ว่ากันด้วยเรื่องรสมือของการกำกับหนัง ผู้กำกับแต่ละคนจะมีวิธีการปรุงที่ต่างกันและเสกสรรค์ให้รสชาติปลายทางที่นำไปเสิร์ฟที่โต๊ะในแบบหนึ่งๆ สำหรับ กิเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) ก็เช่นกัน การที่ผู้กำกับคนนี้โลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์มา 20 กว่าปีไม่ใช่เพราะโชคช่วยแต่เพราะหาสไตล์ของตัวเองเจอและคงไว้ซึ่งสไตล์นั้นจนมาถึงตอนนี้
มองเผินๆ เหมือนเขาถนัดในการทำหนังสัตว์ประหลาด จนเมื่อลองมาไล่เรียงผลงานตั้งแต่ผลงานแจ้งเกิดอย่าง The Devil’s Backbone, Mimic มาถึง Blade II, Hellboy 1-2, Pan’s Labyrinth, Pacific Rim, Crimson Peak และ The Shape of Water ดูแล้ว แท้จริงสไตล์ของกิเยร์โมไม่ใช่แค่การเนรมิตโปรดักชั่นให้วิจิตร สร้างตัวประหลาดที่ต้องทึ่งว่าคิดเจ้าตัวนี้มาได้ยังไง และความพิศวงในหนังทุกๆ เรื่องเท่านั้น
เพราะเมื่อมาถึง ‘Nightmare Alley’ ผลงานล่าสุดเรื่องนี้ เป็นอีกหนึ่งการเน้นย้ำอีกว่านอกจากฝีไม้ลายมือกับการปรุงรสที่เอร็ดอร่อยแล้ว หนังทุกเรื่องของเขายังมีเนื้อหาสำคัญคือ ‘ความมืดมิดชั่วร้าย’ และ’ความเป็นสัตว์ประหลาด’ ที่ไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอก แต่เป็นของจิตใจเสียมากกว่า และผู้กำกับคนนี้มีของคือมนต์ขลังหรือเวทมนต์ที่สะกดให้เราดูตั้งแต่ต้นจบจบอย่างไม่ละสายตาและอินไปกับเนื้อเรื่องและตัวละครในแบบที่ไม่สามารถอธิบายได้
ต่อไปนี้เลยจะกระทำการขายให้ใครก็ตามที่หลงมาอ่านอยากดูหรือไปดูหนังเรื่องนี้โดยที่ไม่เปิดเผยรายละเอียดสำคัญนะ โดยที่อ่านได้ทั้งคนที่ดูแล้วและยังไม่ได้ดู
Nightmare Alley เป็นภาพยนตร์สไตล์ดราม่า-ฟิล์มนัวร์แนวต้มตุ๋นที่ดัดแปลงมาจากนิยายปี ค.ศ.1946 ชื่อเดียวกันของ วิลเลียม ลินด์ซีย์ เกรแชม (William Lindsay Gresham) ที่เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ.1947 มาแล้ว ฉบับนี้จึงนับว่าเป็นทั้ง adaptation และ remake พร้อมๆ กัน
นอกจากกิเยร์โมจะรับหน้าที่นี้ในฐานะผู้กำกับแล้ว หนังเรื่องนี้ยังอุดมไปด้วยนักแสดงชื่อดังระดับแม่เหล็กอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ไม่ว่าจะเป็น แบรดลีย์ คูเปอร์ (Bradley Cooper) ในบทตัวเอกที่ชื่อสแตน, เคท บลังเช็ตต์ (Cate Blanchett) ในบทจิตแพทย์ ลิลิธ, รูนีย์ มาร่า (Rooney Mara) สาวผู้ไร้เดียงสา, โทนี่ คอลเล็ตต์ (Toni Collette), รอน เพิร์ลแมน (Ron Perlman) ในบทชายที่แข็งแรงที่สุดในโลก และวิลเล็ม ดาโฟ (Willem Dafoe) ในบทเคล็ม ผู้จัดโชว์ตัวประหลาด
