“ไม่เคยดูหนังพี่กานต์ ถือว่าบาป” ประโยคนี้กล่าวขึ้นโดยผู้กำกับละครเวทีคนหนึ่ง ซึ่งนั่นทำให้เราอยากสารภาพบาป—เราดูหนังของกานต์ครั้งแรกตอนอายุ 27 แถมดูจบก็ร้องไห้แทบเสียจริต หมดสิ้นมาสคาร่า
ขอออกตัวก่อน โดยสามัญแล้วเราไม่ค่อยมีสมาธิกับหนังนิ่งๆ แต่ไม่ใช่กับหนังของผู้กำกับ กานต์—ศิวโรจณ์ คงสกุล ที่เพิ่งได้ดูอย่างเต็มอิ่มในงานฉายหนังสั้น ‘มากกว่ารักในหนังของกานต์’ โดย Documentary Club เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งที่ทำให้มีน้ำตาคือสองเรื่องที่ใช้นักแสดงชุดเดียวกัน และฉายต่อกันอย่าง ‘เหมือนเคย’ กับ ‘ตลอดไป’ ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของคู่ชีวิตในวัยใกล้ชิดกับความตาย
เราพบว่าความนิ่งและเรียบง่ายนั้นทรงพลัง ยิ่งเมื่อทำงานร่วมกับบทพูดเป็นธรรมชาติและเพลงประกอบที่มาถูกจังหวะ คงมีน้อยคนนักจะไม่เสียน้ำตา
หลายคนน่าจะรู้จักกานต์—ศิวโรจณ์จากผลงาน ‘ที่รัก (Eternity)’ หรือบางคนอาจรู้จักจาก ‘Autumn in My Heart’ เวอร์ชั่นไทย แต่ไม่ว่าใครจะรู้จักจากทางไหน เราขอกระซิบว่าหนังสั้นของเขาถึงแม้จะหาดูยาก คือรสชาติที่ไม่ควรพลาด
และในขณะที่ชอบหนังของเขาระดับ recommend กับทุกคน เรากลับรับรู้ข่าวคราวของเขาน้อยเหลือเกิน นั่นจึงทำให้บทสนทนานี้เกิดขึ้น เพื่อทำความรู้จักกับเขาที่หลายคนยกให้เป็นเจ้าพ่อหนังรัก ว่าด้วยการทำหนัง ความเปลี่ยนแปลงตามช่วงวัย สิ่งที่อย่างไรก็แกะไม่ออก และเลยไปถึงความเป็นไปในวงการหนังบ้านเราด้วย
Life MATTERs : ช่วงนี้คุณกำลังทำโปรเจกต์ไหนอยู่
กานต์ : ที่เตรียมๆ กันอยู่เป็นโปรเจกต์หนังยาวเรื่องที่ 2 ต่อจากที่รัก (Eternity) ซึ่งทิ้งช่วงมานานประมาณ 6 ปี ชื่อเรื่อง Regretfully at Dawn เป็นโปรเจกต์ที่เราอยากทำมานานแล้ว พัฒนามาตั้งแต่ที่เราได้ช่วยทำโครงการ Cannes residency ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ไปอยู่ที่ปารีสเป็นเวลา 6 เดือน
แต่พอมันผ่านไปประมาณ 6 ปี ตัวบทก็เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน รวมถึงความสนใจของเราเองด้วย ที่มันเปลี่ยนไปจากปีที่เริ่มเขียนบทขึ้นมา เราก็กำลังปรับเปลี่ยนมันอยู่ ตอนนี้ก็ได้ทุนมาซัพพอร์ต มีคนมาสนใจอยากร่วมลงทุนบ้าง แต่มันยังไม่พอหรอก ก็กำลังหากันเพิ่มอยู่
Life MATTERs : ระยะเวลา 6 ปีนี้ เปลี่ยนคุณไปมากแค่ไหน
กานต์ : ตัวเราเองเปลี่ยนไปทุกปี และมันอาจจะไม่ใช่แค่ตัวเราอย่างเดียวที่เปลี่ยน แต่ทุกๆ อย่าง สภาพสังคม ครอบครัว หรืออายุก็ตาม มันเปลี่ยน แล้วมันก็คงเข้ามามีผลต่อความคิดสร้างสรรค์และการคิดงานด้วยเหมือนกัน
