ถ้าพูดถึงญี่ปุ่น เรามักจะเห็นภาพประเทศที่เต็มไปด้วยนักสร้างสรรค์ มีหนังเจ๋งๆ หลายเรื่องจากดินแดนนี้ที่มีสเน่ห์เฉพาะตัวและไปในทางของตัวเองได้สุดทาง แต่ใครจะรู้ เมื่อหลายสิบปีก่อน หนึ่งในช่องทางสำคัญของเหล่าคนทำหนังที่อยากสื่อสารหรือปล่อยของ กลับเป็น ‘หนังโป๊’ มากกว่าหนัง genre อื่นๆ
ย้อนกลับไปในช่วงปี 60s กิจการโรงหนังของญี่ปุ่นเริ่มซบเซา คนดูหนังกันน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้ามาของโทรทัศน์ เมื่อหนังทั่วไปขายยากขึ้นและมีรสชาติคล้ายๆ กับที่เห็นในทีวี ผู้สร้างหนังจึงต้องหาจุดขายด้วยการทำหนังแบบที่จะหาดูในโทรทัศน์ไม่ได้ ต้องออกมาดูในโรงเท่านั้น นั่นก็คือหนังเรท R ขึ้นไป ซึ่งไม่ว่ายังไงก็เรียกคนและไม่ต้องอาศัยทุนสร้างมหาศาลด้วย หนังประเภทนี้เองที่เรียกว่า Pink Film
Pink Film เรื่องแรกเกิดขึ้นในปี 1962 เมื่อหนังเรื่อง Flesh Market (หรือบางทีก็ถูกเรียกว่า Market of Flesh) ของผู้กำกับ Satoru Kobayashi แห่งค่ายหนังอินดี้ในยุคนั้น ว่าด้วยเรื่องของหญิงสาวที่ถูกลักพาตัวไปปรนเปรอเซ็กส์ ระหว่างที่เธอเองกำลังตามสืบเรื่องการฆ่าตัวตายอย่างลึกลับของพี่สาว ด้วยเนื้อหาที่หมกมุ่นในกาม แถมเห็นอวัยวะเพศอย่างโจ่งแจ้ง ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกตำรวจลงหลังจากเปิดตัวไปได้แค่สองวัน
นี่เป็นครั้งแรกที่เกิดการยึดฟิล์มภาพยนตร์ในประเทศญี่ปุ่น และหลังจากนั้นทีมผู้สร้างได้นำหนังไปตัดต่อใหม่ให้ซอฟต์ลงและออกฉายอีกครั้ง จนประสบความสำเร็จอย่างงดงามในแง่รายได้ จนกลายเป็นต้นธารของหนัง Pink Film เรื่องแรก
นิยามอย่างง่ายๆ Pink Film ก็คือหนังโป๊ซอฟต์คอร์ ไม่ได้อล่างฉ่างถึงขั้นไม่พูดพร่ำทำเพลงอย่างหนัง 18+ ที่เป็นภาพจำของหนังโป๊ญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้ซอฟต์ถึงขนาดจะดำเนินไปด้วยรักโรแมนติกเพียงอย่างเดียว
ในยุคนั้น นายทุนเปิดให้เหล่าผู้กำกับที่อยากทำหนัง เข้ามาทำ Pink Film กับพวกเขาโดยมีกฎและข้อจำกัดที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องความยาวหนัง ปริมาณฉากเซ็กซ์ และทุนในการถ่ายทำ Pink Film ทั้งหลายจึงมีฟอร์มคล้ายๆ กัน นั่นคือมีความยาวอยู่แค่ชั่วโมงกว่าๆ มีฉากเซ็กส์ปริมาณมากแต่ไม่เห็นอวัยวะเพศ ใช้เวลาและทุนน้อยจนได้ชื่อเล่นว่าหนังสามล้านเยน
ฟังดูเหมือนหนังเรทอาร์ทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้ Pink Film แตกต่างออกไปก็คือ มันไม่ได้ถูกสร้างเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศอย่างเดียว แต่หนังยังมีเรื่องอื่นๆ ที่อยากเล่า เพียงแต่จำเป็นต้องมีฟอร์มของหนังโป๊เข้ามาเพื่อให้มีโอกาสได้รับเงินทุนนั่นเอง (หรือผู้กำกับบางคนก็อาจจะสนุกกับฉากเหล่านี้เป็นการส่วนตัวก็ไม่ทราบได้) และอีกอย่าง การทำ Pink Film ยังมีอิสระในแง่ของเนื้อหามากกว่าหนังประเภทอื่นด้วย
