ความรู้สึกเหมือนมีพลังวาร์ป ยิ่งอ่านแต่ละเล่ม ยิ่งฉีกคาแรคเตอร์ คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเรามองไปที่ลิสต์หนังสือของสำนักพิมพ์ไจไจ ตั้งแต่เล่มแรกจนเล่มล่าสุด และในฐานะคนที่ติดตามอยู่ห่างๆ ก็พบว่าเราสนุกกับการรอลุ้น ว่าครั้งต่อไปไจไจจะเลือกอะไรมาให้เราอ่านอีก
ไจไจ หรือ Chaichai Books คือสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่เป็นการรวมตัวของ แบงก์—ธนาคาร จันทิมา อดีตคนขายหนังสือ และกิ่ง—ณัฐกานต์ อมาตยกุล บัณฑิตรุ่นน้องร่วมคณะอักษรศาสตร์ ที่บังเอิญไปเจอกันไกลถึงอินเดีย มีผลงานอย่างต่อเนื่องคือ SUM, Revenge, แดงรวี และล่าสุดคือ Pieces of You ที่เขียนโดยแรปเปอร์จากเกาหลีอย่าง Tablo พร้อมเอกลักษณ์เป็นหน้าปกไม่เหมือนใครด้วยผลงานดีไซน์ของ มานิตา ส่งเสริม
เมื่อได้พูดคุยเราจึงอดถามไม่ได้ ว่าวิธีการเลือกพิมพ์หนังสือแต่ละเล่มของพวกเขามันคืออะไร และคำตอบที่ได้คือความสนุกในเชิงโปรดักชั่นและค้นหาจักรวาลใหม่ไปเรื่อยๆ ในคีย์เวิร์ดสำคัญคือ ‘ความเป็นไปได้’ และคำที่ถูกใจบรรณาธิการเองอย่าง Possibilian ซึ่งความเป็นไปได้ที่พวกเขามองหาจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องฟังจากปากคำของพวกเขาเอง
Life MATTERs : พูดถึงงานชิ้นล่าสุดของไจไจ Pieces of You โดย Tablo คุณเลือกพิมพ์เพราะอะไร
กิ่ง : เรารู้ว่ามีคนอ่านนะ เนื่องจากว่าเคยเป็นติ่งเกาหลีมาก่อน เราเลยรู้ว่ามีคนอ่านกลุ่มนี้อยู่ สำหรับ Tablo เรารู้ว่าหลายคนชอบเขาเพราะเขาเป็นแรปเปอร์ที่ใช้งานวรรณกรรมเข้ามาในเนื้อเพลงของเขาด้วย ทีนี้พอเอาไปเสนอพี่แบงก์ เราก็ต้องโน้มน้าวพอสมควร เพราะพี่แบงก์ไม่เคยสนใจเรื่องเกาหลี เพราะเป็นคนที่ยืนดูจากข้างนอกตลอดมา
คือภาพแรกเราจะคิดภาพว่า เป็นหนังสือที่คนดังมาเขียนหนังสือ แต่เล่มนี้มันกลับกัน เพราะตอนที่เขาเขียนคือตอนที่เขาเรียน creative writing แล้วเขาก็เขียนหนังสือระบายบาดแผลหรือปมในชีวิตเขาผ่านงานเขียน
แบงก์ : คือภาพแรกเราจะคิดภาพว่า เป็นหนังสือที่คนดังมาเขียนหนังสือ แต่เล่มนี้มันกลับกัน เพราะตอนที่เขาเขียนคือตอนที่เขาเรียน creative writing แล้วเขาก็เขียนหนังสือระบายบาดแผลหรือปมในชีวิตเขาผ่านงานเขียน ดังนั้นเราต้องมองใหม่ มันเป็นงานก่อนที่เขาจะเป็นนักร้องเสียอีก เวลาอ่านเราก็พบว่ามันก็คือวรรณกรรมเล่มหนึ่งที่น่าสนใจ และมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนในการเล่า บางเรื่องเราอาจจะไม่เข้าใจจนกว่าจะอ่านครบทุกเรื่อง
