สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย—ประโยคนี้ถูกบอกเล่าไม่รู้กี่ครั้งในยุคสมัยที่ทุกคนมีโทรศัพท์อยู่ใกล้มือ แต่กระนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องจริงที่หลอกหลอนคนทำหนังสือโดยเฉพาะ ‘นิตยสาร’ เสมอ บางหัวล้มหายตายจากจนไม่รู้ว่าพวกเขาไปทำอะไรกันต่อ บ้างรามือจากหน้ากระดาษไปสู่โลกออนไลน์ แต่สำหรับพงศ์ธร ยิ้มแย้ม ณ ขณะนี้เขาเชื่อว่าสิ่งพิมพ์ไม่ได้จะตายในเร็ววัน แค่มันต้องเปลี่ยนตัวเองบ้าง
หลังจาก giraffe magazine ปิดตัวลง พงศ์ธรผู้เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ ยังคงสนุกและศรัทธาในงานชนิดเดิม เพียงแต่ย้ายบ้านไปที่ a day BULLETIN จนเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางป๊อปของ free copy ฉบับนี้กันถนัดตา และจากการพูดคุย เราพบว่าอาร์ตไดเรกเตอร์ไม่ใช่คนกำหนดทิศทางด้านอาร์ตของนิตยสารแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังเปิดให้ทีมงานทุกคนได้มีส่วนร่วมด้วย
ภายใต้มิชชั่นแรกนั่นคือให้คนรุ่นใหม่กลับมาหยิบ free copy ที่ผ่านเวลามา 10 ปีอีกครั้ง เขาเองต้องเรียนรู้อีกหนึ่งวาระของการเป็นอาร์ตไดฯ นั่นคือยอมลดอีโก้ตัวเองลงเพื่อความสุขของทีม นั่นเอง บทสนทนาของเขาจึงพาเราไปไกลขึ้นเรื่อยๆ จนแตะถึงการอยู่รอดของนิตยสารและสิ่งพิมพ์ ที่ฟังแล้วก็เข้ากันดีกับช่วงเวลาครึ้มๆ ของสิ่งพิมพ์อย่างช่วงนี้เสียเหลือเกิน
Life MATTERs : ในฐานะอาร์ตไดเรกเตอร์ของสิ่งพิมพ์ คุณมองว่าตัวเองเป็นรุ่นท้ายๆ ของคนสิ่งทำพิมพ์ไหม
พงศ์ธร : เราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นรุ่นสุดท้ายขนาดนั้นนะ สุดท้ายมันก็จะมีเด็กที่อยากทำหนังสืออยู่ดีนั่นแหละ แต่มันอาจจะลดลงเรื่อยๆ เราไม่ได้เชื่อว่าสิ่งพิมพ์มันจะจบลงภายในไม่กี่ปีนี้หรอก เราน่าจะอยู่ในยุคที่ซบเซา ยุคที่เปลี่ยนผ่านมากกว่า
Life MATTERs : อะไรที่ทำให้คุณยังคงทำงานกับสิ่งพิมพ์อยู่
พงศ์ธร : การยังคงทำสิ่งพิมพ์มันก็เป็นเซฟโซนเหมือนกันนะ ไม่ใช่ความกล้าอะไรหรอก คือเราทำงานนี้มา 10 กว่าปีแล้วอะ เรารู้สึกว่าเราทำสิ่งนี้ได้ดี ทุกปัญหาเราคอนโทรลได้ จะผ่านปัญหาไปได้ด้วยดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่เรารู้ว่าจะรับมือยังไง เลยเลือกทำงานในสิ่งที่เรารับมือกับมันได้และทำได้ดีดีกว่า
แต่มันก็มีสัญญาณเตือนว่าเราต้องศึกษาอะไรใหม่ๆ ด้วย ตอนนี้เราก็ศึกษาเรื่อง UI (User Interface) ควบคู่ไปด้วย เพราะสุดท้ายการออกแบบมันรีเลตกันหมด หนังสือมันถูกออกแบบมาเพื่อสื่อสารกับคน เว็บไซต์ก็ถูกออกแบบมาสื่อสารกับคนเหมือนกัน แค่อยู่บนแพลตฟอร์มที่ต่างกันเท่านั้น
