เมื่อได้เห็นภาพวาดชุด ‘Liquify เมื่อฉันกลายเป็นของเหลว’ งานนิทรรศการโซโล่ครั้งที่ 2 ของ อร — นพร สืบสงวน ศิลปินสาวจบใหม่จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะสงสัยว่าภาพเหล่านั้นกำลังเล่นกลอะไรกับดวงตาของเราอยู่หรือเปล่า
เหตุนั้น มาจากความบิดเบี้ยวของรูปทรงที่ปรากฏอยู่ในภาพใต้น้ำ สีสันบางส่วนที่เหมือนกำลังหลอมละลาย และความพลิ้วไหวของผืนน้ำที่สมจริงจนสามารถล่อลวงหลายคนให้หลงคิดในแว่บแรก ว่านี่คือภาพถ่ายจากกล้องมากกว่าจะเป็นภาพวาดจากฝีแปรงจริงๆ
แน่นอนว่าความลวงตาที่เห็นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจของอร ที่อยากทำให้คนที่กำลังจ้องภาพสีฟ้าแจ่มจ้าของเธอรู้สึกเหมือนกำลังดำดิ่งสู่โลกใต้น้ำที่เธอหลงรักมานาน มองเห็นโลกบิดเบี้ยวผ่านการบิดเบือนของผืนน้ำ และสัมผัสความชุ่มชื่นคล้ายได้ลงไปนั่งอยู่ในสระน้ำข้างๆ กันกับเธอ และจากการพูดคุยเราก็ได้ดำดิ่งลงไปกับเธอด้วยเช่นกัน
Life MATTERs : แรงบันดาลใจของภาพชุด Liquify คืออะไร
อร : เริ่มจากตัวเองเลย เพราะมันเป็นธีสิสที่อาจารย์เขาอยากให้ทำเกี่ยวกับตัวเอง เราก็รู้สึกว่าถ้าวาดเป็นพอร์เทรตมันธรรมดามาก แล้วมันก็จะมีคนที่วาดได้เหมือนกว่าเรา เราอยากทำอะไรที่มันแตกต่างและมีความเป็นตัวเองก็เลยลองหามุมมองใหม่ๆ แล้วเราชอบว่ายน้ำ งานนี้ที่เห็นแต่ละรูปเลยจะเป็นมุมมองใต้น้ำไม่หรือมุมจากข้างบนที่มองลงมายังผิวน้ำ
งานทุกชิ้นที่เราวาดมันเหมือนภาพสะท้อนของตัวเรา เรารู้สึกว่าภาพใต้น้ำมันดูสวยแล้วก็เป็นมุมมองที่แปลก เหมือนเราได้ถ่ายทอดวิชวลที่คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยสังเกตเห็น อย่างเวลาคนไปว่ายน้ำอาจจะแค่ว่ายน้ำ แต่ตอนเด็กๆ น้องเราเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทำให้เราไปสระว่ายน้ำบ่อยมาก น้องเขาก็ซ้อมกับโค้ชไป แต่เราก็จะเปื่อยๆ ของเรา ว่ายน้ำเล่น ลอยน้ำ มองขึ้นไปข้างบน แล้วเราก็เห็นเงาสะท้อนของตัวเองที่เบลอๆ สรุปแล้ว แรงบันดาลใจก็คือตัวเองและภาพลวงตาที่เห็นอยู่ในน้ำ
Life MATTERs : แสดงว่าไอเดียนี้อยู่กับตัวคุณมาตลอดเลยใช่มั้ย
อร : ใช่ จริงๆ พื้นเพเราชอบเรื่องของภาพลวงตา งานชุดก่อนหน้านี้ของเราก็เป็นภาพผู้หญิงที่มีเซนเซอร์ปากหรือเบลอหน้า คือบางคนจะรู้สึกว่าเราวาดอะไรที่ดูเรียลลิสติกหรือเปล่า แต่เราถ้าให้นิยามแนวงานเพนต์ของตัวเอง เราจะเปรียบว่าเป็น Realistic Expressionism
อันนี้ไม่รู้ว่าใช้คำถูกหรือเปล่านะ เหมือนมันเรียลแต่เราใส่รูปทรงบิดเบี้ยวหรือแสงสีประหลาดๆ เข้าไป คือจริงๆ ถ้าพูดถึงภาพลวงตา หลายคนอาจจะนึกถึงภาพลวงตาที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกของเราเอง แต่ว่างานเซ็ตนี้ของเรามันเป็นภาพลวงตาที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง น้ำมันเบลอวัตถุได้จริงๆ
Life MATTERs : คุณคาดหวังให้คนที่มาดูงานเซ็ตนี้รู้สึกยังไง
อร : เราอยากให้ผู้ชมเวลามายืนอยู่หน้างานที่ใหญ่มากๆ รู้สึกเหมือนได้ลงไปอยู่ในน้ำจริงๆ เหมือนได้รับรู้ถึงความสดชื่นของน้ำ ความเย็น แล้วอีกอย่างคืออยากจะถ่ายทอดภาพลวงตาที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
Life MATTERs : กระบวนการทำงานทั้งชุดนี้ใช้เวลานานเท่าไหร่
อร : นานมาก (เน้นเสียง) คือเราเป็นคนที่ไม่ค่อยครีเอทีฟเท่าไหร่ อย่างคนอื่นอาจจะคิดภาพในหัว ถึงเวลาก็ร่างเลย แต่ของเรามีขั้นตอนในการทำงานเยอะมาก อย่างแรกคือต้องหาเพื่อนที่ไปถ่ายรูปให้เพราะรูปทั้งหมดเป็นตัวเราเองหมดเลย
ก็ต้องไปสระว่ายน้ำ และต้องไปวันที่แดดแรงอีก เพราะว่าต้องใช้แดดจ้าตอนเที่ยง พอได้รูปมาก็ต้องเอาไปปรินต์ แล้วก็เอามาดราฟต์เพราะเราไม่ได้ร่างสด คิดดูมันต้องทั้งถ่าย ปรินต์ แล้วก็ต้องมาดราฟต์ กว่าจะได้ลงสี มันนานมากๆ แต่ถ้าถ้าพูดถึงขั้นตอนที่วาดแต่ละภาพ ไม่ใช่ตอนถ่ายรูปก็ใช้เวลาไม่เกินสองอาทิตย์
Life MATTERs : อันนี้คือถือว่าเร็วหรือช้าสำหรับคุณ
อร : เร็วมากกก คือมันเร็วเพราะว่ามันเป็นธีสิสแล้วอาจารย์จะตรวจงานทุกๆ อาทิตย์ อาทิตย์หนึ่งห้าสิบเปอร์เซ็นต์ อีกอาทิตย์ต้องได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็เลยเร็วเพราะมันมีข้อกำหนดว่าต้องเสร็จ ถ้าเกิดว่าให้ทำเองจริงๆ มันก็จะนานกว่านั้น
อย่างเช่นตอนนี้ก็มีคนให้เราทำงานเพนต์ พอเรียนจบแล้วทำเป็นเดือนอะ เหมือนกับว่าเราได้ใส่ใจกับมันมากขึ้น พวกรายละเอียดเล็กๆ ที่เวลางานเรียนบางทีมันต้องรีบ แต่พอไม่มีใครมากำหนดเราก็อิสระมากกว่า
Life MATTERs : อย่างนี้ถ้าคุณสามารถย้อนกลับไปแก้งาน Liquify ได้ คุณอยากใช้เวลากับแต่ละชิ้นให้นานขึ้นมั้ย
อร : บางทีเราก็เคยคิดนะ ว่างานที่แสดงอยู่มันอาจจะดูไม่ค่อยสมบูรณ์เพราะว่าตอนนั้นมันเป็นช่วงเวลารีบๆ แต่ถ้ามาคิดให้ดีมันก็เป็นความรู้สึกหรือฝีแปรงตอนนั้นที่ถ้าเราตั้งใจมันอาจจะต่างออกไปเลย เพราะว่าน้ำมันเป็นอะไรที่ดูเคลื่อนไหว เรารู้สึกว่าถ้าเรามานั่งพิถีพิถันเกินไปมันเนี้ยบไปและมันอาจจะไม่ได้อารมณ์แบบที่เราต้องการก็เลยคิดว่าไม่แก้ดีกว่า
Life MATTERs : ถ้าให้พูดถึงความยากที่สุดของการทำงานเซ็ตนี้คืออะไร
อร : มันคือการที่เราเป็นคนไม่รู้ลิมิตตัวเอง บางทีรูปมันมีดีเทลเยอะมาก เหมือนรูปชิ้นกลางที่ใส่กรอบที่กระเบื้องคนละสี คือจริงๆ ถ้าให้วาดใหม่ก็อาจจะไม่วาดแล้ว (หัวเราะ) คือเวลาเราอยากทำอะไรก็ทำเลย เป็นคนที่คิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้หมดถ้าเรามีใจที่จะทำ ไม่มีอะไรที่ยากเกินไป สุดท้ายกลายเป็นทำไม่ทัน
