เชื่อว่าใครหลายคนอยากรู้จักเมนเทอร์มือโปรคนนี้ในแง่มุมที่ลึกยิ่งขึ้น เราเองก็เช่นกัน
และบทสนทนาในห้องทำงานบรรยากาศสบาย รายล้อมด้วยงานศิลปะชิ้นโปรดของหมู อาซาว่า ก็ทำให้เรารู้จักเขามากกว่าที่เคย ตั้งแต่เรื่องของรันเวย์แรกในชีวิตเมื่ออายุ 13 ปี การไปผจญโลกสุดเหวี่ยงในยุค 90s ที่นิวยอร์ก มาจนถึงตอนนี้ ที่ทุกอย่างยังคงคุกรุ่นเหมือนเมื่อแรกรักแฟชั่นเสมอ
หมู—พลพัฒน์ อัศวะประภา แห่ง Asava Group คือดีไซเนอร์ผู้ทรงอิทธิพลแห่งเมืองไทย กับบทบาทเมนเทอร์ แห่งรายการ The Face Men Thailand ที่ทำเอาใครหลายคนประทับใจกับความเก่งกาจ ดุดัน แต่แฝงอารมณ์ขัน ซึ่งสร้างบรรยากาศแห่งความ professional ได้อย่างเฉียบขาด
สำหรับหมู อาซาว่า ‘วิธีคิด’ คือสิ่งที่เขาย้ำเสมอ ทั้งในการทำงานและการเสพรับเอาสิ่งต่างๆ เข้าสู่ชีวิตตัวเอง ก็คงเหมือนกับตัวเขาเมื่อ 33 ปีก่อน ที่ความรักในแฟชั่น ทำให้พบกับนิตยสาร การอ่าน และหนังสือ รวมถึงศิลปะแขนงอื่นๆ ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต จนกลายมาเป็นวัตถุดิบชั้นดี—ไม่ใช่แค่ในฐานะดีไซเนอร์ หรือเมนเทอร์ แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วย
Life MATTERs : เมนเทอร์หมูแห่ง The Face Men Thailand กับตัวตนจริงของคุณ เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง
พี่หมู : ในลักษณะของการทำงานน่าจะเหมือนกันนะ คนที่รับรู้ภาพเราจากสื่ออื่นๆ กับคนที่รับรู้เราจากในรายการก็ไม่น่าจะเห็นภาพต่างกันเยอะ
เราน่าจะเป็นทีมที่อบอุ่นน้อยสุด ถ้าเปรียบเทียบกับทุกทีม อย่างทีมลูกเกดเขาก็จะมีความเป็นแม่สูง ทีมพีชจะมีความเป็นเพื่อนสูง แต่อย่างที่เคยพูดไว้ในรายการ เราอาจจะเป็นเมนเทอร์ที่ค่อนข้างจะเป็นเมนเทอร์ คือไปทำในแบบของคนที่ทำงานในโลกธุรกิจ มันจะมี 1 2 3 4 5 6 7 8 แต่ในที่สุดแล้ว มันก็ตามประสามนุษย์ มันก็เกิดความคุ้นเคยความผูกพัน แล้วเด็กในทีมเราก็ค่อนข้างมุ่งมั่น มีความตั้งใจสูง ในที่สุดก็เกิดความสนิทมากขึ้นในระดับหนึ่ง
ซึ่งภาพที่มันออกมาในทีวี คนก็อาจจะเห็นว่าทีมเราไม่ค่อยอบอุ่นแต่ว่าจริงๆ แล้วมันก็เป็นความอบอุ่นในแบบของเรา เพราะเราเป็นคนมีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง อย่างเวลาทำงานก็พูดคุยกับลูกน้อง ทำงานกันเต็มที่ นั่นคือโลกของการทำงาน แต่ในโลกของชีวิตส่วนตัว เวลาอยู่กับครอบครัว อยู่กับตัวเอง หรือกับเพื่อนสนิท มันก็จะเป็นอีกแบบ อีกมิติหนึ่ง ถ้าคนสนิทก็จะรู้ว่าเราเป็นคนค่อนข้างตลก และค่อนข้างร้ายนิดหน่อย
Life MATTERs : อะไรที่ทำให้คุณตอบรับการเป็นเมนเทอร์
พี่หมู : เราน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่เขาทาบทาม และเป็นคนสุดท้ายที่ตอบรับ เพราะเรารู้ตัวว่าเราไม่ใช่คนเอนเตอร์เทน เวลาเข้ากล้องหรือทำงานเราจะค่อนข้างดุดัน แล้วเราก็มีวิธีคิดที่ชัดเจนของเรา ถึงคนจะเห็นเราในพื้นที่สื่อ แต่มันก็ยังเป็นลักษณะของคนทำงานเบื้องหลังอยู่ดี ซึ่งเราก็รู้สึกว่าไม่ได้อยากจะกลายเป็นคนเบื้องหน้าสักเท่าไหร่ เรายังมีความสุขกับชีวิตของคนทำงานเบื้องหลัง
แต่ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะความมุ่งมั่นของเต้ (ปิยะรัฐ กัลป์จาฤก) ที่จะให้เราไปทำให้ได้ เพราะจริงๆ เราก็ทำอุปสรรคต่างๆ ให้เขาไว้เยอะ คือมีรีเควสต์อะไรที่มันปวดหัวต่างๆ มหาศาล เพราะเวลาเราไม่มี ปกติเราก็ทำงานเจ็ดวันต่ออาทิตย์มาเป็นเวลาหลายปี อย่างน้อยที่สุดก็หกวันต่ออาทิตย์ แล้วตารางส่วนใหญ่ก็เช้าถึงค่ำทุกวัน ดังนั้นเวลาเลยเป็นอุปสรรคอย่างแรก