Life MATTERs : สำหรับคุณ เสน่ห์ของสิ่งพิมพ์คืออะไร
พงศ์ธร : เราเชื่อในการสัมผัสนะ จะเห็นว่าเวลาทำคอนเทนต์ออนไลน์มันจะผ่านไปไวมาก สมมติคุณทำงานมาเป็นวันหรือหลายชั่วโมง แต่คนสกรอลผ่านของคุณภายใน 5 นาที แล้วไม่กลับมาอ่านของคุณเลย มันน่าเศร้ามากนะ คุณทำงานมาขนาดนั้น แต่อายุงานของคุณอยู่ได้แค่ 5 นาที
อย่างหนังสือหรือนิตยสารเรามันจะมีรายปักษ์ รายวีค ข้อดีของมันคือช่วงแก็ปคอนเทนต์มันก็ยังทำงานอย่างต่อเนื่องอยู่ คอนเทนต์ไม่ตายไว แต่ยังไงรูปแบบคอนเทนต์มันก็ต้องมีการปรับ เรารู้สึกว่าต้องเลิกจับอะไรที่เคอร์เรนต์แล้ว แต่ต้องดูว่าทำยังไงให้มันน่าเก็บ ทำยังไงให้เป็นมิตร มันไม่ใช่การขายข่าวขายความไวอีกต่อไป คุณใช้เวลาพิมพ์ 5 วันเพราะต้องเข้าโรงพิมพ์ แต่ว่าออนไลน์เขาใช้เวลาทำอยู่ 5 ชั่วโมง ก็ปล่อยออกไปได้แล้ว
แต่สุดท้ายคนไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์ 24 ชั่วโมงหรอก มันต้องมีช่วงเวลาที่ออฟไลน์บ้าง การมีสิ่งพิมพ์อยู่ คุณจะอ่านตอนไหนก็ได้ พกไปที่ไหนก็ได้ ที่ไม่ต้องหาที่ชาร์จแบต ไม่ต้องหาอินเทอร์เน็ตมาเชื่อมต่อ
สมมติคุณอยากปิดตัวเองไปเที่ยว ไปอยู่ในที่สวยๆ ที่ไม่สัญญาณโทรศัพท์ คุณมีหนังสือก็อยู่ได้ทั้งวันแล้ว เราเองโตมากับการชอบเข้าห้องสมุด เพราะเราย้ายโรงเรียนบ่อย เลยไม่ค่อยมีเพื่อน ที่ที่เราไปหลบคือห้องสมุด เรารู้สึกว่ามันเงียบ แล้วมีหนังสือให้อ่าน เป็นบรรยากาศของมัน ซึ่งตรงนี้เราว่ามันเป็นสิ่งที่ออนไลน์ให้ไม่ได้
Life MATTERs : ชอบอ่านหนังสือแต่ทำไมถึงสนใจการออกแบบมากกว่าการเขียน
พงศ์ธร : เรารู้ตัวว่าเราเป็นนักเล่าเรื่องที่แย่ คนที่เป็นนักเขียนเราว่าเขาเกิดมาเพื่อสิ่งนั้น ซึ่งเราไม่มีทักษะการเขียน เราชอบวาดรูป เราเลยอยากเป็นแค่นักวาดภาพประกอบแล้วหาเงิน เราก็ถามตัวเองว่าเราเป็นอะไรที่วาดรูปแล้วหาเงินได้อีก มันไม่มี เพราะเราไม่ใช่ศิลปิน
แต่ด้วยความที่เราชอบอ่านหนังสือแต่เด็ก ชอบดูภาพประกอบ มันทำให้รู้สึกอยากไปสนุกกับหนังสือว่ะ เราอยากวาดรูป แต่พอเข้ามาทำงานในระบบเราเลยรู้ว่ามันไม่มีตำแหน่ง illustrator คือมันน้อยมาก ตำแหน่งนี้มันหาที่ทางยากมาก เราเลยหาอะไรที่ใกล้ที่สุด นั่นก็คือ editorial design
Life MATTERs : การเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ต่างกับการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์คนหนึ่งยังไง
