หากคุณจำได้ เมื่อสมัยเด็ก เราเคยได้ชมละครของคณะละครเดินสายที่ไปจัดแสดงตามโรงเรียนหรือกระทั่งหมู่บ้านห่างไกล—คณะละครมะขามป้อมทำสิ่งนั้น
มูลนิธิสื่อชาวบ้านมะขามป้อม หรือ Makhampom Art Space พัฒนาขึ้นจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในช่วงปี 2515 โดยพวกเขามองตัวเองเป็นกลุ่มละครเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมชุมชน เป็นสื่อกลางเล็กๆ ในการสะท้อนปัญหาสังคมตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศผ่านการแสดงละคร รวมถึงต้องการบุกเบิกละครไทยร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักและชินตา
และ กอล์ฟ—ธนุพล ยินดี คือหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของกลุ่มละครนี้ ผู้ซึ่งชอบดูละครและได้โอกาสกรีดกรายทำการแสดงตั้งแต่ยังเด็ก เพราะได้รับแรงบันดาลใจตั้งแต่ที่รุ่นพี่กลุ่มละครมะขามป้อมไปถ่ายทอดกิจกรรมให้ดูถึงโรงเรียนที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
นับจากวันนั้น เหลี่ยมมุมความคิดที่มีต่อละครของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปมาก เขาเริ่มอินและดำดิ่งไปกับถ้อยคำอย่าง ‘เสรีภาพในการแสดงออก’, ‘คนเราต้องเท่ากัน’ หรือ ‘active citizen’ ที่เป็นโจทย์ให้เขาสนุกกับการแสดงเสมอ
กอล์ฟกลายเป็นนักแสดงที่ถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาสังคม ถ่ายทอดความขัดแย้งที่คิดว่าไม่เล่าไม่ได้แล้วเพราะความขัดแย้งนั้นมันจริงและแจ่มชัดจนเกินไป หลายครั้งเขาแสดงเพราะต้องหาวิญญาณและตัวตนให้เจอ ว่าเกิดมาเพื่อทำอะไร เป็นใคร ศิลปะสำคัญไฉน ทำไมการแสดงละครเพื่อสื่อสารแนวคิดอะไรบางอย่างถึงได้สลักสำคัญขนาดนั้น
ใช่ เรารู้ว่าเขากำลังแสดงละครอย่างหนัก อาจจะรับบทบีบน้ำตาเก่งเว่อร์หรือละเมอเพ้อพกแบบคุณหนูเอาแต่ใจก็ได้หมด และบทสนทนาต่อจากนี้คือละครฉากใหญ่ในการดำรงอยู่ของเขา
คุณเริ่มต้นทำงานกับกลุ่มละครมะขามป้อมได้ยังไง
กอล์ฟ : ตอนเด็กๆ พี่ๆ ที่มะขามป้อมไปที่แสดงโรงเรียนของเรา แล้วก็ชวนให้เราลองทำกิจกรรม ลองเข้าเวิร์กช็อป เราก็อู้ย ชอบ แล้วก็เลยร่วมทีมกับเขา แม้ตอนแรกจะไม่เก็ตว่าสิ่งที่เขาสื่อสารมันคืออะไร พูดอะไรอ่ะ แล้วยังไงอ่ะ แต่ก็เห็นด้วยนะว่าเออ ประชาธิปไตย เออ ดีเนอะคนเท่ากัน แต่ว่าก็บางมากๆ
คนเท่ากันแล้วมันยังไงกับชีวิตหนูล่ะ หนูก็แค่อยากเล่นละครปะ ก็แบ๊วใส่ไป แต่พี่ๆ เขาก็อดทนกับเรา ค่อยๆ เป็นเมนเทอร์ให้ เพราะตัวพี่เขาเองก็อยู่ในช่วงวัยที่ต้องเรียนรู้เหมือนกัน คือทำงานก็ต้องอดทนอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว นี่ยังต้องมาสร้างเด็กใหม่อีก
ทำไมละครที่คุณเล่นถึงมักว่าด้วยเรื่อง ความขัดแย้ง ในสังคม
