จำไม่ได้ว่าวันนั้นข้างนอกฝนตกหรือเปล่า แต่ในหนังฝนตก
ตอนนั้นผมอยู่ปีสามในคาบเรียนวิชาภาพยนตร์ อาจารย์เปิดหนังเรื่อง The Hole ของไฉ้หมิงเลี่ยง (Tsai Ming-liang) ผู้กำกับกลุ่ม Second New Wave ชาวไต้หวัน และนั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ดูหนังของเขาแบบเต็มเรื่อง
The Hole เกี่ยวกับโลกอนาคตในปี 2000 (หนังสร้างปี 1998) ที่เกิดโรคระบาดประหลาด แพร่กระจายทางแหล่งน้ำ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายแมลงสาป กลัวแสง ชอบคลานไปอยู่ในที่แคบๆ ชื้นแฉะสกปรก ภายในอพาร์ตเมนต์เก่าแห่งหนึ่งที่ทุกคนอพยพออกไปหมดแล้ว ยังเหลือ เสี่ยวคัง ชายหนุ่มเจ้าของร้านขายของชำ กับหญิงสาวอีกคนที่ห้องของเธออยู่ล่างห้องของเขาพอดี ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มต้นขึ้นผ่านรูเล็กๆ บนพื้น ที่ช่างประปาคนหนึ่งมาเจาะทิ้งไว้
นี่เป็นเรื่องที่พอจะเล่าได้บางๆ หนังเต็มไปด้วยซีนอีกมากมายที่อธิบายออกมาเป็นพล็อตไม่ค่อยได้ ฉากมิวสิคคัลสกปรกๆ พอกระตุ้นให้พวกเราตื่นจากความนิ่งของมันได้บ้าง แต่ถึงอย่างนั้นพอผ่านไปสักพักเหล่านักศึกษาภาพยนตร์ก็ทยอยหลับล้มหายตายจากไปทีละคน ตอนนั้นเองที่ผมเริ่มรู้สึกได้ถึงความชื้นและกลิ่นเหม็น หนังค่อยๆ พาเราเข้าไปในโลกชื้นแฉะดูโสโครกแต่งดงามด้วยบรรยากาศโรแมนติกโดดเดี่ยวคลอด้วยเพลงจีนเก่าๆ ของ Grace Chang
เมื่อหนังจบลง เกิดเป็นความรู้สึกรุนแรงที่อธิบายไม่ได้ และตั้งใจทันทีว่าจะทำความรู้จักกับผู้กำกับคนนี้ให้มากขึ้น จนถึงตอนนี้ได้ตามหาหนังยาวเท่าที่มีของเขามาดูจนครบและคิดว่าจะต้องเขียนถึงเขาให้ได้
ไฉ้เกิดที่ประเทศมาเลเซียในปี 1957 ใช้ชีวิตที่นั่นจนถึงช่วงวัยรุ่น ก่อนจะย้ายไปไต้หวัน ไฉ้เริ่มทำงานเขียนบทและกำกับละครกับหนังที่ฉายตามทีวี จนปี 1992 ได้มีผลงานหนังยาวของตัวเองเรื่องแรกในชื่อ ‘Rebels of the Neon God’ ต่อเนื่องด้วยความสำเร็จจากเรื่อง ‘Vive L’Amour’ ในปี 1994 ที่คว้ารางวัลสิงโตทองคำในเทศกาลหนังเวนิสครั้งที่ 51
หลังจากนั้นเป็นต้นมาชื่อของไฉ้หมิงเลี่ยงก็เป็นที่รู้จักในฐานะคนทำหนังที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งของไต้หวัน และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เขามักถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม New Wave ของไต้หวันร่วมกับผู้กำกับระดับปรมาจารย์อย่าง Edward Yang หรือ Hou Hsiao-hsien โดยไฉ้ถือเป็น Second New Wave อีกทีหนึ่ง
หนังของเขาขึ้นชื่อเรื่องความนิ่งช้า กล้องมักจะตั้งทิ้งแช่เฟรมไว้แทบไม่ขยับ ถ้าขยับก็จะค่อยๆ เคลื่อนอย่างเชื่องช้าตามเหล่าตัวละครที่ทำอะไรด้วยสปีดเดียวกับหอยทาก ภาพถูกจัดวางอย่างประณีต สามารถเปิดหนังเขาแล้วกดหยุดตรงไหนก็ได้ ภาพสวยหมด ยกเว้นก็แต่ไตเติ้ลเครดิตจอดำที่มีแต่ตัวหนังสือเท่านั้นแหละ
