เมื่อพูดถึงคำว่าแอคติ้งหรือการเล่นละคร เรามักเห็นภาพของนักแสดงที่สวมบทเป็นตัวละครต่างๆ ตามแต่ที่พวกเขาจะได้รับ ตั้งแต่บทตัวเอกผู้ลุ่มลึก สุขุม นางเอกแสนสดใสและอ่อนโยน ไปจนถึงตัวร้ายในละครที่แผดเสียงกรี๊ดอย่างไม่เกรงใจใคร แต่อันที่จริงแล้ว เราเพิ่งรู้จาก ปราง—พิมพ์ภัทร ชูตระกูล เมื่อเร็วๆ นี้เองว่าแอคติ้งก็สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงของเราๆ ได้เช่นกัน
ปรางมีอาชีพหลักเป็นแอคติ้งโค้ช และยังร่วมกับ ทิพย์ตะวัน อุชัย เพื่อนสนิท ทำเวิร์กช็อปการแสดงในชื่อ Self-Factory ที่ใช้แนวคิด Acting for Self Development มาสอนการแสดงให้ปุถุชนคนทั่วไป อย่างเจ้าของกิจการ พนักงานออฟฟิศ และกระทั่งเด็กนักเรียน เพื่อให้พวกเขาใช้ศาสตร์การแสดงช่วยค้นหาตัวตนที่แท้จริง ได้แสดงออกถึงความเป็นตัวเอง และสามารถฟิตอินกับสังคมรอบๆ ตัวอย่างมีความสุข
หลายคนอาจยังเห็นภาพไม่ชัดนัก หรือกระทั่งเกิดคำถามตามมาว่าสุดท้ายแล้วชีวิตประจำวันที่ใช้แอคติ้งเข้าช่วยจะมีหน้าตาแบบไหน แบบนี้เท่ากับการเป็นคนเฟคๆ ไหม หรือการแอคติ้งมันจะมาบรรจบกับการเป็นตัวเองได้อย่างไร ซึ่งเราเชื่อว่าคงไม่มีใครตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีไปกว่าตัวปรางเอง
Life MATTERs : จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเริ่มทำ Self-Factory คืออะไร
ปราง : จริงๆ แล้วเราจบรัฐศาสตร์นะ แต่ว่าตอนเรียนเราสามารถลงเรียนวิชา minor ได้ เราก็เลยเลือกวิชาการละคร พอเรียน เราก็รู้สึกว่าเราค้นพบอะไรใหม่ๆ เราเจอความเป็นตัวเองมากขึ้น พอจบมาเราก็รู้สึกว่าเราชอบศาสตร์การแสดง
ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าเราไม่ได้อยากเป็นนักแสดง เราไม่ชอบอยู่หน้ากล้อง หรืออยู่หน้าเวทีตลอดเวลา แต่เราชอบจะเข้าใจตัวตน เข้าใจคน เรารู้สึกว่าคำวิจารณ์ของเรามีประโยชน์กับเพื่อน ก็เลยกลายเป็นอาชีพแอคติ้งโค้ชที่มาตอบโจทย์นี้
พอเราเป็นแอคติ้งโค้ชมาสักพัก ก็จะชอบมีคนทั่วไปมาบอกว่าอยากเรียนแอคติ้งจังเลย คือทุกคนเข้าใจว่าจะได้แอคติ้งดีๆ ในชีวิตจริง เวลาเราจะทำหน้าทำตา หรือเราจะพูด หรือจะทำอะไร แต่เราก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วคนเข้าใจเรื่องแอคติ้งผิดเยอะมาก ก็เลยพัฒนาจากการสอนแอคติ้งให้นักแสดงกลายเป็นเอาแอคติ้งมาประยุกต์ใช้กับคนทั่วไป