เรื่องราวจะบอกเล่าเส้นทางการเดินทางทางด้านจิตใจของ ‘สแตน’ ชายผู้ได้เรียนรู้ทริคอ่านใจคนหลังจากจับพลัดจับผลูมาทำงานให้กับคานิวัลโชว์ตัวประหลาดและผู้มีความสามารถพิเศษ เขาเข้าเมืองนิวยอร์คเพื่อแสวงหาโชคและชื่อเสียงโดยนำทริคนั้นมาสานต่อ และนี่คือเรื่องราวการเดินทางดำดิ่งจากวันที่สว่างที่สุดสู่ตรอกซอยแห่งเงามืดที่ไร้ซึ่งแสงสว่างใดๆ
“เราไม่สนว่าแกเคยทำอะไรมาพ่อหนุ่ม
หรือเคยเป็นใครมาจากไหน ที่นี่ ทุกคนเริ่มต้นใหม่”
ตัวละครเคล็มของ วิลเล็ม ดาโฟ พูดกับสแตนไว้ตอนต้นเรื่อง หลังจากที่ตัวเอกของเราลงรถไฟหลังจากเดินทางมาจากไหนไม่รู้ และเขาได้ทำงานกับคานิวัลแม้ว่าไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงเรียงนามเขาก็ตาม
เรื่องราวจะติดตามตัวละครสแตน โดยมีเขาเป็นศูนย์กลางให้ได้เห็นถึงการค้นพบ เฝ้ามอง เรียนรู้ และพัฒนาการ และเมื่อพูดถึงหมุดหมายสำหรับสแตน เขา ‘มีอนาคตที่ไม่แน่นอน’ เป็นตัวขับเคลื่อนหลังจากในฉากเปิดเรื่องที่ได้ออกเดินทางขึ้นรถไฟจากเซฟโซนมาสู่ความเคว้งคว้าง แต่ทุกคนต้องมีอะไรยึดเหนี่ยว ฉะนั้นเขาจึงต้อง ‘กำหนดอนาคตที่แน่นอน’ เพื่อเป็นหลักยึดเอาไว้ให้มีชีวิตอยู่ต่อได้
สองสิ่งนั้นคือชื่อเสียงเงินทองและคนรักที่คอยสนับสนุนทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ ตัวละครสแตนเป็นตัวละครที่พาคนดูไปค้นพบอนาคตพร้อมๆ กัน ผ่านหนึ่งการกระทำที่จะนำพาไปสู่อีกการกระทำและอีกเหตุการณ์เหมือนๆ กับที่เมื่อนึกย้อนกลับไปในยุคสมัยที่แผนที่กับการสื่อสารและความแน่นอนยังน้อยกว่าทุกวันนี้มากนัก คำว่า ‘แสวงหาโชค’ จึงมักจะถูกใช้บ่อยเพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าชะตากรรมจะลงเอยเช่นไร
นอกจากนี้ยังพูดถึงเรื่องอำนาจผ่านคำเตือนของตัวละครพีท (Pete) ที่เป็นเหมือนอาจารย์สำหรับเขาที่ทำหน้าที่ทั้งสอนและเตือนไปพร้อมๆ กันว่า “อย่าใช้ความสามารถในทางที่ผิด เพราะมันจะทำให้เขารู้สึกมีอำนาจเหนือผู้อื่น และอำนาจเป็นสิ่งที่อันตรายต่อผู้ถือครอง” นั่นก็เพราะผู้ถือครองไม่อาจรู้เลยว่าความคึกคะนองจากการที่คนคนหนึ่งสามารถ ‘ทำได้’ นำไปสู่สถานการณ์อะไรได้บ้าง
แต่แน่ล่ะ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่จั่วหัวไว้แล้วว่าฟิล์มนัวร์ ฉะนั้นนอกจากบรรยากาศหม่นๆ ฝนตกกระทบเสื้อหนังให้ได้ฟิลล์ สาวอันตราย กับตัวละครเทาๆ ที่มักจะมีอดีตกับตัวเอกที่ดื้อดึงแล้ว จะไม่สามารถเป็นอื่นได้