กอล์ฟ : เพราะมีสิ่งเดียวที่ทำให้ละครดูน่าสนใจ นั่นก็คือปัญหาและความขัดแย้ง ถ้าละครไม่มีความขัดแย้งก็ไม่สนุก มันคือเสน่ห์ของละครเลย แล้วละครในที่นี้ก็ไม่ได้ตายตัวนะว่าจะต้องเป็นละครอย่างที่หลายคนรับรู้ จะเป็นละครพูด ละครร้องเพลง ละครเต้น ละครร่วมสมัยที่ใช้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เรายังมีละครกายกรรม ละครหุ่น และละครอีกหลายรูปแบบมากมายที่จะเป็นฟอร์มที่จะตอบโจทย์ในการสร้างความหลากหลายในการสื่อสารได้มากขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราว่าละครนี่แหละเป็นตัวชูปัญหาได้ชัดที่สุด และมันเป็นการบ้านหลักของคนทำละครเลย เพราะถ้าคุณไม่รู้ว่าจะสื่อสารปัญหาหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นออกมาได้อย่างไร มันก็ไม่ใช่ละคร
แล้วปัญหาในสังคมมันเยอะมาก พวกคุณเลือกประเด็นปัญหาร้อยแปดที่จะหยิบมาสื่อสารยังไง
กอล์ฟ : เลือกเป็นกรณีไปเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่ความตั้งใจของคนทำว่าอินกับอะไร มันคือการออกแบบกิจกรรมกระบวนการ ไม่ใช่ว่าคุณรู้สึกว่าข่าวนี้กำลังเป็นกระแส ก็เลยเกิดจะอยากทำ อย่างที่บอกว่าละครมันใช้เวลา ดังนั้นถ้าคุณจะออกแบบให้ 1-3 เดือนของคุณมีประสิทธิภาพมาก คุณจะต้องออกแบบไปถึงความสำเร็จด้วยว่าต้องการระดับไหน ต้องการความเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดในระดับไหน
อีกอย่าง เราคิดว่าแพชชั่นเป็นเรื่องหลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ถ้าคุณแค่โกรธกับข่าวนี้หรือไม่โอเคกับความอยุติธรรมเหล่านี้ แต่คุณไม่ได้หยิบมันมาทำอะไรสักอย่าง ไม่ได้มองว่ามันคือชีวิต ไม่ทำไม่ได้แล้ว เราก็คิดว่าไม่ยั่งยืนหรอก
พอเราตั้งหลักที่ตัวเราได้แล้ว เราก็จะค่อยๆ คว้าโอกาสหรือสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นรอบตัว พอของมันเยอะ มีอะไรให้เล่าเต็มไปหมด คุณต้องรู้ว่าคุณเกิดมาเพื่อเล่าอะไร เราไม่เชื่อว่าทุกคนสนใจได้ทุกอย่าง ไม่งั้นคงไม่มีศาสตราจารย์เฉพาะทางของเขาที่ดิ่งไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าคุณแฮปปี้ที่จะเล่าปัญหาทุกอย่าง อาจหมายความว่าคุณแค่อยากบอกว่าอันไหนคือปัญหา แต่อาจจะไม่ได้ลงลึกว่าปัญหานั้นมาจากรากอะไร
แปลว่าเราก็ต้องค้นหาตัวเองด้วยใช่ไหมว่า เราว่าเหมาะกับการเล่าเรื่องอะไร
กอล์ฟ : ใช่ เราเองก็อยู่ในภาวะนี้เหมือนกัน จากวันที่เป็นเด็กทำกิจกรรม มาถึงวันนี้พอเราเป็นคนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ มีประสบการณ์ประมาณหนึ่งในการทำงาน เราก็ต้องไปเป็นเมนเทอร์ให้คนอื่นในขณะที่เราเองก็ยังกำลังหาแก่นในชีวิตของเราอยู่ ซึ่งนั่นเราก็ต้องอดทน
เราต้องรู้ว่าที่เรายังอยากทำสิ่งนี้อยู่อยู่ไม่ใช่เพราะว่าเราเห็นบุญคุณของพี่ๆ ในยุคนั้น แต่เราเห็นความจำเป็นของคนมากกว่า เราอยากจะตอกย้ำเรื่องของการสร้างพื้นที่ที่หลากหลาย เราจึงต้องอดกลั้นเป็น ต้องอดทนและยอมรับ และกล้าที่จะขัดแย้งกับความหลากหลายเหล่านั้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้อยู่ในละครของเรา
เข้าใจว่ามะขามป้อมรันงานโดยคนรุ่นใหม่ทั้งหมด?
