คุณคิดว่าการพบจิตแพทย์สักครั้งหนึ่งเราจะต้องเจอกับอะไร แล้วในวันวันหนึ่งจิตแพทย์เองล่ะ ต้องดีลกับอะไรบ้าง?
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อาจไม่ได้จำลองสถานการณ์การพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการหรือรับการบำบัดโดยตรง แต่มีบางอย่างเอียงๆ ไปทางนั้น ในแง่ที่เราอาจพบความคลี่คลายบางอย่าง ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เผชิญกับความเครียดและตั้งคำถามกับสุขภาพจิตของตัวเองอยู่บ่อยๆ
และผู้ให้คำตอบกับเราในคราวนี้ คือนายแพทย์ปทานนท์ ขวัญสนิท แพทย์ชำนาญการจิตแพทย์ ประจำสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต ที่พบกับหลากหลายเคสตั้งแต่ขั้นของสุขภาพจิต-โรคทางจิตเวช และกระทั่งโรคจิตเภท จากผู้ป่วยทุกเพศและทุกวัยที่ดาหน้าไปหาเขาอย่างไม่หยุดหย่อนตลอดหลายปีที่ผ่านมา
คุณอาจเป็นคนเจนวายสักคนที่กังวลเรื่องอิสระทางการเงิน หรือเป็นเจนเอ็กซ์สักคนที่กังวลเรื่องความรัก กระทั่งเจนอื่นใดที่มีเพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า จนถึงคนที่เคยสงสัยว่าแล้วจิตแพทย์เองมีความสุขกับงานของเขาในแง่ไหน แล้วสุขภาพจิตของจิตแพทย์เองต้องรับการดูแลอย่างไร
คล้ายกับว่าเมื่อพูดถึงเรื่องภาวะทางจิตใจแล้ว เราเกิดคำถามตามมาเต็มไปหมด และอย่ารอช้าเลย ให้คุณหมอเล่าให้ฟังเถิด
Life MATTERs : ในบ้านเราตอนนี้ คนมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตกันมากขึ้นไหม
นายแพทย์ : ปัญหานั้นมีอยู่แล้วครับ ซึ่งจริงๆ ต้องเริ่มจากนิยามก่อนเลย เราอยู่ในยุคที่คนพูดถึงสุขภาพจิตกันมากขึ้น มีข้อมูลเยอะมาก แล้วเราก็ได้ยินสลับกันไปสลับกันมา
ซึ่ง mental health หรือ ‘สุขภาพจิต’ กับ mental disorder หรือ ‘โรคทางจิตเวช’ ไม่เหมือนกัน แล้วก็คนละเรื่องกับ ‘โรคจิตเภท’ หรือ schizophrenia ด้วย ทีนี้ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าการแยกแต่ละอย่างนี่ใช้เกณฑ์อะไรมาวัด โดยปัจจุบันเราใช้ 2 เกณฑ์ เป็นเกณฑ์ที่ยอมรับทั่วโลก คือเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก กับเกณฑ์ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ในการบอกว่ามีโรคอะไรบ้างที่เข้าข่าย
Life MATTERs : พอจะอธิบายคร่าวๆ ได้ไหมว่าคนนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวช ส่วนคนนี้มีปัญหาสุขภาพจิต
นายแพทย์ : เวลาเราจะพูดว่าใครสักคนนึงเป็นโรคจิตเวช มันต้องมีเกณฑ์อะไรสักอย่างมาจับ ในขณะที่ปัญหาทางสุขภาพจิต เป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจของคนคนนั้น
ดังนั้นโรคจิตเวชจะเป็นแค่ subjective หรือแค่ความรู้สึกไม่ได้ หลายคนอาจจะมีปัญหา มีความทุกข์ต่างๆ เกิดขึ้นในชีวิต แต่ไม่ก่อให้เกิดการเสียฟังก์ชั่น ก็จะเป็นเรื่องของสุขภาพจิต คร่าวๆ คือ ถ้ามีความทุกข์ทรมานและเสียฟังก์ชั่นพร้อมๆ กัน เราจะถือว่าเกินขอบเขตของสุขภาพจิต น่าจะเป็นโรคจิตเวชแล้ว
Life MATTERs : อะไรคือตัววัดว่าตอนนี้คนคนนี้เสียฟังก์ชั่นแล้ว
นายแพทย์ : เป็นอีกประเด็นที่สำคัญมากๆ ต้องตั้งคำถามก่อนว่าฟังก์ชั่นของมนุษย์คืออะไรเนอะ เรามักจะวัดฟังก์ชั่นกันที่งาน แต่จริงๆ มนุษย์ยังมีฟังก์ชั่นทางความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งฟังก์ชั่นในการที่จะดูแลตัวเอง การทำให้ตัวเองมีความสุข เราจะเห็นว่ามีโรคทางจิตเวชหลายอย่างที่คนที่เจ็บป่วยจะเกิดการสูญเสียฟังก์ชั่นตรงนี้ไปเกือบทุกอย่าง
ไม่ใช่แค่เวิร์กอย่างเดียว ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวก็เสีย เขาก็ไม่อยากที่จะดูแลตัวเองให้ดีขึ้น ตรงนี้เจ้าตัวเองอาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่าเราเสียฟังก์ชั่นหรือเปล่า แต่คนที่จะใช้เกณฑ์วัดคือจิตแพทย์
ทีนี้การที่ใครสักคนจะเข้าเกณฑ์ว่าป่วยหรือไม่ มันมีวิธีการ ขั้นตอนในการประเมิน เราใช้ตั้งแต่การพูดคุยสัมภาษณ์ทางจิตเวช และการตรวจสภาพจิต ทำทั้งสองอย่างนั้นแล้วถึงจะบอกได้ว่าเขาป่วยหรือไม่ป่วย เข้าเกณฑ์หรือไม่เข้าเกณฑ์
บางครั้งเราอาจจะอาศัยการตรวจในเชิงปฏิบัติการเพิ่มเติมนิดหน่อย แต่อันนี้เป็นการวินิจฉัยแยกโรคบางอย่าง เช่น คนบางคนมีอาการทางจิตเวชก็จริง แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นโรคทางสมอง เขาเป็นโรคจากการผิดปกติของร่างกายบางอย่าง เช่น ต่อมไทรอยด์ บางทีเราถึงจะใช้ห้องปฏิบัติการแยกโรค แต่หลักๆ ก็คือการสัมภาษณ์ทางจิตเวชบวกกับการประเมินสุขภาพจิตครับ