ย้อนไปถึงหลายๆ เรื่องที่ทำมาก่อนหน้านี้ ถ้าไม่นับเรื่องเทคนิคที่เราต้องเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอด ตอนเขียนคือมันออกมาโดยอัตโนมัติ มันเหมือนเป็นสัญชาตญาณ เราไม่ได้เค้นอะไรมากเลย แต่ตอนนี้ยอมรับว่ามันมีบางอย่างที่ไม่เป็นออโต้แบบตอนนั้นแล้ว เราเริ่มคาดหวังมากขึ้น มองอะไรต่างๆ แล้ววิเคราะห์ ถกคิดกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น
เมื่อก่อนเราเป็นเด็กวัยรุ่น พอได้สร้างงานมันคือความสุขล้วนๆ แล้วช่วงนี้มันมาถึงตรงที่ ทำไมเราดูระแวดระวังอะไรมากขึ้น เมื่อก่อนจะเหมือนลอยๆ อยู่กับความสุขที่ว่าเราทำงานไปแล้วไม่ต้องแคร์กับอย่างอื่น พอจะทำก็ทำเลย งานมันก็เสร็จออกมา คนที่ดูก็ให้การตอบรับโอเคด้วย
แต่เอาเข้าจริงมาถึงตอนนี้ ถ้ามองเชิงระบบของการทำภาพยนตร์ที่ต้องหาทุน เพราะภาพยนตร์มันบังเอิญเป็นศิลปะที่แพง มันไม่ได้สามารถลุกขึ้นมาแล้วเปิดกล้องได้เลย เราต้องเจอผู้คนมากมายระหว่างทาง ต้องใช้เวลาพัฒนามันนานเหมือนกัน ลำพังจะทำให้คนอื่นมาร่วมงานกับเราก็เป็นเรื่องที่ยากแล้ว ตัวเราเองก็โตขึ้นแล้วมองอะไรยากขึ้นไปอีก ตอนนี้ทุกอย่างมันเลยยากกว่าเก่า ทั้งที่เพิ่งผ่านไปแค่ 6 ปีเอง
มันเป็นหนังรัก เป็นเรื่องความทรงจำ มีคนแก่ มีเด็ก มันก็เลยมีชีวิตที่มันซ้อนอยู่ในนั้น แล้วมันปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่ได้ผ่านซีนนั้นมาแบบง่ายๆ เลย งานส่วนตัวแบบนี้มันติดตัวเรา มันแกะไม่ออก มันกลายเป็นความทรงจำของชีวิตเราไปแล้ว
Life MATTERs : เมื่อตอนฉายหนังในงาน ‘มากกว่ารักในหนังของกานต์’ มีหนังเรื่องหนึ่งที่คุณเลือกจะไม่ดูมัน เป็นเพราะอะไร
กานต์ : ในตอนนั้นหนังสั้นเรื่อง ‘เหมือนเคย’ กับ ‘ตลอดไป’ มันต้องฉายต่อกัน เรารู้สึกว่าถ้าดูเหมือนเคยก่อนแล้วต่อด้วยตลอดไป ตัวเองจะเศร้าเกินไปแล้วพูดจาไม่รู้เรื่อง (เนื่องจากตอนท้ายจะมีช่วง Q&A—ผู้เขียน) คือคนดูก็จะได้ดูผลลัพธ์ที่เราคัดสรรมาแล้วล่ะ ทั้งอารมณ์ เทคนิค เลยจะรู้สึกกับมัน แต่ต้องไม่ลืมว่าคนทำมันมีความทรงจำก้อนหนึ่งที่ล้อมผลลัพธ์นั้นอยู่เหมือนกัน
เรื่องเหมือนเคยที่เราไม่ดู มันเป็นหนังรัก เป็นเรื่องความทรงจำ มีคนแก่ มีเด็ก มันก็เลยมีชีวิตที่ซ้อนอยู่ในนั้น แล้วมันปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่ได้ผ่านซีนนั้นมาแบบง่ายๆ เลย งานส่วนตัวแบบนี้มันติดตัวเรา มันแกะไม่ออก มันกลายเป็นความทรงจำของชีวิตเราไปแล้ว
Life MATTERs : มีบางคนบอกว่าพอทำหนังเสร็จ มันคือการคลี่คลายหรือละลายปมในความทรงจำก้อนนั้นๆ ไปแล้ว สำหรับคุณมันเป็นแบบนั้นไหม
