เป็นไปได้ว่าคุณอาจรู้จักชื่อของเธอจากบทภาพยนตร์ที่เธอแต่ง หรืออาจเคยผ่านตาชื่อของเธอจากภาพยนตร์สักเรื่องที่เธอกำกับ ไม่ก็อาจจดจำชื่อของเธอได้จากนวนิยายสักเล่มที่เธอเขียน
Marguerite Duras หรือในชื่อจริงว่า Marguerite Donnadieu มือเขียนบทละคร ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักเขียน ที่โด่งดังและทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส
เธอเกิดในปี ค.ศ. 1914 เติบโตใน โคชินจีน (Cochinchina) อาณานิคมของฝรั่งเศสในอดีต ที่ในปัจจุบันคือเวียดนามใต้ จนกระทั่งอายุ 17 จึงย้ายกลับไปยังฝรั่งเศส เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยปารีส โดยเริ่มต้นศึกษาในสาขาคณิตศาสตร์ แต่ต่อมาก็ผันความสนใจมาสู่วิชากฎหมายและการเมืองแทน
ความสนใจผันไปกว่านั้นอีก เมื่อในปี ค.ศ. 1943 เธอได้ออกนวนิยายเล่มแรก ในชื่อ ‘Les Impudents’ แต่ชื่อของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรมฝรั่งเศสจริงๆ ก็เมื่อปี ค.ศ. 1950 หลังจากที่ Un barrage contre le Pacifique (ฉบับภาษาไทยชื่อ ‘เขื่อนกั้นแปซิฟิก’ แปลโดยอำพรรณ โอตระกูล) ได้ออกสู่สายตานักอ่าน
ในฐานะคนทำงานกับตัวอักษร ดูราสผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่นวนิยายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบทความ บทละคร และบทภาพยนตร์อีกด้วย โดยบทภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ส่งให้ชื่อของเธอเป็นที่รับรู้ในวงกว้างคือ Hiroshima Mon Amour (1959) กำกับโดย Alain Resnais เล่าเรื่องของนักแสดงหญิงชาวฝรั่งเศสผู้มาถ่ายหนังในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น และเกิดตกหลุมรักกับชายญี่ปุ่นที่แต่งงาน
ภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งวิพากษ์สงครามอย่างรุนแรง ผ่านบทสนทนาของสองชู้รักที่ต่างแลกเปลี่ยนทัศนคติในประเด็นสงคราม—จากงานชิ้นนี้ พบว่าเราเริ่มมองเห็นร่องรอยความสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติพันธุ์ ที่เป็นส่วนผสมในตัวของเธอเองได้ชัดเจนทีเดียว
ความสนใจนี้ยิ่งปรากฏร่างแจ่มแจ้งใน ‘The Lover’ นวนิยายที่ไม่เพียงจะสร้างแรงกระเพื่อมสำคัญจนชื่อ Marguerite Duras กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก แต่ยังส่งให้เธอได้รับรางวัล Prix Goncourt รางวัลทางวรรณกรรมชิ้นสำคัญของฝรั่งเศสอีกด้วย
ผลงานของดูราส ทั้งนวนิยาย บทละคร หรือภาพยนตร์ ถ้าว่ากันอย่างซื่อๆ ก็คงเรียกได้ว่า ไม่ง่ายต่อการเข้าใจ และไม่เป็นมิตรในแรกสัมผัสนัก ภาพยนตร์ของเธอเลือกเล่าเรื่องด้วยพล็อตที่บางเบาพร่าเลือน ผ่านน้ำเสียงอันสลับซับซ้อนของบรรดาตัวละครที่บ้างก็ปรากฏตัวให้เห็นอย่างโดดเด่น บ้างเพียงเดินผ่านๆ ให้เห็นแค่ฉากหลัง แต่บ้างก็โผล่มาแค่เสียงกระซิบกระซาบนินทา แต่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาจริงๆ ในหนังเลยสักครั้งเดียว (!!!)
