สำหรับเรา ครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องย่อของซีรีส์เรื่อง SOS, Skate ซึม ซ่าส์ ซีรีส์ว่าด้วยกีฬาลำดับที่สามจาก Project S the Series ของค่าย GDH เราออกจะงงทีเดียว
งงแรก ซีรีส์เรื่องนี้เลือกเล่าเรื่องผ่านกีฬาสเก็ตบอร์ดเป็นหลัก ทั้งๆ ที่สเก็ตบอร์ดแทบไม่ใช่กีฬาที่คนไทยคุ้นเคยสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสองเรื่องก่อนหน้าในซีรีส์ชุดเดียวกันที่ใช้กีฬาวอลเลย์บอลและแบดมินตันที่คนไทยค่อนข้างเคยคุ้นเป็นตัวเดินเรื่อง
งงที่สอง คาแรคเตอร์ ‘บู’ ตัวเอกของเรื่องป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคที่ดูเปลี่ยวเหงาและหดหู่เหมือนอยู่ตรงข้ามกับโลกสเก็ตบอร์ดซึ่งเปี่ยมไปด้วยแพชชั่นและพลังเดือดของวัยรุ่น
งงที่สาม คือคำถามสั้นๆ (แต่อยากรู้จริงๆ) ว่าเบื้องหลังความพิศวงของซีรี่ส์เรื่องนี้คืออะไร ทำไมทั้งหมดจึงรวมออกมาน่าสนุกขนาดนี้
คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับที่เคยรับบทบาทหลากหลายในวงการภาพเคลื่อนไหว ทั้งการเป็นตากล้องเบื้องหลังและตากล้องหลักของฮอร์โมนส์เดอะซีรีส์ เคยผ่านการเป็นผู้ช่วยย้ง—ทรงยศ สุขมากอนันต์ เคยช่วยกำกับเรื่องไดอารี่ ตุ๊ดซี่ ซีซั่น 1 และผ่านการกำกับไวรัลวิดีโอและเอ็มวีต่างๆ มาแล้วก็มาก
แม้งานที่ผ่านมาจะมีไม่น้อย แต่กับการเขียนบทและกำกับซีรีส์ของตัวเองเรื่องแรกที่ว่าด้วยโรคซึมเศร้ากลับไม่ง่าย ทั้งจากการผูกโยงเรื่องราวความเศร้าและปัญหานานาระหว่างทาง หากคุณประทับใจซีรีส์แล้วล่ะก็ ต้นกำเนิดของมันก็ชวนประทับใจไม่แพ้กัน
Life MATTERs : จากงานสายตากล้อง คุณข้ามมาทำงานกำกับได้อย่างไร
พัฒน์ : ตอนถ่ายฮอร์โมนส์ซีซั่นสามจบมันมีโปรเจกต์ไดอารี่ตุ๊ดซี่เข้ามา ผู้กำกับคือพี่เติ้ล (ปิยะชาติ ทองอ่วม) พี่เติ้ลเขาจะเก่งเรื่องแอคติ้งมากแต่ว่าไม่รู้เรื่องโปรดักชั่นเลย เขาเลยหาคนที่รู้เรื่องโปรดักชั่นและพอจะมีเซนส์กำกับไปช่วย ก็ลองดึงเราไป พอไปทำแล้วก็เหมือนทำได้
ระหว่างที่ทำไดอารี่ตุ๊ดซี่เราก็ทำอีกโปรเจกต์ เป็นสารคดีที่ทำกับเพื่อนๆ และคุณหมอที่ศิริราช ชื่อ ‘Let Me Grow’ พลิกชีวิตเด็กติดเกม เราก็ไม่รู้ตัวหรอกแต่ตอนนั้นพี่ย้งกับพี่ปิง (ทรงยศ สุขมากอนันต์และเกรียงไกร วชิรธรรมพร) เขาได้ดูทั้ง Let Me Grow ทั้งไดอารี่ตุ๊ดซี่ เขาเลยรู้สึกว่าเราน่าจะทำกำกับได้ ประจวบเหมาะกับที่เขามี Project S พอดี ที่กำลังหาผู้กำกับรุ่นใหม่อยู่ เขาก็เลยชวนว่าอยากทำมั้ย เราเลยจับพลัดจับผลูมาเป็นผู้กำกับเต็มตัวเรื่องแรก
Life MATTERs : ในฐานะผู้กำกับ ทำไมคุณถึงสนใจประเด็นซับคัลเจอร์อย่างเช่นเด็กติดเกม หรือเด็กสเก็ตบอร์ด
พัฒน์ : อาจจะเป็นเพราะเรารู้สึกว่ามันไม่มีใครพูดแทนเขามั้ง คือคนเหล่านี้เขาไม่มีพลังในการพูด มันเป็นความรู้สึกเบาๆ จากการที่เราได้คลุกคลีกับเด็กฮอร์โมนส์ช่วงที่ถ่ายเบื้องหลัง เรารู้สึกว่าเด็กพวกนี้มันเป็นไอคอน พูดอะไรคนก็อยากฟัง พอเราไปทำเรื่องเด็กติดเกมเราเลยรู้สึกว่าแม่งจะมีใครอยากฟังเด็กเหล่านี้บ้าง การเห็นว่าคนหนึ่งเขามีพลังไม่เท่าอีกคนหนึ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจน มาตรวัดมันเป็นแค่ค่านิยมเฉยๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องของเด็กคนอื่นมันน่าสนใจขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
เรื่องคนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็เหมือนกัน เราคิดว่าน่าจะเพราะเป็นเรื่องที่เขาไม่มีพลังที่จะพูดเอง อีกอย่าง มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ แต่ยังไม่เห็นใครหยิบมาพูด เรารู้สึกว่าไอ้ความใกล้ตัวมากแต่ว่าคนไม่ค่อยเข้าใจมันจริงๆ มันเหมือนถ้าเราได้มอบกุญแจอะไรบางอย่างให้คนดูบ้างก็รู้สึกว่ามันน่าจะแก้ไขปัญหาได้เยอะมากๆ น่าจะขับเคลื่อนอะไรบางอย่างได้ แล้วเราเองก็รู้สึกมีคุณค่าขึ้นมาที่ได้ทำสิ่งเหล่านี้
Life MATTERs : หมายความว่ากับ Project S ผู้กำกับเป็นคนเลือกประเด็นที่จะพูดเองแล้วไปเสนอให้ค่าย?