แล้วพอดีเพื่อนเราก็จบสาขา Applied Theatre มาจากแคนาดา ซึ่งเมืองนอกเขาเอาการละครไปประยุกต์ในหลายศาสตร์มากๆ จนน่าตกใจ เช่น ในคนที่กำลังจะออกจากคุกเขาก็เอา Applied Theatre เข้าไปใช้ โดยการที่เซ็ตบทบาทขึ้นมาให้เขาใช้ชีวิตในสังคมนอกคุก หรือทางการแพทย์ก็ให้นักศึกษาแพทย์ลองบอกอาการ แจ้งข่าวร้ายกับคนไข้ หรือต้องรับมือกับคนไข้ที่เป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งพอเพื่อนเรากลับมาเขาก็มีไอเดียของเขา เราก็มีไอเดียของเรา เราก็เลยกลับมาทำงานร่วมกัน
สิ่งที่การละครจะมาช่วยคือการหาตัวเองให้เจอ แล้วก็กล้าที่จะเป็นตัวเองอย่างมีความสุข โดยที่ก็ไม่ได้ต้องสุดโต่งนะ คนจะเข้าใจว่าการเป็นตัวเองคือโนสนโนแคร์ ทำทุกอย่างแบบไม่แคร์โลก เป็นการสร้างตัวตนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเรามองว่ามันเป็นคนละอย่าง
Life MATTERs : พอจะบอกได้มั้ยว่าชื่อ Self-Factory มันมีที่มาจากอะไร
ปราง : Self-Factory มีที่มาคือเรารู้สึกว่าปัจจุบันทุกอย่างมันคือการผลิตซ้ำ ทุกอย่างถูกผลิตอย่างรวดเร็วออกมาจากโรงงาน ต้นทุนต่ำ ได้ของจำนวนมากเหมือนๆ กัน เรามองว่าคนในปัจจุบันก็เป็นแบบนั้น คือเราผลิตคนในแบบเดียวกันออกมาหมดเลย
แล้วเราคิดว่าสิ่งที่การละครจะมาช่วยคือการหาตัวเองให้เจอ แล้วก็กล้าที่จะเป็นตัวเองอย่างมีความสุข โดยที่ก็ไม่ได้ต้องสุดโต่งนะ คนจะเข้าใจว่าการเป็นตัวเองคือโนสนโนแคร์ ทำทุกอย่างแบบไม่แคร์โลก เป็นการสร้างตัวตนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเรามองว่ามันเป็นคนละอย่าง
ที่นี่ เราใช้คำว่า Acting for Self Development ก็คือการแสดงเพื่อการพัฒนาตัวตน แต่ส่วนใหญ่ที่ทำงานด้วยกันมา สิ่งที่เราค้นพบมากที่สุดก็คือคนส่วนใหญ่เพิ่งกล้าจะยอมรับอะไรบางอย่างในตัวเองตอนที่เรามาทำเวิร์กช็อปด้วยกัน มีคนที่กล้าแสดงออกมากๆ แต่ลึกๆ รู้มาตั้งนานแล้วว่าจริงๆ ตัวเองขี้อาย คือเขาไม่ได้ชอบความขี้อายนะ แต่เพิ่งจะยอมรับจุดนั้น
ซึ่งในเคสนี้ไม่ได้แปลว่าออกจากคลาสเราไปแล้วจะเลิกกล้าแสดงออก แต่เขาแค่รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองป็นคนแบบนี้แหละ และได้รู้ว่าตัวเองต้องกล้าแสดงออกเพราะอะไร ก็เลยไม่รู้สึกเหนื่อยทุกครั้งที่ต้องออกไปแสดงออก
อันนี้คือการที่เรารู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน แล้วเราก็แสดงออกอย่างเหมาะสมในแบบที่เราเป็น เช่น เราไม่จำเป็นต้องกล้าแสดงออกสุดโต่งก็ได้ถ้าเราเป็นคนโลกส่วนตัวสูง ชอบอยู่คนเดียวเงียบๆ แต่เราแค่ต้องยอมรับว่าเราเป็นแบบนี้นะ เราจะเห็นว่าคนสมัยนี้พยายามจะเป็นในแบบที่สังคมคิดว่าดี สังคมคิดว่ามันน่าชื่นชม ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นการผลิตแบบโรงงานมากเลย