กอล์ฟ : ไม่ แต่จะเห็นได้ชัดว่าพี่ๆ ในมะขามป้อมมีแนวคิดที่เป็นคนรุ่นใหม่ แม้ว่าตัวเขาจะเกิดในยุคเบบี้บูมเมอร์ แต่วิธีคิดของเขาเป็นทศวรรษที่ 21 มากเลย เขาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงคือการยืดหยุ่นตัวเองตลอดเวลา
ดังนั้นการออกแบบตัวกิจกรรมของมะขามป้อมไม่ใช่แค่ด้วยวัยรุ่น แต่พี่ๆ ก็ต้องช่วยกัน เขาเองก็ไม่เคยอยู่ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงแบบนี้ เขาเองก็ใหม่ เราเองก็ใหม่ เพราะฉะนั้นทุกคนก็เป็นศูนย์เท่าๆ กัน มันเลยดีมากเลยในแง่ของแพลตฟอร์ม ก็ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว ก็ลุยด้วยกันเลย มันทำให้เรารู้สึกมีพลัง ไม่ใช่ทำไปเลื่อนๆ ลอยๆ
เอาจริงๆ คำว่าคนรุ่นใหม่ของเราไม่ได้หมายถึงคนที่เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ เพราะขณะที่สังคมเรามีปัญหาในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็มีวุฒิภาวะและประสบการณ์สูงมากนะ และในแง่ของคุณภาพชีวิตเขาก็ยังมีเยอะกว่าเรา มีเงินเยอะกว่า มีแรงทำงานต่อ เราเลยรู้สึกว่าเราควรจะหาคำจำกัดความของคนรุ่นใหม่ให้กว่างมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่คนที่อายุ 20 กว่าแล้วใช้เทคโนโลยีเก่งกว่าคนรุ่นเก่า มันอยู่ที่แนวคิดต่างหาก
ถ้าอย่างนั้นพอจะลิสต์ประเด็นหลักๆ ที่กลุ่มละครมะขามป้อมทุกรุ่นสนใจร่วมกันได้ไหม
กอล์ฟ : ก็จะเป็นเรื่องของการนำเสนอแนวคิดที่ว่าคนเราเท่ากัน แต่เมื่อเราทำการแสดงกับกลุ่มคนที่หลากหลาย บางทีก็ในหมู่บ้านห่างไกล หรือกลุ่มชาติพันธุ์ เราก็ยินดีที่จะถูกตั้งคำถามว่าไม่เท่ากันแล้วยังไง อะไรมันจำเป็นกว่าในแง่ของปากท้องหรืออุดมคติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็พยายามหาคำตอบให้ได้ว่าความเท่ากันมันคืออะไรด้วยแหละ
เรื่องที่สองน่าจะเป็นเรื่องของเสรีภาพทางการสื่อสารและแสดงออก เพราะว่ามันเป็นเครื่องมือหลักในการทำมาหากินของเรา แล้วทุกวันนี้เราค่อยๆ ถูกคุกคามและลิดรอนพื้นที่ในการสื่อสาร ดังนั้นมันก็สะเทือนถึงความมั่นคงของการงานและตัวของหลักการของเราด้วยเหมือนกัน
มันเป็นภาวะที่เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเราเชื่อในสิ่งที่เราทำจริงๆ หรือเปล่า ถ้าเรากลัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงว่าเราไม่ใช่ตัวจริงแล้ว แล้วภาพโดยรวมก็คือเราพยายามที่จะสร้างอำนาจของคนกลุ่มเล็กๆ ให้เขารู้สึกว่าเขาเองก็มีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ให้กลายเป็น active citizen ได้
แต่การสร้างอำนาจให้คนกลุ่มเล็กนี่เป็นเรื่องยากพอสมควรไหม เพราะอาจจะมีคนบางกลุ่มที่รู้สึกว่าชีวิตที่เป็นอยู่มันก็โอเคแล้ว