พงศ์ธร : อาร์ตไดเรกเตอร์มันคือบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ ก็ต้องดูภาพรวมทั้งหมด กราฟิกดีไซเนอร์คือยูนิตหนึ่ง ฟังก์ชั่นคือออกแบบ โดยในแง่การทำงานคุณจะไม่ได้คิดอะไรแตกกรอบมาก เพราะความคิดของคุณถูกบรรณาธิการฝ่ายศิลป์คอนโทรลไว้เพื่อไม่ให้รูปเล่มมันสะเปะสะปะ
ลองคิดดูว่าถ้าไม่มีบรรณาธิการฝ่ายศิลป์มาดูแล กราฟิกคนนึงเป็นสายร็อก เขาก็จะใช้ฟอนต์ที่มันร็อกมากๆ อีกคนเป็นสาวหวาน ฟอนต์มันก็จะมาอีกแบบเลย แล้วหนังสือเล่มนั้นมันก็จะพังมาก เพราะมันไม่มีไดเรกชั่น คนอ่านก็จะงง มันจะสโคปโฟกัสกรุ๊ปไม่ได้เลย
อาร์ตไดเรกเตอร์ก็จะคอยคอนดักต์ทำให้คุณเป็นคนที่ควรจะเป็น คุณจะไม่ร็อกนะ คุณควรเสพข่าวนะ ควรแฟชั่นนิดๆ แล้วมันจะออกมาในรูปของการออกแบบหมดเลย มันคือการเอา A B C D มารวมกัน โดยกราฟิกดีไซเนอร์คือ A B C D อาร์ตไดฯ คือคนผสม
Life MATTERs : คิดว่าคุณสมบัติใดของอาร์ตไดเรกเตอร์ที่ทำให้คนในทีมเชื่อ
พงศ์ธร : มีน้องคนนึงเคยถามเราว่า “พี่เป็นอาร์ตไดฯ พี่คิดว่าตัวเองเก่งมั้ย” เขาไม่ได้ถามด้วยความกวนตีนนะ (หัวเราะ) คือเราไม่มีสิทธิ์พูดว่าพี่ไม่เก่งเว้ย ถ้าตอบไปว่าพี่เป็นคนไม่ค่อยเก่งว่ะ พี่งงๆ พี่ก็ไม่รู้ว่าทำงานได้ไง ถ้าเราเป็นน้องเราจะฟังเขามั้ย เราจะคอมเมนต์งานได้ไหม
การเป็นอาร์ตไดฯ ที่ดีคือทำให้คนอื่นเชื่อก่อนว่าคุณเก่ง คุณต้องเชื่อและ educate เขาได้ เราเกลียดการบอกว่า “ภาพนี้แม่งไม่ได้ว่ะ” “ฟีลลิ่งแม่งไม่ได้ว่ะ” เกลียดมากเพราะฟีลลิ่งมันคุยกับคนไม่ได้ คนเรามันมีฟีลลิ่งต่างกัน ประสบการณ์ชีวิตต่างกัน ถ้าคุณไม่มีหลักเกณฑ์มาคุยอะไรกับเขา ใครจะเชื่อฟีลลิ่งคุณ?
ฉะนั้นทุกอย่างมันต้องมีหลักการ อย่างเราทำงานใช้กริดก็จะเรียกน้องมาดูว่าทำไมเราวางแบบนี้ ทำไมเราไม่วางครอปแบบนั้น ทำไมตำแหน่งนี้ต้องมีรูปคนอยู่ เพราะมันมีไดนามิกดีที่สุด ก็ขึ้นกริดให้ดูตลอด สุดท้ายคุณก็เอางานนี้ไปทำงานฝิ่นของคุณได้ด้วย คุณก็จะจบลูกค้าได้ง่ายขึ้น ถ้าคุณเถียงลูกค้าด้วยฟีลลิ่ง ฟีลลิ่งลูกค้ากับฟีลลิ่งคุณก็คนละแบบแล้ว
เพราะฉะนั้นอย่าเอาฟีลลิ่งมาทำงาน เราไม่ใช่อาร์ติสต์ เราทำงานออกแบบเพื่อสื่อสาร เพราะฉะนั้นเราต้องมีหลักการมาคุยกัน แล้วอย่างเราจะเป็นคนไม่ชอบยุ่งกับคน เบื่อ แต่พอมาเป็นอาร์ตไดฯ แล้วมันไม่ได้ มันต้องยุ่ง เราต้องเข้าใจทุกๆ คน เราต้องรู้ว่าคนนี้เก่งอะไรไม่เก่งอะไร งานนี้ต้องการคนแบบไหน ก็ต้องแจกงานให้ถูกคน
Life MATTERs : คุณเริ่มเข้าใจเรื่องฟีลลิ่งและหลักการตั้งแต่ตอนไหน
