บางคนอาจมองว่าการเริ่มทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่ออายุสี่สิบปี นั้นอาจจะช้าเกินไป แต่สำหรับปราบดา หยุ่น เขากลับคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ เพราะการมีประสบการณ์ทำงานอื่นๆ มาก่อนทำให้เขาไม่หลงใหลไปกับมายาของความเป็นผู้กำกับ จนไม่อาจมอง ‘งาน’ ได้หลายมิติมากขึ้น
ในปีที่ผ่านมา ปราบดา หยุ่น ได้แบ่งภาคจากงานเขียนมาทำหน้าที่ผู้กำกับหน้าใหม่ ที่สร้างรสชาติแปลกประหลาดแต่เร้าใจให้กับวงการหนังไทย และเมื่อหนังเรื่องแรกของเขาอย่าง Motel Mist ผ่านพ้นไป หนังเรื่องใหม่ก็ตามมาติดๆ ทันที ในชื่อ Someone From Nowhere ที่เพิ่งเปิดตัวนักแสดงนำเป็น แพท—ชญานิษฐ์ ชญาสง่าเวช ซึ่งมีคนรอชมตั้งแต่หนังยังไม่ทันจบโพสต์โปรดักชั่น
การคุยกับปราบดาในครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นไปที่ความหลงใหลในภาพยนตร์ ที่เขามีมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น การทำหนังของเขาจึงเต็มไปด้วยความสนุกสนานและแพสชั่น ท่ามกลางความวุ่นวายในกองถ่าย ที่ไม่มีวันควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่คิดได้เหมือนงานเขียน ทักษะที่ต้องใช้จึงกลายเป็นอีกศาสตร์หนึ่งโดยสิ้นเชิง
และในฐานะผู้กำกับหนังอิสระ ‘ความยาก’ ในอุตสาหกรรมหนังเมืองไทยจึงเป็นสิ่งที่เขาต้องเผชิญ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่โทษคือคนดู เพราะในมุมมองของปราบดา ปัญหาแท้จริงอาจอยู่ที่อย่างอื่นนอกเหนือจากนั้นอย่างที่เขากำลังจะบอกเล่าในต่อไปนี้
Life MATTERs : Someone From Nowhere มีความแตกต่างออกไปจาก Motel Mist อย่างไรบ้าง
ปราบดา : เราคิดเรื่องนี้หลังจากที่ Motel Mist ฉายในโรงเลย ซึ่งเรื่องที่สองนี้ค่อนข้างท้าทาย เพราะมีข้อจำกัดเรื่องทุน ทำให้ต้องคิดในกรอบที่เล็กกว่าเรื่องแรกเสียอีก ดังนั้นเราเลยเริ่มจากการคิดพล็อตเรื่องที่จะสามารถสื่อสารได้โดยตัวละครไม่กี่ตัว ทั้งเรื่องเราจะมีนักแสดงหลักอยู่แค่ 2 คนเท่านั้น โลเคชั่นหรือเซ็ตติ้งก็มีน้อยมากเหมือนกัน เรื่องที่เกิดขึ้นจะเน้นประเด็นในบทสนทนาที่สองตัวละครโต้ตอบกัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นความท้าทาย เรามองว่ามันเป็นโจทย์ที่น่าสนุก โดยส่วนตัวเราก็มีแนวโน้มที่จะชอบเรื่องที่มันเล็กๆ อยู่แล้ว ไม่ใช่ในแง่สเกลนะ แต่เป็นเรื่องราว เช่นเรื่องที่เกิดในช่วงเวลาสั้นๆ หรืออยู่ในพื้นที่ที่จำกัด และครั้งนี้เราก็ยังเขียนบทเอง กำกับเอง แล้วก็ทำงานกับทีมงานเดิมเกือบทั้งหมด
Life MATTERs : ความคาดหวังเกี่ยวกับหนังเรื่องที่สองคืออะไร
