พูดถึงบาร์สักแห่งหนึ่ง ที่เราเจอผู้คนได้ไม่เกิน 7 อาชีพ Method to My Madness น่าจะเข้าข่ายนี้ ด้วยมีบางอย่างที่ดึงดูด อาจจะเป็นข้าวของวินเทจ ดนตรี และผู้คน ที่นี่จึงไม่ใช่แค่พื้นที่เมามาย แต่เป็นเหมือน community ที่รวมคนบางแบบให้มาเจอกัน แต่ถึงแม้จะมีคนไม่กี่อาชีพ แต่เรื่องราว ‘ชีวิต’ ที่คนมาบอกเล่ากัน เรียกได้ว่าหลากหลายจนเล่ากี่คืนก็ไม่จบ
เมย์—กมลกา จิตตรุธทะ คือหนึ่งในหุ้นส่วนและเป็นคนที่ริเริ่มร้านนี้ขึ้นเมื่อสองสามปีก่อน และหากนึกภาพผู้หญิงสักคนที่เป็นเจ้าของร้านเหล้า เราอาจจะพุ่งเป้าไปที่ภาพด้านเดียว แต่หากทำความรู้จักกับเธอ กมลกายังเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่เรียนปรัชญา ฝักใฝ่การวิจารณ์ศิลปะ หลงใหลการเขียนวรรณกรรม (ระวังให้ดี เหล่าลูกค้าในร้านอาจกลายเป็นตัวละครในเรื่องสั้นของเธอโดยไม่รู้ตัว)
บทสัมภาษณ์ที่เราพูดคุยกับเธอ นอกจากจะเล่าเสน่ห์ของโลกกลางคืนที่ใครอาจมองว่าน่ากลัวหรือใครอาจจะหลงรักเอาเป็นเอาตาย—นอกเหนือจากแง่มุมเหล่านั้น เราคิดว่าถ้อยคำของกมลกาน่าจะบอกมิติที่แตกต่างหลากหลายในตัวใครสักคนได้ดีทีเดียว
Life MATTERs : ก่อนจะเป็นร้านเหล้า Method เคยเป็นอะไรมาก่อน
กมลกา : ก่อนหน้านั้นเราเปิดเป็นร้านขายของวินเทจก่อน เป็นคล้ายๆ selected shop แต่เอาไปเอามามันก็อยู่ไม่ได้ ก็เลยขยายออกไปทำอย่างอื่น ซึ่ง Method ไม่ใช่ร้านเหล้าอย่างเดียว เราอยากให้เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง คือทำอะไรก็ได้ เต้นสวิง ดูหนัง มีสัมภาษณ์ มีอะไรอย่างนี้ พอหลังๆ มา ลูกค้าก็เริ่มมีกลุ่มที่ชัดเจน เหมือนร้านเราถูก shape คาแรคเตอร์ด้วยลูกค้าด้วย เราก็เลย เอ้อ เป็นร้านเหล้าก็เป็นร้านเหล้า ทีนี้ก็เลยเปลี่ยนทิศทางของร้าน เหมือนกับไปหาจุดขายอย่างอื่นเข้ามาเพิ่ม
Life MATTERs : คิดว่าคนที่ไป Method อินกับอะไรเป็นหลัก
กมลกา : สุดท้ายเรารู้สึกว่าถ้าทุกคนที่มาร้านอินเรื่องเพลง ก็เน้นเพลงไปเลยละกัน เราเลยฟอร์มทีม DJ ขึ้นมา แล้วก็เริ่มปั้นดนตรีให้เป็นจุดแข็งของร้านเรา ไปหาฟังที่อื่นก็ยาก สมมติคนนี้เด็กมากเลย ยังทำอะไรไม่เป็น ก็ใช้มือถือเปิด เราก็จะบอกว่า ไม่ได้แล้วล่ะ มึงต้องไปซื้อเครื่อง ต้องหัดแล้ว ให้พี่ๆ ช่วยสอน ก็คือทุกคนช่วยกัน ใครที่เก่งมากกว่าก็มาสอนคนที่เก่งน้อยกว่า เหมือนพอทุกคนเริ่มหาคาแรคเตอร์เจอมันก็พอดี
DJ จะค่อนข้างเปิดกับเรา เพราะว่าเราให้เขาเล่นอะไรก็ได้ที่เขาอยากเล่น ทีนี้เราก็เสนอว่า งั้นขอเปิดอันนี้นะ วันนี้ขอทำธีมนี้นะ เลยกลายเป็นว่าร้านเราก็เริ่มมีอีเวนต์ที่เฉพาะขึ้นมา ซึ่งจะมีทั้งแบบเฉพาะกลุ่มไปเลย กับแมสไปเลย คือวันนี้ขายเต้นนะ ก็จะเน้นเพลงเต้นไทยๆ เพราะบางทีเราก็อยากจะเต้นเพลงไทยกันบ้าง ถึงแม้เราจะ keep cool กันมาก็เถอะ
