เพียงคำแรกที่กัดเข้าไปในเนื้อทาร์ตสีม่วง รสชาติเปรี้ยวอมหวานและกลิ่นหอมของบลูเบอรี่ก็แผ่ซ่านในทุกประสาทสัมผัส ภาพหญิงสาวที่กำลังเต้นรำบนถนนพลางสะบัดกระโปรงปรากฏชัดในความทรงจำ
นั่นคือการพบเจอกันครั้งแรกๆ ระหว่างประสาทสัมผัสของเราและทาร์ตจาก befor.tart ร้านขนมคอนเซ็ปต์เก๋ที่หยิบยกเรื่องราว ความรู้สึก และองค์ประกอบต่างๆ ในภาพยนตร์มาสรรค์สร้างเป็นทาร์ตหลากหลายรสชาติ
เช่นเพลง Someone in the Crowd จากภาพยนตร์รางวัลออสการ์ La La Land (2016) ที่ถูกตีความออกมาเป็นทาร์ตบลูเบอรี่ครีมชีสรสเปรี้ยวอมหวาน สื่อถึงช่วงเวลาอันสดใสของมีอาและผองเพื่อนในตอนต้นเรื่อง
ซิก—สุรัตน์ ซิการี่ คือชายหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังขนมสุดพิเศษนี้ จากบัณฑิตคณะคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ความด้วยรักที่มีให้ขนมนานาชนิด บวกกับความคิดที่ว่า “อยากทำอะไรเอง อยากให้มันเป็นของเรานานๆ” เขาจึงเลือกเดินเข้าสู่ห้องครัวที่อบอวลไปด้วยกลิ่นขนมอบ โดยเริ่มฝึกปรือฝีมือที่ห้องครัวของสถาบัน OHAP แห่งโรงแรมโอเรียนเต็ล ก่อนจะก้าวเข้าสู่ demi-chef ประจำร้านอาหารไฟน์ไดน์นิ่งตัวท็อปของไทยอย่าง L’Atelier de Joël Robuchon และร้านอาหารอันดับหนึ่งในเอเชียอย่าง Gaggan
แต่ทำได้ระยะหนึ่ง เสียงในใจที่ว่า “อยากทำอะไรเอง” ก็ยังคงก้องดัง เป็นเหตุให้ซิกตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อมาปลุกปั้นร้านขนมของตัวเองในชื่อ befor.tart ซึ่งผนวกความรักอีกอย่างในชีวิตของเขาเข้ามา นั่นคือความรักในภาพยนตร์
“ผมชอบดูหนังมากๆ มาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กพ่อแม่ไม่รู้จะพาไปไหน เขาก็พาไปห้าง ไปดูหนัง” เชฟหนุ่มย้อนความ “ผมรู้สึกว่าในเมื่อชอบมากทั้งสองอย่าง ก็เอามันมาอยู่ด้วยกันเลยดีกว่า จะได้มีความสุขตลอดการทำงาน”
ช่วงสองสามเดือนแรกของ befor.tart ซิกจึงใช้เวลาไปกับการดู ศึกษา และตีความภาพยนตร์ในมุมมองของตัวเอง โดยภาพยนตร์เซ็ตแรกที่เขาหยิบยกมาใช้คือ The Before Trilogy ของผู้กำกับ Richard Linklater อันประกอบด้วย Before Sunrise (1995), Before Sunset (2004) และ Before Midnight (2013) ซึ่งติดตามความรักของคนคู่หนึ่งจากวัยหนุ่มสาว สู่วัยทำงาน จนถึงวัยกลางคน
