ถ้าท้องร้องก็เดินลงน้ำ จับปลาที่ติดอวนไม่ก็เด็ดยอดผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมาประกอบอาหารให้คลายความหิว นับเป็นชีวิตที่แทบไม่ต้องพึ่งพิงตลาดภายนอก ของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำของ หรือที่คนภาคกลางเรียกกันว่า ‘แม่น้ำโขง’
เมื่อความอุดมสมบูรณ์ปกคลุมพื้นที่ริมน้ำโขง ความหลากหลายของเมนูอาหารก็ตามมาด้วย ไม่ว่าจะเมนูปลาๆ ทั้งหลายอย่าง ต้มปลา ลาบปลา ก้อยปลา ปลาปิ้ง หมกปลา หรือเมนูผักท้องถิ่นที่เอามาต้ม ผัด แกง ทอดได้สารพัดเมนู ทุกเมนูล้วนมีคุณค่าทางโภชนาการและความอร่อยเต็มเปี่ยม
ไม่ต้องเปิดแอปฯ สั่งอาหาร แค่เดินไปเล่นริมน้ำไม่กี่ก้าวก็ได้วัตถุดิบมาพร้อมสำหรับทำอาหารหลากหลายจานแล้ว
แต่แล้ว การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ก็ทำให้ดินแดนที่เคยมั่งคั่งอาหารแห่งนี้เปลี่ยนไป หลายชีวิตต้องหันไปพึ่งพิงการซื้อขายของสดจากท้องตลาด และดิ้นรนหาเงินเพื่อให้สอดรับกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนไปแทน
ความมั่นคงทางอาหารที่เคยเป็นจุดเด่นของคนริมโขง ถูกพังทลายลง
สารพัดเมนูริมน้ำโขง
ฉึก! เกล็ดปลากระเด็นร่วงหล่นลงมาตามพื้น
ฉึก! ฉึก! ส่วนหัวถูกผ่าแยกชิ้นส่วนออกไป เนื้อปลาถูกแล่ออก
ฉึก! ฉึก! ฉึก! หางปลาถูกสับแยกไว้ เช่นเดียวกับเครื่องใน เนื้อปลาถูกสับเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนจะนำมะนาวกับเกลือมาผสมโรง หมักทิ้งไว้ 5-10 นาทีแล้วค่อยเทน้ำทิ้ง พร้อมขย้ำให้เครื่องปรุงรสเข้าเนื้อปลาจนเนื้อสีแดงอ่อนกลายเป็นสีขาวด้วยกรดของมะนาวที่ทำให้ปลาสุกได้โดยไม่ต้องผ่านความร้อน จากนั้นก็เทน้ำที่ได้จากการบีบเนื้อปลาออก แล้วค่อยปรุงรสเพิ่มด้วยพริกป่น ข้าวคั่ว น้ำปลา หอมแดง หอมชี ใบมะกรูด .. พร้อมเสิร์ฟให้ทุกคนได้รับประทาน
‘ก้อยปลาอีตู๋’ เมนูขึ้นชื่อของริมแม่น้ำโขงที่ชาวบ้านในชุมชนบ้านตามุยมาร่วมใจกันทำ รสชาติเปรี้ยวเคล้าความเผ็ดร้อนโดดเด่นออกมาเป็นชิมคำแรก ยิ่งอร่อยขึ้นกว่าเดิมเมื่อกินผักแกล้มกับข้าวเหนียวตามไปด้วย ไม่แปลกใจว่าทำไมเมนูนี้ ถึงเป็นเมนูเด็ดในพื้นที่ริมโขงได้
แต่ใช่ว่าหัวและหางปลาที่ถูกแยกออกมานั้นจะต้องทิ้งให้เสียของนะ เพราะส่วนที่เหลือเหล่านี้ยังเอาไปต้ม พร้อมใส่ตระไคร้ มะขาม ข่า มะเขือเทศ แล้วรอให้น้ำเดือด ก่อนเอาน้ำที่ได้จากการคั้นเนื้อปลาในเมนูก่อนมาใส่เพิ่ม กลายเป็นต้มหัวปลาสุดแซ่บที่แค่ซดน้ำไปทีแรกก็ลิ้มรสความเผ็ดร้อน
ขณะเดียวกันเครื่องในปลาที่ถูกแยกออกมาก่อนหน้านี้ ก็เอาไปทำ ‘หมกขี้ปลาอีตู๋’ ได้ โดยใส่เกลือกับมะขาม ห่อใบตอง แล้วนำไปปิ้งจนส่งกลิ่นหอมชวนน้ำลายสอ