กานต์ : ตลกอย่างหนึ่งคือ เราก็เคยรู้สึกแบบนี้ แต่เหมือนจะคิดไปเอง ก่อนหน้านั้นเราคิดว่าถ้าทำเสร็จก็คงจะแกะบางอย่างออกจากตัวเราไปได้ แต่เราก็มาคิดว่า หรือสุดท้ายมันไม่จริงนะ มันยังกลับวนมาได้อีกเรื่อยๆ ก็เลยรู้สึกไม่แน่ใจ หรือจะเรียกว่าเราทำงานนั้นไม่ประสบความสำเร็จก็ได้มั้ง
อย่างเรื่องที่รัก เราเล่าด้วยความคิดถึงพ่อเราที่จากไปแล้ว เวลาพูดอะไรถึงมันอีก ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกนั้นมันกลับมา มันไม่ได้สั่งได้แบบคัตไปเลย ว่าฉันลืมแล้ว เราไม่ได้แอคทีฟและรวดเร็วมากขนาดนั้น
เราวนๆ อยู่กับอะไรอย่างนี้ รู้สึกว่าการที่เด็กคนนึงมีบางอย่างมากระทบในวัยเด็ก —ที่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเรื่องนั้นมันกระทบเรามากแค่ไหนหรอก— แต่มันมีผลมากเลย กับคนคนหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตต่อไป ต่อให้เราได้รับความรักจากแม่ จากคนทำหนังด้วยกัน หรืออะไรก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องนี้จะแว่บ หรือกระพริบเข้ามาในชีวิตบ้างอยู่ดี
Life MATTERs : มองว่าหนังของคุณมักเล่าเกี่ยวกับความรักที่กินเวลายาวนาน เป็นเรื่องเล่าจากช่วงวัยหนึ่งไปสู่อีกวัยหนึ่ง…
กานต์ : เราก็เคยตั้งคำถามกับงานตัวเอง มีคนเคยแนะนำเราว่าเราเป็นเจ้าพ่อหนังรัก หรือหนังสั้นที่เราทำมาก่อนเองก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์ แต่จริงๆ แล้วความสนใจของเราคือเรื่องความโดดเดี่ยว ความเหงา ความที่อยู่ห่างกันมากๆ มากกว่า
ในหนังของเราบางเรื่อง มันจะมีคนที่ข้ามเส้นความตายไปแล้วแต่ตัวเขายังดำเนินอยู่ ซึ่งถ้ามองอีกมุมหนึ่งมันก็ไม่ใช่หนังที่เรียลลิสติกทั้งหมดนะ มันเป็นหนังเซอร์เรียลด้วยซ้ำ แต่แค่มันมาในนามของการถ่ายแบบธรรมชาติที่สุด แล้วก็ไม่ได้ไปปั้นให้มันเป็นแฟนตาซี
แล้วความสนใจของเรามันก็เป็นก้อนเดิมนี่แหละ เพียงแต่เราตั้งคำถามว่าคนที่จากเราไปแล้ว เขาไปยืนอยู่ที่ไหน ระหว่างที่เรากินข้าว เขาทำอะไรอยู่ หรือขณะที่เราไม่คิดถึงเขา เขาคิดถึงเราไหม เพราะความห่างไกลนั้นมันไกลมากจริงๆ ไม่ใช่แค่คิดถึงเพื่อนที่อยู่อีกที่หนึ่งแล้วขับรถไปหา หรือการคิดถึงแม่แล้วขับรถกลับบ้าน
อย่างที่บอก พ่อเราเสียไปตั้งแต่เราอยู่ ม.2 ก้อนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพ่อมันปักหมุดจนถอนไม่ออกเหมือนกัน พอเราเรียนและรู้ว่ามีวิธีที่จะสื่อสารออกมาเป็นศิลปะ ไม่ว่าจะถ่ายรูป วาดรูป หรือถ่ายหนัง เราก็ทำ
อาจเป็นเพราะพ่อเราเสียในช่วงที่เปลี่ยนผ่านด้วยมั้ง เราเป็นเด็กผู้ชายที่กำลังจะต้องหาว่าเราจะใช้ชีวิตในรูปแบบไหน แล้วตอนนั้นพ่ออายุแค่ 40 กว่าเอง เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นความแฟนตาซีแบบเด็กๆ ว่า หรือมันไม่จริง? ซึ่งก็ไม่รู้มันจริงไม่จริง เราหลอกตัวเองว่า หรือที่เราอยู่ตอนนี้คือฝัน เดี๋ยวหลับไปแล้วตื่นขึ้นมาอาจจะเจอเขาก็ได้