หรือเช่นกันกับนวนิยายของเธอเอง ก็เด่นดังในความไม่ประนีประนอมต่อผู้อ่าน เลือกจะเล่าผ่านโครงสร้างของเรื่องที่พร่ามัวไม่ชัดเจนอีกเช่นเคย ราวกับกำลังชี้ชวนผู้อ่านให้หันมองเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเบื้องหลังบานกระจกที่มีฝ้าจับหนา จับจ้องแต่เพียงเงาและการเคลื่อนไหวที่กำลังเป็นไปตรงหน้า แต่ไม่อาจเห็นรายละเอียดที่ชัดเจนเกินกว่านั้น
แน่นอนว่าการจะทำความเข้าใจความคิดและทัศนคติของมาเกอร์ริต ดูราส จำเป็นต้องศึกษาผ่านผลงานหลายชิ้น ในหลากสาขาที่เธอเกี่ยวข้อง แต่กับงานเขียนชิ้นนี้ผมขออนุญาตเลือกสำรวจแค่ส่วนเล็กๆ ของดูราส ผ่านนวนิยายเรื่อง The Lover งานเขียนเล่มสำคัญของเธอเท่านั้น เป็นแค่ข้อสรุปสั้นๆ ต่อความคิดอันสลับซับซ้อนของนักเขียนฝรั่งเศสคนสำคัญคนนี้ครับ
The Lover
เล่าอย่างคร่าวๆ The Lover ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเด็กสาวฝรั่งเศสตกยาก กับชายหนุ่มชาวจีนฐานะดีผู้มีอายุมากกว่าเธอร่วมสิบปี ด้วยฉากหลังคือปี ค.ศ. 1929 ดูราสฉายภาพเวียดนามที่ขณะนั้นยังอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสได้อย่างแปลกแยก อ้างว้าง คลุมเครือ และจับใจ
อีกสาเหตุสำคัญที่ดึงความสนใจให้ผู้คนสนใจงานเขียนเล่มนี้มากขึ้นนั้นเป็นเพราะ The Lover ‘มักถูกพิจารณาว่า’ คืออัตชีวประวัติของตัวดูราสเอง แม้ในภายหลังเธอจะออกมาพูดว่า “เรื่องราวในชีวิตฉันไม่เคยดำรงอยู่ แค่เพียงนวนิยายเท่านั้นที่มีอยู่จริง และไม่ต้องตรงตามประวัติศาสตร์แต่อย่างใด มันเป็นเพียงความทรงจำที่จินตนาการขึ้นมา และต่อมาก็ถูกหยิบยื่นชีวิต” แต่ก็อาจจะเป็นอย่างที่หนังสือพิมพ์ The New York Times ว่าไว้ครับ— “ความจริงในจักรวาลของ ดูราสนั้นเลื่อนไหลอยู่เสมอ”
The Lover บอกเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ภายใต้น้ำเสียงของเด็กสาวฝรั่งเศส ที่แทนตัวเองว่า ‘ฉัน’ โดยก่อนหน้านั้นเธอเคยได้สร้างตัวละครหญิงขึ้นมาแล้วมากมาย ซึ่งในทางหนึ่งเราอาจมองได้ว่า ภายใต้น้ำเสียงของตัวละครหญิงสมมตินี่แหละครับ ที่ดูราสได้ประกอบสร้างตัวตนของเธอขึ้นใหม่ นำเสนอภายใต้ภาพลักษณ์อื่น เพื่อแสดงทัศนคติต่างๆ ของตัวเธอที่มีต่อสังคม
ดูราสใช้วิธีเล่าเรื่องแบบ ‘กระแสสำนึก’ (Stream of Consciousness) บอกเล่าเรื่องราวภายในความคิดและจิตใจของตัวละคร หลั่งไหลเป็นสายธารอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เด็กสาวฝรั่งเศสในเรื่องสาธยายเรื่องราวขึ้นจากความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่เธอระลึกนึกขึ้นได้
แต่ก็น่าสนใจว่า มีนักวิจารณ์บางกลุ่มอีกเช่นกัน ที่เสนอว่าวิธีเล่าเรื่องของดูราสใน The Lover ไม่ใช่กระแสสำนึกเสียทีเดียว หากเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘กระแสไร้สำนึก’ (Stream of Unconciousness) เพราะน้ำเสียงของตัวละครในเรื่องช่างดูฟุ้งฝันล่องลอย คล้ายถวิลหาอดีตจากอนาคตอันห่างไกล และซึ่งการเล่าเรื่องแบบที่ว่าก็คือการนำเสนอทัศนคติ ความคิด หรือน้ำเสียงของผู้เล่า ผ่านคำพูดไร้สำนึก เช่น การพึมพำขณะหลับที่เชื่อมโยงกับฉากเหตุการณ์ที่กำลังฝันถึงอยู่นั้น หาได้เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงแต่อย่างใด