ฟังดูอาจจะเหมือนสเตอริโอไทป์หนังอาร์ตทั่วไป กล้องนิ่ง วางเฟรมสวย เล่าเรื่องช้า แต่หนังของไฉ้บรรยากาศไม่เหมือนใคร งานของเขามักคลุมเครือและบางครั้งดูเหมือนจะแฝงสัญลักษณ์มากมาย (แต่สำหรับผมความรู้สึกที่เกิดขณะดูหนังสำคัญอาจสำคัญกว่า)
บางครั้งมวลบรรยากาศที่พาเราไปสู่อีกดินแดน ก็เป็นสิ่งมีค่ามากกว่าความหมายของมัน ที่บอกอย่างนี้เพราะผมเคยกลับไปดู The Hole อีกครั้งด้วยกรอบความคิดอีกแบบ ซึ่งเป็นอีกวิธีในการเสพงานศิลปะเช่นกัน และโดยส่วนตัว มันเทียบไม่ได้เลยกับความรู้สึกที่ได้รับในการดูแบบปล่อยใจให้ไหลไป ที่สำคัญ ตัวไฉ้เองก็ดูจะให้ความสำคัญกับอารมณ์และสิ่งที่อธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้มากกว่าเช่นเดียวกัน
หนังของไฉ้มักมีร่องรอยที่เชื่อมโยงกันตามสไตล์ผู้กำกับออเตอร์ (auteur) หรือประพันธกร ที่สร้างจักรวาลของตนขึ้นมาทั้งหมด ถ้าดูหลายเรื่องจะพบรายละเอียดที่เชื่อมโยงหรือกระทั่งเหมือนจะเป็นเรื่องราวที่ต่อกัน ซึ่งรายละเอียดพวกนี้นี่แหละ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยากาศที่มีแค่ในงานของเขาเท่านั้นจริงๆ
(เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนจำเป็นต้องมีการสปอยเนื้อหาบางส่วนของหนัง)
ความเหงา
ถ้าพูดถึงความเหงาในหนัง แน่นอนว่าเราย่อมนึกถึงหว่อง กาไว แต่งานของไฉ้นั้นดิ่งลึกแห้งแล้ง มากกว่าจะโรแมนติกหวานซึ้งแบบในหนังของหว่อง อย่างไรก็ตามนี่ไม่ไช่การเปรียบเทียบว่าของใครดีกว่ากัน เพียงแต่ความแตกต่างนี่เองที่ทำให้หนังของไฉ้มีเสน่ห์ในตัวเอง
ความรู้สึกที่อธิบายได้ยากในหนังของเขามักถูกเชื่อมโยงกับความเหงา ความแปลกแยก โดดเดี่ยว อาจจะเป็นเพราะตัวละครของเขาค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยสื่อสารกันและดูจะถูกตัดขาดจากคนอื่นหรือแม้แต่กับตัวเอง อย่างเช่นในหนังสั้น ‘Journey to the West’ ซึ่งเป็นการตีความไซอิ๋วใหม่ในแบบของไฉ้
ในเรื่อง หลี่คังเซิงดาราคู่บุญของเขาแต่งเป็นพระ เดินอย่างเชื่องช้า ช้าแบบช้ามาก และแทบไม่ทำอะไรเลยทั้งเรื่องนอกจากเดิน แม้ฉากส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองที่มีผู้คนมากมาย แต่พระองค์นี้ถูกฉีกออกให้แปลกแยกด้วยความช้า
หรือใน ‘Stray Dogs’ หนังยาวเรื่องล่าสุดของเขา เกี่ยวกับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในตึกร้าง พวกเขาดูไม่เชื่อมโยงกับสังคมภายนอก ถึงแม้จะมีงานทำ ใช้ชีวิตประจำวันในเมือง แต่ดูเหมือนตัวตนของพวกเขาจริงๆ มีอยู่แค่ในตึกร้างที่ตัดขาดกับโลก
