“พวกนักร้องเต้นกินรำกิน” “เหล่าศิลปินไส้แห้ง” คุณเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาพร้อมกับการปลูกฝังชุดความคิดเหล่านี้หรือเปล่า ถ้าคำตอบคือ ไม่ คุณคงเป็นหนึ่งในคนที่โชคดีเพียงไม่กี่คน เพราะยังมีเด็กอีกมากมายต้องละทิ้งความฝันเพียงเพราะอาชีพที่เขาเลือกนั้นไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานไทย
อาชีพทางด้านศิลปะนั้นมีมากมายหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน จิตรกร ศิลปิน นักวาดภาพประกอบ และอีกมากมาย อาชีพหล่านี้ล้วนทำเงินได้มากพอๆ กับสร้างคุณค่าให้กับสังคมที่เห็นความสำคัญของมัน อาชีพทางศิลปะจึงทำหน้าที่ไม่ต่างจากกระจกเงา ที่คอยสะท้อนสภาพสังคมในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะหากว่าการเมืองดี งานฝีมือจะมีที่ยืน
วันนี้ The MATTER ชวนจิตรกร 2 ท่าน ปาล์ม ปรียวิศว์ นิลจุลกะ หรือที่รู้จักกันในฐานะนักร้องนำวง Instinct และป่าน ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา เจ้าของนามปากกา Juli Baker And Summer มาร่วมพูดคุยถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดวาทกรรม ‘ศิลปินไส้แห้ง’ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ และร่วมชี้แนวทางที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงค่านิยมศิลปะในสังคมไทย
หากฉันทำอาชีพทางศิลปะ สังคมจะว่าอย่างไร?
หนึ่งในอุปสรรคอันดับต้นๆ ที่นักล่าฝันหลายคนต้องเจอคงไม่พ้นคำพูด และทัศนคติจากคนรอบข้าง ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่ได้มอง ‘ศิลปะ’ เป็นต้นทุนที่สามารถนำมาประกอบอาชีพ นำมาสู่การลดทอนคุณค่าของมันลงไปอย่างไม่รู้ตัว อีกทั้งยังส่งต่อค่านิยม รวมถึงวาทกรรมเหล่านี้ให้เด็กรุ่นแล้วรุ่นเล่า พร้อมทั้งผลักให้คนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ กลายเป็นคนที่มีความมั่นคงระดับ 2 ในสังคม
ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกลื่อนกราดที่สุด แม้แต่จิตรกรชื่อดังอย่างปาล์ม ปรียวิศว์เองก็ไม่อาจหลบหลีกได้ ปาล์มได้เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เขาตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางศิลปะ สอบเอ็นต์ฯ เข้าคณะศิลปกรรมที่มหาลัยแห่งหนึ่ง มีญาติผู้ใหญ่หลายท่านที่เป็นห่วงว่ามันอาจจะไม่เวิร์ค แล้วพยายามโน้มน้าวให้กลับไปเส้นทางสายอาชีพ แต่ด้วยความมุ่งมั่น เขาตัดสินใจเลือกทางเดินของตนเอง จนปัจจุบันมีงานแสดงของตัวเองหลายต่อหลายครั้ง และมีชื่อเสียงในวงการศิลปะไม่ต่างจากนักร้อง
“วิธีที่จะเอาชนะความสงสัยของคนรอบข้างคือการประสบความสำเร็จ วันนี้ผมอาจจะยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าตอนนี้ตัวเองอยู่บนบันไดขั้นไหน หรืออีกไกลเพียงใดจึงจะไปถึงจุดนั้น แต่สิ่งที่รู้คือ ผมมาไกลจากจุดเดิมมากแล้ว แม้จะยังไม่ไกลกว่าเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่นมากนัก แต่แค่ไกลกว่าจุดที่เคยยืนในอดีตก็ถือว่าดีมากแล้ว”