นี่คือชีวิตที่ไม่พึ่งพิงตลาด แต่ขึ้น-ลงตามลำน้ำที่ไหลเวียนหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน หากหิวก็จับปลามาทำกิน พืชผักริมตลิ่งก็ปลูกเวียนตามฤดูกาล ถึงเวลาก็เก็บเกี่ยวมาประกอบอาหาร
ลำน้ำโขง ถือเป็นแม่น้ำนานาชาติที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่บริเวณที่ราบสูงทิเบต ไล่มาถึงชิงไห่สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนจะไหลเข้าเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และไปบรรจบลงทะเลที่เวียดนาม ด้วยระยะทางกว่า 4,880 กิโลเมตร
แต่ความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขง ไม่ใช่แค่ความยาวที่ไหลผ่านหลายประเทศ หากเป็นระบบนิเวศที่หลากหลายซับซ้อน ชุกชุมด้วยพันธุ์ปลากว่า 1,200-1,700 ชนิด อย่างปลาขบ ปลานาง ปลาคัง ปลาเม่น ปลาอีตู๋ ปลาเสือ ปลาหนู ปลาหม่อง ปลาเลิม และปลาพื้นถิ่นอีกมากมาย ถือเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายของสัตว์น้ำมากเป็นอันดับสองของโลก รวมถึงยังมีสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 800 ชนิด และนกอีกกว่า 1,200 ชนิดพันธุ์
ไม่เพียงเท่านั้น ลุ่มน้ำแห่งนี้ยังมีกุ้งโขง หอยทราย ที่งมหาได้ง่ายๆ และนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนูออย่างกุ้งแม่น้ำโขงเสียบไม้นำไปปิ้งกินกับน้ำจิ้มรสแซ่บ หรือแกงอ่อมหอยทรายที่เนื้อหอยให้รสหวานช่ำ เข้าคู่กับผักพื้นถิ่นส่งกลิ่นหอมชวนน้ำลายสอ
พอพูดถึงผักพื้นถิ่นแล้วก็ต้องบอกเลยว่า ริมโขงมีพืชพรรณท้องถิ่นมากสายพันธุ์ ด้วยพันธุ์พืชกว่า 20,000 ชนิด นับเป็นสมุทรไพรประกอบอาหารได้อีกหลายจาน เช่น ผักขี้ขม หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า ผักดางขม โผล่พ้นริมน้ำให้เด็ดชิมกันตามสะดวก
“ถ้าใครกินได้แปลว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว” ทองสา หรือ ลุงสา ชาวบ้านในบ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี กล่าวพลางยื่นยอดอ่อนของผักดางขมมาให้ชิม
พอได้ลิ้มรสเข้าไปคำแรกก็ถึงได้รู้สึก รสขมปร่าสมชื่อพุ่งพรวดทั่วต่อมรับรสจนปิดสีหน้าไม่ได้ ลุงสาหัวเราะพลางเสริมว่า “มันขมแบบนี้แหละ เด็กๆ เลยกินไม่ได้ ถ้าโตมาแล้วกินบ่อยๆ ก็จะชินเอง ถึงบอกว่าต้องคนที่กินได้คือผู้ใหญ่ไง”
ผักดางขม ผักหางหมา ผักแว่น ลูกโปงโลง รวมถึงผักบุ้ง เป็นพืชผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เดินไปพลางเด็ดกินไปพลางก็ยังได้ และด้วยความสมบูรณ์ของแม่น้ำที่พัดพาตะกอนดิน ก็ยังทำให้พื้นที่นี้ง่ายต่อทำเกษตรกรรมอีกด้วย โดยพืชที่ชาวบ้านมักปลูกกันในชุมชนบ้านตามุย คือมันแกว
“เอายอดมากินได้นะ เอาไปทำแกงหน่อไม้ หรือจะใส่ลาบปลา หรือกินกับน้ำพริกก็ได้” ลุงสากล่าว
