แกๆ คนนั้นเปลี่ยนแฟนอีกแล้วอะ ไวเกิ๊น!
อาจจะเพราะความรักเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำให้เมื่อมีใครคบหรือเลิกกัน มันจึงถูกนำไปเป็นหัวข้อสนทนาในวงกินข้าวหรือสังสรรค์อย่างสม่ำเสมอ และยิ่งกับคนที่เปลี่ยนแฟนบ่อยด้วยแล้ว เขาและเธอก็มักจะตกเป็นเป้ามากกว่าคนทั่วไป บ่อยครั้งที่ถูกเอ่ยถึงในทำนองว่า ‘เปลี่ยนแฟนอีกแล้ว ต้องเจ้าชู้แน่ๆ’ หรือ ‘ผู้หญิงคนนี้ผ่านผู้ชายมากเยอะมาก’ จนผู้ที่ถูกพูดถึงบางคน ถึงกับไม่กล้าก้าวออกมาจากความสัมพันธ์แย่ๆ ติดอยู่ในกรอบของค่านิยม ฝืนทน เพียงเพราะกลัวสังคมจะมองไม่ดี ทั้งที่จริงๆ การเปลี่ยนแฟน ไม่ว่าจะบ่อยหรือไม่นั้น ไม่ควรถูกตีความเป็นเรื่องผิดแปลกหรือเลวร้าย
โลกใบนี้ประกอบขึ้นจากวัฒธรรม ความคิด และความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย ส่งผลให้วิธีคิดและมุมมองที่แต่ละปัจเจกบุคคลมีต่อความสัมพันธ์แตกต่างกันตามไปด้วย กระทั่งผู้ที่ใกล้ชิดกันอย่างเพื่อนสนิทหรือพี่น้องก็ยังมองความรักไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ดังนั้น หากจะว่ากันตามความเป็นจริง เราคงตัดสินได้ยากว่าการกระทำไหนในความสัมพันธ์ที่ถูกหรือผิด ดีหรือเลว และสิ่งนั้นสมควรหรือไม่สมควรกระทำกันแน่
ในสังคมไทย เราอาจคุ้นชินกับการคบหาดูใจที่จริงจัง ทำความรู้จัก พูดคุย ตัดสินใจคบ แต่งงาน แล้วจึงค่อยย้ายมาอยู่ด้วยกัน เป็นกระบวนการชีวิตคู่แต่ดั้งเดิมที่หยั่งรากลึกจนยากจะถอนโคน แม้ว่าในปัจจุบัน ค่านิยมบางอย่างจะเริ่มเปิดกว้างมากขึ้นตามยุคสมัย การอยู่ก่อนแต่งกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และหลายฝ่ายก็ออกมายอมรับว่ามีผลดี ช่วยให้ชีวิตหลังแต่งงานราบรื่น หรือถ้าอยู่ด้วยกันแล้วพบว่ามีปัญหา ก็จะได้ยุติปัญหาก่อนที่เรื่องราวจะบานปลาย ไม่ต้องลงทุนแต่งงานให้วุ่นวาย
อย่างไรก็ดี ในส่วนของพฤติกรรมสามัญอย่างการคบ เลิก เปลี่ยนคู่ ความเชื่อเดิมที่เคยมียังแฝงอยู่แทบจะทุกหย่อมหญ้า หลายคนมองการเลิกราและหาคนใหม่เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่จริงๆ ความสัมพันธ์มีหลากเงื่อนไข และความเป็นไปก็ควรขึ้นอยู่กับข้อตกลงของคนในความสัมพันธ์มากกว่าคำตัดสินจากคนนอก
ทำไมเปลี่ยนแฟนบ่อยจึงถูกมองในแง่ลบ
หากศึกษาดูใจแล้วพบว่า คนตรงหน้าไม่ใช่คนที่ใช่ การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ครั้งใหม่ที่เหมาะสมกับตัวเองก็ดูจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล แล้วทำไมหลายคนจึงยังมีอคติกับคนที่เปลี่ยนแฟนบ่อย เราทำการรวบรวมสาเหตุคร่าวๆ ได้ 3 ข้อ ดังนี้
- เพราะถูกมองว่าไม่จริงจังในความสัมพันธ์
