งานออกแบบที่จะชนะใจชาวโลกได้ อาจต้องอาศัย 5 ข้อต่อไปนี้ 1. ความเป็นประชาธิปไตย 2. มุ่งเน้นฟังก์ชั่นโดยไม่ละทิ้งความสวยงาม 3. แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ 4. ชุดสีสว่างสะอาดตา และ 5. เส้นสายอันเรียบง่าย
ทั้ง 5 ข้อนี้คือส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้งาน Scandinavian Design เป็นที่รู้จักและเข้าไปอยู่ในที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และพื้นที่ใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกมาเป็นเวลากว่าครึ่งทศวรรษ
แต่ก่อนจะได้ชื่อว่า Scandinavian Design เหล่าสถาปนิกและนักออกแบบในประเทศแถบสแกนดิเนเวียนอย่างเดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน (และบางครั้งก็หมายรวมถึงฟินแลนด์และไอซ์แลนด์ด้วย) เข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นหาใช่สิ่งใดอื่นนอกจาก modern design ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากมวลบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
พวกเขามีความเชื่อว่าคนทุกหมู่เหล่า ไม่จำกัดเพียงแต่ชนชั้นสูงที่ร่ำรวย ควรมีสิทธิเข้าถึงงานดีไซน์ที่ครบถ้วนด้วยฟังก์ชั่นและความสวยงามในราคาไม่แพง ซึ่งแนวคิดนี้เป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลง เป็นเหตุให้ Scandinavian Design เป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่า Democratic Design นั่นเอง
อันที่จริงงาน modern design ของแถบยุโรปเหนือนั้นเริ่มมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว ด้วยการออกแบบที่เข้ากับวิถีชีวิตอันเฉพาะตัวของคนแถบนั้น นั่นคือการใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้านในช่วงฤดูหนาวอันยาวนานและมืดหม่น เป็นเหตุให้งานออกแบบอินทีเรียและเฟอร์นิเจอร์ของยุโรปเหนือเน้นใช้สีอ่อนและสว่าง เช่น สีขาว สีครีม เพื่อสะท้อนแสงให้ได้มากที่สุด รวมทั้งใช้รูปทรงและเส้นสายที่เรียบง่าย เพื่อเพิ่มความสบายตาและความรู้สึกโล่งกว้างเมื่อต้องอยู่ติดบ้านเป็นเวลานานๆ
แต่กว่างานของนักออกแบบเหล่านี้จะเป็นที่รู้จักในระดับโลกก็ปาไปถึงครึ่งของศตวรรษที่ 20 แล้ว ในปี 1951-1954 นิทรรศการชื่อว่า Design in Scandinavia เพิ่งได้ไปจัดแสดงในงาน Milan Triennale Exhibitions of Decorative Arts and Modern Architecture รวมทั้งได้เดินทางไปจัดแสดงตามเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐอมริกาและแคนาดาในช่วงปี 1954-1957
ช่วงเวลา 7-8 ปีนี้เอง ที่ทำให้งานออกแบบจากยุโรปเหนือเป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วโลก โดยแนวคิดแบบ Scandinavian Design (ได้ชื่อตามชื่อนิทรรศการ) นั้นถือเป็นแนวคิดหัวหอกในงานออกแบบ mid-century modern ซึ่งแผ้วทางให้กับงานดีไซน์ในยุคปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่เราได้เห็นงานเหล่านี้แล้วจะร้องอ๋อในทันที
เล่ามาถึงขนาดนี้ เราขอพิสูจน์ความคลาสสิคเหนือกาลเวลาของ Scandinavian Design ด้วยการหยิบยกตัวอย่าง 7 ผลงานที่ได้รับยกย่องให้เป็นไอคอนแห่งวงการมานำเสนอ เชื่อเถอะว่าคุณต้องเคยได้เห็น ได้ยิน ได้นั่ง ได้นอน หรือได้ปฏิสัมพันธ์อะไรซักอย่างกับพวกมันมาแล้วแน่นอน
1. Paimio 41 Armchair, Alvar Aalto
Alvar Aalto คือสถาปนิกและนักออกแบบชาวฟินแลนด์ที่สร้างสรรค์ผลงานฝากไว้ในนาม Scandinavian Design เป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่เลื่องลือที่สุดของเขาคือ Paimio 41 Armchair ที่เขาตั้งใจออกแบบไว้ใช้ในโรงพยาบาล Paimio Sanatorium (Aalto เป็นผู้ออกแบบอาคารแห่งนี้เองในปี 1929)
