เคยไหมที่เรารู้สึกชอบใครคนหนึ่งมากในช่วงแรก แต่พอเวลาผ่านไปอาจจะรู้สึกเฉยๆ จนเมื่อทำความรู้จักแล้ว คนคนนั้นดันมีอารมณ์ขันบางอย่างที่คลิก หรือบางทีก็อาจจะไม่คลิกกับเราเลย?
สำหรับบางคน การมีอารมณ์ขันที่ใกล้เคียงกัน และเข้าใจมุกตลกไปในทำนองเดียวกัน อาจจะเป็นจุดพลิกผันด้านความสัมพันธ์ ที่หากไม่คลิกกันเราคงทำได้เพียงแค่หัวเราะให้กันแห้งๆ แล้วแยกทางกันไปเลย
อารมณ์ขันนับเป็นหนึ่งในคุณสมบัติอันพึงประสงค์ของมนุษย์ โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ เรามักชอบคบหาคนที่มีอารมณ์ขัน หลายครั้งมันก็เป็นสัญญาณเชิงบวกของคนคนนั้นว่าจะเผชิญและก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ได้ สำหรับความสัมพันธ์หรือความรักแล้ว อารมณ์ขันก็นับเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ค่อนข้างสำคัญ เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นและสืบสานความสัมพันธ์ให้ก่อร่างขึ้นได้
ทั้งนี้เงื่อนไขของอารมณ์ขันเองก็มีประเด็น คืออารมณ์ขันไม่ใช่หมายถึงแค่ความตลกเท่านั้น แต่เป็นความคลิกกันของรสนิยมความขบขำ ซึ่งเป็นรายละเอียดสำคัญที่จะทำให้ความสัมพันธ์เติบโตขึ้น ในทางกลับกันก็มีงานศึกษาว่า อารมณ์ขันอาจจะมีความสำคัญต่อการก่อร่างความรักในช่วงแรก แต่ก็อาจไม่มีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญสำหรับชีวิตคู่ในระยะยาว
ไม่ใช่แค่มุกตลกเรี่ยราด เพราะความเข้ากันของอารมณ์ขันก็สำคัญ
ในนิยามกว้างๆ เราอาจพอนึกภาพได้ว่า ถ้าเราจะมีแฟนหรือตกหลุมรักใครสักคน หลายครั้งเราอาจจะตกหลุมรักเขาจากความน่ารักที่มักมีอารมณ์ขันร่วม ซึ่งเป็นคนอารมณ์ดี อยู่ด้วยแล้วยิ้มได้ มีความสุขเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน ในงานศึกษาระดับวิเคราะห์ภาพใหญ่จากงานวิจัย 39 ชิ้น เกี่ยวกับความสัมพันธ์และอารมณ์ขันโดยผศ. เจฟฟรี่ ฮอลล์ (Jeffrey Hall) ก็พูดถึงเงื่อนไขที่น่าสนใจไว้ว่า อารมณ์ขันหรือความขี้เล่น เป็นคุณสมบัติกว้างๆ ที่เราจะมองหาจากคนรักหรือคู่ครองในอนาคต แต่ประเด็นคือเราไม่ได้ชอบคนที่เล่นมุกตลกเก่งเท่านั้น เพราะคุณภาพของมุกตลกนั้นหมายถึง ความตลกที่คน 2 คนสามารถเล่นและหัวเราะด้วยกันได้ต่างหาก ที่จะเป็นเงื่อนไขในการส่งเสริมความรักและความสัมพันธ์
จุดนี้จึงค่อนข้างตอบโจทย์กับความรู้สึกต่างๆ ของเรา บางคนขยันเล่นมุกตลก แต่คนฟังเองอาจจะไม่เข้าใจมุกตลกแนวนั้น ซึ่งบางครั้งการเล่นมุกตลกก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งว่า คนคนหนึ่งมองเรื่องแบบไหนเป็นเรื่องชวนหัว พลิกมุมมองหรือมีความคมคายต่อการมองโลกอย่างไร ต่อมางานศึกษาของฮอลล์ยังพบว่า ความขี้เล่นก็ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงในความสัมพันธ์ โดยเงื่อนไขสำคัญคือคู่รักสามารถหัวเราะไปพร้อมกันได้ไหม เพราะความสัมพันธ์ที่บอกว่ามีอารมณ์ขำเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงนั้น ทั้งคู่ควรต้องตลกด้วยกัน เมื่อคน 2 คนสามารถหัวเราะร่วมกันได้ จึงค่อนข้างทำนายได้ว่าความรักของทั้งคู่น่าจะงอกงามขึ้น
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วเราอาจจะเริ่มมองเห็นว่า การรู้สึกตลกในบางเรื่องที่เราเริ่มไม่ได้หัวเราะด้วยกัน คืออาจเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหัวเราะเยาะใครอีกคน แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้ย่อมทำให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่ลง จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องพึงระวังและเรียนรู้กันได้ ในอีกมุมหนึ่งมุกตลกที่ใครอีกคนไม่ได้ตลกด้วย ก็อาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่ทำให้เราควรค่อยๆ ทำความเข้าใจอีกฝ่ายระมัดระวัง
เพราะหัวใจของอารมณ์ขันในชีวิตคู่