พัฒน์ : ใช่ จริงๆ มันเริ่มจากชื่อ Project S คือ Sports and Spirit มันเป็นซีรีส์กีฬา เขาก็จะถามผู้กำกับว่าอินกับกีฬาอะไร เพราะถ้าไม่อินมันก็จะทำยาก ตอนนั้นเรากำลังเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่พอดี ก็เลยบอกว่าอินสเก็ตบอร์ด มันตั้งต้นจากแค่กีฬาแต่ละชนิดเลย พอได้กีฬาปุ๊บเราก็ต้องมาหา core idea ว่าแก่นของกีฬานี้คืออะไร แล้วอะไรที่จะมาเล่าแก่นของกีฬานี้ได้และสามารถเป็นพล็อตได้ ซึ่งไอเดียออทิสติกหรือไอเดียซึมเศร้ามันมาหลังกีฬา
Life MATTERs : ถ้าอย่างนั้น โรคซึมเศร้ามันเข้ามาตอบความเป็นกีฬาสเก็ตบอร์ดได้ยังไง
พัฒน์ : ถ้าพูดแบบสั้นๆ เลย หลักของมันคือการต่อสู้กับตัวเองเหมือนกันมั้ง สเก็ตมันคือกีฬาเล่นคนเดียวแล้วก็เอาชนะตัวเอง เป็นการพัฒนาตัวเองในแบบที่ไม่มีมาตรวัด ไม่มีขีดจำกัดของการแข่งขันมาเป็นตัววัด เหมือนไม่มีไม้บรรทัดใดๆ เลยเพราะมันเป็นกีฬาสตรีท ไม่ต้องไปแข่งก็ได้ เล่นคนเดียวก็ได้ ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ ไม่มีการต่อสู้กับใครเลย มันมีแค่เราจะเล่นมันยังไงแล้วเราจะได้อะไรจากมัน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
กับโรคซึมเศร้าก็เหมือนกัน มันคือสิ่งที่แต่ละคนมีอาการต่างกัน มีปมพื้นฐานและที่มาต่างกัน มีการไปสู่จุดที่จะหายต่างกัน แล้วเขาก็ต้องไปในสปีดของเขาซึ่งไม่สามารถบังคับให้เป็นสปีดไหนได้เลย ก็รู้สึกว่ามันมีไอเดียอะไรบางอย่างที่มันเป็นอย่างเดียวกันอยู่
Life MATTERs : นานมั้ยกว่าจะได้ไอเดียเรื่องโรคซึมเศร้า
พัฒน์ : นานมาก (หัวเราะ) นานมากจริงๆ ออกตัวก่อนเลยว่าเราไม่เคยเขียนบทอะไรเลย (เน้นเสียง) เราถนัดสุดคือทำสารคดี ก็เพิ่งรู้ตัวเพราะทำเบื้องหลังฮอร์โมนส์นี่แหละ เราไม่เคยเขียนบทแล้วก็กลัวการเขียนบท รู้สึกว่าเราเขียนบทไม่ได้เพราะว่าในรุ่นเราจะมีคนที่เขียนบทเก่งๆ เต็มไปหมดเลย
พอทำ Project S ผู้กำกับตัองเขียนบทเองด้วย เราก็กลัวมาก สำหรับเราถ้าแบ่งหมวดง่ายๆ มันจะมีไวรัล มีหนัง มีซีรีส์ใช่มั้ย เรารู้สึกว่าซีรีส์ยากสุดแล้ว ยากกว่าหนังอีก เพราะมันยาวมากแล้วต้องเอาคนดูให้อยู่ตลอดเวลา คือโคตรยาก (เน้นเสียง) เราก็รู้สึกว่าเราที่เหมือนเป็นศูนย์จะทำสิ่งนี้ได้ยังไง ซึ่งระหว่างที่ทำคือหาไอเดียไม่ได้เลย หมายถึงว่าไม่รู้เลยว่าอะไรสามารถเป็นพล็อตได้ คือเบสิกมันไม่มีจนขั้นนั้น ขายไอเดียไปก็ถูกโละทิ้ง คือช่วงเวลาเขียนบทมันประมาณแปดเดือนมั้ง ไอเดียโรคซึมเศร้ามันมาประมาณเดือนที่ 5 แล้ว
กลับมามองตัวเองตอนนั้นก็เละเทะเหมือนกันนะ (หัวเราะ) ไม่รู้จะโยนไอเดียอะไร แล้วพอมันถูกโละเราก็เลย โอเค ตั้งสติ แล้วก็ลองหาดูว่าสเก็ตบอร์ดมันสามารถเยียวยาคนได้ยังไงบ้าง ตั้งต้นจากไอเดียนี้แล้วก็ลองหาข่าว หา case study หาประวัติของนักสเก็ต จนกระทั่งไปเจอข่าวผู้หญิงชาวแคเนเดียนเขาบอกว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าแล้วเขาเล่นสเก็ตบอร์ดแล้วดีขึ้น เหมือนจะหาย เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย น่าสนใจว่ะ
