พบที่มาของแต่ละชิ้นส่วน ในงานคอลลาจโดยนักรบ มูลมานัส เมื่อพระรามพระลักษมณ์โศกเศร้าไปกับนาง Ophelia เมื่อคณะสงฆ์ไปนั่งอยู่ในห้องหับของ The Last Supper หรือเมื่อพระเยซูคริสต์ถูกตรึงไว้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ สำหรับบางคนอาจมองว่า “คุณกำลังทำอะไรอยู่” แต่สำหรับนักรบ เราว่าเขารู้ ว่ากำลังทำอะไร
ภาพทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘Sacrifice’ นิทรรศการเดี่ยวสุดปังของศิลปินคอลลาจมาแรงแห่งยุค ที่มักจะหยิบเอาสิ่งของจากต่างวัฒนธรรมมายำรวมกันพร้อมกับมีอะไรให้ฉุกคิดภายใต้ความสวยแปลกตาเสมอ คราวนี้ เขาสร้างผลงานขึ้นใหม่ทั้งหมด ภายใต้การตั้งคำถามที่ดูแรงกว่าที่เคย ซึ่งใครที่ยังไม่ได้ชม ห้ามพลาด ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมนี้
และเพื่อการชมงานอย่างได้อรรถรส เราเลยหยิบบางส่วนมาให้ดูกันที่นี่ พร้อมกับถอดรหัสดูว่า แต่ละชิ้นส่วนหรือฉากหลังที่ถูกนำมาคอลลาจ แท้จริงแล้วเป็นภาพหรือชิ้นส่วนของอะไรบ้าง โดยบางชิ้นเป็นภาพวาดคลาสสิก หรือบางชิ้นนักรบก็ไปเสาะหามาด้วยวิธีการของเขา ซึ่งเมื่อมารวมกันแล้วจะมีความหมายอย่างไร ก็สุดแล้วแต่ผู้ชมจะตีความกันได้ตามอัธยาศัย และที่มาของแต่ละชิ้นจะมีอะไรบ้างนั้น เชิญติดตาม
สีดา – Sita
=
A Girl with Pearl Earring (1665) โดย Johannes Vermeer
+
ชฎา จากจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว
FYI : A Girl with Pearl Earing เป็นภาพวาดประเภท Tronie หรือที่แปลว่า ‘ใบหน้า’ ในภาษาดัทช์ เป็นงานฮิตแนวหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 16-17 ที่เน้นวาดภาพคนที่เห็นสีหน้าซึ่งสื่ออารมณ์บางอย่างอย่างชัดเจน
หญิงสาวในภาพเป็นชาวยุโรปที่แต่งตัวอย่าง exotic มีผ้าโพกหัวแบบตะวันออก และใส่ต่างหูมุกเม็ดโต ส่วนจุดเด่นของใบหน้าก็คือดวงตาของเธอ
ภาพวาดชื่อดังนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจของนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์เรื่อง A Girl with Pearl Earing โดย Tracy Chevalier ซึ่งแต่งขึ้นมาเล่าที่มาของภาพนี้อีกทีหนึ่ง เป็นเรื่องของศิลปิน Johannes Vermeer ที่ไปสนิทสนมกับผู้ช่วยสาวคราวลูกนามว่า Griet ที่เขาจ้างมาเป็นแบบวาดภาพ โดยต่างหูที่ Griet สวมอยู่นั้น ก็เป็นของภรรยาของ Johannes เอง และด้วยความสวยซึ้งของ Griet แน่นอนว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างพวกเขาทั้งคู่
ในขณะที่นางสีดาก็ได้รับการชมโฉมว่ามีตางามดั่งตากวาง ทั้งยังมีอายุคราวลูก แถมยังเป็นลูกที่แท้จริงของทศกัณฐ์เสียอีก และในครั้งหนึ่งนางสีดาเองเคยถูกนางปีศาจอดูลหลอกล่อให้วาดรูปทศกัณฐ์ให้ดู นางสีดาก็พาซื่อวาดไป แล้วนางอดูลก็รีบเข้าสิงรูปให้ลบไม่ออก เมื่อพระรามมาเห็นเข้าจึงเข้าใจผิดแล้วสั่งประหารนางสีดาข้อหามีใจให้ชายชู้ จนนางสีดาน้อยใจหนีไปอยู่ในป่าเสียหลายปีดีดัก
The Anatomy Lesson of Dr.Bradley
=
The Anatomy Lesson of Dr.Nicolaes Tulp (1632) โดย Rembrandt
+
ภาพนางสีดา (ปลอม) จากตอน ‘นางลอย’ จากจิตรกรรมฝาผนัง วัดพระแก้ว