เพราะอะไรถึงต้องเป็นภาพยนตร์ไตรภาคนี้—เราตั้งคำถาม
“พี่สาวผมชอบดูหนังเหมือนกัน เขาเอาเรื่องนี้มาดูที่บ้าน ผมก็นั่งดูกับพี่ แต่ตอนเด็กๆ มันดูไม่เรื่องเลย เพราะมันเดินคุยกันไปเรื่อยๆ ก็ไม่เข้าใจ ไม่อิน แต่ว่ารู้สึกกับมันมาตั้งแต่ตอนนั้น” ซิกให้คำตอบ
“พอโตขึ้น เอากลับมาดูเรื่อยๆ กลายเป็นว่ายิ่งโต ยิ่งดู ก็ยิ่งชอบ เหมือนยิ่งเข้าใจมันมากขึ้น และพอมันมีภาคต่อออกมาเรื่อยๆ ก็ทำให้รู้สึกว่าโตมาด้วยกัน พอจะทำทาร์ตคอลเล็คชั่นแรก ก็เลยเลือกเรื่องนี้ที่วนเวียนอยู่กับเรามาโดยตลอด ดูมันมาหลายรอบแล้ว งั้นก็ดูมันอีกหลายๆ รอบแล้วกัน (หัวเราะ)”
จึงเป็นที่มาของคอลเล็คชั่นที่เปิดตัว befor.tart สู่สายตาและปุ่มรับรสของสาธารณชน โดยใน 1 เซ็ตประกอบด้วยทาร์ต 4 รสชาติ ซึ่งต้องกินเรียงกันตามลำดับจาก 1 ไป 4 เพราะรสชาติและเท็กซ์เจอร์นั้นถูกออกแบบให้ทวีความเข้มข้นขึ้นตามเรื่องราวของหนังแต่ละภาค
“ภาคแรก Before Sunrise นางเอกและพระเอกเพิ่งเจอกัน เลยอยากให้ทาร์ตตัวหนึ่งเป็นผู้หญิง ตัวหนึ่งเป็นผู้ชาย” นักอบขนมอธิบายวิธีคิด
“ในภาคแรกพวกเขายังเป็นวัยรุ่นอยู่ ความรักสดใส ผมจึงทำเป็นผลไม้รสเปรี้ยวทั้งสองชิ้น ชิ้นแรกคือ Celine เป็นรสเบอร์รี่ ซึ่งข้างล่างใส่ไวน์ ให้รู้สึกถึงฉากที่พวกเขาไปขโมยไวน์มาดื่มกัน ส่วนชิ้นที่สองคือ Jesse เพราะเขามาจากอเมริกา ผมเลยทำเป็นทาร์ตเลมอนเมอแรงก์ ซึ่งมีความเป็นอเมริกันมาก
“ชิ้นที่สามมาจากภาคที่สอง Before Sunset พวกเขาเคยเจอกัน แยกกัน แล้วก็กลับมาเจอกันอีก ความรักโตขึ้นมาอีกขั้น เลยให้เป็นรสชาติเปรี้ยว หวาน ขม ของเสาวรสและช็อกโกแลต ซึ่งสีก็จะเหมือนพระอาทิตย์ตก ส่วนภาคสุดท้ายคือแต่งงานมีลูกกันแล้ว เข้าสู่วัยกลางคน เริ่มมี midlife crisis เลยให้เป็นช็อกโกแลต และใช้สีจากอัญชันแต่งให้เหมือนเป็นท้องฟ้าตอนกลางคืน ด้านล่างก็มีแมคคาเดเมียรองไว้ เป็นตัวแทนถึงอุปสรรคที่พวกเขาต้องผ่านกว่าจะมาเจอความรักที่หวานๆ ขมๆ แบบนี้”
เพื่อหลีกเลี่ยงความจำเจ ซิกจึงวางแผนว่าจะเปลี่ยนภาพยนตร์ทุกๆ สามเดือน และเรื่องที่สองที่เขาเลือกมาก็คือ La La Land โดยคัดบทเพลง 4 เพลงที่ “ตัวละครแสดงอารมณ์ออกมาเยอะสุด” ตามคำของชายหนุ่ม
