ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา วีรพร นิติประภา น่าจะเป็นนักเขียนที่ให้สัมภาษณ์เยอะที่สุดคนหนึ่ง โดยเรื่องราวของ generations และการปะทะกันของทัศนคติในคนต่างยุคต่างสมัย เห็นจะเป็นประเด็นร้อนที่นักเขียนท่านนี้มักถูกถามอยู่บ่อยๆ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสพบปะกับเธออีกครั้ง เราเลยไม่พลาดที่จะพูดคุยถึงอีกประเด็น ที่เราคิดว่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคืออีกบทบาทที่ถูกซุกซ่อนอยู่ภายใต้ฉากหน้าของการเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ วีรพร นิติประภา คือแม่ของลูกชายคนหนึ่ง
แน่นอนว่าที่คุณจะได้อ่านไม่ใช่แค่บทบาทความเป็นแม่ แต่ยังรวมถึงแง่มุมการเติบโตของเธอเอง ที่ว่าด้วยความ ‘เบลอ’ มาตั้งแต่ยังเด็ก ผ่านความเจ็บปวดรวดร้าว เรื่องรักตามประสามนุษย์ จนมาถึงจุดที่ชีวิตมีความสุขดี—ไม่กล้าใช้คำว่าประสบความสำเร็จ เพราะเธอคงไม่ยินดีให้เราใช้สักเท่าไหร่ แน่ๆ
Life MATTERs : วัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร
วีรพร : เรามีวัยเด็กที่ค่อนข้างสับสน ไม่รู้ว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร แล้วเราเข้าใจว่าตัวเองอาจมีสันดานติสต์อยู่แต่ต้น โดยธรรมชาติแล้วนะ แม่เราก็เป็นครูสอนเปียโนอีก เราเลยเติบโตมากับเสียงเปียโนคลาสสิกในบ้าน พอมองกลับไป เออ กูก็คงจะติสต์มาแต่เกิดแหละ ก็เลยเป็นคนแปลกๆ เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ เคยอยู่ห้องเด็กเรียนก็ไม่รู้ว่าเขาจะเรียนอะไรกันนักหนา เราไม่มีภาพเลยว่าโตขึ้นจะเป็นหมอ เป็นพยาบาล อะไรแบบนั้น เบลอไปหมด
Life MATTERs : ย้อนเวลากลับไป คุณถือเป็นเด็กที่อยู่กับกรอบหรือกฎเกณฑ์มากแค่ไหน
วีรพร : ตามยุคสมัยเลยค่ะ คืออย่างแม่เรา ถึงเขาจะไม่ได้เป็นคนเจ้าระเบียบ แต่เขาก็เป็นคนเยอะๆ ซึ่งตัวเราเองก็เป็นที่คนเยอะไปอีกแบบหนึ่ง อย่างเช่น ครั้งหนึ่งที่ชายกระโปรงเราหลุดลุ่ยกลับมาจากโรงเรียน เราก็ไม่รู้จะบอกแม่ว่าใส่ยังไงมันถึงหลุด แต่ถึงจะหลุดเราก็สามารถใช้ชีวิตไปได้ไง แต่แม่เราเขาก็จะตีโพยตีพายมาก ทำไมแกถึงเป็นคนแบบนี้ ไม่เรียบไม่ร้อยเลย ทำไมแกสอยชายกระโปรงไม่ได้ ซึ่งเราก็จะแก้ปัญหาด้วยการเอาสกอตช์เทปติด (หัวเราะ) หรืออย่างโรงเรียนก็ด้วย ตอน ม. ต้น เราก็ชอบหนีเรียนนะ จากโรงเรียนแถวรามฯ หนีไปบางกะปิโน่น กระโดดหนีไปกับคนพายเรือขายก๋วยเตี๋ยว สมัยนั้นลำคลองยังใสอยู่เลย
Life MATTERs : ตอนนั้นคุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนหลุดกรอบไหม
วีรพร : ไม่นะ เราไม่ถึงขนาดหลุดกรอบ แต่เป็นคนไม่เอาไหนมากกว่า เราไม่อยากเรียน หนีได้ก็หนี ถ้าโดนอาจารย์จับได้ก็จะกลับไปทำตัวเรียบร้อยอยู่สักพักหนึ่ง แต่พอเบื่อก็หาทางหนีอีก