แล้วเราก็จะมีเงื่อนไขการทำงานของเราหลายๆ อย่าง ก็ค่อยๆ เริ่มขอไปทีละเสต็ป เนื่องจากเต้เป็นน้องรัก แง่หนึ่งมันคือการปฏิเสธแบบนุ่มนวล แล้วสุดท้ายเขาก็แก้ปัญหาได้ทุกเสต็ป เราเลยรู้สึกว่าถ้าเราไม่ตอบรับเราจะเป็นคนที่แย่มากเลย ไม่ professional มากๆ ก็เลยตัดสินใจรับ
อีกอย่าง พอคุยไดเร็กชั่นกันแล้ว เราก็มีความรู้สึกว่าสิ่งที่เขาอยากทำก็ไม่ได้ไกลจากตัวเราเท่าไหร่ มันก็คือหน้าที่ที่เราทำในชีวิตจริงอยู่แล้ว ดังนั้นตัวคอนเทนต์จึงไม่ใช่ปัญหา แต่เรื่องของเวลาและบทบาทของเราที่จะไปอยู่ในนั้นมากกว่า ที่ทำให้ตัดสินใจนาน
Life MATTERs : พอต้องมาเป็นเบื้องหน้าเต็มตัว มีการปรับตัวอะไรไหม
พี่หมู : ไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย เราไม่ใช่เด็กแล้วล่ะ เราอยู่ในวงการมาประมาณหนึ่ง ใช้ชีวิตมาพอสมควร เราค่อนข้างจะรู้สถานะ บทบาทของตัวเอง ค่อนข้างนะ ไม่ได้รู้ทุกอย่าง แต่ก็รู้ ถามว่าปรับตัวไหมก็ไม่ได้ปรับหรือเปลี่ยนแปลงอะไรมาก ก็ทำในสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง ที่มันจะเกิดประโยชน์กับคนดูมากที่สุด ส่งผลดีกับเด็กในทีมมากที่สุด
Life MATTERs : การทำงานในวงการแฟชั่นหรือโลกธุรกิจ ทำให้บางทีเราต้องละวางความเป็นมนุษย์หน่อยนึงหรือเปล่า
พี่หมู : มันไม่ได้เป็นโลกแบบนั้นขนาดนั้น ในวงการนี้ไม่ว่าจะเป็นดารา นางแบบ ช่างภาพ ช่างไฟ หรือช่างทำผม ทั้งหมดคือครอบครัวของเรา มันเป็นอาชีพก็จริง แต่คืออาชีพที่เราพึ่งพาอาศัยกัน ตากล้องบางคนเราก็ทำงานกันมาร่วมสิบปี นางแบบบางคนก็เดินแบบของเรามาเกือบสิบปี ดาราบางคนก็ใส่เสื้อผ้าเรามาตั้งแต่ต้น การที่ใครสักคนอยู่ด้วยกันได้เป็นหลักสิบปี มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ
เพราะฉะนั้นมันไม่ได้แตกต่างกัน ในฐานะความเป็น professional กับความเป็นมนุษย์ มันไปควบคู่กันได้อยู่แล้ว เราอยากให้คนทำงานเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นมือโปร แล้วก็มีคุณธรรม จริยธรรมในการทำงาน
นี่ก็เป็นสิ่งที่เราอยากให้คนดูมองเห็นในอีกด้านหนึ่งของอาชีพนี้ หลายคนอาจจะมองแต่ว่าธุรกิจบันเทิงคือสิ่งที่ฉาบฉวย แต่ในโลกของการทำงานที่เป็นชีวิตจริง ความฉาบฉวยเองที่มันอยู่ได้ไม่ยั่งยืน มันยังมีสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่จะเป็นองค์ประกอบให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่คนมักไม่พูดถึงกัน
Life MATTERs : คนที่จะทำงานกับคุณได้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
พี่หมู : ที่สำคัญเลยมันคือวิธีคิดของเขา หนึ่งคุณต้องรู้จักตัวเอง ต้องมี self-esteem มีความมั่นใจที่พอดี คนที่มั่นใจเกินพอดีก็ไม่มีเสน่ห์ คนที่ขาดความมั่นใจก็ต้องใช้เวลาในการผลักดันค่อนข้างเยอะ ดังนั้นการรู้จักคุณค่าของตัวเองอย่างพอดิบพอดี มันคือเสน่ห์ที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งมันหาได้ยาก และถ้ามีตรงนี้แล้ว ทักษะอื่นๆ เราสามารถฝึกได้ หลังจากนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นจริยธรรมในการทำงาน นี่จะเป็นบทพิสูจน์ถึงความยั่งยืนในอาชีพการงาน
ซึ่งระหว่างทางก็จะต้องอาศัยการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่ศึกษา แล้วก็ไม่ใช่เอามาใช้แค่กับการทำงาน ไม่ใช่ว่าคุณเข้าฉากแล้ว professional มาก แต่หลังฉากเป็นอีกเรื่อง คุณต้อง professional กับทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ช่างไฟ ช่างหน้า ช่างผม แม่ครัวที่กองถ่าย สุดท้ายแล้วคุณก็จะเป็นคนที่ถูกรักใคร่เอ็นดู จากนั้นคำว่ารักใคร่เอ็นดูเมื่อผ่านเวลาไปมันจะกลายเป็นความศรัทธา
Life MATTERs : แปลว่ารูปลักษณ์มีส่วนช่วยเพียงน้อยนิด?