ตัวละครสแตนเป็นตัวละครที่มีอดีตบางอย่างที่ผลักดันให้เขาเดินทางจากที่ที่เคยอยู่มาลงเอยและมีที่ทางอย่างที่จะได้เห็นในหนัง เพียงแต่ตัวละครนี้แสดงให้เห็นว่าอดีตกำหนดตัวตนเราในอนาคตก็จริง แต่ทุกคนมีทางเลือกเสมอ คนที่เกิดมาฐานะยากจนแม้ยากจะหลุดพ้นแต่ก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าพวกเขาจะออกจากตรงนั้นไม่ได้ เราอยู่กับเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยดีไม่ได้หมายความว่าเราจะคบเพื่อนคนกลุ่มนั้นไปตลอด เช่นเดียวกันคนที่ถูกเลี้ยงดูมาไม่ดี ปล่อยปะละเลย และโตมากับความรุนแรงไม่ได้หมายความว่าจะต้องโตมาเป็นคนแบบนั้นเสมอไป
น่าคิดว่าสุดท้ายแล้วสิ่งแวดล้อมเลือกเราหรือเราเลือกสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ว่าคำตอบคืออะไรหรือทั้งสองอย่างสำคัญเท่าๆ กัน หนังก็บ่งบอกว่าทุกคนมีสองเวย์เสมอเป็นระบบการเลือกแบบฐานสอง (binary) เหมือนเลข 01 คือไม่เข้าร่วม ก็ต่อต้านและเกลียดสิ่งที่ตัวเองเลือกไม่ได้และไม่ชอบจนอยากเอาชนะและข้ามผ่านมา
หนังยังเน้นย้ำกับให้ความสำคัญในเรื่องของ ‘ทางเลือก’ ตัวแปรสำคัญคือตัวละครลิลิธที่หยิบยื่นโอกาสและเส้นทางมาให้ เป็นเส้นทางที่จะร่ำรวยกับชื่อเสียงโด่งดังแต่ต้องเดินผ่านตรอกซอยอันมืดมิด ทุกคนมีมีทางเลือก ตัวเอกเองก็มีทางเลือกว่าจะรับสิ่งที่ถูกหยิบยื่นเข้ามาตรงหน้าหรือไม่ เหมือนที่หนังใช้เหล้าเป็นสิ่งที่สแตนเกลียดเข้าไส้ และเขาเลือกได้ว่าจะกินมันหรือไม่
สแตนใช่ว่าจะไม่มีทางเลือกที่จะไม่ต้มตุ๋น จะมีสิ่งหนึ่งที่ตัวละครสแตนมักจะพูดเสมอคือ “ผมไม่อยาก””ผมจะไม่ทำ” “ไม่มีทาง” คำพูดนั้นเป็นการปฏิเสธที่เกิดจากการเกลียดอะไรมากๆ และจะไม่มีวันทำสิ่งนั้น โดยเฉพะการปฏิเสธที่จะดื่มและไม่ชอบทุกคนทีดื่ม ซึ่งจะว่าไปแล้วบางครั้งเราก็ไม่อาจรู้ได้ว่า ไอ่การที่เรารู้สึกเกลียดชังอะไรมากๆ นั้นเบื้องลึกเพราะเรารู้ว่าหากเราได้ลิ้มลองแล้วมันจะเปิดเผยตัวตนบางอย่างของตัวเองรึเปล่า หรือเมื่อได้ลองแล้วเราจะเสพติดมันรึเปล่า สำหรับสแตนเขากล้าที่จะปฏิเสธและกล้าที่จะเลือก แต่สิ่งนั้นดีกับเขาหรือไม่เป็นสิ่งที่เขาต้องตั้งคำถามและค้นพบด้วยตัวเอง
ในขณะเดียวกันนั้น ตัวละครสแตนก็ใช้คำว่า “ผมเองก็ไม่ใช่คนดี” ตามที่เห็นในตัวอย่างในการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในการใช้ความสามารถ (วิชาอ่านใจคน) ในการต้มตุ๋น ทั้งยังพูดปลอบใจให้ตัวเองรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำด้วยการมองว่านี่เป็นการคนอื่น โดยที่ไม่ได้คิดหน้าคิดหนังถึงสิ่งเลวร้ายและผลพวงความเสียหายของทางเลือกที่เลือกเดินต่อตัวเขาเอง อนาคตของเขา และคนรอบข้าง