หลายคนมองว่า ระยะเวลาเป็นสิ่งที่แปรผันตรงกับความจริงจังตั้งใจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็ก 2 คน อยากฝึกฝนกีตาร์ เราก็มักมองว่าคนที่ฝึกนานกว่าคือคนที่ตั้งใจจริง ถ้าคนแรกลองเล่นแค่ 2 วันแล้วเลิก ไม่มากก็น้อย เราอาจเผลอคิดไปแล้วว่าเขาแค่อยากลองแบบขอไปที ไม่มีความทุ่มเท ตรงข้ามกับอีกคนที่ฝึกฝน 2 เดือน เราย่อมคิดว่าใช้ความตั้งใจมากกว่า พยายามมากกว่า ทั้งที่ในความเป็นจริง เราอาจไม่เคยได้เห็นการฝึกซ้อมของทั้ง 2 คนเลยด้วยซ้ำ คนที่ลองเล่น 2 วัน อาจจะเล่นทั้งวัน มุ่งมั่นเต็มที่ แต่เมื่อลองแล้วรู้สึกไม่ดี ไม่ชอบ จึงเลิก ในขณะที่เด็กอีกคนที่ฝึกฝน 2 เดือน อาจจะเล่นแค่วันละ 5 นาที ดีดๆ เพื่อฆ่าเวลา ดังนั้น จึงไม่เสมอไปที่ว่า เวลาที่มากกว่าจะเท่ากับความจริงจังที่มากตาม กับความสัมพันธ์ก็เช่นกัน คนที่ศึกษาดูใจระยะสั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจริงจังจริงใจน้อยกว่าอีกคน ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า เรามองเขาจากมุมมองของคนนอก เราไม่รู้หรอกว่าบรรยากาศการคบกันของคู่เขาเป็นแบบไหน พูดคุยกันยังไง การเลิกเพื่อหาคนใหม่อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วก็ได้
- คุยซ้อนแน่ๆ
ในความสัมพันธ์แบบปิด การคุยซ้อนคงต้องนับเป็นเรื่องผิดและถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบอีกฝ่าย (เว้นเสียแต่ว่ามีการตกลงกันไว้ชัดเจนแต่แรก) แต่หลายคนก็ไม่ได้คุยซ้อน เขาแค่มูฟออนจากคนเก่า แล้วเริ่มต้นกับคนใหม่ได้เร็ว ในขณะที่คนรอบข้างกลับทึกทักกันเอาเองว่า เขาต้องแอบคุยกับคนใหม่ตั้งแต่ตอนคบกับคนเก่าแน่ๆ
คนที่เปลี่ยนแฟนอาจรู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่เป็นความจริง เขาเพิ่งเริ่มศึกษาดูใจกับคนใหม่ด้วยซ้ำ แต่เพื่อการยอมรับและเพื่อให้ไม่ให้ทั้งตัวเองและคนคุยกลายเป็นหัวข้อนินทาของคนอื่นๆ จึงเลือกทางออกเป็นการประวิงเวลาออกไป ยอมคบแบบแอบๆ เว้นระยะการเปิดตัว เพื่อไม่ให้ถูกแปะป้ายว่าเป็นคนคุยซ้อนในสายตาของคนอื่น ทั้งยังไม่อยากถูกเรียกว่าเป็นคน ‘เปลี่ยนแฟนบ่อย’ ด้วย ทั้งที่จริงๆ คำว่า ‘บ่อย’ ในความคิดของแต่ละคนก็มีระดับที่ต่างกัน ไม่ได้มีมาตรวัดแน่ชัดแต่แรกว่าแค่ไหนถึงเรียกบ่อย และความบ่อยมันสำคัญอย่างไร…
- วัฒนธรรมลดทอน
บทความ ‘ทนอยู่เพื่อลูก’ ผูกรั้งหรือพังความเป็นครอบครัว เมื่อการหย่าร้าง ไม่ใช่รอยด่างในชีวิต จากเว็บไซต์นิสิตนักศึกษา แสดงความคิดเห็นไว้ว่า
“สำหรับสังคมไทย ‘การหย่าร้าง’ ไม่ใช่เรื่องของคนสองคน ไม่ใช่แค่รักหรือไม่รัก แต่ยังเกี่ยวเนื่องกับอีกหลายปัจจัยที่ทำให้คนไทยมองว่า การหย่าร้างเป็นตำหนิที่น่าอับอาย เป็นจุดด่างพร้อยในชีวิต และเป็นความล้มเหลวด้านครอบครัว นำมาสู่วาทกรรม ‘ทนอยู่เพื่อลูก’”
ข้อความข้างต้นสะท้อนได้อย่างดีถึงค่านิยมที่คนไทยบางกลุ่มมีต่อความสัมพันธ์ เมื่อแต่งงานกันแล้ว การหย่าร้างกลับเป็นเส้นทางที่หลายคนไม่ยอมรับ เป็นตำหนิติดตัวที่ทำให้คู่รักรู้สึกผิดและเกรงกลัวที่จะตัดสินใจ เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นแฟนแล้ว การเลิกรา แม้ไม่ได้ถูกมองว่ารุนแรงเท่าการหย่าร้าง แต่ก็สร้างจุดด่างพร้อยบางอย่างในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะกับเพศหญิงที่ถูกกดทับด้วยค่านิยมมากมาย เช่น ถูกมองว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบเมื่อเปลี่ยนแฟน ทั้งที่เธอคนนั้นอาจอยากตะโกนบอกให้ทุกคนรู้ว่า ‘ถ้าไม่เปลี่ยนสิจะเสียเปรียบ ทุกวันนี้ที่อยู่กันมันท็อกซิกมากๆ เลยนะ’