Life MATTERs : งานแรกๆ ที่คุณหยิบเอาการแสดงมาประยุกต์กับคนทั่วไปคืออะไร
ปราง : มันก็หลายปีแล้วนะ คือเราเริ่มจากทำเวิร์กช็อปกับคนที่เขาเคยจ้างเราก่อน เขาทำสตาร์ตอัพ มีบริษัทของตัวเอง แล้วก็มีปัญหาเรื่องเปลี่ยนลูกน้องบ่อย หรือเวลาพรีเซนต์งานเขารู้สึกว่าเขาทำสีหน้าไม่ถูก เขาเลยอยากให้เราสอนแอคติ้ง แต่พอมาคุยกัน เราก็รู้สึกว่าปัญหาของเขามันไม่ได้อยู่ที่เขาต้องแอคติ้งต่อหน้าคนอื่น แต่มันเป็นปัญหาเรื่องที่เขายังไม่เข้าใจตัวเอง ก็เลยทำให้เขาสื่อสารออกไปในทางที่ไม่ตรงกับความต้องการของเขา
เราคิดว่าเราต้องกลับมาค้นหาตัวเองก่อนว่าเราเป็นคนยังไง แล้วค่อยเซ็ตบทบาทต่างๆ ที่จะแสดงออกกับคนอื่นๆ มันก็เหมือนการแสดงแหละ เพราะนักแสดงก็ต้องรู้จักตัวเองดีที่สุดแล้วค่อยไปรู้จักตัวละครที่เขาจะเล่น เราเลยเอาสิ่งนี้ไปประยุกต์ใช้กับคนทั่วๆ ไป เช่น เขาต้องรู้ก่อนว่าเขาเป็นคนแบบไหน บทบาทหน้าที่ที่เขาจะต้องไปทำมีอะไรบ้าง เป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง เป็นลูกค้า หรือเป็นผู้เสนองาน แล้วก็ค่อยเอาบทบาทพวกนี้มาเสริมกับตัวตนที่เขาเป็น
Life MATTERs : คุณกำลังจะบอกว่า คำว่าแอคติ้งในที่นี้ไม่ใช่การเฟคหรือ ‘ไม่เป็นตัวของตัวเอง’ ต่อหน้าคนอื่นหรือเปล่า
ปราง : ใช่ เรามองว่าจริงๆ เราสามารถเป็นตัวของตัวเองในทุกบทบาทที่เราต้องทำได้ แค่เราต้องเลือกใช้ให้ถูกว่าเราจะมีตัวตนแบบไหนในสถานการณ์แบบไหน สมมติเราอยู่กับเพื่อนเราอาจจะร่าเริง บ้าบอ แต่พอเรามาคุยงาน เราก็ยังเป็นคนเดิมที่ร่าเริง แต่เราจะ professional มากขึ้น ตรงต่อเวลา มีระเบียบ ดังนั้นเราก็เลยเอาการแสดงมาเป็นแบบฝึกหัดให้เขาใช้ค้นหาตัวเองแล้วก็นำไปใช้ต่อในชีวิตประจำวัน
Life MATTERs : เราสามารถเทียบบทบาทแต่ละบทบาทในชีวิตคนทั่วไป กับตัวละครที่นักแสดงต้องเล่นได้มั้ย
ปราง : เทียบเคียงได้นะ ถ้าเป็นคนทั่วไปเรามองว่าเราก็มีบทบาทต่างๆ ที่ต้องสวม บทบาทที่จะเป็นครู เป็นเพื่อน เป็นลูกอะไรแบบนี้ เพียงแต่นักแสดงอาจต้องสับเปลี่ยนบทบาทมากกว่านั้น
Life MATTERs : เห็นว่าคุณออกแบบกระบวนการทำเวิร์กช็อปให้คนทั่วไปที่มาเรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน คุณเริ่มออกแบบแต่ละคอร์สยังไงบ้าง