การหาตำแหน่งหรือที่ทางของตัวเองในสังคมมันก็ก่อความทุกข์ระดับหนึ่ง มันทำให้เรารู้สึกว่ายังคงมีคนที่เหนือกว่าเราอยู่เรื่อยๆ แล้วชีวิตเรามันต้องไปถึงตรงไหนล่ะ ถึงจะหยุดเปรียบเทียบได้สักที ซึ่งจุดนั้นมันก็ไม่มีจริงอยู่แล้ว
Life MATTERs : โซเชียลมีเดียมีผลเสียกับสุขภาพจิตคนยุคนี้มากน้อยแค่ไหน
นายแพทย์ : การเสพโซเชียลมีเดียก็ทำให้คนเราเกิดการเปรียบเทียบจนเป็นความทุกข์ ถามว่าแบบนี้เรียกว่าตัวเองเสียฟังก์ชั่นแล้วไปพบแพทย์ได้ไหม ก็ได้นะครับ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เราน่าจะคุยกันต่อว่าทำไม มันเกิดอะไรขึ้นกับคนเจนฯ นี้ ที่ทำให้เขาเกิดคำถามว่าตัวเขาอยู่ตรงไหนของสังคม มันอยู่ในนิยามของ comparative คือการเทียบเคียง ว่าคนเรามีเลเวล เหนือกว่า ด้อยกว่า
ผมว่าการเปรียบเทียบเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบัน ในตอนนี้เราสามารถรับรู้ฐานเงินเดือนของวิชาชีพต่างๆ สามารถรู้ไลฟ์สไตล์ของคนในวัยใกล้เคียง ถ้าเทียบไปยุคของเบบี้บูมเมอร์ หรือเจนเอ็กซ์ บางทีเราอาจจะไม่รู้หรอกว่าเราแย่ที่สุดหรือดีกว่าใครหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นผมว่าการเปรียบเทียบ หรือการหาตำแหน่งหรือที่ทางของตัวเองในสังคมมันก็ก่อความทุกข์ระดับหนึ่ง มันทำให้เรารู้สึกว่ายังคงมีคนที่เหนือกว่าเราอยู่เรื่อยๆ แล้วชีวิตเรามันต้องไปถึงตรงไหนล่ะ ถึงจะหยุดเปรียบเทียบได้สักที ซึ่งจุดนั้นมันก็ไม่มีจริงอยู่แล้ว เพราะมันเป็น relatively เมื่อเราคิดว่าเรารวยเพียงพอแล้ว ก็จะมีคนที่รวยกว่าเรา จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องอื่นๆ เกียรติยศ ชื่อเสียง แม้กระทั่งความก้าวหน้าทางการงานก็ตาม ประเด็นนี้ผมมองว่าเป็น universal suffering เป็นความทุกข์สากล
Life MATTERs : จากที่ได้คุยกับคนไข้หลากหลาย คุณมองเห็นภาพรวมของสุขภาพจิตคนยุคนี้ยังไงบ้าง
นายแพทย์ : ผมได้ทำงานกับผู้ป่วยทุกๆ เจเนอเรชั่น ไม่ใช่แค่เจนวายหรือเจนแซท แต่เจนเอ็กซ์หรือเบบี้บูมเมอร์ก็มี ไม่มีเจเนอเรชั่นไหนที่จะป่วยมาก หรือป่วยน้อยกว่ากันหรอก ทุกเจนก็มีข้อดี ข้อด้อยของตัวเอง
แต่ถ้าเราจะโฟกัสไปที่เจนวาย สิ่งที่จะเป็นคาแรกเตอร์ของเขาก็คือ เขาไม่ได้จำเป็นต้องอดทนสมยอมกับระบบ กับวิธีการคิด หรือคุณค่าแบบคนเจนก่อนๆ เช่นการต้องภักดีกับองค์กร ในขณะเดียวกันเขาก็มีข้อมูลมากมายที่รายล้อม มีความคิดสร้างสรรค์ เขาก็เลยพยายามจะใช้สมรรถภาพ หรือประสิทธิภาพของตัวเองด้วยการใช้ชีวิตให้เต็มที่ แต่ข้อจำกัดคือเขาอยู่ในช่วงที่สถานการณ์ทางสังคมมีความผันผวน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม มีการเปลี่ยนผ่าน
ผมคิดว่าสิ่งที่ลำบากมากๆ ของคนเจนวายคือ เขาต้องการตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตตัวเอง ในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องพยายามไปให้ได้กับกระแส หรือทิศทางของสังคมที่มันมีความผันผวนด้วย
Life MATTERs : รับมือยากไหม กับคนเจเนอเรชั่นที่พอใจกับชีวิตตัวเองยากเหลือเกิน
นายแพทย์ : มันยากที่ตัวเขาเอง เขาอยู่ในช่วงวัยสิบปลายๆ ถึงสามสิบต้นๆ ซึ่งต้องยอมรับว่ายังเป็นช่วงที่อำนาจต่อรองทางสังคมหรือสถานภาพทางสังคมก็ยังไม่มั่นคงพอ เขาไม่ได้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว เหมือนเบบี้บูมเมอร์ เขายังไม่ได้ถึงขั้นเป็นหัวหน้าแบบเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ ด้วยความที่ตัวเองก็มีความต้องการ แต่ในขณะเดียวกันสถานภาพทางสังคมของตัวเองก็ยังไปไม่ถึง เลยเป็นข้อขัดแย้งที่นำไปสู่ปัญหาสำคัญอยู่สองสามข้อ
ข้อแรกๆ ที่เจอบ่อยในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ หรือ identity ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เขาอาจจะพอรู้พอเข้าใจ แต่ไม่ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองเพื่องานใดงานหนึ่ง หรือเพื่อองค์กรใดองค์กรหนึ่งไปตลอดชีวิต ก็เป็นไปได้ว่าเขาจะทำงานแล้วก็ลาออกไปเป็นที่ๆ
หลายครั้งก็ทำให้เขาเกิดความสงสัยในตัวเอง ทำให้เขาเข้ามาถามว่าตกลงตัวเองต้องการอะไรกันแน่ ตกลงที่เขาออกจากการงานนั้น หรือเขาเปลี่ยนมาทำงานนี้มันใช่โจทย์ที่เขาต้องการไหม แล้วเขาก็มาปรึกษา ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้เจ็บป่วย ไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชอะไรก็ได้ แค่มาถามว่าตกลงเขาควรจะลาออกดีไหม เขาควรไปทำตามความฝัน หรือเขาควรทนต่อกับองค์กรนี้ดี