เราวนๆ อยู่กับอะไรอย่างนี้ รู้สึกว่าการที่เด็กคนนึงมีบางอย่างมากระทบในวัยเด็ก —ที่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเรื่องนั้นมันกระทบเรามากแค่ไหนหรอก— แต่มันมีผลมากเลย กับคนคนหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตต่อไป ต่อให้เราได้รับความรักจากแม่ จากคนทำหนังด้วยกัน หรืออะไรก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องนี้จะแว่บ หรือกระพริบเข้ามาในชีวิตบ้างอยู่ดี
Life MATTERs : แล้วเวลาทำหนัง คุณแยกงานส่วนตัวกับงานลูกค้าอย่างไรบ้าง
กานต์ : จริงๆ แล้วงานที่ทำให้ลูกค้าง่ายกว่า เพราะว่ามันเป็นทักษะ เป็นความถนัด เหมือนเป็นงานช่าง แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าระหว่างที่ช่างทำงานเขาก็มีหัวใจ เพียงแต่เราจะไม่ได้จมไปกับมันมากเท่ากับงานส่วนตัว
ถ้าจะมองให้แยกกัน อย่างประสบการณ์ที่เราเคยทำโฆษณามา มันก็จะมีชุดความรู้หรือเทคนิคที่เอามาจัดการได้หมด ตอนเรารับผิดชอบงานซีรีส์ที่ต้องอยู่กับมันเกินครึ่งปี ก็ไม่มีปัญหาเลย ตื่นมาแล้วรู้ว่าทำอะไรอยู่ ก็ทำให้มันสมบูรณ์ในพาร์ตนั้น ถ้ามองแบบนั้นเราคิดว่ามันเคลียร์กว่า
ในขณะที่งานส่วนตัว คนที่เข้ามาร่วมคือเขาต้องโคตรรักเรา เพราะมันไม่ได้มีอะไรให้ยึดว่าเดินไปทางนี้แล้วมันถูกแน่ๆ แต่ถ้างานลูกค้ามันจะมีการชี้วัดบนโต๊ะมากมาย ลูกค้าที่คอมเมนต์ว่างานไม่ดียังถือเป็นข้อดีเลย มันผ่อนแรงเราเยอะ
Life MATTERs : ในฐานะที่คุณทำงานมานาน ตั้งแต่ตอนที่เทคโนโลยีหรือเรฟเฟอเรนซ์ไม่ได้เอื้อขนาดนี้ คิดว่าถ้าตัวเองเกิดในยุคนี้ทุกอย่างจะง่ายกว่าไหม
กานต์ : เราอินกับช่วงเวลาที่เราได้ฝึกฝนมา คือน้องๆ ยุคนี้ก็จะมีไทม์ไลน์ชีวิตของตัวเอง ถึงจุดหนึ่งคุณก็จะอินกับช่วงเวลาฝึกฝนเหมือนเรา เพียงแต่เครื่องมือมันไม่เหมือนกันเท่านั้น ตอนนั้นเราอาจจะไปห้องสมุดเพื่อซีร็อกซ์หนังสือ แต่ยุคนี้ก็ต้องยอมรับว่าไม่จำเป็นแล้วจริงๆ ซึ่งมันไม่เป็นไร มันก็ถูกของมัน
คือรุ่นพี่ รุ่นพ่อ เขาก็คงจะยากกว่าเรา คงวุ่นๆ ในแต่ละยุคสมัยของเขา ซึ่งไม่มีใครผิดหรือถูก เราคิดว่าถ้าใครผสมกลมกลืนความสุขความทุกข์ หรือบาลานซ์งาน บาลานซ์ตัวเองได้ในวัยหนึ่ง คนนั้นมากกว่าที่เราจะรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ มันไม่ได้วัดกันในเรื่องของยุคสมัยว่ารุ่นเก่าจะต้องเหนือกว่า หรือรุ่นเด็กจะฉาบฉวยเกินไป เราไม่ได้มองแบบนั้น
ทุกยุคก็มีความฉาบฉวยและความลึกซึ้ง รุ่นใหม่ก็มีทั้งเด็กที่ฉาบฉวยและที่ลึกซึ้ง ที่สำคัญคือต้องแมทช์ให้ได้กับสปีดของตัวเอง ว่าคุณเป็นคนที่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้วิ่งเก่ง แต่คุณเดินได้โคตรนาน อย่างนั้นคุณก็ไม่ต้องเร่ง อย่าไปฝืน เพราะทุกคนมันไม่เท่ากัน
