ในเวลาสองปีที่ผ่านมา โต๊ส—นักรบ มูลมานัส ถือเป็นศิลปินคอลลาจที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่ง ในฐานะอดีตแฟนพันธุ์แท้คนรักวัง ที่หลงรักศิลปะจนหยิบเอาความไทยและความเทศมาผสมกันอย่างกลมกล่อม อย่างที่เขาเคยบอกเล่าบนเวที TEDx Bangkok 2016 ในหัวข้อ “ใดใดในโลกล้วนคอลลาจ”
ผลงานลายเซ็นชัดของเขาได้ไปปรากฏตัวในหลายพื้นที่ เช่นบนปกหนังสือ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา’ ของนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรท์ วีรพร นิติประภา รวมถึงภาพตกแต่งขนาดยักษ์ในบูธสำนักพิมพ์มติชนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นงานของนักรบเช่นกัน
นอกจากนี้เขายังทำงานร่วมกับศิลปะแขนงอื่นอีกหลายชิ้น และด้วยความปัง ทำให้นักรบมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่ Hubba-to ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และเร็วๆ นี้เขาก็กำลังจะมีงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ ‘Sacrifice’ เป็นการจัดแสดงผลงานเดี่ยว ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 30 มิถุนายนเป็นต้นไป
นักรบแอบแย้มว่านี่คือความท้าทายครั้งใหม่ ที่จะทำให้งานคอลลาจของเขาก้าวไปไกลอีกขั้นหนึ่ง ด้วยวิธีการเสพที่อาจจะต้องเห็นด้วยตาถึงจะซาบซึ้งกว่าเพียงแค่มองผ่านอินเทอร์เน็ต และแนวคิดของเขาก็เป็นเรื่องที่ทำให้เราประหลาดใจได้เสมอ
Life MATTERs : งานคอลลาจสำคัญต่อคุณอย่างไร
นักรบ : ก่อนหน้านี้งานคอลลาจมันคืองานอดิเรกที่ช่วยเยียวยาเรา และในแง่หนึ่งมันคือการใช้ความรุนแรง ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่แค่ศิลปะ แต่งานอดิเรกอื่นๆ ก็ตามอย่างการทำอาหาร การเขียนหนังสือ หรือการเดินเล่น การวิ่ง มันก็เป็นการใช้รุนแรงทั้งหมด เพียงแต่เราปลดปล่อยความรุนแรงออกมาเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ อย่างการทำคอลลาจของเรามันก็มีขั้นตอนที่ต้องฉีก ทึ้ง ตัด เหมือนเราพรากสิ่งที่มันควรอยู่ด้วยกันออกจากกัน ให้ไปอยู่กับอย่างอื่น นั่นคือความรุนแรงในความหมายของเรา
Life MATTERs : อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณอยากปลดปล่อยพลังรุนแรงออกมา
นักรบ : อาจจะเป็นกรอบที่ล้อมรอบตัวเราอยู่เต็มไปหมด อย่างตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่มักจะบอกเราว่า หนู แบบนี้ไม่ได้ลูก เวลาจะใส่เสื้อตัวนี้ก็ต้องใส่กับกางเกงตัวนี้ หรือว่ากินอาหารอย่างนี้ต้องใส่เครื่องปรุงแบบนี้ ห้ามไปสลับ ห้ามเปลี่ยนกับเครื่องปรุงอื่น เหมือนเราโตมากับสูตรสำเร็จต่างๆ ซึ่งเรารู้สึกว่า ทำไมวะ? สมมติถ้าเราจะกินอันนี้กับเครื่องปรุงอีกอย่าง มันก็ได้นี่ ดังนั้น สุดท้ายแล้วการเอาบางอย่างที่เคยอยู่ด้วยกันมาแยกจากกัน มาเปลี่ยนพื้นที่ เราก็เลยรู้สึกว่ามันก็อาจเป็นการปลดปล่อยในแบบของเรา ไม่ต้องตามกฎตามเกณฑ์ ได้เลือก ได้หั่น ได้สับ ได้จับสิ่งต่างๆ ที่เราชอบมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันใหม่ เหมือนเราทำไปเราก็ได้บำบัดตัวเอง เราได้ theraphy ตัวเองในหลายๆ ขั้นตอน พอทำเสร็จเราก็รู้สึกฟินในใจ มันอาจจะเละๆ เทะๆ แต่ก็เป็นความเละเทะที่เราพอใจ และมันก็ผ่านการคิดการออกแบบของเรามาแล้ว