พงศ์ธร : ตอนทำกราฟิกใหม่ๆ เรานี่ตัวฟีลลิ่งเลย พี่ ผมว่าภาพนี้แม่งสวยว่ะ แม่งใช่เลย แต่พอทำงานไปสักพักเรารู้สึกว่าไอ้ความฟีลลิ่งมันถูกตบออกง่ายเหลือเกิน พอเราไม่มีเหตุผลมาคุยเขาก็ไม่ฟังเราหรอก ยิ่งทำงานออกแบบเราต้องเจอลูกค้าอยู่แล้ว จะเอาฟีลลิ่งมาคุยกับลูกค้าได้ไง แบบ เฮ้ย พี่ฟังผม ฟีลลิ่งแม่งได้ แม่งอิน ถ้าเราเป็นลูกค้า เจอแบบนี้เราก็ไม่จ้างมันนะ เพราะมันให้คำตอบเราไม่ได้ว่าทำไมมันต้องเป็นสีนี้
คือเราก็เป็นคนใช้ไม่ได้มาก่อน เป็นเด็กดื้อ เป็นคน aggressive เราเลยเข้าใจเด็ก aggressive เข้าใจมนุษย์ฟีลลิ่ง แต่พอเราทำงานมาเราก็รู้ว่ามันไม่ได้ว่ะ เราทำงานสื่อสาร เราต้องสื่อสารกับเขา ประสบการณ์มัน educate เรา ว่าลองเปลี่ยนวิธีคิดหน่อยไหม
เราเลยกลายเป็นคนที่ต้องเข้าไปคุยทุกคน เรารู้ว่าเราไม่ชอบให้ใครก็ไม่รู้มารายงานตัวเอง แต่ถ้าคุณเป็นคนแบบนั้นคุณจะทำงานกับทีมไม่ได้เลย มันต้องมีใครสักคนเป็นคนน่ารำคาญ งั้นเราเป็นเอง แต่ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลนะ
Life MATTERs : การเข้ามาเป็นอาร์ตไดฯ ของ a day BULLETUN ที่มีรากฐานแน่นและยาวนาน การรีดีไซน์ของคุณยากลำบากไหม
พงศ์ธร : ตอนนั้นเราทำรีเสิร์ชไปเลยนะ ว่าช่วง 3-4 ปีมานี้ เขาใช้สีอะไรบ้าง ปรากฎว่า a day BULLETIN ใช้สีค่อนข้างทึม ผู้บริหารใส่สูท กอดอก เพราะธุรกิจ free copy มันไม่ได้อยู่ที่ยอดขายเล่ม มันอยู่ได้ด้วยการมีลูกค้ามาซื้อแอดฯ แล้วพอลูกค้าเป็นนักธุรกิจเข้ามาถี่ๆ คนก็ติดภาพจำนักธุรกิจไป
จริงๆ ที่ผ่านมามีปกสวยๆ ปกดีๆ ออกไปเยอะนะ แต่เรากลับไม่ค่อยได้เห็น คือมันมา 5 วัน มันก็หายไป เพราะสักพักก็จะมีคุณลุงนักธุรกิจนั่งไขว้ห้างมาแทนแล้ว แต่อันนั้นมันคือไดเรกชั่นในช่วงปีนั้นของเขา ที่เขาเซ็ตมาแล้วว่าเขาต้องเป็นผู้ใหญ่ ต้องขายนักธุรกิจ เพราะนักธุรกิจเชื่อว่าถ้ามาถ่ายกับ a day BULLETIN เขาจะได้รูปที่แคชชวลที่สุด ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดเลย
แต่พอเราเข้ามาทำ เรารีเสิร์ชแล้วรู้สึกว่าไม่จบ เพราะเราโดนสอนมาว่าการออกแบบคือการแก้ปัญหา แล้วอะไรคือปัญหา ก็มาแจงปัญหากัน นั่นคือมีนักธุรกิจขึ้นปกเยอะไป มันดีในสมัยนั้น แต่ดูไม่ทันสมัยแล้วในยุคนี้ สุดท้ายมันมีโซเชียลมีเดียขึ้นมา มีพินเทอเรสต์ เด็กรุ่นใหม่ก็โตมาทำงานหมดแล้ว สิ่งที่เราทำเมื่อก่อนมันคือไทป์ของคนยุคนั้น แต่มันถูกฟรีซมันมาเป็น 10 ปี