แล้วภาพที่เขาลงในหนังสือมันเป็นภาพถ่ายผู้หญิงคนนี้ที่ดูโคตรไม่มีความเป็นเด็กสเก็ตยืนถ่ายรูปถือสเก็ตบอร์ดอยู่ในลานสเก็ตที่แม่งโคตรเก็ตโต้ (Ghetto) ดูกราฟฟิตี้ ดูเละเทะ เรารู้สึกว่า เฮ้ย ภาพนี้มันแฮะ คนแบบนี้อยู่ในที่แบบนี้แม่งมัน คาแรคเตอร์คนที่เป็นโรคซึมเศร้ากับกีฬาสเก็ตบอร์ดมันดูเป็นคนละขั้วที่น่าสนใจดี
ตอนนั้นเลือกนักแสดงไปแล้วด้วย ก็คือเจมส์—ธีรดนย์ แล้วก็มีพี่โทนี่ รากแก่น มีแพท ชญานิษฐ์ แล้วก็มีแพรว นฤภรกมล ซึ่งยังไม่รู้เลยว่าจะเอาบทอะไรให้เขาแต่พอได้เรื่องโรคซึมเศร้าปุ๊บ โอ้โห ถ้าเจมส์เล่นนี่พีคแน่นอน เรารู้สึกว่าน้องมีของ น่าจะทำได้ ก็เลยเอาไอเดียนี้ไปขาย GDH ก็รู้สึกว่าไอเดียนี้น่าสนใจ เป็นอันแรกเลยที่เขาบอกว่าน่าสนใจ (หัวเราะ) ก็เลยเป็นที่มาของการเริ่มทำเรื่องโรคซึมเศร้า
Life MATTERs : ถ้าคุณได้แคสต์มาก่อนเรื่อง ในตอนแรกคุณมีวิธีเลือกคนแสดงจากอะไร
พัฒน์ : (หัวเราะ) จริงๆ เลือกแคสต์จากคนที่เรารู้สึกว่าอยากทำงานด้วย แล้วก็หลักๆ คือเลือกแคสต์จากเคมีที่มันน่าสนใจ ว่าเราเห็นสี่คนนี้อยู่ด้วยกันแล้วมันน่าจะมันดี เราเลือกแคสต์สี่คนนี้จากความเพี้ยน ทุกคนมันมีความเพี้ยนอะ มันมีความไม่ปกติ เจมส์ พี่โทนี่ แพท แพรวอะไรอย่างนี้ ทุกคนมันมีความมั่วๆ (หัวเราะ) เราชอบความมั่ว ความเละเทะ มันดูมีเสน่ห์ดี รู้สึกว่าสี่คนนี้รวมกันน่าจะป่วง ก็เลือกจากสิ่งนี้เลยโดยที่ไม่รู้ว่าพล็อตเป็นอะไรด้วย ไม่รู้ใครคู่กับใคร ไม่รู้ใครเล่นอะไร ไม่รู้เลย
Life MATTERs : พอได้พล็อตเรื่องโรคซึมเศร้า คุณมีวิธีสร้างคาแรคเตอร์สำหรับนักแสดงแต่ละคนยังไง
พัฒน์ : พอได้พล็อตเรื่องโรคซึมเศร้าปุ๊บเราก็ลองวางดูว่าคาแรคเตอร์ที่เรามีอยู่ สี่คนนี้มันจะไปอยู่ในจุดไหนได้บ้าง แล้วพอเรื่องมันว่าด้วยเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าปุ๊บ ยังไงตัวหนังก็น่าจะมีตัวเอกเป็นเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้านี่แหละ ซึ่งตอนแรกไม่แน่ใจด้วยว่าจะเป็นเจมส์หรือเปล่า หรือว่าจะเป็นแพรว ก็เซ็นเตอร์ที่เด็กคนนี้ ดูว่าเด็กคนนี้น่าจะมีองค์ประกอบอะไรในชีวิตบ้าง แล้วค่อยเอาตัวละครตัวอื่นไปใส่เพื่อฟังก์ชั่นให้มันเกิดเคมีที่มันน่าสนใจ
Life MATTERs : ก่อนหน้าที่จะมาทำเรื่องนี้ คุณมีความรับรู้เรื่องโรคซึมเศร้ายังไงบ้าง
พัฒน์ : จริงๆ ตอนแรกเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเลย แค่รู้สึกว่าคำนี้น่าสนใจ รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่กำลังมา คนกำลังรู้สึกว่าตัวเองเป็น แต่ว่าตอนนั้นยังไม่ได้เป็นเรื่องวงกว้างขนาดนี้นะ ตอนนี้มันแมสแล้วแหละ
มันมีมวลอะไรบางอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้สเก็ตบอร์ด พอลองไปรีเสิร์ชดูก็พบว่า โอ้โห แม่งใหญ่มาก แล้วมันยากมาก ลึกมาก เราก็แบบ มาผิดทางหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) ใช้เวลารีเสิร์ชไปเยอะเพราะเราก็ไม่อยากจะพูดมั่วๆ หมายถึงไม่อยากทำบทออกไปแล้วมันไม่ใช่โรคซึมเศร้าจริงๆ มันแค่พยายามจะเป็นซึมเศร้าเฉยๆ มันแค่ซึม แค่นิ่ง เหงา หว่อง คือมันต้องเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ เท่านั้น เรารีเสิร์ชเยอะมาก มันเป็นจักรวาลอีกหนึ่งเลย