แต่จนถึงตอนนี้เราก็อยากเป็นร้านที่วาไรตี้ ใช้พื้นที่ร้านเราเป็นอะไรก็ได้ จะแสดงศิลปะหรือ อะไรก็แล้วแต่ อ่านกวี อะไรอย่างนี้เราก็พยายามจัดอยู่
Life MATTERs : จากร้านวินเทจกลายเป็นบาร์เต็มตัว คุณเองต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไหม
กมลกา : คือเราไม่ใช่คนนอนดึก มันก็เปลี่ยนเยอะเหมือนกัน พอเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นคนกลางคืน มันทำอะไรตรงกับชาวบ้านยากมาก จริงๆ อยากกลับไปใช้ชีวิตปกติด้วยนะ แต่ว่าด้วยร้านมันบังคับ เพราะมันคือร้านของเรา เป็นร้านที่ทุกคนทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ใช้ใจเยอะ
Life MATTERs : เมื่อต้องเปิดร้านอยู่ทุกวัน อะไรที่ทำให้หายเหนื่อย
กมลกา : เอาจริงๆ เลยนะ เราว่าเราเป็นทั้งคนที่มีสองด้าน คือบางที หลังจากที่คุยกับคนมาตลอดคืน กลับบ้านไปก็อยากอยู่เงียบๆ เราไม่ต้องการฟังเพลง ไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น อ่านหนังสือคือดีที่สุด แต่หลังๆ พอเราเริ่มเขียน ก็รู้สึกว่ามันเติมเต็มเราอีกแบบ คือเวลาเขียนจะมีคนในใจอะ เวลาที่แบบ เราอยากให้คนนี้อ่าน แล้วเราเห็นว่า เออ เขาอ่านแล้วเขาตอบรับเรา แค่นั้นเราพอแล้ว คนอื่นก็เป็นผลพลอยได้ ซึ่งช่วงเวลาที่เขียนนี่แหละ ที่ทำให้เราได้หันไปหาด้านอื่นบ้าง
Life MATTERs : คิดว่าแพสชั่นด้านการเขียนของตัวเองเกิดขึ้นมาจากอะไร
กมลกา : คือตอนแรกเราเขียนเล่นในเฟซบุ๊ก แล้วก็มีพี่คนหนึ่งชื่อพี่ธร เขาเห็นที่เราเขียน เลยมาบอกว่า เมย์ ทำเพจเถอะ อยากให้ทำ มันน่าจะมีอะไรดีๆ ตามมา ตอนแรกเราก็ยังไม่มั่นใจ คือเราชอบอ่านนะ แต่เราไม่รู้ว่าเราจะทำยังไงให้ได้เรื่องที่มันยาว คือเขียนได้แต่เรื่องสั้นๆ แต่ในที่สุดเราก็ทำนะ แล้วทีนี้ ในเรื่องที่เราเขียนมันมีเรื่องราวจากคนที่เราเจอในร้านด้วย คือเราก็ตั้งใจทำร้านเหล้าเพราะเราอยากเอามาเขียนหนังสือด้วยส่วนหนึ่ง เวลาเจอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่เรารู้สึกว่าเรากระทบใจ เราก็หยิบมาเป็นวัตถุดิบ เราก็เลยตั้งชื่อมันว่า ‘ซีรีส์กระทบใจ’
เราเขียนแบบบ้านๆ พอโพสต์ไปแล้วแล้วคนที่อยู่ในเฟซฯ เพื่อนๆ นี่แหละ ก็มากดไลก์กันเยอะมาก บางคนก็เอาไปแชร์ เราก็เลยเริ่มรู้สึกว่า เออ มันก็ใช้ได้อยู่นะ อย่างทุกวันนี้เปลี่ยนแนวทางมาลองอย่างอื่น แต่ว่าอันนั้นที่เราเขียนแบบบ้านๆ คนชอบเยอะมาก เอามาลงในเพจก็ยังมีคนเอาไปแชร์ต่อ ก็รู้สึกว่า เออ แปลกดี
ร้านเหล้ามันมีตัวละครของมัน เป็นพื้นที่ที่คนมาบำบัดตัวเอง แล้วเราเห็นเยอะมากว่าคนมันเหงา คนมันป่วย หรือแบบบางคนก็อาจแค่ต้องการสนุก เราได้เห็นตัวละครหลายแบบ
Life MATTERs : ที่บอกว่าเปิดร้านเหล้าเพื่อเอามาเขียนหนังสือ แปลว่าคุณสังเกตพฤติกรรมของคนในร้านเสมอ?