ซึ่งมันประสบความสำเร็จนะ มันไม่ได้แย่เลย ถ้าแย่ก็คงไม่ยืนหยัดมาทุกวันนี้หรอก แต่โจทย์มันคือทำไงให้คนที่หลุดจาก 10 ปีนั้นมาแล้วอยากหยิบ a day BULLETIN อีกรอบนึง เพราะฉะนั้นเราก็เปลี่ยนเยอะมาก ทิศทางการวางปกแปลก ทุกอย่างแปลกหมด แล้วพอทำออกไปมีทั้งคนชอบและเกลียด เราเปิดให้ทุกคนโหวตเลยนะ ทั้งกองบรรณาธิการ พิสูจน์อักษร ฝ่ายโปรดักชั่น สิ่งพิมพ์ ทุกคนมีสิทธิ์พูด เพราะนี่มันคือคุณ เราเป็นคนนอกที่เข้ามา
Life MATTERs : ผลตอบรับจากทีมเองเป็นยังไง สำหรับการเปลี่ยนดีไซน์ดราฟต์แรกๆ
พงศ์ธร : อย่างแรกคนที่เดือดร้อนที่สุดคือเซลล์ เพราะเขาเป็นคนที่สื่อสารกับลูกค้าไม่ใช่เรา มันก็มีผลกระทบกับเขา เซลล์ทุกคนไม่ชอบ a day BULLETIN ที่เราเปลี่ยนไปทั้งหมด แต่เราเข้าใจเขานะ ที่พี่อ๋อง (วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ บรรณาธิการบริหาร a day BULLETIN) พูดมาคือถูกเลย เขาบอกว่ามันสวยแต่มันไม่มีการต่อยอด เหมือนปลาถ้าเราเปลี่ยนน้ำโดยที่ไม่เอาน้ำเดิมเข้าไปมันจะช็อกน้ำใหม่ตาย
หนังสือก็เหมือนกัน ทาร์เก็ตก็ต้องไปเปิดใหม่ ลูกค้าเก่าก็จะหายไปเพราะเขาไม่ได้ต้องการความเฟี้ยวฟ้าวขนาดนี้ เขาต้องการความน่าเชื่อถือ เราเลยทำการพิมพ์เล่มทดลองออกมาก่อน แล้วให้เซลล์วิ่งหาลูกค้าว่าเราจะเปลี่ยนไปยังไงบ้าง ภาพแรง วิชวลแรง ลูกค้าน็อกหมดเลย เขาบอกว่า เออ มันสวยนะ มันดูใหม่ แต่เราไม่ใช่ทาร์เก็ตของ a day BULLETIN อีกแล้ว แสดงว่านี่ผิดแล้ว มีปัญหาแล้ว การออกแบบคือการแก้ปัญหา แต่เราไปสร้างปัญหา เราเอาอีโก้ของเราไปครอบเขา
เราเลยใช้เวลา develop นานเหมือนกัน ตอนแรกหัว a day BULLETIN จะอยู่ด้านข้างด้วยซ้ำ ก็เปลี่ยนกลับมาเป็นข้างบน เหมือนทุกอย่างมันครึ่งทาง เราถามเซลล์ว่าอะไรที่มีปัญหา เซลล์ก็บอกว่ามันก็มีลูกค้าบางคนที่ชอบให้คำว่า a day BULLETIN อยู่บนหน้าเขา เขาบอกว่าเขาได้ความแกรนด์ของแบรนด์ ดูเป็นนักธุรกิจที่มีหัวคิด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือทำยังไงให้เขาเป็นนักธุรกิจที่ไม่เชย
ตากล้องเองก็ได้รับผลกระทบเยอะในการทำงาน ที่ผ่านมาตากล้อง a day BULLETIN โดนถ่ายผู้ใหญ่เยอะมาก ก็บอกให้เขาปรับนะ ปกแรกคือพีช พชร นั่นคือช่างภาพเดียวกันกับที่ถ่ายรูปลุงนักธุรกิจที่ผ่านมา แสดงว่าเซนส์เขาได้ คือเราว่าที่มันเปลี่ยนไม่ใช่แค่อาร์ตไดฯ อย่างเดียวหรอก ทีมงานเปลี่ยนด้วย แล้วทีมต้องการพิสูจน์ตัวเองสูงว่าฉันควรจะอยู่หรือเปล่ากับการเดินทางในเฟสสอง ของ a day BULLETIN
แล้วทีมงานหลายๆ คนก็โตมากับสื่อสมัยใหม่ เข้าพินเทอเรสต์ ดูเว็บดีไซน์ เป็นคนทำงานที่ค่อนข้างอยู่ในยุคใหม่กันหมด ไม่อยากสื่อสารแค่กับคนอายุเยอะแบบนั้นอีกแล้ว อยากลองสื่อสารกับคนรุ่นเดียวกันดูบ้าง เสียงมันเลยค่อนข้างจะตรงกัน คนทำสิ่งพิมพ์จะมัวมาเซฟโซนไม่ได้อีกแล้วนะ อย่าลืมว่าโลกมันไปไกล ถ้าคุณไม่น่าสนใจเขาก็ไม่อ่านคุณหรอก คนอ่านเขาเลือกแล้วว่าเขาอยากอ่านอะไร
