คำเตือน : เผื่อไว้สำหรับใครที่ยังไม่เคยฟังเพลงของ Rhye เราขอแนะนำให้คุณเปิดฟังสัก 2-3 เพลงก่อน ไม่เช่นนั้นเราจะสปอยล์ความรู้สึกมหัศจรรย์เมื่อแรกฟังของคุณเสียหมด!
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 วงดนตรีปริศนาโพสต์บทเพลงแรกของพวกเขาลงในยูทูบ โดยไม่มีคำอธิบายที่มาที่ไปของวงและดนตรีแม้แต่นิด มีเพียงเสียงร้องแสนเย้ายวนของนักร้องสาวที่ใกล้เคียงการบอกใบ้ตัวตนที่สุด
ทว่าหลังจากนอนจินตนาการถึงใบหน้าของหญิงสาวได้ไม่นาน เหล่านักฟังกลับได้ค้นพบความจริงว่า เสียงร้องแหบนิดๆ แต่ทรงเสน่ห์นั้นเปล่งออกมาจากเส้นเสียงของ Mike Milosh หนุ่มนักดนตรีและโปรดิวเซอร์ชาวแคนาเดียนต่างหาก ส่วนท่วงทำนองและเมโลดี้หวานปร่านั้นมี Robin Hannibal นักดนตรีชาวแดนิชเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์
อันที่จริงทั้งไมค์และโรบินแค่อยากปล่อยเพลงออกมาซื่อๆ โดยไม่ได้ตั้งใจจะปิดบังตัวตนของตัวเอง แต่เสียงร้องสุด androgynous ของไมค์ก็ได้สร้างหมอกควันให้พวกเขาดูเป็นปริศนาไปโดยปริยาย ซึ่งก็ไม่ใช่การพยายามดัดแต่อย่างใด เพียงแต่เรนจ์เสียงของไมค์คือ contralto อันเป็นเรนจ์เสียงที่ต่ำที่สุดของผู้หญิงนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ความเซอร์ไพรส์นี้ก็ไม่ได้ทำให้ดนตรีของ Rhye รื่นหูน้อยลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะสองบทเพลงแรกที่ปล่อยออกมาอย่าง The Fall และ Open อันประกอบด้วยเสียงเครื่องสายเสียดหวาน เสียงเครื่องเป่าลมทองเหลืองอันสดชื่น ซึ่งเมื่ออยู่รวมกับเมโลดี้ที่ผสมผสานทั้งโซลและป๊อปก็ทำให้คนฟังเพลงอย่างเราๆ ปาหัวใจใส่ได้อย่างไม่ยากเย็น
“มันสำคัญด้วยหรือว่าผมเป็นใคร มันควรจะเป็นเรื่องของดนตรีมากกว่า” ไมค์กล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง
คล้ายว่าเรื่องตัวตนและดนตรีของเขานั้นเป็นเรื่องสนุก หรืออาจเป็นเชิงทดลองนิดๆ ก็เป็นได้ ขณะที่เวทีคอนเสิร์ตของ Rhye หลายครั้งดูลึกลับเหมือนตัววง นักร้องมักหลบอยู่ในเงามืด ส่งออกมาแต่เพียงเสียงร้องให้คนได้จินตนาการถึงเรือนร่างแบบที่เขาอยากจะนึก แต่สำหรับงานเพลงในนาม ‘Milosh’ อันเป็นนามสกุลตัวเอง เขาแทบไม่ปิดบังตัวตนไม่ว่าจะในช่องทางออนไลน์หรือบนเวที ในบางเพลงอย่างเช่น Slow down หรือ This Time เขาก็เผยชีวิตส่วนตัวบางส่วนออกมา หรือให้ภรรยาสาวแสนน่ารักเล่นเอ็มวีให้ด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าวิธีพรีเซนต์ของ Rhye นั้นต่างออกไป อาจเพราะเขามีเพื่อนร่วมวงอีกคนที่ควรต้องให้น้ำหนักความสำคัญพอๆ กัน
ไมค์และโรบินเจอกันเมื่อต่างคนต่างทำงานเพลงกับค่ายเพลง Plug Research ความชื่นชมในความสามารถของกันและกันเป็นชนวนให้ทั้งคู่ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ในโคเปนเฮเกนเพื่อบันทึกเสียงด้วยกันเป็นจำนวน 3 เพลง ก่อนจะมีโอกาสได้มาเจอกันอีกครั้งในลอสแอนเจลิสและสานต่อส่ิงที่เคยริเริ่มไว้
โปรเจกต์ของทั้งคู่เสร็จสิ้นมาเป็น LP แรกที่ใช้ชื่อว่า Woman ซึ่งเมื่อฟังทั้ง 10 เพลงรวมกันแล้ว แฟนๆ ต่างลงความเห็นว่าเพลงของพวกเขานั้นเซ็กซี่ชะมัด (อีกทั้ง หลายคนยังยอมรับว่ามักเปิดเพลงของ Rhye ตอนเมกเอาต์ ก็แหม ฟังท่อนแรกของ The Fall สิ—Make love to me, one more time…)
โดยสื่อต่างๆ เคยหยิบยกประเด็นเรื่องความเซ็กซี่มาถาม Rhye อยู่เหมือนกัน โดยไมค์แสดงความคิดเห็นไว้ว่า “เพลงส่วนใหญ่ทุกวันนี้ใส่เรื่องเซ็กซ์เข้าไปจนเกินพอดี มันมักเป็นเรื่องของผู้ชายอวดโอ้ว่าตัวเองฮอตแค่ไหน หรือไม่ก็เรื่องผู้ชายได้ผู้หญิง ได้อีตัว สำหรับผมมันน่าเบื่อมากๆ ผู้คนจริงๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสียหน่อย สิ่งที่ทำให้ผู้คนมีความสุขจริงๆ แล้วคือความใกล้ชิดและการถูกรักต่างหาก” ซึ่งรู้แบบนี้แล้วก็ไม่แปลกใจเลยที่เพลงของ Rhye พูดถึงเรื่องเพศได้ละมุนแต่ก็กรีดลึกในอารมณ์ไปในเวลาเดียวกัน
