แกๆ ถ่ายมุมนี้เสร็จแล้ว ต่อมุมนั้น แล้วก็ขอกับฉากโน้นด้วยนะ
นานๆ ทีจะได้ออกมาเที่ยวกับเพื่อน กะว่าจะเมาท์มอยอัพเดตเรื่องราวชีวิตกันสักหน่อย แต่กลับต้องมาเป็นตากล้องจำเป็นให้กับเพื่อนที่ตอนนี้ผันตัวมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ซะได้
แรกๆ ก็สนุกดีที่ได้ซัปพอร์ตเพื่อนทุกทาง อยากจะให้คอนเทนต์เพื่อนตัวเองได้ดังปุ้งปั้งสมใจ มียอดเอนเกจเมนต์เพิ่มขึ้นรัวๆ แต่พอนานๆ ไป กลับรู้สึกว่าความสนุกที่ได้มาเจอกันมันลดน้อยลงทุกที เหมือนเรากับเพื่อนไม่ได้ใช้เวลาตรงหน้ากันจริงๆ ไหนจะต้องคิดท่าโพสต์ ยกมือถือมาถ่ายหรือต้องอัดคลิปตลอดเวลา แถมยังต้องทำให้ทุกอย่างมันน่าสนใจไปหมด จนอยากสะกิดเรียกสติเบาๆ ว่า ใจเย็นเว้ยเพื่อน แค่กินข้าวมันไม่ต้องสนุกก็ได้
ทั้งๆ ที่เราก็ใช้เวลาด้วยกัน แต่ทำไมรู้สึกเหมือนห่างเหินกันจังเลยนะ เมื่อการมีเพื่อนที่ต้องสร้างคอนเทนต์ตลอดเวลาอาจทำให้เรารู้สึกอึดอัดใจ ควรทำยังไงกับสถานการณ์นี้ดี
เมื่อการมีเพื่อนเป็นคนดังในออนไลน์อาจทำให้เหนื่อย
ออกไปทานข้าว ดูหนัง ไปคาเฟ่ หรือนั่งเล่นเกมอยู่ในห้อง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ดูเหมือนทุกอย่างจะกลายเป็นคอนเทนต์สำหรับเพื่อนคนนี้ได้หมด จนรู้สึกแทบไม่มีเวลาส่วนตัวที่มีแค่เราและเพื่อนๆ เหมือนเมื่อก่อน
เข้าใจนะว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์เป็นงานหนึ่ง การมีไลฟ์สไตล์เก๋ๆ มันก็ช่วยเพิ่มคนติดตาม หรือการถ่ายรูปก็เหมือนเป็นการบันทึกความทรงจำดีๆ ไว้ได้เหมือนกัน แต่บางทีก็อาจจะมากไปหน่อย บางภาพที่เรายังไม่พร้อมก็ดันได้ไปอยู่ในแอ็กเคาต์ที่มีคนติดตามหลายพัน หรือเวลามีเรื่องอยากปรึกษาจริงจัง กลับไม่ได้ให้ความสนใจเราที่อยู่ตรงหน้า ชีวิตที่ติดคอนเทนต์ บ่อยเข้าก็เริ่มไม่ไหวนะ
ทุกวันนี้การมีเพื่อนที่เริ่มต้นเป็นอินฟลูเอนเซอร์อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป เมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่สนใจอาชีพนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากรายงานของ Morning Consult ปี 2019 สำรวจหนุ่มสาวชาวอเมริกัน 2,000 คน พบว่า ประมาณ 86% ของคนเจน Z และมิลเลนเนียลยินดีจะโพสต์คอนเทนต์ให้ผู้สนับสนุนเพื่อแลกกับเงิน และ 54% หรือเกินครึ่งบอกว่าอยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์หากมีโอกาส เหตุผลหลักๆ เพราะเป็นอาชีพอิสระ เริ่มต้นได้ง่าย และดูน่าสนุก
แม้ว่าการเป็นอินฟลูเอนเซอร์จะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะแค่ใช้มือถือเหมือนทุกวันก็สามารถทำรายได้เข้ากระเป๋าได้ง่ายๆ แต่สำหรับเพื่อน ที่รู้จักกันมาตั้งแต่แรกอาจไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกัน เพราะอาชีพนี้อาจสร้างความห่างเหินกับคนรอบข้างได้
ลินดา เคย์ (Linda Kaye) ประธานแผนกจิตวิทยาไซเบอร์ของสมาคมจิตวิทยาอังกฤษ อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้การเป็นเพื่อนกับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เป็นเรื่องยาก เนื่องจากแหล่งรายได้ของพวกเขามักมาจากการโปรโมตสินค้า ทั้งในออนไลน์และชีวิตจริง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่งานของเหล่าอินฟลูจะล้ำเส้นเข้ามาในชีวิตส่วนตัวและความสัมพันธ์ ด้วยการคิดถึง ‘ผู้ชม’ ที่กำลังติดตามบนโซเชียลมีเดียมากกว่าเพื่อนๆ ที่อยู่ตรงหน้า