ปราบดา : จริงๆ เราก็ทำมันอย่างสนุกนะ มันมีจุดกำเนิดมาจากความที่ไม่ได้ตั้งใจไว้เท่าไหร่ ว่าหนังเรื่องที่สองของเราจะเป็นเรื่องนี้ แต่ทั้งตอนทำบท พรีโปรดักชั่น และตอนถ่ายทำ เรากลับสนุกกับมันมาก ในแง่ของการทำงานก็มีความมั่นใจกว่าตอนทำ Motel Mist ด้วย อาจเป็นเพราะเรามีประสบการณ์มาแล้ว เคยร่วมงานกับทีมนี้มาแล้ว พอจะเข้าใจกระบวนการทำหนังพอสมควร เลยเป็นการทำงานที่ค่อนข้างราบรื่น เราคาดหวังว่าคนจะไปดูมากกว่าเรื่องที่แล้ว (หัวเราะ) แน่นอนว่ามันยังมีปัจจัยแปลกๆ หรือบางคนอาจจะคิดว่าดูยาก แต่โดยรวมมันก็เป็นหนังที่เล่าเรื่องแล้วก็มีทิศทางที่ชัดเจน
Life MATTERs : ในฐานะผู้เล่าเรื่อง ระหว่าง ‘งานเขียน’ กับ ‘ภาพยนตร์’ อันไหนที่เล่าได้สนุกกว่ากัน
ปราบดา : ตอนเป็นวัยรุ่นเราสนใจหนังมากกว่าหนังสือด้วยซ้ำ ในขณะที่หนังสือก็เป็นงานอดิเรก ไม่เคยมองว่าจะมีอาชีพเป็นนักเขียนจริงจัง เพียงแต่เราจับพลัดจับผลูมาเป็นนักเขียนก่อน ดังนั้นสำหรับเรา ทั้งหนังและหนังสือมีความสำคัญเท่าๆ กัน เพียงแต่ว่าในแง่การทำงานมันต่างกันมากพอสมควร เพราะการเขียนหนังสือมันเหมือนเราอยู่ในโลกของเรา เป็นโลกที่ควบคุมได้ แต่ว่าหนัง แค่เริ่มก็มีผู้คนเกี่ยวข้องมากมายแล้ว เราแทบจะทำหนังไม่ได้เลยถ้าไม่มีเงิน ไม่มีทีมงานที่ดี หนังมันเหมือนงานกลุ่ม ในขณะที่หนังสือมันฟรีสไตล์มาก เราจะทำแบบไหนก็ได้ ไปเขียนที่ไหนก็ได้ ใช้เวลานานแค่ไหนก็ได้ มันขึ้นอยู่กับเราหมด มันแทบจะไม่ต้องใช้ต้นทุนอื่นนอกจากความคิดของเรา อยู่ที่การย่อย การทบทวนอะไรของเราเอง ซึ่งเราก็ยังคงจะเขียนหนังสือไปเรื่อยๆ นะ มันยังคงสนุกกับเราอยู่
Life MATTERs : การทำหนังสักเรื่องหนึ่ง สามารถเป็นไปได้อย่างใจผู้กำกับมากแค่ไหน
ปราบดา : มันควบคุมอะไรแทบจะไม่ได้เลย ถึงแม้เราจะมีบทที่แน่นอน ทุกคนรู้บทเดียวกัน แต่เมื่อมันเกิดขึ้น ทุกอย่างสามารถผิดเพี้ยนไปจากที่วางแผนหรือดีไปกว่าที่เราเตรียมไว้ มันเป็นเรื่องการเผชิญหน้ากับประสบการณ์ เหมือนทุกวันที่เราต้องออกไปข้างนอก ถึงเรารู้ว่าจะไปไหน แต่ระหว่างทางเราคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะเจออะไร นี่เลยอาจเป็นเหตุผลที่เราสนุกกับมันในแง่ประสบการณ์ เพราะเราได้แลกเปลี่ยนความคิดกับคนทุกๆ วัน ได้สร้างงาน ณ ขณะนั้น บางอย่างมันเกิดหน้ากล้อง เราไม่ได้คิดเอาไว้เลย หลายอย่างต้องปรับเปลี่ยนเพราะสถานการณ์บังคับ เช่นสภาพอากาศ เช่นฝนตกทั้งที่เราต้องถ่ายฉากที่ฟ้าสว่าง ผู้กำกับก็ต้องตัดสินใจในการประยุกต์และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เราจะแค่ยกกองไปเลยมันไม่ได้ เพราะแม้แต่หนังเล็กๆ อย่างหนังเรา วันวันหนึ่งก็มีชีวิตที่ร่วมทางไปกับเราเป็นยี่สิบสามสิบชีวิตแล้ว