ฟาสต์ฟอร์เวิดมายังปี 2018 สมาชิกของ Rhye เหลือเพียงไมค์ ผู้เพิ่งปล่อยซิงเกิ้ลใหม่อย่าง Please และ Taste ออกมาเมื่อปีที่แล้ว แม้จำนวนสมาชิกจะไม่เท่าเดิม แต่เอกลักษณ์ของ Rhye ยังคงฉายชัดอยู่ในบทเพลงอย่างครบถ้วน ทั้งเมโลดี้โซลป๊อปรื่นหูและการร้องสุดเย้ายวนที่ทำให้แฟนๆ หลงรักตั้งแต่แรกเริ่ม
และปี 2018 นี้ก็นับเป็นปีที่ดีของแฟนๆ ชาวไทยเพราะ Rhye กำลังจะมาแสดงที่ไทยในเดือนพฤษภาคมที่จะถึง ซึ่งนอกจากจะบอกว่าส่วนตัวเราเองตื่นเต้นมากแค่ไหนแล้ว เรายังอยากจะเล่าเบื้องหลังระบบจัดการการทัวร์อันไม่เหมือนใครของ Rhye เสียหน่อย
เป็นที่รู้กันว่าศิลปินในยุคดิจิทัลดาวน์โหลดนั้นต้องพึ่งพารายได้จากการทัวร์เป็นหลัก แม้กระทั่งศิลปินที่ทำรายได้สูงสุดถึง 62.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2016 อย่างบียอนเซ่ (ตามการจัดอันดับของ Billboard) ส่วนใหญ่ของเงินก้อนนั้นมาจาก Formation World Tour ซึ่งขายตั๋วได้มากกว่า 1.2 ล้านใบ รวมเป็นเงินถึง 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นรองลงมาถึงเป็นเงินจากยอดดาวน์โหลด
ศิลปินรุ่นเล็กอย่าง Rhye เองก็หนีไม่พ้นระบบนี้ แต่ด้วยโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่แน่ชัด ค่ายเดิมของ Rhye อย่าง Polydor แทบไม่ให้การสนับสนุนใดๆ ในการตะลอนทัวร์ ทุกวันนี้ไมค์จึงบริหารจัดการทุกอย่างด้วยตนเอง โดยใช้เงินส่วนตัวจ้างนักดนตรี จ่ายค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหารการกินทั้งหมด
ที่บอกว่าไม่แน่ใจว่าโชคดีหรือโชคร้ายก็เพราะถ้ามองมุมที่ดีมันก็มี—ไมค์จัดระบบให้ตัวเองทัวร์แค่ 10 ที่ แล้วหยุดพัก 1 เดือน จากนั้นทัวร์อีก 10 ที่ แล้วก็พัก 1 เดือน ทำเช่นนี้สลับไปเรื่อยๆ เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถทัวร์ติดต่อกันนานๆ ได้
“ศิลปินบางคนทัวร์ 12 เดือนรวด ซึ่งส่วนตัวผมไม่รู้ว่าเขาทำอย่างนั้นโดยไม่เสียสติไปก่อนได้อย่างไร” ไมค์กล่าว ดังนั้นการจัดการทุกอย่างเองจึงเปิดช่องว่างให้เขาเซ็ตระบบการทำงานที่เหมาะกับตัวเอง
แต่ถ้ามองอีกมุม—ความจริงแล้วการทัวร์ 10 ที่พัก 1 เดือนนั้นเป็นผลจากข้อจำกัดทางการเงิน “ผมไม่มีเงินพอจะทัวร์นานๆ ผมไม่มีคนหนุนหลัง ผมจ่ายเงินทุกอย่างเอง นักดนตรีก็จ้างมา มันเหมือนผมกำลังทำธุรกิจอยู่ ผมอาจจะดูเป็นศิลปินในค่ายใหญ่ แต่ความจริงแล้วผมเป็นศิลปินอิสระที่แท้จริงเลยล่ะ”
เมื่อรู้เช่นนี้เราก็อดตั้งคำถามกับระบบไม่ได้ว่า สรุปแล้วการทัวร์นั้นส่งผลดีหรือผลเสียต่อศิลปินมากกว่ากัน ยิ่งเมื่อนึกย้อนถึงข่าวที่ได้ยินผ่านหูบ่อยๆ อย่างการยกเลิกทัวร์ด้วยเหตุผลทางสุขภาพ เช่นเมื่อกลางปีที่แล้วที่นักร้องมากฝีมืออย่าง Adele ต้องยกเลิก 2 โชว์สุดท้ายของทัวร์ด้วยปัญหาเรื่องเส้นเสียง ซึ่งก่อนหน้านี้ในระยะเวลาติดต่อกันเธอขึ้นแสดงมาแล้วมากถึง 121 โชว์! เรียกได้ว่าเราเสียใจที่สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเธอ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่แปลกใจเลยที่มันเกิดขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว หากมองในภาพรวม เราดีใจกับ Rhye ที่แม้จะต้องจัดการทุกอย่างเอง แต่ก็มีเวลาพักกาย ใจ และเส้นเสียงบ้าง เพราะถ้าหนึ่งในสามสิ่งนี้เสียหายไป เราจะไปหาเสียงเพลงที่มีเสน่ห์และเย้ายวนจับใจแบบนี้ได้จากที่ไหนอีกล่ะ?
อ้างอิง