จุดเด่นของมันอยู่ที่โครงสร้างที่เป็นไม้อัดและไม้ลามิเนตทั้งหมด เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความอบอุ่น รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้นด้วย เรียกได้ว่าเป็นเก้าอี้ที่ใส่ใจทั้งความสวยงาม ฟังก์ชั่น และความเป็นมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน
โรงพยาบาล Paimio Sanatorium ทำให้ Aalto เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะสถาปนิกมากฝีมือ ส่วน Paimio 41 Armchair ก็เป็นจุดเริ่มต้นอาชีพนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของเขา เพราะหลังจากนี้ Aalto และภรรยาคนแรก Aino ได้ร่วมกันก่อตั้ง Artek บริษัทที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ของ Aalto โดยเฉพาะ
2. Aalto Vase, Alvar Aalto
ในภาษาฟินนิช aalto แปลว่า ‘คลื่น’ ซึ่งกลายเป็นที่มาของรูปทรงเลี้ยวลดคดเคี้ยวของแจกันซึ่งออกแบบโดย Alvar Aalto อีกเหมือนเคย โดยแจกันนี้ชนะการแข่งขัน Karhula-Ittala Glass Design Competition ในปี 1936 และถูกผลิตแบบแฮนด์เมด (mouth-blown) โดยช่างฝีมือแห่ง Ittala โรงงานเครื่องแก้วและภาชนะชื่อดังสัญชาติฟินนิช ซึ่งยังคงผลิตแจกันในคอลเล็กชั่นนี้ออกมาหลายสีหลายทรงจนถึงทุกวันนี้
3. Series 7 Chair, Arne Jacobsen
Arne Jacobson สถาปนิกและนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชาวเดนมาร์ก ทดลองใช้เทคนิคใหม่ๆ ในการขึ้นรูปไม้อัด จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นพนักที่โค้งเว้ารับสรีระผู้นั่งของ Series 7 เก้าอี้ขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา จากตอนแรกที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้ในโรงอาหารของบริษัท Novo Nordisk ปัจจุบันนี้มันขึ้นแท่นเป็นเก้าอี้ที่ถูกซื้อมากในโลกไปแล้วเรียบร้อย (รวมทั้งถูกลอกเลียนแบบมากที่สุดในโลกด้วย)
4. Swan & Egg Chair, Arne Jacobsen
ขอพูดถึงงานของ Jacobsen อีกสักที เพราะนอกจากเก้าอี้ Series 7 แล้ว เขายังมีอีกผลงานที่ถูกจดจำไปทั่วโลกได้แก่ Swan Chair และ Egg Chair ซึ่งเขาได้ออกแบบไว้ในปี 1958 เมื่อ The Royal Hotel ในกรุงโคเปนเฮเกน ว่าจ้างให้เขาออกแบบเก้าอี้สำหรับใช้ในล็อบบี้
โดย Swan ถือเป็นเก้าอี้ที่ล้ำสมัยมากที่สุดในยุคสมัยนั้น ด้วยรูปทรงเบาะที่ประกอบจากเส้นโค้งล้วนๆ ไร้เส้นตรงใดๆ สามารถโอบอุ้มผู้นั่งเอาไว้ได้พอดิบพอดี และเมื่อมองจากด้านข้างแล้วจะมีรูปทรงคล้ายหงส์ จนกลายเป็นที่มาของชื่อนั่นเอง
ส่วน Egg นั้นเป็นพี่น้องคลานตามกันมาของ Swan ด้วยรูปทรงที่โอบรอบตัวผู้นั่ง ช่วยให้มีความเป็นส่วนตัวแม้อยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่างล็อบบี้โรงแรม มีบันทึกไว้ว่าเก้าอี้ทั้งสองทรงนี้ถูกออกแบบขึ้นในโรงรถของ Jacobsen โดยเขาใช้เทคนิคโฟมแข็งขึ้นรูปเป็นเบาะ ก่อนจะห่อหุ้มด้วยผ้า ซึ่งเป็นเทคนิคที่เขาเป็นผู้คิดค้นและใช้เป็นคนแรกของโลก
5. Artichoke Lamp, Poul Henningsen
Poul Henningsen เป็นดีไซน์เนอร์ชาวเดนมาร์กที่โด่งดังมาตั้งแต่ยุค 20s ด้วยงานออกแบบโคมไฟแบบต่างๆ แต่งานที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุดและคนจดจำได้มากที่สุดคือ Artichoke Lamp โคมไฟหน้าตาเหมือนผลอาร์ติโชค ซึ่งทำมาจากโครงเหล็กโค้ง 12 เส้น และ ‘ใบไม้’ ที่ทำจากทองแดง 72 ใบ เรียงเป็นวงกลมลดหลั่นกัน 12 ชั้น ชั้นละ 6 ใบ ผลลัพธ์ที่ได้คือโคมไฟที่ไม่ว่ามองจากมุมไหนก็ไม่เห็นหลอดไฟที่ติดอยู่ข้างในให้แสบตา และสามารถให้แสงสว่างได้โดยไม่มีแสงสะท้อน!
