แม้ความหวานหยดย้อยของ Eddie Redmayne ในบทบาท Lili Elbe จากหนังเรื่อง The Danish Girl (2015) จะกุมใจผู้ชมได้อยู่หมัด แต่สำหรับเราแล้ว คาแรคเตอร์ Gerda Wegener ศิลปินผู้เป็นภรรยา ที่อยู่เคียงข้างและร่วมยืนหยัดเพื่อเพศสภาพของสามีอย่างแข็งแกร่ง กลับจับใจเรายิ่งกว่า
ไม่ใช่แค่เพราะบทบาทที่ Alicia Vikander ถ่ายทอดออกมาอย่างขยี้หัวใจ แต่ด้วยเรื่องราวของเกอร์ดาและภาพวาดแฟชั่นเนเบิ้ลของเธอต่างหาก ที่ทำให้เราหลงรักยิ่งกว่าสิ่งที่หนังเล่าออกมา
อย่างที่คุณทราบ The Danish Girl ถูกสร้างขึ้นจากนวนิยายว่าด้วยเรื่องจริงแสนเศร้า เกอร์ดากับลิลิมีชีวิตอยู่จริงๆ ตั้งแต่ปลายยุควิคตอเรียนจนถึง 1930s และเรื่องจริงนี้ ได้ทิ้งคำถามหนึ่งไว้ในใจเราตั้งแต่นั้น ว่าการที่หญิงสาวคนหนึ่งซึ่งเลือกที่จะสนับสนุนสามีของเธออย่างเต็มที่ให้เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ จนกลายเป็นหญิงข้ามเพศคนแรกของโลกพร้อมกับเป็น muse ตลอดกาลให้งานวาดของเธอ
—เกอร์ดาต้องมีใจรักให้สามีล้นเหลือแค่ไหนกัน? เพศสภาพไม่สำคัญอีกต่อไปแล้วในความรักที่เธอมีให้เขา? หรือแท้จริงแล้วร่างกายผู้หญิงเองก็เป็นสิ่งที่เธอปรารถนาอยู่ลึกๆ
ภาพวาดในตลอดชีวิตของเกอร์ดาอาจเผยบางคำตอบกับเราได้
เกอร์ดาวาดภาพผู้ชายน้อยมาก ตั้งแต่สมัยเพิ่งเริ่มจับพู่กันวาดภาพ
ก่อนแต่งงาน เธอคือ Gerda Marie Fredrikke Gottlieb เด็กสาวผู้มีแววศิลปินตั้งแต่เด็ก เธอจากบ้านเกิดในเมือง Hammelev ประเทศเดนมาร์ก เพื่อมาเรียนศิลปะที่ Royal Danish Academy of Fine Art ในโคเปนเฮเกน ที่นั่น เธอได้พบกับ Einar Wegener นักวาดภาพแลนด์สเคปและแต่งงานกันหลังจากหนึ่งปีที่พบกัน (ขณะนั้นเกอร์ดาอายุ 18 ส่วนไอนาร์อายุ 22) โดยหลังแต่งงาน เธอก็ยังคงเรียนไปด้วย
ทันทีที่เรียนจบ ภาพวาดหญิงสาวของเกอร์ดาได้จุดประเด็นถกเถียงใหญ่โตในวงการศิลปะเดนมาร์ก ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Peasant Painters Fued’ เมื่อภาพ Portrait of Ellen von Kohl ของเธอ ถูกปฏิเสธจากทั้งแกลเลอรี่ของ Royal Danish Academy of Art และแกลเลอรีของสมาคมศิลปินเดนิช เนื่องด้วยสไตล์งานของเธอไม่ใช่งานตามขนบนิยม
เพราะในเวลานั้น ถือเป็นยุคสมัยของกลุ่มศิลปิน Funen Painters ที่อินกับภาพวาดแนวแนเชอรัลลิสซึมและเรียลลิสซึม ซึ่งว่าด้วยชีวิตประจำวันแสนสงบงามของผู้คนในชนบท ในขณะที่อีกฝ่ายกลับนิยมภาพแนวซิมโบลลิสซึ่มที่ต้องการการตีความและหาความหมายในภาพวาด ไม่ใช่แค่วาดสิ่งที่เห็นตามชนบทออกมาอย่างตรงไปตรงมา ศิลปินกลุ่มหลังจึงเรียกศิลปินกลุ่ม Funen อย่างดูแคลนหน่อยๆ ว่าพวกนักวาดบ้านนา หรือ Peasant Painters
และจุดเริ่มต้นการถกเถียงว่าวงการศิลปะเดนิชควรเทไปทางไหน ก็เริ่มจากการที่ภาพของเกอร์ดาถูกปฏิเสธนั่นเอง
เกอร์ดาไม่ได้เข้าไปแจมข้อพิพาทนั้นแต่อย่างใด เธอพยายามจัดนิทรรศการของตัวเองขึ้นมาในปีต่อๆ มา พร้อมกับวางแผนย้ายไปปารีสด้วยกันกับไอนาร์ ในปี 1912 อาจเพราะเกอร์ดาเองอินกับเรื่องอื่นใดเสียมากกว่าการมานั่งถกเถียงเรื่องศิลปะแนวไหนดีกว่าแนวไหน
เมื่อย้ายไปฝรั่งเศสทั้งคู่กระโจนลงสู่ชีวิตแบบโบฮีเมียน สนุกกับแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ แฮงก์เอาต์กับกลุ่มศิลปินปารีเซียนและวงการศิลปะ ในช่วงเวลานั้นเอง หลายคนเชื่อว่าไอนาร์ที่เปลี่ยนมาเรียกตัวเองว่าลิลิแล้ว ยอมวาดภาพของตัวเองน้อยลงเพื่อมาสนับสนุนงานวาดของเกอร์ดาผู้เป็นภรรยาอย่างเต็มที่ ทั้งเป็นพาร์ตเนอร์ ผู้สนับสนุน และเป็นแบบให้ด้วย—แน่นอน เขาแต่งหญิง