“ชิ้นแรกคือ Someone in the Crowd สีที่ผมจำได้สุดคือสีม่วง รู้สึกว่ามันต้องเป็นสีนี้ และในแง่ความรู้สึก มันเป็นฉากที่สนุก ก็เลยให้เป็นรสชาติผลไม้และครีมชีสที่สดใสตามเพลง”
“ชิ้นที่สอง A Lovely Night เป็นฉากที่พระเอกกับนางเอกเต้นรำกัน ผมใช้สีจากเสื้อของพวกเขา สีเหลืองของมะม่วง และสีขาวกับมพร้าว โดยเทมะม่วงให้เป็นสโลปทิ้งไว้ แล้วเอามะพร้าวมาปิด อยากให้คนกินรู้สึกว่ารสชาติมันสลับไปสลับมาเหมือนตอนที่เขาเต้นรำ เขาก็จะหมุนสีขาวสีเหลืองไปเรื่อยๆ เวลากินคำแรกๆ อาจรู้สึกว่ามันแปร่งๆ เป็นความรู้สึกตอนที่ทั้งคู่ยังไม่ค่อยคลิกเท่าไหร่ แต่พอกินไปจนจบแล้วรสชาติมันจะเข้ากัน เหมือนตอนจบที่เฉลยว่าจริงๆ แล้วพระเอกเดินมาส่งตั้งไกล ความจริงมันชอบอะ”
“ชิ้นที่สามคือ Audition หรือ A Fool Who Dreams นางเอกร้องเพลงเล่าเรื่องป้าที่ไปอยู่ปารีส มีตอนที่เขากระโดดลงไปในแม่น้ำ ผมเลยให้ทาร์ตฝั่งหนึ่งเป็นฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นแม่น้ำ และมีเฮเซลนัทเล็กๆ เป็นตัวแทนของเขาที่กำลังจะหล่นลงไปในน้ำ แล้วในเพลงจะพูดถึง the mess we make ผมเลยวางให้ตัวฝั่งมันเละๆ เทะๆ เหมือนเป็น mess ที่สร้างขึ้นมา แล้วก็เลือกใช้มูสเนื้อเบา เพราะเมื่อป้าโดดลงน้ำไปแล้ว แม้จะรู้สึกไม่ดี แต่ก็อยากจะ do it again อยากให้คนกินรู้สึกว่าทาร์ตมันไม่หนัก สามารถกินต่อไปได้เรื่อยๆ”
“ชิ้นสุดท้ายเป็นเพลง City of Stars คือผมดูเสร็จแล้วรู้สึกว่ามันขมมากเลยอะ มันดูเหมือนมีความสุข ยิ้มให้กัน แต่ถ้าผมเป็นพระเอกคือผมพังสุดๆ เลย ก็เลยให้มันหวานนิดนึงพอ แล้วต้องขมปี๊ดเลย ข้างล่างก็เลยใช้เป็น coco nibs ซึ่งถูกทุบให้แตก แทนความรู้สึกของพระเอกที่มันแตกสลาย แล้วก็แต่งให้มันดูเหมือนท้องฟ้า หมู่ดาว ถ้าคนมากินชิ้นสุดท้ายก่อนอาจรู้สึกไม่โอเค เพราะมันขมๆ หวานๆ แต่ถ้ากินเรียงมาแล้ว ชิ้นที่สามจะหวานขึ้นมานิดนึง เพื่อปรับปากให้พร้อมรับรสขมในชิ้นสุดท้าย”
นอกจากนี้ยังมีทาร์ตเซ็ตพิเศษที่สามารถสั่งได้ตลอดทุกเดือน นั่นก็คือเซ็ต Film Genres ซึ่งประกอบด้วย Drama, Action, Romantic Comedy และ Sci-Fi
“หนังดราม่ามันมีหลายๆ อย่างอยู่ด้วยกัน ผมเลยใส่ peanut caramel รองข้างล่าง ทำให้ทาร์ตข้างล่างมันกรอบ แต่เมื่อใส่ milke moose เข้าไป ทาร์ตส่วนบนมันก็จะนิ่มเพราะมันชื้นกว่า เวลากินก็จะได้เท็กซ์เจอร์ครึ่งบนที่นิ่มและครึ่งล่างกรอบ เหมือนชีวิตเรา มันก็จะสมูทบ้าง มันขรุขระบ้าง มันแข็งบ้าง มันนิ่มบ้าง แล้วรสชาติก็จะเป็นมันๆ เหมือนเป็นดราม่า”