แรกเริ่มเดิมที Henningsen ออกแบบ Artichoke Lamp เพื่อแขวนในร้านอาหารใน The Langeline Pavilonen อีเวนต์ฮอลล์แห่งหนึ่งในกรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งโคมไฟชุดออริจินัลก็ยังคงแขวนอยู่ที่นั่นตราบจนทุกวันนี้
6. Panton Chair, Verner Panton
Panton คือเก้าอี้ตัวแรกของโลกที่ถูกผลิตด้วยพลาสติกชิ้นเดียวแบบไร้รอยต่อ โดยอัจฉริยะผู้อยู่เบื้องหลังคือ Verner Panton ดีไซน์เนอร์ชาวเดนมาร์กที่เคยฝากตัวเป็นศิษย์ของ Arne Jacobsen ก่อนจะสร้างชื่อให้ตัวเองจากเก้าอี้ Panton ทรวดทรงฟิวเจอร์ริสติกสีสันสดใส แล้วกระโดดขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในดีไซน์เนอร์คนสำคัญของ Scandinavian Design ไม่แพ้ผู้เป็นอาจารย์เลยทีเดียว
อันที่จริง Panton ออกแบบเก้าอี้ตัวนี้ไว้ตั้งแต่ปี 1960 แต่ยังไม่ผลิตออกมา จนในปี 1967 ที่เทคโนโลยีการผลิตจะก้าวหน้ามากพอที่จะผลิตมันได้จริงๆ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเก้าอี้ที่หัวก้าวหน้าที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ก็ว่าได้ นอกจากนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเก้าอี้ที่ ‘เซ็กซี่’ ที่สุดด้วย เพราะมันเคยขึ้นปก British Vogue โดยมีนางแบบชื่อก้อง Kate Moss เปลือยกายนั่งอยู่ด้านบนมาแล้ว
7. Ball Chair, Eero Aarnio
อีกหนึ่งงานดีไซน์ที่มีกลิ่นอายฟิวเจอร์ริสติกต้องยกให้งานของดีไซน์เนอร์ชาวฟินแลนด์อย่าง Eero Aarnio ผู้ชื่นชอบการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไฟเบอร์กลาสเป็นพิเศษ เพราะความแข็งแรงของวัสดุทำให้เขาสามารถออกแบบโดยยึดหลักเรขาคณิตและกายศาสตร์ (ergonomics) ซึ่งให้ความสำคัญกับสรีระของมนุษย์
ผลงานสุดไอคอนนิกของเขาคือ Ball Chair เก้าอี้รูปทรงกลม ซึ่งตอนแรกเขาดีไซน์ขึ้นเพื่อใช้ในบ้านของตนเองเงียบๆ คนเดียว แต่ถูกค้นพบโดยบังเอิญโดย products manager สองคนจากบริษัท ASKO ที่มาเยี่ยมเขาที่บ้าน (เห็นว่าตอนแรกจะมาดูเก้าอี้แบบอื่นแท้ๆ) ผู้คนทั่วโลกจึงได้มีโอกาสนั่งในเก้าอี้ทรงกลมที่มอบความเป็นส่วนตัวให้ราวกับเป็น ‘a room within a room’ หรือห้องส่วนตัวในห้องอีกทีหนึ่ง และด้วยกลิ่นอายฟิวเจอร์ริสติกของมัน Ball Chair จึงมักถูกเลือกไปใช้ประกอบฉากในภาพยนตร์ไซไฟ เช่น Mars Attack (1996) ที่โด่งดัง
อ่านแล้วเราน่าจะพอมองเห็นภาพ ว่าแนวคิดแบบไหนกันที่จะเอาชนะโลกแห่งการดีไซน์ใบนี้ได้…
อ้างอิง