ในข้อนี้ งานเขียนเรื่อง An Imaginary Utopia ของ Helene Cixous ศาสตราจารย์ นักวิจารณ์วรรณกรรม และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เธอได้เสนอไว้ว่า ‘ตัวบทสตรี’ (feminine texts) คือการทำงานบนความต่าง มุ่งไปในทิศทางที่แตกต่าง และดิ้นรนที่จะบ่อนเซาะตรรกกะแบบลึงค์เป็นศูนย์กลาง (Phallogocentric logic) แยกผ่าทัศนะแบบขั้วตรงข้าม
ในขณะที่การเขียนอัตชีวประวัติในแบบเพศชาย มักจะจัดเรียงเรื่องเล่าอย่างเป็นลำดับ และสร้างความสมเหตุสมผลให้กับอดีต ใช้การอธิบายเชิงอันตวิทยา หรือความเชื่อที่ว่าสิ่งต่างๆ ในโลกต่างมีวัตถุประสงค์ในการเกิดมาทั้งสิ้น รวมถึงการผสานมุมมองหรือทัศนะเข้าด้วยกันภายใต้รูปแบบเดิมๆ เดียวๆ—ตัวบทของหญิงมักจะไม่ทำอย่างนั้น
ซึ่งถ้าพิจารณาจากข้อเสนอของ Cixous เราอาจมองวิธีเล่าเรื่องใน The Lover ว่าเป็นการคัดง้างต่อตรรกะแบบลึงค์เป็นศูนย์กลางก็ย่อมได้ครับ
นั่นเพราะดูราสไม่ได้ต้องการจะนำเสนอเรื่องราวอย่างเคร่งครัด เป็นระบบระเบียบ หรือยึดโยงตามลำดับเวลา The Lover ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวภายใต้หลักคิดที่ว่า เรื่องราวต้องดำเนินเรื่องไปข้างหน้า แต่จงใจจะล้มล้างตรรกะแบบนั้นด้วยการนำเสนออดีตอันเลือนพร่าผ่านความทรงจำที่ไม่แน่ไม่นอน
หากวิธีเขียนแบบเพศชายคืออำนาจที่กลับไปจัดระเบียบ ลบล้าง หรือตัดแต่งอดีตให้เป็นเรื่องเป็นราว ดูราสก็เลือกจะนำเสนอในทิศทางตรงข้าม ที่ไร้ระเบียบ เป็นอิสระ ลดทอนการเถลิงอำนาจและเจตนาที่หวังจะจดจารประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่
ยิ่งไปกว่านั้น การเล่าเรื่องผ่านน้ำเสียงของเด็กสาวฝรั่งเศสใน The Lover ยังเปิดเผยให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงความนึกคิด และความรู้สึกในขณะที่ตัวละครกำลังร่วมรักอีกด้วยครับ นั่นเพราะฉากรักระหว่างเด็กสาวกับหนุ่มชาวจีนถูกบอกเล่าผ่านรายละเอียดที่คมชัด สมบูรณ์ และถ้วนถี่ทีเดียว
ดูราสแสดงให้เห็นว่า ไม่เพียงแค่หนุ่มชาวจีนจะถูกดึงดูดจากตัวเด็กสาวแค่ฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ทางฝั่งเด็กสาวฝรั่งเศสเองก็มีความรื่นรมย์ในกิจกรรมทางเพศเช่นกัน รื่มรมย์ในระดับที่เธอเองดึงดันจะกระโดดขึ้นรับบทนำ ไม่ว่าจะผ่านการเริ่มต้นเป็นฝ่ายปลดเปลื้องเสื้อผ้าฝ่ายชาย หรือการออกคำสั่งให้เขาปฏิบัติตามที่เธอต้องการ
The Lover ยินดีให้ผู้อ่านรับรู้และได้ยินเสียงของผู้หญิง แม้กระทั่งพื้นที่ปิดซ่อนอย่างในห้องพัก ที่ซึ่งเด็กสาวคนหนึ่งกำลังร่วมรักอย่างออกรส และซึ่งเธอก็ตระหนักได้ถึงสถานะที่เหนือกว่าของตัวเอง ณ ชั่วขณะนั้น และผ่านการบอกเล่าผ่านตัวอักษรของนวนิยายเล่มนี้เอง เราอาจมองได้ว่า เป็นการเปลี่ยนให้อำนาจของเพศหญิง (โดยอาศัยน้ำเสียงของเด็กสาว) กลายเป็นสิ่งที่รู้เห็น จับต้องได้ และเป็นรูปธรรม แม้ในวิธีเล่าแบบพร่าเลือนก็ตาม