พี่หมู : หน้าตามันอาจเป็นประตูบานแรก แต่เราว่าสุดท้ายแล้วดาราดังๆ ไม่ได้ขายแค่หน้าตา อย่างเช่น Meryl Streep เขาเป็นดาราที่ดูมีอะไร เขามีน้ำเสียง มีคำพูดของเขา ที่จะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ความหลากหลายของชีวิตที่เราเองไม่มีโอกาสได้ประสบพบเจอ แต่เขาถ่ายทอดได้อย่างธรรมชาติ อันนี้มันเป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่งของคน
คนหน้าตาดีมีมากมายมหาศาล บางคนหน้าตาดีแต่พอพูดออกมาแล้วทั้งหมดทั้งปวงที่เราเห็นนั้นหายไปเลย บางคนอาจจะหน้าตาปานกลาง แต่เมื่อเขาพูดจา เมื่อเขาเดินเหิน เมื่อเขาปฏิสัมพันธ์กับคน ทำไมเรารู้สึกว่าคนนี้มีเสน่ห์จัง ผมว่าในโลกใบนี้ ของที่เราจะเห็นความสำคัญหรือให้คุณค่าในชีวิต ไม่จำเป็นต้องเป็นของสวยงามเสมอไป แต่มันมักจะเป็นของที่มีคุณค่ากับจิตใจของคน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สอนกันยากภายในเวลาอันสั้น
Life MATTERs : ในฐานะเมนเทอร์ คุณเองสอนเรื่องคุณค่าภายในกับลูกทีมเป็นหลักเลยไหม
พี่หมู : ด้วยระยะเวลาอันสั้น เราต้องสอนทักษะก่อน เพราะเขาต้องใช้ในการทำแคมเปญ แต่ระหว่างที่สอนเราก็พยายามจะสอดแทรกสิ่งต่างๆ เหล่านี้เข้าไป ซึ่งก็โชคดีมาก เพราะเด็กของเราค่อนข้างตั้งใจ จะบอกว่าปัจจัยที่เราเลือกเด็กเข้าทีมในครั้งนี้คือแอททิจูดก่อน ไม่ใช่หน้าตา ดังนั้นเมื่อเขามีทัศนคติที่ดีอยู่แล้ว เราก็พยายามจะเสริมมุมที่ดีเข้าไปอีก ซึ่งมันจะมีประโยชน์กับเขาในระยะยาว ไม่ว่าเขาจะอยู่ในวงการนี้ หรือจะออกไปทำอาชีพอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
กับน้องๆ หรือคนอื่นๆ ก็ตาม เราบอกกับทุกคนเสมอ ว่าทุกอย่างที่เราทำมันออกมาจากความรัก แต่ความรักอย่างเดียวไม่พอ เราจะมีคำพูดสวยๆ ว่าคือความใฝ่ฝัน แต่เราอย่าฝันอย่างเดียว แต่ไม่ใฝ่ ความฝันอย่างเดียวช่างเป็นอะไรที่ไม่มีประโยชน์ ไร้สาระมากๆ
ดังนั้นเมื่อมีความฝันแล้วห้ามหยุดใฝ่ ถึงคุณจะได้มันมาอยู่ในมือแล้วก็ตาม เพราะคนที่เก่งกว่า ใหม่กว่า พร้อมกว่าเขากระเถิบเข้ามาทุกวัน พร้อมจะเอาคุณลงทุกวัน ดังนั้นหน้าที่ของคุณคือต่อสู้ แสวงหา เดินหน้า
Life MATTERs : ในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์ล่ะ คุณมี muse ในการทำงานไหม
พี่หมู : เราไม่ได้มองว่าเสื้อผ้าเป็นแค่เสื้อผ้า เรามองมันเป็นวิธีคิด ดังนั้นเวลามองไปที่ muse เราจะมองไปที่วิธีคิดและการใช้ชีวิตของคนคนนั้นมากกว่า คือ muse ของเราอาจไม่ได้แต่งตัวแบบของแบรนด์เราก็ได้ แต่เราเห็นวิธีคิดที่เฉพาะตัว โดยเฉพาะคนที่มีอิทธิพลเชิงบวกกับการใช้ชีวิตของคนในโลก หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เราชอบคนแบบนี้
ง่ายๆ เลย เราชอบ Coco Chanel ซึ่งเสื้อผ้าเราอาจจะไม่เหมือนสไตล์ของ Chanel ก็ได้ แต่เราชอบ เพราะเขาเปลี่ยนวิธีคิดของผู้หญิงในสมัยนั้น ว่าความงามความหรูหรา ไม่จำเป็นต้องอาศัยแค่ความเวอร์วังอลังการ สามารถเอาผ้าเจอร์ซี่มาตัดได้ เราสามารถเอาความเป็นผู้ชายเข้ามานำเสนอเป็นความงามในอีกมิติหนึ่ง
หรือ Dior เอง ก็เสนอความโก้หรูในอีกแบบหนึ่ง จนผู้หญิงเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับความงามในยุคสมัย Diana Vreeland ที่มาทำ Vogue ในยุค 60s เขาก็เปิดโลกอีกโลกของผู้หญิง พานางแบบจากอเมริกามาถ่ายที่ญี่ปุ่น ที่อินเดีย ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกได้เห็นว่าเออ ความงามมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวัฒนธรรมตะวันตกอีกต่อไปแล้วนะ