อีกหนึ่งปัญหาตอนนี้ที่มาแรงเลย คือเรื่องอิสรภาพทางการเงิน หรือแม้กระทั่งการเกษียณก่อนวัย แต่ในความเป็นจริงแบบนี้ สภาพสังคม หรือแม้แต่ปัญหาที่เขาเจออยู่อาจจะทำให้เขาไปตอบโจทย์ตรงนั้นไม่ได้ เขาก็เลยสงสัยว่า หรือเขาควรจะไปทำตัวให้มีเป้าหมายเหมือนเจนเอ็กซ์หรือเบบี้บูมเมอร์ ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานให้องค์กรต่อไป
อีกปัญหาที่ผมมองว่าอาจจะมาได้อีก คือเรื่องของปฏิสัมพันธ์ อันนี้เป็นได้ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างเรื่องปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพราะในครอบครัวก็ต้องมีหลายเจนอยู่ด้วยกัน หรือปฏิสัมพันธ์ในระดับมหภาคที่ใหญ่ขึ้น อย่างเช่นเรื่องคนในองค์กร เขาต้องเผชิญกับ CEO ที่เป็นเบบี้บูมเมอร์ เขาต้องเผชิญกับหัวหน้าแผนกที่เป็นเจนเอ็กซ์ และเขาอาจจะมีน้องฝึกงานที่เป็นเจนแซทด้วย เขาก็จะคิดว่าเขาควรมีปฏิสัมพันธ์กับคนเหล่านี้ยังไง ควรจะมาในทิศทางไหน เหล่านี้มักจะเป็นเรื่องที่เจนวายเข้ามาปรึกษาบ่อยๆ ครับ
Life MATTERs : แล้วความรักล่ะ เป็นปัจจัยสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตหรือเปล่า
นายแพทย์ : จริงๆ ความรักเป็นปัจจัยสำคัญของทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้วนะครับ ไม่ใช่แค่ยุคนี้ เราจะเห็นว่าถ้าเราดูเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมา คนที่ผิดหวังจากความรักแล้วมีปัญหาทางสุขภาพจิต ทำให้เกิดผลเสียตามมามันก็มีอยู่เรื่อยๆ
สำหรับผมมองว่าการจัดการกับความรักก็เหมือนการจัดการกับอารมณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ คนบางคนมีทักษะในการจัดการกับอารมณ์ได้ดี จริงๆ อารมณ์รักเป็นอารมณ์ที่ผสมๆ กันนะครับ มันมีอารมณ์อยากครอบครอง มันมีกังวลใจ มันมีหึงหวง มันมีโกรธ มันมีเสียใจ น้อยใจ มันเกิดขึ้นปนๆ กัน เพราะฉะนั้น คนที่มีปัญหาในการจัดการอารมณ์ได้ไม่ค่อยดี ก็จะมีโอกาสที่เขาจะจัดการกับความสัมพันธ์ได้ไม่ค่อยดีด้วย ซึ่งมันจะส่งผลซึ่งกันและกันครับ
Life MATTERs : อย่างคนที่ใช้ความรักเป็นตัวนำในการก้าวออกจากความทุกข์นี่เสี่ยงไหม
นายแพทย์ : แสดงว่าเขาเข้าใจในแง่มุม positive ของความรัก อย่างที่ผมบอกว่าถ้าเราเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทุกแง่มุมแล้ว เราจะเลือกใช้แง่มุมที่มีประโยชน์
แต่อย่าลืมว่าในแง่มุมตรงข้ามของความรัก มันก็จะเต็มไปด้วยความคาดหวังอย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ ดังนั้นถ้าคุณใช้ความรักในการพาตัวเองออกจากความทุกข์ คุณต้องถามตัวเองว่าคุณสามารถจัดการ หรือบริหารความทุกข์ที่มากับความรักได้ไหม ที่เรามักจะเจอคือเรายังคาดหวังเยอะ แต่ในขณะเดียวกันเราเองก็ไม่เข้าใจความรักดีพอ
ฉะนั้นบางที บางคนมองว่าเราไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเพราะเราไม่มีความรัก แต่สำหรับผม ผมมองว่าเราอาจจะไม่ได้เข้าใจความรักดีตั้งแต่แรกมากกว่า มันมีโอกาสยากมากที่จะรักโดยไม่คาดหวังเลย แต่เราคาดหวังตามความเป็นจริงไหมล่ะ? แล้วเราสามารถที่จะวางหัวใจบนความสัมพันธ์นี้ได้เหมาะสมกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือบริบทที่เกิดขึ้นหรือเปล่า
Life MATTERs : คนเจนเอ็กซ์หรือเบบี้บูมเมอร์พ้นไปจากปัญหาความรักแล้วหรือยัง
นายแพทย์ : ไม่มีใครพ้นไปจากเรื่องความรักหรอกครับ เพียงแต่วิธีการรับมือหรือการจัดการก็จะเป็นไปในตามแต่ละสไตล์ของเจเนอเรชั่นนั้นๆ
ข้อดีอย่างหนึ่งของเบบี้บูมเมอร์คืออดทน ใช้ความเพียรพยายามในการแก้ปัญหา และไม่ใจร้อน แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งคือก็พวกเขาเปลี่ยนแปลงยาก เพราะฉะนั้นสมมติถ้าปัญหาของความรักอยู่ในบริบทที่ปรับเปลี่ยน ต้อง adapt ต้อง adjust เบบี้บูมเมอร์เองก็จะมีข้อจำกัด
เราอาจเคยตั้งคำถามว่าคนรุ่นพ่อแม่ เมื่อสามีภรรยานอกใจกันทำไมถึงอยู่กันได้โดยไม่เลิกรา นั่นเพราะเขาอาจจะมีหัวใจของความอดทน ดังนั้น การรับมือกับปัญหาความรักของคนแต่ละเจเนอเรชั่นก็ไม่เหมือนกัน
บังเอิญว่าคนเจนวาย เจนแซท ค่อนข้างที่จะรีบร้อนต้องการเห็นผลเร็ว อดทนรอคอยได้น้อยกว่าเจนที่แก่กว่า แต่พวกเขามีความยืดหยุ่น ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า สำหรับเขาแล้วรักทางไกลมันเป็นไปได้นะ เราสามารถจะมีความสัมพันธ์ในแบบที่ไม่ต้องใกล้กันได้ในระยะหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็อดทนรอคอยได้น้อย ผมจึงคิดว่าปัญหาความรักในแต่ละเจเนอเรชั่น ต้องการ approch ที่ตอบโจทย์ต่างกันไปครับ
Life MATTERs : ซึ่งเป็น case by case จิตแพทย์ไม่สามารถมีสูตรสำเร็จให้?
