ที่ผ่านมา ไม่ว่าเขาจะเป็นยังไง ทำอะไร เราก็เลือกเขามาตลอด แต่ไม่นานมานี้ จู่ๆ ก็มาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรายังรักเขาเหมือนเดิม หรือเราแค่กลัวการก้าวออกจากความสัมพันธ์เพราะไม่อยากอยู่คนเดียวกันแน่…
เมื่อความรักผ่านพ้นช่วงโปรโมชั่น ความสัมพันธ์เดินทางมาถึงจุดอิ่มตัว คงไม่แปลกหากเราจะเริ่มไม่ชัวร์ว่าตัวเองยังรู้สึกเหมือนเดิมกับพาร์ตเนอร์ที่ผ่านเรื่องราวต่างๆ ร่วมกันมา เราอาจเริ่มต้นจากการปลอบใจตัวเองว่า ไม่หรอก ทุกคู่ก็น่าจะเป็นแบบนี้ คบมานานก็ต้องมีเบื่อกันบ้างเป็นธรรมดา ใครมันจะไปหวานชื่นมีเซอร์ไพร์สกันได้ทุกคืนกันล่ะจริงมั้ย…
อย่างไรก็ดี ลึกๆ ในใจ เราชักเริ่มสงสัยเหมือนกันว่า เอ๊ะ หรือเรารู้สึกน้อยลงจริงๆ บ้าน่า ความรู้สึกของเราเปลี่ยนไปเหรอ เราไม่รักคนนี้แล้วเหรอ!
แล้วถ้าไม่รัก ทำไมฉันยังอยู่ตรงนี้กันนะ ฉันกำลังอยู่อย่างจำใจหรือว่าเต็มใจอยู่กันแน่ หรือที่จริงฉันแค่ชินกับการมีเขา ชินกับการมีใครสักคนจนไม่อยากกลับไปเป็นโสด
โอเค ใจเย็นๆ นะทุกคน หายใจเข้าลึกๆ วันนี้เราจะชวนทบทวนตัวเองไปทีละนิด มาช่วยกันหาดีกว่าว่าแท้จริงแล้ว ฉันคนนี้รู้สึกหรือต้องการอะไรกันแน่
จากความหลงใหลสู่ความผูกพัน
ความเป็นไปได้แรก เรายังแคร์เขาจริง ๆ เพียงแต่ภาพความรักที่สุดแสนโรแมนติกได้เริ่มกลายสภาพไปสู่ความผูกพันฉันท์เพื่อน รักหวานๆ เริ่มขยับปรับเปลี่ยนสู่การสร้างมิตรภาพตามทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก (Triangular Theory of Love) กล่าวคือ ในช่วงแรกที่คบหาดูใจ เรามักรู้สึกหลงใหลบุคคลตรงหน้า (Infatuated Love) ทว่าเพราะยังไม่ได้สนิทสนมมากนัก เราจึงตกหลุมรักเพียงลักษณะภายนอกหรืออุปนิสัยเท่าที่เขาแสดงออกให้เห็น ยังไม่มีโอกาสเรียนรู้ตัวตนและเนื้อแท้ของกันและกัน
ต่อมา เมื่อความรักรูปแบบนี้ถูกเติมเต็มด้วยความใกล้ชิด ถ้าไม่พบว่าเข้ากันไม่ได้จนต้องแยกย้ายกันไป เราก็อาจถูกใจกันมากขึ้นจนก่อเกิดเป็นความรักแบบโรแมนติก (Romantic Love) ที่มีทั้งความสนิทและเสน่หา เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ชอบพอกันอย่างลึกซึ้งกว่ารักแรกพบ
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป ก็เป็นไปได้เช่นกันที่ความหลงใหลในวันแรกจะเริ่มจืดจาง เรายังผูกพันกับคนคนนี้ดังเดิม เพียงแต่เขาไม่อาจทำให้หัวใจเราเต้นตึกตัก หน้าแดง หรือรู้สึกเขินได้เท่าวันนั้น เราหมดรักแล้วเหรอ เปล่าเลย นี่เป็นเพียงอีกประเภทของความรักที่เรียกว่า ‘Companionate Love’ หรือ ‘รักแบบมิตรภาพ’ ที่มักจะเกิดกับความสัมพันธ์ระยะยาวอย่างคู่ชีวิตอยู่ร่วมกันมานาน