ทั้งหมดนี้ คือความรุ่มรวยของวัตถุดิบประกอบอาหารจากริมน้ำโขงในยุคสมัยที่ความอุดมสมบูรณ์ยังไม่ถูกพรากไป แต่การมาของโครงการเขื่อนต่างๆ ในสายน้ำโขง ก็เปลี่ยนความรุ่งเรืองนี้ให้ร่อยหรอลง เพราะสายน้ำไม่ได้ผันแปรเองตามธรรมชาติ หากแต่ถูกควบคุมโดยฝีมือของมนุษย์
ความมั่นคงทางอาหารที่ถูกทำลาย
เขื่อนจิงหง ตั้งอยู่ในเมืองเชียงรุ้ง ดินแดนสิบสองปันนา ถือเป็นเขื่อนของจีนที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทยมากที่สุด ด้วยระยะห่างจากบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ราว 340 กิโลเมตร
หากเทียบจากเชียงรายมายังอุบลราชธานี จังหวัดสุดท้ายที่แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไทย ก่อนเวียนกลับเข้าไปในฝั่งลาวอีกครั้ง ระยะทางจะอยู่ที่ราว 1,160 กว่ากิโลเมตร แต่แม้จะห่างกันหลักพันกิโลฯ ผลของการสร้างเขื่อนก็ยังส่งผลกระทบมายังปลายน้ำได้
แล้วผลกระทบที่ว่านี้คืออะไร อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ เขื่อนที่อยู่ในจีนนั้นสามารถควบคุมระดับน้ำได้ แล้วเมื่อต้นน้ำถูกกักเก็บไปตามการควบคุมของมนุษย์ ก็กลายเป็นว่า ระดับน้ำในปลายทางจะผันผวนไม่ตรงตามฤดูกาลอย่างที่เคย
ความผิดปกตินี้ทำให้ผู้คนไม่สามารถคาดเดากันได้ว่า ช่วงเวลาใดที่ปลาชนิดไหนจะชุกชุม ปลาชนิดไหนจะมาวางไข่เพาะพันธุ์ จากที่เคยรู้กันดีตามธรรมชาติของการขึ้น-ลงของแม่น้ำโขง
ขณะเดียวกัน ปลาหลายสายพันธุ์ก็สับสน เมื่อ ‘ที่อยู่อาศัย’ ของพวกมันแปรปรวนโดยไม่มีสัญญาณธรรมชาติแจ้งเตือน มีเพียงประตูกั้นน้ำที่อยู่ห่างไกลออกไปเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของฝูงปลาเหล่านั้น
“แต่ก่อนจับปลาเม่นได้ตัวเท่านี้” ลุงก้วง ชาวบ้านบ้านตามุยที่ใช้ชีวิตอยู่ริมโขง กางแขนออกสองข้างออกสุดตัวเพื่อให้เห็นภาพว่าปลาที่เคยจับได้แต่เดิมนั้นตัวใหญ่ขนาดไหน เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่เคยจับปลาหาเลี้ยงตัวเองเป็นเรื่องปกติ แต่หลังปี 2551 ที่เขื่อนจินหงสร้างเสร็จ วิถีการจับปลาของชาวบ้านก็เปลี่ยนไป
ชายสูงวัยไล่รายชื่อพันธุ์ปลาที่หายไปจากน่านน้ำโขงตอนล่าง ทั้งปลากวง ปลาเม่น ปลาเริม ที่แต่เดิมจะได้เห็นทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าหายไปไหนแล้ว
“ตอนหนุ่มๆ ปลาเยอะมาก วางอวนที่เดียวก็เหลือกินแล้ว วางอวนลงไปได้ปลดจนเหนื่อย”
เช่นเดียวกับ ลุงตาล ชาวประมง-เกษตรกรที่หาเลี้ยงตัวเองกับแม่น้ำโขงที่เล่าว่าแม่น้ำโขงเป็นสิ่งที่เลี้ยงชีวิตของผู้คนมาแต่ไหนแต่ไร ตัวลุงตาลเองก็พึ่งพิงแม่น้ำมาตั้งแต่เด็ก แต่มาตอนนี้ก็เจอปัญหาพันธุ์ปลาไม่หลากหลาย จำนวนน้อยลง ขนาดไม่ใหญ่เหมือนแต่เดิม สะท้อนผลของผันน้ำผิดธรรมชาติ ซึ่งมีที่มาจากการสร้างเขื่อนอย่างชัดเจน
