ชื่อ Juan Gatti อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูหลายคนมากนัก แต่เชื่อเถอะ ว่าคุณน่าจะเคยผ่านตางานของศิลปินชาวอาร์เจนติน่าวัย 67 ผู้นี้มาแล้วแน่ๆ เพราะเขาเป็นทั้งช่างภาพ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ กราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดผู้โลดแล่นอยู่ในวงการแฟชั่นและอาร์ตซีนมายาวนาน ทั้งยังมักร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ที่เรารู้จักดี อย่าง Zara, KENZO, Chloé หรือ Loewe
พรสวรรค์แบบล้นเหลือที่พระเจ้าประทานมาทำให้ผลงานของ Gatti ไม่ถูกจำกัดด้วยเทคนิคทั้งยังปรากฏอยู่ในหลายแวดวงตั้งแต่ปกแม็กกาซีนแฟชั่นจ๋า เซ็ตภาพถ่ายสุดคราฟต์ งานวิดีโออาร์ตที่ต้องตีความกันลึกๆ โปสเตอร์หนังเปรี้ยวจี๊ด ไปจนถึงปกอัลบั้มเพลงร็อกที่ดูดิบอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยความบ้าพลังนี้เราจึงอยากชวนดู 10 ผลงานที่น่าประทับใจของเขา พร้อมเสพความงามไปพร้อมๆ กัน!
ความงามตามแบบวิทย์และศิลป์ ในภาพสัตว์โลก พรรณไม้ และกายวิภาคมนุษย์
Gatti อาจไม่ได้เริ่มต้นมีชื่อเสียงจากงาน Illustration ก็จริง แต่ทุกวันนี้เมื่อเสิร์ชชื่อของเขาใน google ภาพวาดชุด ‘Ciencias Naturales’ หรือ ‘Natural Sciences’ คือสิ่งแรกที่จะโผล่ขึ้นมาและตรึงสายตาทุกคู่ไว้แน่นอน
การเริ่มต้นวาดภาพของ Gatti นั้นเกิดจากความเลือดร้อนช่วงวัยรุ่นเมื่ออาร์เจนติน่ายังปกครองด้วยระบอบเผด็จการอยู่ วันหนึ่งขณะที่ประเทศกำลังมีงานเฉลิมฉลอง เขาปรากฏตัวบนระเบียงบ้านในชุดชั้นในเพื่อประท้วงรัฐบาลและนั่นทำให้เขาโดนจับเข้าคุกเป็นเวลา 6 เดือนทันที และนั่นคือช่วงเวลาที่เขาได้จดจ่ออยู่กับการวาด วาด และวาดนั่นเอง
Natural Sciences คืองานคอลลาจสไตล์วินเทจที่รวมเอาองค์ประกอบในธรรมชาติอย่างพืชพันธุ์และสัตว์น้อยใหญ่สีสันสดใสไว้กับร่างกายมนุษย์แบบปนความหลอนเพราะมีทั้งการโชว์มัดกล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นเลือดภายใต้ผิวหนังที่ห่อหุ้มราวกับหลุดมาจากหนังสือเรียนกายวิภาค
สไตล์การสร้างภาพที่งดงามตามแบบทั้งวิทย์และศิลป์นี้ Gatti กล่าวว่ามาจากตัวตนของเขาเองที่มีทั้งด้านที่เป็นเหตุเป็นผลและด้านที่ชื่นชมความเลิศหรูสวยงาม ส่วนแรงบันดาลใจของภาพเซ็ตนี้มาจากอะไรที่เรียบง่ายกว่านั้นอย่างความชอบทำสวนอันเป็นกิจกรรมที่เขาบอกว่ารักที่สุดในชีวิต