ถ้าเราอ่านในมุมของคนนอกที่ไม่รู้จัก Tablo มันคือมุมที่ เราจะเห็นภาพรวมของหมอกควันในวัยเยาว์ที่เขาเติบโตมา มันควันบุหรี่บ้าง การเล่นยาบ้าง มันเป็นการเติบโตมาอย่างหลงทาง ยังไม่รู้ว่าเราจะโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน แล้วก็ต้องไปเจอกับสิ่งแวดล้อมและวงเพื่อนที่ต้องต่อสู้เพื่อความฝันและตัวตน หรือในทางรูปธรรมก็จะมีฉากที่เกิดขึ้นในเช้ามืด มีหมอกควัน มันเป็นคอนเซ็ปต์ที่เราชอบ
กิ่ง : Tablo เขาไม่ได้บอกว่าเป็นการเล่าเรื่องตัวเองนะ แต่น่าจะเป็นการหยิบชิ้นส่วนของเขามาประกอบเป็นตัวละครในเรื่องสั้น ที่แต่ละตัวก็อยู่ในบริบทที่ต่างกัน
Life MATTERs : สำหรับผู้อ่านที่อาจยังมีกำแพงกับคำว่า เค-ป๊อป ทางสำนักพิมพ์ใช้วิธีการยังไงในการเข้าหาพวกเขา
กิ่ง : เราพยายามให้แบ็คกราวด์เล่มนี้มากกว่าเล่มอื่นๆ เลย เราอยากให้มองหนังสือเป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่แยกออกมาจากตัวผู้เขียน เราอยากให้มองว่านี่มันก็คือหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วคุณจะไม่อ่านมันเพียงเพราะว่าคนเขียนเป็นแรปเปอร์เกาหลีเหรอ
แบงก์ : เราเชื่อว่าคนที่ตามไจไจมาสักระยะหนึ่ง จะรู้ว่ามันไม่ใช่เหตุผลแค่ว่านี่เป็นนักร้อง เลยเอามาทำ แต่เขาอาจจะเห็นภาพว่า หนังสือมันมีมากมาย แรนดอมมาก แล้วทำไมเราถึงแรนดอมมาลงที่เล่มนี้ล่ะ เรามองว่านี่ไม่ใช่การทลายกำแพงหรอก แต่เราแค่ชวนให้คนลองเดินมาอีกฝั่งของกำแพงมากกว่า แล้วเราก็จะเลือกพุ่งไปฝั่งของคนที่ชอบเกาหลีก่อน เพื่อให้มันมีเสียงสะท้อนออกมาในมุมวรรณกรรม
กิ่ง : เราไม่ได้คิดว่าติ่งคำชนเผ่าที่แยกตัวออกไปจากสังคม ติ่งก็คือพวกเราแหละ ที่อ่านวรรณกรรมก็มีเหมือนกัน อาจจะอ่านเยอะด้วย ดังนั้นเราเลยเลือกสื่อสารกับคนชอบ Tablo ก่อน แล้วเขาวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวรรณกรรม คนก็อาจจะเห็นว่า Tablo เขียนดีไหม คือมันก็น่าจะมีความลำเอียงแหละ แต่เขาก็น่าจะสื่อสารในแบบที่คนอ่านวรรณกรรมสื่อสารกันได้
เกี่ยวกับผู้อ่าน มนุษย์เรามีหลายตัวตน มีหลายเศษเสี้ยวที่มารวมเป็นคนคนหนึ่ง ดังนั้นเราจะมองว่าติ่งก็คือติ่งไม่ได้ วันหนึ่งติ่งคนหนึ่งก็อาจจะเรียนกฎหมาย หรือเติบโตไปอ่านกามูส์ คาฟกาได้เหมือนกัน