ความโดดเดี่ยวนี้อาจมีที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเอง เป็นเพราะเขาเกิดที่มาเลเซียแต่ย้ายบ้านไปไต้หวันในช่วงวัยรุ่น ไฉ้เคยให้สัมภาษณ์ว่าในวัยเด็กเนื่องจากพ่อแม่ยุ่งมาก เขาเลยถูกเลี้ยงโดยคุณปู่คุณย่า จนถึงช่วงนึงพ่อแม่ถึงมารับกลับไปอยู่ด้วย อีกทั้งในครอบครัวมีพี่น้องอีกสามคนที่โตมาด้วยกัน แต่ตัวไฉ้ไม่ได้ถูกนับเป็นแก๊งเดียวกัน ถ้าหากทะเลาะกับพี่น้องคนใดคนหนึ่ง ทุกคนจะหยุดคุยกับเขา
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่ไฉ้ย้ายโรงเรียน ในชั้นเรียนใหม่มีเพื่อนร่วมห้องบางคนเกลียดเขาอย่างไม่รู้สาเหตุ และกลุ่มนี้ก็ชวนให้ทุกคนในห้องไม่พูดคุยกับเขาเลยเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ซึ่งไฉ้บอกว่าจริงๆ มันก็ไม่ได้แย่อะไรสำหรับเขามากนัก ที่ต้องอยู่ในความเงียบอย่างนั้น แต่ถึงอย่างนั้นมันก็อัดแน่นอยู่ในหนังของเขา
อย่างในเรื่อง ‘Vive L’Amour’ คนแปลกหน้าสามคนมาแอบผลัดกันใช้ห้องในอพาร์ทเม้นท์ซึ่งเป็นห้องใครไม่รู้และเริ่มสานสัมพันธ์ประหลาดต่อกัน ตัวละครมีความแปลกแยกทั้งๆ ที่ร่วมแชร์บ้านกัน ฉากจบตัวละครที่แสดงโดยหยางกุ้ยเหมยร้องไห้ตัวโยนอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยที่เราแทบไม่เข้าใจสาเหตุ
ซีนนี้ยิ่งขับเน้นอารมณ์เหงาได้บาดลึก ซึ่งไฉ้เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เวลาคนอยู่ในความเหงา มันทำให้พวกเขาเป็นของจริง เป็นตัวเองจริงๆ” การชมภาพยนตร์ของไฉ้จึงอาจทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงโมเมนท์แบบนั้นของตัวละครหรือกระทั่งของตัวเราเองด้วยเหมือนกัน
หลี่คังเซิง (Lee Kang-sheng)
ไฉ้หมิงเลี่ยงเคยให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งมาเยือนไทยในเทศกาลภาพยนตร์โลก เมื่อปี 2014 ว่าสามสิ่งที่เขาขาดไม่ได้ในการทำหนังคือ 1. เงิน 2. เสรีภาพ และ 3. หลี่คังเซิง
อันที่จริงหลี่คังเซิงน่าจะสำคัญเป็นอับดับแรกด้วยซ้ำ ไฉ้ถึงกับเคยบอกว่าหลี่คังเซิงทำให้เขาค้นพบความหมายของการสร้างภาพยนตร์ และถ้าไม่มีใบหน้านี้แล้วเขาก็ไม่อยากทำหนังอีก
ไฉ้หมิงเลี่ยงพบหลี่คังเซิงบนท้องถนนของไต้หวัน ทั้งคู่ทำงานร่วมงานกันครั้งแรกเมื่อไฉ้กำกับหนังที่ออกฉายทางทีวี ตอนแรกไฉ้หัวเสียกับความช้าในแอคติ้งของหลี่ ไม่ว่าจะทำยังไงเขาก็เคลื่อนไหวช้า พอยิ่งพยายามเร่งมันยิ่งออกมาดูปลอมไปหมด
และเมื่อไฉ้บอกหลี่ว่าเล่นให้ดูเป็นธรรมชาติกว่านี้หน่อย ซึ่งหลี่คังเซิงตอบกลับไปว่า ช้านี่แหละที่เป็นธรรมชาติของผม หลังจากนั้นหนังของไฉ้ก็ไม่เหมือนเดิมอีก เขาคิดได้ว่าเรามักมีภาพจำหลายอย่างเกี่ยวกับการแสดง แต่นักแสดงตรงหน้านี้ ไม่ได้ฝึกฝนการแสดงมาอย่างเป็นทางการ สิ่งที่เขาทำในหนังคือการเล่นเป็นตัวเอง ไฉ้เลยลองใช้วิธีการให้หลี่ไม่แสดงให้มากที่สุด ปล่อยให้เขาเป็นตัวเองต่อหน้ากล้อง