Life MATTERs : ซึ่งผลออกมาค่อนข้างดีทีเดียว คนก็ฮือฮาว่าดีไซน์ใหม่เจ๋ง
พงศ์ธร : ทุกคนมีส่วนร่วม มันไม่ใช่แค่อาร์ตไดฯ มาใหม่แล้วอาร์ตไดฯ เป็นคนเปลี่ยน แต่มันมาจากเสียงของตากล้อง ของพิสูจน์อักษร ของกองฯ ของฝ่ายโปรดักชั่นโรงพิมพ์ นี่คือตัวคุณ สิ่งที่คุณอยากเป็น แล้วขึ้นกระดานถกกันเลย อันนี้ไม่เอา แก้ ชอบอันไหนไม่ชอบอันไหน แต่พองานออกไปเขาจะภูมิใจ เพราะนั่นคือเขา
เราไม่ชอบการที่คนในกองออกไปแล้วเจอเพื่อนพูดว่า หนังสือมึงไม่สวยเลยว่ะ สมมติเราเป็นกองฯ นะ เราก็อาจจะรู้สึกว่าเออ มันห่วย เพราะเราไม่ได้พูดอะไรในที่ประชุมเลย แต่ถ้าเราได้พูด เราก็จะอธิบายให้เพื่อนฟังได้ เพราะมันมีส่วนที่เราคิดด้วย หนังสือมันควรเป็นของทุกคน
แต่ก็ไม่ใช่ว่าออกมาเป็นแบบนี้แล้วเราจะอยู่ไปอีกสิบปีนะ เราตั้งไว้ในใจว่าการออกแบบจะมีเฟสละ 1 ปี ถ้าแย่ก็ต้องปรับภายในครึ่งปี เราจะไม่ดอง ถ้านิ่งเต็มที่ก็คือ 2 ปี เพราะเราไม่เชื่อว่าการออกแบบจะอกาลิโก ตราบใดที่เราต้องสื่อสารกับคนที่เขาจะเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน การรับรู้เปลี่ยนไป เทรนด์เปลี่ยน ในฐานะคนออกแบบก็ต้องตามเขาให้ทัน หรือไปพร้อมกับเขาให้เขารู้สึกว่าอยู่กับมิตร การออกแบบจะเป็นเหมือนการเคลือบขนมหวานให้เขาอยากอ่านเนื้อหาข้างใน ให้เขาจับต้องง่ายที่สุด ไม่ต้องปีนกำแพงดู
Life MATTERs : พอได้ทำงานกับทีมใหญ่และระบบแบบใหม่ คุณสนุกกับงานมากขึ้นไหม
พงศ์ธร : ที่รู้สึกคือถ้าเราพลาดไป เรายังมีทีม สมมติว่าวันนี้เราได้คิวถ่ายรูปน้อยมาก ตากล้องได้ถ่ายภาพ 15 นาที คุยอีก 15 นาที แต่ต้องเป็นปกนะ ต้องได้ภาพปกด้วย บทสัมภาษณ์อีก 6 หน้าข้างใน เราก็คุยกับน้องตากล้อง ก็หาเรฟมาส่งหากัน ผลที่ได้ก็ไม่ได้แย่ มันอาจจะไม่ได้หวือหวามาก แต่เราก็เลี่ยงการกอดอกของผู้ชายแก่ไปได้ และเราก็รู้สึกว่าเรามีทีมที่มีมาตรฐานของตัวเองอยู่ ถึงเราพลาด มันจะไม่แย่
แต่ถ้าถามว่าเครียดไหม ก็คงต้องบอกว่าเครียดกว่า giraffe เพราะบุลเลตินทำงานกัน 4 วัน เราหยุดทุกวันพุธและเสาร์อาทิตย์ บางทีได้ภาพปกมาวันพฤหัสวันศุกร์เราต้องส่งพิมพ์แล้ว บางปกเลยได้ใช้เวลาคิดอยู่แค่ 3 ชั่วโมง มันถี่และบีบเรามากเหมือนกัน แต่ด้วยความที่ทีมเป็นมืออาชีพและมีโปรดักชั่นที่ดี เขาส่งวัตถุดิบที่ดีกับเรา เราทำอาหารได้จริงๆ ไม่ได้ส่งหินมาให้เราเจียเป็นเพชร ทีมช่วยเรามาก