แล้วแบบนี้ ยิ่งนานวันเข้า เธอและเขาจะยิ่งเหมือนเพื่อนมากกว่าคนรักหรือไม่ ทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นไปได้ แต่ถ้าเราไม่อยากให้เป็นทางนั้น สิ่งที่ทำได้คือการขยันประคับประคองความรัก กลับมาพูดคุยและเอาใจใส่ หากิจกรรมแปลกใหม่มาเติมให้หัวใจกระชุ่มกระชวย จะไปเที่ยวก็ดี หรือลองสิ่งที่ไม่เคยลองก็ได้ เพราะสุดท้าย แม้จะอยู่กับคนคนเดิมมานาน เราก็ย่อมสามารถเปลี่ยนสถานการณ์ที่จะได้ใช้ร่วมกับคนคนนี้ได้ หรือหากยังไม่แน่ใจว่า รักเรายังไม่เก่าลงหรือไม่เหลือแล้วทั้งความหลงใหลและผูกพัน เราอาจลองถามตัวเองดูสั้นๆ ตามที่ ซูซาน วินเทอร์ (Susan Winter) นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านความรักและความสัมพันธ์แนะนำไว้
“ถ้าเรา ‘เลือกเอง’ ที่จะอยู่กับเขา มากกว่ารู้สึกว่า ‘จำเป็นต้อง’ อยู่กับเขา นั่นแปลว่าเรายังรักอยู่”
ไม่อยากเปลี่ยน
แต่จะทำอย่างไรดีล่ะ ถ้าคำตอบของคำถามก่อนหน้าไม่ใช่ ‘เราเลือกเอง’ แต่เป็น ‘เราทน’ หรือ ‘เราอยู่เพราะเกรงใจ’ นี่คือการบอกกรายๆ ว่าเราคงรู้สึกไม่เหมือนเดิมแล้วจริงๆ คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วเพราะอะไร เราจึงยังไม่ไปต่อ ทำไมเราจึงยังต้องอยู่กับคนคนนี้ทั้งที่ต้องทนหรือเกรงใจกันล่ะ
แน่นอนว่าปัจจัยภายนอกก็อาจส่งอิทธิพลสำคัญที่เอื้อให้ความสัมพันธ์ยังดำเนินต่อไป ไม่รู้จะบอกพ่อแม่หรือเพื่อนว่าอะไร ถ้ามีลูกก็กลัวลูกรู้สึกว่าครอบครัวไม่สมบูรณ์ หากเลิกราจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ฯลฯ แต่หากพิจารณาเพียงปัจจัยที่ขึ้นกับแค่คนสองคน หนึ่งในเหตุผลง่ายๆ อาจจะเป็นเราไม่อยากก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนที่คุ้นเคย
จริงอยู่ที่เลือดของเราอาจไม่สูบฉีด ฮอร์โมนของเราอาจไม่ได้พลุ่นพล่าน หรือก็คือเลิกคลั่งรักไปนานแล้ว แต่ด้วยระยะเวลาที่อยู่ร่วมกันมาก็ทำให้เรารู้สึกเคยชินกับชีวิตประจำวันอย่างไม่พร้อมจะปรับเปลี่ยน โอเค ชีวิตก็ไม่ได้เลิศเลออะไร ตื่น ทำงาน กลับบ้าน นอน ซ้ำซาก แต่อย่างน้อยก็มีเพื่อนกินข้าวบ้าง มีน้องแมวช่วยคลายเหงา มีคนแซวเพราะนอนหาวตอนดูหนัง หรือบางทีก็มีคนนั่งฟังเราบ่น…
ในเมื่อรู้สึกปลอดภัยและสบายใจในภาพรวมขนาดนี้ จะมีเหตุผลอะไรที่เราจะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ แค่อะไรเล็กๆ เข้ามากระทบกับคอมฟอร์ตโซนของเรา เราก็หัวเสียมากแล้ว ยิ่งถ้าเป็นการบอกเลิกหรือพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับพาร์ตเนอร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ปลอดภัยนี้คงอยู่ได้ คงไม่ต่างจากประสบการณ์เฉียดตายที่อาจทำลายความเคยชินของเราอย่างสิ้นเชิง อะไรที่ทำได้ก็อาจทำไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่เคยมีก็อาจไม่มี แล้วแบบนี้ใครมันจะไปกล้ากันล่ะ
เราหมดรักเขา แต่เรารักการมีใครสักคน
“หนึ่งในปัญหาหลักที่ลูกค้าของฉันต้องเจอ คือยอมออกเดตเพียงเพราะกลัวที่จะอยู่คนเดียว ต้องเข้าใจว่าสำหรับใครหลายคน การมีความสัมพันธ์อะไรก็ตามย่อมดีกว่าการไม่มีเลย”