ยังมีผู้หญิงและคนอีกเยอะมาก ที่พยายามจะบอกโลกว่าบรรทัดฐานที่เราเคยมีไม่ได้เป็นมาตรวัดความงามเสมอไป นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากทำงานออกแบบ เพราะรู้สึกว่าเมื่อเราออกแบบสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้วมันมีอิทธิพลกับความคิดของคน มันมีความหมายสำหรับเรา
Life MATTERs : คุณหลงรักแฟชั่นตั้งแต่ตอนไหน
พี่หมู : จำได้ว่าตั้งแต่เด็กๆ เลยนะ แล้วมันก็คงเส้นคงวามาตลอด ตอนนั้นเราอายุ 13 เรียนโรงเรียนชายล้วน ซึ่งก็แปลกที่มีคลาสตัดเย็บ การบ้านคือเย็บชุดนอน เราก็ใช้ผ้าลายทางสีขาวฟ้า—ที่เราก็ยังใช้ในแบรนด์ทุกวันนี้ แล้วแทนที่เราจะเดินไปส่งงานธรรมดาๆ เราก็ให้เพื่อนข้างห้องมาใส่เดินแบบให้ เพื่อนก็จะงงๆ กัน
เราว่ามันสวยกว่าที่จะให้ครูหยิบไปตรวจๆ ดู แต่เราใส่บนตัวคนไปเลย เพื่อจะให้ครูเห็นว่าเราทำอะไรกับเสื้อบ้าง ซึ่งมันก็น่าจะฝังใจตั้งแต่ตอนนั้น แต่ก็ยังไม่เคยคิดว่าจะต้องเป็นดีไซเนอร์นะ เพราะก็ต้องยอมรับว่าสามสิบกว่าปีที่แล้วแฟชั่นมันยังไม่ใช่ธุรกิจ อุตสาหกรรมแฟชั่นยังไม่มีตัวตนเลยในบ้านเรา คำว่าดีไซเนอร์ยังไม่มี มีแต่ช่างตัดเสื้อ แต่เรารู้ว่าเราชอบอะไรที่เกี่ยวข้องกับเสื้อผ้า
เราชอบแฟชั่นมาตลอด อายุ 14-15 ก็เริ่มไปเดินสยาม เราเริ่มแต่งตัวเร็วกว่าคนอื่น เริ่มรู้จัก SODA รู้จัก Greyhound เราอ่านลลนา อ่านเปรียว แล้วก็เริ่มอ่านบทประพันธ์ อ่านนิยายที่เขาตีพิมพ์ อ่านชาติ กอบจิตติ จากนั้นก็เรฟเฟอเรนซ์ไปถึง Vogue ซึ่งการจะซื้อ Vogue ในยุคนั้นมันยากมาก มีขายที่ไดมารูที่เดียว แล้วการที่เด็กอายุ 15 แล้วเป็นเด็กผู้ชายด้วย จะขอพ่อแม่ไปซื้อ Vogue ที่ไดมารูมันไม่ใช่เรื่องง่าย บางทีก็ต้องไปตามซื้อที่ตลาดจตุจักร
พออ่านนิตยสารเยอะ เราก็เริ่มเจอคอนเทนต์แปลกๆ เจอคอลัมน์ต่างๆ เริ่มได้ฟังเพลงฝรั่ง รู้จักศิลปินแจ๊ซ ซึ่งมันก็อาจจะเป็นการแสวงหาของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ไม่เหมือนชาวบ้าน ในขณะที่คนอื่นเตะฟุตบอลกัน เราก็อยากอ่านลลนา ฟังเพลงแจ๊ซโบราณ นี่คือการหลีกหนีของเรา เพราะบ้านเราเป็นบ้านนักธุรกิจ ทุกคนจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ บัญชี นี่จึงเป็นหนึ่งใน escape ของชีวิต มันเป็นฝันส่วนตัว แต่ยังไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นจริง
Life MATTERs : สตรีทลุคของคุณในยุคนั้นเหมือนกับเด็กรุ่นเดียวๆ กันหรือเปล่า
พี่หมู : ไม่เหมือน เราแต่งตัวค่อนข้างล้ำ เราใส่โหน่ง ปริญญา (Gable by Prinya) ใส่องอาจ นิรมล ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีใครใส่ มันแพงมากสำหรับเด็ก ถือเป็นโอต์กูตูร์ของเมืองไทยสมัยนั้น เราก็โชคดีที่หลอกล่อพ่อแม่ซื้อมาจนได้ ส่วนมากคนที่แต่งตัวแบบนี้จะต้องเป็นคนที่คลั่งแฟชั่นสุดขีด หรือไม่ก็เป็นคนสายโฆษณา คนเอเจนซี่อะไรแบบนี้
เพื่อนที่ชายล้วนก็คงรู้สึกกับเราแปลกๆ เพราะเราก็ไม่ได้อยู่แก๊งเพื่อนเก้ง แต่เพื่อนเราจะเป็นตัวเซียนหมดเลย เจ—เจตรินอะไรแบบนี้ บุคลิกท่าทางเราก็คือเด็กผู้ชายคนหนึ่ง
Life MATTERs : สำหรับคุณแล้ว โลกแฟชั่นในยุคไหนสนุกที่สุด
พี่หมู : สำหรับเราแล้วที่เราได้สนุกกับแฟชั่นที่สุดมันคือยุค 90s เพราะเป็นช่วงที่เราได้ explore จริงจัง ตอนนั้นเราอยู่ที่นิวยอร์ก มีอิสระทางความคิดและใกล้ชิดกับแฟชั่นมากขึ้น แล้วแฟชั่นก็สนุก เป็นยุคที่ดีไซเนอร์แก๊ง Antwerp Six เกิดขึ้น (กลุ่มดีไซเนอร์ที่เรียนจบจาก Antwerp’s Royal Academy of Fine Arts ในช่วงปีเดียวกัน) พวก Dries Van Noten หรือ Ann Demuelemesster กำลังมา
แล้ว 90s ก็จะมีเรฟเฟอร์เรนซ์มาจากยุค 70s ก็กลับไปดู 70s ส่วน 70s เองก็มีเรฟมาจาก 50s อีกทีหนึ่ง เราก็ตามไปเรื่อยๆ ดังนั้นถ้ามองย้อนกลับไป เราก็จะชอบแฟชั่นยุค 40s-50s ด้วย