ปราง : แรกสุดเราจะคุยกับลูกค้าก่อนว่าเขามองการแอคติ้งเป็นยังไง แล้วเขามีจุดประสงค์ต่อการเรียนแอคติ้งแบบไหน พอเราคุยกันแล้วเราถึงจะรู้ว่าปัญหาของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องการแสดงออก ไม่ใช่เรื่องของการที่ว่าเราต้องทำหน้ายังไง แต่ละคนก็มีปัญหาคนละแบบ
เช่น ปัญหาเรื่องการสื่อสาร ปัญหาเรื่องการวางตัว ปัญหาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เราถึงค่อยดีไซน์เวิร์กช็อปที่ตรงกันกับเขา หา excercise ที่เหมาะกับเขามาใช้
ในคลาสแรกๆ เรามักจะให้เขาช่วยกันหาว่าตัวเขาเป็นยังไง ชอบที่ตัวเองเป็นแบบนี้มั้ย ยอมรับที่ตัวเองเป็นแบบนี้ได้มั้ย ให้เขาลองทำ excercise ต่างๆ ดู แล้วก็มานั่งวิเคราะห์กันว่าทำ excercise นี้แล้วรู้สึกยังไง ในครั้งต่อๆ ไปเราก็จะปรับแก้เวิร์ปช็อปจากสิ่งที่เราเจอเขาในแต่ละอาทิตย์แล้วก็พัฒนาไปด้วยกัน
Life MATTERs : อยากให้คุณลองยกตัวอย่าง excercise ที่ใช้ในเวิร์กช็อปหน่อยได้มั้ย
ปราง : ก็จะมีเวิร์กช็อปเช่น เราให้คนพูดภาษาที่ไม่ใช่ภาษาคน หรือที่ทางละครเรียกว่า Gibberish เชื่อมั้ยว่าเขายืนนิ่งๆ อยู่สิบห้านาทีอะ เขาคิดไม่ออกเลย ทำไม่ได้ พูดไม่ได้ เราก็บอกว่าพูดอะไรก็ได้ เขาก็ทำไม่ได้ เราก็เลยต้องเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ก่อน ลองให้เขาทำเสียงอื่นๆ จนกล้าที่จะพูดภาษามั่วๆ ออกมา นี่ก็เป็นการท้าทายตัวเอง กระโดดออกจากกรอบของตัวเองเหมือนกัน
หรือคนที่มีปัญหาเรื่องการเข้ากับลูกน้อง เราก็ให้เขาลองหาตัวเองจากสี ว่าเขาคิดว่าตัวเองเป็นสีอะไร จากคำจำกัดความ จากการสังเกตตัวเองในแต่ละอาทิตย์ สุดท้ายมันมีคำหนึ่งที่หลุดออกมาคือคำว่า cold หรือเย็นชาซึ่งเขาไม่กล้ายอมรับ พอเขายอมรับออกมาเขาก็ตกใจตัวเองนิดหนึ่ง แต่ข้อดีคือพอเขารู้ว่าเขาเป็นแบบนี้เขาเลยไปปรับการปฏิบัติตัวกับลูกน้องให้ดีขึ้น เพราะเขารู้แล้วว่าจริงๆ แล้วเขาค่อนข้างจะเย็นชามากๆ
หรืออีกคนหนึ่งที่ไม่กล้าแสดงออกเลย เราก็เอาเขามาใช้วิธีทางการแสดง เช่น ให้เขาลองจินตนาการดูว่าเขาอยู่ที่ไหน คนตรงหน้าเราเป็นใคร เป็นคนเฉพาะกลุ่มที่เรารักใช่มั้ย หรือเป็นหมาเป็นแมวก็ได้ แล้วเราก็ลองให้เขาพูดออกมา ทำออกมา หรือทำทันที คือไม่ต้องคิดเลย เราก็จะมีการเตรียม excercise ต่างๆ แล้วเราพูดอะไรก็ให้เขาทำเลย ห้ามคิดๆๆ อันนี้ก็เป็นหนึ่งใน excercise