เมื่อลองกลับมาคิดดู หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำอาชีพทางศิลปะเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการให้คุณค่าเท่ากับอาชีพอื่นๆ ก็คงไม่พ้นการจัดการอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ในประเทศที่ประชาธิปไตยแข็งแรง หรือเห็นคุณค่าของงานศิลปะมากพอ ศิลปะจะแทรกซึมเข้ากับชีวิตของผู้คน ประชาชนจะตอบรับเสียงเรียกของเหล่าจิตรกร และนักสร้างสรรค์ และวาทกรรม ‘ศิลปินไส้แห้ง’ ก็จะไม่เกิดขึ้นในสังคมนั้นๆ
เมื่ออุปสรรคคือ ‘ค่านิยม’ และ ‘ความคิด’
หลังจากยิงคำถามเรื่องอุปสรรคในการเดินเส้นทางสายอาร์ตไปป่าน ชนารดี มีน้ำเสียงกังวลเล็กน้อย เนื่องจากเธอไม่ใช่คนที่ผ่านประสบการณ์แย่ๆ มามากนัก แต่สุดท้ายแล้วเธอก็หยิบคำว่า ‘ค่านิยม’ มาเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าอะไรคืออุปสรรคในการทำงานศิลปะ ป่านเล่าว่า เธอเริ่มต้นทำงานแรกๆ ขณะยังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ลูกค้า รวมถึงเอเจนซี่หลายคนปฏิบัติกับเธอราวงานที่เธอทำ และอาชีพที่เธอเป็นไม่มีคุณค่า ป่านเป็นอีกหนึ่งคนที่ประสบปัญหาได้รับค่าจ้างน้อย รวมถึงการเทงาน เนื่องจากลูกค้าบางคนมีมองว่า งานศิลปะคืองานที่ไม่มีต้นทุน
“คนไทยจำนวนมากไม่เข้าใจในวิชาชีพนี้อย่างแท้จริง แม้กระทั่งตอนที่ไปจ่ายภาษี เจ้าหน้าที่สรรพกรก็ไม่เข้าใจว่างานศิลปะมีต้นทุน และไม่รู้ว่าควรเอาอาชีพนี้ไปจำแนกในหมวดไหนของระบบราชการ เจ้าหน้าที่เองก็ดูสับสนตอนที่ไปจ่ายภาษีแรกๆ ว่าทำไมถึงได้เงินแบบนี้ ในเมื่องานมันไม่มีต้นทุน สุดท้ายเขาจึงจะคิดภาษีอีกแบบหนึ่ง แต่ในความคิดเราคือ แค่เราออกไปหาข้อมูล หรือค่าอุปกรณ์ต่างๆ มันก็คือต้นทุนแบบหนึ่ง”
ป่านยังมองว่า ‘โครงสร้างทางสังคม’ คือต้นตอของปัญหาทั้งหมด ทุกอาชีพ ไม่ใช่เพียงแต่ศิลปินหรือจิตรกร เธอกล่าวว่า วาทกรรมศิลปินไส้แห้ง มันสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศเราไม่ได้ค่ากับงานศิลปะในชีวิตประจำวัน คนไม่เข้าใจว่าเด็กสายอาร์ตเรียนจบมาจะทำงานอะไร ทั้งที่มันทำได้เยอะมาก แต่คนก็ยังขาดความเข้าใจตรงนี้ ซึ่งปัญหาตรงนี้ทำให้เพื่อนๆ หลายคนของเธอไม่สามารถทำทำงานตรงกับสาขาที่เรียนมา เพราะมันไม่ได้ถูกให้ค่า
และอีกนัยหนึ่ง วาทกรรมศิลปินไส้แห้งมันก็สะท้อนให้เห็นว่า การเลือกอาชีพของคนไทยมันขึ้นอยู่กับเงิน ประชาชนต้องทำงานเพื่อให้ได้เงินเยอะพอจะประทังชีวิตได้ ป่านได้ยกตัวอย่างถึงเพื่อนชาวฝรั่งเศสของเธอว่า พวกเขาสามารถเลือกอาชีพที่ชอบหรือใฝ่ฝันได้ โดยไม่ต้องมากังวลว่าจะเลี้ยงชีพเขาได้ขนาดนั้นไหม เพราะประเทศเขามีสวัสดิการดีๆ รองรับอยู่แล้ว