หญิงสาว ดอกไม้สะพรั่งนานาพันธุ์ และภาพแฟชั่นอลังการ
ถ้าพูดถึง Gatti แล้วคงไม่พูดถึงงานภาพถ่ายของเขาไม่ได้ เพราะตลอดชีวิตการงานของเขา Gatti มีผลงานภาพถ่ายมากมายทั้งภาพแคมเปญของแฟชั่นเฮ้าส์ทั่วโลก ภาพปกและแฟชั่นเซ็ตของแม็กกาซีนแฟชั่นทรงอิทธิพลอย่าง Vogue España และ Vogue Italia ซึ่งกับที่หลังนี้ เขายังเคยนั่งเก้าอี้เป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ในช่วงปี 1989-1990 อีกด้วย
ผลงานภาพถ่ายของ Gatti มีหลากหลายพอๆ กับความครีเอทีฟไม่มีจำกัดของเขา ถึงอย่างนั้น ภาพถ่ายแฟชั่นหลายเซ็ตก็มีลายเซ็นของ Gatti ปรากฏอยู่ เช่น ภาพถ่ายชุด ‘Flower Bomb’ ใน Vogue España ที่เราชื่นชอบซึ่งประดับประดาตัวนางแบบด้วยดอกไม้อันเป็นสิ่งที่เขาชอบหยิบมาใส่ในงาน สีสันที่ตัดกันจัดจ้าน และเทคนิคที่ดูเป็นภาพคอลลาจไม่ต่างกับภาพชุด Natural Sciences
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก กิจกรรมที่เด็กชาย Juan Gatti แสนโปรดปรานคือการลงไปขลุกอยู่ใต้โต๊ะและอ่านหนังสือแฟชั่นของมารดาซึ่งมีอาชีพเป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้า haute-couture อยู่เป็นชั่วโมงๆ โลกแฟชั่นจึงกลายเป็นแพชชั่นของเขาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนได้มาโลดแล่นอยู่ในวงการอย่างทุกวันนี้ในที่สุด
เซ็ตแฟชั่น Sci-Fi ล้ำสมัยที่อาจไม่มีดอกไม้ แต่พร่างพรายด้วยหมู่ดาว
ดอกไม้อาจเป็นสิ่งที่ Gatti หยิบมาใช้อยู่บ่อยครั้งก็จริงแต่ก็ใช่ว่าเขาคนนี้จะมีไม้ตายอยู่แค่นั้น โดยเซ็ตภาพถ่ายสำหรับ Vogue España ชุด ‘Una Odisea Espacial’ หรือ ‘A Space Odyssey’ คือสิ่งที่ช่วยพิสูจน์ได้ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง
ในงานนี้ Gatti จับนางแบบมาแต่งชุดนักบินอวกาศเฟียร์ซๆ (ชุดรัดรูปสีเงินบ้าง หรือชุดนักบินอวกาศที่แต่งปลายแขนและช่วงคอด้วยเฟอร์บ้าง) อยู่ในฉากต่างๆ ที่สมมติให้เป็นโลกอวกาศ ทั้งในยานอวกาศหรือท่ามกลางหมู่ดาวเป็นประกาย (มีดาวจาก Star Wars ด้วย!) ออกมาเป็นแฟชั่นเซ็ตที่สีสันจัดจ้านตามสไตล์แต่มีความไซไฟอัดแน่นและยังดูล้ำสมัยแม้กระทั่งเมื่อหยิบมาดูใหม่ทุกวันนี้ก็ตาม
30 ปีแห่งเบื้องหลังงานกราฟิกในหนังของผู้กำกับระดับตำนาน Pedro Almodovar
Gatti ใช่มีชื่อเสียงแต่ในวงการแฟชั่นเท่านั้นเพราะแม้แต่คนในโลกภาพยนตร์ก็ยังยอมรับในฝีมือของเขา เช่น Pedro Almodovar ผู้กำกับชาวสเปนที่ Gatti ทำงานออกแบบโปสเตอร์และกราฟิกอื่นๆ ให้มาตั้งแต่ปี 1988 ในหนังตลกร้ายเรื่อง ‘Matador’