Life MATTERs : แล้วการหนีได้พาคุณไปเจออะไรบ้าง
วีรพร : เราได้ไปประท้วงที่หน้ารามฯ เพราะบ้านอยู่แถวนั้น เรามีประสบการณ์ทางการเมืองอยู่บ้าง แล้วยังได้อยู่กับหุ่นละครจันทร์เสี้ยว ครูสลัม คือเราเป็นพวกชอบเที่ยวเล่นแหละ เรามีเพื่อนที่สอนหนังสือที่สลัม เพื่อนที่ออกค่ายพัฒนาชนบท เพื่อนที่เล่นละคร เพื่อนที่เล่นดนตรี เพื่อนที่ต่อต้านเผด็จการ ซึ่งเราก็จะอยู่ตรงนั้น เป็นคนอายุน้อยๆ คนหนึ่ง แต่พอเหตุการณ์เกิดขึ้น ตัวเราที่ยังเด็กเกินกว่าจะรับมือก็เลยช็อก ช็อกอยู่สองสามปีได้ จากนั้นก็เหมือนว่าเราตกอยู่ในสภาวะที่ไม่รู้จะสนใจอะไร ไม่รู้ว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร ซึ่งมันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่แหละ แต่ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้นเราก็ไปโรงเรียนอย่างเด็กเรียบร้อยอยู่สองสามปี ไม่ได้เรียนดี ไม่ได้เรียนแย่ ตัวเราเป็นเด็กที่โตมาอย่างไม่มีความหลงใหลใฝ่ฝันเลยนะ ซึ่งเมื่อมองกลับไป เราว่าก็อาจจะเป็นเพราะเรื่องนั้นแหละ
Life MATTERs : การเป็นเด็กเบลอๆ ทำให้เราโตขึ้นเป็นคนเบลอๆ หรือเปล่า
วีรพร : ใช่ แต่มันดีนะ เราว่าข้อดีอย่างหนึ่งคือมันทำให้เราไม่มีอีโก้ เพราะมันมัวแต่เบลอ มันไม่รู้สึกว่าตัวเองเจ๋ง หรือมีอะไรดี เรามักจะทำทุกอย่างด้วยความไม่รู้อะไรเลย
คนมักจะถูกดึงดูดจากความแปลกของเรา แต่คือทุกคนก็ไม่ได้เห็นไงว่าจริงๆ แล้วเราก็เป็นแค่คนเบลอๆ คนหนึ่ง เขาอาจคาดหวังว่าเราจะฉลาดกว่านี้ เราไม่ใช่ผู้หญิงเจ๋งหรืออะไรน่ะ ที่ถามว่าคนเบลอๆ แบบเราน่าจะอยู่คนเดียว แต่อยู่คนเดียวมันเหงาไง พอมีคนมาจีบก็ไป รักๆ เลิกๆ กันไป จนเบื่อ สุดท้ายก็แต่งเสียเลย
Life MATTERs : ฟังดูแล้ว คนเบลอๆ แบบคุณน่าจะใช้ชีวิตคนเดียวง่ายกว่า แล้วทำไมจู่ๆ ถึงตัดสินใจมีชีวิตคู่ขึ้นมา
วีรพร : เพราะมันเป็นเป้าหมายไง อย่างน้อยชีวิตก็มีอะไรสักหน่อย มีคนมาจีบเราเยอะนะ แต่น่าจะเป็นเพราะความแปลกหรอก คนมักจะถูกดึงดูดจากความแปลกของเรา แต่คือทุกคนก็ไม่ได้เห็นไงว่าจริงๆ แล้วเราก็เป็นแค่คนเบลอๆ คนหนึ่ง เขาอาจคาดหวังว่าเราจะฉลาดกว่านี้ เราไม่ใช่ผู้หญิงเจ๋งหรืออะไรน่ะ ที่ถามว่าคนเบลอๆ แบบเราน่าจะอยู่คนเดียว แต่อยู่คนเดียวมันเหงาไง พอมีคนมาจีบก็ไป รักๆ เลิกๆ กันไป จนเบื่อ สุดท้ายก็แต่งเสียเลย
Life MATTERs : คุณเคยหวาดกลัวต่ออนาคตของชีวิตคู่มั้ย
วีรพร : ไม่เลยนะ เรากับสามีก็คิดแค่ว่าอยู่กันได้ก็อยู่กันไป อยู่กันไม่ได้ก็เลิกนะ เราไม่ได้เชื่อในเรื่องรักกันจนชั่วฟ้าดินสลายอยู่แล้ว พออยู่กันสองคนได้ปีนึงก็เบื่อ เราก็มีลูก ก็เลี้ยงลูก เราก็เลี้ยงลูกแบบเรานะ ก็ส่งเขาไปโรงเรียนตามปกติ ไม่ใช่โรงเรียนที่ดีอะไร ก็แค่ใกล้บ้าน