สิ่งที่ แคลริสซา ซิลวา (Clarissa Silva) นักวิทยาศาสตร์พฤติกรรมให้สัมภาษณ์ไว้กับ Elite Daily ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนและวาระซ่อนเร้นของการตามหาความสัมพันธ์ เมื่อในหัวเราปรากฏคำว่า ‘เอาน่า มีก็ดีกว่าไม่มีเลย’ การยอมทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ตัวเองรักษาบางสิ่งไว้ได้ก็อาจเกิดขึ้น
ว่ากันตามตรง ประโยคที่ว่า ‘มีย่อมดีกว่าไม่มี’ อาจไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่การมีอะไรสักอย่างจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าพอใจมากกว่า การทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่คนสองคนรู้สึกไม่สอดคล้องกัน นอกจากอาจบีบให้คนหนึ่งโดนเอาเปรียบแล้ว อีกคนก็อาจต้องทนอยู่กับความรู้สึกผิดด้วย ไม่ต่างอะไรเลยกับการซื้อของจุกจิกที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางหยิบมาใช้ เป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุที่ย้ำว่าบางที ไม่มีหรือขายไปซะก็คงจะดีกว่า
แคลริซวากล่าวทิ้งท้ายไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า “ถ้าเราตัดสินใจโดยมีคำว่า ‘กลัวการอยู่คนเดียว’ เป็นเหตุผล เราจะเผลอเลือกคนด้วยความคาดหวังที่ต่ำกว่าความเป็นจริง”
เป็นธรรมดาที่มนุษย์มากมายจะต้องการใครสักคนอยู่เคียงข้าง คำถามคือคนที่อยู่ข้างๆ ยังใช่สำหรับเราอยู่มั้ย หากเราตอบได้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่าไม่ สิ่งที่ควรทำคือเปิดอกพูดคุยเพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งเขาและเราได้เจอคนข้างๆ ที่จะทำให้ ‘การมี’ ดีกว่า ‘ไม่มี’ อย่างแท้จริง
ไม่ผิดและไม่แปลกที่เราจะกลัวการอยู่คนเดียว แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ควรเลือกที่จะอยู่กับใครสักคนเพียงเพราะเหตุผลนี้เหตุผลเดียว
ทนอยู่เพราะการก้าวออกมานั้นยากเกินไป
หัวข้อสุดท้าย เราไม่ได้อยู่เพราะตัวเอง แต่ยังอยู่เพราะมีเขาหรือเธอเป็นเหตุผล หลายคนยอมทนเพียงเพราะไม่อยากให้อีกฝ่ายเสียใจ แต่ในกรณีนี้ยังไงก็ต้องมีผู้เสียใจอย่างน้อย 1 คน นั่นคือตัวเรา แถมยังอาจเป็นการเสียใจในระยะยาวอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น หากวันหนึ่งเราทนไม่ไหว พรั่งพรูความจริงที่ว่าเรารู้สึกไม่เหมือนเดิมออกไป อีกฝ่ายก็อาจเสียใจเป็นทวีคูณเพราะรู้สึกว่าตัวเองถูกหลอกมาเกินครึ่งของระยะเวลาความสัมพันธ์ทั้งหมด
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการยอมอยู่เพราะกลัวอีกคนร้องไห้ คือการทนอยู่เพราะการก้าวออกมาอาจยากเกินกว่าจะทำได้ หรือดีไม่ดี เราไม่เคยมีมันอยู่ในทางเลือกด้วยซ้ำ
Abusive Relationship หรือความสัมพันธ์เชิงกดขี่ที่อาจมีการใช้ความรุนแรง คือสิ่งที่หลายคนกำลังรับมืออยู่ บางคู่ไม่รู้ตัว บางคนรู้ตัวแต่ไม่อาจก้าวข้าม ทางฝั่งผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ตรงอาจตั้งคำถามว่า
1. จะไม่รู้ตัวได้ไง โดนทำร้ายอยู่นะ?
