ถึงเป็นคนที่ปกติไม่กินเหล้า แต่ถ้าเป็นเหล้าบ๊วยเรากลับรู้สึกว่าอยากลอง และรู้สึกใกล้ชิดสนิทใจกว่าเหล้าผลไม้ทั่วไปที่หาซื้อได้ในท้องตลาด และถ้าคำถามคืออะไรทำให้เหล้าบ๊วยหรือ Umeshu มีเคมีเป็นมิตรขนาดนี้ เราคงต้องท้าวความกันไกลถึงสมัยญี่ปุ่นยกย้ายเข้าไปในเกาหลี และหยิบเอาของดีอย่าง ‘เหล้าโซจู’ ติดมือกลับมาเมื่อราวต้นศตวรรษที่ 16 โน่นเลย
กำเนิดเหล้าบ๊วย
ก่อนโซจูจะเดินทางมาถึงญี่ปุ่นด้วยการนำพาของพ่อค้าและทหาร วัฒนธรรมการดื่มของคนแดนปลาดิบก็แข็งแรงมากอยู่แล้ว ยืนยันจากคำว่า ‘ดื่ม’ (Nomu) ในภาษาญี่ปุ่นแปลได้อีกความหมายว่า ‘การสื่อสาร’ คล้ายว่าเหล้าเป็นสื่อกลางให้คนคุยกัน สนิทกัน มันเลยไม่ใช่สิ่งผิดบาปหรือไกลตัวอะไร เพราะแม้แต่พิธีกรรมทางศาสนา (พุทธ นิกายชินโต) เองก็อนุญาติให้เหล้าเข้าร่วมอยู่บ่อยๆ
ในสังคมแห่งการดื่มของญี่ปุ่น มีเหล้าอยู่ตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ เพราะดื่มง่าย ดีกรีไม่แรง เหมาะสำหรับดื่มยาวๆ ในคืนหนาวเหน็บ แก้วนั้นคือ ‘สาเก’ (Sake) ที่นอกจากจะใช้ดื่มกินกันกับเพื่อน ยังเป็นเครื่องปรุงสำคัญในอาหารญี่ปุ่นเกือบทุกประเภท เรียกว่ามีติดบ้านไม่ต่างจากน้ำปลาในครัวไทย
แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้น เมื่อโซจูจากเกาหลีเดินทางมาถึงแดนอาทิตย์อุทัยเป็นครั้งแรก
แถมเป็นทางเลือกที่ราคาถูกกว่าสาเกหลายเท่า ดีกรีก็ไม่แรง รสชาติก็ดี กินได้เรื่อยๆ เหมือนกันอีก แต่จะให้ลูกพระอาทิตย์ดื่มเหล้าจากเกาหลีนั้นก็ชวนให้ตะขิดตะขวงใจอยู่บ้าง คนญี่ปุ่นเลยจัดการดัดแปลงให้โซจูไม่ใช่แค่โซจูอีกต่อไป ด้วยการนำมันมาหมักกับผลไม้ตามฤดูกาล ไม่ว่าจะพีช สับปะรด แอปเปิ้ล แต่ถูกปากที่สุดคือ ‘พลัม’ หรือบ๊วย อันเป็นผลไม้ก้นครัวของคนญี่ปุ่นมานับพันปี
และตั้งชื่อให้เหล้าเก่าในสูตรใหม่นี้ว่า ‘อูเมชู’ (Umeshu)
กรดสูตรความสัมพันธ์
จากโซจู น้ำตาลกรวด และบ๊วย สูตรของอูเมชูก็วิวัฒนาการมาเรื่อยๆ มีทั้งแบบหมักกับสาเก หมักกับบรั่นดี หรือหมักกับเหล้าขาวก็ยังมีให้เลือกลอง ความยืดหยุ่นและรสชาติเปรี้ยวหวานอันเป็นมิตรส่งให้มันกลายเป็น ‘เหล้าประจำบ้าน’ มีหมักเก็บกันไว้ทุกครัวเรือน เหมือนในหนังญี่ปุ่นหลายเรื่องที่จะมีซีนปีนเก็บลูกบ๊วยมาหมักเหล้า เป็นกิจกรรมสานไมตรีในครอบครัวทั้งตอนเก็บ ตอนหมัก และตอนดื่ม (เป็นเมนูเด่นในซีรีส์ฮิตอย่าง Midnight Diner และเป็นซีนเรียกยิ้มละไมในหนัง Our little sister)
และด้วยความเป็นเหล้าหมัก มันเลยมีให้กินตลอดทั้งปี สูตรของอูเมชูจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามฤดูกาล ในหน้าร้อนอูเมชูจะมาในรูป On the rock หรือเหล้าบ๊วยใส่น้ำแข็งธรรมดาๆ แบบที่เราคุ้นลิ้นกัน แต่ถ้าเข้าหน้าหนาวเมื่อไหร่คนจะนิยมเอามันออกมาผสมน้ำร้อนจนกลายเป็นเครื่องดื่มรสเปรี้ยวหวานอ่อนๆ ไว้ดื่มคลายหนาว หรือถ้าปีไหนหนาวเข้ากระดูก บางบ้านก็จะฝานขิงสดผสมลงไปเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายด้วย