แต่การสร้างเขื่อนไม่ได้อยู่แค่เขื่อนจิงหง เพราะในเดือนตุลาคมปี 2562 บนเส้นทางแม่น้ำโขงยังมีเขื่อนใหม่ที่เปิดใช้งานขึ้นมาอีก คราวนี้ตั้งอยู่ในประเทศลาว ห่างจากจังหวัดเลยของไทยเพียง 200 กว่ากิโลเมตร และมีชื่ออย่างที่หลายคนอาจคุ้นหูกันดี นั่นคือ เขื่อนไซยะบุรี
เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ดำเนินการโดย CKP ที่ก่อตั้งโดยบริษัท ช.การช่าง และได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารไทยอีก 6 แห่ง ซึ่งตั้งแต่ช่วงที่มีการผลิตไฟฟ้าในระยะทดลอง ก็ไม่เคยมีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และไม่มีมาตรการเยียวยาผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงแต่อย่างใด
ผลของการสร้างเขื่อนซ้ำขึ้นมาอีกนี้ ส่งผลให้การปล่อยน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งกระทบไปถึงเรื่องของการเพาะปลูกพืชพรรณด้วย เพราะเดิมที ชาวบ้านจะรู้ได้ว่า ช่วงไหนน้ำหลาก ช่วงไหนน้ำลด แล้วจะต้องปลูกพืชอะไรบริเวณไหน เช่น หากน้ำลดมาก ก็ปลูกตามดอนทรายไปถึงริมน้ำได้ หรือในหน้าน้ำหลากก็ควรจะเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดที่ชื่นชอบน้ำเป็นพิเศษแทน เช่น ปลูกฝ้าย เพื่อส่งขายสร้างรายได้ในชุมชน
แต่ทุกวันนี้ ในฤดูที่น้ำไม่ควรสูงท่วมดอนทรายก็กลับมีปริมาณน้ำท่วมล้นจนพืชที่ชาวบ้านปลูกไว้จมน้ำตายกันระนาว ขณะเดียวกันในหน้าที่ควรมีหน้าหลาก เขื่อนก็กักเก็บน้ำเอาไว้จนผู้คนไม่มีน้ำมาทำเกษตรกรรม
ผักดางขม ผักหางหมา ผักแว่น ลูกโปงโลง รายชื่อผักที่ไล่เรียงไปข้างต้น กลายเป็นของหายากไปอย่างแท้จริง เมื่อลุงสาพาพิสูจน์ด้วยการเดินไต่ดอนทราย ตามหาผักพื้นถิ่นที่เคยมีให้เห็นเรียงราย แต่เดินไปหลายชั่วโมง ผักที่คาดว่าจะได้เห็นชัดๆ ก็มีเพียงต้นตอที่ดูจะตายมิตายแหล่เท่านั้น
“นั่นแหละ ผักหางหมา” ลุงสาชี้ให้ดูยอดไม้เล็กๆ ที่สูงไม่พ้นหน้าแข้ง “ปกติมันต้องแผ่ทั่วเลย เห็นตั้งแต่ไกลๆ เป็นพุ่ม แต่ตอนนี้เหลือแค่นั้นแหละ”
ตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ๆ ที่แดดส่องจ้า จนเวลาที่ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำ ลุงสาพาเดินหาผักท้องถิ่นที่ควรขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เท่าที่พบ ก็มีเพียงแค่หย่อมเล็กๆ 2-3 จุดเท่านั้น
พอผักหาย ก็ส่งผลกับการทำครัวของผู้คน อย่างที่ แม่แดง ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านตามุยมาตลอดช่วงอายุ 65 ปี เล่าว่า เดิมทีชาวบ้านสามารถเดินริมน้ำเก็บผักท้องถิ่นต่างๆ มาประกอบอาหารได้ทุกมื้อ แต่ทุกวันนี้เหล่าพืชผักที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับหายากจนต้องไปซื้อผักอื่นๆ จากตลาดแทน