ในขณะที่ปาล์มก็ได้ชวนคุยถึงประเด็นนี้เช่นกัน เขาบอกว่าอาชีพจิตรกร หรือศิลปินในต่างประเทศเป็นอาชีพที่ทำเงินได้เยอะมาก และมีเกียรติ งานศิลปะรูปแบบต่างๆ เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่ชื่นชมอย่างมากในต่างประเทศ ซึ่งเป็นจริงเช่นนั้น ในประเทศที่ศิลปะรุ่งเรือง ศิลปินมีงานมูลค่าหลักสิบล้าน แต่ไทยยังอยู่ที่หลักแสน หรือแม้กระทั่งหลักหมื่น เนื่องจากมีการกำหนดราคาซื้อขายตามใจชอบ ต่างจากประเทศอื่นที่กำหนดตามคุณภาพของชิ้นงาน ซึ่งถือเป็นการประกันรายได้ของเหล่าศิลปินไปในตัวด้วย
‘สวัสดิการ’ คือสิ่งที่รัฐบาลให้ไม่ได้
สวัสดิการสังคม เป็นหนึ่งในสิ่งที่พลเมืองทุกคน และทุกอาชีพควรได้รับอย่างเท่าเทียม แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นว่าอาชีพจิตรกรเป็นหนึ่งในอาชีพที่ถูกทอดทิ้งไม่ต่างจากหลายๆ อาชีพ ที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ แทบไม่มีทุนสนับสนุนเพื่อการสร้างสรรค์ ศิลปินต้องอยู่อย่างปัจเจก คอยดูแล และพัฒนาตัวเองเพื่อไม่ให้จมหายไปกับโลกแห่งทุนนิยม
เมื่อพูดคุยถึงเรื่องสวัสดิการที่จำเป็นต่อการทำงานสายศิลปะ ปาล์มมองว่า รัฐบาลควรดูแลพื้นที่สาธารณะสำหรับแสดงงานศิลปะมากกว่านี้ เช่น หอศิลป์ฯ เพราะหากไม่มีพื้นที่จัดแสดง ศิลปะก็ไม่มีที่ยืน และที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องศิลปะอย่างจริงจัง รวมถึงเงินสนับสนุนก็ได้ไม่เพียงพอที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้แข็งแรง
ในขณะที่ป่าน มีความเห็นว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุนใน ‘ทุกทาง’ ประเด็นแรก เธอต้องการให้รัฐบาลเข้าใจ และเห็นความสำคัญของศิลปะ ศิลปะมันคือผู้คน เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจว่าศิลปะสำคัญอย่างไร รัฐบาลจะมีนโยบายในการบริหารที่ซัพพอร์ตอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น อาทิ ให้พื้นที่กับงานศิลปะ ถ้าการเมืองดี เราจะเห็นแกลลอรี่ทั่วทุกจังหวัด ไม่ใช่กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ และอาจเห็นทุนต่างๆ ที่สนับสนุนศิลปินมากขึ้น
“พอเป็นอาชีพที่เกี่ยวกับงานออกแบบโดยเฉพาะฟรีแลนซ์ เราไม่มีสวัสดิการอะไรเลย ต้องยอมรับว่าสหภาพแรงงานเราไม่ได้แข็งแรงพอ อำนาจในการต่อรองมันเลยเสียงเบา เหมือนเราก็สู้อยู่ตัวคนเดียว”
หลังจากฟังคำตอบแล้ว เชื่อว่าหลายคนรับรู้ถึงปัญหาความอ่อนแอของสหภาพแรงงานไทย ซึ่งปัญหาเรื้อรังที่สะสมมานานจนจำความแทบไม่ได้ ในงานวิจัยว่าชิ้นหนึ่งด้วยเรื่อง ความอ่อนแอของสหภาพแรงงานไทย ที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2539 กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้สหภาพแรงงานไทยนั้นอ่อนแอ เกิดจากระบบอุปถัมภ์ที่แฝงตัวอยู่ในสหภาพแรงงาน การแทรกแซงของอำนาจรัฐ และปัญหาความขัดแย้งภายในของสหภาพแรงงาน นำมาสู่ความไร้ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และไม่สามารถต่อสู้เพื่อประโยชน์ของแรงงานไทยได้อย่างแท้จริง นับตั้งแต่ตอนนั้น จนมาถึงบัดนี้ ผ่านมากว่า 20 ปี แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข และแรงงานทุกอาชีพยังคงต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวต่อไป