สิ่งนี้เป็นไปได้ เพราะการทำร้ายไม่จำเป็นต้องแสดงออกในรูปแบบการตบตี แต่สามารถอยู่ในลักษณะของคำพูดและการแสดงออกบางอย่าง เคยได้ยินคำพูดทำนองนี้บ้างมั้ย
“มาสายนิดเดียวเอง ทำไมจู้จี้จัง” “แค่ไปกับเพื่อนเฉย ๆ เธอจับผิดเรามากเกินไปนะ ทำไมไม่ให้ความเป็นส่วนตัวกันบ้าง” หรือ “ก็แกทำแต่งานไง เราเลยต้องออกไปเที่ยว”
ถ้อยคำเหล่านี้ล้วนกัดเซาะจิตใจของผู้ฟังจนอาจเกิดเป็นพลังลบและรู้สึกผิดโดยที่ไม่รู้ตัว นานวันเข้าก็อาจร้ายแรงถึงขึ้นที่ผู้ถูกกระทำเผลอเกลียดตัวเองได้
2. แล้วถ้ารู้ตัวจะยังทนอยู่ทำไม เลิกซะสิ
มันไม่ง่าย และไม่เคยง่ายขนาดนั้น เพราะเมื่อความสัมพันธ์ประเภทนี้ดำเนินไป ฝ่ายหนึ่งโดนทำร้ายจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า หงุดหงิด รู้สึกผิด และโทษตัวเองจนไม่หลงเหลือความมั่นใจ คิดไปว่าคนอย่างเราคงไม่มีอะไรดี อีกฝ่ายอาจจะผิดก็จริง แต่ถ้าเราทำดีกว่านี้ เขาก็น่าจะดูแลเราดีกว่านี้ เราผิดเอง งั้นเราจะพยายามทำให้ดีขึ้นแล้วกัน เพราะถ้าไม่ใช่เขาคนนี้ก็คงไม่มีใครยอมรับคนแย่ ๆ แบบเราแล้วล่ะ…จากนั้นก็วนลูปเดิมจนไม่สามารถเลิกราจากความสัมพันธ์ท็อกซิกนี้ได้
ทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าเราจะยังรักไม่มีเบื่อ เพียงแค่สับสวิตช์จากรักโรแมนติกมาเป็นรักแบบเพื่อนมากขึ้น หรือรู้สึกไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่ยังไม่อยากก้าวออกมาเพราะกลัว ไม่อยากอยู่คนเดียว หรือหลงลืมไปว่าจริง ๆ เราก้าวออกมาได้ บทความนี้ไม่ได้เขียนโดยหมอดูหรือผู้เชี่ยวชาญ เราเพียงต้องการให้ทุกคนถามตัวเองอีกครั้งว่ารู้สึกยังไง ต้องการแบบไหน เพื่อนำไปสู่การเปิดใจพูดคุยกับตัวเอง พาร์ตเนอร์ และคนรอบข้าง
เพราะท้ายที่สุด ทุกคนควรเข้าใจในความเป็นไปของความสัมพันธ์ และถ้าหากมันเดินมาถึงทางตัน ก็ไม่มีใครควรถูกเอาเปรียบหรือต้องอดทน ไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือคนอีกคนก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม