ครั้งที่แล้วทาง The MATTER ได้คุยกับคุณ ทวีพงษ์ ปทุมวงศ์ ช่างภาพสตรีทไทยที่ไปคว้ารางวัลภาพสตรีทในงาน StreetFoto San Francisco กันแล้ว คราวนี้เราจะพามาคุยกับคุณ อังกูร สังข์ทอง ช่างภาพสตรีทอีกหนึ่งคนที่ไปคว้ารางวัลจากงาน Street Foto San Francisco เขาเป็นเจ้าของภาพแสงตกกระทบลงบนถนนที่ให้ความรู้สึกเหมือนไฟหน้ารถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งภาพนี้ไม่ได้ถูกจัดฉากหรือแต่งเติมแต่อย่างไร
The MATTER จึงชวนคุณ อังกูร สังข์ทอง มาคุยแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับภาพถ่ายสตรีท ที่มาที่ไปของภาพที่ได้รับรางวัล วิธีการเลือก scene ในการถ่าย และภาพสตรีทในการประกอบอาชีพ
The MATTER : อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่หันมาถ่ายภาพสตรีท
อังกูร : มันเริ่มมาจากความชอบถ่ายรูปก่อน ตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว ผมไม่ได้ชอบถ่ายรูปอะไรที่ต้องไปในที่สวยๆ ไกลๆ ชอบถ่ายชีวิตคน ถ่ายอะไรที่มันไม่ได้เซ็ต ไม่ได้จัดฉาก จริงๆ ก็คือพวกภาพสารคดี ภาพข่าว วันนั้นก็เข้าใจว่าสิ่งนี้คือภาพสตรีทนะ เพิ่งมารู้เมื่อตอนที่เจอกรุ๊ป Street Photo Thailand (SPT) ว่าสิ่งที่เราเคยเข้าใจว่าใช่ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ซึ่งถ้ามาดูจริงๆ แล้ว งานผมเองที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นงานที่ลงลึกในเรื่องราว ความเป็น document มันน้อยมาก เหมือนเป็น snap shot ของสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนั้นตอนนั้นมากกว่า พอได้เห็นงานที่เรียกว่าสตรีทจริงๆ ก็ยิ่งทึ่ง ไม่รู้เขาคิดเขาทำกันทันได้อย่างไรในโมเมนต์แค่แว๊บเดียว ก็อยากจะทำให้ได้บ้าง ก็ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ ทำความเข้าใจ แล้วก็เบนตัวเองเข้ามาทางนี้เรื่อยๆ ครับ
The MATTER : รูปสตรีทที่ดีในความคิดของคุณคืออะไร
อังกูร : โอเค ความสวยงามมันต้องมีก่อนแหละ แต่นอกเหนือไปจากนั้นผมว่ารูปมันต้องสร้างความรู้สึกบางอย่างให้กับคนดูด้วยนะครับ จะเป็น สนุก สงสัย ตกใจ กลัว เหงา เศร้า หรืออะไรก็ได้
The MATTER : ช่วยเล่าที่มาที่ไปของภาพที่ได้รับรางวัลชมเชย ในหมวด Best Street Photograph ที่งาน Street Foto San Francisco หน่อย
อังกูร : ภาพนั้นเป็นภาพของวิวข้างทางเดินที่ผมเจอทุกวันตอนเดินกลับจากกินข้าวเที่ยงแถวออฟฟิศครับ ก็เห็นๆ กันอยู่ทุกวัน ก็ตามนิสัยครับ ถ่ายรูปทุกอย่างรอบตัวที่มันดูน่าสนใจเก็บไว้ตลอด มันก็ค่อยๆ develop มาเรื่อย ลองมาก็หลายแบบ จนกระทั่งวันนึงเราพบว่า shape ของช่องแสงที่ตกลงมาบนถนนเหมือนไฟหน้ารถเลย ถ้าเราสามารถจับเอารถมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องได้จะเล่าความเป็นไฟหน้าได้แน่ๆ พอได้เลย์เอ้าต์ในหัวแล้วก็ไปถ่ายให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ครับ รอบแรกที่ได้มาลองส่งเข้ากรุ๊ป SPT ไป ได้รับคำแนะนำจากพี่ทวีพงษ์ สิ่งที่เขาทักมาก็ตรงกับที่เรารู้สึกอยู่เลยไปแก้ครับ จนออกมาเป็นรูปอย่างที่เห็น
The MATTER : ในความคิดของคุณ การถ่ายภาพสตรีทสามารถประกอบเป็นอาชีพได้ไหม
อังกูร : ถ้าเป็นสตรีทตรงๆ เลยก็คงไม่ได้นะครับ แต่ถ้าปรับความรู้ไปใช้ก็ได้อยู่นะ อย่างล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว Hermes ก็ให้ช่างภาพกลุ่ม Magnum ชื่อ Harry Gruyaert ถ่าย Fashion set ให้ลักษณะงานที่ออกมาก็ค่อนข้างจะเป็นเทคนิคภาพแบบสตรีทเลย หรือแม้แต่งาน Print ads หลายๆ ชิ้นในต่างประเทศ ก็ใช้เทคนิคการทับซ้อนหรือเลเยอร์เพื่อช่วยเล่าเรื่องนะครับ
The MATTER : จากกรณีที่มีการฟ้องร้องกันในต่างประเทศ อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการถ่ายภาพสตรีทกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
อังกูร : ผมว่าสิทธิ์ของคนถ่ายและสิทธิ์ของคนถูกถ่ายที่จะไม่ยอมให้ถ่ายมีเท่าๆ กันนะครับ สำคัญเลยคือเราต้องเคารพซึ่งกันและกันครับ คนถ่ายรูปก็ต้องเคารพคนถูกถ่ายด้วยครับ ผมว่าถ้าเราปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพปัญหาก็จะไม่เกิดครับ
The MATTER : บางคนบอกว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษ เช่น ความแปลกประหลาดหรือความไม่เข้ากันบางอย่าง คิดว่าลักษณะพิเศษของบ้านเราทําให้การถ่ายสตรีทมีความโดดเด่นขึ้นหรือแตกต่างจากต่างประเทศยังไง
อังกูร : ความไร้ระเบียบของบ้านเราเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียครับ ข้อดีคือเราก็มีเรื่องราวประหลาดมากมายที่เมืองนอกเค้าไม่มี แต่เราก็จะไม่ค่อยมี scene ที่เรียบๆ สวยงามให้ถ่ายเท่าไรครับ รกล้วน (หัวเราะ)
The MATTER : มีวิธีที่จะเลือก subject หรือ scene ยังไงบ้าง
อังกูร : ส่วนใหญ่ผมจะดูจากกราฟิกของ scene ก่อนครับ แสงดีมั้ย เส้นในเฟรมชัดเจนมั้ย แปลกมั้ย แล้วก็ความน่าสนใจของ subject ครับ ถ้าน่าสนใจ บางทีก็ลืมดู scene ไปเลย แต่ถ้าวันไหนฝืดๆ หน่อยก็ถ่ายหมดทุกอย่างครับ (หัวเราะ)