นายแพทย์ : ใช่ครับ เป็นไปไม่ได้เลย แม้กระทั่งคนเจนเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถตัดเสื้อโหลให้ได้นะครับ เป็นแค่วิธีคิดหรือสเตอริโอไทป์ที่เรามองว่าคนเจเนอเรชั่นนี้มีวิธีคิดแบบนี้ ให้คุณค่ากับชีวิตแบบนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเขาก็มีลักษณะเฉพาะของแต่ละคนอยู่ดี ในการวินิจฉัยหรือบำบัดเราจึงให้ค่ากับปัญหาของคนคนนั้น ไม่ใช่ของเจเนอเรชั่นนั้น
Life MATTERs : หลังจากที่มาพบจิตแพทย์ ส่วนมากแล้วพวกเขาได้สิ่งที่ต้องการกลับไปหรือเปล่า
นายแพทย์ : มีทั้งได้และไม่ได้นะครับ ต้องบอกก่อนว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยที่จะทำให้แต่ละคนเข้าใจตัวเอง จิตแพทย์ก็เหมือนกระจกสะท้อนให้เขาเข้าใจตัวเองมากขึ้น แต่เขาต้องไปตกผลึก ไปทำความเข้าใจตัวเองด้วย หลายๆ ครั้ง การตั้งคำถามโดยจิตแพทย์ทำให้เขาฉุกคิดต่อ แล้วเขาอาจจะไปพบคำตอบด้วยตัวเองทีหลังก็ได้
ปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้ต้องการการบำบัดนะครับ เขาอยากได้คำชี้แนะแนวทาง หรือบางครั้งเขามาเพื่อหาประสบการณ์ด้วยซ้ำไป แต่จะมีคนที่เราต้องใช้คำว่าเขาเจ็บป่วย เมื่อเขามีเกณฑ์เข้ากับการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช กลุ่มนี้แหละที่จะได้รับการบำบัด
ตาข่ายที่ถี่ๆ แล้วที่จะกรองเอาคนที่ป่วยออกมาได้ ดีกว่าตาข่ายที่ห่างๆ แล้วทำให้เราหลุดคนที่เจ็บป่วยไปหมด
Life MATTERs : เมื่อคนพบจิตแพทย์กันมากขึ้น เอะอะก็มา เครียดนิดเครียดหน่อยก็มา เป็นเรื่องหยุมหยิมสำหรับจิตแพทย์ไหม
นายแพทย์ : อยากให้มากันครับ กลับไปตรงที่ว่าเราจะแยกคนเป็นโรคซึมเศร้ากับคนเศร้ายังไง โดยอารมณ์เศร้า เป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ แต่คนยุคก่อนอาจจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขามันเกินอารมณ์เศร้าแล้ว มันคือโรคซึมเศร้า จึงเป็นคำถามว่าทำไมแต่ก่อนไม่ฮิตเป็นโรคซึมเศร้าเลย นั่นเพราะเขาคิดว่ามันเป็นแค่อารมณ์เศร้าแล้วยังข้อจำกัดหรือบริบทอีกมากมาย เช่น การไปพบจิตแพทย์มันน่าอาย หรือมันเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับ
กลับมาที่ยุคปัจจุบัน คนปัจจุบันเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่านี่คืออารมณ์เศร้า หรือโรคซึมเศร้า อย่ากระนั้นเลย ไปให้คนที่เขารู้บอกเราดีกว่า ปรากฏว่าส่วนหนึ่งมาหาเราก็ อ่อ คุณเป็นแค่อารมณ์เศร้านะ ไม่ใช่โรคซึมเศร้า นั่นเป็นหน้าที่ของหมออยู่แล้วที่ต้องบอก ไม่ใช่เรื่องเสียเวลาเลย
ตาข่ายที่ถี่ๆ แล้วที่จะกรองเอาคนที่ป่วยออกมาได้ ดีกว่าตาข่ายที่ห่างๆ แล้วทำให้เราหลุดคนที่เจ็บป่วยไปหมด เพราะฉะนั้นการที่จะดาหน้ากันเข้ามา แล้วมาสงสัยว่าตกลงเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า เทียบกันแล้ว อาจจะมีข้อดีกว่ายุคก่อนที่เป็นโรคซึมเศร้าแต่เข้าใจว่าเป็นแค่อารมณ์เศร้า ก็ไม่ไปหาหมอ แล้วในที่สุดก็จบชีวิตตัวเอง
หรือไม่ใช่เคสของโรคซึมเศร้าก็ตาม ในปัจจุบันมีคำพูดติดตลกว่า คนดังระดับโลกหลายคน ก็ต่างเคยไปเจอจิตแพทย์มาแล้ว และเขาก็ไม่ได้เจอเพราะป่วยหรือเป็นโรคจิตเวช แต่เขาเจอเพราะมาขอคำปรึกษา เขาต้องการปรับชีวิตคู่ เขาต้องการที่จะก้าวหน้าในงาน หรือเพราะเขาคิดว่าเขาจะเลือกชอยส์บางอย่างในชีวิต แล้วเขาอยากจะได้มืออาชีพ มาช่วยเขาคิดว่ามันดีหรือไม่ดียังไงด้วยซ้ำไป
Life MATTERs : เคยมีประเด็นที่คนมองว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าใช้โรคเป็นเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความสนใจ ให้ได้สิ่งที่ต้องการมา คุณมองประเด็นนี้ยังไง
นายแพทย์ : ถ้าสมมติเราเชื่อในทฤษฎีของสารในสมองที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนชีวิตของเรา การเปลี่ยนแปลงของสารในสมองมันก็จะกระทบฟังก์ชั่นอื่นๆ ในสมองของเรา เช่น ความคิด ความจำ สมาธิ ความสนอกสนใจให้มันดรอปลง มันเป็นไปได้ว่าไม่ใช่แค่อารมณ์เศร้าเท่านั้นที่ทำให้เขาทำงานไม่ได้
