เมื่อก่อนใจดีจะตาย ทำไมเดี๋ยวนี้หงุดหงิดง่ายจัง หรือว่าพ่อแม่กำลังเข้าสู่วัยทองกันนะ?
“ทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป”
เรามักตั้งคำถามนี้กับเพื่อนหรือคนคุยแล้วทึกทักเอาว่า ที่เขาไม่เหมือนเดิมคงเป็นเพราะเขาบังเอิญได้เจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หรือไม่ก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ที่ผ่านมาเขาพยายามฝืนรับบทเป็นคนอื่น ทำนองว่าอดทนเป็นคนดีเพื่อสร้างความประทับใจ ทว่าเมื่อรู้จักกันไปสักพัก ตัวตนที่แท้จริงจึงค่อยๆ ปรากฏ…
อย่างไรก็ดี หากคำถามนี้เกิดกับพ่อแม่ หรือคนในครอบครัวที่รู้จักมาเนิ่นนาน เราก็คงแปลกใจไม่น้อย เพราะที่แน่ๆ เรารับรู้นิสัยใจคอ และมั่นใจแล้วว่าเนื้อแท้ของพวกเขาเป็นแบบไหน เมื่อก่อนพ่อเป็นคนใจเย็น มีอะไรก็ค่อยๆ พูด แต่เดี๋ยวนี้ใจร้อนมาก ไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ ก็ขึ้นเสียงจนบ้านแทบแตก แต่ก่อนแม่เป็นคนมีเหตุผล ทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยการเจรจา เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าขี้น้อยใจ หงุดหงิดทุกคน แต่กลับเลือกที่จะเก็บเงียบ ไม่ยอมคุยกับใคร
ก็อยู่ด้วยกันมาตลอด ไม่น่าจะมีอะไรมากระตุ้นให้พ่อกับแม่นิสัยเปลี่ยน
ก็รู้จักกันมาตั้งแต่เกิด ยังไงตัวตนของเขาก็ไม่ใช่แบบนี้
หรือบางที ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพราะพ่อกับแม่กำลังก้าวเข้าสู่วัยทองก็เป็นได้ ทว่าโจทย์ของเราไม่น่าใช่คำถามที่ “พ่อกับแม่ต้องปัญหาแก้วัยทองแบบไหน” แต่เป็น “เราจะอยู่ร่วมกับพวกเขาอย่างเข้าใจได้อย่างไร” มากกว่า
สาเหตุการเหวี่ยง เบื้องหลังเสียงวีน
สิ่งแรกที่เราอยากให้ลูกๆ หลานๆ ทุกคนระลึกไว้เสมอคือ อารมณ์แปรปรวนของบุพการีนั้นมีที่มา ผู้ใหญ่ในบ้านไม่ได้แกล้งโมโห หรือต่อว่าให้เราเจ็บช้ำน้ำใจเล่นๆ แต่พฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากสารเคมีในร่างกายไม่เหมือนเดิม
สำหรับเพศหญิง ‘วัยทอง’ หรือ ‘Golden Age’ คือวัยหมดประจำเดือน (Menopause) รังไข่จะหยุดผลิตฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือนโดยสมบูรณ์ ทั้งยังมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายอีกหลายอย่างตามมา
สำหรับหญิงไทย อายุโดยเฉลี่ยของการก้าวเข้าสู่วัยทองคือประมาณ 48-52 ปี โดยแต่ละคนก็อาจมีช่วงเวลานี้แตกต่างกันตามพันธุกรรม และปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งการเข้าสู่วัยทองของเพศหญิง แบ่งออกไป 3 ระยะ ได้แก่
1. ระยะก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause)