แบงก์ : เกี่ยวกับผู้อ่าน มนุษย์เรามีหลายตัวตน มีหลายเศษเสี้ยวที่มารวมเป็นคนคนหนึ่ง ดังนั้นเราจะมองว่าติ่งก็คือติ่งไม่ได้ วันหนึ่งติ่งคนหนึ่งก็อาจจะเรียนกฎหมาย หรือเติบโตไปอ่านกามูส์ คาฟกาได้เหมือนกัน เราว่ามันเป็นไปได้หลายอย่าง
Life MATTERs : ความสนุกในการทำสำนักพิมพ์ขนาดเล็กแห่งนี้คืออะไร
แบงก์ : มันสนุกและตรงกับเคมีของเรา ต้องบอกก่อนว่าทุกอย่างมันเริ่มต้นจากเล่มแรก ก็คือ SUM ที่เราบังเอิญไปเจอ และทำให้เราพบความเป็นไปได้หลายๆ แบบ การที่เรากับกิ่งเจอกันก็เป็นความบังเอิญ คือเราเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่คณะอักษรศาสตร์ แต่ดันไปรู้จักกันครั้งแรกไกลมาก นั่นคือที่อินเดีย เพราะกิ่งเป็นเพื่อนของเพื่อนที่ไปด้วยกันอีกที แล้วก็บังเอิญอีกว่ากิ่งไปเขียนรีวิวหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นวรรณกรรมไซไฟ คือเป็นเรื่องสั้นที่อ่านง่ายแต่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจน นั่นคือพูดเรื่องเวลา
กิ่ง : มันชื่อเรื่อง ‘ความฝันของไอน์สไตน์’ เล่มนี้มีโจทย์เดียวที่ชัดเจนมาก นั่นคือ ‘เวลา’ จะเป็นไปได้แบบไหนบ้าง เรามองว่าเวลาคือการตรงไปข้างหน้าใช่มั้ย แต่ถ้ามันเคลื่อนไหวในแบบอื่นล่ะ จะเป็นยังไง พี่แบงก์เห็นที่เรารีวิวเล่มนี้ เลยคิดว่าการเล่าคอนเซ็ปต์ชัดขนาดนี้มันเป็นไปได้
มันก็เหมือนกับ SUM ที่พูดอยู่นั่นแหละ เรื่องความตาย แต่ทำยังไงให้มันแหวกออกไปได้ 40 แบบ เราว่านี่คือไซไฟอีกแบบ มันไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์ต่างดาว มีแอนดรอย หรือเลเซอร์ แต่ SUM เป็นไซไฟที่เข้าไปดูว่าทฤษฎีต่างๆ ของนักวิทยาศาสตร์ เอามาสร้างฟิกชั่นได้ยังไง
วิทยาศาสตร์จะสามารถพาเราไปได้ถึงสุดขอบเขตของแต่ละดินแดน ขอบเขตการรับรู้ของมนุษย์ การทำหนังสือเอง เราก็อยากพาไปเจอความเป็นไปได้ต่างๆ
แบงก์ : ทีนี้เราไปเจอคำศัพท์หนึ่งที่ตรงจริตเรามาก นั่นก็คือคำว่า Possibilian คือคนเขียน SUM เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ชอบค้นหาความเป็นไปได้ คือเขาจบด้านอักษรศาสตร์นะ แล้วกระโดดไปเป็นนักประสาทวิทยาเลย เขาข้ามศาสตร์ข้ามศิลป์ที่แท้จริง เขาเลยเชื่อในความเป็นไปได้ต่างๆ ว่าวิทยาศาสตร์จะสามารถพาเราไปได้ถึงสุดขอบเขตของแต่ละดินแดน ขอบเขตการรับรู้ของมนุษย์ การทำหนังสือเอง เราก็อยากพาไปเจอความเป็นไปได้ต่างๆ
Life MATTERs : เจอเล่มที่สนใจแล้ว อะไรที่ทำให้ลุกขึ้นมาทำอย่างเป็นรูปธรรม