แต่เรามีขอบเขตนะ คืออย่าง individual class ใครที่เขามีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต หรือเรารู้สึกว่าเขาไม่ได้มาหาความสนุก แก้ความเครียด หรือแค่มาแก้ปัญหาการสื่อสาร เราก็จะไม่ทำ เราก็จะแนะนำเขาว่าลองไปรักษาสุขภาพก่อนมั้ย คือเราก็ต้องมีจรรยาบรรณของเรา ไม่ใช่เคลมว่าเราทำได้หมด เครียดอะไรมา เป็นซึมเศร้าอะไรแบบนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นเส้นบางๆ มาก ต้องระวังให้ดี
เราแค่ต้องหาให้เจอว่าที่เราเปลี่ยนไปเราชอบมั้ยที่เราเป็นแบบนี้ เราโอเคมั้ย ยอมรับได้มั้ย เราว่าปัญหาใหญ่ๆ ที่เห็นคือคนเราไม่ค่อยยอมรับตัวเอง เรายอมรับแต่ด้านดีแต่เราไม่ยอมรับด้านที่ไม่ดี ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นเราก็ไม่มีโอกาสแก้เพราะว่าเราไม่รู้ว่ามันคือปัญหา
Life MATTERs : คุณพูดถึงการค้นหาตัวตนเยอะ อยากรู้ว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่านี่แหละ คือเราค้นพบตัวเองแล้ว
ปราง : เราว่าความเป็นตัวเองมันมีความไม่สิ้นสุดนะ มีความไปได้เรื่อยๆ ประสบการณ์ชีวิต หรือว่าช่วงวัยมันก็เปลี่ยนแปลงตัวเราไปได้เยอะ เราเคยเป็นคนแบบนี้ เราเจอเหตุการณ์ๆ หนึ่ง มุมมองเราเปลี่ยน ทัศนคติเราเปลี่ยน เหมือนตอนเด็กๆ เราก็เป็นแบบหนึ่ง แต่วันหนึ่งเราโตขึ้นมา ทำงานแล้ว เจอคน อกหัก ทะเลาะกับเพื่อน ตัวตนเราก็เปลี่ยนไป
เราแค่ต้องหาให้เจอว่าที่เราเปลี่ยนไปเราชอบมั้ยที่เราเป็นแบบนี้ เราโอเคมั้ย ยอมรับได้มั้ย เราว่าปัญหาใหญ่ๆ ที่เห็นคือคนเราไม่ค่อยยอมรับตัวเอง เรายอมรับแต่ด้านดีแต่เราไม่ยอมรับด้านที่ไม่ดี ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นเราก็ไม่มีโอกาสแก้เพราะว่าเราไม่รู้ว่ามันคือปัญหา
ดังนั้นเราก็ต้องยอมรับด้านที่ไม่ดีก่อน แต่ก็แก้ไปถ้าเราไม่ชอบ แต่เราชอบที่เราเป็นแบบนั้น ก็ต้องดูด้วยว่ามันทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า
Life MATTERs : ที่ผ่านมาคนที่มาเข้าเวิร์กช็อปนี่จะเป็นใครบ้าง
ปราง : ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่ในวัยสามสิบกว่า เป็นคนที่เริ่มทำธุรกิจของตัวเอง เราคิดว่ามันเป็นช่วงวัยกลางๆ ที่กำลังจะไปสู่ความสำเร็จแล้วก็กำลังจะทิ้งความเป็นเด็ก เป็นคนที่ยังหาบาลานซ์ให้ตัวเองไม่ได้ว่าเราจะต้องทำยังไง เป็นคนแบบไหน หรือพยายามที่จะประสบความสำเร็จมากๆ จนเริ่มไม่แฮปปี้แล้ว
เราน่าจะหากิจกรรมมาเสริม ซึ่งเขาก็จะมองว่าแอคติ้งแล้วกัน แต่พอเราเสนอในแบบของเราที่มันแตกต่างเขาก็จะสนใจมากขึ้น แต่อันนี้เราจะทำเป็นแบบตัวต่อตัว ซึ่งมีเรากับเพื่อนอีกคนที่ช่วยกัน หรือถ้าเป็นวัยรุ่นตอนนี้ก็มีทำกับโรงเรียนอยู่ แบบนั้นจะเป็นแบบกลุ่ม ซึ่งเราก็จะมีเวิร์กช็อปสำหรับปรับเด็กเก่ากับเด็กใหม่ที่โรงเรียนรับมาให้เข้ากันได้