เราสองคนตั้งโจทย์ว่าลูกเราจะต้องเกเรสุดๆ แต่จริงๆ มันก็เหมือนเป็นโจ๊กในครอบครัวแหละ ซึ่งพอคิดแบบนี้อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมันเลยดีกว่าความคาดหวังของเราหมดไง
Life MATTERs : คือไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยความคาดหวัง
วีรพร : คาดหวังสิ แต่พวกเราคาดหวังกันว่า พอลูกอายุ 15 เรากับสามีจะต้องไปแจ้งความหรือตามลูกเราที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ถ้ามันไม่ติดหญิงก็ติดยา ซึ่งจริงๆ ก็แปลกนะ เพราะเราสองคนตั้งโจทย์ว่าลูกเราจะต้องเกเรสุดๆ แต่จริงๆ มันก็เหมือนเป็นโจ๊กในครอบครัวแหละ ซึ่งพอคิดแบบนี้อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมันเลยดีกว่าความคาดหวังของเราหมดไง เราไม่มีความเชื่อในเรื่องที่คนอื่นๆ เขาเชื่อ เช่น ต้องประสบความสำเร็จในชีวิต เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประสบความสำเร็จในชีวิตคืออะไร มีบ้าน มีรถ มีผัวมีเมีย ชื่อเสียง เงินทอง นี่ไม่ใช่อะไรที่เราสองคนให้ค่าอยู่แล้ว ก็พังก์น่ะนะ จนถึงเดี๋ยวนี้เวลาคนถามเราว่ารู้สึกยังไงทำยังไงถึงประสบความสำเร็จในชีวิต เราก็ยังแบบ…เฮ้ยยย…ไม่ดิ ชีวิตมันไม่ได้อยู่ที่เขียนหนังสือได้รางวัลเล่มเดียวนะ มันซับซ้อนกว่านั้นมาก ความสุข ความรัก ความฝัน ความหวัง คุณค่าด้านต่างๆ มากมายบานตะไท นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราไม่ได้กดดันลูก หรือมีอะไรจะไปกดดันเขา เราสปอยล์เขาให้ได้ทำได้เป็นทุกอย่างเท่าที่สามารถ เพราะโลกข้างนอกนั้นจะไม่ให้อะไรเขา มิหนำซ้ำยังจะลิดรอนเขาเอาทุกสิ่งอย่างด้วย
Life MATTERs : คือมองให้เป็น worst case ไว้ก่อน?
วีรพร : ใช่ แล้วเรากับสามีก็ไม่ใช่ประเภทที่มีอีโก้อะไร คิดด้วยซ้ำว่า เออ จริงๆ เราก็เหมาะสมกับลูกที่ติดหญิง ติดยา ทำผู้หญิงท้องตอนอายุ 16 แล้วเราจะได้เป็นปู่เป็นย่ากันตอนอายุ 40 หรือจริงๆ ถ้าลูกมันติดยาเราก็จะลากมันพาไปเลิก หรือถ้ามันติดหญิง สักวันมันก็คงจะโดนทิ้งแล้วสุดท้ายก็คงต้องกลับมาอยู่กับเรา เรามองกันอย่างนี้จริงๆ เลยนะ แต่ปรากฏว่าไปๆ มาๆ ลูกเราดันเรียนเก่ง เป็นเด็กสุภาพเรียบร้อย ในขณะที่พ่อแม่พูดคำหยาบตลอดเวลา เขากลับได้รางวัลตลอด บางทีพอเราไปโผล่ในงานโรงเรียน พอคุณครูเห็นเราเขาก็ตกใจนะ (หัวเราะ)
LIfe MATTERs : มันเรียกว่าเป็นตลกร้ายได้มั้ยที่ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปจากความคาดหวังของคุณหมด
วีรพร : ใช่ แล้วเราก็จะนึกถึงตอนเด็กๆ นะ ที่ครูจะมองแม่เราอย่างกับนางฟ้า แต่ลูกนี่อย่างกับโจร พอมาตอนนี้ลูกเราก็เหมือนเทวดา แต่พ่อแม่นี่กลายเป็นโจรแทน