Life MATTERs : รู้สึกว่าตัวเองเสพติดความ imperfect ไหม
นักรบ : ไม่ เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าสมมติเราเป็นคนที่ทำอะไรได้ดี ได้เก่ง เป็นคนที่เพอร์เฟคได้ เราก็คงอยากจะเพอร์เฟค ที่เราเลือกความไม่เพอร์เฟค ก็เพราะว่าเราเพอร์เฟคไม่ได้มากกว่า ก็เลยรู้สึกว่าต้องเลือกทางนี้แหละ อย่างการทำคอลลาจของเราเนี่ย ซูมเลย คือทุกอย่างมันไม่ได้เป๊ะ ไม่ได้ดีขนาดนั้น บางทีเราก็พึ่งทางลัด เพราะว่ามันไม่ใช่ธรรมชาติของเราที่เราจะต้องเนียนกริบ เราละเมียดละไมไม่ได้ เราวาดนู่นวาดนี่ เราตัดเส้นอะไรให้มันเป๊ะไม่ได้ ซึ่งสมัยนี้มันก็อาจเป็นโชคดีนะ ที่แบบ อุ๊ย ไม่เพอร์เฟคมันก็โอเคนี่หว่า เราก็เลยขอร่วมกระแสด้วย (หัวเราะ)
Life MATTERs : สำหรับโปรเจกต์ใหม่ที่คุณกำลังจะจัดแสดงที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ช่วยเล่าถึงมันหน่อยได้ไหม
นักรบ : เราส่งผลงานไปสมัครเข้าร่วมจัดแสดงในโครงการ People Gallery ของหอศิลป์ฯ ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และสุดท้ายคิวก็มาลงตัวในปลายเดือนนี้ ทีนี้เราเลยอยากทำงานชิ้นใหม่ขึ้นมาทั้งหมด ซึ่งมันเป็นความท้าทายมากๆ สำหรับตัวเอง เพราะเราอยากลบคำที่ว่า งานนักรบดูแค่ในเน็ตก็ได้ ดังนั้นเราจะใช้เทคนิคใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้การเห็นชิ้นงานจริงมีคุณค่า ไม่ใช่แค่ทำกราฟิกแล้วปรินต์ออกมาเท่านั้น
เราเอางานศิลปะที่เคยเห็นจนเจนตามาเล่าอีกด้านหนึ่ง เพื่อดูว่าสิ่งต่างๆ บนโลกนี้จะแชร์พื้นที่กันได้มากแค่ไหน ในแง่วัฒนธรรม
Life MATTERs : เทคนิคที่คุณจะใช้ในงานชุดนี้มีอะไรบ้าง
นักรบ : เราคิดมาพักหนึ่งแล้วว่าอยากทำให้งานมันไปไกลกว่านี้ ทั้งในแง่เทคนิคหรือฟอร์มของมัน เช่นบางทีเราอยากแตะไปถึงงานประติมากรรมโน่น คราวนี้ในภาพหนึ่งมันอาจจะมองได้หลายแบบ ด้วยเทคนิกที่เราหยิบมาใช้ ซึ่งตอนนี้อาจจะยังบอกไม่ได้ ส่วนในภาพ Ophelia ที่เราหยิบมาทำเป็นรูป ‘นางลอย’ ก็ลองไปติดต่อช่างจิตรกรรมฝาผนัง อยากให้เขามาลงรักปิดทอง แล้วก็มีไปสั่งทำตาลปัตรเป็นรูปพระเยซูตรึงไม้กางเขน ซึ่งร้านทำตาลปัตรก็งงมากจนเกือบไม่ทำให้แล้ว เราเอางานศิลปะที่เคยเห็นจนเจนตามาเล่าอีกด้านหนึ่ง เพื่อดูว่าสิ่งต่างๆ บนโลกนี้จะแชร์พื้นที่กันได้มากแค่ไหน ในแง่วัฒนธรรม
Life MATTERs : ดูเหมือนว่าคุณยังสนุกกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
นักรบ : เราเล่าแบบนี้ซ้ำๆ เพราะอยากให้งานเราเป็นประตูในการก้าวไปสู่สิ่งอื่น อยากให้คนเห็นว่า อันนี้มาอยู่กับอันนี้ก็ได้นะ เราว่าการเปิดใจและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของการใช้ชีวิตในสังคม ในการเห็นใจ เข้าใจความเป็นมนุษย์ของทุกคน คนไทยชอบคิดว่าเราเป็นพลเมืองไทยเท่านั้น แต่อาจไม่ค่อยได้คิดว่าเราเองเป็นพลเมืองโลกด้วย ซึ่งมิติทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกมันเชื่อมโยงกับเราได้หมดแหละ ดังนั้นเราจะใช้หลักแบบไทยๆ หรือกรอบความคิดที่เราเติบโตขึ้นมาตัดสินทุกอย่างไม่ได้