อีกสิ่งที่หนังแสดงให้เห็นตลอดเรื่อง คือการเดินทางผ่านหรือทะลุผ่านอะไรซักอย่าง สิ่งขวางกั้นและประตูเหล่านั้นคือช่องทางที่จะนำสแตนไปสู่อีกด้านหนึ่งของจิตใจ เหมือนชีวิตจริงที่ทุกครั้งที่เราเดินเข้าออกอะไร มักจะเป็นการเดินทางไปเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์บางอย่าง
และไม่ว่าจะเป็นการเดินทางกลับมาผ่านช่องทางเดิมหรือไปยังช่องทางใหม่ เรามักจะเติบโตไปในทางใดทางหนึ่งเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าอยากให้เป็นทางเดินแบบไหน อยากเป็นใคร เรียนรู้อะไรไปแล้ว และท้ายที่สุดอยากเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่ทำ เพียงแต่ถ้าหากไม่ระวัง การเดินทางที่คิดว่าดีต่อตนเอง ไม่คิดให้รอบคอบ จะเป็นการเดินทางจากที่สูงลงที่ต่ำแทนที่จะเดินทางจากที่ต่ำขึ้นที่สูง
แม้จะบอกว่าหนังเป็นเรื่องราวของ ‘การเดินทาง’ ของสแตน แต่การเดินทางนี้ยังไม่ได้เป็นแค่การเดินทางในระนาบหรือแกน X แต่ในเชิงอุปมาอุปมัยแล้วยังเป็นการเดินทางแบบแกน Y หรือแนวดิ่ง ที่ยิ่งตัวละครเดินทางในแนวระนาบกับโลกไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการดำดิ่งลงไปยังด้านล่างกับสถานที่ที่ตัวเองไม่รู้จักและตัวเองไม่สามารถควบคุมอะไรได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะชีวิตมักจะเติบโตไปในทางที่คาดไม่ถึงเสมอ ซึ่งหนังมีการใช้สัญลักษณ์ตรงนี้หลายครั้งไม่ว่าจะเป็นในช่วงแรกที่ตัวเอกต้องเดินผ่านประตูบ้าน, เดินขึ้นรถไฟ, เดินลงรถไฟ โดยเฉพาะต้องเดินผ่านหน้าปีศาจที่อ้าปากและทางเดินขดเป็นเกลียวที่ให้ความหมายว่าเขากำลังเดินทางเข้าสู่โลกที่อันตรายและพิศวง ทางเดินนี้ค่อยๆ เดินและต้องเดินดีๆ
และต่อมาที่หนังจับตัวเอกเดินทางเข้าไปหาลิลิธซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ กับได้เดินผ่านตรอกซอยแห่งฝันร้ายอันมืดมนตามที่หนังให้เห็นจริงๆ
ซึ่งสุดท้ายหากว่ากันด้วยเรื่องของความมืดในตรอกซอยในเชิงวิทยาศาสตร์ ความมืดทั้งไม่มีอยู่จริงหากแต่มันเป็นเพียงภาวะของการขาด ‘อนุภาคโฟตอน’ เท่านั้นเอง ฉะนั้นสำหรับหนังเรื่องนี้และเส้นทางของตัวเองการเดินผ่านตรอกซอยอันมืดมิดที่เพิ่งบอกไปว่ามีฉากแบบนั้นจริงๆ จึงไม่ใช่การเดินผ่านตรอกซอยที่มืด เพียงแต่มันขาดแสงเท่านั้น และแสงที่ขาดไปคือจิตใจของเขาที่ปิดกั้นทุกแสงที่เข้ามาให้เหลือแต่เส้นทางที่มองไม่เห็น หาใช่สิ่งที่เข้ามาและถนนหนทางไม่