เรารู้สึกดีมากเลยนะที่ชีวิตนี้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องโรคซึมเศร้าขนาดนี้เพราะว่ามันให้ประโยชน์กับชีวิตเราสุดๆ ไม่ใช่แค่โรคซึมเศร้านะแต่มันทำให้เราเข้าใจวิธีคิดของความเศร้าของมนุษย์ เข้าใจพื้นฐานความต้องการและพื้นฐานการรับมือกับความผิดหวัง มันมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของเราด้วย รู้สึกว่ามันดีมาก
Life MATTERs : พูดถึงการรีเสิร์ช คุณมีการรีเสิร์ชจากที่ไหนบ้าง
พัฒน์ : โอ้โห เยอะมาก รีเสิร์ชกับคุณหมอสี่ท่าน เพจ Moody Twenties แล้วก็อีกสามท่านที่เปิดเผยชื่อไม่ได้ที่เป็นผู้ป่วยซึมเศร้า พวกหนังสือจิตเวช หนังสือเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอีกสองสามเล่ม ที่เหลือก็เป็นในเน็ตแล้ว
Life MATTERs : เมื่อโรคซึมเศร้าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนคุณต้องระวังในการทำงานมากขึ้นมั้ย
พัฒน์ : เราทำให้ดีที่สุดได้ในแง่การทำให้มันจริงที่สุด ให้มันถูกต้องที่สุด แล้วก็พอมันถูกต้องที่สุด คนก็คงเห็นเจตนาของเราเองว่าเราไม่ได้จะบอกว่าการเป็นโรคซึมเศร้ามันเท่ แต่มันทรมานมาก ถ้าสมมติว่าเราสามารถขีดเส้นระหว่างคนที่อยากจะเป็นกับคนที่เป็นจริงๆ ให้คนเห็นก็น่าจะปรับความเข้าใจของหลายๆ คนได้ ว่าการเป็นมันก็ไม่ได้เท่ มันคือตายทั้งเป็นเลย เราพยายามจะรีเสิร์ชให้เยอะที่สุดเพื่อขีดเส้นนี้ให้ออกมาชัดที่สุดให้ได้
Life MATTERs : คำว่าจริงที่สุดของคุณคืออะไร
พัฒน์ : คำว่าจริงที่สุดก็คือถูกต้องที่สุด หมายถึงว่าโรคซึมเศร้ามันไม่สามารถเป็นแบบอื่นได้ มันไม่สามารถข้ามเส้นนี้ไปได้เลยนะ คือมันต้องอยู่ในเส้นนี้เท่านั้น โรคซึมเศร้ามันเหมือนว่าจะเป็นอะไรก็ได้แต่จริงๆ มันก็จะมีกรอบของมันอยู่ว่าถ้าหลุดจากนี้ไปจะไม่ใช่ ซึ่งยากสุดๆ เลยในการดูว่าความคิดไหนที่มันหลุดออกไป ความคิดนี้ไม่ใช่แล้วนะ ความคิดนี้ยังใช่อยู่ นี่แหละคือจริงไม่จริง
ซึ่งมันละเอียดมาก อย่างเช่น คนซึมเศร้าจะคิดฮึบขึ้นมาได้มั้ย คนซึมเศร้าจะอยากสู้ได้มั้ย คนซึมเศร้าจะรู้สึกว่าอยากด่าคนอื่นได้มั้ย คือทุกโมเมนต์ในการใช้ชีวิตของคนๆ นี้ที่เขาเป็นโรคซึมเศร้ามันจะเป็นอะไรได้บ้างที่มันถูกต้องและมันไม่ถูกต้อง
Life MATTERs : สิ่งที่ยากที่สุดระหว่างเขียนบทเรื่อง SOS คือสิ่งนี้ไหม เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
พัฒน์ : น่าจะใช่ เพราะระหว่างเขียนมันเจอปัญหาเยอะมาก อย่างแรกเลยคือตัวละคร ปกติตัวละครที่ดำเนินซีรีส์มันจะเป็นตัวละครที่ความต้องการแรงกล้ามากๆ มันแพชชั่น มุทะลุ ฉลาด มันเข้มข้นด้วยตัวมันเองแล้วคนก็อยากดู ซึ่งตัวละครซึมเศร้ามันตรงกันข้ามอะ
ตัวละครซึมเศร้าคือตัวละครที่นอนแปะอยู่กับเตียง แล้วไม่มีคอนฟลิกต์เป็นภาพให้เห็น แต่ว่าพอไม่มีแอคชั่นมันก็ไม่มีเรื่อง มันเลยกลับมาหาสิ่งที่จริงที่สุดว่าทำยังไง ให้ตัวละครที่เป็นโรคซึมเศร้าสามารถเกิดแอคชั่น เกิด motivation อะไรบางอย่างที่มันจะไปทำได้จริงๆ นะ แต่ว่ามันก็ยังไม่หลุดจากการเป็นซึมเศร้าอยู่ อันนี้คือต้องหาเส้นตรงนี้ให้ได้ซึ่งโคตรปวดหัว (หัวเราะ)
Life MATTERs : คุณมีวิธีการสร้างความมั่นใจยังไงว่าพฤติกรรมไหนสมเหตุสมผลกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ
พัฒน์ : เช็คเลย เช็คกับหมอ เช็คกับคนที่เป็น คือต้องไล่เช็คไปเลยว่าเกิดขึ้นได้จริงมั้ย ระหว่างช่วงแรกๆ มันไม่เข้าใจหรอก มันเข้าใจด้วยตรรกะการเป็นแต่ไม่เข้าใจด้วยความรู้สึก ไม่เข้าใจด้วยจิตวิญญาณของคนที่เป็น ไม่ได้เข้าใจเข้าไปในใจของเขา
ตอนที่เราเขียนตอนแรกเราเข้าใจแหละว่า อ๋อ อาการร่างกายมันเป็นแบบนี้แล้วก็เขาก็จะมีความคิดแบบนี้ แต่ให้เขียนว่าตัวละครตัวนี้จะไปทำอะไรต่อ เราเขียนไม่ได้ ยากมากเลยเพราะอยู่ดีๆ ตัวละครแม่งก็จะยอมแพ้ขึ้นมาอย่างนั้น เพราะจริงๆ มันก็เป็นอย่างนั้น ก็เลยเขียนไป ล้างไป เรื่อยๆ จนเราเริ่มจะจับได้ว่าจริงๆ แล้วไอ้เส้นตรงกลางนี้มันคืออะไรที่มันพอดีสำหรับตัวละครตัวนี้ พอดีสำหรับคนเป็นโรคซึมเศร้า
แล้วเราก็รู้สึกดีด้วยกับการเล่าตัวละครซึมเศร้าที่มันแอคทีฟ ไม่ใช่ในแง่ที่ว่าแอคทีฟมีพลังตลอดเวลานะ แต่ตัวละครซึมเศร้าที่เขาลุกขึ้นมาอยากจะหายจากโรคซึมเศร้าได้ รู้สึกว่ายังไงก็ตามซีรีส์ก็ต้องเล่าความหวังให้กับคนที่เป็นอยู่
และพอพูดเรื่องโรคซึมเศร้าเราก็เลย explore ต่อที่ประเด็นของคนที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วย มันหนีไม่พ้น ประเด็นที่ว่าคนรอบตัวที่ไม่เข้าใจปฏิบัติยังไงกับคนเป็นโรคซึมเศร้า แล้วถ้าเข้าใจแล้วจะต้องอยู่ยังไงกับเขา หรือต่อให้เข้าใจแล้วจำเป็นจะต้องทำตัว ‘เข้าใจ’ มากๆ เลยมั้ย รู้สึกว่ามันก็รีเลทกับคนทั่วไปได้มากขึ้นด้วย
Life MATTERs : ตอนนี้ตัวคุณเองได้คำตอบหรือยังว่าเราควรจะอยู่ร่วมกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้ายังไง
พัฒน์ : จริงๆ แล้วการอยู่กับคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามันมีแก่นอันเดียวเลย ก็คือเราแค่ต้องอยู่ข้างๆ เขา แล้วเขาอยากจะพูดอะไร อยากจะระบาย อยากจะงี่เง่า งอแง เราจะฟังก็ได้ ไม่ฟังก็ได้ อยู่เฉยๆ ไม่ต้องโอ๋ก็ได้ แต่ว่าเราต้องอยู่ตรงนี้กับเขาแค่นั้นเองจนถึงวันที่เขาหาย
Life MATTERs : กับตัวละครอื่นคุณมีวิธีสร้างยังไง เช่น ตัวละครจิตแพทย์ฝึกหัดที่อาจจะมีเรื่องจรรยาบรรณแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้อง
พัฒน์ : สร้างยากมากตัวนี้ ที่คุยกับหมอสี่คนก็ไม่ใช่แค่เรื่องโรคซึมเศร้าอย่างเดียวแต่เพื่อสร้างตัวละครตัวนี้ด้วย รู้สึกว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้ายังไงก็ต้องไปหาหมอ แล้วก็น่าจะต้องผูกพันกับหมอก็เลยรู้สึกว่าต้องมี ความยากของมันอยู่ที่การบาลานซ์ภาพให้สังคมเข้าใจ
คือตัวละครจิตแพทย์ฝึกหัดตัวนี้อาจจะเป็นคนกะเปิ๊บกะป๊าบ เป็นคนอยากทำอะไรตามความรู้สึกตัวเองซึ่งมันสามารถมีได้ในชีวิตจริง แต่พอมันไม่ค่อยมีภาพของจิตแพทย์อยู่ในซีรีส์เมืองไทยปุ๊บภาพแรกที่มันออกมาจะเป็นภาพที่คนดู judge ทันที มันเลยทำให้เรารู้สึกกระอักกระอ่วนมากในการที่ต้องดึงตัวละครตัวนี้ให้มันมาอยู่ตรงกลางตรงนี้ให้ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็จะไม่อยู่ตรงกลางมากหรอกเพราะเราก็เชื่อมันในฐานะคนคนหนึ่งอยู่ดี
Life MATTERs : กลัวมั้ยว่าเลือกทำประเด็นละเอียดอ่อนแล้วอาจจะทำให้มีคนว่าเราได้