อีกจุดประสงค์หลักๆ คือมันเอาไปแก้การบุลลี่กันในสังคม เด็กคนที่เขาได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเขาก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วเขาทำได้นี่ เขาไม่จำเป็นต้องอยู่ในมุมมืดแล้วยอมตามสังคมที่มันไม่ถูกต้องไป แล้วคนที่เคยว่าเพื่อน พอเขาต้องออกมาเป็นลูกเป็ดขี้เหร่ คือเป็นคนที่อ่อนแอ เขาก็รู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่นบ้าง เข้าใจว่าเวลาเราล้อเพื่อนว่าอีอ้วน อีดำ เขารู้สึกแบบนี้นี่เอง โคตรอึดอัดเลยว่ะ แล้วเราจะทำทำไม
Life MATTERs : กิจกรรมสำหรับเด็กนี่จะเป็นแบบไหน
ปราง : เวิร์กช็อปที่ทำกับวัยรุ่นมีอันหนึ่งที่เราจะนำนิทานที่เด็กคุ้นเคยอยู่แล้วมาใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอประเด็นหรือชี้ให้เห็นมุมมองบางอย่าง เช่น การนำเรื่อง ลูกเป็ดขี้เหร่มาใช้
เราจะให้เด็กได้จำลองตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของนิทานเรื่องนี้ ใช้การละครมาประยุกต์ แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มๆ ตามตัวละครในเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ในแต่ละกลุ่มมันเป็นเรื่องปกติมากเลยที่จะนินทาว่าร้ายกัน อย่าง “อุ๊ย เธอต้องไปได้กับใครมาลูกเลยไม่เหมือนคนอื่น” หรือ“อี๋ นังลูกเป็ดมันขี้เหร่ว่ะ น่าเกลียด หน้าตาอัปลักษณ์ไม่เหมือนพวกเรา” แล้วเราก็จะดึงเด็กจากในแต่ละกลุ่มออกมากลุ่มละคนหรือสองคน ให้เขามาคุยกับเรา
ให้เขาลองแทนตัวเองเป็นลูกเป็ดขี้เหร่ตัวนั้น แล้วก็พาเขาไปฟังสิ่งที่ในแต่ละกลุ่มพูดถึงเขา เสร็จแล้วเราก็เอาเขากลับไปอยู่ในกลุ่มของตัวเอง กลับไปอยู่ในบทบาทเดิม แล้วเราก็จะดึงเด็กกลุ่มใหม่ออกมา ทำแบบนี้วนไปจนครบ
พอจบเวิร์กช็อปเราก็มานั่งคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เราค้นพบแล้วเราก็รู้สึกดีมากๆ คือคนที่ออกมาเป็นลูกเป็ดขี้เหร่ พอเขากลับไปเป็นแม่เป็ดเขาเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น โดยการสร้างเรื่องขึ้นมาว่า “เมื่อเช้าลูกเป็ดขี้เหร่ช่วยฉันออกมาจากหม้อต้มน้ำร้อน เขามีมุมมองที่ดีนะถึงเขาจะไม่เหมือนเรา” แล้วในกลุ่มก็ค่อยๆ มีคนเห็นตามว่าลูกเป็ดขี้เหร่อาจจะไม่ได้เลวไปเสียทั้งหมด เขาอาจจะเป็นลูกใครมาก็ไม่รู้ แม่เขาอาจจะมีชู้หรือเปล่าไม่รู้ แต่ลูกเขาไม่ได้ทำผิดนี่