กอล์ฟ : ก็โอเคก็โอเคไป แต่อย่าหยุดที่จะพูดและฟังคนอื่น ถ้ามองว่าคุณโอเคคุณต้องบอกได้ด้วยว่าคุณโอเคยังไง หรือถ้าคุณโอเคแล้วคุณไม่ต้องการฟังอะไรอื่นที่เกิดขึ้น เราไม่คิดว่าคุณอยู่ได้ คุณแค่อยู่อย่างเห็นแก่ตัว ซึ่งเราก็ไม่ได้พุ่งไปที่คนที่เขาไม่โอเคอย่างเดียวนะ เรายังอยากฟังเสียงคนที่เขาโอเคด้วย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม อุดมการณ์
อาจเพราะมันเป็นเรื่องไกลตัวของบางคนหรือเปล่า
กอล์ฟ : เรารู้สึกว่าไม่ไกลนะ เพราะว่าประสบการณ์ส่วนตัวเรามาจากเยาวชนที่ไม่ได้สนใจการเมือง หรือประเด็นสังคมเลย สนใจแต่ว่าอยากจะเล่นละคร แต่พอเครื่องมือละครมันพาให้เราไปเจอคอนเทนต์อะไรแบบนั้น เรารู้สึกว่าเฮ้ย มันทำได้นี่ เรารู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงแล้วและมันเปลี่ยนแปลงมากๆ ด้วย อย่างน้อยก็เปลี่ยนตัวเราเองนี่ไง
ในแง่ของการประเมินมันอาจจะลำบากที่คนจะมามองเห็นว่าคนหนึ่งคนได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่สำหรับคนนั้น เขารู้ว่ามันจะติดไปทั้งชีวิตของเขา มันเลยจำเป็นที่คุณจะต้องค่อยๆ เติมเชื้อของการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มเล็กๆ
คุณมองว่าการที่คนขาดเสรีภาพในการแสดงออก มันสร้างปัญหาใหญ่ๆ อะไรตามมา
กอล์ฟ : คุณก็มีเสียงให้ฟังน้อยลง พอคุณมีเสียงให้ฟังน้อยลง คุณก็จะมีตัวเลือกในการแก้ปัญหาน้อยลงไปด้วย แล้วไม่ต้องถามเลยว่าคุณจะมั่นใจกับชีวิตหรือบ้านเมืองตัวเองได้แค่ไหน มันมั่นใจไม่ได้เลย มันไม่มีความเป็นไปได้เลยที่ปัญหาที่มีจะถูกแก้อย่างจริงจัง จริงใจ หรือยั่งยืน เพราะว่าเสียงที่จะเข้าร่วมในการแก้ปัญหามันน้อยมาก มันเป็นไปไม่ได้ (เสียงสูง)
ดังนั้นมันมีวิธีการเดียวถ้าอยากจะสร้างอิมแพคให้กับคนหลายๆ กลุ่ม คือคุณต้องสร้างพื้นที่ให้คนได้มีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ก็มีการคุกคามมากแล้วนะ ทั้งในเชิงโครงสร้างของสังคมและอุดมคติ เพราะผู้มีอำนาจไม่ได้เห็นคนเท่ากัน คุณยังเห็นว่าเขาคือผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่มีความคิด
เราคิดว่าการกระทำแบบนี้สื่อว่าเขาไม่เห็นว่าเรามีหัวใจ มีความรู้สึก อันนี้แย่มาก เห็นไม่ตรงกันทางความคิดยังแย่น้อยว่าไม่เห็นใจกัน และศิลปะมันทำให้เราเห็นใจกันนะ เพราะศิลปะคือการแสดงออกทางอารมณ์ก่อนบางครั้งอาจจะดูโกรธเกรี้ยว ดูรุนแรง แต่มันคือความรู้สึกคือภาวะของคนเรา แต่พอมันผ่านไปแล้วการวิเคราะห์ การใช้เหตุผลถึงจะตามมา
การแสดงของมะขามป้อมชัดเจนว่าเพื่อคนกลุ่มหนึ่งล่ะ แล้วทีนี้อยากจะสื่อสารกับผู้มีอำนาจกลุ่มอื่นดูบ้างไหม
กอล์ฟ : ถ้าหมายถึงผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินทิศทางอย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด ที่มีพร้อมด้วยตำแหน่ง ทางการเงิน ทางกำลังคน ถ้าใหญ่ขนาดนั้น ในแง่ของความเป็นจริงมันทำไม่ได้หรอก (หัวเราะ) เพราะว่าเนื้อหาของเรากำลังคุกคามเขาไง แต่แน่นอนว่าเราไม่มองข้ามและมันคือก้อนใหญ่ที่เราต้องทำงานต่อ