กิ่ง : พี่แบงก์มองว่าเราทำเล่มแรกเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่าง
แบงก์ : ความคิดแรกๆ เราเจอเล่มนี้ที่น่าสนใจก็คิดว่า เออ รวมตังค์กันเนาะ ลองทำดู แล้วพอมันเจ๊ง อย่างน้อย—พูดอย่างมีความฝันน่ะนะ มันก็มีเล่มนี้อยู่บนบรรณพิภพนี้
Life MATTERs : อยากให้เล่าเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกหนังสือมาพิมพ์สักหน่อย
กิ่ง : วิธีคัดเลือกคือ พี่แบงก์กับกิ่งเวลาเจออะไรก็จะส่งให้กัน ถ้าพล็อตคลิกทั้งคู่ เราถึงจะลองหาความเป็นไปได้ว่าเราจะทำมันได้มั้ย
แบงก์ : มีหลายเล่มนะที่ตกรอบไป บางครั้งถึงขั้นที่ชอบรุนแรงเท่ากัน เขย่าเราทั้งคู่ แต่สุดท้ายก็มีหลายเหตุผลที่ทำไม่ได้ เช่น เรื่องหน้ากาก เป็นงานเกาหลีเหมือนกัน แต่เนื่องจากคนเขียนเขาเสียชีวิตไปแล้ว เราเลยไม่สามารถหาเจ้าของลิขสิทธิ์ปัจจุบันได้ ก็ตกไป
กิ่ง : ช่วงที่ยากคือ จากเล่มแรกสู่เล่มสอง พอ SUM มีผลตอบรับดี เราก็พยายามหาเล่มที่มีความเป็นไซไฟเหมือนกัน แต่เราหาไซไฟที่จะไม่หลุดไปจาก SUM ได้ยาก ช่วงนั้นเลยเป็นปีที่เรางงว่าถ้าเราจะต้องทำแบบเล่มแรกอย่างเดียวเราจะอยู่ได้ไหม เพราะงานแบบนี้ไม่ได้มีมาบ่อยๆ เราเลยเริ่มเปิดเรดาร์ให้กว้างขึ้น ลองหาหนังสือที่ไม่ใช่ไซไฟ
แบงก์ : พอมาถึงเล่มที่สองคือ Revenge เราไปเจอมาจากในคิโนะฯ เราเห็นคอนเซ็ปต์ของเล่มที่น่าสนใจ คือเราเห็นหนังสือญี่ปุ่นที่มีอารมณ์หลอนๆ เย็นสันหลังวาบมาเยอะมาก แต่พอเราไปรู้ว่าวิธีการเล่าของเล่มนี้มีความพิเศษคือแต่ละเรื่องเชื่อมร้อยกัน ตัวละครจากเรื่องนี้เดินเข้าออกอีกเรื่องหนึ่งแล้วผลัดกันเป็นตัวเอกหรือแบ็คกราวด์กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่เทคนิคใหม่หรอก วรรณกรรมระดับโลกเรื่องอื่นๆ ก็ใช้กัน แต่มันก็เป็นปัจจัยหนึ่งสำหรับเราอยู่ดี แล้วพออ่านมันก็ถูกจริต มีความง่าย สวยงาม ไม่พรรณาพิรี้พิไร มันเป็นความชอบตั้งแต่ย่อหน้าแรกๆ
กิ่ง : ชีวิตเรามันไม่ได้เป็นเอกเทศ เราสามารถไปเป็นฉากหลังให้ชีวิตของใครอีกคนเสมอ
Life MATTERs : ในขณะที่ ‘แดงรวี’ ก็ดูเหมือนจะหลุดคาแรคเตอร์ขึ้นไปอีก
แบงก์ : เล่มแดงรวี ถ้าจัดเซ็ตก็น่าจะยาก แต่มันเป็นความคะนอง อยากท้าทาย คือก่อนมาทำสำนักพิมพ์เราทำหนังสือมาก่อน ดังนั้นถ้ามองในมุมผู้ขายเราจะพบว่าโจทย์วรรณกรรมไทยมันยากมากสำหรับ possibilian ของเรา