พร้อมๆ กับที่ Almodovar ปล่อยหนังใหม่ออกมาเรื่อยๆ Gatti ก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาสไตล์งานกราฟิกของเขาเช่นกัน ทั้งยังไม่เคยหยุดร่วมงานกับผู้กำกับคู่บุญอีกด้วย เช่น หนังชิ้นเอกเรื่อง ‘The Skin I Live In’ (2011) ที่ Gatti เป็นคนออกแบบโปสเตอร์ให้ทั้งชิ้นที่เป็นภาพถ่ายและชิ้นที่ใช้งานชุด Natural Sciences ที่สร้างเสียงฮือฮาเพราะทั้งสวยงามและมีความหมายเหมาะเจาะกับเรื่องราวสั่นประสาทของหมอศัลยกรรมที่ตามหาผิวที่เพอร์เฟ็คต์เป็นที่สุด
นอกจากโปสเตอร์ Gatti ยังสร้างสรรค์งานกราฟิกอื่นเพื่อช่วยเติมเต็มหนังของ Almodovar ด้วย อย่างหน้าปกวิดีโอหรือดีวีดี พรอพและของตกแต่งบางชิ้นในฉาก หรือแม้แต่ออกแบบของที่ระลึกด้วยโดยมีบรีฟเป็นเพียงบทภาพยนตร์เท่านั้น
นอกจาก Almodovar แล้ว Gatti ยังร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังอีกหลายคนไม่ว่าจะเป็น John Malkovich, Fernando Trueba หรือผู้กำกับชาวสเปน ละตินอเมริกัน และผู้กำกับอเมริกันคนอื่นๆ ด้วย
ป๊อปอาร์ต เรขาคณิต และสีสันจัดจ้านแบบไม่สนใจใคร
ในยุคเริ่มแรก งานของ Gatti ได้รับอิทธิพลมาจากกราฟิกดีไซเนอร์ Saul Bass (หนึ่งในเจ้าของบ้าน Case Study ที่เราเล่าไปเมื่อสัปดาห์ก่อน) รวมถึงเจ้าพ่อป๊อปอาร์ตอย่าง Andy Warhol ทำให้งานของเขามีเอกลักษณ์ที่สีสันจัดจ้านตัดกันแสบตา รูปทรงเรขาคณิต ลายเส้นที่ไม่เนี้ยบ และภาพถ่ายที่ถูกทำให้กลายเป็นกราฟิกแบนๆ
โปสเตอร์สำหรับ New York Film Festival ครั้งที่ 34 ชิ้นนี้คือผลงานชิ้นหนึ่งที่อธิบายความเป็น Gatti ได้ดีด้วยช่องสี่เหลี่ยมหกช่อง ภายในแต่ละช่องมีดอกไม้ (Gatti ใช้ดอกไม้อีกแล้ว) และตัวอักษรบอกชื่องาน โดยทั้งหมดมีสีสันที่ตัดกันฉึบฉับแต่กลับดูสวยงามลงตัวมากกว่าจะชวนวิงเวียน
อย่างที่บอกไปว่า Gatti เองพัฒนาสไตล์มาเรื่อยๆ แต่ก็ใช่ว่างานป๊อปๆ แบบนี้จะหายไปเพราะงานโปสเตอร์หนังเรื่องล่าสุดของ Almodovar อย่างเรื่อง Julieta ก็มีเวอร์ชั่นที่เป็นกราฟิกสีสดแบบนี้เหมือนกัน
เทศกาลเก็บพวงองุ่นหวานฉ่ำบนรันเวย์ KENZO Fall 2012
ความสัมพันธ์ระหว่าง Gatti และโลกแฟชั่นไม่ได้จบแค่หลังกล้องเท่านั้นแต่เขายังเคยโดดไปร่วมงานออกแบบลายผ้าให้กับแบรนด์ KENZO ของดีไซเนอร์และเพื่อนอย่าง Kenzo Takada อีกด้วย!