Life MATTERs : ประสบการณ์ที่สนุกที่สุดขณะอยู่นิวยอร์กคืออะไร
พี่หมู : พูดยากถ้าจะบอกว่าอะไรที่สนุกที่สุด แต่ชีวิตทุกวันมันคือความฝัน ไม่ว่าการได้เรียนที่ Parsons ซึ่งเป็นโรงเรียนการออกแบบโดยเฉพาะ เพราะเมื่อก่อนเราจะได้ดูซีรีส์รื่อง Fame ที่ตัวละครเรียนในโรงเรียนศิลปะ เราก็ใฝ่ฝันที่จะได้เรียนในที่แบบนั้น เราฝันอยากเรียนศิลปากรแต่ก็ไม่มีโอกาสได้เรียน ที่ Parsons ก็เลยสนุก เพื่อนทุกคนมีความเป็นอาร์ทิสต์สูงมาก
ตอนไปฝึกงานที่ Marc Jacobs ก็ได้เจอดีไซเนอร์ที่ยิ่งใหญ่ เจอ Madonna เจอ Naomi Campbell เจอ Kate Moss ที่เป็นท็อปโมเดลของยุคนั้น มันเหมือนเราอยู่ในสวนสนุกทุกวันเลย แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นความสนุกที่เราต้องฝึกฝนตัวเอง เพราะหลังจากที่เราเริ่มฝึกงานได้ 6 เดือน ที่บ้านก็ตัดเครดิตการ์ด ให้ย้ายออกจากตึกที่เคยเช่าให้อยู่ จำกัดงบของเราใหม่ เพื่อให้เรารับผิดชอบความฝันของตัวเอง
จากที่เราเคยเช่าบ้านอยู่กลางโซโห เป็นห้องหรูมาก เดือนละพันเหรียญ เราก็ต้องย้ายไปอยู่ตึกสมัยก่อนสงครามโลก ซึ่งเราก็ไม่ได้มีปัญหาหรอกนะ เพราะตึก pre-war มันก็สวยดี เพียงแต่ต้องเดินขึ้นบันไดเยอะหน่อยเท่านั้นเอง
จริงๆ ช่วงนั้นมันเป็นช่วงเวลาที่ต้องกระเสือกกระสน แต่เราเองในตอนนั้นไม่เคยมองว่ามันคือการกระเสือกกระสนเลย เพราะมันสนุกไปเสียหมด บางทีกลับบ้านไปไฟโดนตัดก็ ไม่เป็นไร จุดเทียนก็ได้ บ้าๆ บอๆ ไปของเรา มีเงินชั้นก็ไปต่อไฟใหม่ แล้วที่ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟก็เพราะไปช้อปปิ้งหมด (หัวเราะ) มันก็เป็นช่วงชีวิตที่เราแสวงหา ซึ่งสิ่งที่รออยู่ข้างหน้ามันทำให้เราลืมทุกสิ่งว่านี่คือความลำบากที่ต้องเผชิญ
บางมื้อก็มีเงินกินข้าวแค่สองเหรียญห้าสิบ จากที่ทำงานในออฟฟิศหรูมาก ก็ต้องแอบไปกินข้าวในตรอกที่ช่างเย็บเสื้อคนจีนไปกินกัน ช่างก็งง อุ้ย นึกว่าเรารวยเพราะเราแต่งตัวสวยไปทำงานทุกวัน เดินกลับไปบริษัทตัวเหม็น ฝรั่งก็บอกว่าตัวเหม็นจังไปไหนมา
แต่เราก็ไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่เคยรู้สึกว่าโดนเหยียดผิวเลย โชคดีที่เราไม่เคยรู้สึกอะไรแบบนี้ เพื่อนฝรั่งที่นิวยอร์กก็บอกว่านึกว่ายูเกิดที่นี่ เพราะแอททิจูดคุณช่างเป็นนิวยอร์ก คุณไม่สนใจอะไรเลย อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ค่อยสนใจอะไรใคร
สิ่งที่เราคิดคือถ้าชั้นอยากอยู่ที่นี่ ชั้นก็ต้องทำ แล้วเราก็ทำให้เต็มที่เพราะเงินมันไม่พอใช้จริงๆ ก็ต้องทำทุกวิถีทาง ตอนเช้าตื่นไปทำงาน Marc Jacobs เลิกบ่ายสองก็วิ่งเข้าอีกบริษัทหนึ่งไปเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์ เสร็จปั๊บตอนกลางคืนจัดวินโดว์ดิสเพลย์หลังห้างปิดจนตีสี่ กลับไปนอนตื่นเช้ามาทำงาน Marc Jacobs ต่อ เสาร์อาทิตย์เป็น personal stylist อะไรอย่างงี้ มันก็ต้องทำ
ไหนจะชอบเที่ยวกลางคืนอีก ก็ต้องไปเที่ยว จะซื้อเหล้าแก้วหนึ่งก็ต้องคิดว่า ซื้อเหล้าแล้วเราจะมีข้าวกินมั้ย มันก็ต้องบริหารจัดการให้ได้ ต้องรับผิดชอบ แต่ยังไงก็แล้วแต่ เราก็โชคดีที่พ่อแม่ยังเมตตาเราอยู่ เพราะเขาก็เห็นว่าเราเปลี่ยนไป เราทำงานทั้งวันทั้งคืน มันก็อาจจะติดมาเป็นนิสัยจนตอนนี้ ถ้าเราอยากจะทำอยากจะเป็น ความกระตือรือร้น ความตั้งใจสม่ำเสมอมันน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
Life MATTERs : คุณทำงานเยอะมากในนิวยอร์ก มีช่วงที่เหนื่อยหรือท้อบ้างไหม
พี่หมู : คือตอนนั้นบางทีก็มีท้อนะ เราจบปริญญาตรีนิเทศจุฬา จบปริญญาโทมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด แล้วเราต้องมาทำงานรับเงินชั่วโมงละสี่เหรียญ นั่งสอยกางเกงกับพื้น บางวันเราก็เหนื่อย หรือบางวันที่ไม่สบาย ตัวคนเดียว ต้องดึงตัวเองไปทำงาน บางทีมันก็คิดว่าชีวิตชั้นมันไม่มีคุณค่าขนาดนั้นเลยเหรอ