เป็นระยะเริ่มต้นของการหมดประจำเดือน ผู้หญิงในครอบครัวของเราจะมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ร่วมกับมีอาการทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกร้อนวูบวาบ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ และอารมณ์แปรปรวน ซึ่งระยะนี้เองที่สมาชิกในบ้าน โดยเฉพาะสมาชิกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นจะรู้สึกตกใจกับการเปลี่ยนไปของผู้เป็นแม่ เป็นช่วงเวลาที่ลูกส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ และยังไม่สามารถรับมือได้ดีนัก แม่แรงมา เราแรงตอบ จนมีปากเสียงกันบ่อยครั้ง ที่สำคัญระยะก่อนหมดประจำเดือนนี้ยังกินเวลานาน 2-3 ปีเลยทีเดียว
2. ระยะหมดประจำเดือน (Menopause)
เป็นระยะที่นับจากช่วงที่เริ่มหมดประจำเดือนมาจนครบ 1 ปี ส่วนมากมีอาการใกล้เคียงกับระยะก่อนหมดประจำเดือน แต่เจ้าตัวจะสามารถรับมือได้ดีขึ้น รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกและร่างกายของตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้เป็นลูกก็เริ่มคุ้นชินกับอาการของญาติผู้หญิงในบ้าน จึงพูดคุยอย่างเข้าใจ และทะเลาะกันน้อยลง
3. ระยะหลังหมดประจำเดือน (Postmenopause)
เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี สิ่งที่น่ากังวลของระยะนี้ไม่ใช่อารมณ์ที่ไม่มั่นคง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านลบของร่างกาย ทั้งอาการช่องคลอดตีบแคบ กระดูกพรุน ผิวหนังแห้งเหี่ยว และไขมันในเลือดสูง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจอุดตัน แถมยังเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้น
เพศชายก็เข้าสู่วัยทองได้เหมือนกัน
แม้จะไม่ถูกพูดถึงมากเท่ากับเพศหญิง แต่จริงๆ แล้วเพศชายหรือในที่นี้คือพ่อ ก็ก้าวเข้าสู่วัยทองได้ไม่ต่างจากแม่ สำหรับเพศชาย สิ่งที่เรียกว่าวัยทองเกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสมรรถภาพและความแข็งแรงของร่างกาย โดยฮอร์โมนชนิดนี้จะมีปริมาณมากที่สุดในช่วงต้นของอายุ 20 ปี ก่อนจะค่อยๆ ลดลงช้าๆ และสุดท้ายก็นำไปสู่อาการที่แทบจะไม่ต่างจากเพศหญิงเลย ทั้งด้านร่างกายอย่างการนอนไม่ค่อยหลับ ปวดเมื่อยไม่มีสาเหตุ กระดูกบางลง และอาการด้านจิตใจ เช่น เศร้า เครียด หงุดหงิดง่าย ขี้น้อยใจ ฯลฯ
จึงพอจะสรุปได้ว่า ที่มาของความเปลี่ยนแปลงของพ่อกับแม่ ส่วนหนึ่งเกิดจากผลพวงของการย่างเข้าสู่วัยทองที่ฮอร์โมนสำคัญๆ มีปริมาณลดลง เพราะงั้นจากการเถียงกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องไปเมื่อเช้า จริงๆ แล้วพวกเขาอาจไม่ได้มีเจตนาก็เป็นได้
คำว่า ‘วัยทอง’
นอกจากปัญหาเรื่องสารเคมีในร่างกายแล้ว อีกหนึ่งจุดที่เราอยากเชื้อเชิญให้ลูกๆ ทุกคนทำความเข้าใจคือที่มาของคำว่า ‘วัยทอง’ เพราะอันที่จริงเราเองก็สงสัยเหมือนกันว่า ทำไมจึงต้องเรียกกลุ่มคนที่อายุย่างเข้า 50 ปีว่าวัยทอง ทั้งที่คำนี้ดูเผินๆ ก็น่าจะสื่อถึงความหมายในเชิงบวก
