่จะแซงชมพูมิลเลนเนียลพิงค์ของปี 2016-2017 แบบไม่เห็นฝุ่น
ในโอกาสนี้ เราจึงอยากหยิบยกแฟกต์สนุกๆ เกี่ยวกับสีม่วงมาเล่าให้ฟัง ตั้งแต่สีม่วงที่แพงเท่าทองคำ แต่แท้จริงทำจากซากหอยทะเล, อาภรณ์สีม่วงที่มีเพียงราชนิกูลเท่านั้นที่ใส่ได้ และคนที่บังอาจใส่จะโดนตัดหัว ไปจนถึงสีม่วงอันเป็นเอกลักษณของ Prince เจ้าชายแห่งวงการเพลงบันเทิงที่เพิ่งล่วงลับไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
เมื่ออ่านจบ คุณน่าจะมองสีม่วงด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปมากทีเดียว!
1. สีม่วงที่แพงที่สุดในโลก คือสีที่เหม็นที่สุดในโลกเช่นกัน เพราะทำจากซากหอยนับล้านตัว
Tyrian purple คือชื่อของสีม่วงที่ว่า โดยเหตุที่ได้ชื่อนี้เป็นเพราะมันถูกผลิตขึ้นที่เมืองริมทะเลเมดิเตอเรเนียนนามว่า Tyre (ปัจจุบันคือประเทศเลบานอน) ในช่วงอารยธรรมฟินีเชียน ซึ่งสีม่วงนี้อยู่มาก่อนจะมีการตั้งชื่ออารยธรรมเสียอีก เพราะฟินีเชียนมีรากศัพท์จากภาษากรีกโบราณ อันแปลว่า “ดินแดนแห่งสีม่วง” นั่นเอง
ส่วนเหตุที่ Tyrian purple มีราคาแพงสุดๆ (มีช่วงหนึ่งราคาสูงถึงทองคำ) เป็นเพราะว่ามันถูกผลิตขึ้นจากหอยในวงศ์หอยหนาม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า murex โดยต้องใช้หอยจำนวนมากถึง 12,000 ตัวเพื่อสกัดสีปริมาณ 1.5 กรัม!
กรรมวิธีการสกัดสีเองยุ่งยากใช่เล่น เริ่มจากการแงะเปลือกออก แล้วสกัดสีออกจากต่อมผลิตเมือกของเจ้าหอยโดยการต้ม หลังจากนั้นนำสีที่ได้ไปตากแดดในระยะเวลาพอเหมาะ อย่างไรก็ตาม เพราะต้องใช้หอยจำนวนมาก คนงานจึงประหยัดเวลาด้วยการบดหอยทั้งหมดเข้าด้วยกันแทนการมานั่งแงะเปลือกทีละอันๆ โดยสีที่ได้จากต่อมผลิตเงือกของหอยนั้นเป็นสีม่วงสด เมื่อนำไปย้อมผ้าจะได้ผ้าที่สีสดใสและไม่ซีดจาง
ในตอนนั้นมีกฎหมายกำหนดไว้ว่า ภรรยาสามารถขอหย่ากับสามีได้ หากแต่งงานไปแล้วสามีอยากจะไปทำงานเป็นคนงานสกัดสีม่วง เพราะคนงานเหล่านี้จะกลับบ้านไปพร้อมกับกลิ่นเหม็นจากซากหอยเน่านับแสนตัว! ซึ่งทางการเองเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องเกินจะทานทน
2. สีม่วงของคนรวย ชนชั้นสูง และราชนิกูล
สืบเนื่องจากข้อ 1. ด้วยความแพงของ Tyrian purple จึงมีแต่บุคคลผู้ร่ำรวยเงินทองเท่านั้นที่มีสิทธิครอบครองผ้าผ่อนสีม่วง (ซึ่งแน่นอนว่าถูกนำไปผ่านกระบวนการจนไร้กลิ่นแห่งซากสัตว์) โดยค่านิยมเช่นนี้กระจายไปยังดินแดนอื่นๆ เช่น โรม อียิปต์ และเปอร์เซีย ในยุคสมัยของจักรวรรดิไบแซนไทน์ มีธรรมเนียมให้จักรพรรดินีมีประสูติกาลในห้องที่ประดับประดาด้วยผ้าสีม่วง เป็นเหตุให้เกิดศัพท์คำว่า Porphyrogenitus หรือ ‘กำเนิดสู่สีม่วง’ ซึ่งใช้เรียกจักรพรรดิที่ขึ้นครองราชย์โดยการสืบทอดราชบัลลังก์
ในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบ็ธที่ 1 พระองค์ทรงออกกฎห้ามไม่ให้สามัญชนคนทั่วไปสวมใส่อาภรณ์สีม่วง โดยทรงสงวนไว้ให้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ที่ลำดับใกล้ชิดกับพระองค์สวมใส่เท่านั้น ดังนั้นในยุคนี้สีม่วงจึงไม่เพียงสะท้อนถึงความมั่งคั่ง แต่ยังพรีเมี่ยมไปอีกด้วยการ สะท้อนสถานะทางสังคมของราชนิกูลด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น กฎดังกล่าวถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับยุคสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 พระราชบิดาของพระองค์ ผู้สั่งประหาร Henry Howard เอิร์ลแห่งเซอร์เรย์ ด้วยข้อหากบฎ โดยก่อนหน้านี้ก็มีคนเห็นกบฎผู้นี้ท้าทายกษัตริย์ด้วยการสวมชุดสีม่วงแสนยโส
3. สีม่วงที่เกิดจากความล้มเหลวในการผสมยารักษาโรคมาลาเรีย
ในปี 1856 William Henry Perkin เด็กหนุ่มชาวอังกฤษวัย 18 ปีผู้กำลังศึกษาอยู่ที่ Royal College of Chemistry ทดลองผสมยาเองที่บ้าน โดยตั้งใจจะคิดค้นควินีน (ยารักษาโรคมาลาเรียและบาบีซิโอซิส) ที่มีราคาถูกลง เพราะในตอนนั้นควินีนต้องสกัดจากเปลือกต้นซิงโคน่า (cinchona) จากอเมริกาใต้
ทว่าหลังจากลองผสมไฮโดรเจน ออกซิเจน และน้ำมันดินเข้าด้วยกัน เพอร์กินสังเกตเห็นของเหลือจากการทดลองซึ่งมีสีออกดำๆ เขาลองเอาของเหลือที่ว่าไปทำละลาย จึงเกิดเป็น ‘สีย้อมอนิลีน’ (aniline dyestuff) สีย้อมสีม่วงที่สังเคราะห์จากสารเคมีสีแรกของโลก
การค้นพบโดยบังเอิญนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการสกัดสี เพราะนอกจาก Tyrian purple แล้ว มนุษย์เราก็พยายามสรรหาปลาและแมลงต่างๆ มาสกัดเป็นสีม่วง แต่ก็ไม่มีสีม่วงใดที่สีสดและคงอยู่ได้นานเท่าสีม่วงจากซากหอยอยู่ดี แถมราคาก็ยังแพงอยู่เหมือนเดิม เมื่อเพอร์กินสังเคราะห์สีม่วงจากสารเคมีได้ เสื้อผ้าอาภรณ์สีม่วงจึงกลายเป็นของที่เข้าถึงได้สำหรับคนทุกชนชั้น และไม่เป็นสีที่สะท้อนถึงความร่ำรวยและเชื้อสายผู้ดีอีกต่อไป
ในตอนแรกเพอร์กินเรียกสีม่วงนี้ว่า Tyrian purple แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็น muave เพื่อลบกลิ่นอายความโบราณ แต่ไม่ว่าจะชื่ออะไร ผู้คนในยุคนั้นก็บ้าคลั่งสีม่วงของเพอร์กินมาก และแน่นอนว่าเด็กหนุ่มก็กลายเป็นมหาเศรษฐีไปเลย—แม้จะคิดค้นยาควินีนไม่สำเร็จก็ตาม
4. สีม่วงของ Prince ราชนิกูลแห่งป๊อปคัลเจอร์