แต่สุดท้ายมองไปแล้วมันไม่ใช่ความตกต่ำหรอก ตอนนี้อาชีพเราก็ยังต้องนั่งสอยกางเกงกับพื้นอยู่ มันคือสัมมาอาชีพที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ มันคือคุณค่าของชีวิตที่เราแบกตัวเองออกไปทำงาน รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง ยืนหยัดอยู่กับสิ่งที่เราอยากทำแล้วทำได้ มองย้อนกลับไปตอนนี้แล้วก็พบว่าการที่เราลำบากแล้วไม่ได้มองว่าตัวเองกำลังลำบาก มันช่างเป็นสิ่งที่มีค่ากับชีวิตเราเหลือเกิน
Life MATTERs : หลังจากสุดเหวี่ยงกับโลกแฟชั่นในนิวยอร์ก พอต้องกลับเมืองไทย อกหักไหม
พี่หมู : อกหัก เพราะตอนนั้นไม่เคยคิดจะกลับเมืองไทยเลย แต่ก็มีภาระหน้าที่บางประการที่ทำให้ต้องกลับ แต่ขณะเดียวกันตอนนั้นเราก็สามสิบกว่าแล้ว ความคิดก็โตแล้ว เราก็คิดว่าถ้าจะเป็นตัวเอง ที่ไหนก็เป็นได้ เราฟูมฟักตัวเองที่นั่นมาสิบปีแล้ว โลกก็เปลี่ยน อินเตอร์เน็ตก็เข้ามาแล้ว ดังนั้นที่ไหนก็เหมือนกันถ้าตัวตนเรามีซะอย่าง
Life MATTERs : นอกจากการทำงานแล้ว คุณยังจริงจังกับอะไรอีกบ้าง
พี่หมู : ที่จริงจังตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องการหาสมดุลในชีวิต เพราะเราอาจจะเป็นคนปล่อยวางไม่เก่ง ชอบเอาชนะตั้งแต่เด็ก เราใช้ชีวิตในแบบที่อยากจะใช้มาตลอด แต่สุดท้ายเรารู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไป อายุมากขึ้น
นี่ก็เพิ่งเข้าโรงพยาบาลมาหนึ่งอาทิตย์เพราะเราปล่อยวางไม่เป็น พอเราเหนื่อยปั๊บก็เข้าโรงพยาบาลให้น้ำเกลือ นอกพักเสร็จแล้วก็ถอดสายน้ำเกลือ ตื่นเช้าวิ่งออกไปทำงาน แรงหมดก็กลับเข้ามาให้น้ำเกลือต่อ ใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ จนหมอบอกว่า อยากตายเร็วใช่มั้ย? ทั้งหมดที่ทำมันมีความหมายมากไปกว่าชีวิตตัวเองรึเปล่า? ชีวิตแบบนี้คือทางลัดสู่ความตายนะ
ตั้งแต่สองสามปีมานี้ร่างกายเตือนตัวเองค่อนข้างเยอะ แล้วเราก็เริ่มรู้ตัวว่าอาจจะให้เวลากับพ่อแม่น้อยเกินไปหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่ก็อายุ 80-90 แล้ว ดังนั้นตอนนี้มันเป็นเรื่องของการหาสมดุลให้ได้ simplify ชีวิตเราให้เรียบง่ายขึ้น เพราะหลายอย่างที่เกิดขึ้นแล้วเราเอากลับมาไม่ได้
ในตัวเรายังมีความคุกรุ่น อยากทำอะไรอีกเยอะมาก แต่สิ่งสำคัญคือการประเมินตัวเองและมองคนรอบข้างมากขึ้น ว่าพวกเขามีความสุข หรือต้อง sacrifice ตัวเองเพื่อความสุขของเราไหม ตลอดระยะเวลาเราวิ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว เรามุ่งมั่น จะเอา จะเอา จะเอา จนลืมดูทุกสิ่งทุกอย่าง มาวันหนึ่งก็รู้สึกว่าเราลืมมองความงามที่เกิดขึ้นในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เราต้องสโลว์ดาวน์ลงเท่าที่จะทำได้ เพราะจริงๆ ไม่ใช่คนสโลว์เลย มันก็ตามวัยแหละเนอะ แต่พอเราทำสายแฟชั่นเราก็ไม่อยากจะพูดว่าเราแก่ขึ้น (หัวเราะ)
Life MATTERs : คุณโตมากับนิตยสาร มาถึงตอนนี้แล้วเมื่อนิตยสารร่อยหรอลงทุกที คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
พี่หมู : สำหรับเรามันเป็นเรื่องเศร้า เพราะเราโตมากับสิ่งนี้ มันเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เราอ้างอิง เราเป็นคนชอบหนังสืออยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องคิดให้ได้คือโลกมันหมุน แพลตฟอร์มในโลกมันเปลี่ยน เราจำเป็นต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงให้ได้