เราอาจจะมีเพื่อนที่วิ่งได้เร็วตลอดอยู่ตลอด มันก็จะรู้สึกว่ากูชินแบบนี้ แต่เราก็อยากอิ๊บไว้นิดนึงว่า คนเร็วอาจจะหันมามองคนช้าบ้าง ว่ามึงถึงไหนแล้ววะ หรือคนช้าก็อาจจะโทรไปถามคนเร็วว่าหิวน้ำไหม (หัวเราะ)
แล้วเกมเร็วมันไม่ละเอียด เราคิดแบบนั้นนะ ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมขึ้นในสายภาพยนตร์ เราว่าหนังเรายังต้องการความคราฟต์อยู่ เวลาที่คนอินกับหนังเรา ครึ่งหนึ่งมันเป็นเรื่องของเทคนิคด้วย ซึ่งถ้าคุณมีเวลาปั้นเทคนิคของคุณให้มันคราฟต์ ผู้ชมเขาก็จะได้สารในแบบที่เราอยากให้เป็น ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรที่เราหวงแหนอยู่
Life MATTERs : แล้วคุณคิดว่าตัวเองต้องปรับตัวให้เร็วขึ้นไหม
กานต์ : เมื่อก่อนเราอาจจะพลังเยอะกว่านี้ แล้วก็จะมีความรู้สึกของการเข้าไปหาอะไรต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่ช่วงนี้คือพยายามทำให้ดีที่สุดในตอนที่มีอะไรเข้ามาหา ถ้าเล่นกีฬาก็เหมือนการปรับแผนว่าเราจะไม่ได้เล่นเกมรุก แต่เลือกเล่นเกมรับให้สมบูรณ์ที่สุด เหมือนเราเลือกชะลอความเร็ว เพราะถ้าเกิดอะไรมันงงๆ ขึ้นมาแล้วเราตั้งหลักได้ดีมันก็ไม่น่ากลัวอะไร
แล้วเกมเร็วมันไม่ละเอียด เราคิดแบบนั้นนะ ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมขึ้นในสายภาพยนตร์ เราว่าหนังเรายังต้องการความคราฟต์อยู่ เวลาที่คนอินกับหนังเรา ครึ่งหนึ่งมันเป็นเรื่องของเทคนิคด้วย ซึ่งถ้าคุณมีเวลาปั้นเทคนิคของคุณให้มันคราฟต์ ผู้ชมเขาก็จะได้สารในแบบที่เราอยากให้เป็น ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรที่เราหวงแหนอยู่
การทำภาพยนตร์นี่แป๊บๆ ก็หมดวันแล้ว แล้วถ้าเราดันไปเพิ่มปริมาณงานในวันนั้นๆ เพื่อให้ทุกอย่างเสร็จเร็วขึ้น ผลมันออกมาต่างอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่เราพยายามสู้อยู่ โดยที่มันอาจจะสวนทางกับการทำงานแบบอุตสาหกรรม ซึ่งก็ยอมรับนะว่าเพื่อนร่วมงานเขาต้องทำงานหนักกว่าเราเยอะเหมือนกัน
แม้กระทั่งโปรดิวเซอร์เอง พอเขาฟังเราแบบนี้เขาจะเข้าใจเรา แต่สิ่งที่เขาเผชิญ เขาต้องไปแบกอะไรอีกตั้งเยอะ ส่วนใหญ่แล้วเราก็จะต้องหาจุดตรงกลางให้ได้แหละ แล้วงานบางงานน่ากลัวตรงที่ไม่มีการแชร์แบบนี้เกิดขึ้น เช่นว่าอะไรคือสิ่งที่งานนี้ต้องการจริงๆ หรือคราฟต์มันอยู่ตรงไหน คุณภาพของงานชิ้นนี้อยู่ตรงเส้นไหน ห้ามต่ำกว่าเส้นนั้น บางงานไม่ได้คุยด้วยซ้ำ แต่ทำไปซะแล้ว
Life MATTERs : จึงจำเป็นต้องหาทีมที่เข้าใจกันมากจริงๆ ใช่ไหม
