“กินตามสั่งก็อิ่มเหมือนกันนี่หว่า”
บางครั้งการสำนึกผิดก็เข้ามาในหัวเรา เมื่อหนังท้องของเราตึงจากการกินบุฟเฟต์ไปแล้วหนึ่งมื้อ อาจจะเพราะราคาของมันที่สูงกว่าอาหารจานเดียวทั่วไปหลายเท่าตัว หรือเหตุผลอื่นๆ มากมาย แต่ถ้าเรามาลองวิเคราะห์ความคิดนั้นกันสักหน่อย บ่อยครั้งวิธีที่เราพูดอะไรบางอย่าง มักไม่สื่อสารความรู้สึกของเราออกไปอย่างถูกต้องตามใจเราเสมอไป เช่นเดียวกับเวลาเราพูดว่า ‘อิ่ม’ เราก็อาจไม่ได้หมายความตามนั้น
เรามีหลากหลายแง่มุมในการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องอาหาร รสชาติ บริการ ร้านค้า ฯลฯ ในส่วนของความอิ่ม ราคาและความคุ้มค่าอาจเรียกได้ว่า คือเกณฑ์วัดเชิงปริมาณที่เป็นรูปธรรมที่สุดในการใช้มองอาหารหนึ่งมื้อได้ ทำไมการวิเคราะห์นี้ถึงสำคัญ? นั่นเพราะว่าเราแทบจะไม่นำเกณฑ์เชิงปริมาณเหล่านั้น ไปวัดมื้ออาหารที่เราชอบเลย อย่างนั้นจะเป็นไปได้หรือเปล่าว่า หลายๆ ครั้งเมื่อเราพูดว่า อาหารบางมื้ออิ่มเท่าหรือไม่เท่ากับอีกมื้อ สิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่จริงๆ คือ ‘ความเติมเต็ม’ หรือเปล่า?
อะไรทำให้อาหารหนึ่งมื้อเติมเต็มเราได้? นอกจากสิ่งที่อยู่ในจาน ยังมีอะไรบ้างซ่อนอยู่ในหนึ่งมื้ออาหาร?
อิ่มไม่เท่ากับเติมเต็มเสมอไป
ความพึงใจในอาหารเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน ความอร่อยของเราไม่เคยเท่ากัน อย่างนั้นแล้วการจะหาคำตอบครอบจักรวาลว่า ต้องแบบไหนถึงจะเรียกว่ามื้ออาหารที่เติมเต็ม ก็คงเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดที่เราทำได้คือ การชำแหละแง่มุมต่างๆ ของอาหารหนึ่งมื้อ เพื่อพยายามหาว่าอะไรในอาหารมื้อเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนอาจมองหา และนั่นคือสิ่งที่หนังสือ Not Eating Enough Overcoming Underconsumption of Military Operational Rations พอจะให้คำตอบเราได้
หนังสือดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยสถาบันการแพทย์ สหรัฐอเมริกา เพื่อหาหนทางการแก้ปัญหาที่ทหารสหรัฐฯ บริโภคเสบียงอาหารของพวกเขาน้อยเกินไป หนึ่งในประเด็นที่หนังสือกล่าวถึงคือ คุณภาพของมื้ออาหาร ในฐานะหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้คนคนหนึ่งอยากกินอาหารมื้อนั้นๆ ให้เพียงพอ ผู้วิจัยประจำหัวข้อชื่อ บาร์บารา โรลส์ (Barbara Rolls) จากคณะโภชนาการ มหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย ได้ทำทดลองประเด็นดังกล่าวด้วยการปรับแปลงอาหารจานเดิม ผ่านการเพิ่มและลดหลากหลายตัวแปรของอาหารจานนั้นๆ ตั้งแต่ปริมาณไปจนถึงความหลากหลาย