FYI : The Anatomy Lesson of Dr.Nicolaes Tulp คือภาพของหมอผ่าตัด 7 คน ที่มุงดูนักฟิสิกส์กายภาพนามว่า Nicholaes Tulp ผ่าศพเพื่อให้พวกเขาทำความรู้จักกับร่างกายมนุษย์ให้ถ่องแท้ขึ้น ภาพนี้ถูกวาดขึ้นเป็นซีรีส์เอาไว้ติดในห้องของสมาพันธ์หมอผ่าตัดแห่งอัมสเตอร์ดัม เป็นการบันทึกภาพการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นจริง ของหมอ Nicholaes ที่มีตัวตนจริง
แน่นอนว่า Dr.Bradley หรือหมอบรัดเลย์ก็มีตัวตนจริงเช่นกัน เขาคือนายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในไทย สมัยรัชกาลที่ 3 หมอบรัดเลย์เป็นผู้ทำการผ่าตัดครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นผู้เริ่มต้นการพิมพ์ตัวอักษรภาษาไทยอีกด้วย
The Giant Swing
=
The Swing (1767) โดย Jean-Honoré Fragonard
+
ภาพเสาชิงช้า จาก Shutterstock
FYI : ภาพ The Swing มีอีกชื่อหนึ่งคือ The Happy Accidents of Swing เป็นหนึ่งในภาพระดับมาสเตอร์พีซของยุค French Rococo ภาพเล่าเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีชายแก่คอยโล้ชิงช้าให้ สาวเจ้าเองโล้เพลินจนรองเท้าหลุด ในขณะเดียวกันก็มีเจ้าหนุ่มตัวดีมาแอบมองใต้กระโปรง แถมมีสายตาจับจ้องของเหล่ารูปปั้นในสวนอีกด้วย
ภาพวาดนี้มีที่มาแปลกประหลาดดี เพราะแรกเริ่ม Baron de Saint-Julien แห่งฝรั่งเศส จ้างให้ศิลปินวาดภาพมาดามของเขานั่งอยู่บนชิงช้าและมีนักบวชคอยโล้ให้ แต่ศิลปินคนนั้นจริงจังกับงานเชิงประวัติศาสตร์จนปฏิเสธคำร้องที่ว่านี้
นาย Fragonard เลยเข้ามาอาสาแทน แต่คำขอได้เปลี่ยนไปเล็กน้อย โดยบารอนจอมเพลย์บอย ขอให้วาดตัวเขาเองลงไปด้วย และขอให้ตัวเขาอยู่ในตำแหน่งที่ ‘มองเห็นขางามๆ ของสาวเจ้าได้ถนัดถนี่’ ผลจึงออกมาเป็นอย่างที่เห็น
ภาพนี้เป็นภาพแนว Frivolous ที่แปลว่าเหลาะแหละเรื่อยเจื้อย จนกลายเป็นที่โจมตีจากเหล่านั้นปราชญ์ในยุค Enlightenment หรือยุคเรืองปัญญา ที่ต่างเรียกร้องให้งานศิลปะเล่าเรื่องที่จริงจังและเสริมปัญญา เพื่อแสดงความสูงส่งของมนุษย์ให้มากกว่านี้
ส่วนเสาชิงช้า เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อพิธีกรรมตรียัมพวาย ตรีปวาย ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นการต้อนรับพระอิศวร ให้เสด็จลงสู่โลกในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ โดยตำนานที่มาของพิธีนี้ก็คือ วันหนึ่งพระอุมาเทวีมีความวิตกว่าโลกจะวิบัติ จึงทำการพนันกับพระอิศวรผู้เป็นสวามี
วิธีการคือให้พญานาคขึงตนเองระหว่างต้นพุทราริมแม่น้ำ หย่อนลงมาคล้ายชิงช้า ให้พระอิศวรขึ้นไปยืนขาเดียวบนนั้น เมื่อพญานาคไกวตัวแล้วเท้าของพระอิศวรไม่ตกลงมาแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงดี ผลคือ พระอิศวรเป็นผู้ชนะพนันต่อภรรยาของพระองค์เอง
Crucifixion
=
Crucifixion (1460) โดย Rogier van der Weyden
+
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ณ วันที่ 14 ตุลา พ.ศ. 2516