กิ่ง : มันเกิดจากเราอยากทำวรรณกรรมไทยก่อน แล้วอีกอย่างคือสิ่งที่เกิดในหัวพี่แบงก์ เราอยากพิมพ์เล่มที่ไม่ค่อยมีใครพิมพ์ซ้ำ เคยพิมพ์ซ้ำก็นานมาแล้ว นั่นก็คือแดงรวี
แบงก์ : เราชอบเรื่องนี้มาก เคยถ่ายเอกสารจากห้องสมุดไปอ่าน เพราะงั้นใจจริงก็คือเราอยากอ่านด้วยแหละ เห็นว่าพวกมาสเตอร์พีซเขาก็พิมพ์ซ้ำกันไปแล้ว แต่เรื่องนี้เราว่า ตัวละคร พล็อต จังหวะการเล่าเรื่องมันกระชับ สนุก เห็นอาว์’รงค์ในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าจะทำให้เด็กรุ่นใหม่กลับไปชอบงานอาว์’รงค์ ก็น่าจะเป็นเล่มนี้ อย่างเล่มดังๆ สนิมสร้อยก็ค่อนข้างหนา หรืองาน non-fiction ที่คนพิมพ์กันก็มีสำบัดสำนวนที่ดี มีความเปรียบที่เยี่ยม แต่หลายอันก็ไม่ร่วมสมัยแล้ว เราว่าฟิกชั่นที่สนุกและค่อนข้างออริจินัล เล่มนี้เป็นขนาดที่กะทัดรัด และน่าแนะนำให้เด็กรุ่นใหม่รู้จัก เล่มแดงรวี เราหาความเป็นไปได้ที่ว่า พอตัวเรื่องที่วินเทจบวกกับงานดีไซน์ที่เหวอไปเลยสำหรับงานอาว์’รงค์ มันจะเกิดอะไรขึ้น เลยเป็นความสนุกเชิงโปรดักชั่น ข้ามยุคข้ามสมัย เป็นการทดลองแบบหนึ่งเหมือนกัน
Life MATTERs : นอกจากความท้าทายกับงานวรรณกรรมไทยแล้ว คอนเซ็ปต์ของแดงรวีที่เชื่อมโยงกับสองเล่มแรกคืออะไร
แบงก์ : เล่มหนึ่งเล่มสองมีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับความตาย เล่มนี้มันก็ยังมีกลิ่นตามมา อย่างเล่มแรกจะเป็นกลิ่นความตายในเชิงวิทยาศาสตร์ เล่มที่สองเป็นกลิ่นความตายแบบญี่ปุ๊นญี่ปุ่น มีกลิ่นเย็นๆ แบบห้องเก็บศพ มาเล่มที่สามก็พูดเรื่องความตาย แต่เป็นความตายเชิงที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงในงานของอาว์’รงค์ คือความตายในเชิงปรัชญา
เราก็เลยมีคำตามของพี่โย นักคิดนักเขียนที่ชอบพูดเรื่องปรัชญา เขาก็เอาเรื่องที่อาว์’รงค์เขียน ไปคิดต่อในเชิงปรัชญาตะวันตก ที่เขาก็ขบคิดในเรื่องความตายมานานเหมือนที่ตัวละครขบคิดในหัวตัวเอง ซึ่งเราก็อยากดูว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ระหว่างคนอ่าน พ.ศ. นี้ กับคนเขียนรุ่นโน้น มันน่าจะเป็นสะพานหรือพรมแดนที่สนุกดี
ถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ นะ ว่ามีคนจำเราได้จากอะไรบ้าง ซึ่งรู้สึกว่าความเป็นไจไจที่คนจำได้ มันคือความสนุก และการที่คนอ่านรอดูว่าสำนักพิมพ์นี้จะคัดอะไรมาให้เขาอ่านอีก
Life MATTERs : การไม่ยึดติดอยู่กับหนังสือแนวเดียว ถือเป็นความเสี่ยงไหม ในแง่ความแข็งแรงของแบรนด์