พญ.อยุทธินี สิงหโกวินท์ แพทย์หัวหน้าศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลพญาไท 2 อธิบายว่าสาเหตุที่เราเรียกวัยนี้ว่า ‘วัยทอง’ หรือ ‘Golden Age’ เป็นเพราะนี่คือวัยแห่งความสำเร็จของชีวิต คนส่วนมากที่ผ่านประสบการณ์โชกโชนมาจนถึงวัยนี้ คือผู้ที่มีการงานมั่นคง มีเสถียรภาพทางการเงิน แถมลูกหลานก็เริ่มดูแลตัวเองได้ จึงเป็นช่วงวัยที่ปราศจากภาระซึ่งตัวเองเคยเคร่งเครียดเมื่อวัยหนุ่มสาว
อย่างไรก็ดี แม้นี่จะดูเป็นช่วงอายุอันสงบสุข แต่ปัญหาสุขภาพที่รุมเร้าตามความร่วงโรยของสังขาร ก็เป็นปัจจัยแรกที่ทำให้พ่อกับแม่ของใครหลายคนถูกบั่นทอนจิตใจ เท่านั้นไม่พอ นอกจากจะมีอารมณ์อ่อนไหว เพราะการลดลงของฮอร์โมนสำคัญๆ แล้ว พวกเขายังรู้สึกกังวลที่ต้องเห็นร่างกายของตัวเองไม่เหมือนเดิม อะไรที่เคยทำได้ก็เริ่มทำไม่ได้ อีกทั้งความรู้สึกสำคัญและคุณค่าในตัวเองที่เคยมองเห็นก็ค่อยๆ หดหายไปเรื่อยๆ จากที่เคยไปทำงานอย่างกระตือรือร้น หลายคนพอเกษียนก่อนกำหนดก็นึกไม่ออกว่าจะทำอะไร ไม่มีจุดหมาย ไม่มีงานอดิเรก เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ลูกหลานที่เคยพึ่งพาเดี๋ยวนี้ก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เป็นอย่างดี แทบไม่มีการขอความช่วยเหลือที่ทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่รู้สึกภูมิใจ
ทั้งหมดทั้งมวลอาจจะจริงอยู่บ้างที่วัยทอง คือช่วงเวลาที่พ่อกับแม่จะได้ระลึกถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แต่อีกด้านทั้งร่างกายที่ไม่เหมือนเก่าและชีวิตประจำวันที่ไม่เดิม ก็คงไม่แปลกหากผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นความแปรปรวนทางอารมณ์ ที่คนในบ้านต้องเผชิญ
เมื่อเข้าใจวัยทอง เราจะรับมืออย่างไรดี
เราจะค่อยๆ ไล่เรียงไปทีละขั้นตอน ลองอ่านไปทีละนิดแล้วนำไปปรับใช้กับครอบครัวของตัวเองดูนะ
1. อย่าโทษว่าเป็นความผิดของเขา – ก่อนอื่นเราอยากให้ลูกทุกคนใจเย็นๆ แล้วทำความเข้าใจอีกครั้งว่า พฤติกรรมที่อาจจะเกรี้ยวกราดผิดปกติ หรือขี้น้อยใจมากเกินจำเป็น เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดจากการลดลงของฮอร์โมนต่างๆ และมันไม่ใช่ความผิดของพ่อกับแม่ที่ลึกๆ ก็คงไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เราเจ็บช้ำ
2. พูดคุยอย่างเห็นอกเห็นใจ – อย่างไรเสีย เราก็ไม่ได้ต้องการสื่อว่าการที่พ่อกับแม่เอาทุกอย่างมาลงกับลูกโดยไม่มีเหตุผล คือสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม เราไม่ได้ขอให้ทุกคนยอมพวกเขาไปซะทุกครั้ง เราเพียงคาดหวังให้อย่างน้อยทุกคนได้เข้าใจว่า ทำไมพวกเขาถึงแสดงออกแบบนั้น และถ้าหากมันทำให้เราไม่สบายใจ ไม่พอใจ หรือกระทั่งเสียใจ เราก็อยากให้ทุกคนพูดคุยกับพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา อธิบายให้เข้าใจว่าคำพูดนั้นทำให้เรารู้สึกแบบนี้ การกระทำนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ซึ่งระหว่างที่บทสนทนาดำเนินไป เราก็อยากให้ทุกคนมีกรอบของความเห็นอกเห็นใจคอยควบคุม และเชื่อว่าท้ายที่สุด การสื่อสารแบบนี้เองที่จะช่วยให้คนในบ้านมีรอยยิ้มได้มากขึ้น
