ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ กระแสการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศเป็นที่รู้จักกันในสัญลักษณ์ #MeToo (อันมีจุดเริ่มต้นจากการเปิดโปงการล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศของโปรดิวเซอร์ผู้ทรงอิทธิพลในวงการภาพยนตร์อย่าง ฮาร์วี ไวน์สตีน ที่ถูกปกปิดมาเป็นเวลาหลายสิบปี) จะแพร่หลายไปในแทบทุกวงการ เหล่าผู้ทรงอิทธิพลหลายต่อหลายคนในหลากวงการ ต่างก็ถูกเปิดโปงและกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศกันเป็นทิวแถวในทุกวี่วัน ไม่เว้นแม่แต่ในวงการศิลปะ
บางคนมองว่าปรากฏการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการปฏิวัติบรรทัดฐานและความเหลื่อมล้ำทางเพศในทุกๆ วงการอย่างแท้จริง แต่ในขณะเดียวกัน บางคนก็มองว่ามันเป็นเพียงการล่าแม่มดในยุคสมัยใหม่เท่านั้น
ด้วยกระแสเคลื่อนไหวที่ลุกลามมายังวงการศิลปะนี้เอง ทำให้บรรดาสถาบันทางศิลปะ อย่างพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่างตกที่นั่งลำบากในการตัดสินใจว่าจะวางตัวอย่างไรดี
ซึ่งความพีคของสถานการณ์นี้อยู่ตรงที่คนล่าสุดที่โดนข้อกล่าวหานี้ ดันเป็นศิลปินระดับตำนานอย่าง ชัค คโลส (Chuck Close) จนนำไปสู่ดราม่าอันอื้อฉาวที่ก่อให้เกิดการถกเถียงและตั้งคำถามครั้งใหญ่ในวงการศิลปะ ว่าจะมีมาตรการอย่างไรกับผลงานที่ทำโดยศิลปินที่มีประวัติและพฤติกรรมส่วนตัวอันเลวร้ายในอดีตกันดี
อนึ่ง ชัค คโลส เป็นศิลปินอเมริกันระดับปรมาจารย์ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดพอร์เทรตเหมือนจริงระยะประชิดของผู้คนขนาดใหญ่มหึมา เป็นหนึ่งในศิลปินผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในวงการศิลปะอเมริกัน และเป็นศิลปินคนสำคัญในแนวทางศิลปะนามธรรมที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากภาพวาดเหมือนจริงแบบภาพถ่าย (Photorealistic art) และภาพวาดแบบผสานจุดสี (Pointillism) แม้ในปัจจุบันเขาจะมีร่างกายบางส่วนเป็นอัมพาต จนไม่อาจจับพู่กันได้ แต่เขาก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันน่าทึ่งของเขาต่อไป ด้วยการรัดพู่กันไว้กับมือเวลาวาดภาพ
ในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา มีหญิงสาวหลายคนกล่าวหาว่าศิลปินรุ่นใหญ่ผู้นี้เคยล่วงละเมิดทางเพศพวกเธอ โดยอ้างว่า เขาเชื้อเชิญพวกเธอให้ไปที่สตูดิโอของเขาทีละคน และเอ่ยปากให้เปลื้องเสื้อผ้าเปลือยเปล่าเพื่อ ‘คัดตัว’ สำหรับเป็นนางแบบวาดภาพ ยิ่งไปกว่านั้น เขายังถามคำถามลามกหยาบคายเกี่ยวกับอวัยวะเพศของพวกเธอ โดยหญิงสาวบางคนกล่าวหาว่าเขาเคยขอให้เธอช่วยตัวเองต่อหน้าเขาอีกด้วย
ซึ่งตัว ชัค คโลส เองก็ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา และแสดงการขอโทษต่อสังคมถึงกรณีนี้ (ซึ่งบางคนก็กล่าวว่าเขาทำไปเพราะสถานการณ์บังคับ) โดยกล่าวว่า