พอถามว่าเสียดายไหมที่ผักท้องถิ่นเหล่านี้หายไป แม่แดงก็อุทานทันที “ซางว่าลูกเอ๊ย (เสียดายสิ) ใครพาไปสู้ฉันจะไปด้วยเลยนะ ผักหญ้าต่างๆ แต่ก่อนสวนฉันก็มี สวนฉันเป็นไร่สองไร่เลย สวนปลูกฝ้าย จะหาอะไรยาก แตงโมก็มีเยอะ อยากให้เธอมาดูตอแตงโมฉันมากเลย ถั่วก็มี แตงโมนี่เป็นระงำอยู่ ลูกน้อยๆ อย่างนี้ แม่เก็บมาขาย แกงกิน แกงใส่ปลากด ปลาคัง ปลาเคิงยิ่งอร่อย ลูกเอ๊ย”
เช่นเดียวกับแม่พิมพ์ ที่เดิมทีแล้วเธอจะเก็บเกี่ยวพืชผักที่โรยเมล็ดทิ้งไว้ตามคันดิน – โรยทิ้งไว้ คือคำที่แม่พิมพ์จงใจใช้เพื่อสะท้อนว่า เดิมทีดินริมน้ำอุดมสมบูรณ์มากจนแทบไม่ต้องไปทำอะไร ก็เก็บเกี่ยวพืชพรรณมาได้ – แต่ทุกวันนี้ การจ่ายตลาดเพื่อผักกลายเป็นเรื่องปกติ รวมถึง ต้องไปซื้อเนื้อหมูเนื้อไก่มาแทนที่เนื้อปลาซึ่งเคยเป็นอาหารจานหลักของผู้คนด้วย
นั่นแปลว่า ความมั่นคงทางอาหารของผู้คนที่อาศัยริมเขื่อนถูกสั่นคลอน
“เคยมีงานวิจัยของชาวบ้านบ้านตามุย ที่เขาศึกษาแล้วก็สรุปออกมาเมื่อปี 2560 ว่า อาหารที่ชาวบ้านเคยพึ่งพาธรรมชาติก่อนที่จะมีเขื่อนจิงหง มีอยู่เยอะมาก” กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
แต่ภายหลังจากการมีเขื่อนต่างๆ ชาวบ้านริมโขงก็ต้องเปลี่ยนไปพึ่งพิงอาหารจากตลาดเพิ่มขึ้นอีก 60% นั่นหมายความว่า ปลาและผักที่เคยมีเพียงพอต่อการบริโภคของผู้คน ลดหายลงไปมาก ส่งผลให้วัฒนธรรมแลกเปลี่ยนอาหารกันของผู้คน เริ่มลดหายลงไปด้วย
“รายได้หลักของชาวบ้านในสมัยก่อนมีเขื่อน ก็คือการหาปลา ถ้าใครไม่อยากกินปลา ก็เอาปลาไปแลกกับอย่างอื่น เพราะแบบนี้ มันเลยยิ่งชัดว่า การพึ่งพาทางด้านอาหาร/ความมั่นคงทางด้านอาหารเนี่ยมันลดลงไปหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง”
ความมั่นคงทางอาหารของคนริมโขงที่ถูกสั่นคลอนนี้ มีผลมาจากการสร้างเขื่อนอย่างชัดเจน ตามที่รายงาน Council Study จากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่า เขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 11 โครงการของแม่น้ำโขงตอนล่าง คุกคามอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค
แม่น้ำโขง แม่น้ำใคร หากไร้เสียงประชาชน
หากจะแก้ไขเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ก็ต้องย้อนกลับไปแก้ที่ต้นทาง นั่นคือ การมีอยู่ของเขื่อน
“ทุกวันนี้ความคิดของเรื่องการสร้างเขื่อนมันควรหมดไปแล้ว ประเทศตกวันตกส่วนมากรื้อความคิดนี้ทิ้งหมดแล้ว แต่มันก็ยังสืบทอดในรัฐราชการในประเทศลุ่มนี้โขงนี้อยู่” ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวในงานเสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564
คำกล่าวนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า เขื่อน กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย และไม่จำเป็นแล้วในยุคปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้น บนสายแม่น้ำโขงนี้ก็ยังมีการเตรียมโครงการสร้างเขื่อนอีกมากมาย ยิ่งสร้างความวิตกให้กับผู้คนริมโขงเป็นอย่างมาก
