ช่วงนี้ความเครียดจากสถานการณ์ COVID-19 ระบาด คนจะค้าจะขายก็ไม่ได้ เครียดกันไปทั่ว บางคนเป็นวิตกกังวลซึมเศร้าถึงขั้นเป็นโรค แต่อยู่ต่างจังหวัด จิตแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาไม่ค่อยมีให้บริการจนต้องเข้าไปในเมืองใหญ่ แถมบางทีต้องรอคิวนานเพราะแพทย์มีน้อย ทำไมจิตแพทย์ในไทยทุกวันนี้กลับไม่เพียงพอหกับจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้น
เป็นเรื่องที่พอจะรู้กันว่าประเทศไทยหลังๆ มานี้ มีสถิติคนฆ่าตัวตายมากขึ้นทุกๆ ปี และมีการเข้าพบจิตแพทย์มากขึ้นโดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาทางสังคม จากข้อมูลสถิตกรมสุขภาพจิตประจำปี พ.ศ.2562 (รายงานล่าสุด) ได้รายงานอัตราการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 6.64 ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน สูงที่สุดในรอบ 14 ปีผ่านมา และสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนช่วงอายุที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดปี พ.ศ.2562 คือกลุ่มคนอายุ 30-39 ปีหรือวัยทำงานนั่นเอง
โรคซึมเศร้าคือโรคที่มีคนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แม้ในประเทศไทยหลายคนอาจจะยังคงมองว่าเป็นโรคที่ไม่ได้สำคัญอะไร แต่ช่วงหลังๆ มานี้ มีข่าวการฆ่าตัวตายมากขึ้น ความเครียดจากปัญหาสังคมมากมายถาโถมทำให้บทบาทของจิตแพทย์เด่นชัด โดยปัจจุบันจำนวนจิตแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับวิทยาลัยจิตแพทย์มีทั้งสิ้น 1,047 คน
แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกปี จำนวนจิตแพทย์ตอนนี้อาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งการผลิตแพทย์ได้จำนวนน้อยเป็นหนึ่งในปัญหาของการขาดแคลนแพทย์ และก็ไม่ใช่แค่สาขาจิตเวชสาขาเดียว ยังมีแพทย์อีกหลายสาขาที่ยังขาดแคลนบุคลากรอยู่ในปัจจุบัน
Young MATTER ไปคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการแสดงความคิดเห็นต่อวงการอาชีพจิตแพทย์กับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมที่ส่งผลต่อการเป็นผู้ช่วยการใช้ชีวิตของผู้คน
สาเหตุของการไม่เพียงพอ เกิดจากอะไร วิชาเรียนยากเกินไปไหม คนส่วนใหญ่จึงไม่เลือกมาเรียนหรือเปล่า
ถ้าเป็นแพทย์ทั่วไป ปัญหาอาจจะไม่ใช่จำนวนแต่เป็นการกระจายตัวในจังหวัดต่างๆ แต่ถ้าเป็นสาขาย่อย สาขาขาดแคลนมีคนเรียนน้อย ก็จะมีปัญหาทั้งจำนวนและการกระจายตัวไปสู่ภูมิภาค จะเป็นจิตแพทย์ที่เป็นสาขาเฉพาะทางของอาชีพแพทย์ ต้องเรียนจบแพทย์ 6 ปี ก่อนแล้วเลือกมาต่อทางด้านจิตเวช อบรมเพิ่มความชำนาญเฉพาะโรคทางจิตเวช การรักษาด้วยยาและจิตบำบัด ส่วนใน 6 ปีนั้นไม่ใช้วิชาหลัก แต่เป็นวิชารองเท่านั้น