Life MATTERs : ทั้งที่อยากทำหนังมาตั้งแต่วัยรุ่น แต่อะไรที่ทำให้ตัดสินใจเริ่มทำตอนอายุสี่สิบ
ปราบดา : สิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจทำ เพราะมีคนที่พร้อมจะทำงานกับเรา นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่ใครสักคนจะเริ่มทำหนัง ถ้าเรามีคนที่พร้อมจะทำงานกับเรา เชื่อใจกัน และมีประสบการณ์ด้วย หาเงินมาได้ด้วย (หัวเราะ) เราก็เริ่มได้เลย
สำหรับเรารู้สึกว่ามันเป็นวัยที่เหมาะสม เพราะถ้าเราเริ่มทำหนังตั้งแต่เด็กกว่านี้ เราน่าจะหลงใหลอยู่กับความเป็นผู้กำกับหนังจนไม่สามารถมองมันได้หลายมิติ
Life MATTERs : การเริ่มเป็นผู้กำกับตอนอายุเท่านี้ถือว่าช้าไปไหม
ปราบดา : แก่ไปแล้วงี้เหรอ (หัวเราะ) เริ่มทำหนังตอนอายุเท่านี้ สำหรับเรารู้สึกว่ามันเป็นวัยที่เหมาะสม เพราะถ้าเราเริ่มทำหนังตั้งแต่เด็กกว่านี้ เราน่าจะหลงใหลอยู่กับความเป็นผู้กำกับหนังจนไม่สามารถมองมันได้หลายมิติ แต่เรามาทำมันในวัยที่ผ่านประสบการณ์ทำงานหลายๆ อย่างมาแล้ว ทำให้เราไม่ได้ตื่นเต้นไปกับสถานะผู้กำกับที่ทำหนังใหญ่เข้าโรง เรามองว่าเราเป็นคนทำงานคนหนึ่งที่อยากทำให้งานออกมาดี
Life MATTERs : ระหว่างทางมีเหนื่อยหรือท้อบ้างไหม
ปราบดา : ถ้าเริ่มแล้วเราไม่ท้อ มันท้อไม่ได้ มันต้องทำให้เสร็จไม่ว่าเราจะรู้สึกยังไงขณะที่เราทำงานอยู่ ถ้าเราคิดว่ามันจะมีปัญหา ก็ต้องหาทางปรับเปลี่ยน
Life MATTERs : เรื่องนี้เลือกนักแสดงยากไหม
ปราบดา : จากประสบการณ์ทั้งสองเรื่อง มันน่าประหลาดใจที่เราได้พบนักแสดงของเราค่อนข้างเร็ว ตอนที่เราเขียนเราก็นึกไม่ออกหรอกว่าใครจะมาแสดง เราต้องไปหาคนคนนั้นที่มีบุคลิกเหมือนตัวละครที่เราเขียน แล้วทั้งสองครั้งเราก็เจอภายในแค่ไม่กี่ครั้งที่ทำแคสติ้ง เราได้เจอคนที่ทุ่มเทและมีความสามารถเกินความคาดหมายตลอด ดังนั้นการร่วมงานกับนักแสดงรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แทบจะง่ายที่สุดด้วย ในขั้นตอนการทำหนัง
Life MATTERs : ที่ยากที่สุดล่ะคืออะไร
ปราบดา : ยากที่สุดคือการสร้างภาพจากจินตนาการให้ได้อย่างใจเราจริงๆ ทีมงานเรามีฝีมือกันทุกคนนะ แต่สำหรับภาพในหัว เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นตรงกับที่เราเห็นได้ ดังนั้นเลยต้องใช้การประนีประนอมหรือขยับเขยื้อนอะไรบางอย่าง ให้มันเป็นไปในทิศทางที่เราต้องการ อีกอย่างที่ยากคือโพสต์โปรดักชั่น เพราะเราก็นึกภาพไม่ออกว่ามันจะต้องเป็นยังไง พอถ่ายเสร็จแล้ว ฟุตเทจต่างๆ ที่เราได้มาก็เป็นการผจญภัยเหมือนกัน
Life MATTERs : ผลตอบรับสำหรับ Motel Mist เป็นที่พอใจแค่ไหน