แต่เราก็มองผู้มีอำนาจแตกต่างกันไป แล้วก็ไม่คิดว่าการทำงานกับกลุ่มผู้มีอำนาจที่มีทุกอย่างครบพร้อมในมือจะช่วยเปลี่ยนแปลงเขายังไง เราก็ทำงานกับกลุ่มคนที่ไร้อำนาจเพื่อสร้างภาวะอำนาจภายในนี่แหละ แล้วคนเหล่านี้ก็จะไปสร้างอำนาจกันเองเพื่อมาคานกันในวันหนึ่ง
เพราะว่าถ้าเราเดินตรงไปหาแหล่งรวมของอำนาจเหล่านั้นเลย เราคิดว่ามันเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และมันดูเหมือนไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อความสำเร็จเลย เพราะในเมื่อเขามีอำนาจในการรวมพล เราก็ต้องมีอำนาจในการรวมพลของเราด้วยเหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าต้องไปตีกับเขานะ แต่เป็นการทำให้เห็นเลยว่า เฮ้ย สังคมมีทางเลือกอื่นเว้ย
คุณบอกว่าคุณทำเรื่องการพัฒนาใช่ไหม เราก็เหมือนกัน และเราก็ไม่ได้ทำเพื่อประชดประชันคุณด้วย แต่เราทำเพื่อให้คุณเห็นว่ามันก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง อยากลองทำด้วยกันไหมล่ะ แล้วถ้าวันหนึ่งเขาเห็นเราแล้ว เขาก็ควรทำงานแบบเราบ้าง หรือไม่ถ้าเราลองไปทำงานกับเขาแล้วมันเวิร์กหรือไม่เวิร์กก็คุยกัน ดังนั้นเราเองก็ต้องปรับของเราด้วยนะ ว่าวันหนึ่งเราก็อาจต้องเข้าไปหาเขา ไม่ใช่รอให้เขาเข้ามาหา มันถึงจะเกิดสมดุลของการใช้อำนาจ
ถ้ามองจากที่เล่ามาเหมือนเป็นการสร้างกระบวนการทำเพื่อคนอื่น แต่โดยส่วนตัวล่ะ รู้สึกว่ามันให้อะไรกับตัวคุณเองบ้าง
กอล์ฟ : มันทำให้เรามองทุกอย่างได้อย่างกลมขึ้นนะ ละครในที่นี้ก็ถูกสังคมให้คุณค่าด้านเดียวมาโดยตลอด แต่พอละครที่เป็นละครเชิงสื่อสารความจริงมันท้าทายมากไปกว่านั้น ที่ว่าคุณจะทำยังไงให้คนที่คุณเองก็ไม่ได้เห็นด้วยในแนวคิดมาสนใจ คุณต้องเข้าใจเขา หาทางออกให้เขา แล้วคุณก็ต้องอยู่กับเขาให้ได้ และวางแผนว่าจะอยู่ยังไงให้ยั่งยืนท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
มันทำให้เราเห็นว่าแก่นในการดำรงอยู่ของเราคืออะไร ที่เราเป็นอยู่นี่คือเราเป็นใครวะ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมาก มันจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเลยถ้าเราไม่รู้เหตุผลในการมีอยู่ของตัวเอง
วิญญาณคุณถูกสร้างมาเพื่ออะไรคุณต้องหามันให้เจอ และถ้าเรารู้แล้วว่าเราอยากสร้างความเท่าเทียม และเสรีภาพในการแสดงออก สิ่งที่เราทำก็น่าจะสร้างความเป็นไปได้อีกเยอะมากที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางไอ้ความหลากหลายทางความคิด ทางเชื้อชาติ ทางวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน
เรื่องและภาพโดย ณัฐชานันท์ กล้าหาญ