“หมอคนหนึ่งต้องเรียนเน้นไปทางอายุรกรรม คือการรักษาโรคทั่วๆ ไป หัวใจตับปอด และก็เน้นไปทางศัลยกรรม ผ่าตัด หรือเน้นไปทางการแก้ปัญหาฉุกเฉิน ประสบอุบัติเหตุมา เย็บแผล และเรื่องของการทำคลอด การดูแลเด็ก โรคติดต่อ วิชาพวกนี้หน่วยกิตเยอะ เรียกว่าเป็นสาขา major ส่วนจิตเวชเป็นสาขา minor ไม่ได้เน้นหรือออกสอบมาก ซึ่งผมคิดว่าถูกต้องแล้วในแง่การจบมาเพื่อทำงานเป็นแพทย์ทั่วไป ดังนั้นน้องๆ หมอเขาจบมารุ่นนึง ก็เลือกเรียนต่อสาขาหลักๆ เป็นส่วนใหญ่ เรียนต่อจิตเวชกันน้อยหน่อย”
เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงทำงานจริง หมอก็จะทำงานเป็นแพทย์ทั่วไปก่อน แต่ละโรงพยาบาล(ภาครัฐ)จะให้ทุนส่งให้กลับมาเรียนเฉพาะทางแต่ละด้าน คือ ทำสัญญาว่าเมื่อเรียนเฉพาะทางจบต้องกลับมาทำงานให้ที่โรงพยาบาลนี้ เวลาสองเท่าหรือสามเท่าก็ว่าไป เรียนสามปี ทำงานห้ามลาออกไปไหนหกปี ไม่งั้นก็ต้องจ่ายเงินชดเชยกี่บาทๆ ก็ว่าไป
“ทางผมซึ่งเป็นสถาบันฝึกอบรมจะรับใครมาเรียนก็ต้องทำตามกฎของแพทยสภา คือเขาขอให้พิจารณาผู้รับทุนจากโรงพยาบาลของรัฐมาเรียนก่อน นัยว่าเพราะตามความจำเป็นของท้องที่ ใครที่ไม่มีต้นสังกัดให้พิจารณาหลังๆ มันก็วุ่นๆ นิดนึงตรงเด็กจบใหม่อยากเรียนอะไรก็ต้องมองหาสถานที่ปฏิบัติงานที่จะให้ทุน”
จากแนวคิดจึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจช่วยควบคุมการกระจายตัว เพราะถ้าโรงพยาบาลไหนมีหมอสาขานั้นเยอะแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ทุนสาขานั้น โรงพยาบาลจังหวัดไหนยังไม่มีจิตแพทย์ ก็อาจจะเปิดทุนให้หมอไปเรียนเพื่อกลับมาทำงานให้ แต่ระบบนี้พอหมอเรียนจบเฉพาะทาง กลับไปทำงาน อาจจะไม่ลงตัวกับสถานที่กับรูปแบบงาน ก็ขอลาออก ยอมจ่ายเงินชดเชยกันไปอยู่ดี หรือต่อให้บางโรงพยาบาลเปิดตำแหน่งอาจจะไม่มีหมอไปสมัคร
“ส่วนเรื่องสาขานี้เรียนยากไหม ก็คงไม่ เป็นที่รู้กันสมัยเรียนว่า อาจารย์สาขาจิตเวชมักจะใจดีนะครับ ไม่ได้ออกข้อสอบยาก ส่วนตอนเรียนเฉพาะในเชิงรูปแบบงานไม่ได้หนัก ความยากของวิชาการเทียบแล้วก็ไม่ได้ท่องจำหนักหนานักเมื่อเทียบกับสาขาอื่น แต่ถ้าใจไม่ได้รักทางนี้ ฝืนๆ เรียนคงลำบากใจ”
ด้านสถิติและจำนวนประชากร หากเทียบหลักสากลแล้ว ตามองค์การอนามัยโลกประเมินเป็น จำนวนจิตแพทย์ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ในประเทศพัฒนาแล้ว อาจจะมีจิตแพทย์ประมาณ 10 ต่อหนึ่งแสนคนหรือ 6 ต่อหนึ่งแสนคน แต่สำหรับประเทศไทยนั้น หากลองเทียบจำนวนประชากรกับจำนวนหมอที่มีอยู่ตอนนี้ จิตแพทย์มีประมาณ 1000 คนนิดๆ เทียบกับประชากร 60 ล้านคน แน่นอนว่ามันไปไม่ถึงแน่ๆ แต่ก็ยังอยู่ในมาตรฐานที่ไม่แย่ในระดับโลก แต่ก็อาจดีกว่านี้ถ้ามีการผลิตเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในด้านการปฎิบัติงานให้บริการ
การที่จะผลิตให้จิตแพทย์เพิ่มจำนวนนั้นยังคงถือเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ช้า เพราะต้องใช้เวลาเทรนจิตแพทย์ทั่วไปสามปี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นสี่ปี ปกติในหนึ่งปีจะมีจิตแพทย์ที่เรียนจบมาเพิ่ม 20-30 คนเท่านั้น ปัจจุบันก็มีแพทย์จบใหม่หันมาสนใจเรียนจิตเวชพอสมควร แต่เรื่องของคุณภาพของบุคลากรที่จะจบออกไป จะอิงจากระบบมาตรฐานของ Basic Medication World Federation for Medical Education (WFME) ซึ่งเป็น Global Standards หรือ เกณฑ์มาตรฐานในการคัดเลือกผู้เรียน ว่าที่สมัครมาคุณสมบัติผ่านไหม แถมตัวสถาบันฝึกอบรมจะเปิดโควตาเรียนเพิ่มไหม