ผลการทดลองพบว่า การที่จะทำให้คนคนหนึ่งมองว่าอาหารหนึ่งมื้อมีคุณภาพสูงขึ้น และจะกินมันมากขึ้นนั้นมีหลากหลายปัจจัย แน่นอนว่าปริมาณที่พอดี และหน้าตาของอาหารถือเป็นปัจจัยในนั้น แต่นอกจากนั้นยังมีความประทับใจแรกของอาหาร หากกินถูกใจคำแรกมากขนาดไหน พวกเขามีโอกาสที่จะกินมันจนหมดมากเท่านั้น เครื่องดื่มที่ดื่มคู่กันก็ต้องไม่ให้พลังงานมากจนทำให้ผู้กินอิ่มเกินไป และที่สำคัญคือ ยิ่งความหลากหลายในรสชาติและผิวสัมผัสของอาหารมาก ก็ยิ่งทำให้ผู้กินไม่เบื่อก่อนกินหมด
อ่านมาถึงตรงนี้เราอาจจะคิดแล้วว่า ถ้าสิ่งเหล่านั้นคือปัจจัยที่นำไปสู่ความเติมเต็ม ก็หมายความว่าบุฟเฟ่ต์คือหนทางสู่ความเติมเต็มในมื้ออาหารหรือเปล่า? เพราะความหลากหลายก็มี ปริมาณเราก็เลือกเองได้ แถมคำแรกรสจะจัดจะถูกใจเท่าไรก็ได้ที่เราต้องการ ด้วยเราเป็นคนเลือกกินเอง ซึ่งทั้งหมดที่เราพูดมาอาจจะจริง แต่สิ่งที่เราต้องถามต่อคือ เวลาเรากินบุฟเฟต์ เราตักอาหารแบบนั้นจริงหรือเปล่า? เราสั่งอาหารหลากหลาย หรือสั่งเฉพาะสิ่งที่ตัวเองชอบ? ไหนจะน้ำหวานรีฟิลที่ถูกออกแบบมาให้ตัดกำลังเราอีก แน่นอนว่าการกินแต่สิ่งที่ตัวเองชอบอาจเป็นสิ่งแย่ แต่บางครั้งความเติมเต็มก็อาจมาจากใครสักคนที่มาออกแบบจานอาหารของเรา และช่วยให้เราเติมเต็มกับมื้ออาหารได้มากกว่าที่คิด
คุณภาพของมื้ออาหาร ไม่ใช่แค่สิ่งที่อยู่ในจาน
เราคิดถึงอะไรบ้างเมื่อเรากินบุฟเฟต์? ด้วยเวลาที่จำกัด เรานึกเสมอว่าเรากินได้ถึงเมื่อไร อาหารที่เราตักมาต้องกินให้หมดในเวลานั้นๆ เพราะว่าถ้ากินเหลือจะถูกปรับ และด้วยราคาที่อาจจะแพงกว่ามื้อทั่วไป เราเลยต้องคิดเสมอว่าเรากินคุ้มราคาหรือยัง ทว่าบุฟเฟต์ไม่จำเป็นต้องเป็นประสบการณ์การกินที่แย่ แต่ด้วยธรรมชาติของมันอาจทำให้เราโฟกัสกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของอาหารมากนัก ซึ่งนั่นแปลว่ามันส่งผลให้เรากินอาหารด้วยความคิดแบบ ‘Distracted Eating’
Distracted Eating หรือ Mindless Eating คือการกินอาหารแบบที่มีสิ่งเร้ารอบข้าง มาดึงความสนใจของเราออกจากสิ่งที่เรากำลังกินอยู่ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในมื้ออาหารบุฟเฟต์เท่านั้น แต่นับรวมไปถึงการกินข้าวแล้วทำกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วย เช่น การกินข้าวพร้อมดูจอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นมือถือ ดูหนัง หรือคุยโทรศัพท์ตอนกินข้าว
บ่อยครั้งการกินรูปแบบนี้ก็จำเป็น เพราะเราแต่ละคนมีเวลาว่างไม่เท่ากัน และเวลาพักกินข้าวอาจเป็นเวลาพักเดียวของเรา อย่างไรก็ตาม การกินรูปแบบนี้นำไปสู่มื้ออาหารที่ไม่เติมเต็มเราได้ หลักฐานพบได้ในงานวิจัย Distraction, the desire to eat and food intake. Towards an expanded model of mindless eating โดยเจน อ็อกเดน (Jane Ogden) จากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเซอร์รีย์