บางทีเราก็บอกเขานะว่าถ้าไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน เรียนที่อยากรู้ ถ้าไม่อยากรู้ก็ไม่ต้องเรียน แต่เขาก็จะเรียนไปเรื่อยๆ เพราะความอยากรู้เขาไม่มีสิ้นสุด ซึ่งเขาก็แฮปปี้กับชีวิตในแบบเขา
Life MATTERs : พอใจไหมที่ลูกเป็นแบบนี้
วีรพร : เราพอใจที่เขาเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเราก็คงเลี้ยงเขามาเป็นแบบนั้นมั้ง แล้วเขาก็เลือกจะเป็นคนเรียบร้อย เรียนเก่ง แล้วบางทีเราก็บอกเขานะว่าถ้าไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน เรียนที่อยากรู้ ถ้าไม่อยากรู้ก็ไม่ต้องเรียน แต่เขาก็จะเรียนไปเรื่อยๆ เพราะความอยากรู้เขาไม่มีสิ้นสุด ซึ่งเขาก็แฮปปี้กับชีวิตในแบบเขา หลายๆ อย่างเราก็มีอะไรแปลกๆ นะ อย่างเราก็คาดหวังตัวเองว่าน่าจะย่ำแย่ในชีวิตคู่นะ แต่เราก็อยู่กันมาค่อนข้างดี ลูกถึงกับออกปากว่า น่าประหลาดใจมากที่พ่อกับแม่เป็นคนที่มีศีลธรรมสูงมาก แต่ภาพลักษณ์เราดูไม่เหมือนไง แต่เรากลับมีมาตรฐานทางศีลธรรมสูงนะ
Life MATTERs : มาตรฐานทางศีลธรรมที่ว่านี้มันมาจากไหน
วีรพร : เราว่ามันมาจากการเคารพตัวเองนะ เราไม่เอาเปรียบใคร เราไม่คิดจะเหยียบหัวคนอื่น คือมันไม่ใช่เพราะพระสอนอะไรอย่างนั้นด้วยนะ แต่เราคิดแค่ว่า ทำแบบนี้มันทุเรศว่ะ เราเป็นคนมีมาตรฐานแปลกๆ น่ะ
ถ้าเขาจะดื้องั้นก็ต้องอ่านหนังสือให้เยอะสิ เพราะถ้าลูกไม่เชื่อใคร ก็ต้องเชื่อตัวเอง อ่านให้เยอะลูกจะได้ไม่พลาด จะได้ช่วยตัวเองได้ เราเลยพยายามให้เขาอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก
Life MATTERs : แล้วมาตรฐานสำหรับความเป็นแม่ของคุณคืออะไร
วีรพร : เราคิดว่าหน้าที่ของพ่อแม่คือแค่ช่วยลูกค้นหาศักยภาพ ไม่ใช่ชี้นำ พอมีลูกเราก็แนะนำแค่ว่า ลองกินไอ้นี่มั้ย เล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้มั้ย อ่านหนังสือเล่มนี้มั้ย ถ้าไม่ชอบเราก็แค่ผ่าน พาเขาค้นหาอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ แล้วลูกเองก็มีนิสัยส่วนตัวของเขา ทุกคนเกิดมามีนิสัยส่วนตัว เพียงแต่มันจะโดนดัด โดนปรับ จนในที่สุดเขาก็สูญเสียความน่าจะเป็นของเขา สูญเสียความเป็นไปได้ที่จะเป็นบางอย่างของเขาไป แต่ตอนที่ลูกยังเด็กเราก็ไม่รู้หรอกว่าความน่าจะเป็นที่ว่านี่คืออะไร หรือต่อให้เขาอายุมากขึ้นเราก็ไม่มีสิทธิ์รู้หรอก นอกเสียจากว่าเราไปด้วยกัน ค้นหาไปเรื่อยๆ ลูกได้คะแนนดี ก็แค่บอกว่าดีใจด้วย แต่เราไม่เคยโห่เฮว่าลูกกูเรียนเก่ง แต่เราจะบอกลูกว่า อันนี้เก่งแล้ว งั้นไปทำอย่างอื่นที่เราไม่เก่งกันดีกว่า อย่างเราชวนลูกไปเล่นเกม ลูกก็บอกว่า จะดีหรือแม่ เกมไม่เห็นดี แต่เราก็จะบอกกับเขาว่า ลูกรู้ได้ไงว่าเกมมันไม่ดี ลูกยังไม่ได้เล่นเลย ลองเล่นก่อนไหม เราก็ให้เขาไปลองเล่นเกมอะไรของเขาไป เกมยิง เกมสร้างเมืองสร้างบ้าน ก็เท่านั้น หรืออย่างคุณแม่เราก็เคยบอกว่าเราต้องเอาลูกให้อยู่นะ เพราะโตไปลูกเราจะดื้อ แต่เพราะงั้นเราเลยคิดว่า ถ้าเขาจะดื้องั้นก็ต้องอ่านหนังสือให้เยอะสิ เพราะถ้าลูกไม่เชื่อใคร ก็ต้องเชื่อตัวเอง อ่านให้เยอะลูกจะได้ไม่พลาด จะได้ช่วยตัวเองได้ เราเลยพยายามให้เขาอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก
Life MATTERs : คุณสนุกกับการเลี้ยงลูกหรือเปล่า
วีรพร : มากเลย การเลี้ยงลูกเป็นสิ่งหนึ่งที่เราชอบมาก เราไม่ได้คิดว่าเราให้อะไรกับเขานะ เราสนใจมากกว่าว่าเรากำลังได้รับอะไรจากเขา เราว่าพ่อแม่หลายคนพลาดมากนะที่ไม่มองว่าการเลี้ยงลูกคือการเติบโตของตัวเอง มันเป็นประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่งเลยนะ คนไม่ค่อยจะสนใจว่าพวกเขาได้อะไรจากลูก พ่อแม่ที่คิดว่าต้องวางเส้นทางชีวิตให้กับลูกนี่ พวกเขาไม่ได้เรียนรู้เลย อย่างที่บอกไงว่าเราต้องค้นหาศักยภาพของเด็กคนหนึ่งไปด้วยกัน จนถึงเดี๋ยวนี้เราก็ยังบอกกับลูกอยู่เลยว่า ถ้าตอน 30 เกิดอยากเป็นหมอขึ้นมา เราก็ไม่แปลกใจนะ ก็กลับไปเรียนหมอเอาละกัน ชีวิตมันคือประสบการณ์ เหมือนกันกับการเลี้ยงลูก เราชอบทุกวันที่อยู่กับเขา และเราเรียนรู้เยอะมากจากการเห็นมนุษย์คนหนึ่งเติบโต เราพบว่าจริงๆ แล้วคนเราต้องการน้อยมากเลยนะ เด็กทุกคนต้องการเป็นคนเก่ง ต้องการเป็นคนดี ถ้าผิดไปจากนี้คุณโทษเด็กไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะพ่อแม่ครอบครัว ก็โรงเรียนแล้วล่ะ
ตอน 6 ขวบลูกวาดรูปเขาก็จะเอามาอวดเพื่อให้เรา approve ว่า ลูกเขียนเก่งจัง ได้สมุดพกมาก็อวด เด็กต้องการสร้างความพึงพอใจให้ผู้ปกครองอยู่เสมอ แต่ถ้าเขาโตขึ้นมางี่เง่า เฮงซวย มันก็ผิดที่ผู้ใหญ่นี่แหละ แต่เราก็เคยพูดกับสามีตอนที่ลูกยังเล็กๆ ว่า สัญญากันข้อนึงนะ ไม่ว่าลูกจะโตขึ้นเป็นยังไง อย่าเลิกรักลูก ให้รักเขาเหมือนที่รักเขาวันนี้ ในวันที่เขาไม่มีอะไรเลย หัวล้าน ฟันหลอ ขอแค่นี้พอ พอเราทำข้อตกลงนี้ขึ้นไม่ว่าลูกจะโตขึ้นเป็นยังไงเราก็จะไม่ผิดหวัง เพราะขนาดตอนที่เขาไม่มีอะไรเลยเรายังรักเขาแทบตาย ฉะนั้นต่อให้โตขึ้นมาติดยา ติดหญิง แล้วคุณเลิกรักเขา แม่งบ้าว่ะ ทำไมตอนที่เขาไม่มีอะไรให้คุณคาดหวังคุณเสือกรักเขาฉิบหาย คุณให้เขาทุกอย่าง แต่พอเขาโตขึ้น เป็นตัวเขาเอง คุณกลับไม่รักเขาแล้ว มันผิดมาก
ถึงคุณจะเขียนนิยายได้ซีไรต์ นั่นก็ไม่ได้แปลว่าลูกคุณจะเขียนนิยายแล้วได้ซีไรต์อย่างคุณนี่ คุณเป็นหมอ คุณก็รู้จักอยู่ชีวิตเดียว และมันก็ไม่ได้หมายความว่าลูกคุณเป็นหมอแล้วจะไหว คุณก็รู้ว่างานมันหนัก
Life MATTERs : การเลี้ยงลูกมีแง่มุมที่น่ากังวลบ้างไหม