งานชิ้นนั้นต้องส่งสิบเอ็ดโมง เราทำถึงสิบเอ็ดโมงเลยอะ ตีห้าร้องไห้จนเพื่อนสงสาร เพื่อนก็มาช่วย (หัวเราะ) คือเราเป็นคนแบบนี้ ทั้งที่จริงๆ อาจารย์ให้เวลาสองอาทิตย์เราก็ไม่ได้เถลไถลนะ นอนคณะเกือบทั้งอาทิตย์ ทำตั้งแต่เช้ายันตีสามทำมาทั้งอาทิตย์แล้วยังไม่เสร็จ เหมือนเราไม่รู้ลิมิตตัวเองว่าช่วงเวลาเท่านี้ งานแบบนี้ทำไม่ได้นะ แต่ก็ทำไปแล้วก็เลยต้องทำให้เสร็จ
Life MATTERs : ศิลปินบางคนจะมีสิ่งที่จำเป็นต้องมีในเวลาทำงาน คุณเองมีบ้างไหม
อร : เราเรียนเพนต์ ช่วงที่เข้าเอกมันเป็นช่วงปีสามปีสี่ใช่มั้ย ตอนปีสามเราทำงานที่บ้าน ก็เซ็ตบรรยากาศให้ตัวเองชอบ คืออยู่ในห้องแอร์เย็นๆ นั่งบนเบาะสบายๆ ฟังเพลง แต่พอปีสี่มาทำงานที่คณะเพราะเฟรมมันใหญ่ ข้อจำกัดก็เยอะขึ้น คือเราไม่สามารถเซ็ตบรรยากาศเองได้ คณะก็จะสไตล์เป็นสตูดิโอเลอะๆ เซ็ตยาก
เราก็เลยคิดว่าสุดท้ายแล้วเราทำงานที่ไหนก็ได้แต่แค่มีเพลงฟัง ช่วงดึกๆ ก็จะเปิด EDM ยิ่งช่วงทำงานเราเปิด EDM จนลำโพงคอมพ์พังไปเลย ตั้งแต่ปีสามจนตอนนี้ก็ยังไม่ได้ซ่อม (หัวเราะ) ไม่งั้นมันหลับจริงๆ ต้องเปิดเพลงดังๆ
Life MATTERs : ย้อนกลับไปช่วงเวลาที่ต้องเลือกสาขาเอก ทำไมตอนนั้นคุณถึงเลือกงานเพนต์
อร : จริงๆ ตอนแรกที่เข้าคณะมาฝีมือเพนต์เราห่วยมาก แล้วช่วงปีสองต้องเรียนสีน้ำ อาจารย์เขาดุมาก งานเราก็แย่มาก เขาเลยบอกว่าถ้าเกิดว่างานไม่ดีจะให้ไปดรอป แต่เราอยากได้เกียรตินิยมยังไงเราก็ดรอปไม่ได้ โห ช่วงเรียนสีน้ำแรกๆ ร้องไห้ทุกวัน ทุกอาทิตย์ ทำงานไม่ได้ จนสุดท้ายเหมือนความกดดันทำให้งานดีขึ้นมา สุดท้ายงานสีน้ำช่วงนั้นเราเลยดีมาก วาดเรียลเลย
พอเรียนสีน้ำปีสองจบมันก็ต้องเลือกเอก เราก็เลยคิดว่าจะเลือกเพนต์ เพราะคิดว่าถึงเราทำสีน้ำมันไม่เป็นเลยแต่ขนาดสีน้ำที่ตอนแรกทำไม่เป็นเลย เราใช้เวลาเดือน-สองเดือนเราก็ทำได้แล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าเราอยากทำก็เลือกอันนี้แหละ ไม่ต้องคิดว่าทำไม่เป็นนะเพราะถึงเวลาเราก็จะเป็นขึ้นมาเอง เหมือนกับว่าสีน้ำมันมันต่อจากสีน้ำ คนที่ทำสีน้ำมันก็ต้องเริ่มจากสีน้ำก่อน
Life MATTERs : สำหรับตลาดเมืองไทยคนอาจจะมองว่างานเพนต์ไปต่อยาก คุณเคยนึกถึงเรื่องนี้บ้างไหม
อร : จริงๆ เราไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำหลังเรียนจบจะยึดติดอยู่กับเพนต์นะ เพราะเราก็รู้อยู่ว่ามันเป็นอะไรที่ส่วนตัวมากๆ มันจะไม่ใช่การทำงานกับบริษัทซึ่งอยู่ดีๆ จะมีคนมากำหนดงานให้เราแล้วให้เงินเดือนเราอย่างนี้ แต่เราคิดว่าถ้าเรารู้พื้นฐานเราก็จะต่อยอดได้ เหมือนจริงๆ คนคณะเราหรือพวกที่เรียนเพนต์ เรียนทัศนศิลป์ มันเป็นการเรียนให้มีความรู้ด้านศิลปะมากกว่าแล้วค่อยเอาไปต่อยอดทำสิ่งอื่นๆ