ส่วนในกรณีที่ถ้าคนไข้ขอให้เอาโรคซึมเศร้าเป็นข้ออ้างในการที่จะทำหรือไม่ทำอะไร โดยปกติหมอจะไม่แนะนำให้เริ่มต้นจากการบอกคนนู้นคนนี้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเพื่อการยกเว้นบางอย่าง แต่ให้เริ่มจากคิดว่าศักยภาพของคุณตอนนี้ทำได้แค่ไหน คุณคิดว่าที่ผ่านมาโรคซึมเศร้าไปบั่นทอนข้อจำกัดคุณแค่ไหน แล้วตอนนี้คุณอยู่ตรงจุดไหนแล้ว
หมออยากให้ทำตามศักยภาพให้เต็มที่มากว่าจะตั้งต้นว่าพอเป็นโรคแล้วศักยภาพที่เหลือไม่จำเป็นต้องพัฒนา อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ เพราะฉะนั้นมันไม่ควรเป็นข้ออ้างก็จริง แต่มันควรเป็นสิ่งที่สังคมควรเข้าใจ เพราะมันก็เป็นข้อจำกัดจริงๆ เหมือนกัน
Life MATTERs : สำหรับคนทั่วไปที่ต้องรับมือกับผู้มีปัญหาสุขภาพจิตหรือโรคจิตเวช ควรจัดการตัวเองอย่างไร
นายแพทย์ : ความสุดขั้วทั้งสองฝั่งนั้นไม่ดีทั้งคู่ เราไม่แนะนำให้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบแตะต้องอะไรไม่ได้ ไข่ในหิน พูดอะไรไม่ได้เลย อันนี้ไม่แนะนำ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่แนะนำให้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบขวานผ่าซาก ซาดิสม์ ที่ทำให้คนไข้รู้สึกแย่ไปอีก สิ่งที่เราจะทำคือให้กำลังใจบนพื้นฐานของความจริง
ถ้าคนไข้ซึมเศร้าพูดว่าทำไม่ได้หรอก ไม่มีความสามารถ สิ่งที่เราควรพูดกลับไปคือ แล้วที่ผ่านมาที่เขาทำได้มันคืออะไร เขามีความสามารถอะไร เขาจะสามารถกลับไปทำอย่างนั้นได้อีก ถ้าเขากลับมาดูแลตัวเองให้หายจากโรคซึมเศร้าได้ เป็นต้น
เพราะฉะนั้นเราควรให้กำลังใจ คอยซัพพอร์ตคนไข้ อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง แล้วก็ต้องมีความหวังเสมอ คนที่เป็นโลกซึมเศร้าเขาจะมองโลกเป็นสีเทาๆ เหมือนใส่แว่นสีชา เขาจะมองทุกอย่างเป็นแง่ลบไปหมด ซึ่งภาพที่เราให้เขามอง จะไม่ใช่การมองแบบ over positive นะครับ แต่เป็นการมองสิ่ง positive ที่เขามีอยู่ แต่เขาละเลยจนมองไม่เห็น หรือหลงลืมมันไป เราจะไม่ให้คนไข้ซึมเศร้าตั้งความหวังกับอะไรที่เลื่อนลอย
Life MATTERs : คนที่ไม่ได้ป่วยเองแต่ต้องรับมือกับผู้ป่วย สามารถพบจิตแพทย์ได้ไหม
นายแพทย์ : ได้ครับ หลายคนมาหาจิตแพทย์ด้วยการถามคำถามว่าควรจะพูดยังไงให้กระทบกระเทือนผู้ป่วยน้อยที่สุด ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรรู้คือ เราจะฟังเขาอย่างเข้าใจยังไงดี เราจะสามารถทำให้ตัวเองฟังเรื่องราวทั้งหมดโดยไม่ตัดสินได้หรือไม่
เพราะฉะนั้นคำแนะนำอันดับหนึ่งคือไม่ใช่จะพูดกับเขาอย่างไร แต่คือคุณจะฟังเขาอย่างไร อันนี้สำคัญนะครับ เราต้องฝึกสิ่งที่เขาเรียกว่า emphatic listening เช่นเมื่อต้องให้คำปรึกษาคนที่อกหักจนเสียสุขภาพจิต เราอาจจะพูดในใจได้ว่าผู้ชายเป็นหมื่นเป็นพันคน จะไปเสียใจอะไรกับแฟนแค่คนเดียว แต่ในความเป็นจริงสำหรับเขาแล้วผู้ชายคนนั้นที่ทิ้งเขาไปเป็นเรื่องใหญ่มากในชีวิตเขา เราอาจถามตัวเราเองก่อนว่า ถ้าเราเป็นเขา เราก็อาจจะรู้สึกแบบเขาได้เหมือนกัน
พอเรามี emphatic listening เกิดขึ้นแล้ว ทีนี้ก็ต้องมี open mind ไม่ตัดสิน ส่วนการจะตอบสนองหรือ respond ยังไง ผมอยากบอกคนที่ไม่ใช่บุคลากรทางสุขภาพจิตว่าคุณไม่ต้องกังวลเลย คุณ respond อย่างมนุษย์นี่แหละ ตอบสนองเหมือนที่คุณอยากได้นั่นเอง
ผมไม่แนะนำว่าจะต้องจำเป็นเทคนิค ว่าต้องขึ้นต้นด้วยประโยคแบบนี้ แบบนั้น มันไม่สำคัญ มันเริ่มจากฟังเขาอย่างแล้วตั้งใจหรือยัง หลังจากนั้นคุณก็จะเข้าใจความทุกข์เขาอย่างที่คุณเคยเป็น คุณอาจจะไม่เคยทุกข์เรื่องอกหักเหมือนเขา คุณอาจจะไม่เคยทุกข์เรื่องตกงาน แต่คุณก็ต้องเคยทุกข์เรื่องอื่น เพราะฉะนั้นผมมองว่า แค่เข้าใจเขา เราก็จะตอบสนองแบบที่เราเป็นมนุษย์คนนึงซึ่งเคยทุกข์เหมือนกันนี่แหละ
Life MATTERs : แล้วอย่างนี้ผิดไหมที่บางคนรู้สึกว่าฉันไม่ไหวแล้ว ฉันเท แล้วเดินออกไปเลย
นายแพทย์ : ถ้าพูดถึงกรณีโรคซึมเศร้า นี่ไม่ใช่แค่โรคที่จิตใจอ่อนแอเนอะ แต่ก่อนเราพยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางจิตใจที่เกิดขึ้นด้วยข้อจำกัดทางทฤษฎีที่มีอยู่ เรารู้ว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีครอบครัวที่ไม่ราบรื่น คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีประสบการณ์ในชีวิตวัยเด็กที่ไม่ดี แต่พอเรามีข้อมูลมากขึ้น เราพบว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น ต่างๆ ที่ว่ามาเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นเอง สารในสมองต่างหากที่มันไม่สมดุล