กานต์ : ใช่ เราไม่ค่อยได้เปลี่ยนทีมเยอะ คือเราว่าอย่าให้งานชิ้นนึงมันมาถึงจุดที่ต้องตีกันเลย ความสัมพันธ์ล้มเหลวเพราะการทำงานนี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเลย ซึ่งเราว่าโจทย์ยากที่สุดคือก้อนเงิน ถ้าต้นน้ำมันมาต่ำมาก กระบวนการที่เหลือก็ยากแล้ว
พูดไปมันจะดูเหมือนโทษโปรดิวเซอร์ที่จัดการเงินไม่ได้ แต่ไม่ใช่เลย โปรดิวเซอร์ทุกคนในประเทศนี้ทำงานหนักมาก ไม่ใช่แค่แขนงภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์ทุกคนเขาเป็นคนทำงาน เขาก็มีใจอยู่แล้วว่าอยากให้ลูกทีมทุกคนมีรายได้สมเหตุสมผล อยากให้การทำงานแฮปปี้
แต่ถ้าเกิดบังเอิญเขาตกลงไปแล้วกับเงินก้อนนั้น ที่มันไม่ได้แมทช์เลยกับการทำงานจริง เราต้องยอมรับเลยว่าให้ตายยังไงก็เฟล คงฟลุคมากถ้ามันยังยื้อความดีงามบางอย่างได้อยู่ เพราะรู้สึกว่ามันผิดตั้งแต่ต้น จากตรงนั้นลงมามันเป็นมวลที่เราซวยแล้วล่ะ
บ้านเรามันมีโจทย์มาตั้งแต่เรียนจบกันแล้วว่าพื้นที่มันน้อย มันก็ต้องสู้ให้เกิดพื้นที่ไม่ว่าจะแวดวงไหน อันนั้นก็เป็นความเหนื่อยก้อนใหญ่แล้ว ทีนี้แล้วให้เรามีน้ำกิน แอร์เย็น มีความสุขหน่อยได้มั้ย แต่นี่ดันต้องมา ‘งั้นมึงกินน้ำแค่ครึ่งแก้วได้มั้ย ไม่มีแอร์นะ’ อะไรแบบนี้เราว่ามันเริ่มเป็นความไม่เมกเซนส์ของมนุษย์ทำงานแล้วครับ
Life MATTERs : ในยุคที่เงินเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุด เราจะจัดการความซวยมวลนั้นได้อย่างไร
กานต์ : หลังๆ เราเริ่มคิดว่ามันไม่ต้องมีงานชิ้นนี้เกิดขึ้นก็ได้นะ ถ้ามันไม่เมกเซนส์ (หัวเราะ) คือถ้ามันไม่มีการตอบตกลงว่างานแบบนี้จะเกิดขึ้น โลกนี้จะเป็นยังไง เราอยากให้ถามแบบนี้กันบ้าง แต่ทุกวันนี้รู้สึกว่าหลายๆ คนเลือกจะ โอเคครับ ยอมครับ แต่ดราม่าหลังจากนั้นมหาศาลเลย บางคนก็อยากเลิก ไม่ทำงานแล้วไปเลย มันคุ้มไหม
แต่เรื่องนี้มันเป็นวิสัยทัศน์ของคนด้านบนๆ แล้วล่ะ สำหรับคนทำงาน เราว่ามองไปที่ทุกคนได้เลย คนทำงานในแวดวงศิลปะ หรืออุตสาหกรรมเอนเตอร์เทนเมนต์จริงๆ แล้วตั้งใจกันเยอะ
บ้านเรามันมีโจทย์มาตั้งแต่เรียนจบกันแล้วว่าพื้นที่มันน้อย มันก็ต้องสู้ให้เกิดพื้นที่ไม่ว่าจะแวดวงไหน อันนั้นก็เป็นความเหนื่อยก้อนใหญ่แล้ว ทีนี้แล้วให้เรามีน้ำกิน แอร์เย็น มีความสุขหน่อยได้มั้ย แต่นี่ดันต้องมา ‘งั้นมึงกินน้ำแค่ครึ่งแก้วได้มั้ย ไม่มีแอร์นะ’ อะไรแบบนี้เราว่ามันเริ่มเป็นความไม่เมกเซนส์ของมนุษย์ทำงานแล้วครับ
เราก็ไม่แน่ใจว่าวงการอื่นการต่อรองมันเป็นอย่างไรนะ อย่างเรามีเพื่อนที่เป็นวิศวกร เรายังรู้สึกว่าเขามีที่ทางในการต่อรอง อย่างในโรงงานก็ยังมีห้องพยาบาลรองรับ มันเมกเซนส์อยู่ตลอด ฐานเงินเดือนในหลายอาชีพมันจะชัดเจน แล้วหันมาดูทางแวดวงนี้ เรารู้สึกว่าคนทำงานวนเวียนกับสิ่งนี้กันมาเท่าไหร่แล้ว