พัฒน์ : กลัวที่สุดตอนเริ่มเขียน แต่พอเริ่มเขียนแล้วเรารักมัน ในฐานะคนทำเราก็ไม่ค่อยกลัว ตอนแรกเวลารีเสิร์ชมันน้อยมากก็เลยพยายามเขียนให้เร็วที่สุดแล้วก็ส่งบทให้หมออ่าน ซึ่งเขาก็เข้าใจก็เลยมีความเบาใจ จนกระทั่งเทรลเลอร์ออกมา แน่นอนว่ามันจะมีคนที่ออกมาบอกว่าอันนี้ผิด อันนี้ถูก ก็รู้สึกว่าเออ เดี๋ยวตอนที่ซีรีส์มันออนไปมันจะมาอีกเยอะมากเลย อยากจะรู้เหมือนกันว่ามันจะเป็นยังไง
Life MATTERs : พูดถึงเรื่องแอคติ้งกันบ้าง พอตัวละครที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้มีอาการทางร่างกายที่เหมือนกันทุกคนแล้วคุณมีวิธีสร้างตัวละคร ‘บู’ ยังไง
พัฒน์ : วิธีการสร้างคาแรคเตอร์ของเรื่องนี้เราไม่กลัวเลยว่าคนที่จะมาพูดว่ามันไม่จริง หรือการแสดงปลอม เพราะเบื้องหลังการสร้างคาแรคเตอร์ตัวบูขึ้นมา คือเราทำงานกับเจมส์แล้วสร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมาบนพื้นฐานความคิด เราให้มันล้างหมดเลยว่าเล่นเป็นคนซึมเศร้าต้องเล่นยังไง เพราะช่วงแรกๆ ไปเวิร์กช็อปแล้วมันก็คิดว่าคนซึมเศร้าต้องกอดเข่าเปล่าวะ ซึ่งไม่ได้เลย เละเทะหมด
ก็เลยตั้งต้นกันใหม่ว่า เอางี้ มันจะต้องสร้างพื้นฐานความคิดก่อนว่าตัวละครบูที่ยังไม่เป็นโรคซึมเศร้าเป็นคนยังไง พอเอาโรคซึมเศร้ามาครอบ แล้วความคิดตั้งต้นมันเปลี่ยนไปยังไง แล้วพื้นฐานความคิดของการเป็นโรคซึมเศร้าคืออะไร พอเราสร้างพื้นฐานความคิดได้แน่นแล้ว มันเล่นอะไรมันจะถูกหมดเลย เพราะมันจะเล่นจากวิธีคิด มันจะไม่เล่นจากการที่มันเล่นว่ามันต้องป่วยยังไง
Life MATTERs : อย่างนี้เจมส์ในฐานะบูต้องมีการทำการบ้านอย่างไรบ้าง
พัฒน์ : เจมส์มีเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้า ก็ลองศึกษาจากคนนั้น แล้วก็คุยกับหมอ หลักๆ มีสองอย่างนี่แหละ คือช่วงที่พัฒนาตัวละครเราจะบอกมันว่าไม่อยากให้ก๊อปปี้คนเป็นโรคซึมเศร้าเพราะโรคซึมเศร้ามันไม่เหมือนออทิสติกที่จะมีอาการทางร่างกายบางอย่างที่มันสามารถก๊อปปี้ได้
แต่คนเป็นโรคซึมเศร้ามันก๊อปปี้ไม่ได้ เมื่อเลือกก๊อปปี้เมื่อไหร่มันก็จะกลับไปไม่เวิร์กเลยเพราะไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วข้างในเขาคิดยังไง ความตลกคือพอเล่นหลายๆ ซีนแล้วโอเค ก่อนถ่ายเราก็ขอนัดหมอแล้วให้หมอวินิจฉัย ซึ่งหมอก็ตกใจมากเพราะคิดว่าเจมส์เป็นจริงๆ เราก็เลยรู้สึกว่าจุดนี้ผ่านแล้ว แสดงว่าเราสร้างมาถูก
Life MATTERs : พอเข้าใกล้ความเป็นโรคซึมเศร้ามากๆ เจมส์ต้องมีการบาลานซ์จิตใจตัวเองบ้างหรือเปล่า
พัฒน์ : คืออย่างนี้ คาแรคเตอร์ตัวจริงของเจมส์ก่อนที่จะเล่นเรื่องนี้มันเป็นคนที่คล้ายๆ กับตัวละครในฉลาดเกมส์โกงอะ คือเป็นเด็กมีเสน่ห์ ดูบ้านรวย เป็นเด็กที่ดูแพงตลอดเวลา แล้วก็เป็นคนที่เฮฮาปาร์ตี้สนุกสนาน ไบรท์มาก เราอธิบายให้ตัวมันเข้าใจตลอดว่ามันน่ะเหมือนมีแต่ด้านหยาง เหมือนเป็นคนคนคิดน้อย ซึ่งก็เหมาะกับการเป็นนักแสดง คือนักแสดงไม่ควรจะคิดเยอะจนเกินไปจนไม่เชื่อสัญชาตญาณตัวเอง แต่พอเราเริ่มปลูกพื้นฐานนี้ปุ๊บ บูมันเข้าไปงอกในใจเจมส์แล้วมันก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของเจมส์ไปเลย คือตอนนี้เจมส์เลยมีหยินเพิ่มเข้ามา เป็นสีดำเพิ่มขึ้น
