ในฐานะนักท่องเที่ยว เวลาไปเที่ยวชมสถานที่คลาสสิกตามเมืองต่างๆ ในต่างประเทศ ทั้งไกด์ทัวร์และไกด์ลิสต์ทั่วไปในอินเทอร์เน็ตก็มักแนะนำหรือพาเราไปเที่ยวชมอาคารที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นปราสาท, พระราชวัง, รัฐสภา, City Hall, National Gallery, Public Library หรือ Concert Hall ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ในสต็อกโฮล์มก็เป็นอย่างนั้น
แต่หากคุณเที่ยวชมสถาปัตยกรรมโกธิคหรือเรเนซองส์จนเริ่มหน่าย ผ่านตากับ Ericsson Globe และ Scandic Victoria Tower หรือไปถ่ายรูปกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสต็อกโฮล์มจนครบทุกป้ายแล้ว
เราอยากลองพาคุณไปชมอาคารและสิ่งก่อสร้างในเมืองหลวงของสวีเดนสไตล์โมเดิร์นจ๋า สร้างหลังปี 2000 ที่เรารู้จักกันดี แม้ไม่ได้ eco-friendly แบบสุดๆ แต่ก็แปลกแยกกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าที่เราคิด
จนน่าไป ‘ชม’ และ ‘ชิล’ ดูสักครั้งหากมีโอกาส
Artipelag (2012)
ด้วยรสนิยมส่วนตัว เราอยากไปเยี่ยมชมที่นี่มากที่สุด แน่นอนว่าเหตุผลหลักคือตัวอาคารสีขาวตัดดำสไตล์มินิมัลแบบสแกนดิเนเวียนที่เราคุ้นตา และเส้นตรงที่ตัดกันจนเกิดเหลี่ยมมุม แม้จะดูเรียบง่าย แต่ก็ทำให้ใจสั่นอยู่ไม่น้อย ส่วนเหตุผลรองนั้นไม่พูดถึงไม่ได้ โจทย์สำคัญของ Johan Nyrén สถาปนิกชาวสวีดิชคือการ ‘ปลูกเห็ดกลางป่า’ ตามความตั้งใจของ Björn Jakobson (เจ้าของ Babybjörn แบรนด์สินค้าเพื่อเด็กและทารกสัญชาติสวีดิช) ผู้ก่อตั้งและนายทุนของ Artipelag โดยการผสานตัวอาคารเข้ากับธรรมชาติที่เป็นป่าสนและเกาะแก่งในทะเลบอลติก (Stockholm Archipelago) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังหากนักท่องเที่ยวอยากสัมผัสแง่มุมธรรมชาติแบบไม่ไกลจากสต็อกโฮล์ม
ภายใน Artipelag ตกแต่งด้วยไม้สีนวลอ่อน คอนกรีตเปลือย และมีหลังคาสีเขียวที่ชื่นชอุ่มไปด้วยพืชตระกูลซีดัม ทำให้เมื่อถ่ายภาพด้วยโดรนโทนสีจึงกลมกลืนไปกับป่าสน นอกจากนั้นทีมผู้สร้างยังดึงจุดเด่นของโลเคชั่นขึ้นมาใช้เป็นจุดขาย โดยสร้างคอนเซ็ปต์ว่าที่นี่มีครบทั้ง ดิน น้ำ ลม ไฟ—ในส่วนของน้ำและลมนั้นอาจเรียกได้ว่าขี้โกงเล็กน้อย (ก็มันตั้งอยู่กลางป่ากลางน้ำนี่นะ) ส่วนไฟนั้นถูกจุดขึ้นมาใหม่ในเตาผิง แต่สิ่งที่ดีคือดินถูกขับให้เด่นชัดด้วยการสร้างอาคารทับหินก้อนใหญ่อายุสองพันล้านปี และใช้มันเป็นนิทรรศการถาวรในส่วนของคาเฟ่ ด้วยเหตุนี้ คาเฟ่ของที่นี่จึงมีชื่อว่า Bådan Café and Pâtisserie ตามคำว่า båda (บอด้า) ที่ใช้เรียกหินขนาดมหึมาตามภาษาท้องถิ่นนั่นเอง
เราอยากเรียกที่นี่ว่า one-stop venue สำหรับคนที่สนใจศิลปะและวัฒนธรรม แต่อาจต้องใช้เวลาเดินทางนานหน่อย เพราะที่นี่อยู่ในเขตของเมือง Värmdö ซึ่งจากตัวเมืองสต็อกโฮล์มใช้เวลา 25 นาทีโดยรถยนต์ หนึ่งชั่วโมงโดยรถเมล์สามต่อ หรือหนึ่งชั่วโมงครึ่งหากล่องเรือมาสวยๆ ส่วนเสาร์-อาทิตย์เขาก็มีรถบัสรับส่งต่อเดียวให้บริการ ตัวอาคารที่กว้างขวางและส่วนของธรรมชาติโดยรอบนั้นกินพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร โดย 3,000 ตารางเมตรเป็นส่วนของแกลเลอรี่หลายห้องและคอนเสิร์ตฮอลล์ ส่วนนิทรรศการก็จะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไป แถมยังมีเวิร์กช็อปให้เข้าร่วมอยู่เสมอ Design shop ที่มีสินค้าของ Artipelag วางขายก็น่ากระทำการ window shopping นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารและคาเฟ่ทั้ง indoor และ outdoor ให้เลือกนั่งตามความชอบ
ถ้าอากาศไม่หนาวยะเยือกจนเกินไป การนั่งข้างนอกชมวิวป่าสนพร้อมเกาะแก่งและสูดลมทะเลให้สดชื่นทั้งกายและใจก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่เข้าท่าอยู่ไม่น้อย
Tellus Nursery School (2011)
เจ้าของเดียวกับ Tree Hotel โรงแรมกล่องกระจกบนต้นไม้ที่น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีตามท็อปลิสต์โรงแรมน่านอน Tham & Videgård Arkitekter ดรีมทีมผู้รังสรรค์ทั้งภายในและภายนอกให้โรงเรียนอนุบาลสีเหลืองสดแห่งนี้ดูน่าตื่นตากว่า Konstfack School of Art and Design ที่ตั้งอยู่ถัดกันไปเสียอีก (แต่ว่าไม่ได้ เพราะตัวอาคารของ Konstfack เป็นโรงงานเก่าเอามาปรับโฉมใหม่อีกที) ด้วยแปลนที่หากมองจากด้านบนจะเห็นว่าปลายสองด้านโค้งเข้าหากันเหมือนบูมเมอแรงอ้วนๆ ส่วนของผนังประกอบด้วยไม้ที่เลื่อยเป็นทางยาวทาสีเหลืองสด และมีช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมจัตุรัสโผล่มาตรงนั้นทีตรงนี้ทีแบบต่างระดับ แถมแต่ละห้องเรียนยังตกแต่งด้วยสีที่ต่างกัน ทำให้ตอนกลางคืนอาคารแห่งนี้ดูสดใสและมีมิติขึ้นมา
แม้ภายนอกจะดูสนุกสนานและจี๊ดจ๊าดบาดใจ แต่ภายในนั้นแฝงด้วยปรัชญาการศึกษาแบบ Reggio Emilia Approach ที่เน้นให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลางการศึกษา การออกแบบภายในของที่นี่จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมแบบเปิดให้กับเด็กๆ ทำให้แต่ละห้องมีขนาดใหญ่ ผนังที่โค้งมนไร้เหลี่ยม และประกอบด้วยโต๊ะหกเหลี่ยมหลายๆ โต๊ะ เพื่อให้พลังงานและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ เข้ามาปะทะสังสรรค์กันในห้องเรียนสีหวาน ที่แต้มด้วยแดดอ่อนส่องทะลุกระจกกรองแสงและผนังไม้ซีกเข้ามา จนเห็นเป็นลำแสงรูปร่างแปลกตาอยู่เสมอ
Årsta Church (2008)
ไม่ว่าโบสถ์ยุโรปในภาพจำของคุณเป็นแบบไหน ก็ลืมมันไปเสียให้สิ้น เพราะ Johan Celsing สถาปนิกผู้ออกแบบโบสถ์ Årsta ในเขตชานเมืองของสต็อกโฮล์มนั้นต่อยอดสถาปัตยกรรมสาย Scandinavian Modernism ให้น่าดึงดูดยิ่งขึ้น เขาได้เดินตามรอยเท้าบิดาอย่าง Peter Celsing สถาปนิกสวีดิชคนสำคัญในยุค mid-century ผู้สร้างหนึ่งในแลนด์มาร์กยุคใหม่ของสต็อกโฮล์มอย่าง Filmhuset หรือ Swedish Film Institute ที่มักจะปรากฏในไกด์ลิสต์เสมอ
โบสถ์ Årsta ที่โยฮันสรรค์สร้างขึ้นมานั้นถือเป็นส่วนต่อขยายของงานสถาปัตย์ฯ สองงาน คือ ไซต์โขดหินที่ออกแบบโดยพี่น้อง Ahlsén ในยุค 40s ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่มองลงไปจะเห็นจัตุรัส Årsta (ชื่อของเขตชานเมืองแห่งนี้) และหอระฆังเก่าที่สร้างขึ้นในปี 1968 ซึ่งอาคารใหม่ของโยฮันนั้นใช้อิฐและคอนกรีตเป็นวัสดุหลักเพื่อให้ไม่แปลกแยกกับโขดหินสีเทาโดยรอบ ภายนอกเป็นอิฐสีน้ำตาลแดงทั้งหมด ภายในครึ่งล่างเป็นอิฐสีขาวเคลือบมันที่ดูสะอาดตา ส่วนครึ่งบนคืออิฐสีขาวด้านให้อารมณ์ดิบๆ กลืนไปกับท้องฟ้าที่มองเห็นผ่านกระจกใสรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งขนาดใหญ่ ขนาบทั้งสองข้างด้วยไม้กางเขนทองเหลืองสุดมินิมัล
ที่นี่มีสีสันเพียงเล็กน้อย คงไม่แปลกอะไรหากมันแต้มอยู่บนกระจกใสเหมือนกระจกสีๆ ทั่วไปตามโบสถ์คริสต์ แต่สีสันของที่นี่กลับกลายเป็นกระเบื้องสีที่ปรากฏอยู่บนแท่นทำพิธีของบาทหลวง (ที่ก็ทำจากอิฐสีขาวเช่นกัน) ฟีเจอร์ของแท่นทำพิธีที่เราชอบมากมีสองอย่าง หนึ่งคือคานไม้ขนาดใหญ่ที่ไม่ขนานกัน แต่ทำมุมจนเกิดความสนุกที่ได้มอง สองคือที่นั่ง built-in เป็นเนื้อเดียวกับผนังอิฐสีขาวเคลือบมัน กลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมชิ้นใหญ่ เหมือนเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของร่างกาย
ในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่ง โยฮันกล่าวว่าในตอนแรกเขาพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะออกแบบโบสถ์ Årsta ให้ผู้ที่เข้ามาสัมผัสด้านในอาคารมองเห็นแสงสว่าง เพื่อสะท้อนความเชื่อด้านจิตวิญญาณและศาสนา แต่หาแหล่งกำเนิดของแสงไม่เจอ สุดท้ายเขาก็ต้องยอมแพ้ให้กับความตั้งใจนี้ เพราะสุดท้ายแล้ว ที่นี่คือโบสถ์ ไม่ใช่อาร์ตแกลเลอรี่ ฉะนั้นฟังก์ชั่นต้องสำคัญกว่าดีไซน์
Sven-Harry’s Art Museum (2011)
ที่นี่เตะตาเราด้วย façade ทองเหลืองทั้งตึก ส่องแสงทองอร่ามมาจากด้านในในยามค่ำคืน รวมถึงชั้นดาดฟ้าที่มีบ้านขนาดจิ๋วยังก็เป็นทองเหลืองทั้งหลังตั้งอยู่ พร้อม sculptures ต่างๆ ที่ Sven-Harry Karlsson เจ้าของอาคารคัดสรรมาจัดวางไว้บนดาดฟ้าด้วยตัวเอง อย่าง Birds ของ Axel Wallenberg ประติมากรชาวสวีดิชจากยุค 40s (ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก Carl Milles ประติมากรชาวสวีดิชอีกคนอีกที)
อาคาร 6 ชั้นรวมดาดฟ้าแห่งนี้ออกแบบโดย Wingårdh Arkitektkontor (บริษัทสถาปัตย์ฯ เจ้าใหญ่ในสวีเดนที่ออกแบบ Scandic Victoria Tower โรงแรมที่สูงที่สุดในสแกนดิเนเวีย) ที่นี่เป็นได้ทั้ง Art Museum ที่มีทั้งนิทรรศการชั่วคราวและนิทรรศการถาวร, ห้องจำลองที่อยู่จริงๆ ของสเวนแฮร์รี่ที่ต้องนัดไกด์ทัวร์ล่วงหน้าเพื่อเข้าชม, ร้านอาหารน่านั่งที่ชั้นล่างของอาคาร และส่วนของที่พักอาศัยและห้องให้เช่าเพื่อการค้า โดยกำหนดสัดส่วนไว้ที่ศิลปะ 60% และธุรกิจ 40%
ในส่วนของสถาปัตยกรรม ที่นี่อาจไม่ได้มีเครดิตสูสีสามที่ที่ว่าไป แต่เรื่องราวเบื้องหลังของเจ้าของอาคารแห่งนี้นั้นก็ถือว่าน่าสนใจทีเดียว สเวนแฮร์รี่เติบโตมาในครอบครัวปัญญาชน พ่อของเขาทำบริษัทรับเหมาก่อสร้างชื่อดัง เขาเป็นพี่น้องกับช่างภาพนาม Stig Karlsson และนักเขียนนาม Anna Wahlgren โดยสเวนแฮร์รี่สะสมงานศิลปะคลาสสิกและร่วมสมัยไว้ตั้งแต่ยุค 60s จนรวมกันเป็นคอลเล็กชั่นขนาดใหญ่จัดแสดงไว้ในส่วนนิทรรศการถาวรของที่นี่