Gatti กับ Kenzo พบกันในนิวยอร์กเมื่อปี 1979 และค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนขึ้นเมื่อพวกเขาพบกันอยู่บ่อยครั้งเมื่อออกตระเวนเมืองในยามค่ำคืนจนกระทั่งในที่สุดวันหนึ่ง Kenzo ก็ขอให้ Gatti ออกแบบลายผ้าให้กับแบรนด์เสื้อผ้าของเขาบ้าง
แน่นอนว่า Gatti ตกปากรับคำและออกแบบผ้าลายพวงองุ่นสีม่วงสลับเขียวขึ้นสำหรับเสื้อผ้า KENZO Fall 2012 (คือ 30 กว่าปีถัดมา! นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาใจป้ำช่วยทำแคมเปญโฆษณาให้ด้วย) โดยได้ใช้สไตล์ของภาพวาดช่วงยุคศตวรรษที่ 18 ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมต้องเป็นองุ่นนั้นเขาเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า
“ในฤดูใบไม้ร่วง เมืองในยุโรปหลายเมืองมักจะเฉลิมฉลองเทศกาลเก็บเกี่ยวองุ่นกัน เทศกาลนี้แปลงมาจากปาร์ตี้แบบ Bacchanal ของกรีก (ปาร์ตี้ที่เน้นความมึนเมา เพลงมันส์ๆ และการมีเพศสัมพันธ์แบบสุดเหวี่ยง) และเราทุกคนต่างรู้ดีว่าปาร์ตี้เหล่านั้นลงเอยด้วยอะไร ผมว่ามันทำให้องุ่นมีแง่มุมที่เซ็กซี่ดี”
ร็อก ดิบ เถื่อน บนปกอัลบั้มเพลงร็อกที่ได้ทำเพราะความบังเอิญ
ย้อนกลับไปช่วงที่ Gatti ตกลงว่าจะออกแบบลายผ้าให้แบรนด์ KENZO เขาก็เตรียมขึ้นเครื่องบินไปยังออฟฟิศของเพื่อน (Kenzo Takada) ที่กรุงปารีสทันที แต่จะด้วยโชคชะตา พรหมลิขิต หรือความบังเอิญอะไรก็ตามแต่ Gatti เกิดนึกอยากแวะฉลองคริสต์มาสกับเพื่อนๆ ที่มาดริด ประเทศสเปนขึ้นมาซะอย่างนั้น แต่กลายเป็นว่าดันไปได้ข้อเสนองานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ลายผ้าที่ตั้งใจจะออกแบบนั้นจึงถูกชะลอออกไปกว่าสามสิบปี (อ้าว)
ข้อเสนองานที่ Gatti ปฏิเสธไม่ลงนั่นคือตำแหน่งอาร์ตไดเรกเตอร์ของค่ายเพลง CBS Record ในสเปน ที่นั่นทำให้เขาได้ทำงานกับศิลปินร็อกดังๆ จำนวนมากและเป็นที่ที่ทำให้ Gatti มีผลงานปกอัลบั้มดิบดาร์กออกมาเรื่อยๆ อย่างปกอัลบั้มของวง Fangoria แห่งสเปนที่ภายหลังกลายมาเป็นเพื่อนและพากันทำงานวิดีโออาร์ตแนวทดลองอีก
นอกจากปกอัลบั้ม ความสัมพันธ์ระหว่าง Fangoria และ Gatti ยังเหนียวแน่นโดยในวาระพิเศษวงดนตรีดูโอ้นี้ก็มักให้ Gatti ออกแบบการ์ดสำหรับมอบให้แฟนๆ ด้วย เช่น การ์ดคริสต์มาสปี 2016 ที่ Gatti จับเอางานคลาสสิคอย่างปกอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ของ The Beatles มาบิดด้วยการใส่สมาชิกวง Fangoria ลงไปพร้อมกับบุคคลที่เป็นไอดอลของวง โดยแหตุผลที่วงเลือก Gatti มาทำงานนั้นนอกจากความคุ้นเคยแล้วยังเพราะพวกเขาชื่นชมงานของ Gatti มากเป็นพิเศษด้วย
โลกใหม่บรรจุในภาพวาดฝาผนังอลังการแบบไมเคิล แองเจโล