เพียงแต่ที่เราเสียดายก็คือคอนเทนต์ดีๆ วิธีเขียนสวยๆ การปั้นสตอรี่ที่มันละมุนละไม หรือการปั้นภาพถ่ายที่มันคิดมาเยอะมาก ซึ่งมันก็เข้าใจได้ นักเขียนเมื่อก่อนอาจจะเขียน 5 เรื่องต่อเดือน ตอนนี้อาจต้องเป็น 20 เรื่องต่อเดือน เขาจะเอาคอนเทนต์หรือเวลาที่ไหนมาปั้นให้มันได้ขนาดเมื่อก่อน
และนั่นแหละ ทุกอย่างต้องถูกชดเชย เราก็จำเป็นต้องมีแหล่งอ้างอิงที่มากกว่าอินเตอร์เน็ต เรามักจะบอกน้องๆ พนักงานของเราว่าคุณจะกูเกิ้ลอย่างเดียวไม่ได้นะ คุณอาจต้องกลับไปที่รากของมันที่ลึกมากขึ้น เหมือนกับที่เราเคยเจอเรื่องของแฟชั่น 90s แล้วสืบค้นลึกลงไปอีกถึง 70s ไป 50s ลงไปเรื่อยๆ นี่เป็นสิ่งสำคัญของนักคิด เราไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราเลือกที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพได้
Life MATTERs : ชอบอ่านแนวไหนเป็นพิเศษไหม
พี่หมู : เราอ่านทุกอย่างเลยนะ ตั้งแต่นิยายจีน นิยายฝรั่ง การ์ตูน หนังสือผู้หญิง เรื่องบ้าๆ บอๆ หนังสือธรรมะ ถ้ามีเวลาก็อ่านหมด
เมื่อก่อนเจอถุงกล้วยแขกยังอ่านเลย เป็นคนติดการอ่าน นิดๆ หน่อยๆ ก็ขอให้ได้อ่าน ด้วยความที่เราเป็นคนมีโจทย์ให้คิดตลอดเวลา ยิ่งเรารับ input มากเท่าไหร่ ก็สามารถมี output ได้มากเท่านั้น ถ้าเราเอาอะไรมาจากที่เดียว งานมันก็แบน การอ่านเลยเป็นเรื่องสำคัญ เราไม่เกี่ยงเลย บางทีใบปลิวหรือกระดาษแผ่นหนึ่งมันอาจจะมีอิทธิพลต่อวิธีคิดหรือคอลเลคชั่นเราได้เหมือนกัน
แต่ที่ชอบอ่านเป็นพิเศษคือพวกชีวประวัติ เกร็ดประวัติศาสตร์ เราชอบอ่านที่มาที่ไปของคน อ่านว่าโลกเราเคยมีอะไรเกิดขึ้น แล้วมันมีผลผูกพันมาถึงปัจจุบัน บางทีก็เปลี่ยนไปอ่านฟิคชั่นบ้าง แล้วแต่ช่วงเวลา แต่ช่วงเวลานี้แหละที่เราอ่านน้อยที่สุด ก็เกลียดตัวเองเหมือนกัน
เราสมาธิสั้นลง อ่านอินเตอร์เน็ตเยอะขึ้น ชั่วโมงการทำงานด้วย จนมีหนังสือตั้งอยู่ข้างหัวเตียงเยอะขึ้นทุกวัน ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราซื้อนิตยสารไม่ต่ำกว่า 20 เล่มต่อเดือน ก่อนนอนเนี่ย อย่างน้อยต้องนี่สิบนาทีหรือหนึ่งชั่วโมงที่เราจะอ่านหนังสือ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นโทรศัพท์ซะ 25 นาที แย่มาก เมื่อเช้าตื่นมายังปวดหัวอยู่ว่าทำไงดี หนังสือกองเยอะมาก คงจะต้องไปพักผ่อนตากอากาศที่ไหนสักที่แล้วแหละ เร็วๆ นี้
Life MATTERs : หนังสือเล่มแรกที่มีอิทธิพลกับคุณคืออะไร
พี่หมู : เชยมากเลยนะ (หัวเราะ) เล่มแรกที่มีอิทธิพลกับเราคือหนังสือของ ว.ณ ประมวญมารค เป็นคนแรกที่ทำให้เราติดหนังสือ อ่านมาไม่ตำ่กว่าร้อยหรือหลายร้อยเที่ยวแล้ว อีกคนคือชาติ กอบจิตติ พันธ์หมาบ้า ก็อ่านมาเรื่อยๆ ล่าสุดก็เพิ่งอ่านของเสกสรรค์ ประเสิรฐกุล เรื่อง Unattached Encounters ผ่านพบไม่ผูกพัน ก็ให้อะไรกับเราหลายๆ อย่าง เราชอบคนที่มีวิธีคิดแปลกๆ
Life MATTERs : จริงๆ แล้วเราใช้คำว่า ‘เชย’ กับหนังสือได้ไหม
พี่หมู : อืม จริงๆ แล้ว คำว่าเชยกับคำว่าทันสมัยมันมีเส้นกั้นบางๆ เราว่าของที่มีคุณค่ามักจะไม่มีเรื่องของกาลเวลามาเกี่ยวข้อง ไม่น่าจะต้องมียุคสมัยเข้ามาบอก เหมือนของที่สวยงามหรือมีคุณค่ามันน่าจะอยู่ได้หลากเวลา หลากวัฒนธรรม
คำว่าศิลปะ หรือกระทั่งคำว่าแฟชั่น ถ้าเราจะตีความให้ลึกลงไปมันอยู่ห่างจากคำว่าฉาบฉวยเสียเหลือเกิน ดังนั้นถ้าพูดถึงหนังสือดีๆ สักเล่ม มันอาจจะไม่ใช่แค่ตัวหนังสือหรอก แต่มันคือวิธีคิด ซึ่งวิธีคิดที่ดี มัน timeless มาก
อย่างเจ้าชายน้อยเนี่ย อ่านมาตั้งแต่เด็ก ทุกทีที่อ่านก็ตีความมันไม่เหมือนกัน หรือ The Prophet ของยิบรานมันอยู่มากี่ปี แปลมากี่ภาษาแล้ว วันก่อนมีคนเพิ่งส่งบทความของยิบรานมาให้ ซึ่งเราเคยอ่านมาตั้งแต่อายุ 17 ตอนนี้อ่านแล้วก็ยังน้ำตาไหลอยู่