“มันเป็นอะไรที่วิเศษมากเวลานักแสดงไม่ได้แสดงในหนัง” เขาบอกอย่างนั้น
หลังจากหนังยาวเรื่องแรก Rebels of the Neon God หลี่คังเซิงเกิดอาการป่วยประหลาดคือปวดคออย่างรุนแรง ซึ่งไฉ้รู้สึกว่ามีส่วนรับผิดชอบกับเรื่องนี้ (เขาเคยให้สัมภาษณ์ติดตลกว่าเพราะ Rebels of the Neon God เชื่อมโยงถึงเทพนาจาซึ่งอาจจะดูเป็นการลบหลู่)
ระหว่างที่หลี่รักษาอาการปวดนี้อยู่ 9 เดือนไฉ้ก็คอยช่วยเหลือคอยพาไปหาหมอ ซึ่งเหตุการณ์นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในหนังเรื่อง The River
ในระยะเวลา 9 เดือนนี้ทั้งคู่ใกล้ชิดกันมาก (please feel free to จิ้นวาย) ในที่สุดไฉ้ก็พบว่าการเอากล้องถ่ายใบหน้าของหลี่คือความสุขในการทำหนังของเขา จากนั้นเป็นต้นมา หนังทุกเรื่องก็มีใบหน้าที่ดูป่วยไข้ตลอดเวลานั้นปรากฏอยู่ หลี่คังเซิงกลายเป็น muse ของไฉ้หมิงเลี่ยง
ที่จริงนักแสดงในหนังของไฉ้คนอื่นก็มักจะเป็นหน้าเดิมเช่นกัน เหมือนเป็นตัวละครเดิมที่เปลี่ยนชาติภพไปเรื่อยๆ อย่างเช่น Chen Shiang-chyi (เฉินเซียงฉี) หญิงสาวที่มักเล่นเป็น เซียงฉี ตัวละครที่ใช้ชื่อตามชื่อจริงของเธอ, Yang Kuei-mei (หยางกุ้ยเหมย) ดาราหญิงมากฝีมืออีกคนผู้มักรับบทหญิงสาวลึกลับ Miao Tien (เหมาเทียน) ที่ชอบได้เล่นบทคุณพ่อ Lu Yi-ching (ลูหยีชิง) ที่ชอบได้บทคุณแม่ หรือหลี่คังเซิงเองก็เล่นเป็น เสี่ยวคัง ตลอด ซึ่งเป็นชื่อเล่นของเขาจริงๆ
การโคจรพบกันของไฉ้และหลี่เรียกว่าเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สร้างสไตล์เฉพาะตัวในหนังของเขา อีกทั้งการใช้นักแสดงชุดเดิมๆ ก็ยิ่งทำให้จักรวาลในหนังของเขาดูจับต้องได้เหมือนมีอีกโลกที่ตัวละครเหล่านี้ใช้ชีวิตกันอยู่จริงๆ
Note: หลี่คังเซิงเคยทำหนังของตัวเองด้วยเช่นกัน นั่นคือเรื่อง Help Me Eros ว่าด้วยความสัมพันธ์ของชายหนุ่มที่ไม่เอาอะไรในชีวิต เมากัญชาทั้งวันและพยายามฆ่าตัวตาย กับหญิงสาวร่างอ้วนที่ทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ของสายฮ็อตไลน์รับปรึกษาปัญหาชีวิต และสาวพริตตี้ขายหมากที่เพิ่งเข้ามาทำงาน (ฟีลคล้ายสาวเชียร์เบียร์บ้านเราแต่ขายหมาก ซึ่งเป็นอาชีพที่มีจริงในไต้หวัน) หนังสวยงามและเศร้ามาก ถึงจะได้รับอิทธิพลบางอย่างมาจากไฉ้ แต่หนังก็มีเอกลักษณ์โดดเด่นในแบบของตัวเองมากทีเดียว
ความเชื่องช้า