ปราบดา : ในแง่ของจำนวนคนที่ได้ดูก็ไม่ค่อยพอใจนะ เพราะเรารู้สึกว่ามีคนที่อยากดูหรือถ้าได้ดูแล้วจะชอบมากกว่านี้ เพราะเรามีโอกาสได้ฉายโรงน้อยมาก ซึ่งมันก็เข้าใจได้ในความเป็นหนังอิสระ ทุกวันนี้ยังมีคนมาถามในเพจอยู่เลยว่าฉายเมื่อไหร่ (หัวเราะ) คือการสื่อสารระหว่างคนทำกับคนดูมันยาก โปรเจคต์ที่ไม่ได้มีงบในการพีอาร์สูงๆ หรือไม่ได้ออกรายการช่องฟรีทีวีที่คนจะได้ดูพร้อมกันทั่วประเทศ ดังนั้นต้องทำการประชาสัมพันธ์เอง ซึ่งมันก็ทำได้ประมาณหนึ่งเท่านั้นแหละ มันยังจำกัดกลุ่มคนมากๆ คนที่เขาอยากดูยังไม่ค่อยรู้ว่ามันฉายที่ไหน ถึงรู้ มันก็ยังเป็นจุดที่เขาไม่ได้สะดวกที่จะไป แต่สำหรับคนที่ได้ดูแล้ว ผลตอบรับก็ถือว่าโอเคนะครับ สนุกดีที่ได้ฟังฟีดแบ็คจากทั้งคนที่ชอบแล้วก็ไม่ชอบ เหมือนเราได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับคนดูซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบ หลายคนอาจจะมีภาพในหัวว่าคนทำหนังอิสระไม่ค่อยแคร์คนดู แต่จริงๆ เราค่อนข้างแคร์และเราก็สนใจที่จะรู้ว่าคนดูชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือไม่เข้าใจอะไร
เราไม่ค่อยโทษคนดู เราไม่ชอบที่จะพูดแบบเหมารวมว่าคนไทยไม่พร้อม เพราะความพร้อมมันไม่ได้อยู่ที่ตัวคนอย่างเดียว แต่อยู่ที่ระบบโดยรวมของสังคมด้วย
Life MATTERs : เคยได้ยินบางคำพูดที่ว่า คนดูในเมืองไทยยังไม่พร้อม คุณมองว่าอย่างไร
ปราบดา : เราไม่ค่อยโทษคนดู เราไม่ชอบที่จะพูดแบบเหมารวมว่าคนไทยไม่พร้อม เพราะความพร้อมมันไม่ได้อยู่ที่ตัวคนอย่างเดียว แต่อยู่ที่ระบบโดยรวมของสังคมด้วย หรืออยู่ที่พื้นที่ที่เขาจะมีโอกาสได้ลองสิ่งใหม่ๆ เราเชื่อว่าโดยธรรมชาติคนอาจจะชอบอะไรที่ซ้ำๆ อะไรที่สนุกอยู่แล้วก็อาจจะชอบดูแบบเดิมวนไปเรื่อยๆ แต่เราก็เชื่อเหมือนกันว่ามันจะมีช่วงเวลาหรือความรู้สึกทีต้องการรสชาติใหม่ๆ อยู่ในทุกคนแหละ ถ้าได้ลองอะไรใหม่แล้วรู้สึกว่าชอบหรือน่าสนใจ เราคิดว่าทุกคนก็อยากที่จะให้โอกาสกับอะไรบางอย่าง เราไม่โทษคนที่ไม่อยากไปดูหนังอาร์ตหรือหนังอิสระ เพราะแค่ใช้ชีวิตประจำวันเขาก็เหนื่อยแล้ว เราก็เข้าใจว่ามันไม่มีเหตุจำเป็นที่จะไปดูหนังที่เขาคิดว่าจะทำให้เขาหลับ แต่ในวันที่เขาอาจจะอยากลองอะไรแบบนี้ ก็ควรมีพื้นที่ที่เขารู้ว่าจะไปหามันได้
Life MATTERs : แปลว่าปัจจัยฝั่งนายทุนก็สำคัญไม่แพ้ฝั่งคนดู
ปราบดา : การหาทุนสำหรับคนทำหนังอิสระมันยากมากๆ คนที่มีทุนในบ้านเรา ยังมีน้อยที่จะมีวิสัยทัศน์ในแง่การลงทุนเพื่ออนาคตทางวัฒนธรรม เขาจะคิดถึงผลกำไรที่จะได้รับทันทีเมื่อหนังออกฉาย เขาไม่ได้มองว่ามันคือการลงทุนเพื่อสานต่อความคิดหรือความคิดสร้างสรรค์ในสังคมไทย แต่ก็เข้าใจได้อีกแหละ เพราะถ้าเรามีเงินเราก็ต้องคิดหนักว่าจะให้ใคร แต่ว่าถ้ามีมากกว่านี้ก็น่าจะดีกว่านี้