เลือกแคร์แค่บางคน
เมื่อเราลองถาม ฟ้า (นามสมมติ) ถึงมุมมองที่มีต่อการเปลี่ยนแฟน เธอบอกกับเราว่า
“ถ้าคุณเจอคนนั้นของคุณแล้วก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ในเมื่อเรายังไม่เจอ ก็ไม่ผิดรึเปล่าที่เราจะลองศึกษาดูใจไปเรื่อยๆ เพื่อให้เจอคนที่คลิกจริงๆ อาจจะฟังดูน่าเกลียดนิดนึง แต่จริงๆ ยิ่งลองคบเยอะก็ยิ่งมีประสบการณ์เยอะไม่ใช่เหรอ”
ขณะที่ เมฆ (นามสมมติ) ก็ยอมรับว่า เสียงจากคนรอบข้างส่งผลต่อการตัดสินใจของเขาจริงๆ โดยเจ้าตัวเผยว่า
“เราก็รู้แหละว่าไม่ควรฟังสิ่งที่คนอื่นพูดกัน แต่พอได้ยินคนถามว่า เอ้า เปลี่ยนแฟนอีกแล้วเหรอ มันก็รู้สึกว่าเราทำอะไรผิด ทั้งที่จริงๆ เราก็เลิกกันด้วยดี ไม่ได้มีอะไรผิดใจกันเลย”
ในเรื่องของการเปลี่ยนแฟน ประเด็นสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าบ่อยแค่ไหน แต่อยู่ที่ความต้องการของคนในความสัมพันธ์สอดคล้องกันหรือไม่ และคุณภาพของความสัมพันธ์นั้นๆ เป็นอย่างไร บทความนี้เพียงแค่อยากสื่อสารว่า ตราบที่ไม่ได้คบซ้อน นอกใจ หรือมีการทำข้อตกลงกันไว้ก่อน การเลิกราย่อมไม่ใช่เรื่องผิด เพราะสุดท้าย ทางเดียวที่จะตอบได้ว่าคนนั้นใช่สำหรับเราหรือไม่ ก็คือต้องลองศึกษาดูใจก่อนสถานเดียว ไม่มีทางลัดอื่น
ผศ.นพ.สรวิศ วัยนิพิฐพงษ์ อาจาย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การเปลี่ยนแฟน ไม่ว่าจะบ่อยหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็เคยมีคนไข้มาระบายให้ฟังว่า ไม่กล้าเลิกกับแฟนเพราะกลัวถูกมองไม่ดี ซึ่งก็ต้องให้คำปรึกษาเป็นกรณีกรณีไป
“อาจจะเริ่มสำรวจจากความคาดหวัง ถ้าสิ่งที่เขาหวังไม่ Realistic (เป็นจริง) เช่น เลิกกับแฟนแล้วจะไม่โดนเม้าเลย ก็อาจจะชวนปรับความคาดหวังให้ Realistic มากขึ้น เช่น เม้านานมั้ย กี่คน วงกว้างรึเปล่า คนเม้าเขาสำคัญกับเรายังไง ปล่อยไปแล้วแคร์เฉพาะคนที่เราแคร์ได้มั้ย ก็คงต้องเทียบความเสี่ยงกับประโยชน์”
เราคงไม่สามารถเปลี่ยนค่านิยมของคนทั้งสังคม และคงไม่สามารถเปลี่ยนใครให้คิดหรือเชื่ออย่างที่เราเชื่อได้ การเปลี่ยนแฟนจึงยากและท้าทายเสมอ ซึ่งก็คงตรงกับสิ่งที่นพ.สรวิศ บอก คือต้องช่างน้ำหนักให้ดีระหว่างประโยชน์กับโทษ เพื่อแลกกับการค้นหาความสัมพันธ์ใหม่ที่ดีกว่า เรากล้าเป็นฝ่ายบอกเลิกและยอมรับความเสี่ยงที่จะถูกคนที่ไม่เข้าใจพูดถึงไหม เรื่องนี้ไม่มีถูกผิด เราแค่ต้องเอาความสบายใจเป็นที่ตั้ง
อย่างที่บอกว่าความสัมพันธ์มีมากมายหลายแบบ ในโลกนี้ก็มีทั้งคนที่ไม่อยากผูกมัด คบระยะสั้นแก้เหงา ซึ่งถ้าพวกเขาตกลงและยอมรับได้ ก็เป็นสิทธิของแต่ละคู่ อย่างไรก็ดี คนมากมายก็มองหาความสัมพันธ์ระยะยาว แต่ถ้าคบแล้วพบว่าไปกันไม่รอด มันก็ไม่ผิดเลยที่จะทบทวน แยกย้าย แล้วไปต่อ เราทุกคนมีสิทธิเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง รับฟังเสียงของคนรอบข้างได้ แต่ไม่ควรเก็บมาใส่ใจจนไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเลย
เพราะท้ายที่สุด ทุกคนต่างก็อยากมีความรักที่ดี และถ้าคนนี้ไม่ใช่ การอยู่ด้วยกันต่อไปก็อาจทำร้ายมากกว่าสร้างเสียงหัวเราะ
อ้างอิงจาก