คือคน 2 คนสามารถมองเห็นเรื่องสนุกสนานในทุกๆ วัน
และชวนหัวเราะกับภาพเหล่านั้นไปด้วยกันได้
อารมณ์ขันอาจไม่ใช่ตัวแปรในระยะยาว
ว่าด้วยเรื่องพลังของอารมณ์ขันในความสัมพันธ์ จากภาพรวมในงานศึกษาหรือข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่า อารมณ์ขันเป็นพลังและเป็นเชื้อไฟของความสัมพันธ์ในช่วงแรก บางการศึกษาก็พบว่า ความรักระดับที่อยู่กินกันไปแล้ว โดยทั่วไปคู่สมรสมักมีอารมณ์ขันไปในทางเดียวกัน แต่อารมณ์ขันก็อาจจะไม่ใช่ตัวแปร เพราะไม่มีผลมากนักกับความรู้สึกต่อการแต่งงาน คือหากแต่งงานกันไปนานๆ แล้ว อารมณ์ขันมักไม่ใช่เงื่อนไขของความพึงพอใจหรือความยืนยาวของการแต่งงาน ทว่าก็มีบางประเด็นที่น่าสนใจ เช่น คู่แต่งงานที่มีลูกน้อย อาจจะมีอารมณ์ขันมากกว่าคู่แต่งงานที่มีลูกเยอะๆ (อาจจะเพราะมีความเครียดมากกว่าในภาพรวม)
เรื่องอารมณ์ขันในความสัมพันธ์ระยะยาวนั้นก็พบว่า มีประเด็นเรื่องเพศที่น่าสนใจร่วมอยู่ด้วย คืองานศึกษาในปี 2011 ซึ่งเป็นงานวิจัยศึกษาแบบข้ามวัฒนธรรมผ่านการเปรียบเทียบกัน 5 ประเทศ โดยตั้งใจตอบคำถามว่า ผู้หญิงชอบผู้ชายที่อารมณ์ขันไหม และเห็นว่าอารมณ์ขันอาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งของความฉลาดที่จะส่งผลต่อการเลือกคู่ครอง
ผลของการศึกษาค่อนข้างแสดงถึงนัยทางเพศ นั่นคือคู่แต่งงานที่มีอารมณ์ขันมักมีความสุขกว่า แต่อารมณ์ขันก็เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับฝ่ายภรรยา และในความเห็นของทั้งสามีกับภรรยาเองก็มองว่า อารมณ์ขันของครอบครัวมักตกเป็นคุณสมบัติของฝ่ายชาย คือผู้ชายมักจะมีความตลกมากกว่า ทั้งนี้ในภาพรวมของกลุ่มตัวอย่างยังเห็นตรงกันว่า อารมณ์ขันสามารถส่งผลเชิงบวกต่อชีวิตแต่งงาน
ทว่าภาพของสามีที่มีอารมณ์ขันอาจจะช่วยให้สถานการณ์ของความสัมพันธ์ดีขึ้นนั้น ก็มีงานศึกษาที่แสดงผลขัดแย้งว่า ในคู่แต่งงานใหม่ที่มีบรรยากาศตึงเครียดหรือมีภาวะตึงเครียดสูง นับจากการเก็บข้อมูล 18 เดือนพบว่า ยิ่งผู้ชายในครอบครัวนั้นมีอารมณ์ขันมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสหย่าร้างหรือแยกทางสูงขึ้นเท่านั้น
ในทางกลับกันก็มีงานศึกษาคล้ายๆ กันในคู่แต่งงาน 130 คู่ พบว่าถ้าหากเป็นฝ่ายภรรยาที่มีอารมณ์ขัน แนวโน้มของสถานะการแต่งงานจะแข็งแรงและยาวนานขึ้นไปถึงระยะ 6 ปี ซึ่งความน่าสนใจของงานศึกษาชุดหลังนี้ คือการเจาะลึกไปกระทั่งว่า ภรรยาที่มีอารมณ์ขันทำให้อัตราการเต้นของหัวใจฝ่ายสามีเต้นช้าลง นั่นจะทำให้สามีไม่เครียดนั่นเอง ดังนั้นจึงน่าจะเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันว่า
หากภรรยามีความชิวๆ และสามีมีความสบายใจ การแต่งงานก็จะสุขสันต์ยืนยาว
ฉะนั้นแล้วงานศึกษาทั้ง 2 ชิ้นที่มีนัยทางเพศนี้ จึงมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ผู้ชายและผู้หญิงอาจมีอารมณ์ขันในมิติที่ต่างกันในสถานะความสัมพันธ์ ผู้ชายอาจใช้อารมณ์ขันสำหรับการหลบเลี่ยงหรือหันเหความสนใจจากปัญหา หรือใช้อารมณ์ขันเพื่อลดความกังวลในภาพรวม ส่วนผู้หญิงอาจใช้อารมณ์ขันเพื่อปรับบรรยากาศให้ผ่อนคลายลง และนำไปสู่การเยียวยาหาทางออก
สรุปแล้วการขบขำและอารมณ์ขันเป็นเรื่องซับซ้อน การรู้สึกตลกเองก็สัมพันธ์กับอีกหลายๆ อย่าง เช่น รสนิยม สิ่งที่เสพ การมองโลกและทัศนคติ ความคมคายและสติปัญญา และมันยังสัมพันธ์กับอีกหลายเงื่อนไขโดยเฉพาะการหาจุดตลกร่วมกัน คู่รักที่หัวเราะร่วมกันได้ มักนำไปสู่การมีชีวิตคู่ที่ช่วยกรุยทางให้ความรักและการมองโลกงอกงาม
ส่วนความสัมพันธ์ในระยะยาว อารมณ์ขันก็อาจลดบทบาทลง เพราะการใช้อารมณ์ขันมีหลายเงื่อนไข และเกี่ยวข้องกับการเผชิญหน้าเพื่อใช้มันแก้ไขปัญหาภายในความสัมพันธ์ รวมถึงบรรยากาศโดยภาพรวมของความสัมพันธ์ที่แน่นอนว่าเจ้าอารมณ์ขันมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแน่นอน
อ้างอิงจาก