Life MATTERs : แล้วสำหรับคุณเอง คิดว่าจะต่อยอดงานเพนต์ที่เรียนมาไปในรูปแบบไหน
อร : เคยมีคนบอกให้เราเอาลายไปทำลายผ้า ไปทำเป็นสินค้า แต่เราเฉยๆ ตอนนี้จริงๆ ก็ยังงงๆ อยู่ว่าจะไปเรียนต่ออะไรดีซึ่งที่แน่ๆ ว่าเราไม่เรียน fine art แน่นอนเพราะเรารู้สึกว่าเราอาจจะไม่ได้ต้องรู้ให้สุดขนาดนั้น อยากไปลองทำศิลปะด้านอื่นๆ มากกว่า
ตอนแรกว่าจะไปเรียนต่อด้าน visual merchandise เหมือนกัน เป็นงานทำพวกดิสเพลย์ร้าน เพราะเราชอบแฟชั่นด้วย แต่ถ้าจะให้ไปทำเสื้อผ้าก็ทำไม่ได้ เราเลยต้องหาจุดตรงกลางระหว่างแฟชั่นกับอาร์ต ซึ่ง visual merchandise มันก็คล้ายๆ สไตลิสต์สำหรับของที่โชว์ในร้าน คิดว่ามันน่าจะใช้เทสต์ด้านศิลปะด้วยแล้วก็ความชอบในเรื่องแฟชั่นด้วย แต่ก็อาจจะไม่ได้สุดเท่าพวกดีไซเนอร์น่ะนะ
Life MATTERs : คุณมีศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจมั้ย
อร : มีศิลปินที่เราชอบเป็นผู้หญิงคนหนึ่งเป็นฝรั่ง ชื่อ Samantha French เขาเพนต์งานมุมมองในน้ำเหมือนกันเลย เหมือนเป็นแรงบันดาลใจของเรา เป็นไอดอลในการทำงาน
Life MATTERs : แล้วแรงบันดาลใจอื่นๆ ละมาจากไหนบ้าง
อร : ก็ยังมาจากตัวเอง ความรู้สึกของตัวเอง เป็นมาตั้งแต่เด็กคือประมาณม.5 เราเคยเศร้าแล้วก็อยู่ดีๆ ก็ทำงานศิลปะขึ้นมาเลย เหมือนเราอยากจะ express แต่เอาความเนกาทีฟ หรือพลังเศร้ามาทำให้เกิดงานบางอย่างขึ้นมา เหมือนเอาความเศร้ามาทำงานศิลปะ
มีเพื่อนเราคนหนึ่งเป็นคนญี่ปุ่นเขาเศร้า อกหัก แล้วแต่งเพลง เรารู้สึกว่าเวลาเราเศร้าเราไม่ควรให้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมันเสียเปล่า ทำให้มันเกิด product ขึ้นมาดีกว่า
Life MATTERs : ดูเหมือนคุณเป็นคนที่ใช้ความรู้สึกในการทำงานมากๆ เลย
อร : จริงๆ เราเป็นคนไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ เป็นคนที่ดำเนินชีวิตด้วยความรู้สึก มันจะมีงานบางชิ้นที่ดูเศร้า ก็เป็นงานที่ทำตอนที่เศร้าจริงๆ อย่างบางชิ้นที่ดูสดใสก็คือทำตอนแฮปปี้ อย่างอันที่ทำตอนเศร้างานมันออกมาสีหม่นมากเลย เราเคยเศร้าๆ นั่งวาดรูปดอกไม้อย่างนี้วาดไปวาดมามันดูดราม่ามาก ดูดาร์กขึ้นมาเองเพราะว่าตอนนั้นเรารู้สึกดาร์ก
Life MATTERs : นอกจากฟีลลิ่งที่ใช้ทำงานแล้ว งานศิลปะควรมี story ด้วยไหม
อร : คิดว่าควร มันจะได้น่าสนใจไง เพราะอย่างเวลาคนซื้องาน คนซื้องานเขาก็ต้องอยากรู้อยู่แล้วว่าศิลปินทำสิ่งนี้เพราะอะไร มีที่มา เรื่องราวยังไง ถ้ามันสวยอย่างเดียวแต่ไม่มีเรื่องราวมันก็จืด ดูน่าเบื่อ เหมือนกับคนอะ ถ้าเขาดูมีอะไรเราก็จะอยากคุยกับเขา บางคนคุยแล้วไม่ได้อะไรเลย น่าเบื่อ งานศิลปะเหมือนกัน ดูนานๆ ก็เบื่อถ้าไม่มีเรื่องราว มีแต่ความสวย