ในคลาส จะรับจำนวนนักเรียนมาเรียนประมาณ 10-20 คนไม่ได้เพราะต้องควบคุมคุณภาพ หลักสูตร จำนวนอาจารย์ต่อคนเรียน จำนวนคนไข้ จำนวนกิจกรรมอบรม ที่ได้กำหนดไว้แล้ว เลยส่งผลให้ผลิตได้น้อย หรือจะเปิดสถาบันที่จะพร้อมเทรนเพิ่มก็ยาก แถมระหว่างแพทย์รุ่นใหม่จบมาเพิ่ม แพทย์รุ่นอาวุโสก็เกษียณไปบ้าง หรือขึ้นไปทำงานบริหารไม่ได้ออกตรวจ จำนวนจึงไม่ค่อยเพิ่มขึ้น
ปัญหาด้านการกระจุกตัวของแพทย์ในเมืองหลวง ความขาดแคลนบุคลากรแพทย์และการบริการในต่างจังหวัด
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ ในแต่ละภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น มีความสะดวกสบายในทุกด้าน รวมไปถึงการได้รับบริการสวัสดิการต่างๆ อย่างทั่วถึง หลายคนอาจจะเคยเจอกันบ้างกับการต้องรอคิวนานๆ ตามโรงพยาบาล โรงพยาบาลไม่สามารถรับเคสนี้ได้ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมกว่า หรือแม้กระทั่งแพทย์เฉพาะทางบางแผนกก็ยังไม่มีในบางโรงพยาบาลนั้น จิตแพทย์เป็นอีกสาขาหนึ่งทางการแพทย์ที่ขาดแคลนในบางจังหวัด
อาจารย์ภุชงค์ชวนดูว่า ถ้าคิดดีๆ ก็ต้องเห็นใจทั้งสองด้าน
หากมองฝั่งคนไข้ ในจังหวัดทุรกันดารหรือห่างไกลความเจริญ ไม่ต้องคุยเรื่องมีจิตแพทย์อย่างเดียว เพราะไม่ว่าหมอสาขาใดหรือไม่ว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือทรัพยากรอะไรก็ตาม มันกลายเป็นว่าต้องเข้าไปเมืองใหญ่ เพื่อจะแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า มันคือการดิ้นรนประมาณหนึ่ง บางทีไม่ใช่ว่าจังหวัดของเขาไม่มีนะ แต่ว่าคนไข้อาจจะไม่ไว้ใจ อย่างเช่น สมมติอยู่ในภาคอีสาน ก็ไปที่ขอนแก่นกันเลยดีกว่า เพราะเค้ารู้สึกว่าที่นั่นมีหมอดัง หรือเข้ากรุงเทพฯ มาเลยดีกว่า เพราะรู้สึกกรุงเทพฯ น่าจะเก่งกว่า ก็เข้าศูนย์กลางกันเยอะ ปริมาณงานที่ศูนย์กลางเลยเยอะ ก็เข้าใจได้
แต่หากมองในมุมมองจากฝั่งวงการแพทย์แล้ว ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ว่าจังหวัดไหนมีตำแหน่งอะไรยังไงบ้าง แต่การมีตำแหน่งตรงนั้น ต้องขึ้นกับว่ามีคนมารับตำแหน่งไหม มีคนสนใจเอาทุนของจังหวัดไปเรียนหรือเปล่า หรือต่อให้เอาทุนของจังหวัดนั้นไปเรียน พอกลับบ้านไปทำงาน งานมันน่าทำอยู่ไหมก็ส่วนนึง เพราะหมอเองก็มีชีวิตจิตใจของ เขาจะชอบอยู่ตรงจังหวัดนั้นไหม หรืออยู่ตรงนั้นแล้วกดดันไหม พี่ๆ หรือเพื่อนร่วมงานโอเคหรือเปล่า หากเขารู้สึกว่าอยู่แล้วไม่มีความสุข ก็ต้องลาออก เขาก็ควรมีสิทธิ์นั้น เพราะเป็นชีวิตของเขา ไม่ใช่ว่าต้องเขาเสียสละกันอย่างเดียว
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจากบทสนทนากับอาจารย์ภุชงค์คือเรื่องของสวัสดิการและโครงสร้างทางสังคมที่เกิดขึ้นทั้งกับคนไข้และแพทย์