ดูเหมือนเกอร์ดาจะชื่นชอบความเป็นหญิงเอามากๆ ความงามของผู้หญิงปรากฏอยู่ในภาพของเธอมาแต่ไหนแต่ไร โดยนอกจากวาดภาพบนเฟรมผ้าใบแล้ว เธอยังเป็นนักวาดภาพประกอบตัวท็อปของนิตยสารแฟชั่นหัวใหญ่ในยุคนั้น อย่าง Vogue หรือ La Vie Parissienne
งานสไตล์อาร์ต เดโค ของเธอมีเอกลักษณ์ด้วยภาพหญิงสาวแต่งตัวชิคๆ ในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ทางแฟชั่น ไลฟ์สไตล์แบบปารีเซียง จนถึงกิจกรรมทางเพศ เธอวาดภาพร่างหญิงสองร่างที่ทำออรัลเซ็กส์ให้กัน โอบกอดกันเปลือยเปล่า หรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ต้องง้อองคชาติ ซึ่งนอกจากสวยเก๋อีโรติกแล้วยังเป็นการผลักขอบเขตของเพศสภาพให้ออกไปไกลกว่าเดิม แม้ความรักในเพศเดียวกันจะไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไหร่นักในยุคสมัยนั้นก็ตาม
และเมื่อรับรู้ว่าลิลิผู้เป็นสามีคือ muse ในภาพของเธอ เราจึงอดจินตนาการไม่ได้ว่าคู่สู่สมในแต่ละภาพคือเธอเองกับลิลิหรือไม่?
ในฐานะศิลปิน เกอร์ดามีสามีเป็น muse หนึ่งเดียว พวกเขาทั้งคู่สร้างพื้นที่แสนเสรีให้ลิลิดำรงอยู่ในสถานะ ‘ผู้หญิง’ แสนโฉบเฉี่ยว ซึ่งหากตีความตามที่หนังเล่า เป็นเกอร์ดาเองที่ชักนำให้ไอนาร์ให้ค้นพบความอิ่มใจในการเป็นหญิงและการเป็นลิลิ
แต่เพียงในภาพวาด อาจไม่เพียงพอ ด้วยลิลิเชื่อว่าตัวเองคือผู้หญิง เพียงแต่เกิดมาผิดร่างเท่านั้น เธอจึงต้องการเป็นหญิงทั้งโดยร่างกายและกฎหมาย จนตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศและผ่าตัดปรับแต่งส่วนนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนจะเสียชีวิตในปี 1931 ด้วยผลของการผ่าตัดครั้งสุดท้าย
ก่อนนั้นในปี 1930 พระราชาของเดนมาร์ก ตัดสินให้การแต่งงานของทั้งคู่เป็นโมฆะ เพราะลิลิไม่ได้อยู่ในสถานะสามีที่กฎของสังคมบังคับว่าเป็นหน้าที่ของ ‘ผู้ชาย’ เท่านั้น แต่กระนั้นเกอร์ดาก็ยังคงให้อดีตสามีเป็นแบบวาดภาพในช่วงเวลาที่เหลือ เหมือนที่เคยเป็นตลอดมา
“ผู้หญิงก็ควรปลดปล่อยสัญชาติญาณความเป็นหญิงออกมา เล่นกับเสน่ห์แห่งอิสตรี และเอาชนะผู้ชายด้วยความเป็นหญิงของเรา ไม่ใช่พยายามเลียนแบบพวกเขา” เกอร์ดากล่าวอย่างนี้เอาไว้ในปี 1934 แต่หากมองในทางกลับกันเมื่อเพศชายพยายามเลียนแบบ (เธอใช้คำว่า imitate) เพศหญิงอย่างที่ลิลิทำล่ะ? เราไม่แน่ใจว่าเธอคิดเห็นในข้อนั้นอย่างไร อาจจะยินดีต้อนรับก็เป็นได้
เมื่อนึกอย่างนั้น การข้ามมาสู่การเป็นหญิงของสามี อาจไม่ได้นำมาซึ่งความเจ็บปวดแสนสาหัสอย่างในหนัง แต่เธอเองมองเห็นความงามในหญิง-หญิงอยู่แล้ว หรือไม่ เรื่องอาจจะเป็นอีกด้าน—ภาพหญิงรักหญิงเหล่านั้นเป็นเพียงการกลบเกลื่อนความเจ็บช้ำ จำกัดสิ่งเหล่านั้นไว้เพียงในภาพวาด แต่ยังคงเจ็บปวดในชีวิตจริงแทบปางตาย—เราไม่อาจรู้เลยว่าโลกในเฟรมผ้าใบจะเป็นโลกใบเดียวกับชีวิตจริงมากน้อยแค่ไหน
แต่จากภาพวาดทุกชิ้น เราเชื่อว่าเกอร์ดารักลิลิมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะในฐานะคนรัก เพื่อน หรือ muse ก็ตาม และความรักนั้นก็ตั้งอยู่บนเส้นแบ่งทางเพศสภาพของมนุษย์เราอย่างน่าสนใจเป็นที่สุด
อ้างอิง