พอสารในสมองไม่สมดุล มันจึงมีผลกับความคิด อารมณ์ วิธีการใช้ชีวิตของเขา เกิดความรู้สึกว่ามันสิ้นหวัง และความสิ้นหวังนี้เองเป็นหัวใจอย่างนึงเลยนะครับที่ทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าหลายคนฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ฆ่าตัวตายหลายคนเลยนะครับ เขาไม่ได้ทนความเศร้าไม่ไหว แต่ฆ่าตัวตายด้วยความรู้สึกว่า มันไม่มีอะไรให้หวังอีกแล้ว ดังนั้นสิ่งที่เราทิ้งไม่ได้เลยคือจะต้องมีความหวังเสมอ นี่เป็นคีย์เวิร์ดสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ในสิ่งที่เรามองว่ามันแย่ที่สุด มันก็ยังต้องมีความหวังอะไรสักอย่าง นี่เป็นตัวอย่างที่คลาสสิกมาก เช่นคนคนหนึ่งมีหนี้ แล้วชาตินี้ไม่มีวันใช้หมด ในความเป็นจริงมันไม่จบไม่สิ้นก็จริง แต่คุณมีทางเลือกได้ ว่าคุณจะอยู่กับหนี้ไม่จบไม่สิ้นด้วยใจที่เป็นทุกข์มาก หรือจะอยู่กับหนี้อย่างมีความหวังว่า ในแต่ละวันที่คุณใช้ชีวิตมันยังสามารถมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องอดทุกมื้อ หรือแม้กระทั่งเวลาผ่านไประยะหนึ่ง หนี้คุณก็ลดลงแม้มันจะไม่จบ อันนี้ก็เป็นความหวัง
สิ่งที่ทิ้งไม่ได้คือ always hope เพราะฉะนั้นหลักการคือ ถ้าคุณเองที่ต้องดีลกับผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว รู้สึกว่าไม่สามารถให้ความหวังกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือคนใกล้ตัวเราได้อีกแล้ว ก็อาจต้องกลับมาถามตัวเองว่าเราหมดหวังแล้วจริงๆ หรือเปล่า
แต่อย่างที่บอก ความหวังต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงนะครับ ถ้าเขาจนมากแล้วอยากจะเป็นเศรษฐี รวยล้นฟ้า เราก็จะไม่ให้ความหวังว่าสักวันนึงถ้าคุณตั้งใจทำงานคุณจะเป็นบิลเกทได้ แต่เราจะให้ความหวังว่า คุณสามารถมีชีวิตที่ดีกว่านี้ถ้าคุณตั้งใจจริง
สิ่งที่ทิ้งไม่ได้คือ always hope เพราะฉะนั้นหลักการคือ ถ้าคุณเองที่ต้องดีลกับผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว รู้สึกว่าไม่สามารถให้ความหวังกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือคนใกล้ตัวเราได้อีกแล้ว ก็อาจต้องกลับมาถามตัวเองว่าเราหมดหวังแล้วจริงๆ หรือเปล่า หมอเชื่ออย่างหนึ่งว่าเวลาที่เราดูแลผู้ป่วยมันมีทั้งดีและไม่ดี
ถ้าเรามองกลับไปว่าช่วงที่เขาหายจากโรคซึมเศร้าคือเขาก็ทำงานทำการได้ดี มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดีนี่นา ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือเปล่าว่าเรายังไม่ควรละทิ้งความหวังตรงนั้นไป จริงๆ หมออยากให้ใช้กับโรคจิตเวชทุกอย่าง ไม่ใช่แค่โรคซึมเศร้านะครับ โรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ โรคย้ำคิดย้ำทำ ทุกวันนี้เราพบว่ามีวิธีการมากมายถ้าเราไม่หมดหวังซะก่อน แล้วดำเนินการไปอย่างถูกวิธี หมอเชื่อว่าทุกคนดีขึ้นทั้งนั้น เพียงแต่จะดีไปถึงระดับไหนเท่านั้นเอง
Life MATTERs : สำหรับความป่วยทางจิตเวช มีคนที่กลับมาได้แบบเต็มตัวเลยหรือเปล่า
นายแพทย์ : มีเยอะครับ หลายๆ คนที่กลับมาได้เต็มตัว ก็มีปัจจัยที่สนับสนุนทั้งจากตัวเขาเองและจากคนรอบข้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือมันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เกิดเป็นครั้งคราว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติคุณรู้สึกว่าคุณหมดไฟ หมดแรงจูงใจในการทำงานแล้วคุณเป็นโรคซึมเศร้า แต่ถ้าคุณสามารถสร้างแรงจูงใจ หรือสร้างกำลังใจให้ตัวเองขึ้นมา แล้วคุณทำมันทุกวันๆ อันนี้จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้หายและในระยะยาวจะไม่กลับมาเป็นซ้ำ
แต่ถ้าคุณฮึดเป็นพักๆ วันนี้คุณตั้งใจแล้ว เอาจริงแล้ว แล้วคุณก็แผ่วไปอีกระยะหนึ่ง แล้วก็ตั้งใจขึ้นมาใหม่ อันนี้นี่เองที่หมอมองว่าทำให้หลายคนไปไม่ถึงเป้าเพราะขาดความสม่ำเสมอ อันนี้หมอพูดถึงปัจจัยอื่นๆ ในการรักษาด้วยนะ เพราะเราก็ต้องยอมรับความสม่ำเสมอในการใช้ยาก็ส่งผล เพราะสารในสมองก็ต้องใช้ยาช่วยในการรักษาด้วย