มันกลายเป็นว่าตอนนี้เจมส์เป็นคนที่กลมมากๆ หมายถึงไม่ใช่เป็นคนที่สนุกอย่างเดียวแต่เป็นคนที่สนุกและดีพ แล้วก็เป็นผู้ใหญ่มากจากการปลูกคาแรคเตอร์บูเข้าไป ซึ่งตอนนี้ตัวมันไม่เหมือนเดิมแล้วนะ (หัวเราะ) ทุกคนก็สัมผัสได้ว่ามันเปลี่ยนไปจากการที่ได้มาเป็นคาแรคเตอร์บู ซึ่งเราประทับใจมากกับก้าวใหญ่ในชีวิตของมัน แล้วตัวมันก็ประทับใจในตัวเอง
“พอผมทำคาแรคเตอร์บูมันเหมือนผมได้เจอตัวเองในอีกมุม คือปกติผมเป็นคนที่ alert เป็นคนที่เฮฮา extrovert แบบสุดโต่งมากๆ แล้วเรื่องนี้ตัวบูมันเป็นคนที่ introvert มาก ไม่ใช่เพราะโรคซึมเศร้านะฮะแต่ว่าเป็นเพราะว่าโดยพื้นฐานความคิดของตัวบูแล้ว บูเป็นคนที่ไม่กล้าเข้าสังคม ไม่มั่นใจในตัวเองเลยทำให้ดูเป็นคนหงิมๆ พอเราเล่นไปเรื่อยๆ เป็นคนที่เป็น introvert กับคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามันเหมือนทำให้เราได้เจออีกมุมของตัวเอง มุมที่เราเป็นคนนิ่งๆ บ้าง มุมที่เราสงบ มันเลยทำให้เราเริ่มบาลานซ์กับคนที่เคยเฮฮาสุดโต่ง พอเราเคยเศร้าสุดโต่งมาแล้ว มันทำให้เราบาลานซ์ได้”—เจมส์ ธีรดนย์
Life MATTERs : ถามเรื่องโลกสเก็ตบอร์ดบ้าง คุณมีการเอาเรื่องสเก็ตบอร์ดเข้ามาผสมกับเรื่องโรคซึมเศร้ายังไงบ้าง
พัฒน์ : เราเริ่มจากไอเดียตั้งต้นว่าสเก็ตบอร์ดเป็นความสว่างแล้วโรคซึมเศร้าเป็นความมืด สเก็ตบอร์ดต้องดึงให้ตัวละครบูที่เป็นความมืดให้มันออกมาได้เยอะที่สุด เรารู้สึกว่าถ้าพี่โทนี่เล่นบทหลุดๆ เป็นคน extrovert ก็น่าจะมันดีเหมือนกัน ซึ่งตอนแรกเขาไม่แน่ใจว่าเขาจะเล่นได้หรือเปล่าด้วยเพราะเขาเป็นคน introvert แล้วก่อนหน้านั้นเพิ่งมีคนบอกเขาว่าเขาเหมาะกับการเล่นเป็น introvert อยู่ดีๆ สองสามวันต่อมาผู้กำกับคนนี้ก็มาบอกให้เขาเล่นเป็น extrovert (หัวเราะ)
แต่พอเขาเล่นแล้วก็ไบรท์มาก กลายเป็นเคมีที่มาเจอกับบูแล้วมันสนุก แล้วเขาไม่ได้สว่างแบบแม่พระที่มาช่วยเหลือแต่สว่างแบบกูไม่แคร์ พี่โทนี่เลยเป็นพาร์ทของสเก็ตบอร์ดที่มีความสนุก ความป่วง ความแสบ ความกวนตีน ซึ่ง element เหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าดีขึ้น มันเลยสนุกว่าแล้วมึงจะดีขึ้นได้ยังไงวะ ก็ต้องค่อยสีๆๆๆ กันไปจนมันเจอ
จริงๆ แล้วโลกสเก็ตบอร์ดในเรื่องนี้เป็นตัวแทนของโลกที่ไม่เข้าใจเลยว่าโรคซึมเศร้าคืออะไร แล้วก็รู้สึกว่าลำไย (หัวเราะ) รู้สึกว่าอะไร ก็เชื่อในตัวเองสิ เดี๋ยวก็หาย สู้สิ เพราะคนในโลกสเก็ตบอร์ดเขาจะเชื่อมั่นในตัวเองสูงเพราะเขาต้องเอาชนะตัวเองตลอดเวลา เขารู้สึกว่าใจคือที่มาของทุกอย่าง พอเจอคาแรคเตอร์แบบบูเขาจะรู้สึกว่า อะไรของมึง
Life MATTERs : นอกจากตัวละครไซมอนที่รับบทโดยโทนี่ รากแก่น รู้มาว่าตัวละครเด่นอีกตัวในโลกสเก็ตคือ ‘ใบเฟิร์น’ คุณวางคาแรคเตอร์ตัวละครตัวนี้มายังไง
พัฒน์ : ใบเฟิร์นนี่เป็นสก๊อย เป็นตัวละครที่เราชอบมากเพราะมันเป็นตัวละครที่ ก็กูเป็นแบบนี้ ไม่แคร์ เป็นตัวละครที่อาจจะไม่ต้องเรียนรู้อะไรเลยก็ได้ เป็นตัวละครที่เป็นสิ่งที่บูยึดเหนี่ยวไว้เป็นความรู้สึกทางด้านเสน่หา จริงๆ มันแค่นี้เลย เพราะเรารู้สึกว่าต้องมีตัวละครแบบใบเฟิร์นอยู่ในเรื่อง เพราะตัวละครตัวอื่นมันหนักหมดเลย ตัวนี้เป็นตัวละครมันๆ เอามาบาลานซ์กัน