เราอาจเรียกขานตัวเด็กสาวฝรั่งเศสว่าคือกระบอกเสียงสำคัญของผู้หญิง ในนวนิยายที่ดำเนินเรื่องภายใต้สังคมปิตาธิปไตย เพราะเสียงของ ‘ฉัน’ ในเรื่องไม่เพียงแต่จะครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของนวนิยายในฐานะน้ำเสียงหลัก แต่ตัวละครชายในเรื่องล้วนอยู่ในสถานะด้อยกว่าเด็กสาวฝรั่งเศสอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นน้องชายแท้ๆ ที่เด็กสาวมองว่าใจเสาะและขี้แย ตัวบิดาของเธอที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเด็กและไม่ได้รับการพูดถึงมากนักในเรื่อง หรือกระทั่งตัวชายหนุ่มชาวจีนเอง ที่เด็กสาวรับรู้สถานะของเขาในฐานะเบี้ยล่าง ทั้งจากความเฉื่อยชาในเพศสัมพันธ์ จากความเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวง่าย และจากร่างกายที่ผอมกะหร่องอ่อนแอ
เราสามารถมอง The Lover อย่างซื่อตรงเช่นนี้ได้ก็จริงอยู่ครับ แต่ในทางกลับกันก็ยังมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นว่า ตัวละครเด็กสาวชาวฝรั่งเศส ที่ถือครองอำนาจและอิสระเหนือชายหนุ่มชาวจีนนี้ คือภาพสะท้อนต่อสถานะของตัวเธอที่เหยียบย่ำอยู่ระหว่างสองขั้วความคิดที่ขัดแย้งกันหรือเปล่า กล่าวคือ ฟากฝั่งของแรงดึงดูดทางเพศที่มีต่อชายคนรัก กับฝั่งของทัศนะที่เหยียดหยามเชื้อชาติต่อหนุ่มชาวจีน
หากว่ากันตามบริบทและยุคสมัย อำนาจและความเป็นอิสระในเรื่องเพศของเด็กสาวฝรั่งเศสเกิดขึ้นได้ก็เพราะระบบปกครองแบบอาณานิคมแบบปิตาธิปไตย ที่ซึ่งคอยธำรงสถานะของหญิงผิวขาวให้ต้องอยู่ภายใต้ชายผิวขาว ส่วนแรงดึงดูดทางเพศของเธอคือผลลัพธ์ของการผสานระหว่างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่ขัดแย้งกันเองในตัวเธอ
พูดง่ายๆ ว่า ความรักระหว่างเด็กสาวฝรั่งเศสกับชายหนุ่มชาวจีน ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดในดินแดนอาณานิคมนั้น แท้จริงแล้วถูกกำกับอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางชาติพันธุ์ที่ฝรั่งเศสมีเหนือกว่าจีน หรือคนท้องถิ่นในอาณานิคมด้วยซ้ำ ซึ่งถ้ายึดตามกรอบคิดนี้ เราอาจมองสถานะของสาวฝรั่งเศสคือภาพแทนต่อความปรารถนาของชายชาวอาณานิคมก็ย่อมได้ครับ
แต่แม้นวนิยายเรื่องนี้จะนำเสนอเรื่องภายใต้น้ำเสียงของผู้หญิงที่สื่อถึงความพยายามจะหลบหนีจากกรอบคิดแบบอาณานิคมซึ่งคอยกดทับและปฏิเสธการมีอำนาจและอิสระทางเพศของผู้หญิงผิวขาวสักเท่าไร แต่คำถามที่น่าสนใจคือ เป็นไปได้แค่ไหน ที่เด็กสาวจะสามารถหลบหนีจากวาทกรรมแบบอาณานิคมที่คอยกดทับผู้หญิงอยู่ตลอดได้ และว่ากันแล้ว เมื่อในตอนหนึ่งของนวนิยายที่เด็กสาวได้ย้ายกลับมายังฝรั่งเศส หาก ดูราสกลับเผยให้เห็นว่า การหวนคืนสู่บ้านเกิดในครั้งนี้กลับส่งผลลัพธ์อันน่าเศร้าต่อตัวของเด็กสาวด้วยซ้ำ