อาจเป็นเพราะความต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในเวลานั้นกองเซ็นเซอร์ของญี่ปุ่นเองใช้มาตรฐานคนละแบบจากหนังทั่วไป ในการพิจารณา Pink Film ดังนั้นนอกจากควบคุมปริมาณความโป๊แล้ว ที่เหลือหนังก็แทบจะสามารถพูดอะไรก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องสังคมหรือการเมือง นี่เองที่ดึงดูดเหล่าคนทำหนังหรือศิลปินแขนงอื่นๆ ใช้พื้นที่ของ Pink Film ในการสื่อสารความคิดของตัวเอง ไปจนถึงทดลองเล่นสนุก
ยิ่งในช่วงปี 60s-70s ที่ประเทศญี่ปุ่นมีความตื่นตัวทางการเมืองรวมถึงการบูมของกระแสศิลปะอาว็อง-การ์ด Pink Film จึงเหมือนสนามเด็กเล่นรวมถึงเป็นโรงเรียนให้กับนักทำหนังจำนวนมาก รวมถึงกลุ่ม Japanese New Wave ผู้มีบทบาทอย่างมากกับวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นและระดับโลก มีหลายๆ คนที่ก็โด่งดังจนกลายเป็นรุ่นใหญ่ในวงการอย่างเช่น Nagisa Oshima หรือ Kiyoshi Kurosawa ที่ผันตัวเป็นผู้กำกับหนังสยองขวัญชื่อก้องในภายหลัง
ตัวอย่างพิงค์ฟิล์มที่น่าสนใจ
Ecstasy of the Angels (1972) กำกับโดย Koji Wakamatsu
หนังเกี่ยวกับเหล่ากองกำลังปฏิวัติใต้ดินที่พวกเขาจะใช้ชื่อวันเดือนและฤดูการเป็นรหัสแทนตัวเอง กลุ่มเดือนตุลาคมออกปฏิบัติการขโมยระเบิดจากทหารอเมริกาเพื่อเอามาให้องค์กร แต่เกิดเหตุผิดพลาด หลังจากนั้นองค์กรก็เริ่มสั่นคลอนเพราะความขัดแย้งภายในที่เริ่มย่อยลงไปเรื่อยๆ จนถึงระดับบุคคล ต่างคนต่างเริ่มอยากลงมือทำอะไรเองโดยไม่ขึ้นตรงกับกลุ่มอีกต่อไป
สมาชิกในกลุ่มมักมีความสัมพันธ์กันข้ามไปมาโดยเฉพาะ ตัวละคร ‘ฤดูใบไม้ร่วง’ ที่มักจะมีเซ็กซ์กับคนที่อยู่ใต้อำนาจของตัวเอง เซ็กซ์ในเรื่องจึงเป็นเป็นการเล่าเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากเนื้อหาเข้มข้นซับซ้อนแล้ว งานภาพก็ยังมีการเล่นเทคนิกตัดสลับไปมาระหว่างภาพขาวดำกับภาพสี พร้อมการจัด composition เฟรมที่แปลกประหลาดงานทดลองเอามากๆ
Koji Wakamatsu เป็นหนึ่งในผู้กำกับหัวหอกคนสำคัญของ Pink Film และวงการหนังญี่ปุ่นในยุค 60s หนังของเขามักมีประเด็นทางการเมือง การทดลองด้านภาพยนตร์ ไปจนถึงเนื้อหาระดับปรัชญาที่ถูกแสดงผ่านออกมาทางคำพูดคลุมเครือของตัวละคร
ยิ่งกว่านั้น งานอีกชิ้นของเขาอย่าง Secrets Behind the Wall (หรือ Affairs Within Walls) ก็เป็นหนัง Pink Film เรื่องแรกที่ได้ฉายนอกประเทศเพราะมันถูกคัดเลือกเข้าไปในเทศกาล Berlin International Film Festival ครั้งที่ 15 อีกด้วย
Sex and Fury (1973) กำกับโดย Norifumi Suzuki
Ocho สาวสวยนักพนันผู้พัวพันกับอาชญกรรมต่างๆ มากมาย เธอมีอดีตอันขมขื่นเพราะพ่อเธอถูกฆ่าตายอย่างเป็นปริศนาตั้งแต่ตอนเด็ก วันหนึ่งเธอได้พบกับเบาะแสบางอย่างของฆาตกร จึงเริ่มออกตามหาเพื่อแก้แค้น ซีนที่เป็นภาพจำของหนังก็คือนางเอกเปลือยกายโชว์รอยสักต่อสู้กับคนร้ายด้วยดาบ ฟันกันจากในบ้านจนทะลุประตูออกไปในสวนที่มีหิมะโปรยปราย