วีรพร : การเลี้ยงลูกจริงๆ มันก็มีเรื่องน่ากลัวนะ อย่างบางช่วงก็จะมีความกังวลว่า ลูกจะเลือกผิดไหม ซึ่งเราว่าปัญหาของพ่อแม่ก็คือความกลัว กลัวว่าลูกจะเลือกไม่ได้ กลัวว่าเขาจะเลือกผิด ก็เลยเลือกให้ลูกเองเลย แต่มันไม่ได้ไง เพราะคุณเลือกโดยไม่ดูตัวคน แทนที่จะพัฒนาศักยภาพให้เขาเลือกได้ด้วยตัวเอง คุณกลับไปเลือกเขาเอง ซึ่งคุณก็ไม่มีทางเลือกอย่างเขาได้ คุณก็จะเลือกอย่างคุณ ซึ่งที่สุดท้ายแล้วลูกก็อาจไม่ได้อยากเป็นอย่างคุณก็ได้ หรือต่อให้อยากก็อาจทำไม่ได้ตามที่คุณหวัง ซึ่งคุณกับเขาก็จะผิดหวัง เราไม่เคยบังคับลูกเรา เพราะเราไม่อยากให้เขาผิดหวัง คุณมีชีวิตเดียว ถึงคุณจะเขียนนิยายได้ซีไรต์ นั่นก็ไม่ได้แปลว่าลูกคุณจะเขียนนิยายแล้วได้ซีไรต์อย่างคุณนี่ คุณเป็นหมอ คุณก็รู้จักอยู่ชีวิตเดียว และมันก็ไม่ได้หมายความว่าลูกคุณเป็นหมอแล้วจะไหว คุณก็รู้ว่างานมันหนัก
Life MATTERs : แต่ก็มีคนมักพูดว่า เพราะเขารักลูกไง เลยอยากให้ลูกได้ดี
วีรพร : เราไม่รู้ไงว่าดิบดีคืออะไร เรารู้แค่ว่าอยากให้ลูกเรามีความสุข อยากให้มันหัวเราะ แล้วเราก็รู้ว่าพอคุณโตเป็นผู้ใหญ่คุณก็ไม่มีความสุขแล้ว แค่นี้ก็แย่พอแล้ว ซึ่งเราก็หยุดการเติบโตเขาไม่ได้ สักวันเขาก็ต้องโต สักวันเขาก็ต้องเข้าสู่ความน่าสมเพชเวทนาของการเป็นผู้ใหญ่ เขาต้องอกหัก แล้วคุณก็ช่วยเขาไม่ได้ เขาจะไปคบเพื่อนสักคน แล้วเขาจะถูกหักหลัง แต่คุณก็ห้ามเขาไม่ได้ แค่นี้ก็แย่พอแล้ว ซึ่งคุณก็ยังจะมาบังคับให้เขาเป็นในสิ่งที่คุณก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะเป็นไหวไหม มันยากเกินไป ลำพังแค่โตตามศักยภาพก็ยากแล้ว
Life MATTERs : คุณมองว่า ความคาดหวังที่พ่อแม่มีต่อลูกในสังคมปัจจุบันมันผ่อนปรนลงบ้างหรือยัง
วีรพร : เรามองว่ามันมีเรื่องผิดปกติของสังคมประเทศนี้ คือโรงเรียนไม่พอ การศึกษาเป็นอภิสิทธิ์ แล้วพ่อแม่ก็บ้าประมาณกัน มันเป็นสถานะทางสังคมอย่างหนึ่งซึ่งผิดตั้งแต่ต้นแล้วที่เอาการศึกษามาเป็นแบรนด์เนมหรือฐานันดร แล้วคุณก็อ้างความรัก ซึ่งความรักที่คุณอ้างมันเป็นแบบไหนล่ะ เราก็ไม่รู้นะ แต่เราไม่ค่อยจะเห็นประเทศนี้มีความสุขน่ะ มันเรียนหนังสือในโรงเรียนที่เหมือนจะมีชื่อเสียงแต่ก็ห่วย เสร็จแล้วก็ไปเรียนพิเศษที่เหมือนจะสอนดี แต่ก็ห่วยอีก เพื่อที่จะเข้าไปในมหา’ลัย ที่พอออกไปอยู่ในโลกก็พบว่าไม่ได้ฉลาดเท่าไหร่เลย มันผิดทั้งระบบ เราเป็นสังคมที่สร้างคนไม่มีความสุข มีพ่อแม่ที่ไม่มีความสุขที่จะพยายามลิดรอนความสุขของลูก เพื่อจะให้เขาเติบโตเป็นพ่อแม่ที่ไม่มีความสุขอีก
คุณไม่เคยเรียนเพราะอยากรู้ คุณไม่เคยเห็นคุณค่าของการได้รู้ ทั้งที่มันเป็นสิ่งเดียวที่จะพาคุณไปสุดหล้าฟ้าเขียว เป็นสิ่งเดียวที่เป็นอำนาจที่แท้จริงของมนุษย์หนึ่งคน
Life MATTERs : แต่ก็อาจจะเป็นปกติไหม ที่พ่อแม่มักจะดีใจเมื่อลูกได้เรียนในที่ดีๆ ?