นอกจากนี้เพื่อเรียกยอดเอนเกจเมนต์ บางครั้งเพื่อนๆ อาจต้องกลายเป็นเครื่องมือสร้างคอนเทนต์ไปด้วย อย่างการอัดคลิปโดยไม่รู้ตัว หรือเผลอเล่าเรื่องส่วนตัวที่รู้กันแค่ในวงเพื่อนออกไป หากเราไม่ต้องการให้คนนอกรับรู้ก็อาจทำให้เรารู้สึกอึดอัดใจได้ ฮอลลี่ โรเบิร์ต (Holly Roberts) นักบำบัดความสัมพันธ์ เสริมว่าความรู้สึกนี้มักเกิดจากอำนาจที่ไม่เท่ากัน เพราะอีกฝ่ายไม่ได้ให้ความสำคัญเรามากเท่าที่ควร
การที่อีกฝ่ายให้ความสำคัญกับบุคลิกของตัวเองในโลกออนไลน์มากกว่าจนละเลยความรู้สึกของเรา จึงไม่แปลกหากเราจะรู้สึกไม่โอเคกับสถานการณ์นี้ เพราะนั่นแปลว่าเราอาจไม่ใช่คนสำคัญในสายตาอีกฝ่าย และอาจทำให้มิตรภาพสั่นคลอนลง
ทำอย่างไรเพื่อรักษาความสัมพันธ์นี้
อันที่จริงความห่างเหินจากเพื่อน ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของอีกฝ่ายเสียทีเดียว แต่เป็นเพราะแพลตฟอร์มที่ทำให้คนสนใจเรื่องส่วนตัว และภาพลักษณ์ของตัวเองมากเกินไป จนบางครั้งก็ส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยเอมิลี่ ฮันด์ (Emily Hund) นักวิจัยจากหน่วยงานด้านการสื่อสารของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย อธิบายว่า ความเครียดจากงานอินฟลูเอนเซอร์นั้นรุนแรงเป็นพิเศษกว่างานทั่วไป เพราะต้องเจอกับการคุกคาม คอมเมนต์ด้านลบ และตั้งใจโจมตัวตน จึงไม่แปลกหากอีกฝ่ายจะหมกมุ่นอยู่กับคอนเทนต์ของตัวเอง
หากก่อนหน้านี้เรายังมีความทรงจำดีๆ ร่วมกันอยู่ และปัญหาที่เกิดขึ้นยังพอคุยกันได้ อาจถึงเวลาที่เตือนสติกันสักหน่อย ก่อนที่ความสัมพันธ์นี้จะจบลง โดย glamour สื่อแมกกาซีนออนไลน์ ก็ได้รวบรวมวิธีการพูดคุยจากจากผู้เชี่ยวชาญไว้ ดังนี้
บอกความรู้สึก: หากอีกฝ่ายเป็นเพื่อนสนิทก็อาจพูดทำนองว่า เข้าใจนะว่าใครๆ ก็มีงาน แต่ทุกครั้งที่เจอกันเธอเอาแต่ใช้โทรศัพท์ หรือถ่ายรูปจนเราไม่มีเวลาคุยกันเลย หรือตอนนี้อยากให้อีกฝ่ายตั้งใจฟังเรื่องที่ตัวเองพูดจริงๆ บ้าง เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจความรู้สึกของเรา
ตั้งกติกากันชัดเจน: ถ้าการพูดตรงๆ ยังไม่ได้ผล อาจลองตั้งกติกาการใช้โซเชียลมีเดียที่ทุกคนรับได้ เช่น ถ้ากำลังพูดคุยกันอยู่จะไม่จับโทรศัพท์มือถือ ตั้งโพสต์หลังจากแยกย้ายกันแล้ว หากจะถ่ายรูปขอให้ไม่ติดหน้าเรานะ หรือขอให้เก็บเรื่องส่วนตัวไว้ เพื่อให้เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย
พูดตรงๆ: ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการพูดตรงๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการบอกอีกฝ่ายว่าพฤติกรรมนี้กำลังทำให้รู้สึกคนรอบข้างแปลกแยก และกระทบกับการใช้ชีวิตจริงๆ เช่น “รู้สึกเหมือนมาเที่ยวคนเดียวเลย ถ้าเอาแต่ทำคอนเทนต์แบบนี้คราวหน้าไม่ต้องชวนเรามาก็ได้” เป็นการส่งสัญญาณว่าการพฤติกรรมนี้กำลังทำลายความสัมพันธ์จริง ๆ
แต่หากทำทุกทางแล้วยังเรายังถูกละเลยความสำคัญอยู่เรื่อยๆ บางทีก็อาจถึงเวลาต้องทิ้งระยะห่าง แล้วกลับมารักษาใจเราอีกครั้ง
อ้างอิงจาก