ในขณะที่อีกกลุ่ม คนที่ออกมาเป็นลูกเป็ดขี้เหร่เขาบอกว่าเขาอยากจะตะโกนบอกคนทั้งกลุ่มว่าหยุดด่าได้แล้ว แต่เขาไม่กล้าทำเพราะว่าเพื่อนเขาตั้งตัวเป็นหัวหน้าแก๊งในกลุ่ม เขาก็เลยต้องเออออ แต่เขารู้สึกอึดอัดมาก กลุ่มนี้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดใด ส่วนกลุ่มสุดท้าย คนที่ออกมาเป็นลูกเป็ดขี้เหร่ เมื่อกลับเข้าไปก็พยายามจะโน้มน้าวคนอื่น กลุ่มนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
พอเรามานั่งคุยกันมันทำให้เห็นว่าเด็กวัยรุ่นเขาตระหนักได้ว่าตัวเองสามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางไหนก็ได้ คนที่ไม่กล้าพูดเขาก็รู้สึกอึดอัดมากเลยที่ไม่สามารถยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้องได้ เราก็ฟีดแบ็กกลับไปว่านี่ไง เราทำได้นะ เราเป็นคนยุคใหม่ เราเป็นคนเจนใหม่ เราสามารถยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องได้ อันนี้คืออย่างแรกที่เราใช้กระบวนการละครเข้าไปชี้ให้เขาเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง
อีกจุดประสงค์หลักๆ คือมันเอาไปแก้การบุลลี่กันในสังคม เด็กคนที่เขาได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเขาก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วเขาทำได้นี่ เขาไม่จำเป็นต้องอยู่ในมุมมืดแล้วยอมตามสังคมที่มันไม่ถูกต้องไป แล้วคนที่เคยว่าเพื่อน พอเขาต้องออกมาเป็นลูกเป็ดขี้เหร่ คือเป็นคนที่อ่อนแอ เขาก็รู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่นบ้าง เข้าใจว่าเวลาเราล้อเพื่อนว่าอีอ้วน อีดำ เขารู้สึกแบบนี้นี่เอง โคตรอึดอัดเลยว่ะ แล้วเราจะทำทำไม
เขาอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด กลับไปเขาอาจจะยังล้อเพื่อนเหมือนเดิม แต่อย่างน้อยเขาก็อาจจะมีเสียงในใจที่บอกว่าอย่าทำเลยมันกระทบกระเทือนใจเพื่อนนะ ก็ดีมาก รู้สึกว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี
อันที่กำลังมีแพลนจะทำต่อคือการ training the trainer คือไปเทรนคนที่กำลังจะเป็นครู เราก็จะทำเวิร์กช็อปที่ตอบโจทย์ว่าครูจะต้องเข้าใจเด็กก่อนด้วยการใช้การละครเข้าไปประยุกต์ เราอาจจะมีการลองแสดงบทบาทสมมติให้เขาดู
หรืออาจจะลองให้เขาหาตัวเองว่าเขาเป็นแบบไหน แล้วฟีดแบ็กออกมาให้คนอื่นได้ทำความเข้าใจร่วมกัน หรือลองเป็นคนอื่น เขาจะได้เข้าใจว่าถ้าเขาเป็นเด็กแล้วเขาต้องฟังครูพูดแบบนี้ เขาเบื่อมั้ย ชอบมั้ย เพราะส่วนใหญ่ครูก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นครู แต่บางทีก็ลืมคิดไปว่าเด็กเขาต้องมานั่งฟังในสิ่งที่เขาไม่เคยรู้เลย ไม่เก็ตเลย เราต้องปรับปรุงวิธีการมั้ย ก็ใช้การละครเข้าไปช่วย