กมลกา : จริงๆ ก็ไม่ขนาดนั้นหรอก เพียงแต่ร้านเหล้ามันมีตัวละครของมัน เป็นพื้นที่ที่คนมาบำบัดตัวเอง แล้วเราเห็นเยอะมากว่าคนมันเหงา คนมันป่วย หรือแบบบางคนก็อาจแค่ต้องการสนุก เราได้เห็นตัวละครหลายแบบ เช่น มีบางคนที่มาคนเดียว ซึ่งปกติคนไม่ค่อยเข้าร้านเหล้าคนเดียวหรอก มันเกร็ง แต่ที่นี่เราพยายามให้สตาฟหรือว่าหุ้นส่วนคุยกับคน ยิ่งมาคนเดียวยิ่งจะถูกไปคุยด้วย
Life MATTERs : คิดว่าร้านของคุณเป็นธุรกิจสีเทาไหม
กมลกา : ต้องมองว่า Method ที่พยายามจะทำคือการสร้าง community ถ้าใครรู้จักเรา เราจะพูดคำนี้บ่อยมาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่เราคิดว่าธุรกิจในโลกยุคนี้ควรมี ในแง่นึงมันก็ทำให้ฐานลูกค้าคุณแข็งแรง แล้วคุณก็อยู่ได้ แล้ววิธีการมองของเรา คือเราไม่ได้มองร้านเหล้าเป็นธุรกิจสีเทา มันจะชอบมีคนมาบอกว่า เออ ทำร้านเหล้ามันบาปนะ เดี๋ยวตัวเองจะป่วยนะ นั่นนู่นนี่ จริงๆ คือมันป่วยอยู่แล้วล่ะ เพราะว่าเรานอนดึกทุกวัน แต่ว่า จริงๆ ทุกสังคมมันมีพื้นที่แบบนี้หมดแหละ มันเป็นธรรมดาของคน
ในความเป็น community เนี่ย เราคิดว่ามันเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ จริงๆ มันก็เหมือนกับชุมชนของชาวบ้านที่เขาดีลกัน มีมุมทั้งดีและไม่ดี ซึ่งที่นี่ก็เป็นแบบนั้น คือมันมีทั้งข้อดีข้อเสียในตัวเอง บางคนที่หวง privacy มากๆ อาจจะรู้สึกไม่โอเค หรือคนนอกจะรู้สึกว่าไม่กล้าเข้ามา พวกมึงดูรู้จักกันไปหมด มันก็จะกันคนออกไปประมาณหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันคือเวลาที่เรามีปัญหาอะไร หรือนึกถึงอะไรไม่ออกอะ มาที่นี่มันมีเพื่อนไง มันก็อารมณ์ประมาณนั้น
Life MATTERs : ถ้าพูดว่า มา Method จะเจอคนไม่เกิน 7 อาชีพ คุณว่าจริงรึเปล่า
กมลกา : จริงค่ะ (ขำ) ลูกค้าค่อนข้างเป็นคนกลุ่มเฉพาะ จะอยู่ในสายทำหนังสือ ทำวิดีโอตัดต่อ แฟชั่น สไตลิสต์ แคสติ้ง ดนตรี จะมีอยู่แค่ประมาณนี้ แต่จริงๆ คนที่โดดไปเลยก็มี บางคนเป็นวิศวะฯ แก่ๆ ใส่แว่น แต่งเชิ้ตมานั่ง บางคนก็ทำสายการเงิน เป็นพวกเทรดเดอร์ หรือเล่นหุ้น เล่นอสังหาฯ จริงจังเลย แต่ว่ามีน้อย ส่วนใหญ่ถ้าบอกว่าไม่เกิน 7 อาชีพก็อาจจะจริง วนๆ
เอาจริงๆ เราไม่ได้คาดหวังว่าลูกค้า Method จะเป็นยังไง แต่มันมีความประหลาดอย่างหนึ่งคือ แถบนี้มันมีหลายร้านติดๆ กัน เวลามีคนเดินมา เราจะรู้สึกว่าคนนี้เข้าร้านเราชัวร์ แล้วเขาก็จะเดินเข้ามาจริงๆ คือมันชัดมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน
Life MATTERs : เห็นว่าเร็วๆ นี้ทางร้านจะมีจัดอีเวนต์อ่านบทกวีใช่ไหม