แล้วมันก็มีคนพูดเรื่องนี้มาหลายยุคสมัยแล้ว แต่ทำไมมันยังแปลกๆ อยู่ และสิ่งที่เสียดายที่สุดคือพลังกับสมองของคนวัยหนุ่ม ก่อนที่จะมีครอบครัว หรือต้องกลับไปดูแลคนแก่ที่บ้าน ในช่วงที่ยังอิสระ ยังไม่มีอะไรรัดตัว ทำไมไม่มีใครมองเห็นว่าให้ใช้พลังของพวกเขากลุ่มนี้ให้คุ้มสิ เพื่อที่จะได้พัฒนากันต่อ ไม่ใช่เรียกกันมาให้ฝ่อ เรียกกันมาแล้วไม่ให้เขาเห็นด้วยว่าคราฟต์เป็นอย่างไร ให้เขาอยู่แต่ในงานที่เป็นการแก้ปัญหา หรือถูกบีบอะไรบางอย่างกันมาแล้ว
เราไม่เชื่อทฤษฎีเรื่องล่มสลายและหมดหวัง ถ้าเราหยิบความหมดหวังมาพูดกันบ่อยๆ แล้วมันจะอยู่ได้เหรอ อย่างน้อยที่สุดอย่าเพิ่งไปพูด อย่าอยู่ในโลกของกอสซิปที่พูดแต่ปัญหา คือเราไม่ได้เพิกเฉยนะ แค่ไม่ได้อยู่กับมันตลอดเวลา เราพยายามตั้งคำถามว่า แล้วคุณจำได้ไหมว่าตอนที่คุณสนุกอย่างเดียวนั้นมันเกิดขึ้นนานแล้วหรือยัง
Life MATTERs : ดูเหมือนมีความเครียดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ แบบนี้คุณจัดการตัวเองอย่างไร
กานต์ : พอไปถึงจุดหนึ่ง เราเลยจะมีเคล็ดลับว่าบางทีต้องถอยออก ไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน เที่ยวสวนส้มโอไปเลย ไม่ต้องคุยกันเรื่องไปดูหนังที่เฮาส์เรื่องนั้นมายัง หรือทำหนังเรื่องนี้แล้วเป็นไงบ้าง บางทีมันก็ทำให้เราไม่ถูกคลุมด้วยความล้า หรือความฝ่อเหล่านั้น เผื่อจะมีพลังมาเสริมๆ เตือนๆ กัน เพราะถ้าตื่นมาแล้วถูกคลุมไว้ด้วยเรื่องหนักๆ ไปทุกวัน บางทีก็จะมองอะไรไม่ออก
แต่ปัญหาคือเราไม่สามารถจากไปเลยได้ เราก็ชอบมันอยู่ ก็เลยอยู่อย่างนี้แหละ แค่ใช้วิธีหลบเป็นครั้งคราว จริงๆ ก็เหมือนเป็นคนไม่ดีนะ เราไม่ได้เป็นคนที่ยืนต้านน้ำสู้แรงลม 24 ชั่วโมง เพราะเราก็เห็นว่าหลายคนที่ลุย เขาก็สู้อยู่ตรงนั้นแบบไม่ออกมาเลย แล้วถ้าไม่มีเขายืนอยู่ตลอด ก็อาจจะไม่มีใครมายืนอีก
พอคุยมาถึงตรงนี้มันก็หนักเหมือนกันเนอะ แต่เดี๋ยวเวลามันก็คงพัฒนาเราทุกคนให้หาวัคซีนต้านอะไรกันได้ ถ้ามันมาถึงจุดที่แต่ละคนไม่แฮปปี้กันจริงๆ ทุกคนก็คงกลับมาหาความสุข
เราไม่เชื่อทฤษฎีเรื่องล่มสลายและหมดหวัง ถ้าเราหยิบความหมดหวังมาพูดกันบ่อยๆ แล้วมันจะอยู่ได้เหรอ อย่างน้อยที่สุดอย่าเพิ่งไปพูด อย่าอยู่ในโลกของกอสซิปที่พูดแต่ปัญหา คือเราไม่ได้เพิกเฉยนะ แค่ไม่ได้อยู่กับมันตลอดเวลา เราพยายามตั้งคำถามว่า แล้วคุณจำได้ไหมว่าตอนที่คุณสนุกอย่างเดียวนั้นมันเกิดขึ้นนานแล้วหรือยัง