ในคอลเล็กชั่นเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นงานของ Carl Fredrik Hill จิตรกรยุคโมเดิร์นชาวสวีดิชผู้โด่งดังจากภาพแลนด์สเคป แต่โดดเด่นจากภาพสเก็ตช์ที่ได้แรงบันดาลใจจากมาทีสและปิกัสโซ่, Helene Schjerfbeck จิตรกรหญิงชาวฟินนิชที่ถนัดภาพสไตล์เรียลลิสต์และ self-portrait, Ernst Josephson จิตรกรชาวสวีดิชร่วมรุ่นกับ Hill, August Strindberg นักเขียนบทละคร นักเขียนนวนิยาย กวี และจิตรกร และ Ylva Ogland ศิลปินร่วมสมัยชาวสวีดิช
ชวนให้คิดว่าหากคุณแวะไป Art Museum หลักๆ ของสต็อกโฮล์มมาแล้ว ที่นี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมผลงานของศิลปินสวีดิชและสแกนดิเนเวียนที่น่าให้ความสนใจและน่าไปเที่ยวชมอยู่ไม่น้อย ต่อให้พวกเขาเหล่านี้จะถูกโลกศิลปะลืม แต่ก็ยังมีคนสวีดิชคนหนึ่ง—รวมทั้งผู้ชมอย่างเราๆ—ที่อาจไม่ลืมพวกเขาก็ได้
Villa Plus Summer House (2009)
วกกลับมาที่ Stockholm Archipelago อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่ Art Museum โบสถ์ หรือโรงเรียนอนุบาล แต่เป็นบ้านพักตากอากาศ งาน Private Commission โดย Waldemarsom Berglund Arkitektor อีกหนึ่งบริษัทสถาปนิกที่มีชื่อ โดยจุดขายของที่นี่คือวิวมหาสมุทรบอลติกที่กว้างสุดสายตา (ดูจากรูปแล้วมั่นใจได้ว่ากว้างกว่าของ Tham & Videgård Arkitekter ตัวอย่างก่อนหน้าแน่นอน)
อย่างแรกที่เราชอบใน Villa Plus คือหน้ากว้างของอาคารที่กว้างมากและเป็นกระจกใสล้วนๆ จนเห็นวิวได้สุดสายตาอย่างที่ว่าไป ต่อมาคือที่นี่ตั้งอยู่ระหว่างหาดหินและมหาสมุทร มันใกล้ริมหาดมากจนต้องทำพื้นยกขึ้นมาเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้ตอนที่น้ำขึ้น ซึ่งตัวอาคารของที่นี่ใช้ไม้สนสวีดิชทั้งหลัง โดยสีของไม้ด้านนอกจะเข้มและเงางามขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของทีมผู้ออกแบบที่อยากจะให้อาคารแห่งนี้กลืนไปกับป่าสนด้านหลังนั่นเอง
นอกจากนี้ที่ชั้นสองยังมีรูปทรงเหมือนกล่องไม้สี่เหลี่ยมจัตุรัสผนวกเข้ากับอาคารชั้นล่าง แน่นอนว่าด้านที่หันหน้าเข้าหามหาสมุทรบอลติกนั้นใช้กระจกใสแทนผนัง และด้านบนก็มีกระจกใสช่องใหญ่เช่นกัน เพื่อเปิดรับแสงและภาพท้องฟ้าในฤดูร้อนยามตื่น (เอาเข้าจริงก็ไม่ได้แปลกอะไร คุณอาจเคยเห็นโรงแรมในไทยที่ทำ suite สองชั้นหันหน้าเข้าทะเลแบบนี้อยู่บ่อยๆ) นอกจากนี้ยังมีส่วนของ Terrace ห้องครัว และห้องอาหาร ครบทุกฟังก์ชั่นเท่าที่คนอยากมาพักตากอากาศจะปรารถนา
อันที่จริง Villa Plus อาจจะไม่ได้โดดเด่นขนาดนั้น แต่หากมีโอกาส (หรือมีเงิน) ได้ไปพักที่นี่หรือสถานที่ที่คล้ายคลึงกันบ้างก็คงจะดีไม่น้อย เพราะส่วนประกอบที่ลงตัวระหว่างอาคารและสิ่งแวดล้อมแบบที่ที่นี่เป็นนั้น มักทำให้เรารู้สึกไม่แปลกแยกเมื่อเอาตัวเองเข้าไปอาศัยอยู่ บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติเสียด้วยซ้ำ และนั่นก็เป็นสิ่งที่เราสังเกตว่า Scandinavian Design มักจะให้ความสำคัญอยู่เสมอ
อ้างอิงข้อมูลจาก