“ภาพถ่ายครอบครัว ของที่ระลึกจากทริปวันหยุด ชีวิตประจำวัน เหล่านี้ห้อยแขวนอยู่ระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ยากเย็นเหลือเกินที่จะบอกว่าฉากเหล่านี้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือถูกจัดวางอย่างตั้งใจ เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในชีวิตจริงของบุคคลในภาพถ่ายพวกนี้…”—Weronika Gęsicka
‘Foam’ โดย Foam Museum แห่ง Amsterdam คือนิตยสารภาพถ่ายที่ไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง และล่าสุดกับฉบับที่ #48 นี้ ก็ยิ่งทำให้เราใจสั่น เพราะเป็นการรวมผลงานของ 20 ช่างภาพจากทั่วโลก ที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ Foam Talent Call 2017 ที่ได้รับการยกย่องว่ากำลังเชปทิศทางของวงการภาพถ่ายในอนาคต หนึ่งในนั้นคือ หฤษฎ์ ศรีขาว เจ้าของผลงานภาพถ่ายชุด Whitewash (หรือในชื่อไทยว่า ‘ไร้มลทิน’) ที่บอกเล่าการตีความวิกฤติการเมืองไทยในปี 2553 เอาไว้ภายใต้ภาพงามๆ ซึ่ง Foam ฉบับนี้จะประกอบด้วยภาพชุดใหม่ล่าสุดของเขาในชื่อ Mt. Meru
แน่นอนว่าทั้ง 20 คนในเล่มล้วนน่าติดตาม แต่ที่เราจะหยิบยกมาเล่าในวันนี้คืออีกหนึ่งใน 20 ผู้เป็นเจ้าของภาพชวนสะดุดตาบนหน้าปก Foam #48 นั่นคือ Weronika Gęsicka
เธอคือช่างภาพสาวชาวโปแลนด์วัย 33 ผู้หลงใหลในอดีตกาลและความทรงจำ, ชอบหนังเรื่อง The White Ribbon (2009, Michael Haneke) และ The Cabinet of Dr. Caligari (1920, Robert Wiene), ทำงานกับวัตถุอย่างการเย็บผ้า ไม้ และโลหะ เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางศิลปะ และเชื่อว่าภาพถ่ายทุกฟอร์แมตไม่มีอะไรดีที่สุด แต่ต่างมีฟังก์ชั่นของมัน ไม่ว่าจะเป็นฟิล์มที่ให้ภาพสวยคมชัด โพลารอยด์ที่ให้บรรยากาศเฉพาะตัว หรือดิจิตอลที่ทำให้เราแชะภาพได้ทุกขณะของชีวิต
และข้อความในย่อหน้าแรกนั้น เรายกมาจากคำบรรยายภาพถ่ายชุดล่าสุดของเธอที่ชื่อว่า Traces (2017) ซึ่งเป็นการนำภาพถ่ายวินเทจของอเมริกายุค 50s-60s ที่เธอได้มาจากกรุภาพเก่าในอินเตอร์เน็ต ฐานข้อมูล ห้องสมุด และคลังภาพอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจ ทั้งหมดจากร่วมพันรูป คัดมาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมารวมกับความรักความชอบในหนังเพลงอเมริกันยุค 50s และประกอบสร้างในบริบทใหม่ผ่านโปรแกรม Photoshop เพื่อเล่นกับความจริงความลวงของภาพ รวมถึง ‘ความเป็นภาพถ่าย’ โดยตัวของมันเองด้วย