Life MATTERs : กระทรวงวัฒนธรรมพอจะเป็นความหวังได้ไหม
ปราบดา : (หัวเราะ) กระทรวงวัฒนธรรมก็ คือเขาก็ให้นะ ไม่ใช่ว่าไม่ให้ แต่ว่าโดยกระบวนการขั้นตอนต่างๆ มันก็มักจะได้งานแบบเดิมๆ เขาก็จะสนับสนุนงานที่เขารู้สึกสบายใจจะสนับสนุน
Life MATTERs : เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ อะไรที่ทำให้คนทำหนังอิสระยังคงทำต่อไป
ปราบดา : เวลาพูดไป จริงๆ เราก็ไม่ค่อยชอบคำพวกนี้นะ เพราะมันฟังดูโรแมนติกจัง แต่คนส่วนใหญ่ที่ทำต่อไปก็เพราะใจเขารักจริงๆ เท่าที่เราเจอทุกคนบ่นว่าจน ไม่มีเงินทำหนัง แต่พอถึงเวลาก็ทำอยู่ดี เราอยากเห็นหนังใหม่ๆ อยากเห็นงานของเพื่อนฝูงด้วยกันได้สำเร็จออกมา คนรักหนังจะอยากสัมผัสมันตลอดเวลา โดยที่ยอมเสียเปรียบด้วยซ้ำในหลายๆ ครั้ง เพื่อจะได้อยู่ในโลกในบรรยากาศแบบนั้น เหมือนว่าชีวิตมันขาดสิ่งนี้ไม่ได้ เราว่าสำหรับหลายๆ คน เขาเรียนรู้ชีวิตจากหนัง และอาจด้วยมันเป็นทัศนศิลป์ มันรวมหลายๆ ศาสตร์เอาไว้ด้วยกัน เรารู้สึกว่าหนังมีอิทธิพลกับความคิด ตัวตน และความรู้สึกของคนมาก ไม่ใช่แค่หนังที่ดูในโรงอย่างเดียวนะ หมายถึงคลิปอะไรก็ตามที่เป็นภาพเคลื่อนไหว
Life MATTERs : ผู้กำกับที่ทำให้คุณอยากลุกขึ้นมาทำหนังของตัวเองมีใครบ้าง
ปราบดา : ผู้กำกับที่เราชอบมีเยอะมาก เราชื่นชมเขาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ถ้าเป็นคนที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราก็ทำได้ น่าจะเป็นคนที่มุทะลุในการทำงานเสียจนดูเหมือนเขาไม่เหนื่อยเลย แบบพวกผู้กำกับที่ทำหนังปีละสิบยี่สิบเรื่อง ทำเรื่องหนึ่งจบแล้วก็ทำต่ออีกเรื่องโดยไม่คิดว่ามันต้องบ่มเพาะหรือตกผลึก เขาทำมันเหมือนเป็นลมหายใจ คนแบบนี้เราจะรู้สึกว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำ ถ้าเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้สิ อย่าง Woody Allen ที่ทำหนังตลอดเวลา หรือ Takashi Miike คนนี้ก็ทำหนังเป็นร้อยเรื่องแล้วมั้ง ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบหนังเขา แต่เรารู้สึกว่ามีพลังบางอย่างที่ดึงดูดเรา อยากให้เราทำตาม
Life MATTERs : นอกจากหนังและหนังสือยังอยากทำอะไรเพิ่มอีกไหม
ปราบดา : อยากขายอาหาร อีกอย่างคืออยากทำน้ำหอม เพราะเรามีความสนใจในกลิ่นต่างๆ เป็นความสนใจใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังๆ นี้ เราสนุกที่ได้เรียนรู้ว่านี่คือกลิ่นเปลือกไม้ นี่คือกลิ่นดอกไม้ชนิดนี้ จริงๆ เรามีความสนใจที่ไม่เกี่ยวกันหลายอย่างนะ แล้วมันก็น่าจะทำเงินได้มากกว่าทำหนัง (หัวเราะ)
Photos by Adidet Chaiwattanakul