ศิลปะคือกระจกวิเศษ ที่สามารถสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำในสังคม
“ศิลปะคือ ธุรกิจ”
ปาล์มกล่าวสั้นๆ ก่อนจะอธิบายต่อว่า “ธุรกิจคือการลงทุน และการลงทุนในวงการศิลปะคืออุปกรณ์ เอาง่ายๆ เลยนะ คนที่ไม่มีเงินซื้อสีดีๆ เป็นศิลปินไม่ได้ ในอนาคตถ้าสีจางลง งานของคุณจะหมดมูลค่า หากถามว่างานศิลปะสะท้อนความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร มันแน่นอนอยู่แล้ว ถ้าวันไหนความเหลื่อมล้ำหมดประเทศไป ทุกบ้านจะมีงานศิลปะติดผนังบ้าน เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงได้”
ในขณะที่ฝ่ายป่านเองได้เล่าถึงประสบการณ์ไปสอนศิลปะตามชุมชนต่างๆ เช่นคลองเตย หรือหัวลำโพง เธอเห็นเลยว่าศิลปะมันเข้าไปไม่ถึงชุมชนเหล่านี้ และมันคือเงาสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนที่สุด
“คนที่เขาไม่ได้มีเงินมาก เขาไม่มองว่าศิลปะมันอยู่ในชีวิตประจำวัน เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวมาก เด็กๆ แทบไม่มีสีวาดรูปในบ้าน ทั้งที่เรามีสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก แสดงว่ามันมีคนเยอะมากที่เขาเข้าไม่ถึงตรงนี้ หลายๆ ครั้งศิลปินพยายามเอาศิลปะเข้าไปหาชุมชน แต่มันไม่มากพอ ดังนั้นเราต้องการแรงสนับสนุนจากรัฐบาล คนมีอำนาจ เราต้องผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงศิลปะเหมือนที่ผลักดันสวัสดิการอื่นๆ”
“ถ้าถามว่าทำไมไม่เริ่มที่ตัวเอง ถ้าทำเองได้ เราจะมีรัฐบาลไปเพื่ออะไร”
“ประชาชนทุกคนล้วนเริ่มที่ตัวเองมาแล้วทั้งนั้น แต่เราต้องยอมรับว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขชีวิตต่างกัน บางคนทำอาชีพหาเช้ากินค่ำก็หมดวันแล้ว จะเอาเวลาไหนไปพัฒนาตัวเอง เรารู้สึกว่าวาทกรรมให้ต้องพยายาม มันขายฝันให้คน คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน ต่อให้พยายามมันก็ไม่เท่าคนที่เขามีสิทธิพิเศษในชีวิต ถ้ามันสามารถแก้ที่โครงสร้างได้มันจะดีกว่านี้มาก แน่นอนทุกคนอยากมีชีวิตดี เขาต้องพยายาม แต่เราก็สามารถทำทั้งสองอย่างไปพร้อมกันได้ เริ่มที่ตัวเองด้วย แล้วก็เรียกร้องให้คนมีอำนาจเข้ามาช่วยสนับสนุนตรงนี้ด้วย”
เคยตั้งคำถามไหม ว่าที่ผ่านมาสังคมไทยของเราสูญเสียศิลปินอันทรงคุณค่าให้กับโครงสร้างสังคมที่กดทับ และบีบบังคับให้เขาเหล่านั้นต้องหันหลังให้ความฝัน และเดินหน้าสู่ตลาดแรงงานของเหล่านายทุนที่อ้าแขนรอรับไปมากเท่าไหร่
ต้องรออีกนานแค่ไหน ดอกไม้แห่งศิลปะจึงจะเบิกบานในประเทศไทยเช่นเดียวกับสถานที่ต่างๆ บนโลก แล้วถ้าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป เหล่าเมล็ดพันธ์ุที่รอวันงอกเงยก็คงเหี่ยวเฉาไปตามกาลเวลา โดยที่ไม่มีโอกาสแม้จะเงยหน้าขึ้นจากดินเพื่อสัมผัสความสวยงามของอาทิตย์อัสดงเลยสักครั้ง