Life MATTERs : รู้จักหนังสือมากมายตั้งแต่เป็นเด็กในยุคนั้นได้อย่างไร
พี่หมู : นอกจากนิตยสารแล้ว บางเรื่องก็รู้จักจากละครเวที เมื่อก่อนจะมีกลุ่มละครชื่อ แปลน เป็นกลุ่มละครเวทีอิสระของจันทรา ชัยนาม (นักหนังสือพิมพ์ ผู้จัดรายการ และบรรณาธิการคนแรกของนิตยสารดิฉัน) กับพี่หนูเล็ก บุรณี ชัยไชยบุญ เขาก็เอา The Prophet มาเล่น เมื่อได้ดูแล้วเราก็หามาอ่าน
เราเลยกลายเป็นเด็กที่อ่านอะไรเกินตัว ซึ่งตอนนั้นอ่านก็ไม่เข้าใจหรอก ทุกวันนี้ยังไม่เข้าใจทั้งหมดเลย แต่ก็เข้าใจเยอะขึ้น อย่างเจ้าชายน้อย เมื่อก่อนก็นึกว่ามันเป็นนิทานบ้าๆ บอๆ เป็นแฟนตาซี แต่ยิ่งแก่ยิ่งอ่านแล้วก็รู้ว่ามันอะไรซ่อนอยู่ในนั้นเยอะมากๆ เจอประโยคที่มีความหมายกับชีวิตเรามากๆ และยังใช้พูดกับคนอยู่ทุกวันนี้ก็มาจากเรื่องนี้ ซึ่งใครจะนึกว่านิทานสำหรับเด็กจะให้อะไรกับเราแบบนี้
Life MATTERs : เห็นว่างานศิลปะเองก็เป็นสิ่งที่คุณชื่นชอบด้วยเหมือนกัน
พี่หมู : ใช่ครับ ก็มีห้องเก็บเล็กๆ ซื้อเก็บไว้เท่าที่ตัวเองพอจะมีปัญญา เราชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ เช่นกัน แล้วมองว่าสิ่งที่เราทำก็มีฟอร์มของงานศิลปะ แต่เมื่อเราเป็นนักออกแบบเชิงพาณิชย์ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่บริสุทธิ์เท่ากับศิลปิน จริงๆ ศิลปินเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่บริสุทธิ์เลย ยังต้องมีเชิงพาณิชย์เข้ามา
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่เรากับพวกเขาทำ มันมีสิ่งที่ใกล้เคียงกันในแง่การส่งต่อความคิด การตีความโลก หรือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงบนโลกผ่านงานของเขา เสื้อผ้าของเราก็เป็นภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงและคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลก ณ โมเมนท์นั้น ที่มีสมการเชิงพาณิชย์มาเกี่ยวข้อง
ดังนั้นเราจึงรู้สึกชื่นชมคนที่ไม่ต้องคิดถึงสมการที่ว่าขนาดนั้น เป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุดแล้วอยู่ได้ เราชื่นชมวินัยในการทำงานมาเป็นสิบสิบปีของพวกเขา เหมือนเวลาเราดูบัลเลต์ ดูโขน หรือกระทั่งนักฟุตบอลคนหนึ่งก็ตาม เราอาจจะมองเห็นเพอร์ฟอร์มานซ์ของเขาในช่วงเวลานั้นๆ ที่เราดู แต่ลืมคิดไปว่ากว่าที่เขาจะเก่งขนาดนี้ เขาต้องตื่นมาซักซ้อมกี่ชั่วโมงต่อวัน กี่วันต่อปี
หรืองานในห้องนี้เอง ของพี่มอ ไทวิจิต เขาใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะได้ภาพพิมพ์แอ็บสแตร็ก 3-4 เส้นนี้ขึ้นมา เราซื้อวินัยและความมุ่งมั่นทางความคิดของเขา สำหรับเรามันเป็นสิ่งที่มีมูลค่า แล้วอย่างชิ้นนี้เขาทำขึ้นมา 8 ชิ้น เราตามเก็บอยู่ ตอนนี้ก็มีชิ้นที่ 2, 3 และ 4 อยากเก็บให้ครบ เพราะภาพนี้มันมีความเป็น ASAVA มากๆ มีความมินิมัลที่ผ่านการคิดมา ใช้เส้นเรียบง่าย แถมมีสีน้ำเงินและเทาที่เป็นสีที่เราชอบใช้ด้วย
Life MATTERs : จะมีบางคนที่มองว่าศิลปะมีคุณค่าแหละ แต่ออกจะแพงไปหน่อยที่จะตามซื้อเก็บ
พี่หมู : มันแล้วแต่คนมองนะครับ เราก็ไม่ได้อยากโจมตี เพราะนั่นคือฐานลูกค้าของเรา (หัวเราะ) ก็อย่างที่แอนดี้ วอร์ฮอล์พูดไว้นะครับ ว่าอยู่ที่คนเราจะมองศิลปะว่าฉาบฉวยแค่ไหน ถ้ามองว่าฉาบฉวยมันก็ฉาบฉวย คุณจะมองว่าไร้ค่ามันก็ไร้ค่า แต่ถ้าคุณมองว่ามันหยั่งลึกไปถึงจิตวิญญาณ มันก็มีคุณค่า มีมูลค่า มันอยู่ที่ตัวผู้เสพมากกว่า
มันก็เหมือนการมองโลกนะ ว่าเรามองโลกในแบบไหน แล้วเลือกที่จะ associate กับโลกใบนี้ยังไง เรามองหาอะไรในโลกใบนี้ นั่นล่ะ มันทำให้คนเรามีคุณค่าในชีวิตที่แตกต่างกัน …เป็นคนพูดจาเหมือนพระเหมือนครูเนอะ (หัวเราะ)
Photos by Adidet Chaiwattanakul