Life MATTERs : คุณคิดว่าการที่เรียนจบปุ๊บแล้วได้แสดงงานเลยเป็นความสำเร็จของคุณหรือเปล่า
อร : เราคิดว่ามันเป็นโอกาสที่เข้ามามากกว่า ตั้งแต่ที่ไปแสดงธีสิสที่ BACC (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) ทำให้หลายๆ คนได้เห็นงานเรามากขึ้นแล้วอาจจะมีคนที่ชอบ เรามองว่าที่ได้มาแสดงโซโล่เป็นโอกาส ไม่ได้มองว่างานเราดีกว่าคนอื่นแต่มองว่าคนที่เห็นงานเราแล้วเขาชอบ เป็นจังหวะที่เหมาะพอดีก็เลยต้องคว้าเอาไว้
Life MATTERs : คุณคิดว่าวงการศิลปะเมืองไทยช่วงนี้เติบโตขึ้นบ้างหรือเปล่า
อร : โตขึ้นแน่นอนถ้าเทียบกับเมื่อก่อนนะ แต่เรารู้สึกว่าคนทำงานศิลปะก็ยังอยู่ยากนิดหนึ่งในไทยถ้าเทียบกับต่างประเทศเพราะรู้สึกว่าแกลเลอรี่มันน้อยไป ก็เลยคิดว่าควรจะมีแกลเลอรี่ที่รองรับงานของเด็กเรียนศิลปะรุ่นใหม่เยอะกว่านี้ เหมือนคนไทยยังไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องศิลปะมากพอ
Life MATTERs : ส่วนตัวแล้วคุณอยากเห็นอะไรในวงการศิลปะของไทย
อร : มันกำลังจะมี Bangkok Art Biennale เร็วๆ นี้ อยากจะเห็นว่างานออกมามันจะน่าสนใจขนาดไหน จะใส่ความเป็นไทยระดับ เรื่องการเมือง เรื่องศาสนา อะไรที่มันมีความเป็นไทยๆ ลงไปมั้ย ส่วนอีกอย่าง เรามักเห็นศิลปินคนไทยทำงานเสียดสีการเมือง ศาสนา เรื่องไทยๆ แต่เราอยากเห็นคนไทยที่เพนต์แนวอื่นหรือทำงานศิลปะแนวอื่นๆ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องวิพากษ์อะไรแล้ว แต่แค่อยากเห็นศิลปะที่ positive มากกว่านี้บ้าง
Life MATTERs : สุดท้ายแล้ว หลังจบงาน Liquify เรายังจะได้เห็นงานอะไรจากคุณอีก
อร : งานชุด Liquify ยังไม่หมดนะ เดี๋ยวเพนต์อีก ยังมีอีกสองชิ้นบวก ไม่แน่ใจว่าจะถึงสามหรือเปล่าแต่คือมีอีกสองชิ้นที่ต้องทำ
ถ้าหลังจากเซ็ตนี้เลยเรายังไม่ได้คิดเลยว่าจะทำอะไร แต่ว่าอาจจะเพนต์อะไรที่มันไม่ใช่สีฟ้าเพราะว่างานนี้ใช้สีฟ้าเยอะมาก เราอยากจะลองใช้สีอื่นๆ ดูบ้างเคยคิดเหมือนกันว่าเราอยากลองทำเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ของคน คืองานนี้มันจะพูดเรื่องตัวเองแต่เราอยากทำงานที่มันเกี่ยวข้องกับคนรอบตัวเราบ้าง อาจจะเป็นพ่อแม่ เพื่อน คนที่ส่งผลกับชีวิตเราจริงๆ
เราชอบทำงานกับความรู้สึก แต่พยายามจะไม่ให้เป็นความเศร้า เพราะอย่างที่บอก ว่าเราอยากเห็นความ positive ในงานศิลปะไทย ก็เลยพยายามจะให้งานตัวเองจรรโลงใจคนมากกว่าที่จะให้คนรู้สึกเศร้า
Photos by Adidet Chaiwattanakul
note: ใครสนใจงานชุด Liquify ของอรสามารถตามไปดูได้ที่ The Jam Factory คลองสาน งานจัดแสดงจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้