Life MATTERs : ชื่อ Sacrifice มีที่มาอย่างไร
นักรบ : กวีหรือศิลปินรุ่นก่อนๆ เขาก็มักจะอ้างถึงคนรุ่นที่เก่ากว่า นั่นหมายความว่าเรากำลังให้คุณค่าของสิ่งเก่า แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามตวัดหาลายเซ็นของตัวเอง งานคอลลาจของเราก็เป็นแบบนั้น เราหยิบยกของเก่าๆ มาใช้เต็มไปหมด เราเลยทำงานนี้เพื่อ sacrifice ให้ศิลปินรุ่นก่อนๆ ที่สร้างรากบางอย่างมาให้เราในทุกวันนี้ และในชิ้นงานของเราเอง หลายรูปมันก็มีความหมายของการยอมสละบางอย่าง
Life MATTERs : ทำไมถึงเลือกภาพ Ophelia มาใช้เป็นภาพโปรโมตงาน
นักรบ : จริงๆ รูปวาดนี้เป็นรูปโปรดของเราตั้งแต่ตอนเด็กๆ เวลาต้องทำรายงาน วิเคราะห์รูปที่ชอบ เราก็มักจะเลือกรูปนี้เสมอ เพราะมันสวยแล้วก็ดูแปลกตา อีกอย่างมันไม่ใช่ภาพที่มีความสุขขนาดนั้น ดูมีอะไรในรูป อย่างที่เรารู้ว่ามันเป็นฉากของ Ophelia คือนางเอกเรื่อง Hamlet ที่ลอยตายอยู่ในน้ำ เป็นผู้หญิงที่ไหลไปด้วยชะตากรรม ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ถูกความรักปั่นหัว เราพบว่าเรื่องไทยๆ ก็มีอะไรคล้ายๆ กัน นั่นก็คือเรื่องนางลอยในรามเกียรติ์ ที่ทศกัณฐ์สั่งให้นางเบญกายปลอมเป็นนางสีดาตายลอยทวนน้ำขึ้นมาให้พระรามเห็น เราเลยหยิบสองเรื่องมารวมกัน แล้วใช้เป็นภาพโปรโมท ไม่ใช่อะไร ก็เพราะเราชอบนั่นแหละ มันปะกันแล้วสวยดี
Life MATTERs : นอกจากที่หอศิลป์กรุงเทพฯ แล้ว คุณอยากให้งานของคุณไปแสดงที่ไหนมากที่สุด
นักรบ : จริงๆ อยากสองที่นะ ที่แรกคือปารีส เราอยากอุทิศให้กับที่นี่เพราะมันเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรามากๆ มันเป็นเมืองที่ความเละเทะและความวิจิตรอยู่รวมกันได้ลงตัวที่สุด คือจะเป็นที่ไหนก็ได้เลยนะ ไม่ต้องเป็นหอศิลป์หรือแกลเลอรี่ก็ได้ อาจจะเป็นที่โง่ๆ ผนังหนึ่ง หรือริมถนนในปารีสก็ดีใจแล้ว ส่วนที่ที่สองคือเราอยากจัดแสดงงานที่บ้านของเราเอง เพราะบางทีแม่เราก็ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ ทุกวันนี้แม่เรายังบอกว่าสิ่งที่เราทำน่ากลัวอยู่เลย (หัวเราะ)
Life MATTERs : คิดว่าตัวเองบ้ามั้ย
นักรบ : สมัยก่อนก็คิด สมัยก่อนคิดว่าความบ้าและความเยอะเป็นความชิค แต่สมัยนี้ไม่ค่อยคิดขนาดนั้นแล้ว เราเคยมีความคิดว่าความเศร้าความบ้ามันเก๋จังเลย ไม่ต้องเหมือนคนอื่นดี แล้วก็อาจจะแสดงออกมาบ้าง แต่ตั้งแต่ที่เฟซบุ๊กมี on this day แล้วเห็นสิ่งที่เคยโพสต์เมื่อสองสามปีที่แล้ว เรารู้สึกแบบ ‘นี่กูแชร์อะไร’ ‘ปีที่แล้วกูคิดอะไรเนี่ย’ หรือบางทียังคิดไม่ออกเลยว่านี่ด่าใครวะ เรื่องอะไรวะ แต่แค่รู้สึกว่ามันน่ารำคาญแทนนะ ที่คนอื่นจะต้องมาอ่านเรื่องราวอะไรของเรา ขนาดเราปัจจุบันดูตัวเองเรายังรำคาญตัวเองในอดีตเลย (หัวเราะ)
Life MATTERs : แล้วในตอนนี้บุคคลในอุดมคติของคุณเป็นอย่างไร
นักรบ : ขอเป็นแบบคอลลาจคนได้มั้ย สมมติแบบ เป็นคนที่มีวิธีการวาดแบบแวนโก๊ะ มีความคิดของดาวินชี รูปลักษณ์ภายนอกเหมือน ลีโอนาโด ดิคาปริโอ ตอนแสดงเรื่องโรมิโอ จูเลียต แล้วก็เป็นคนมีรสนิยม แต่งตัวดีเหมือนเอ็ดดี้ เรดเมย์น แล้วก็มีความคิดเฉียบคมเหมือนออสการ์ ไวลด์
Photos by Adidet Chaiwattanakul