“ไม่มีใครอยากให้มีเขื่อนแล้ว แค่นี้ก็แย่แล้ว ถ้าใกล้มากกว่านี้ก็คงอยู่ไม่ได้แล้ว” แม่พิมพ์กล่าว
เช่นเดียวกับลุงสาที่มองว่า “แม่น้ำโขง ก็เป็นเหมือนแม่เราจริงๆ” ดังนั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงด้วยการนำเขื่อนมาขวางกั้นทางน้ำ จึงทำร้ายชีวิตของประชาชนผู้ต้องพึ่งพิงแม่น้ำอย่างร้ายแรง
กลุ่มคนที่อยู่ริมแม่น้ำโขงถือเป็นกลุ่มคนเปราะบาง ด้วยรายได้แต่ละครัวเรือนที่ไม่ได้สูงนัก ซึ่ง อ.กนกวรรณมองว่า หากภาครัฐต้องการพัฒนาพลังงานในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ก็ต้องรับฟังเสียงของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องรับฟังเสียงของกลุ่มผู้เปราะบางทั้งหลายด้วย
“เราจะพูดถึงกลุ่มเปราะบางในแง่ว่า ‘โอเค เขาน่าสงสาร ต้องไปสงเคราะห์’ ไม่ใช่ กลุ่มเปราะบางเหล่านี้มีพลังและความสามารถที่จะยืนด้วยขาของตัวเอง เพียงแต่ว่าเขาต้องพึ่งพาทรัพยากรสูงมาก ถ้าทรัพยากรเหล่านี้หายไป มันจะกระทบต่อชีวิตของกลุ่มเปราะบาง เขาจะปรับตัวได้ยากกว่ากลุ่มอื่น เพราะทรัพยากรที่เขามี หรือทุนที่เขามีนั้นต่ำกว่าคนอื่น”
ในประเทศไทย แม่น้ำโขงไหลผ่านพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี แต่ละจังหวัด มีหลากหลายชุมชนที่อาศัยอยู่ริมโขง แต่ไม่ว่าจะมากมายแค่ไหน อ.กนกวรรณก็มองว่า รัฐจำเป็นต้องเข้าไปศึกษาอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนกลุ่มใดต้องได้รับแรงกระเทือนไปด้วย
ยิ่งกว่านั้น ภาครัฐต้องไม่มองว่าชาวบ้านคือผู้ไม่มีความรู้ และภูมิปัญญาชาวบ้านก็ไม่ควรถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ เพราะประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงนี้คือผู้มีส่วนใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าใคร พวกเขาพร้อมต่อสู้เพื่อปกปักษ์ภูมิลำเนาของตัวเองกันเสมอ เหมือนอย่างที่ชาวบ้านบ้านตามุยยืนหยัดต่อสู้เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนเพิ่มเติมบนริมน้ำโขงแห่งนี้ ดังนั้น การมองข้ามความรู้ของพวกเขา จึงเปรียบเสมือนการหมางเมินชีวิตของชาวบ้านไปด้วย
“ต้องย้ำในเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ ต้องคำนึงถึงสิทธิอำนาจของประชาชนในการที่จะใช้ทรัพยากร เพราะประชาชนเป็นผู้แสดงหลัก เขาจะต้องเป็นผู้แสดงหลักให้ได้ ไม่ใช่แค่ภาครัฐอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น คำที่สำคัญมากในเรื่องนี้ก็คือ สิทธิและอำนาจของประชาชน” อ.กนกวรรณกล่าวทิ้งท้าย
ติดตามซีรีส์ ‘โขงใคร’ เรื่องอื่นๆ ได้ที่
เขื่อนขวางโขงเปลี่ยนชีวิตคนตามุย