ในข้อนี้เองมีนักวิจารณ์จำนวนหนึ่งที่มองว่าทั้งฉากต่อสู้ไปจนถึงธีมเรื่องการแก้แค้นใน Kill Bill ของ Quentin Tarantino ดูจะได้รับอิทธิพลมาจากหนังเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย
นางเอกของเรื่องเองที่แสดงโดย Reiko Ike ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้หนังออกมามีสเน่ห์เฉพาะตัว เชื่อว่าคอหนังคัลท์หลายคนน่าจะเคยผ่านตารูปภาพหญิงสาวที่ถือดาบในชุดกิโมโนที่เปลือยไหล่ข้างหนึ่งให้เห็นรอยสักมาอยู่บ้าง
Tokyo Decadence (1992) กำกับโดย Ryu Murakami
Ai หญิงสาวมหาลัยที่รับจ๊อบขายบริการทางเพศแบบเฉพาะทางอย่าง S&M ลูกค้าส่วนมากของเธอเป็นคนมีตังค์หรือไม่ก็ผู้มีอิทธิพล หนังพาเราไปติดตามชีวิตการทำงานของเธอและค่อยๆ เผยให้เห็นถึงความรักที่ไม่สมหวังซึ่งกัดกินจิตใจของเธออยู่
โดยส่วนตัว นี่เป็นหนัง Pink Film ที่ผู้เขียนชอบมาก หนังให้บรรยากาศที่มืดหม่นเปลี่ยวเหงาของคนเมือง รวมถึงแสดงให้เห็นถึงการล่มสลายของจิตใจจากภายใน ภาพในหนังเองทั้งฉากเซ็กซ์และฉากเมืองยามค่ำคืนก็ถูกถ่ายทำออกมาได้สวยอย่างมีเอกลักษณ์ ผู้ทำดนตรีประกอบให้เรื่องนี้คือ Ryuichi Sakamoto นักดนตรีระดับท็อปของญี่ปุ่น นอกจากนั้นในหนังยังมี Yayoi Kusama ศิลปินผู้โด่งดัง (คุณป้าลายจุดนั่นแหละ) มาเล่นบทรับเชิญเล็กๆ อีกด้วย
Ryu Murakami เป็นนักเขียนมาก่อนจะผันตัวมาทำหนัง ซึ่ง Tokyo Decadence ก็มาจากงานเขียนของเขาเองที่ชื่อ Topaz งานของริวมักจะมีธีมเกี่ยวข้องกับการสำรวจด้านมืดของมนุษย์ทั้ง เซ็กซ์ ความวิปริต และความรุนแรง นิยายที่โด่งดังอีกเรื่องของเขาคือ Audition ซึ่งถูกทำเป็นหนังชื่อเดียวกันในปี 1999 กำกับโดยผู้กำกับสุดซาดิสม์ Takashi Miike งานเขียนเรื่องนึงของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาไทยด้วยในชื่อ มิโซะเลือด
มาถึงตอนนี้ อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป Pink Film เริ่มกลายสภาพไม่ต่างจากหนังเรทอาร์ทั่วไป ความเข้มข้นเชิงเนื้อหาและศิลปะค่อยๆ จางหาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลังจากปี 80s ที่วิดีโอเทปแพร่หลาย Pink Film ที่ฉายในโรงก็ได้รับความนิยมลดลง อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะคนทำหนังมีช่องทางอื่นในการเผยแพร่หนังตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งฟอร์มของหนังโป๊อีกต่อไป แต่ไม่ว่ายังไง Pink Film ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่รันวงการภาพยนตร์ทั้งใต้ดินและเมนสตรีมเองก็ตาม
Text by Theerapat Wongpaisarnkit
cover Illustration by loemor
อ้างอิง
หนังสือ โป๊คลาสสิก (รวมคอลลัมน์จากนิตยสาร mars) เขียนโดย เอ็นดู เบลค