นอกจากการเรียนศิลปะและถ่ายภาพที่กรุงวอร์ซอว์แล้ว แรงบันดาลใจของเวโรนิกายังมาจากการไล่อ่านทุกอย่างเกี่ยวกับ ‘ความทรงจำ’ และ ‘จิตวิทยา’ เพราะเชื่อว่าความทรงจำคือสิ่งที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของเรา ตั้งแต่บทวิจัยทางวิทยาศาสตร์จนถึงบล็อกในอินเตอร์เน็ต เรื่อยมาจนพบว่าสำหรับบางคน ความทรงจำก็เป็นเรื่องคลุมเครือและอาจจะไม่ได้เป็นวัตถุคงสภาพอย่างที่เราคิดกัน เหมือนกับภาพถ่ายที่เธอพบในกรุเหล่านั้นเอง ก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่าคือความทรงจำแท้ๆ ที่ไม่ได้ถูกบิดเบือน
โดยเธออธิบายเพิ่มว่า ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เราไม่รู้ว่าบุคคลในภาพถ่ายนั้นคือใคร กิจกรรมที่พวกเขาทำในภาพนั้นเกิดขึ้นจริงหรือถูกจัดฉาก ใบหน้าบางคนยังปรากฏชัด แต่ใบหน้าบางคนเลือนไปตามอายุขัยของภาพ แต่อย่างไรก็ตามทุกอย่างยังทิ้งร่องรอยไว้เสมอ
ดังนั้นแล้วเธอจึงทำการตีความภาพถ่ายที่ได้มา เจาะ-ตัด-หั่นบุคคลในภาพ แล้วนำไปประกอบกับวัตถุต่างๆ ที่มักจะปรากฏในภาพถ่ายครอบครัวอย่างเลโก้ กระถางดอกไม้ สนามหญ้า สายยางรดน้ำต้นไม้ หรือกระทั่งร่างกายของคนอื่นในภาพเดียวกัน ชวนให้เรานึกถึงงานของ เรเน่ มากริตต์ (René Magritte) ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ชาวเบลเยี่ยม เจ้าของภาพชายในชุดสูทที่มีแอปเปิ้ลเขียวแปะอยู่บนหน้า ผู้ชื่นชอบการเล่นกับความจริงความลวง วัตถุขนาดแปลกประหลาด และใบหน้าที่บิดเบี้ยวของมนุษย์
และใช่ว่างานนี้จะเป็นเรื่องง่ายๆ เธอใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ต่อการตัดต่อหนึ่งชิ้นงาน—บางคนโดนเธอหั่นทิ้งอย่างที่รูปร่างมนุษย์แทบจะไม่เหลือให้เห็น เพื่อกระเทาะความเป็นหญิง ความเป็นชาย และค่านิยมเกี่ยวกับครอบครัวสุขสันต์แบบอเมริกันดรีม (อันกลวงเปล่า) อย่างภาพดินเนอร์ครอบครัวในวันขอบคุณพระเจ้าที่ใบหน้าของพวกเขาถูกเบลอหายไป
นอกจากนั้นก็เช่นภาพที่ผู้ชายซิกแพ็คแน่นไร้หัวสามคนแบกหญิงสาวไว้บนบ่า เวโรนิกาตัดต่อศีรษะของผู้ชายออกไป เพื่อลบภาพชายเป็นใหญ่-ผู้หญิงถูกกดทับ ภาพเด็กผู้ชายหลายสิบคนยืนเรียงกันเป็นแถว แต่ดูดีๆ พวกเขากำลังยืนซ้อนกันจนตัวละลายรวมกันเป็นคนเดียว อย่างกับจะเสียดสีวัฒนธรรม collectivism ไม่ก็กลายเป็นร่างกายที่ฟอร์มแหว่งวิ่น หรือภาพคุณแม่ผมลอนกับลูกชายลูกสาวตัวน้อยจับปากกาเมจิกขีดเขียนบนใบหน้าของกันจนเป็นกริด 3D
อันที่จริงเหล่านี้เอง ไม่ได้มีความหมายตายตัวเสียทีเดียว แต่ชวนให้คนดูอย่างเราๆ ได้ตั้งคำถาม ตีความ และคิดต่อ นำพามาซึ่งความเจ็บแสบบางประการในใจ ซึ่งนั่นทำให้เราชื่นชอบ ‘ร่องรอย’ ที่เธอทิ้งไว้เหลือเกิน
Text by Wassachol Sirichanthanun
อ้างอิง