วัฒนธรรมอินเหล้า
อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้อูเมชูกลายเป็นเหล้าป๊อปปูลาร์มาจนทุกวันนี้ ส่วนนึงก็เพราะมันถูกบ่มขึ้นในประเทศที่มีวัฒนธรรมการดื่มยาวนานและเข้มแข็งมากอย่างญี่ปุ่น นับเป็นดินแดนที่นับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นความรื่นรมย์ไม่ต่างจากน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ (แต่ก็ยังมีกฎหมายบังคับการซื้อขายนะ) ยืนยันชัดเจนจากป้ายโฆษณาเหล้าเบียร์ตลอดฝั่งถนนในเมืองใหญ่ ที่ก็ขายกันให้เห็นไปเลย ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แบบในบางประเทศ หรืออย่างที่มหาวิทยาลัยโตเกียวเองก็ใช้อูเมชูรองรับแขกเหรื่อเป็นปรกติ แถมยังมีบาร์ในรั้วมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาเข้าไปนั่งชิลได้ไม่ต่างจากร้านกาแฟ ซึ่งนั่นก็พอบอกได้ว่าการกินเหล้าไม่เท่ากับบาป
อูเมชูไม่เพียงได้รับความนิยมในครัวเรือน แต่สำหรับงานเทศกาลระดับประเทศ อย่างเทศกาลชมดอกซากุระช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน มันก็ถูกใช้เป็นเครื่องดื่มสำคัญในวงปิกนิกด้วยเหมือนกัน และเป็นวาระที่พ่อแม่จะอนุญาติให้ลูกๆ ได้ลองลิ้มชิมรสหวานหอมของอูเมชูกันพอเป็นกระสัย หรืออย่างในเทศกาล ‘ชมดอกบ๊วย’ เทศกาลเล็กๆ ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม ขั้นระหว่างที่ดอกซากุระกำลังจะบานนั่นก็มีอูเมชูเป็นเครื่องดื่มชูบรรยากาศเช่นกัน
ขวดไหนดี แก้วไหนโดน
ถึงอูเมชูจะหมักง่ายจนกลายเป็นเหล้าบ้านๆ ที่ใครก็ทำได้ แต่พอขึ้นชื่อว่าเป็นสินค้าจากแดนปลาดิบแล้วมันย่อมมีความไม่ธรรมดาซ่อนอยู่ อูเมชูเลยถูกหยิบมาปรับนิดปรุงหน่อยจนได้รสชาติเอกลักษณ์ มีให้เลือกจิบหลากหลายในระดับถ้าเดินเข้าซูเปอร์มาเก็ตต้องตาลายเพราะเลือกไม่ถูก และต่อไปนี้คือตัวอย่างอูเมชูสูตรน่าสนใจที่แสดงถึงความหลากหลายของเหล้าที่เราหลงรัก
Gyokuro Umeshu
อูเมชูสูตรชาเขียวจากเกียวโต เคลมว่าใช้ใบชาเขียว ‘เกียวกุโระ (Gyokuro)’ หรือชาเขียวคุณภาพดีที่สุดมาหมักผสมกับบ๊วยและเหล้า จนได้อูเมชูสีเขียวสว่างที่มีรสเปรี้ยวหวานเมื่อแรกจิบ แต่ติดรสขมนิดๆ ในลำคอจากใบชาเขียว เป็นสูตรอูเมชูที่นักดื่มต่างบอกว่าช่วยเจริญอาหารมากๆ
Hyakunen Umeshu
สำหรับสายขนมหวาน โดยเฉพาะคนรักช็อคโกแล็ต อูเมชูสูตรบรั่นดีนี้เหมาะมากสำหรับคุณ เพราะรสชาติของบรั่นดีเกรดพรีเมียมที่บ่มกว่า 5 ปี เมื่อผสมกับรสเปรี้ยวหวานอ่อนๆ ของบ๊วย มันช่างลงตัวเมื่อดื่มคู่กับขนมรสขมปร่าอย่างช็อคโกแล็ตหรือเค้กรสเข้มสักชิ้น
Suntory, Marude Umeshu Non Alcohol
สำหรับใครที่ไม่กินเหล้าหรือแพ้เหล้า แต่ยังอยากลิ้มรสของอูเมชูต้องขวดนี้เลย เพราะเป็นอูเมชูแบบ Alchohol-free แต่เคลมว่ารสชาติดีเหมือนอูเมชูทุกประการ เป็นสูตรที่ได้รับความนิยมในครอบครัวที่มีเด็กเล็กผู้อยากร่วมวงจิบกับพ่อแม่แต่ยังไม่ถึงวัย
Text by_3 a.m. meal