งานวิจัยดังกล่าวพาเราไปดูพฤติกรรมของคน เมื่อพวกเขาต้องกินอาหารระหว่างทำกิจกรรมที่อาศัยการโฟกัสสูง เช่น ขับรถ ดูโทรทัศน์ และคุยกับผู้คน ผลปรากฏว่าการคุยกับผู้คนทำให้เราปรารถนาที่จะกินข้าวมากขึ้น ส่วนการดูโทรทัศน์ไปด้วยทำให้เรากินอาหารปริมาณมากขึ้น แต่ความปรารถนาในการกินของเรากลับน้อยลง นี่อาจแปลได้ว่าในขณะที่ความสนใจของเราถูกรบกวนจากสิ่งเร้ารอบข้าง จะทำให้กินอาหารมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เพราะว่าอยากกินเท่านั้น
แล้วจะเป็นยังไง หากเรากินโดยไม่สนใจว่าสิ่งที่กินอยู่คืออะไร? แล้วถ้าเราเผลอกินมากเกินจำเป็น เพราะว่าเราลืมมองไปว่าเราอิ่มแล้วล่ะ? ในโลกปัจจุบันของเรา มีสิ่งมากมายคอยทำให้ความสนใจของเราหลุดลอยไปจากจานอาหารตรงหน้า ฉะนั้นแล้วเราอาจจำเป็นต้องหาทางใหม่ๆ ที่ดีกว่าสำหรับการกินเพื่อดึงเราให้กลับมาอยู่กับจาน
มากกว่าการกิน แต่เป็นแนวคิด
เพื่อการกินที่ดีต่อตัวเราและโลกมากขึ้น เราอาจต้องมองไปยังแนวคิด Mindful Eating การกินอาหารที่ผสมผสานหลักการของการทำสมาธิเข้ามาด้วย ซึ่งอาจเป็นทางออกสู่การกินอาหารที่เติมเต็มขึ้นได้ โดยแนวคิดใจความของมันคือ การที่เราครุ่นคิดถึงอาหารที่เรากินอย่างลึกซึ้ง และลึกมากพอที่จิตใจของเราจะไม่ว่อกแว่กไปสู่สิ่งอื่นรอบตัว
อาจฟังดูคล้ายกับการกินอาหารกลางวันของเด็กประถม แต่ขั้นตอนของ Mindful Eating เริ่มตั้งแต่การมองไปยังที่มาของอาหารในจานของเรา วัตถุดิบมาจากใคร ใครเป็นคนทำ การมองพฤติกรรมการกินตัวเอง การพินิจถึงอาหารในจานทุกแง่มุม หน้าตา รสชาติ ผิวสัมผัส กลิ่น ไปถึงการเพ่งความสนใจไปที่ร่างกายของเราเมื่อกินอาหารเสร็จ การทำเช่นนี้ช่วยให้เราอยู่กับอาหารมากขึ้น และหากมองย้อนกลับไปว่าอะไรบ้างที่ทำให้อาหารมื้อหนึ่งเติมเต็มเราได้ การมองมันอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ย่อมทำให้เรามองภาพอาหารของเราชัดขึ้นจริงไหม?
นอกจากนั้น Mindful Eating ยังเป็นหนทางที่ดีในการก้าวเท้าเข้าสู่การกินอาหารอย่างยั่งยืนด้วย แน่นอนว่าการคิดแบบนี้จะทำให้เรารู้จักตัวเองในการกินมากขึ้น กินเท่าไหนถึงพอ กินเท่าไหนถึงเติมเต็ม และเป็นการลดโอกาสการเกิดขยะอาหาร นอกจากนั้นการนึกถึงกระบวนการการผลิตก่อนที่อาหารจะมาถึงโต๊ะของเรา ยังช่วยให้เรามองโลกอย่างรอบด้าน และนำไปสู่การหาข้อมูลเกี่ยวกับภัยสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาแรงงานเกี่ยวกับสิ่งที่เรากินได้อีกด้วย
การกินเป็นส่วนสำคัญของชีวิตเรา และการกินของเราแต่ละคนก็เป็นเหมือนโดมิโน่เล็กๆ ที่ส่งผลทีละเล็กละน้อยสู่อุตสาหกรรมอาหารในวงกว้าง การคำนึงถึงสิ่งที่เรากินอาจช่วยให้เรารู้สึกเติมเต็มกับอาหารได้มากขึ้น
และความเติมเต็มเหล่าเองก็อาจนำไปสู่วัฒนธรรมการกินที่ดีต่อเราและโลกได้มาก
อ้างอิงจาก