“เท่าที่ผมรู้ การทำให้คนอื่นรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจไม่ใช่ความผิดอุกฉกรรจ์ ผมไม่เคยทำให้ใครต้องร้องไห้ ไม่เคยมีใครวิ่งหนีออกไปจากสตูดิโอของผม ถ้าผมเคยทำให้ใครบางคนอับอายขายหน้าและรู้สึกไม่สบายใจ ผมก็ขอโทษจากใจจริง ผมไม่ได้เจตนา ผมรู้ตัวว่าผมเป็นคนปากมอม แต่เราก็เป็นผู้ใหญ่กันทั้งนั้นไม่ใช่เหรอ”
หลังจากข่าวข้อกล่าวหาอันอื้อฉาวแพร่กระจายไปในวงกว้าง ในแวดวงศิลปะโลกก็เริ่มมีผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องจากประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่มหาวิทยาลัยซีแอตเติล (Seattle University) ปลดผลงานชิ้นโด่งดังของคโลส มูลค่า 35,000 เหรียญสหรัฐอย่าง Self-Portrait (2000) ภาพวาดตารางแถบสีนับร้อยที่ประกอบกันเป็นรูปใบหน้าของเขาออกจากห้องสมุด Lemieux ของมหาวิทยาลัย และแขวนผลงานของศิลปินหญิง ลินดา สโตแยค (Linda Stojak) ลงไปแทน
ในขณะที่ สถาบัน Pennsylvania Academy of the Fine Arts ในฟิลาเดลเฟีย ที่ถึงแม้จะไม่ยกเลิกนิทรรศการของคโลส ที่แสดงอยู่ แต่ก็เพิ่มนิทรรศการกลุ่มของศิลปินหญิงชื่อดังอย่าง บาร์บารา ครูเกอร์ และ คารา วอล์กเกอร์ (Kara Walker) ในชื่อ The Art World We Want (โลกศิลปะที่เราต้องการ) ลงไปแสดงเคียงข้าง และเชื้อเชิญให้ผู้ชมงานเขียนความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ลงโพสต์อิทและติดบนผนังในพื้นที่แสดงงาน ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการถ่วงดุลระหว่างงานของศิลปินเพศหญิงและศิลปินเพศชาย รวมถึงแสดงนัยยะถึงการวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ไปในตัว
หรือศิลปินหญิง เอ็มมา ซัลโควิคซ์ (Emma Sulkowicz) เองก็ทำศิลปะแสดงสด อยู่หน้าผลงานของคโลส ด้วยการเปลื้องเสื้อผ้าจนเหลือแต่ชุดชั้นในสีดำ และแปะสัญลักษณ์เครื่องหมายดอกจัน ( * ) ลงไปบนตัวจนลายพร้อย ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำอย่าง Metropolitan Museum of Art และ Museum of Modern Art (MoMA) เพื่อแสดงการประท้วงต่อต้านกรณีล่วงละเมิดทางเพศของ ชัค คโลส (รวมถึงศิลปินผู้มีชื่อเสียเกี่ยวกับการล่วงละเมิดสตรีเพศอย่าง ปิกัสโซ่)
และล่าสุด หอศิลป์แห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี. (National Gallery of Art) ก็ได้ประกาศเลื่อนนิทรรศการแสดงเดียวของคโลส ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมไปอย่างไม่มีกำหนด ในช่วงเวลาเดียวกัน บรรดาพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ที่จัดแสดงผลงานของคโลสอย่าง The MET (Metropolitan Museum of Art) ในนิวยอร์ก, National Portrait Gallery ในวอชิงตัน และพิพิธภัณฑ์ Broad ในลอสแองเจลิส ต่างก็กำลังถกเถียงกันว่าจะจัดแสดงผลงานที่ลงนามโดย ชัค คโลส ต่อไปหรือไม่?
ไม่ว่าเราจะมีความเห็นไปในทิศทางไหน ประเด็นนี้ก็มีความเป็นไปได้อยู่สองประการ ก็คือ เขาผิดจริง กับไม่ผิดจริง และถึงแม้ว่าข้อกล่าวหาจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และศิลปินผู้กระทำผิดได้ถูกลงโทษไปตามกฏหมายอย่างถึงที่สุด คำถามต่อมาก็คือ เราจะทำอย่างไรกับผลงานของศิลปินเหล่านั้นที่จัดแสดงโดยสถาบันทางศิลปะชั้นนำทั่วโลกกันดี?