ความสม่ำเสมอในการจัดการกับความเครียดอันนี้ก็สำคัญ หลายคนอยากจะหายจากโรคซึมเศร้า หรือโรคจิตเวชที่เป็น แต่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความเครียดรอบตัวได้เลย จะมียาดียังไง จะมีแหล่งสนับสนุนรอบข้างดียังไง มันก็ไปไม่ถึงเป้าหมายอยู่ดี
Life MATTERs : คำว่า ‘ปล่อยวาง’ พอจะเป็นคีย์เวิร์ดที่นำมาใช้ได้ไหม
นายแพทย์ : เป็นคำที่ดีครับ ทุกวันนี้วงการจิตแพทย์เราเชื่อในเรื่องการรักษาแบบองค์รวม ไม่ว่าการรักษาของสคูลไหนก็แล้วแต่ที่เกิดประโยชน์ คนไข้ต้องการ และเมื่อคนไข้รักษาด้วยวิธีการแล้วมันเกิดประโยชน์เราก็สนับสนุนให้ทำ จริงๆ การปล่อยวางมันอยู่ในหลักของทุกศาสนาอยู่แล้วนะครับ
อันนี้คนไข้หลายๆ คนมาบอกกับจิตแพทย์ด้วยซ้ำไปว่า พอเขามาลองค้นคว้าจากที่การจิตแพทย์เป็นกระจกสะท้อนให้แล้ว เขาก็ได้ไปเจอว่าสิ่งที่เหมาะสมกับชีวิตเขามากที่สุดก็คือหลักศาสนา
เขาสามารถเข้าใจการปล่อยวางโดยที่เราไม่จำเป็นต้องชี้นำ พอเขาได้ลองทำด้วยตัวเอง ก็พบว่าการปล่อยวางมันเวิร์กกับเขาจริงๆ ตรงนี้หมอมองว่าทุกเทคนิคมันได้หมด จะหลักการศาสนาหรือหลักอะไรก็แล้วแต่ ขอให้มันได้ใช้แล้วเจ้าตัวรู้สึกว่ามันเกิดประโยชน์และไม่ยากลำบากจนเกินไปก็พอ
Life MATTERs : แบบนี้ แม้กระทั่งไลฟ์โค้ชก็ตาม ต่อให้คุณเรียกเงินแพงแค่ไหน แต่ถ้าคนแฮปปี้กับการไปอยู่กับคุณก็ไม่ผิด?
นายแพทย์ : ย้อนกลับไปจุดเดิม ทุกๆ การดูแลบำบัดมีข้อจำกัดของมันครับ คำถามคือทุกๆ การรักษาที่เราให้ไป เราคำนึงถึงข้อจำกัดว่าครบถ้วนดีพร้อมหรือยัง อย่างหลายๆ คนที่ไม่สามารถเข้าถึงศาสนาได้ จะพูดว่าศาสนามัน abstract มันเป็นนามธรรม การปล่อยวางมันยากจัง แต่คนที่เข้าถึงได้ก็จะบอกว่าการปล่อยวางนี่แหละ เป็นหลักการสำคัญที่ทำให้คนเข้าถึงได้
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการบำบัดใดก็แล้วแต่ ถ้าคนที่เข้าไปทำการบำบัดนั้นเข้าใจข้อจำกัดของตัวเอง และเข้าใจข้อจำกัดของการบำบัดหรือ intervention นั้นๆ ผมว่าคุณก็คงเลือกอะไรที่เหมาะกับชีวิตคุณได้
Life MATTERs : เมื่อรับฟังปัญหามากๆ ส่วนตัวของจิตแพทย์เอง มีการดูแลสุขภาพจิตของตัวเองอย่างไร
นายแพทย์ : อันนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่สามารถมีสุขภาพจิตที่ดี มันก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำให้คนอื่นมีสุขภาพจิตที่ดี ถ้าตัวเราเองยังสะท้อนตัวเองได้แบบเบี้ยวๆ เราจะเป็นกระจกสะท้อนที่บิดเบี้ยว
มีสิ่งหนึ่งในวงการจิตเวชที่เรากระทำกันอยู่ทุกวันนี้ คือจิตแพทย์เองก็มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า reviewer ให้ตัวเราด้วย อาจจะเป็นอาจารย์จิตแพทย์อีกทีหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเป็นเพื่อนจิตแพทย์ด้วยกัน เพราะจิตแพทย์ก็มีข้อจำกัดตรงที่เราเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราก็มีอารมณ์ ความรู้สึก แต่เราจะรู้ข้อจำกัดของตัวเอง
เช่น จิตแพทย์บางคนมีข้อจำกัดในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยบางประเภท เราก็จะคอยเฝ้าระวังโดยการพูดคุยกับอาจารย์จิตแพทย์ หรือพูดคุยกับจิตแพทย์ด้วยกันเองอย่างที่บอกไป แล้วถ้าเรารู้ข้อจำกัดของเรา เราก็จะส่งต่อผู้ป่วยในกรณีแบบนี้ที่เราดูแลไม่ง่ายนัก หรืออาจจะมีความคับข้องใจให้กับจิตแพทย์ท่านอื่น หรือปรึกษาจิตแพทย์ท่านอื่นได้
พูดง่ายๆ คือสมดุลที่ดีของเราก็จะช่วยให้คนไข้สร้างสมดุลที่ดีของเขาได้เหมือนกันนะครับ
Life MATTERs : ยากไหม ในการรักษาสมดุลที่ดีให้ตัวเอง
นายแพทย์ : มันไม่ใช่เรื่องของความยากง่ายนะครับ มันเป็นเรื่องของการทำแล้วสามารถเห็นผล หรือสามารถที่จะติดตามสิ่งที่เราให้ไป อย่างคำแนะนำ หรือการรักษา มันส่งผลอย่างไรต่อคนไข้ของเรา ผลตรงนั้นแหละครับ ที่จะทำให้เรารู้สึกว่า การจัดการหรือการดูแลผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกอยากจะทำทุกวัน
Life MATTERs : แปลว่าโดยพื้นฐานต้องเป็นคนที่คิดเผื่อคนอื่นประมาณนึงไหม