กมลกา : ใช่ค่ะ รู้สึกว่าร้านเราอยู่กับเพลงมาเยอะแล้ว ก็เลยอยากจัดงานอ่านบทกวีบ้าง คือเราเคยจัดงานแบบนี้มารอบหนึ่ง ตอนนั้นเป็นฟรีสไตล์ คนอ่านกวีก็จะตามอารมณ์ตัวเองมาก บางคนก็นุ่มๆ บางคนก็จะของแรง ขึ้นมาปุ๊บ คำหยาบอย่างเดียว ครั้งนี้เลยตั้งโจทย์ให้ไม่แรงเกินไป ให้มันเป็นเรื่องของบทกวีอีโรติก ครั้งนี้ก็ได้คนญี่ปุ่นมาเล่นกีตาร์ให้เหมือนครั้งก่อน ก็น่าจะเพลินๆ แต่เหมือนจะมีธีมขึ้นมานิดนึงให้ง่ายขึ้น คือน้องคนที่จัดเป็นลูกค้าประจำที่สนิทกันนี่แหละ
คนมักมีภาพว่าคนที่ทำงานศิลปะจะเมาๆ แต่อย่างเราเองเป็นคนไม่กินเหล้า คือไม่เคยกินเลย เท่าที่ฟังมา เขาบอกว่าความเมามันพาเราไปอีกจุดหนึ่งที่ได้มุมมองบางอย่าง โดยปกติเราอาจจะไม่เห็นมัน ไม่เห็นในเวลาที่เราปกติ แต่คือเราไม่เป็นแบบนั้นไงเลยไม่รู้เหมือนกัน
Life MATTERs : สำหรับคุณ ศิลปะกับความเมามายมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
กมลกา : ส่วนมาก คนมักมีภาพว่าคนที่ทำงานศิลปะจะเมาๆ แต่อย่างเราเองเป็นคนไม่กินเหล้า คือไม่เคยกินเลย เท่าที่ฟังมา เขาบอกว่าความเมามันพาเราไปอีกจุดหนึ่งที่ได้มุมมองบางอย่าง โดยปกติเราอาจจะไม่เห็นมัน ไม่เห็นในเวลาที่เราปกติ แต่คือเราไม่เป็นแบบนั้นไงเลยไม่รู้เหมือนกัน
Life MATTERs : โลกตอนกลางคืนให้อะไรกับคุณบ้าง
กมลกา : เราเห็นอะไรแปลกๆ เยอะนะ ตอนแรกไม่เข้าใจหรอก คือพี่นัทที่เป็นคนก่อตั้ง Dudesweet กับพี่โน้ต เขาเป็นดีเจที่ร้าน เขาก็บอกเราว่า “เฮ้ย! เราจะได้เจอคนแปลกๆ อีกเยอะเว้ย ไม่ต้องกลัวเลย” แล้วคือมันแปลกจริง บางเรื่องที่เราได้รับรู้ เป็นอะไรที่โลกกลางวันมองไม่เห็น พอเป็นกลางคืนแล้วไม่รู้ทำไม มันเหมือนจะมีความลับหรืออะไรบางอย่างเผยออกมา ยิ่งเราได้คุยกับพวกเขา เราก็ได้รู้จักแง่มุมของคนที่หลากหลายขึ้น แล้วน่าเขียนถึงมากๆ
Life MATTERs : การคุยกับคนเยอะๆ สำหรับคุณ ต้องใช้พลังงานมากไหม
กมลกา : ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ เราจะมีช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่า บางทีเรารับเรื่องดาร์กมากเกินไป เราต้องพัก แต่พอถึงจุดหนึ่งมันจะเริ่มชิน เริ่มโอเค รับมาแล้วอย่าพยายามเก็บมาคิด มนุษย์ต้องปล่อยไปบ้าง เพราะเราจะชอบอินเวลาใครเล่า แล้วก็จะไปเศร้าตามเขา
Life MATTERs : การทำงานกับคนเมา เจอความวุ่นวายเยอะไหม
กมลกา : ร้านเราค่อนข้างโชคดี คือลูกค้าเขาค่อนข้างสงบ แถมรู้จักกันหมด มันเลยไม่ค่อยมีปัญหา แต่ว่าบางที ถ้าคนนอกเข้ามาแล้วเมาเลอะเทอะ อย่างเช่น ในวันปีใหม่ เมาแล้วไปแต๊ะอั๋งลูกค้าผู้หญิง เราก็ต้องจัดการ ไม่สามารถปล่อยให้ระรานคนอื่นได้ คือต้องเข้าไปคุยก่อน คือถ้าคุยไม่รู้เรื่องจริงๆ ก็ไล่กลับบ้าน แต่ว่าที่นี่ยังไม่เคยมีเรื่องกับลูกค้าเลยนะ แล้วที่หุ้นส่วนต่างก็เห็นตรงกันคือการไม่ให้มีเรื่องกับลูกค้า ทั้งที่บางทีบางคนมันน่าโดนตีมากอ่ะ แต่คือเราก็ทำไม่ได้ มันก็ต้องห้ามใจเยอะมาก เคยเจอเคสที่แย่มากคือเป็นชาวต่างชาติที่ปาเงินใส่หน้า “ฉันซื้อได้ทุกอย่าง” อะไรแบบนี้