การถอดถอนตัวเองออกจากอาณานิคมของเธอ จึงเท่ากับการถูกริบคืนอำนาจทางเพศที่เคยมี ถ้าว่ากันตามโครงสร้างทางอำนาจของระบบอาณานิคม ที่ซึ่งคอยกั้นกำแพงระหว่างผู้ปกครอง และผู้ใต้ปกครองเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว อำนาจทางเพศที่ครั้งหนึ่งเด็กสาวชาวฝรั่งเศสเคยมีเหนือชายชาวจีนจะอันตรธานหายไปทันทีเมื่อเธอไม่ได้อยู่ในพื้นที่อาณานิคมอีกต่อไป
สำหรับหญิงสาวฝรั่งเศสผู้นี้แล้วความเหนือกว่าทางชาติพันธุ์จะได้รับการคุ้มครองและยอมรับอย่างชัดเจนภายใต้ระบบการปกครองแบบอาณานิคม ดังนั้นความหวังที่จะสลัดพ้นตัวเองออกจากกรอบคิดแบบปิตาธิปไตย ไปพร้อมๆ กับการถือครองอำนาจและอิสระทางเพศต่อไปจึงเป็นไปไม่ได้นอกเขตอาณานิคม
นั่นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างเด็กสาวฝรั่งเศสและชายหนุ่มชาวจีนนั้นพาดเกี่ยวอยู่กับการที่ฝ่ายหนึ่งต้องถืออำนาจเหนืออีกฝั่งตั้งแต่แรก เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งคอยกดขี่อีกฝ่ายอยู่เรื่อยไปภายใต้แรงกำหนัด และซึ่งวันหนึ่งเด็กสาวก็จำต้องปล่อยอำนาจที่เคยถือครองนี้ให้หลุดลอยหายไปในวันที่เธอพาตัวเองออกจากพื้นที่อาณานิคม
The Lover ได้ชี้ให้เห็นถึงสภาวะครึ่งๆ กลางๆ การกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และการไม่รู้ว่าจะรักหรือชังต่อ ‘ความเป็นอื่น’ ที่ระบบอาณานิคมแปะป้ายทับเอาไว้ ด้วยในทางหนึ่งแม้มันจะหยิบยื่นอำนาจและเสรีภาพทางเพศให้กับเด็กสาวชาวฝรั่งเศส และในขณะเดียวกันมันก็ตรึงเธอไว้ภายใต้วาทกรรมเหยียดยามและสายตาที่มองหญิงผิวขาวกับคนท้องถิ่นในฐานะสิ่งใต้ปกครองของชายผิวขาวอีกทีหนึ่ง คล้ายว่าท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตของพวกเขาและเธอล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจ การควบคุมและความคุ้มครองของชายผิวขาวอยู่ดี
ดังนั้นแล้ว อำนาจและอิสระทางเพศของเด็กสาวชาวฝรั่งเศสต่อชายหนุ่มชาวจีน แท้ที่จริงเป็นเพียงละครเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบอาณานิคมแบบชายเป็นใหญ่หรือเปล่า
ละครที่เมื่อหมดเวลาก็จำต้องปิดม่าน โบกมือลาผู้ชมอย่างจำใจ หากยึดตามกรอบคิดนี้แล้ว เราจึงอาจมอง The Lover ในฐานะของเสียงสะท้อนต่อสถานะของผู้หญิงในยุคสมัยหนึ่ง ที่ไม่ต่างอะไรกับของเล่นของเพศชาย—ซ้ำร้าย อำนาจ และอิสรภาพ ที่เคยเชื่อว่าถือครองได้ ท้ายที่สุดกลับถูกริบหายไปอย่างตลกร้าย ราวกับอดีตเป็นเรื่องที่ลบล้างได้ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริง
ยังมีข้อถกเถียงอีกมากต่อนวนิยายเรื่องนี้ครับ แม้ปัจจุบันมันจะมีอายุกว่า 30 ปีไปแล้ว แต่ก็ยังมีการหยิบมันขึ้นมาอ่านซ้ำ ถอดรื้อ และประกอบสร้าง จากทั้งนักอ่าน นักวิจารณ์ และนักวิชาการอย่างกระตือรือร้น แต่ไม่ว่าจะมองนวนิยายเล่มนี้ด้วยกรอบคิด หรือทฤษฎีใด มันก็ยากที่จะปฏิเสธว่า The Lover คืองานเขียนสำคัญที่ได้สร้างคุณูปการและแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ให้กับวงการวรรณกรรมโลก และสำหรับผู้อ่าน คือแรงสะเทือนทางอารมณ์ที่แม้ไม่ต้องอาศัยการตีความใดๆ เลยก็ตาม
อ้างอิง
nytimes.com
sp2vaya.blogs.lincoln.ac.uk