Life MATTERs : เท่าที่ฟังมาทั้งหมด แอคติ้งเหมือนจะช่วยคนเข้าใจตัวเอง เข้าใจกันและกัน คิดว่าถ้าเกิดสังคมไทยมีการฝึกแอคติ้งมากขึ้นจะช่วยให้สังคมดีขึ้นมั้ย
ปราง : เราคิดว่ามันได้นะ เราไม่ถึงกับหมดหวังกับคนในเจนโตๆ แต่คิดว่ามันต้องทำมาตั้งแต่เด็กๆ ต้องให้เด็กกล้าที่จะพูด หรือทำ หรือแสดงออก หรือเป็นตัวของตัวเองมาตั้งแต่เด็กๆ
เราว่าเด็กเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า ผู้ใหญ่อายุ 40-50 เขาฟอร์มตัวเองมาขนาดนี้แล้ว กว่าที่เขาจะเปลี่ยนเราต้องให้เวลากับเขานะ เราก็ต้องแฟร์นิดหนึ่ง ไม่ใช่ว่าชี้ปุ๊บเปลี่ยนได้เลย เขาเติบโตมาในสังคมแบบนั้น การเลี้ยงดูแบบนั้น เขาฟอร์มตัวเองมาแบบนั้น จนอายุ 40 กว่าเขาจะเปลี่ยนก็ต้องใช้เวลาอีกเยอะ แล้วก็เปลี่ยนได้ทีละน้อย บางอย่างเราเองยังเปลี่ยนยากเลย
ดังนั้นผู้ใหญ่ก็เปลี่ยนแปลงได้ แต่ว่าต้องใช้เวลา แล้วอีโก้ของคนอีกล่ะ เขาโตมาถึงขนาดนี้ ประสบความสำเร็จมาขนาดนี้แล้ว เขาจะเชื่อมั้ยว่าบางอย่างมันควรเปลี่ยนแปลง คนที่เคยล้อคนอื่นมาตลอดชีวิตแล้วก็อยู่มาได้อย่างมีความสุข เขาจะเชื่อมั้ยว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ดี มันก็ค่อนข้างยาก
เราไม่ถึงกับหมดหวังนะ แต่สมมติเขาเปลี่ยนแปลงจนสำเร็จตอนอายุ 50 เขาอาจจะมีเวลาอยู่ในโลกนี้จนถึงอายุ 60 แล้วก็ตายจากไปก็ได้ แต่เด็กก็เป็นทรัพยากรใหม่ๆ ที่เป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะพัฒนาขึ้นมา มันก็ต้องทำควบคู่กันไปทั้งหมดแหละ แต่ถามเราเราก็คิดว่าเด็กอาจจะง่ายกว่า
Life MATTERs : สุดท้ายแล้ว คุณเอาแอคติ้งไปช่วยแก้ปัญหาบางอย่างให้คนอื่นมาก็มาก แต่สำหรับตัวเอง คุณคิดว่าคุณได้อะไรจากการแสดงหรือการละคร
ปราง : เหมือนน้ำเน่านะ แต่มันเหมือน “โลกคือละคร” อะไรอย่างนี้ คือเรารู้สึกว่าเราแอคติ้งในชีวิตจริงกันเยอะอยู่แล้ว เราหยุดเล่นละครแล้วเป็นตัวของตัวเองกันบ้างก็น่าจะดี ดังนั้น จริงใจกับตัวเอง จริงใจกับคนอื่น เรารู้สึกว่าการละครสอนแบบนี้ นักแสดงที่ไม่จริงใจกับตัวเองก็จะเล่นละครได้ดียาก ดังนั้นไม่ต้องคิดว่าอยากจะแสดงยังไงในชีวิตจริงแล้วล่ะ แค่กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง เข้าใจคนอื่น จริงใจก็น่าจะพอแล้ว
Photos by Adidet Chaiwattanakul