วีรพร : เราจัดงานเลี้ยงให้เด็กที่เอ็นทรานซ์ติดเพราะเขามีสิทธิ์ที่จะได้เรียน ในขณะที่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกับเขาอีกกว่า 80% ไม่ได้เรียนในระบบมหา’ลัย มันหยาบคายนะ คุณฉลองให้ลูกของคุณที่ได้อภิสิทธิ์เหนือกว่าลูกชาวบ้านทั้งที่จ่ายภาษีเท่าๆ กัน คุณรู้สึกยืดที่ลูกสอบติดจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ แต่มันบ้าว่ะ บ้าหนักกว่านั้นคือถอยรถให้เลย ทำงานตัวเป็นเกลียวผ่อนรถให้มัน แล้วบอกว่าเขาสมควรได้เพราะเก่ง เก่งที่ไหนล่ะ ลูกคุณแค่ average มันแค่การศึกษาพื้นฐาน มหา’ลัยที่ดีที่สุดของเราไม่ใช่ระดับ Ivy อะไรเลย ยังไกลมาก แล้วแค่นี้คุณภาคภูมิใจแล้ว คุณจ่ายค่าเรียนมหาศาลให้โรงเรียนเอกชน แป๊ะเจี๊ยะเป็นล้านๆ ระบบครอบครัวของเราน่ากลัวมาก แล้วพ่อแม่ต้องหาเงินล้านเพื่อให้ลูกขึ้นมาเป็น somebody ในมโนนึก แต่ถ้าเกิดคุณถีบลูกออกไปนอกประเทศ เขาก็อาจเป็นแค่คนไม่ได้เรื่องได้ราวคนหนึ่ง เป็น nobody ที่มีอำนาจการแข่งขันต่ำมาก ไม่สามารถต่อกรอะไรกับใคร เพราะคุณไม่เคยให้ทัศนคติเขา การเรียนที่นี่ไม่เคยให้ทัศนคติ การเรียนที่นี่คือขอให้สอบผ่าน พอ ม.ปลายก็ไปเรียนกวดวิชา พอเข้ามหา’ลัยก็เขียนเปเปอร์ไม่เป็น คุณไม่เคยเรียนเพราะอยากรู้ คุณไม่เคยเห็นคุณค่าของการได้รู้ ทั้งที่มันเป็นสิ่งเดียวที่จะพาคุณไปสุดหล้าฟ้าเขียว เป็นสิ่งเดียวที่เป็นอำนาจที่แท้จริงของมนุษย์หนึ่งคน ข้อนี้เราให้ลูกเราตั้งแต่ต้น คือเรียนเพราะอยากรู้ เรื่องน่าแปลกใจคือ มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความอยากรู้ แต่ทำไมถึงไม่เรียนล่ะ เพราะโรงเรียนมันเฮงซวยไง คุณก็ต้องหล่อเลี้ยงความอยากรู้นี้ไปเรื่อยๆ ให้ทัศนคติที่ถูกต้อง ให้สภาพแวดล้อมที่ดีต่อการเรียนรู้ เราเลี้ยงลูกแค่นี้เอง
Life MATTERs : แล้วการเลี้ยงลูกในยุคนี้ล่ะมันยากขึ้นไหม
วีรพร : มันยากตรงที่ว่า พ่อแม่ดูจะทุ่มเททุกอย่างลงไปกับลูก จนพ่อแม่เองก็ไม่มีชีวิตของตัวเอง ลูกก็ไม่มีชีวิตของตัวเอง มันกลายเป็นก้อนขยุ้มๆ น่ะ พ่อแม่ก็ใช้ชีวิตของลูก ลูกก็ใช้ชีวิตของพ่อแม่ เราว่ามันลำบากนะ แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะยากขึ้นหรือง่ายขึ้นแค่ไหนนะ อย่างเราที่มีลูกคนเดียว เราก็บอกเขาว่าถ้าสักวันหนึ่งถ้าเขาอยากกลับมาอยู่กับเราก็กลับมา แต่ถ้าเขาไม่อยากกลับมาเราก็เข้าใจว่ะ ซึ่งลูกก็เคยถามนะว่า แล้วพ่อกับแม่จะอยู่ยังไง ก็อยู่กันอย่างคนไม่มีลูกสิ ลูกเราก็บอก โห ทำไมพูดอย่างนี้ล่ะ แต่เราก็บอกเขาว่า ก็คนไม่มีลูกเขายังอยู่กันได้ แต่ลูกก็ต้องจำไว้ว่า เราไม่ได้เลี้ยงเขาตอนแก่ เราไม่ได้อยู่กับเขาตอนเขาแก่ เขาไม่ต้องเสียสละตรงนี้ เขาไม่ได้ขอเรามาเกิด ต่างคนต่างไม่ได้เป็นหนี้กัน ตอนเราเลี้ยงเขา เราก็เลี้ยงด้วยความรื่นรมย์ เขาเติบโตมาทุกวัน เราก็มีความสุข
แบบนี้พ่อแม่ก็ไม่ได้ไปเต้นแอโรบิก ไม่ได้เมาหัวทิ่ม มัวแต่ทุ่มอยู่กับลูก ซึ่งพอตอนแก่แทนที่ลูกจะได้ใช้ชีวิตของเขาก็ต้องมานั่งพยาบาลหอบหิ้วคนสมองเสื่อม ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ใช่แม่ของลูกเราแล้ว