เพื่อให้น้ำหนักคำถามนี้ตามมุมมองของความเป็นจริง เราคงต้องขุดลึกไปยังข้อเท็จจริงอันมืดมนที่สุดในประวัติศาตร์ศิลปะ ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหลายคนต่างก็มีประวัติชีวิตและชื่อเสียงที่ย่ำแย่ฉาวโฉ่กันทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรชาวอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคบาโร้กอย่าง คาราวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) ผู้ปฏิวัติแนวคิดในการทำงานศิลปะในยุคสมัยของเขาอย่างสิ้นเชิง ด้วยการใช้บุคคลธรรมดาสามัญไปจนถึงชนชั้นล่างตามท้องถนนมาเป็นแบบวาดภาพทางศาสนา อย่างภาพพระเยซู, พระแม่มารี และนักบุญทั้งหลาย จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างอื้อฉาวว่า ‘เขาเอากะหรี่มาเขียนให้เป็นพระแม่มารี’ เลยทีเดียว นอกจากนั้นเขายังเป็นจิตรกรคนแรกที่นำความรุนแรงโหดเหี้ยมแทรกสอดลงในภาพวาดของเขาอย่างโจ่งแจ้ง แบบที่ไม่เคยมีจิตรกรคนใดในยุคนั้นกล้าทำมาก่อน จนกลายเป็นต้นแบบแรกๆ ของการแสดงความเหี้ยมโหดในงานศิลปะ และกลายเป็นการบุกเบิกแนวทางศิลปะที่พัฒนาเป็นศิลปะแบบสัจนิยม (Realism) ในเวลาต่อมา
โดยภาพวาด Amor Vincit Omnia (ความรักชนะทุกสิ่ง) (1601–1602) และ John the Baptist (Youth with a Ram) (1602) อันโด่งดังของเขา ซึ่งเป็นภาพเปลือยของเด็กหนุ่มก่อนวัยเจริญพันธุ์ และนายแบบเหล่านั้นก็คือผู้ช่วยของเขานั่นแหละ เชื่อกันว่าเขามีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มเหล่านั้นด้วย ซึ่งถ้าเป็นในยุคปัจจุบันมันก็คือการพรากผู้เยาว์ดีๆ นี่เอง
ไม่เพียงเท่านั้น คาราวัจโจเองก็ขึ้นชื่อในเรื่องการทะเลาะวิวาท จนในที่สุดเขาก็กลายเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม ด้วยการพลั้งมือฆ่าคนตายในการวิวาทครั้งหนึ่ง จนต้องหลบหนีไปกบดานอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลีและซิซิลีอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางกลับเข้าเมืองหลวง โดยหวังว่าจะได้รับการอภัยโทษจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แต่ระหว่างเดินทางกลับเขาได้ล้มป่วยและเสียชีวิตไปเสียก่อนด้วยวัยเพียง 38 ปี
หรือจิตรกรชาวออสเตรีย ผู้ทรงอิทธิพลแห่งศตวรรษที่ 20 อย่าง เอกอน ชีเลอ (Egon Schiele) ผู้มีชื่อเสียงจากการทำงานศิลปะเชิงสังวาส (Erotic Art) ที่แสดงออกถึงเรื่องทางเพศ ความน่ารังเกียจ ความตาย ภาพเขียนของเขามักเป็นภาพเปลือยของตัวเองและนางแบบ ที่แสดงท่าทางอันพิสดาร บิดเบี้ยว หงิกงอ ผ่านลายเส้นที่เฉียบขาด รุนแรง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นธารของศิลปะ Expressionism
ชีเลอมักจ้างสาวแรกรุ่นมาเป็นแบบวาดภาพ (ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่สะท้อนจากความต้องการในช่วงวัยหนุ่ม ที่เขามีความผูกพันในลักษณะหมิ่นเหม่ไปในทางชู้สาวกับน้องสาวของเขาเอง) นางแบบในภาพวาดของเขามีท่าทางอันยั่วยวนและแสดงออกถึงความรู้สึกทางเพศอย่างรุนแรง ซึ่งดูลามก อนาจาร และเป็นเรื่องต้องห้ามเป็นอย่างยิ่งในความคิดของคนสมัยนั้น จนในที่สุดเขาก็ถูกจับกุมในข้อหาล่อลวงและกระทำอนาจารเด็กสาวอายุ 13 ปี ถึงแม้เขาจะรอดพ้นจากข้อหาดังกล่าว แต่เขาก็ยังคงถูกตัดสินให้ผิดในข้อหาแสดงภาพอนาจารของเด็กสาวที่ไม่บรรลุนิติภาวะแทน เขาถูกศาลสั่งคุมขัง 21 วัน พร้อมกับถูกเผางานทิ้งไปจำนวนหนึ่ง
หรือศิลปินผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 อย่าง ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) เองก็เป็นที่รู้กันดีถึงพฤติกรรมการกดขี่ทางเพศต่อผู้หญิงอย่างร้ายกาจ ภาพวาดอันเลื่องชื่อของเขาอย่าง Weeping Woman (1937) ก็เป็นภาพวาดของ ดอร่า มาร์ หนึ่งในภรรยาน้อยของปิกัสโซ่ ที่เขากระทำย่ำยีหัวใจจนต้องหลั่งน้ำตาด้วยความชอกช้ำระกำทรวงเสมอ เขากล่าวถึงเธอว่า “เธอมักจะเป็นผู้หญิงเจ้าน้ำตา… และมันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้หญิงเป็นเครื่องจักรสำหรับความทุกข์ทรมาน”
หรือศิลปินเซอร์เรียลลิสม์อย่าง ชัลวาดอร์ ดาลี ก็ถูกกล่าวหาว่าตบตีและทำร้าย กาล่า ภรรยาของเขา ด้วยความหึงหวงอย่างรุนแรงจนเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตในที่สุด
หรือศิลปินมินิมอลลิสม์ชาวอเมริกันชื่อดังอย่าง คาร์ล อังเดร (Carl Andre) ก็เคยเป็นผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมภรรยา อันนา แมนดีธา (Ana Mendieta) ที่ตกลงมาจากอพาร์ตเมนต์เสียชีวิต ในปี1985 ถึงแม้ภายหลังเขาจะพ้นจากข้อกล่าวหา แต่ก็ยังคงตกเป็นจำเลยของสังคม โดยเขาถูกประท้วงในงานแสดงนิทรรศการย้อนหลัง ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในลอสแองเจลิส (MOCA) ด้วยการส่งโปสการ์ดคำถามในภาษาสเปนว่า “แอนนา แมนดีธา อยู่ที่ไหน?”
กรณีที่หนักข้อที่สุดอันหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะก็คือ เอริค กิลล์ (Eric Gill) หนึ่งในศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20ของอังกฤษ ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรม, ภาพพิมพ์ และงานออกแบบตัวอักษร ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับคริสตศาสนา แต่เขาก็มีชื่อเสียงอื้อฉาวจากการทำงานศิลปะเชิงสังวาสที่ใช้ลูกสาวของเขาเป็นแบบ ยัง ยังไม่พอ ยังมีที่หนักข้อไปกว่านั้นก็คือ มีหลักฐานชัดเจนที่ถูกพบในไดอารี่ส่วนตัวของเขา ที่บรรยายพฤติกรรมทางเพศของตัวเองอย่างละเอียด ว่าเขากระทำการล่วงละเมิดและกระทำทารุณทางเพศลูกสาววัยรุ่นทั้งสองคนของตัวเองอย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงมีเพศสัมพันธ์ทางเพศกับพี่สาวของเขา และที่หนักที่สุดคือ เขามีเซ็กซ์กับหมาของตัวเองอีกด้วย!
ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ไม่เปิดเผยในวงกว้างจนกระทั่งถูกตีพิมพ์ออกสู่สาธารณะในปี 1989 หรือครึ่งทศวรรษหลังจากที่เขาตาย พฤติกรรมอันเลวร้ายของกิลล์ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างมากในวงการศิลปะว่า ความระยำต่ำช้าในชีวิตของศิลปินควรจะมีผลต่อการตัดสินผลงานศิลปะของเขาหรือไม่?