แบงก์ : บางคนเชื่อว่าการเจาะกลุ่มเดียวนานๆ เราจะแข็งแรง มีคนตามเยอะ แต่นี่มันเป็นความสนุกของเราด้วยมั้ง ที่จะค้นหาความเป็นไปได้เรื่อยๆ กับนักอ่านหลายๆ แบบ ถ้าเราไม่ได้ยึดติดว่าเราจะสร้างแบรนด์ที่ชัดเจนว่าจะทำแนวนี้เท่านั้นโดยยึดคอนเทนต์เป็นหลัก เราว่าทำแบบนี้แล้วมันสนุกคนทำ ก็ถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ นะ ว่ามีคนจำเราได้จากอะไรบ้าง ซึ่งรู้สึกว่าความเป็นไจไจที่คนจำได้ มันคือความสนุก และการที่คนอ่านรอดูว่าสำนักพิมพ์นี้จะคัดอะไรมาให้เขาอ่านอีก
มันย้อนกลับไปในวัยเยาว์ที่เราหารายได้พิเศษจากการเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ที่ห้องสมุดคณะ หน้าที่ของเราคือคอยเข็นเก็บหนังสือที่นิสิตวางทิ้งไว้ไปเข้าชั้นหนังสือ แล้วจากที่เราไม่ใช่คนอ่านหนังสือ เราเป็นเด็กเล่นเกม ก็เลยรู้สึกว่า โห มันมีอีกโลกหนึ่งว่ะ เราได้เจอหนังสือที่พาเราไปตาม category ต่างๆ แล้วขนาดเราเป็นคนอ่านเรายังเลือกอ่านได้หลายประเภทเลย เราสนุกกับการค้นหาไปเรื่อยๆ ในจักรวาลการอ่าน ไปตรงนั้นทีตรงนี้ที ก็เลยคิดว่าถ้าเป็นสำนักพิมพ์ที่มีความตื่นเต้นในการค้นพบโซนต่างๆ มันน่าจะดี
Life MATTERs : สำหรับเล่มต่อไปมีวางแผนไว้หรือยัง
กิ่ง : เล่มต่อไปก็จะไปอีกแนวหนึ่ง นั่นคือหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีธีมคือคนที่ออกลูกเป็นสัตว์ นี่ก็จะเป็นอีกหนึ่งข้อที่พิสูจน์ว่าไจไจไม่ได้เลือกพิมพ์หนังสือที่นักเขียนดัง มันเป็นเรื่องที่นักเขียนหญิงสองคนเขียนร่วมกันคนละครึ่ง ทั้งคู่เป็นคนที่สนใจสิทธิสัตว์และเรื่อง LGBT ทั้งคู่ เรื่องนี้มันก็เลยมีกลิ่นอายแบบนั้นด้วย ทั้งการมองสัตว์ในอีกแบบ ไม่ใช่ฐานะที่ต่ำกว่าคน แต่เป็นสมาชิกในครอบครัว
แบงก์ : มันยังพูดถึงเรื่อง parenthood คือสัตว์เนี่ย นอกจากทำให้ดูเหนือจริงแล้ว มันยังเป็นสัญลักษณ์ของความแตกต่างหลากหลาย
กิ่ง : ทุกเล่ม แม้เราจะเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้เราชอบมาก แต่ด้วยแนวไม่เหมือนกัน เราก็มีความกลัวอยู่ ว่าความเชื่อใจที่เขามีให้ไจไจมันจะลดลง หวังว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น และถ้าเรามัวแต่จำกัดกรอบ ก็จะไม่มีคนได้อ่านอะไรใหม่ๆ เลย
แบงก์ : อย่ามองว่าเราเสียจุดยืน มองว่าเราพาคุณไปยืนในหลายๆ จุดดีกว่า
Photos by Adidet Chaiwattanakul