Life MATTERs : สำหรับเรื่องแรกถ้าให้ประเมินตัวเองในฐานะผู้กำกับคุณจะให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่
พัฒน์ : ตอนแรกเราอยากทำซีรีส์ที่ต้องดี ให้ประโยชน์ จะต้องทำให้คนดูชอบมัน มันจะต้องดีมากๆ (เน้นเสียง) แล้วพอมันเกิดสิ่งนี้ขึ้นเพราะเขียนบทแล้วโดนโละมันทำให้เรารู้สึกว่าเราอาจจะไม่ได้สิ่งนั้นแล้วแหละ ถ้าเราไม่ปล่อยมือจากมันตอนนี้เราจะใช้ชีวิตต่อไม่ได้แล้วนะ เพราะที่ผ่านมาเราทุ่มมาก พังมาก
เราก็เลยเลือกที่จะปล่อยมือจากมัน ปล่อยมือจากความรู้สึกที่ว่ามันจะดี มันจะต้องเป็นที่หนึ่ง เราก็เลยหาที่ยึดใหม่ว่าถ้าในอนาคตเราจะไม่ทำซีรีส์อีกต่อไปแล้ว เราอยากจะรู้สึกว่าเราได้ใส่ทุกอย่างในนี้แล้ว ได้ลองสิ่งที่เราอยากลองหมดแล้ว คือได้ลองทุกอย่างที่เรารู้สึกว่าเราไม่เคยเห็นซีรีส์ไทยลอง มันน่าจะมันดีนะที่ได้เห็นภาพนี้ ภาษาภาพแบบนี้
เราอยากจะทำซีรีส์ที่เราจะรู้สึกว่าเราได้ลองอะไรที่เราอาจจะไม่ได้ลองอีกแล้ว ก็เลยรอดมาได้ ถ้าให้กลับไปประเมินตัวเอง ในมาตรฐานที่เราภูมิใจในตัวเองที่เรารอดมาได้จากสภาพนั้นที่เราพังหมด เราภูมิใจในตัวเองมากที่เรารอดมาได้ ก็อาจจะให้ตัวเองแปดเต็มสิบ
Life MATTERs : นอกจากความคาดหวังต่อตัวเอง แล้วคุณคาดหวังว่าโปรเจกต์นี้จะสร้างผลกระทบอะไรอีกบ้าง
พัฒน์ : ก็มีบ้าง คือเราไม่ได้คาดหวังมากกับการที่ให้คนทั่วไปเปลี่ยนความเข้าใจต่อคนที่เป็นโรคซึมเศร้าให้ได้ แต่เรารู้สึกว่าเมื่อเราได้ทำซีรีส์นี้ออกไป สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้บอกคนอื่นว่าเขาเป็น เมื่อเขาได้รู้ว่ามันมีซีรีส์ที่กำลังพูดถึงเรื่องโรคซึมเศร้า ต่อให้เขาไม่ดูเขาก็อาจจะรู้สึกได้ว่าสังคมกำลังจะเปลี่ยนไปนะ
โรคนี้กำลังจะกลายเป็นสิ่งที่คนกำลังจะเข้าใจมากขึ้น มันอาจจะทำให้เขาหันไปหาคนข้างๆ แล้วบอกว่าเขาเป็นแล้วนั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหายได้ เป็นความคาดหวังในแง่นั้นมากกว่า
Life MATTERs : เนื้อหาเรื่อง SOS ของคุณค่อนข้างหนัก มีอะไรอยากบอกคนที่กำลังอยากดูเรื่องนี้มั้ย
พัฒน์ : เมื่อวานมีคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามาดูซีรีส์เรื่องนี้เป็นครั้งแรกแล้วอิมแพคต์มันรุนแรงกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก เขาร้องไห้เป็นชั่วโมงๆ พูดถึงว่ามันจริงมาก มันคือเขามาก ซึ่งจริงๆ เขาดีขึ้นแล้ว เหมือนเขาหายแล้วแหละ แต่พอเขาดูปุ๊บมันดึงเขากลับไปสู่วันที่มันแย่ที่สุด ไม่ใช่พวกภาพกรีดตัวเองหรืออะไรเลยนะแต่มันคือสิ่งที่คนรอบข้างกระทำกับเขา สิ่งที่เขารู้สึกกับโลก การที่เขานอนมองเพดานไปเรื่อยๆ คือทุกอย่างที่พูดในเรื่องเขารู้สึกว่ามันจริงมาก
มันทำให้เราอยากฝากสิ่งที่เราเป็นห่วง อยากให้คนที่คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือคนที่เป็นอยู่ดูกับคนที่อยู่ข้างๆ เขา เพราะเราไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้มันจะกระทบกับคนอื่นๆ ได้แรงแค่ไหน อาจจะต้องดึงคนที่เรารู้สึกว่าเขาเชื่อใจได้และเขาจะอยู่ข้างๆ เรามาดูด้วยกัน มันน่าจะทำให้เราผ่านช่วเวลาของซีรีส์ไปได้ง่ายขึ้น (หัวเราะ) อยากฝากไว้แค่นี้แหละครับ
Photos by Adidet Chaiwattanakul