ซึ่งตรงนี้ เคยมีพี่บรรณาธิการบริหารคนหนึ่งสอนเราว่า สิ่งที่ดีที่สุดในการทำงานคือ เมื่อคุณมาทำงานแล้วเรียกตัวเองว่าพี่ เรียกคนอื่นว่าน้อง หรือเรียกกันว่าเพื่อน เราจะไม่เอาเปรียบพี่น้องหรือเพื่อนเรา ดังนั้นถ้าเรารักกันจริงๆ เราต้องส่งงานที่ดีที่สุด ไปให้เขาทำงานต่อให้เหนื่อยน้อยที่สุด แล้วถ้าทำได้มันจะออกมาดีจริงๆ เราทำงานให้หนักโดยที่เราเข้าใจว่าเราทำให้น้องเรา ทุกคนจะทำเต็มที่เพื่อช่วยกันและกัน ไม่เอาเปรียบกัน จริงๆ มันง่ายมากแค่ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด
แล้วผลออกมามันจะไม่แย่ มันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนโลก หรือสร้างมาตรฐานอะไรหรอก แต่เราจะได้งานที่คุณภาพดี กระดาษมันโดนพิมพ์นะเว่ย ต้นไม้มันถูกตัดมา เห็นใจมันหน่อย
Life MATTERs : แล้วตอนนี้คุณมองอนาคตในสายอาชีพนี้ยังไงบ้าง
พงศ์ธร : มองว่านี่คงเป็นช่วงท้ายๆ แล้วแหละ กับสิ่งพิมพ์นะ ตลอดเวลาที่ทำงานมา 10 ปี เราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ มีอาร์ตไดฯ อยู่หลายคน แล้วทุกคนอายุเยอะหมด ตอนเด็ก เราก็จะมองเขาว่า พี่ไม่ทันเลยว่ะ พี่ไม่กล้าเลย ทำไมไม่ทำแบบนี้ล่ะ มันไม่สวย มันเชย
เราเคยสงสัยแบบนี้แล้วพอมีโอกาสได้คุยกัน พี่อาร์ตไดฯ คนหนึ่งก็เลยเปิดงานที่เขาเคยทำมาก่อนให้ดู โอ้โห สวยมาก เขาผ่านมาหมดแล้ว เขาลองมาเยอะมาก กว่าจะมาถึงตอนนี้ พอถึงตาตัวเอง เราก็ไม่อยากกลายเป็นอาร์ตไดฯ แก่ ที่น้องมามองว่าพี่แม่งเชย
เพราะว่าวันหนึ่งเราจะกลายเป็นแบบนั้น เพราะเราลองทำมาหมดแล้ว แล้วพบว่าอันนี้ไม่ดี อันนี้ไม่ได้ กำแพงที่เคยกว้างเท่าเด็กๆ ก็จะค่อยๆ แคบลงๆ วันนี้เราอาจจะยังไม่เจอ แต่วันหนึ่งเราจะเจอ พออายุถึงตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเราจะจัดการยังไง เพราะอาร์ตไดฯ ต้องคอนดักต์ทั้งหมด แล้วเราไม่สามารถคอนดักต์น้องได้แล้ว เราไม่ทันเขาแล้ว
เหมือนเวลาเราอายุ 30 เราจะไม่ค่อยอยากฟังเพลงใหม่ๆ แล้ว เราจะฟังแต่เพลงเก่าๆ ที่เคยฟัง เพราะเรารู้แล้วว่าเราชอบแบบไหน การออกแบบก็เหมือนกัน เราว่าสุดท้ายมันจะวนอยู่เท่านี้ ในสิ่งที่เราชอบและเชื่อไปแล้ว แล้วเราจะไม่ทันคนอื่น
Life MATTERs : การทำงานกับเด็กรุ่นใหม่สำหรับคุณเป็นยังไงบ้าง ณ ตอนนี้
พงศ์ธร : ซึ่งคำว่า ‘เด็กสมัยนี้’ เราไม่ชอบนะ เราว่าเด็กเดี๋ยวนี้โคตรเก่ง อย่างเรา กว่าจะเจออะไรที่อยากทำมันนานมากเลยนะ เราเริ่มทำงานด้วยความที่ยังไม่รู้ว่าเราอยากทำอะไร เราแค่อยากมีเงินไปกินเหล้า ไปเที่ยว ก็ทำงานไป ชีวิตจะอะไรนักหนาวะ จนกว่าจะเจอจุดเปลี่ยนแล้วพบว่ามันไม่ใช่แบบนั้น แต่เด็กสมัยนี้เขาเจอไวมาก แล้วได้เรียนรู้ ได้ลองทำมันเร็วมาก