นี่คือยี่ห้อในหนังของไฉ้ ที่มีทั้งคนรักและเกลียด แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉยๆ ไร้ที่มาที่ไป อย่างที่บอกว่าส่วนสำคัญอย่างหนึ่งมาจากแอคติ้งของหลี่คังเซิง ความช้าในการเคลื่อนไหวของเขาทำให้ไฉ้มองเห็นความเป็นธรรมชาติเฉพาะตัวของแต่ละคนว่ามันไม่เหมือนกัน
สิ่งนี้ส่งผลไปสู่วิธีเขียนบทที่ลดทอนรายละเอียดลงเหลือเพียงแค่ไกด์บอกแอคชั่นคร่าวๆ เปิดให้นักแสดงตีความ ทุกคนถูกปล่อยให้เป็นตัวเองมากที่สุด เป็นเรื่องของแต่ละคนว่าจะตัดสินใจทำตามบทด้วยวิธีไหน การตั้งกล้องแช่นิ่งถูกใช้เพื่อรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมักไม่มีการวางบล็อคกิ้งแน่นอน
ในบางครั้งไฉ้จะไม่สั่งคัทเพื่อรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปอีกด้วย แต่ไม่ใช่แค่วางยังไงก็ได้ เฟรมภาพในหนังเรียกได้ว่าถูกจัดมาอย่างประณีตเหมือนภาพเขียนที่เคลื่อนไหวได้ บางภาพดูเซอร์เรียลจนนึกว่าเป็นหนังรสเข้มฉูดฉาด หรือบางเรื่องมีฉากมิวสิคัลด้วยซ้ำ (ซึ่งนี่เป็นบางส่วนในหนังที่ทำให้เราตื่นขึ้นจากความช้า)
และด้วยการจัดวางภาพบวกกับความช้าทำให้ดำดิ่งลึกลงไปกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในหนังได้อย่างเต็มที่ ซึ่งไฉ้เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เวลามีคนดูหนังผมแล้วตีความอย่างนู้นอย่างนี้ผมจะตอบว่าใช่ ใช่ ใช่ หมด…ความยาว สั้น ความช้า คนชอบพูดถึงมัน แต่นั่นใช่สิ่งที่สำคัญเหรอ? ผมว่าสิ่งสำคัญคือ คุณรู้สึกอะไรกับสิ่งที่ผมทำมากกว่า”
ในเรื่อง Stray Dogs ตอนท้ายตัวละครของเฉินเซียงฉียืนมองบางสิ่งที่คนดูไม่เห็น (ตามเรื่องน่าจะเป็นภาพวาด) กล้องแช่นิ่งจับใบหน้าของเธอเป็นเวลาสิบกว่านาที ก่อนที่น้ำตาไหลจะออกมา แล้วหลี่คังเซิงก็เข้ามากอด
หนังไม่ได้เล่าชัดเจนว่าเธอเป็นใครหรือมองอะไรอยู่กันแน่ แต่อารมณ์จากซีนนั้นรุนแรงจนแทบหายใจไม่ออก ไม่ว่ามันจะมาจากความนิ่งช้าที่หลายคนขยาดหรือการเล่าเรื่องรวดเร็ว ผลลัพธ์ซึ่งสร้างความรู้สึกพิเศษ เหนือไปจากการตีความหรือทฤษฎีต่างๆ ดูเป็นสิ่งที่น่าสนใจกว่า
น้ำ
หนังของไฉ้มีความชื้นสูง นำ้มักมีบทบาทสำคัญและปรากฎตัวในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝน
แทบทุกเรื่องมีฝนตก และมันไม่ได้แค่ตกเป็นฉากหลังเฉยๆ แต่เหมือนฝนเองก็มีบทของมัน ในเรื่อง The Hole ฝนตกทั้งเรื่องจนถึงตอนจบ มันทั้งคุกคามและปลอบโยนตัวละครในเวลาเดียวกัน รวมถึงค่อยๆ พาเราเข้าไปในโลกของหนังด้วย
ตั้งแต่ฉากเปิดที่เสี่ยวคังพระเอกของเรื่องนอนอยู่ในห้องพักพร้อมเสียงฝนตก ไปจนถึงตอนจบที่พระเอกนางเอกได้พบหน้ากันเป็นครั้งแรกแล้วเต้นรำในเพลงของ Grace Chang ฝนก็ยังคงตกอยู่ภายนอกห้อง หรือ ‘Goodbye, Dragon Inn’ ที่เกี่ยวกับการฉายหนังรอบสุดท้ายของโรงหนังเก่าแห่งหนึ่ง เราจะได้ยินเสียงบางๆ หรือเห็นฝนผ่านหน้าต่างแทรกมาเป็นระยะตลอดทั้งเรื่อง