หนังเรื่องนี้สุดท้ายจึงเหมือนถอดองค์ประกอบความนัวร์ งานภาพ และบริบทยุคสมัยอันวินเทจไปก็ยังเป็นหนังที่พูดประเด็นเดียวกับหนังต้มตุ๋นที่มักจะพูดคล้ายๆ กันเสมอไม่ว่าตัวเอกจะรอดพ้นในตอนจบแบบ scot-free หรือไม่ นั่นก็คือ “การต้มตุ๋นน่ะ มันไม่ดีนะ” แต่เพียงแต่หนังแตกต่างตรงที่พาเรากระโดดดำดิ่งไปยังสระดำน้ำของจิตใจตัวละครและแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการต้มตุ๋นที่เป็นด้านมืดของด้านมืดอีกชั้นและทำให้ตัวเอกตระหนักถึงตรงนี้ให้มากขึ้น อีกจุดที่ชอบคือการใช้สัญลักษณ์ของตัวประหลาดกินไก่ที่ใส่มาตอนต้นเรื่อง และตัวเอกอย่างสแตนก็ได้เฝ้ามองดูมันจากด้านบนไปยังด้านล่างโดยไม่อาจทราบได้ว่าเขาเวทนาหรือสมเพชมันกันแน่ หรือไม่รู้สึกอะไรเลย
จุดนี้ทำให้เราครุ่นคิดไปกับมันว่า (เมื่อมองทะลุคำถามที่ว่าตัวประหลาดมีจริงหรือไม่) สุดท้ายแล้วอะไรคือนิยามของคำว่าตัวประหลาดกันแน่?
สเน่ห์ของ Nightmare Alley คือเป็นหนังต้มตุ๋นที่ไม่ได้เน้นขายความแยบยลและทริคเหมือน Now You See Me อะไรทำนองนั้น แม้จะมีเรื่องของเกมอันตรายและความลุ้นระทึกเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม แต่ทริคและการต้มคนเป็นแค่องค์ประกอบของความดราม่าชีวิตเหมือนที่มันเป็นแค่องค์ประกอบที่ถูกใช้งานในฐานะเครื่องมือเท่านั้น
หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำพูดอะไรประมาณนี้มาบ้าง “ชีวิตคือการเดินทาง เติบโต และเรียนรู้” แต่นั่นไม่ใช่สำหรับทุกคน แม้พวกเขาอาจจะเคยเดินทาง และทุกคนมีการเติบโตจะเป็นเรื่องจริงแม้จะเป็นคำกำกวมที่สามารถพุ่งไปได้สองทางคือเติบโตทางด้านดีและด้านที่ชั่วร้ายก็ตาม แต่สำหรับบางคนเขาได้รับคำเตือนด้วยความหวังดีและไม่สนใจใยดีคำเตือนนั้น เขาได้รับฟังคนที่ผ่านมาก่อนแต่เพิกเฉย รอให้มันเกิดกับตัวจนไร้ซึ่งหนทางถึงได้สำนึกและเรียนรู้ คนบางคนไม่เคยเรียนรู้ (someone never learns) เท่านั้นเอง
สุดท้ายความหมายของตรอกซอยแห่งฝันร้าย (Nightmare Alley) นั้นและสิ่งที่หนังต้องการจะพูดคือคือคนเราเลือกได้ตั้งแต่ก่อนจะเดินเข้าไปในตรอกซอยอันมืดมิด และเลือกได้แม้กระทั่งแหย่เท้าเข้าไปข้างหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเดินเข้าไปแล้วหากจะเดินออกมาในตอนที่ยังเห็นปากซอยก็สามารถทำได้ น่าเศร้าที่บางคนเดินเข้าไปลึกเรื่อยๆจนสลัดคนที่รักและห่วงใยออกไประหว่างทาง กับเดินดุ่มๆเข้าไปโดยจงใจหลับหูกลับตา รู้ตัวอีกทีเขาเดินลึกเข้าไปจนหันกลับมาก็ไม่พบอะไรอีกแล้ว ใครก็ไม่อาจฉุดรั้ง ตามหาเขาเจอ หรือ มีวันได้เห็นหน้าค่าตาเขาอีกเลย