แต่ข้อเสียคือเขาจะไม่ค่อยอดทน จะค่อนข้างเปราะบาง เพราะเขาได้มาง่าย กลายเป็นต้นไม้ที่ไม่ค่อยแข็งแรง ถ้าเขาแก้จุดนี้ได้ก็น่าจะไปได้อีกไกลมากเลย มีเด็กหลายคนที่เก่งมาก แต่สุดท้ายเขาไปอยู่องค์กรที่เขาไม่ได้พิสูจน์อะไรในเวลาที่เขาตั้งเป้าไว้ ซึ่งมันอาจจะน้อยเกินไปด้วยซ้ำ แล้วเขาก็ผละองค์กรนั้นไป ซึ่งน่าเสียดายนะ ถ้าเขาสามารถลองสื่อสารกับผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจ หรือใจเย็นๆ รอให้ผ่านไปอีกนิด ออกดอกให้เต็มที่ แล้วค่อยไป เขาจะเติบโตไปเป็นหัวหน้าคนที่ดี
เพราะงั้นการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่เราแฮปปี้นะ เด็กก็แอบให้อินพุทเราด้วย ช่วยพยุงเราโดยที่เขาไม่รู้ตัว
จริงๆ เราเชื่อการอยู่ในกรอบนะ คือถ้าสมมติเรามีกรอบๆ หนึ่งกว้าง 26×36 แล้วคุณรู้จักทุกมิลลิเมตรของมัน แล้วค่อยออกไปจากกรอบนี้เพราะเบื่อ รู้สึกว่ามันไม่ใช่ แต่พอออกไปแล้วคุณจะแข็งแรงมากเลย คุณจะไม่เขวกับชีวิตอีกแล้ว เพราะรู้ว่าสิ่งนี้ใช่แน่ สิ่งนี้ไม่ใช่แน่ๆ
การละทิ้งมันง่ายมากเลยนะ ลองทำสิ่งยากๆ ก่อนก็ได้ ทดสอบศักยภาพตัวเอง ทดสอบการรับมือกับปัญหาต่างๆ เราจะค่อยๆ ปลดล็อกได้ทีละขั้น
Life MATTERs : ท้ายที่สุดนี้ สมมติว่าเราเป็นคนทำงานที่ดีแล้ว สิ่งพิมพ์จะอยู่ได้ไหม
พงศ์ธร : การที่สิ่งพิมพ์ยังอยู่ ไม่ใช่ว่าแค่ยังพิมพ์ในกระดาษนะ แต่คนทำงานต้องอยู่อย่างภาคภูมิ ไม่ใช่อยู่แบบหนีตาย เราควรได้เงินที่สมน้ำสมเนื้อกับการทำงานของเรา ไม่ใช่ว่าทำงานประจำแล้วต้องมานั่งทำฝิ่นอีก 4-5 ตัว เพื่อให้มีเงินไปใช้ชีวิต มันแย่นะ สุดท้ายมันเหมือนมีแต่อีโก้ แต่ไม่มีการครองชีพ
พี่กนกพงศ์เคยเขียนไว้ว่า การทำหนังสือบรรจุกลุ่มคนที่มีอีโก้และอัตตาไว้สูง เพราะเรารู้สึกว่าเราประกอบอาชีพที่สง่างาม เราจึงรู้สึกว่าเราทำอาชีพที่มีคุณค่ามากกว่า เราจะทะนงตนสูง แต่ลองมองสิ ถ้าเราทะนงตนสูงกันอย่างนั้น แต่ผลประกอบการมันต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากนะ สุดท้ายทุกวันนี้เป็นไง เราทำงานกันแทบตาย ได้เงินมาเท่าไหร่
ดังนั้นการที่สิ่งพิมพ์ยังอยู่คือทุกคนควรอยู่ได้ ตากล้องเอง กราฟิกเอง ไม่ต้องรับฝิ่นกระจาย วิ่งงานกันขนาดนั้นเพื่อจะมีเงินไปดาวน์รถ บางทีมันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจก็เข้าใจ แต่ระบบองค์กรและลมใต้ปีกเองก็ควรสนับสนุนให้คนทำงานอยู่ได้ด้วย ไม่ใช่แค่ให้หายใจไปวันๆ
Photos by Adidet Chaiwattanakul