ผลงานหลายชิ้นของ Gatti แสดงได้เห็นว่าตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมาเขามีเพื่อนในวงการแฟชั่น เพลง และศิลปะอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือ Alan Faena ผู้ก่อตั้งองค์กรศิลปะไม่แสวงหาผลกำไร Faena Art ที่เพิ่งเปิดโรงแรม Faena Hotel Miami ไปเมื่อไม่นานมานี้
Faena ชื่นชอบผลงานของ Gatti มากถึงขนาดที่ให้เขาไปออกแบบลายฝาผนังขนาดใหญ่ 8 ผนังรวมกันเป็นซีรีส์ที่ชื่อว่า ‘The Way to Futopia’ แต่ละผนังตั้งใจจะเล่าเรื่องราวการเดินทางในโลกที่เคยศิวิไลซ์มาก่อนแต่ตอนนี้ถูกปกคลุมด้วยป่าทึบซึ่งตีความมาจากเรื่องราวของชีวิตของ Alan Faena ผู้เป็นเจ้าของโรงแรม
ภาพที่ออกมาคือโลกใหม่ที่งามงดด้วยดอกไม้ พืชพันธ์ และสัตว์หายากที่ดูแล้วสดชื่น แต่แฝงไว้ด้วยดีเทลเล็กๆ ที่ชวนให้ตีความ เช่น ข้อความภาษาละตินต่างๆ ความอลังการของภาพเหล่านี้ถูกใจองค์กร Faena Art มากถึงกับให้ฉายาเขาว่าเป็น The Michaelangelo of Faena ส่วนตัว Gatti เองบอกว่าการทำงานนี้ทำให้เขารู้สึกเหมือนเป็นศิลปินในยุคเรอเนซองซ์เลยทีเดียว
ลืมกาลเวลาใน Time Capsule ที่ยิ่งใหญ่ทั้งด้านในและนอก
Gatti กับ Faena Art ยังร่วมงานกันในโปรเจกต์ออกแบบ ‘Time Capsule’ หรือเต็นท์ปาร์ตี้ริมหาดหน้า Faena Hotel ในช่วง Miami Art Fair Week สิ้นปีที่ผ่านมา โดย Gatti ออกแบบเต็นท์เป็นรูปโดมขนาดใหญ่ ภายในห่อหุ้มด้วยภาพวาดของเขาที่เป็นลายตารางสีขาวแดง ประดับด้วยต้นไม้ใบหญ้าและสิงสาราสัตว์ แมทช์กับฝาผนังในโรงแรม Faena Hotel เป็นอย่างดี
ไม่เพียงแค่ภายนอกเท่านั้นที่พิเศษด้วยงานของ Gatti แต่เพดานภายในยังมีหน้าที่เป็นจอฉายวิดีโอ 360 องศาที่ฉายงานของศิลปินมากหน้าหลายตารวมทั้งงานวิดีโออาร์ตของ Gatti เองด้วย เรียกว่าแค่ไปเยือน Time Capsule ที่เดียวก็เท่ากับได้สัมผัสงานของเขาถึงสามแบบ (ดีไซน์ ภาพวาด และวิดีโออาร์ต) เอาให้คุ้มจนลืมเวลากันไปเลย
ดำดิ่งสู่ความหมายและปรัชญาที่ซ่อนในวิชวลอาร์ต 360 องศาสีขาวดำ
ความสามารถของ Gatti ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่แค่สิ่งที่ไม่เคลื่อนไหวเท่านั้นแต่ยังข้ามพรมแดนไปสร้างผลงานวิดิโออาร์ตขาวดำชื่อ ‘Contraluz’ หรือ ‘Blacklighting’ ที่ประกอบด้วยท่วงท่าการเคลื่อนไหวต่างๆ ของมนุษย์ในสภาวะต่างๆ ที่ต้องอาศัยการตีความอย่างล้ำลึกว่าแท้จริงแล้ว Gatti กำลังต้องการสื่อสารอะไรออกมากันแน่
ผลงานนี้ของ Gatti ถูกออกแบบมาให้เป็นวิดีโอ 360 องศาที่เหมาะกับการนำไปฉายในโดมเพื่อสร้างประสบการณ์เหมือนว่าผู้ชมได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิดีโอจริงๆ งานนี้เป็นอีกหนึ่งงานล้ำๆ ของเขาที่ถูกนำไปฉายหลายที่ หลายประเทศ และเป็นผลงานที่พิสูจน์ให้เราเห็นอีกครั้งว่าเขาสามารถสร้างงานด้วยเทคนิคใหม่ๆ ได้เสมอ และเหมือนเป็นการประกาศอีกครั้งว่าพลังของศิลปินวัย 67 คนนี้ยังพลุ่งพล่านแบบไม่มีทีท่าว่าจะหมดในเร็ววันเลย
อ้างอิง