Life MATTERs : ชื่อ Method to My Madness มาจากไหน
กมลกา : ร้านเก่าเราตอนที่ยังขายของวินเทจชื่อจะยาวมาก คือ Stand Behind the Yellow Line แล้วพอมีหุ้นส่วนใหม่ ก็อยากจะเปลี่ยนชื่อ เราก็เลยขอเรื่องความชื่อยาวเอาไว้ อะไรก็ได้แต่ขอชื่อยาวๆ เราก็ไปหาพวกสำนวนภาษาอังกฤษมาเยอะมาก แล้วไปเขียนว่าอันไหนหมายความว่าอย่างไร เอามาให้หุ้นส่วนเลือก แต่เราบอกว่าเราชอบ Method to My Madness สุด แล้วไม่รู้ว่าด้วยการชักจูงหรือบังเอิญชอบเหมือนกันจริงๆ หุ้นส่วนก็ชอบกันหมดเลย
เราก็จะเล่าเรื่องประกอบไปว่า อันนี้มันมาจาก Hamlet ของเชกสเปียร์ ทุกคนก็จะชอบ พอมาคิดตอนนี้หลังๆ ลูกค้าจะชอบถามว่า ชื่อแปลว่าอะไร หรือหมายความว่าอะไร นี่ก็จะแบบ เออ ช่างมันเถอะ ขี้เกียจตอบแล้วอะ ก็จะให้เรียกว่า Method หรือ MMM ไป ตอนสั่งของก็ลำบากมาก คือให้มาส่งร้านไหน อ๋อ ให้มาส่งร้าน Method to My Madness คือยาวมาก สุดท้ายต้องเรียกร้านตัวเองว่าร้านเสื้อผ้า มันง่ายสำหรับเขา ก็แบบคิดสั้นมั้ง (หัวเราะ)
Life MATTERs : Madness สำหรับคุณคืออะไร
กมลกา : เราเป็นคนที่โตมาแบบโดน bully ตั้งแต่เด็ก หมายถึงตั้งแต่เด็กจนจบมหาวิทยาลัย แต่แทนที่เราจะอ่อนแอแล้วคิดว่า กูไปฆ่าตัวตายดีกว่า เราเลือกที่จะไม่สนใจ คือถ้ามันถึงจุดหนึ่งที่เราทำอะไรไม่ได้แล้วก็เพิกเฉยไปเลย ประมาณนั้น นี่น่าจะเป็นความบ้าของเรา
Life MATTERs : ถามได้ไหมว่าที่โดน bully เพราะอะไร
กมลกา : คือเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม เหมือนตอนเป็นเด็กอยู่โรงเรียนลูกคุณหนู แล้วเราเข้ากับคนไม่เป็น เรามีวิธีคิดประหลาดๆ ของเราอยู่ เราค่อนข้างสันโดษตัวเองออกมา อย่างแม้กระทั่งตอนมหาลัย มีเพื่อนผู้หญิงสิบกว่าคน แต่ตอนนี้ก็คือออกจากกลุ่มไปเลย แล้วก็อยู่คนเดียวจริงๆ เพราะเราว่าทุกคนเลือกแล้วล่ะ ในชีวิตตัวเองมันจะมีเพื่อนอยู่จำนวนหนึ่ง ยิ่งแก่มันก็จะยิ่งน้อยลง
Life MATTERs : แล้วการคุยกับคนที่ร้าน คุณมีเขตแดนในการแชร์เรื่องราวต่างๆ ด้วยกันไหม
กมลกา : เราจะมีขอบเขตของเรา ทุกคนต่างต้องมีพื้นที่ส่วนตัว คือเราคุยเยอะนะ แต่ไม่ได้แชร์กันไปทั้งหมด มันจะมีบางส่วนมากกว่าที่คุยกันได้ เป็นส่วนที่ต้องการคนแลกเปลี่ยน รับฟัง แต่ไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิตหรอก เราว่าทุกคนก็เป็นแบบนี้
Photos by Adidet Chaiwattanakul