Life MATTERs : แต่มันก็จะมีความเชื่อว่า ลูกต้องดูแลพ่อแม่ตอนแก่สิ
วีรพร : แต่ตรงไหนไม่ทราบคือนามของความรัก เพราะถ้าคุณรักเขาคุณก็ต้องรู้สิว่าตรงไหนเขาอยู่แล้วมีความสุขก็ให้เขาอยู่ไป เราไม่ได้อยากให้ลูกมาติดอยู่กับเราหรอก กระทั่งตอนที่ลูกเราไปเมืองนอกเราก็บอกว่า ถ้าฉันตายขึ้นมา ฉันก็ตายปังเลยนะ จะไม่มีการอีเมลไปบอกว่าให้กลับมาดูใจนะ เพราะแม่ก็ไม่อยากให้ลูกเห็นแม่ตอนมีสายระโยงระยาง เราไม่อยากให้เขาจดจำเราแบบนั้น คนเราเกิดมาก็ต้องตาย ต่อให้มาส่งกูพันหนกูก็ต้องไปอยู่ดี (หัวเราะ) เขาก็ถามว่า จริงเหรอ ไม่ต้องลากันสักหน่อยเหรอ เราก็บอก ไม่เป็นไรถ้าไม่กลัว ถ้ากลัวและอยากให้มาส่งก็จะบอก แต่จะมาหรือไม่มาก็อีกเรื่องนะ เราไม่ได้ตั้งใจว่าลูกจะต้องมาเลี้ยงเรา หรือถ้าตอนแก่เราต้องกลายเป็นนักเขียนจนๆ ก็ไม่เป็นไร เราว่ามนุษย์เราควรมีชีวิตที่เต็มน่ะ ก็ถ้าพ่อแม่ทุ่มเทชีวิตให้กับลูก เอาชีวิตไปผูกวนกันแบบนี้ แล้วตอนแก่ก็หวังว่าเขาจะวนกลับมา ถึงที่สุดแล้วก็ไม่มีความสุขทั้งชีวิตเลยไง แบบนี้พ่อแม่ก็ไม่ได้ไปเต้นแอโรบิก ไม่ได้เมาหัวทิ่ม มัวแต่ทุ่มอยู่กับลูก ซึ่งพอตอนแก่แทนที่ลูกจะได้ใช้ชีวิตของเขาก็ต้องมานั่งพยาบาลหอบหิ้วคนสมองเสื่อม ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ใช่แม่ของลูกเราแล้ว
Life MATTERs : ความเป็นแม่มีจุดสิ้นสุดไหม
วีรพร : มันไม่มีจุดสิ้นสุด แต่มันมีจุดเริ่มต้นนะ ไอ้ความคิดแบบ live fast, die young มันก็ดีอย่างนะ คือมันทำให้เราคิดว่า เราคงไม่อยู่ถึงแก่หรอก เราใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ การอยู่กับลูกเราก็อยู่อย่างเต็มที่ เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง อยู่กันดีๆ ก็ถนอมน้ำใจกันไป รักทุกวินาทีที่อยู่ด้วยกัน ถามว่าพอลูกไปอยู่ไกลบ้านเราคิดถึงเขาไหม ก็คิดถึงนะ ก็อยากมีเงินจะได้บินไปหาเขาบ่อยๆ แต่ก็แค่นั้นแหละ
Life MATTERs : เหมือนว่าพ่อแม่หลายคนก็ยังมองลูกว่าเป็นทรัพย์สินอยู่
วีรพร : ใช่ ลูกเป็นทรัพย์สิน ลูกเป็นตัวแทนของทุกสรรพสิ่งที่คุณผิดหวัง ลูกจะต้องจ่ายทุกความเฮงซวยที่ผ่านเข้ามาในชีวิต สิ่งที่เขาต้องผ่านไปให้ได้เองมันก็เยอะแล้วไง การเป็นมนุษย์หนึ่งคนน่ะ เผลอๆ คุณอาจจบสิ้นในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี่ก็ได้ แค่นี้มันก็แย่แล้ว เราเลือกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจะอยู่ถึงอายุเท่าไหร่ จะได้มีเมียมั้ย จะได้มีลูกมั้ย มันบอกไม่ได้ด้วยซ้ำ ชีวิตมันเปราะบางมากนะ แล้วคุณก็ยังจะไปบีบบังคับลูกอีก เราไม่เข้าใจพ่อแม่ไทยนะ คุณผิดหวังกับเจ้านายมา คุณผิดหวังกับชีวิตมา แล้วคุณก็ให้ลูกคุณจ่าย ซึ่งมันบ้ามาก
เราไม่เคยคิดว่าเราเลี้ยงลูกได้ดีกว่าใครนะ เรื่องนี้มันพูดกันไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยเราก็มั่นใจว่าเขาเติบโตขึ้นเป็นตัวเขาเอง เป็นคนในแบบที่เขามีความน่าจะเป็น มีความเป็นไปได้ที่จะเป็น เราไม่แน่ใจว่าดีหรือไม่ดี ลูกคนอื่นเขาอาจดีกว่า รวยกว่า แต่เราหวังว่าในแบบนี้ลูกน่าจะเป็นคนที่มีความสุข เราแค่อยากให้เขามีความสุขน่ะ
Photos by Adidet Chaiwattanakul