“ชิ่นต่อไปคือหนังแอ็คชั่น ส่วนมากหนังแอ็คชั่นจะใช้สีเหลือง สีส้ม ผมเลยเลือกเป็นเครมบูเล่ ซึ่งเวลาเสิร์ฟให้ลูกค้า จะต้องทอร์ชไฟ มันก็จะมีกลิ่นควันเหมือนหนังแอ็คชั่น”
“สังเกตว่าหนังโรแมนติกคอเมดี้จะใช้สีขาวกับสีแดงซะส่วนมาก อย่างเช่น Love Actually, Runaway Bride หรือ My Best Friend’s Wedding แล้วส่วนมากผู้หญิงจะชอบดูหนังประเภทนี้ ผมก็เลยเลือกรสชาติที่เป็นผู้หญิงหน่อยอย่าง strawberry creamcheese”
“ชิ้นสุดท้ายคือไซไฟ เป็นช็อกโกแลตรสชาติเข้ม เหมือนเป็นรสชาติผู้ชาย แล้วใช้สีน้ำเงินสาด แต่งให้มันดูเป็นอวกาศที่เวิ้งว้าง”
นอกจากกระบวนการคิดและตีความอันแสนละเอียดลออแล้ว ซิกยังใส่ใจทุกรายละเอียด อย่างเช่นรูปร่างทาร์ตที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า “มันเหมือนจอหนัง สเกล 16 ต่อ 9” ชายหนุ่มว่า “และพอดีคอลเล็กชั่นแรกมันเป็นท้องฟ้า Sunrise, Sunset และ Midnight สี่เหลี่ยมผืนผ้าเลยเป็นเหมือนภาพพาโนรามาของท้องฟ้าตามแต่ละช่วงของวัน”
ในวันที่เพิ่งออกเดินทางมาได้เพียงไม่กี่ก้าวแรก คุณเห็นภาพอะไรที่จุดหมายปลายทาง—เราตั้งคำถาม
อยากมีร้านเล็กๆ แล้วจัดอีเวนต์ เดือนนี้มีหนังเรื่องนี้นะ เรามานั่งกินขนมดูหนังกัน
“วันหนึ่งผมอยากมีหน้าร้านแล้วก็ฉายหนัง” เขาตอบด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย “เพราะอย่างตอน La La Land เอาไปให้เพื่อนลองชิม แล้วก็เปิดฉากนั้นไปด้วย นั่งคุยกันไปด้วย มันสนุกมาก ผมก็เลยอยากมีร้านเล็กๆ แล้วจัดอีเวนต์ เดือนนี้มีหนังเรื่องนี้นะ เรามานั่งกินขนมดูหนังกัน แต่มันยังอีกห่างไกล (หัวเราะ) ก็อยากทำแบบนั้นในวันนึง”
ระหว่างนี้ที่กำลังปูทางไปถึงฝัน ซิกใช้เสียงตอบรับจากคนกินต่างแรงผลักดันและเครื่องชุบชูใจ “มีคนต่างชาติมาซื้อชิม เขาก็บอกว่า เฮ้ย คุณต้องทำมันต่อไปนะ อย่าหยุดทำ เพราะมีคนอย่างคุณอยู่ โลกถึงได้เป็นแบบนี้” เขายิ้มก่อนทิิ้งท้าย
“คำชมแบบนี้เราได้มาจากเพื่อนบ้าง ที่บ้านบ้าง แต่พอมาจากคนอื่นที่เราไม่รู้จัก มันรดน้ำให้เรามากจริงๆ”
ติดตามความเคลื่อนไหวหรือสั่งซื้อขนมได้ที่ befor.tart