3. ช่วยพ่อแม่ดูแลสุขภาพ – ต้นตอแห่งความคุกรุ่นในครัวเรือนอย่างหนึ่งคือ การเสื่อมสภาพของสุขภาพ ดังนั้นคงเป็นเรื่องดี หากเราสามารถบรรเทาความเจ็บปวดเหล่านี้ให้พ่อกับแม่ได้บ้าง ซึ่งวิธีการก็ไม่ได้ยากเย็น เช่น สนับสนุนให้พวกเขากินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย หรือหางานอดิเรกทำคลายเครียด แต่นอกเหนือจากนี้ หากอาการที่เกิดในช่วงวัยทองของคนในบ้านมีความรุนแรงผิดปกติ การพาพวกเขาไปพบแพทย์ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะยังมีหลายคนที่ต้องใช้วิธีรับฮอร์โมนทดแทน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น
4. ลองใช้เทคนิคง่ายๆ – นอกเหนือจาก 3 ข้อที่เล่าไป เราขออนุญาตแนะนำวิธีการที่ใช้ได้เลย ดังนี้
- ถ้าเขาอารมณ์เสีย แทนที่จะเถียงให้ฮึบไว้ รอพวกเขาใจเย็นลงเมื่อไร เราค่อยกลับมาคุยใหม่
- ทำทีเป็นเปลี่ยนเรื่อง ชวนคุยเรื่องสนุก ไม่ก็ชวนรำลึกความหลังเมื่อครั้งเราเป็นเด็ก รายละเอียดในวันที่พวกเขายังเป็นผู้นำครอบครัว โดยเบ็ดเสร็จมักช่วยให้พวกเขาภูมิใจและมีความสุข
- หาพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเอง ข้อนี้อาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา ทว่าการมีบริเวณที่เรามั่นใจได้ว่า ตัวเองจะสบายใจอย่างแท้จริงคงช่วยให้อะไรๆ ง่ายขึ้นมาก
- กอด แค่อ้อมกอดหรือการแสดงความรักแบบง่ายๆ ก็อาจช่วยให้ทั้ง 2 ฝ่าย (ทั้งเราและเขา) ใจเย็นลงได้
“วัยทองเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งทุกอย่างก็จะเสื่อมถอยลงไปตามอายุ สิ่งที่จะช่วยให้เราปรับตัวได้ดีก็คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รับประทานอาหารให้ถูกหมวดหมู่ เราไม่สามารถเอาชนะมันได้ แต่เราสามารถจัดการชีวิตของเราให้ลงตัวได้”
พญ. อยุทธินี กล่าวปิดท้าย
แน่นอนว่าพ่อกับแม่ก็คงกำลังพยายามปรับตัวให้เคยชินกับความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง วันนี้พวกเขาอาจจะยังรับมือได้ไม่ดีนัก แต่พรุ่งนี้พวกเขาอาจจะทำมันได้ดีขึ้น เราเองในฐานะลูกควรให้เวลาพ่อกับแม่ และหากมีโอกาสก็สามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เท่าที่เงื่อนไขและปัจจัยของแต่ละคนจะอำนวย
เป็นสัจธรรมที่ว่า ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งความแก่ชราได้ พ่อกับแม่ไม่อาจชะลอวัย เช่นเดียวกับลูกที่ไม่ใช่เทวดาผู้สามารถห้ามปรามวัยทองของพ่อแม่
ท้ายที่สุด โจทย์สำคัญที่สมาชิกในครอบครัวต้องแก้ร่วมกัน คือจะทำอย่างไรให้ทุกคนในบ้านหลังนี้อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว กระทบกระทั่งกันได้ แต่จะคลี่คลายอย่างไรให้ยั่งยืน
อ้างอิงจาก