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ศิลปะนั้นก็ไม่ผิดแผกแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์อื่นๆ ในโลก ที่มีมุมมองหลายด้านทั้งดีร้าย ศิลปินอัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันเลอเลิศประดับโลกหลายคน ก็มีด้านมืดอันเลวร้ายจนต้องเบือนหน้าหนี แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้ผลงานศิลปะของพวกเขาด้อยคุณค่าลงหรือไม่? หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ควรจะถอดงานของพวกเขาออกหรือเปล่า? เราควรจะลบเรื่องราวของพวกเขาออกจากหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะไหม?
จริงอยู่ ที่เราไม่อาจจะแยกพฤติกรรมของศิลปินออกจากผลงานของพวกเขาโดยหมดจดสิ้นเชิง แต่ถ้าเราตัดสินใจไม่แสดงผลงานของศิลปินบางคนเพียงเพราะเราไม่เห็นด้วยกับการกระทำอันผิดศีลธรรมของพวกเขา ไม่นานนัก ผนังหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ก็คงเหลือแต่ความว่างเปล่า เและอีกอย่าง การพิพากษาทางศีลธรรมก็ไม่ใช่หน้าที่ของหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์แต่อย่างใด ส่วนการเซ็นเซอร์หรือเนรเทศงานศิลปะทิ้งไปนั้น ก็ดูจะเป็นเพียงแค่การปัดสวะให้พ้นตัว โดยที่ไม่ได้ช่วยอะไรในระยะยาวเลย (นี่ยังไม่นับรวมกรณีที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าศิลปินเหล่านั้นกระทำความผิดจริงหรือไม่อีกด้วย)
แต่การเพิกเฉยต่อความไม่ชอบธรรมและความเลวร้ายในสังคม ก็ไม่น่าจะใช่ทางออกที่ดีเช่นกัน เพราะศิลปะนั้นไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศเปล่าๆ ปลี้ๆ หากแต่เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในสังคม ในกรณีนี้ สิ่งที่พิพิธภัณฑ์พอจะทำได้ก็คือการให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ผู้ชมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังผลงานแต่ละชิ้น ไม่ว่าจะด้านดีหรือด้านร้าย (ซึ่งในที่นี้เขาใช้สำนวนกันว่า ใส่เครื่องหมายดอกจัน *) นั่นเอง
ดังตัวอย่างที่ สถาบัน Pennsylvania Academy of the Fine Arts และ ศิลปินหญิงอย่าง เอ็มมา ซัลโควิคซ์ แสดงการประท้วงเชิงสร้างสรรค์เพื่อตอบโต้ข่าวอันอื้อฉาวของคโลสดังที่กล่าวไปข้างต้น หรือ พิพิธภัณฑ์ National Portrait Gallery ของสถาบันสมิธโซเนียน ในวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ตัดสินใจติด Wall text (แผ่นป้ายแสดงรายละเอียดภาพ) คู่กับภาพถ่ายนักมวยชื่อดัง ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ โดยมีใจความว่า “มิสเตอร์เมย์เวทเธอร์ เคยถูกจับกุมในข้อหาก่อความรุนแรงในครอบครัวบ่อยครั้ง และถูกตัดสินให้รับโทษด้วยการทำงานบริการชุมชน ไปจนถึงโทษจำคุก” เป็นอาทิ
ส่วนขอบเขตหรือเส้นแบ่งระหว่างพฤติกรรมส่วนตัวของศิลปินกับผลงานนั้น จะส่งผลกระทบกับการเสพงานของเขาหรือไม่อย่างไรนั้น ก็คงต้องปล่อยให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคนไปก็แล้วกันนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.theguardian.com/caravaggio-killed-a-man-censor-art
www.theguardian.com/chuck-close-art-sexual-harassment-pafa
www.theguardian.com/eric-gill-the-body-ditchling-exhibition-rachel-cooke
www.theguardian.com/from-caravaggio-to-graham-ovenden-do-artists-crimes-taint-their-art