นายแพทย์ : เรียกว่าเป็นคนที่สนใจเรื่องคนอื่นก็ได้นะครับ (หัวเราะ) แต่ต้องเป็นคนที่สนใจแบบมีเป้าหมายและมีหลักทางวิชาการรองรับ อันนี้ผมย้ำนะครับ เราอาจจะไม่ปฏิบัติเหมือนกับเพื่อน พ่อแม่ หรือสามีภรรยาของเขา ซึ่งก่อนที่จะเปิดประตูมาห้องจิตแพทย์ ส่วนใหญ่เขาได้คุยกับคนเหล่านั้นแล้ว แต่ไม่ได้คำตอบ ดังนั้นเราต้องทำอะไรในแบบที่ต่างออกไป ไม่ใช่อะไรที่เหนือกว่านะครับ แต่เราอาจจะต้องชี้ให้เห็นมุมที่คนรอบตัวเขายังไม่เห็น หรือเราเองต้องเป็นกระจกสะท้อนที่ตรงที่สุด ที่ชัดที่สุดในตัวตนคนไข้ เขาจะได้ไปต่อได้
Life MATTERs : คุณหมอจำคนไข้ที่มาคุยด้วยได้ทุกคนไหม
นายแพทย์ : เกือบหมดนะครับ ผมอาจจะจำชื่อไม่ได้ แต่ผมจะจำเรื่องราว ประวัติ หรือถ้าคนไข้เตือนความจำว่าเคยมาด้วยปัญหาแบบนี้ ก็พอจะจำได้
Life MATTERs : คนไข้ที่มีประเด็นละเอียดอ่อนร่วมด้วย อย่างเรื่องเพศสภาพ เรื่องปมต่างๆ ในวัยเด็ก หรือซินโดรมต่างๆ ทำให้งานยากขึ้นไหม
นายแพทย์ : ต้องย้อนกลับไปที่เรื่องของเจเนอเรชั่นที่พูดไว้เมื่อกี้ คือคนเจนวายกับเจนแซด นอกจากอิสระทางความคิด การทำงานแล้ว เขาก็มีอิสระในเรื่องของเพศสภาพ สิ่งที่พบในเจเนอเรชั่นหลังๆ คือเรื่องปัญหาความหลากหลายทางเพศสภาพ จิตแพทย์จะต้องมี open mind และไม่ตัดสิน
ทีนี้ในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสภาพครับที่ต้องเปิดกว้าง หลายๆ ครั้ง คนไข้มาด้วยพฤติกรรมที่ไม่น่ารักบางอย่าง มาด้วยพฤติกรรมที่คนรอบข้างค่อนข้างเอือมระอา แต่นั่นคือความเจ็บป่วยของเขา ถ้าเราไปตัดสินเขา หรือเรามีทัศนคติที่คับแคบ เขาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และปัญหามันก็ยังคงอยู่
ถ้ามองว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องของความเจ็บป่วย หรือมองว่าเป็นปัญหาที่เจ้าตัวเองก็จัดการไม่ได้ เราจะไม่เอามาเป็นเรื่องส่วนตัวนะครับ ที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องหาต่างหาก ว่าพฤติกรรมไม่น่ารักที่คนไข้ทำกับญาติ ทำกับคนรอบข้างเขา มีสาเหตุมาจากอะไร ถ้าเราตั้งคำถามได้ถูกว่าพฤติกรรมนี้มาจากไหน เราก็จะสามารถหาคำตอบและช่วยเขาได้ แต่ถ้าเรามาตั้งโจทย์ว่าพฤติกรรมที่ไม่น่ารักนี้ คนรอบข้างเขารู้สึกแย่ และจิตแพทย์รู้สึกแย่ด้วย ก็จะไปกันไม่ถึงไหนครับ เราก็จะพายเรือในอ่าง
Life MATTERs : คุณหมอเองในฐานะจิตแพทย์เคยกลัวที่จะดีลกับผู้ป่วยตัวเองไหม
นายแพทย์ : ที่บอกไปแหละครับ จิตแพทย์ก็เป็นมนุษย์ ก็มีประเด็นที่เราอาจจะจัดการได้ยากง่าย ไม่ต่างจากคนอื่น จิตแพทย์แต่ละคนอาจจะมีประเด็นที่ไม่เชียวชาญ หรือเป็นประเด็นที่อาจจะมีการจัดการที่ยากลำบากเหมือนกัน บางคนอาจกลัวคนไข้บางประเภท เช่น คนไข้ที่มีลักษณะก้าวร้าวมากๆ
เพราะฉะนั้นถ้าถามหมอก็คงมีบ้างแหละครับ แต่ที่สำคัญคือเมื่อเกิดอารมณ์กลัวแล้วเราจัดการมันยังไงมากกว่า หรือเมื่อเกิดอารมณ์กลัวแล้ว เราทบทวนตัวเองว่ามันเกิดจากอะไร แล้วเราเข้าใจตัวเองไหม
จริงๆ เราอยู่บนพื้นฐานของการใช้ชีวิตแบบ socratic question คือการตั้งคำถามว่า why เพราะอะไรเราถึงกลัว เรากลัวเพราะคนไข้ก้าวร้าว แล้วเพราะอะไรคนไข้ถึงก้าวร้าว ก็เพราะคนไข้มีอากรทางจิต เพราะอะไรคนไข้ถึงมีอาการทางจิต เพราะเขารักษาไม่ต่อเนื่อง คือหลายๆ ครั้งความกลัวของมนุษย์เกิดจากเราไม่รู้ ถ้าเราใช้ socratic question เพราะอะไรล่ะ เพราะอะไรล่ะ บางทีมันก็ถึงจุดที่ตอบตัวเองได้ ความกลัวมันก็หายไปหรือไม่ก็น้อยลง
Life MATTERs : ความรื่นรมย์ในการประกอบอาชีพจิตแพทย์คืออะไร
นายแพทย์ : มันต้องมีความรื่นรมย์ในทุกวิชาชีพนะ ถ้าสถาปนิกไม่มีความรู้สึกตื่นเต้นที่ภาพมโนในหัวออกมาเป็นของจริง ถ้าคุณครูไม่มีความตื่นเต้นที่เห็นว่าเด็กมีพัฒนาการยังไง ก็คงจะประกอบอาชีพด้วยความแห้งแล้ง
จิตแพทย์เอง ถ้าไม่มีความสนใจว่าเรื่องราวหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไข้ว่าเป็นยังไง และอะไรทำให้เขาเป็นแบบนั้น ก็คงอาจจะทำได้นะครับ ด้วยหลักการหรือความรู้เราอาจสามารถใช้ทฤษฎีความรู้บอกว่าคุณเป็นโรคอะไร หรือถามอย่างเป็น robot ได้ แต่มันก็คงเป็นการประกอบอาชีพหรือการใช้ชีวิตที่มันแห้งแล้ง หมอคิดอย่างนั้นนะ
Photos by Adidet Chaiwattanakul