FYI : การตรึงกางเขนเป็นวิธีลงโทษจากสมัยกรีกโบราณ โดยรัฐจะเอานักโทษไปแก้ผ้าแล้วตอกหมุดขึงไว้กับท่อนไม้ เพื่อให้ค่อยๆ ตายอย่างช้าๆ ซึ่งวิธีลงโทษนี้ได้ปรากฏในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ ที่เล่าว่าพระเยซูยอมถูกตรึงไม้กางเขน เพื่อไถ่บาปให้กับเหล่ามนุษย์
The Last Forenoon Meal
=
The Last Supper (1494) โดย Leonardo da Vinci
+
ภาพพระพุทธเจ้ากับเหล่าสาวก จากจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม และวัดทองธรรมชาติ
FYI : The Last Supper ว่าด้วยเรื่องราวขององค์ศาสดาและพระสาวก โดยนี่คืออาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ ก่อนที่จะถูกตรึงไม้กางเขน และบนโต๊ะอาหารนั้น จูดาสจะถูกเปิดโปงว่าเป็นผู้ทรยศ ซึ่งในภาพบรรยายให้เห็นปฏิกิริยาของสาวกแต่ละคนอย่างชัดเจน
ภาพวาดโดยดาวินชีนี้ เป็นการวาดแบบ Fesco หรือวาดบนปูนเปียก เป็นจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ Santa Maria delle Grazia ในเมืองมิลาน และยังเป็นที่มาของนิยาย The Da Vinci Code อีกด้วย
นางลอย – The Floating Lady
=
Ophelia (1851-1852) โดย John Everett Millais
+
Orestes Pursued by the Furies โดย Adolphe-William Bouguereau
+
Joan of Arc โดย Eugène-Romain Thirion
+
ภาพพระลักษมณ์-พระราม ตอน ‘นางลอย’ จากจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว
FYI : Ophelia คือตัวละครหญิงในบทละครเรื่อง Hamlet ของเชกสเปียร์ เธอเป็นหญิงสาวสูงศักดิ์ชาวเดนมาร์กผู้เป็นคนรักขององค์ชายแฮมเลต
ว่ากันว่าตัวละครโอฟีเลียเป็นบทที่เล่นยาก เพราะต้องเผชิญความทุกข์หลายทางท่ามกลางเหล่าผู้ชายรอบตัว พ่อและพี่ชายของเธอเชื่อว่าแฮมเลตแค่อยากหลอกใช้เธอ ในขณะที่หัวใจเธอพยายามเชื่อว่าแฮมเลตนั้นรักเธอ ทั้งที่แฮมเลตเองก็แกล้งบ้าเพื่อผลักไสโอฟีเลียให้ออกไปจากชีวิต แถมท้ายที่สุดก็ไปฆ่าพ่อของเธอเสียอีก
ด้วยความทุกข์ที่รุมเร้าจนแทบบ้า เธอจึงตัดสินใจกระโดดน้ำตายในที่สุด
ส่วนฉาก ‘นางลอย’ ในรามเกียรติ์ ก็ว่าด้วยตอนที่ทศกัณฐ์อยากให้พระรามยอมแพ้และยกทัพกลับเมือง จึงใช้ให้นางเบญกายซึ่งเป็นลูกของพิเภก ปลอมตัวเป็นนางสีดาที่ตายแล้วและลอยน้ำไปถึงหน้าทัพพระราม หวังให้พระรามเห็นเมียตายก็ถอดใจยกทัพกลับ เพราะไม่รู้จะสู้ต่อไปเพื่ออะไร
ใช่ว่านางเบญกายทำเพราะนึกสนุกตามแผนหรือแค่รับคำสั่งไปตามเรื่องตามราว แต่เป็นเพราะความกลัวเสียมากกว่า เพราะก่อนหน้านี้ พิเภกพ่อของนางที่ทำนายดวงไม่ถูกใจทศกัณฐ์ก็เพิ่งถูกไล่ออกจากเมือง จนต้องหนีไปอยู่กับฝ่ายพระราม ทั้งที่เขาเองเป็นน้องแท้ๆ ของทศกัณฐ์
สุดท้ายแผนก็แตกเพราะทิศของกรุงลงกาอยู่ทางใต้ของที่ตั้งทัพ จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนตายจะลอยทวนน้ำขึ้นมา หนุมานผู้จับไต๋ได้เลยขอพิสูจน์ด้วยการนำศพไปเผาไฟ นางเบญกายทนร้อนไม่ได้เลยเหาะขึ้นเตรียมจะหนี แต่ในที่สุดก็ถูกหนุมานจับได้
ช่างเป็นหญิงสาวลอยน้ำผู้เศร้าสร้อยและมีชีวิตที่จำต้องไหลไปตามกระแสของพวกผู้ชายเสียจริงๆ
แหล่งอ้างอิง
หมายเหตุจากผู้เขียน: ที่มาของแต่ละชิ้นส่วน มาจากปากคำของนักรบ มูลมานัส
โดยในพาร์ต FYI ทั้งหมดเป็นการสืบค้นความหมายและเชื่อมโยงโดยผู้เขียนเอง