ในรอบปีสองปีมานี้ ไม่ว่าจะวงเหล้า การประชุม หรือเจอใคร บางจังหวะเราไม่ไหวก็ต้องเลี่ยงออกไป เพราะเรารู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว เวลาไม่ชิลล์ งานมันก็จะไม่ดีหรือเปล่า ในขณะที่บางงานเราได้หัวเราะกันบ้าง ทำไปด้วยความสนุก ความตลก ก้อนแบบนี้ต่างหากที่ขับเคลื่อนงานไปได้แบบมีแมจิก
Life MATTERs : แล้วความสุขในการทำหนังของคุณคืออะไร
กานต์ : แน่นอนเราอินกับสิ่งที่เราเล่า อย่างที่บอกว่ามันก็คือเรา มาจากเรา อีกข้อหนึ่ง มันเป็นเรื่องการออกกองฯ สายภาพยนตร์มันไม่ได้ผลิตออกมาจากผู้กำกับคนเดียว เราต้องมีทีมมาช่วย เราเองหวงแหนอารมณ์ที่มีความสุขกับการไปออกค่าย สมมติถ่ายหนังต่างจังหวัด ทุกคนเปิดประตูโรงแรมที่เรียงๆ กัน แล้วก็เงียบพร้อมกัน เพื่อให้คนอัดเสียงสามารถอัดได้ดีที่สุด
การทำงานแบบนี้มันแปลกมาก การพูดอะไรออกไปโดยที่มันเป็นแค่ตัวอักษรในบท ทุกคนก็อินกับมันแล้ว โมงยามแบบนั้น เรามีความสุขจนคิดว่ามันเป็นชีวิตเราไปหมด ไม่มีอย่างอื่นข้างนอกหรอก เราวนกับสิ่งนั้นอยู่นานและรู้สึกว่านี่เป็นครอบครัว
ก็เคยมีความคิดว่าถ้าต้องทำงานคนเดียวขึ้นมา เราไม่เหลือใครที่จะทำงานรวมกันแบบนั้นอีก เราจะยังเชื่อว่าเรารักทำหนังอยู่ไหม? ไปๆ มาๆ เราอาจจะไม่ได้อยากทำหรือเปล่า ตอนนี้คือตั้งคำถามแบบนั้นอยู่
Life MATTERs : เคยมองว่าตัวเองอยู่กับการทำหนังจนลืมใช้ชีวิตไหม
กานต์ : ของเราดีที่แม่และครอบครัวเราเข้าใจ เขาช่วยทำอย่างอื่นให้ด้วยซ้ำ เพราะเราเป็นคนไม่ได้สนใจในเรื่องการจัดการชีวิต เราอินมากกับการเข้าไปอยู่ในวงการทำหนัง ในที่ทำงานด้วยกันล้วนมีพลังพลุ่งพล่าน มีน้ำตาก็มีไปพร้อมๆกัน หัวเราะก็หัวเราะไปพร้อมๆ กัน เหมือนเราอยู่กันแต่ในนี้ โดยที่ก็เพิ่งมาคุยกันเองว่าซื้อประกันดีไหม (หัวเราะ)
ที่ตลกคือเราออกไปเจอเพื่อนบางกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มศิลปะ เขาบอกว่าเดี๋ยวนะ มึงเพิ่งทำเหรอ กูรู้สิ่งนี้นานแล้วนะ หรือวิธีการทำบัญชีหรืออะไรก็ตาม ที่ผ่านมามันมีมายาอะไรบางอย่างที่ทำให้เราต้องมนตร์จนหูตาไม่ได้มองเรื่องอื่นว่ามันสำคัญเหมือนกัน ก็ตกใจเหมือนกันตอนเพื่อนบอก ตลกดี
Life MATTERs : คุณกลัวตัวเองจะเปลี่ยนไปในวันข้างหน้าบ้างหรือเปล่า
กานต์ : กลัวเหมือนกันนะ ในช่วงนี้เรากลัวว่าถ้าวันนึงเรามองว่านี่ไม่ใช่ตัวเอง ไม่ชอบตัวเราที่เป็นอยู่ตอนนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้น น่ากลัวมากเลย เออ มาจบด้วยความอ่อนแอเฉย (หัวเราะ)
ซึ่งการจะทำให้ตัวเองไม่เปลี่ยนไปมันก็ควบคุมยากนะ ที่ทำได้คือต้องพยายามหันกลับมามองตัวเองเรื่อยๆ มันอาจจะทำให้เห็นบางอย่าง และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเวลาเรามองกลับมาเรื่อยๆ นั่นแหละ เรายิ่งเห็นว่าเราเปลี่ยนไป
Photos by Adidet Chaiwattanakul