ในมุมของบุคลากรแพทย์นั้น การกระจายตัวไปต่างจังหวัดขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่าต้องการไปอยู่ที่นั่นไหม หลายคนเลือกที่จะมาทำงานที่กรุงเทพเพราะสะดวกสบายกว่า มีโรงเรียนดีๆให้ลูกได้เรียน ถ้าความเจริญกระจายตัวหรือตัวเมืองน่าอยู่ คนก็อยากอยู่ อย่างตอนนี้คนจะกลับไปทำงานต่างจังหวัดกันไหม ผมว่าก็มีมากขึ้น เพราะเริ่มเห็นปัญหาของเมืองหลวง เริ่มเห็นปัญหารถติด เริ่มเห็นปัญหาความวุ่นวาย หรืออยู่ กทม.ไม่มีอาชีพ ฯลฯ มันไม่ใช่แค่จิตแพทย์อาชีพเดียว ทุกอาชีพแหละมันเป็นมองให้กว้างในเชิงโครงสร้างทางสังคม
นอกจากนี้ หากโรงพยาบาลมีจิตแพทย์คนเดียว การแบกรับภาระก็จะหนักหนาพอสมควร ทำงานเยอะไปหมด ถึงจุดหนึ่งที่เครียด หมดไฟ ไม่ไหวแล้วก็อาจจะต้องถอดใจลาออก ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับแรงจูงใจจากภาครัฐด้วย ถ้าทำโรงพยาบาลเอกชนคุณอาจจะได้เงินเดือนมากกว่าเดิม 2 เท่า งานเบากว่า เครียดน้อยกว่า เงินดีกว่า ใครเลือกเส้นทางไหนก็ควรลงตัวกับตัวเอง บางทีเราด่วนตัดสินคนว่าเขามีอุดมการณ์ไหม เขาใจดีมีเมตตาเสียสละหรือเปล่า ทั้งที่ปัญหาเชิงโครงสร้างมันต้องแก้ด้วย
ถ้าอยากให้การกระจายตัวดีขึ้น ทรัพยากรกับงบประมาณก็ต้องสนับสนุน งานมันน่าทำหรือไม่ สามารถคุยตกลงกันได้หรือเปล่า มีค่าใช้จ่าย มีเงินเดือนที่ดีพอ มีอะไรที่จูงใจพอ ทำงานแล้วรู้สึกมีคุณค่า ไม่ได้ยัดเยียดงานไร้สาระให้ แน่นอนว่าก็อาจจะมีคนอยากทำมากขึ้น ถ้าหากตำแหน่งงานในกรุงเทพฯ อิ่มตัวเมื่อไหร่ คนก็คงจะเริ่มกระจายตัวไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ในความเป็นจริงคนเหล่านั้นมีพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัดอยู่มาก แต่อาจจะเลือกมาอยู่กรุงเทพฯ เพราะได้รับความสะดวกสบายที่ดีกว่า แต่ก็ไม่แน่ว่า หากอยู่กรุงเทพฯ แล้วเกิดปัญหาเชิงสภาพแวดล้อมทางสังคม ก็อาจจะเริ่มถอนตัวไปยังต่างจังหวัดมากขึ้นก็ได้
สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยในปัจจุบัน
ด้านปัญหาสุขภาพจิต คงต้องแยกให้ออกก่อนว่าอันไหนเป็นโรคที่ป่วยแล้วต้องเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง อันไหนเป็นปัญหาชีวิตที่ต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง ทั้งเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม
ประเภทแรกคือความป่วยการเป็นโรคทางจิตซึ่งในปัจจุบันนิยามว่า ‘สมองทำงานผิดปกติ’ ต้องเข้ารับการรักษาและการบำบัด เช่น จิตเภท ไบโพลาร์ ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล เป็นอาการที่ไม่ใช่เรื่องปกติ หรือเกิดจากโรคจากยาเสพติด ยาบ้า โคเคน สำหรับผู้สูงอายุก็จะมีโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ที่จะต้องเข้ารับการรักษา อีกกรณีหนึ่งคือแทรกซ้อนอยู่ในโรคอื่นๆ เช่น คนไข้เพิ่งคลอดลูก มีอาการซึมเศร้า หรือคนไข้เป็นมะเร็งแล้วเกิดอาการวิตกกังวล เป็นต้น เป็นผลกระทบทางด้านจิตใจ ทำให้เสียสุขภาพจิต