จนฉากจบที่เซียงฉี (ภพชาตินี้เธอเป็นพนักงานดูแลโรงหนังขาพิการ) ค่อยๆ เดินกางร่มออกจากโรงหนัง เราถึงค่อยสัมผัสฝนกระหน่ำได้อย่างชัดๆ เป็นครั้งแรกไปพร้อมกับเธอ แล้วเพลงของเหยาลี่ (Yao Lee) ก็ดังขึ้นท่ามกลางเสียงฝน บอกลาโรงหนังที่บรรจุความทรงจำมากมายและกำลังจะตายลง พร้อมกับเนื้อเพลง
“ใต้ดวงจันทร์หน้าหมู่ดอกไม้ อดีตมากมายยังติดอยู่ในใจ ครึ่งหนึ่งขมขื่น ครึ่งหนึ่งหวานซึ้ง ปีหมุนผ่านแต่ไม่อาจปล่อยมันไปได้”
หรือน้ำที่มาในรูปแบบอื่นเช่นเรื่อง The River ซึ่งเป็นเรื่องของเสี่ยวคังที่โดนหว่านล้อมจากผู้กำกับหนัง (แสดงโดยแอนฮุยผู้กำกับหญิงชาวฮ่องกง) ให้เป็นเล่นเป็นศพลอยในแม่น้ำ หลังจากขึ้นมาเขาก็มีอาการปวดคอรุนแรงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
แต่เรื่องที่น้ำดูจะได้เล่นหลายบทหน่อยก็คงจะเป็น The Wayward Cloud ในหนังไต้หวันกำลังประสบภัยแล้งรุนแรง ผู้คนต้องหาวิธีประหยัดน้ำหลายรูปแบบ มีการรณรงค์ให้ดื่มน้ำแตงโมแทนน้ำเปล่า เสี่ยวคังได้บังเอิญเจอกับเซียงฉี ซึ่งสองคนรู้จักกันมาก่อนแต่ไม่ได้พบกันซักพัก (หนังไม่ได้เล่าเรื่องก่อนหน้านี้ชัดๆ แต่เหมือนมีความเชื่อมโยงกับหนังอีกเรื่องของไฉ้คือ What Time Is It There?)
ทั้งคู่เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กันโดยที่เซียงฉีไม่รู้ว่าเสี่ยวคังเป็นดาราหนังโป๊ น้ำในเรื่องนี้เปลี่ยนรูปแบบไปมา ทั้งน้ำในแทงค์ น้ำที่ซึมออกมาจากพื้นถนน น้ำผลไม้ ไปจนถึงน้ำอสุจิ ซึ่งความชุ่มฉ่ำดูมีค่ามากสำหรับไต้หวันที่น้ำแล้งและดาราหนังโป๊ที่จิตใจเหือดแห้ง เหมือนว่านอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศอันเข้มข้นแล้วน้ำยังช่วยขับเคลื่อนเรื่องในแบบที่พิเศษมากด้วย
ลายเซ็น
นอกจากสไตล์อันเฉพาะตัวแล้ว ในที่นี้ยังหมายถึงลายเซ็นจริงๆ ด้วย ใน end credit หลังหนังจบหน้าแรกมักเป็นลายเซ็นภาษาจีนไฉ้หมิงเลี่ยงอยู่มุมขวาล่างบนจอดำ บางเรื่องก็มีเขียนข้อความสั้นๆคล้ายบันทึกอะไรบางซึ่งโดยส่วนมากจะเกี่ยวกับเพลงจีนเก่าๆ ที่ได้ยินในเรื่อง เมื่อเห็นสิ่งนี้เมื่อไหร่แปลว่าหนังจบลงอย่างสมบูรณ์
หนังของไฉ้หมิงเลี่ยงไม่ใช่งานสำหรับทุกคนแน่ๆ แต่ถ้าได้ลองค่อยๆ ซึมซับมัน ปล่อยตัวสบายๆ
ไม่จำเป็นต้องพยายามปีนกระไดดูแบบที่ใครชอบพูดกัน หากว่าไม่หลับไปก่อนแล้วเกิดจูนติด รับรองว่ามันจะสร้างความรู้สึกบางอย่างที่ไม่สามารถหาในหนังของใครได้อย่างแน่นอน
Text by Theerapat Wongpaisarnkit
อ้างอิง
youtube.com/watch?v=m-7Jt4-1i_c&t=3195s
youtube.com/watch?v=E7UVeVQpVvs
youtube.com/watch?v=JdR_1u4a1hE