ต่อให้คุณไม่ได้เป็นแฟนคลับตัวยงของ Prince แต่เราเชื่อว่าเมื่อเอ่ยชื่อเขา คุณต้องเห็นภาพนักร้องมากสเน่ห์ในชุดเสื้อคลุมสีม่วงไวโอเล็ตอันเป็นเอกลักษณ์แน่นอน โดยสีม่วงนี้มีที่มาจากเพลง Purple Rain ซึ่งพูดถึงฝนโลหิตที่โปรยปรายลงมาในวันสิ้นโลก “เมื่อเลือดอยู่บนฟากฟ้า สีแดงและสีน้ำเงินผสมกันออกมาเป็นสีม่วง ฝนสีม่วงเกี่ยวกับวันสิ้นโลก คุณอยู่กับคนที่คุณรัก และปล่อยให้ศรัทธาหรือพระเจ้าของคุณนำทางคุณผ่านพ้นฝนสีม่วงนี้ไป” Prince ผู้ล่วงลับกล่าวเอาไว้
อย่างไรก็ดี แฟนเพลงบางคนเชื่อว่า Purple Rain เป็นการเล่นเสียงกับคำว่า Purple Reign (การครองราชย์สีม่วง) ซึ่งพอดิบพอดีกับชื่อของ Prince และความเกี่ยวข้องระหว่างราชวงศ์ ชนชั้นสูง และสีม่วง ดังนั้นการครองราชย์สีม่วงจึงเป็นการครองราชย์ของ Prince เจ้าชายแห่งป๊อปคัลเจอร์นั่นเอง
อ้อ และต้องไม่ลืมอีกสองเหตุผลแสนเรียบง่าย—Prince ชื่นชอบสีม่วงมากๆ และเขาก็ชอบท้าทายขนบของสังคมอีกด้วย ผู้ชายไม่เหมาะจะใส่สีม่วงงั้นหรือ? งั้นก็ใส่เสื้อสีม่วงขึ้นโชว์เลยสิ!
5. สีม่วงของศิลปินที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นโรค ‘Violettomania’
ในช่วงปี 1800s ถึงต้น 1900s ศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ชื่อดังอย่าง Claude Monet เกิดหลงใหลในสีม่วงเป็นอย่างมาก หลายภาพวาดของเขามีสีม่วงลาเวนเดอร์เป็นองค์ประกอบหลัก เช่น Le Printemps (1886) ซึ่งเป็นภาพหญิงสาวสองคนนั่งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศสดชื่นของฤดูใบ้ไม้ผลิ
นักวิจารณ์ที่ไม่ชอบใจศิลปะอิมเพรสชันนิสม์อยู่แล้วเป็นทุนเดิมวิจารณ์โมเนต์อย่างหนัก โดยหนึ่งในคำวิพากษ์นั้นคือการกล่าวหาว่าเขามีอาการ ‘Violettomania’ อันหนึ่งในอาการของโรคฮิสทีเรีย นอกจากนี้ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่ว่า แท้จริงแล้วอาการ ‘Violettomania’ เป็นสภาวะที่สายตาชดเชยสีตรงข้าม โดยสีม่วงนั้นเป็นสีตรงข้ามของสีเหลือง ซึ่งเป็นสีของแสงอาทิตย์ในวิวทิวทัศน์ที่เหล่าศิลปินอิมเพรสชันนิสม์นิยมวาดกัน
อย่างไรก็ดี ผู้นิยมชมชอบศิลปะอิมเพรสชันนิสม์คิดเห็นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง แถมยังเชื่อกันว่าโมเนต์มีความสามารถพิเศษในการมองเห็น ultraviolet แสงสีสุดท้ายในสเปคตรัมซึ่งมนุษย์คนอื่นๆ มองไม่เห็น แล้วจึงถ่ายทอดแสงสีดังกล่าวผ่านผลงานของตนนั่นเอง
สีม่วงเดินทางผ่านการเวลามากับเรื่องราวมากมาย และในปี 2018 อันน่าจะเป็นปีของสีม่วงอีกครั้ง ก็เป็นที่น่าติดตามทีเดียว ว่าจะเกิดปรากฏการณ์หรือข้อวิจารณ์เกี่ยวกับสีม่วงขึ้นมาอีกอย่างไรบ้าง
อ้างอิง