ส่วนอีกประเภทคือเกิดปฏิกิริยาจากสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาทางสังคม ครอบครัว ปัญหาการใช้ชีวิต เช่น ช่วง COVID-19 ระบาด ตกงาน ไม่มีรายได้ เศรษฐกิจแย่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพนิก วิตกกังวล กลัวว่าจะติดไหม ถ้าออกไปจะเสี่ยงติดเชื้อไหม จะยังขายของได้ไหม ไม่มีรายได้จุนเจือครอบครัวเลยทำไงดี ในประเภทที่ 2 นี้คาดว่าน่าจะมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นอาการที่สามารถเป็นได้ตลอดเวลาแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้เช่นกัน
หรืออีกเรื่องในช่วงนี้อาจจะพบบ่อยในเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาเรื่องการเรียนที่ในระบบการศึกษาไม่ได้สร้างคุณค่าให้กับตัวผู้เรียน ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการอยากเรียน รู้สึกไม่อยากเรียนหรือว่าวิธีการเลี้ยงดูของครอบครัวที่กดดัน ทำให้คนรุ่นหลังๆ ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว รู้สึกไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร เลยเลือกจบชีวิต ปัญหาชีวิตลักษณะนี้ ก็มีเข้ามารับการรักษาอยู่บ้าง แบบนี้จะขึ้นๆ ลงๆ ตามปัญหาสังคม
ในการเข้าพบแพทย์นั้นหากว่าด้วยปัญหาการรอคิวนานหรือการจ่ายยาไม่ถูกต้องตามอาการของคนไข้ อาจารย์กล่าวว่า “มองจากวงการแพทย์ว่าหมอเขาได้สั่งยาตรงกับอาการหรือเปล่า บางทีก็ตรงนะครับ ตรงตามตำรา ได้ผลไหมหรือมันติดขัดตรงไหนมันก็ต้องไปดูกันอีกที อย่างเราจ่ายยาแก้วิตกกังวลไป คนไข้ชีวิตยังเคลียร์อะไรไม่ได้ ยังโดนคนโน้นด่า คนนี้ด่า ก็ไม่อาจหายได้ครับ หรืออยากจะปรับการนอน เอายานอนหลับไป แต่ก็ยังเล่นมือถือ นั่งดูซีรีส์ก็คงไม่หาย ผมคิดว่าก็ต้องมีการปฏิบัติตัวร่วมๆ ไปด้วย จะหวังว่ากินยาแล้วทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่ซะทีเดียว”
ส่วนเรื่องการให้บริการต้องมองที่ผู้มารับการบริการมีเยอะหรือไม่ โรงพยาบาลรับเคสเยอะไปหรือเปล่า แต่ถ้ารับเคสน้อยไปมันก็เกิด waiting list นาน บางเคสคุยหรือให้คำปรึกษา 15 นาทีก็จบ บางเคสเกิดปัญหาอยากฆ่าตัวตายก็ต้องมากกว่า 15 นาทีแน่นอน มันก็ต้องพิจารณากันไป
สุดท้ายแล้ว ความขาดแคลนที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากสวัสดิการที่ไม่ดึงดูดผู้คนให้มาเรียนหรืออยากทำอาชีพนี้มากพอ เพราะต้องคอยเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าหากไปอยู่ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ขาดแคลนบุคลากร จะต้องแบกรับภาระอื่นๆ นอกเหนือจากหน้าที่หรือไม่ และรายได้จะพอจุนเจือครอบครัวหรือเปล่า ทำงานไปแล้วจะมีความสุขไหม หลายๆ ปัจจัยยังคงเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข และจะดีกว่าหากเราสามารถปรับโครงสร้างทางสังคมให้น่าอยู่เพื่อลดจำนวนคนไข้ และปรับการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกมุมเมืองของสังคมและเพื่อการเข้าถึงการบริการที่เท่าเทียม
อ้างอิงจาก